คุยกับเธอ เหมือนคุยกับตัวละครเจ้าหญิงสักคนหนึ่ง
แต่เป็นเจ้าหญิงในแอนิเมชันยุคหลังที่ตัวละครมาพร้อมภารกิจ ความกล้าหาญ ความเป็นตัวเองที่ชัดเจน ความงามนอกขนบ ตื่นตัวเรื่องประเด็นสังคม และอยากใช้พลังที่มีเพื่อเปลี่ยนแปลงบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง
เกรซ-นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ Miss Thailand World ปี 2019 เพิ่งอำลาตำแหน่งที่ถือครองและปฏิบัติหน้าที่มา 4 ปีเต็มไปในวันเกิดของเธอ วันที่เพิ่งอายุครบ 26 ปี
แต่ข้อเท็จจริงที่ 1 เกี่ยวกับเกรซ คือเธอไม่เคยถวิลหาตำแหน่งนางงามเลย
ข้อเท็จจริงที่ 2 เกรซตัดสินใจไม่ได้อยากเป็นนางงามเพื่อให้ตัวเองดัง แต่เพื่อใช้กระบอกเสียงนี้บอกว่า สุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน
แม้นางงามจะมาพร้อมภาพลักษณ์ในการทำเพื่อสังคมจนคุณอาจตั้งคำถาม แต่เรายืนยันได้ว่านี่เป็นเรื่องจริงด้วยข้อเท็จจริงข้อที่ 3 ปัจจุบันนอกจากเป็นทูตกรมสุขภาพจิต เกรซยังทำงานเต็มเวลาเป็นนักวิชาการด้านสุขภาพจิตที่ TIMS สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต และเพิ่งเป็นพิธีกรในงานอีเวนต์สำคัญอย่าง Better Mind Better Bangkok 2023 ที่มีวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญมากมายขึ้นเวทีเสวนาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลใจและการสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อใจเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา นี่คือยุคสำคัญที่ผู้คนตื่นตัวเรื่องจิตใจ และเธอคือหนึ่งในตัวละครที่เป็นแรงขับเคลื่อน
ถ้าจะมีสักเหตุผลที่ผลักดันให้เส้นทางทุกอย่างเริ่มต้น เปลี่ยนเด็กสาวคนหนึ่งให้กลายเป็นนางงามคล้องสายสะพาย ออกเดินทางไปช่วยเหลือและรับฟังผู้คน และวางแผนจะเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาให้ได้ในอนาคต โดยที่ตั้งใจทำจริง ๆ มาจากข้างใน ไม่ใช่เพราะตำแหน่งอดีตนางงามค้ำคอ
เกรซเรียกสิ่งนั้นว่า โชคชะตา

วัยเด็กของนักแกะรอยหัวใจ
เกรซโตมาในครอบครัวที่สนิทสนมกัน พ่อแม่มีลูกเมื่ออายุน้อย บรรยากาศที่ล้อมรอบเกรซจึงมีความเป็นวัยรุ่น และสนับสนุนให้เธอเป็นได้ทุกอย่าง
“เราโตมากับการเติบโตไปพร้อมกับพ่อแม่ เวลาพ่อแม่ไปทำงานที่ไหน เขาจะเอาเราไปด้วย เลยเหมือนสร้างตัวมาด้วยกัน เราได้เจอคนเยอะ ค่อย ๆ ซึมซับ ทำให้เรายิ่งสงสัยว่าทำไมหลายคนมีความคิดซับซ้อน เราว่ามนุษย์เป็นสิ่งซับซ้อน ตอนเด็ก ๆ แค่สงสัยว่า ทำไมบางทีคนพูดแบบหนึ่ง แต่คิดหรือรู้สึกอีกแบบหนึ่ง เราเลยคิดว่ามนุษย์น่าสนใจ จึงอยากเข้าใจว่าทำไมคนนี้ถึงมีพฤติกรรมแบบนี้ ทำไมแต่ละคนถึงมีมุมมองการใช้ชีวิต การเลือก การตัดสินใจที่ไม่เหมือนกัน ก็เลยค่อย ๆ ก่อร่างเป็นเราขึ้นมา”
เธอพูดถึงตัวเองว่า ชอบฟังมากกว่าพูด
“เราชอบฟังคนอื่นมาก ๆ เลยรู้สึกว่ารับรู้ความรู้สึกของคนรอบข้างได้ วันไหนเพื่อนไม่โอเค เราจะรู้ อันนี้น่าจะเป็นความสามารถพิเศษ” หญิงสาวหัวเราะ
หนังแนวฆาตกรรมและเรื่องราวแนวปริศนาสืบสวนยังเป็นของโปรดสำหรับเกรซวัยเยาว์ สื่อเหล่านั้นทิ้งคำว่า ‘จิตวิทยา’ ไว้ให้เด็กหญิงอยากรู้จักต่อว่าคืออะไรกันแน่

“แม่เราค่อนข้างเลี้ยงลูกโดยใช้จิตวิทยา เขาสนับสนุนและสอนอย่างเป็นเหตุเป็นผลจริง ๆ ดังนั้นตั้งแต่เด็กจนถึงทุกวันนี้ เราไม่เคยโกหกพ่อแม่เลย เรารู้ว่าพูดไปยังไงเขาก็อยู่ข้างเรา อาจมาจากการเลี้ยงดูแบบนี้ด้วย การได้เจอคนมากมายตั้งแต่เด็กด้วย ทำให้เราสนใจด้านจิตใจมาจนถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัย”
แม้ยุคนี้จะได้ยินคำว่าจิตวิทยากันมากขึ้น แต่ในแง่มุมวิชาชีพจริง ๆ วงการนักจิตวิทยายังต้องรุกหน้าให้สังคมรู้จักในวงกว้างมากขึ้น ผู้ปกครองหลายคนยังคงติดใจว่า ลูกเรียนจิตวิทยา จบมาจะเป็นอะไรได้บ้าง แต่เหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดกับครอบครัวเกรซ ไม่มีหักห้าม มีแค่ความเป็นห่วง
“ตอนนั้นจิตวิทยายังไม่บูม คนไทยยังมีค่านิยมว่าคนที่ไปพบจิตแพทย์คือคนบ้า แม่กลัวว่าเรียนแล้วจะเครียดไหม ชอบจริง ๆ หรือเปล่า สักพักแม่ส่งน้าชายเป็นตัวแทนมาถาม คุณพ่อก็ถามว่า เกรซคิดดี ๆ นะลูก อยากเรียนจริงใช่ไหม” เกรซหัวเราะ
ผลลัพธ์ของการคิดให้ดี เด็กสาวได้เป็นนักศึกษาคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมใจ ไม่มีคลาดเคลื่อน

วันเปลี่ยนชีวิตของเด็กสาวที่ฝันอยากเป็นนักร้อง
เกรซไม่ได้เติบโตมาพร้อมความฝันเดียว เธอรักการร้องเพลง อยากเป็นนักร้อง และชอบวาดรูป
“เราไม่มีความรู้พื้นฐานเรื่องนางงามเลย! ไม่ชอบ ชอบเป็นเบื้องหลังมากกว่า”
ไม่ว่าจะละครเวทีหรือหนังสั้น เธอก็ชอบอยู่เป็นเบื้องหลัง แต่โชคชะตาก็เล่นสนุก คุณแม่เกรซเคยทำงานที่ Exact Scenario เป็นคนเบื้องหลังทำเวที The Star และละครเวทีทั้งหมด เด็กสาวตัวสูงโปร่งอย่างเกรซเริ่มถูกคนรอบข้างรวมถึงแม่ตัวเองทาบทามให้ไปแคสต์งาน แต่คำตอบยังคงเป็นคำปฏิเสธ จนกระทั่งวันหนึ่ง คุณแม่ผู้มีจิตวิญญาณนักการตลาดอยากหาลู่ทางให้คนรู้จักลูกสาวมากขึ้น เพื่อสานฝันการเป็นนักร้อง วินาทีนั้นเอง โฆษณาเชิญชวนของเวทีประกวดนางงามก็เด้งขึ้นมาบนโทรทัศน์
“ดวงมั้ง” เกรซเล่าช่วงเวลามหัศจรรย์ “เราไม่ได้เชื่อเรื่องดวง แต่มันแปลก คุยเรื่องนี้กันอยู่ ก็คือมีเสียงว่า Audition Miss Thailand World 2019 เริ่มแล้วนะคะ ดังขึ้นมา เหมือนละครเลย”
เหลืออีก 2 วันก่อนจะถึงกำหนดออดิชัน คุณแม่ก็ยังโน้มน้าวไม่สำเร็จ จนกระทั่งคุณแม่ปล่อยคำถามหมัดน็อก “อยากเอาโครงการตัวเองไปทำให้คนอื่นรู้จักรึเปล่า”
ในเส้นทางผู้เข้าประกวดนางงาม ใช่ว่าพกพาไปแค่ความสวย ความเก่ง แล้วจะเพียงพอ ผู้เข้าประกวดแต่ละคนต้องมีโครงการเพื่อสังคมที่ลงมือทำและขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ตอนนั้นเกรซเรียนอยู่ปี 3 ที่มหาวิทยาลัยเริ่มทำศูนย์ให้คำปรึกษา เรียกว่า TCAPS (ศูนย์บริการทางจิตวิทยาและการปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – Thammasat Counseling and Psychological Services Center) นางงามคนอื่นอาจทำโครงการเพื่อมาประกวด แต่เกรซตรงกันข้าม เธอเข้าประกวดเพราะต้องการประชาสัมพันธ์โครงการสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัย


“ถ้าโครงการ TCAPS ดัง คนจะรู้จักมากขึ้น ตอนนั้นโรคซึมเศร้ากำลังมา เคสที่เกรซทำในวิชาจิตวิทยาการปรึกษาก็เป็นโรคซึมเศร้าค่อนข้างเยอะ ทุกคนไม่รับการรักษาเลยด้วยเหตุผลเดียวกัน คือกลัวคนในสังคมมองว่าเขาไม่ดี” เธออธิบาย “คนเริ่มงงว่าโรคซึมเศร้าคืออะไร เป็นคนบ้าเหรอ เรียกร้องความสนใจเหรอ เด็กในมหาวิทยาลัยค่อนข้างเป็นกันเยอะ เรื่องพวกนี้เป็นภัยเงียบและอยู่ใกล้ตัวมากเลย ไม่ใช่แค่เรื่องซึมเศร้า ยังมีโรคทางจิตเวชหลาย ๆ อย่างที่บางทีเราเป็นแต่อาจไม่รู้ตัว”
เมื่อตัดสินใจได้แล้ว เด็กสาวสุดติสต์ก็พูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาพร้อมพกข้อมูลแน่น ๆ เกี่ยวกับ TCAPS เพื่อนำโครงการนี้ไปเวทีประกวด (โดยต้องใส่วิกอำพรางผมสั้นหน้าม้าเต่อ และถอดเหล็กดัดฟันออกก่อน) ความชัดเจนและความมุ่งมั่นเกี่ยวกับโครงการพร้อมด้วยความสามารถพิเศษด้านการร้องเพลง พาเธอผ่านเข้ารอบลึกเข้าไปเรื่อย ๆ ด้วยโควตา Fast Track รู้ตัวอีกที เธอก็มีคำต่อท้ายว่าเป็น Miss Thailand World 2019 ตะลุยทำงาน เรียน ทำวิจัย ได้นอนเพียงวันละ 1 ชั่วโมงอยู่ช่วงใหญ่ ๆ เพราะไม่ยอมดรอปเรียนตามคำแนะนำของเวทีประกวด
“เรายอมทำทุกอย่าง แต่เรื่องดรอปเรียน เราทำให้ไม่ได้” เธอกล่าวหนักแน่น “เราเข้าใจว่าจะต้องทุ่มเท แต่ก็บอกเลยว่าเราได้ตรงนี้มาเพราะเรียนจิตวิทยา ถ้าให้ดรอปแล้วจะเอาความรู้อะไรไปสานต่อล่ะ”


เสียงจากห้องบำบัดที่พาหญิงสาวออกเดินทางไปไกล
ระหว่างเรียน เกรซพบว่าตัวเองชอบวิชาจิตวิทยาการปรึกษามาก ถึงขั้นอ่านสอบได้ทั้งวันทั้งคืน มันคือวิชาที่สอนการรับฟัง และชวนผู้รับบริการสำรวจเรื่องราวเพื่อคลี่คลายความทุกข์ รวมถึงประสบการณ์ฝึกดูแลเคสเพื่อเก็บประสบการณ์ เคสในห้องบำบัดรายหนึ่งก็ช่วยยืนยันว่าเธอรักการทำงานนี้แค่ไหน
“เขาอายุเยอะกว่าเรา ซึ่งยากนะคะ ถ้าเคสแก่กว่าเรามาก ๆ เราก็ทำไม่ได้ บางทีเขาจะมีอคติ มองว่าเราเด็ก พูดไปจะเข้าใจไหม ประสบการณ์ฉันเยอะกว่า ประสบการณ์เธอมีแค่นี้เอง” เกรซเล่าย้อนเหตุการณ์ “เขานั่งแล้วพูดเลยว่า เขาไม่ได้คิดนะว่ามานั่งแล้วจะช่วยอะไรเขาได้ แต่อยากมาลองดู”
กลายเป็นว่า ยิ่งดีที่เกรซได้เจอเคสที่มีกำแพงกับการรับบริการมาก่อน
“หลังจากคุยกับเรา เขาเอาเรื่องเราไปลง Pantip เขาเล่าว่าไม่เคยรู้สึกเลยว่าต้องมาหา ไม่เคยคิดเลยว่าจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาการปรึกษาสำคัญขนาดไหน แล้วก็คิดว่าตัวเองอยู่ได้ แต่พอมาลอง ก็รู้สึกว่ามาเลยนะ อยากให้ทุกคนมาลองคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาดู” เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม “เขาพูดทำนองว่าคำพูดของเราหรือสิ่งที่เราทำในวันนั้นช่วยเขาได้จริง ๆ”
พลังที่ได้จากการทำเคสนั้น เป็นแรงจุดประกายให้เกรซตั้งอีกโครงการของตัวเองระหว่างประกวด ชื่อโครงการ Let Me Hear You ให้ความรู้เกี่ยวกับผู้ป่วยซึมเศร้าและผู้ป่วยโรคทางจิตเวช โดยมีหลักสำคัญ คือผลักดันให้ทุกคนในสังคมเป็นผู้รับฟังที่ดี รู้วิธีรับมือและดูแลจิตใจเบื้องต้น

“ก่อนจะไปเวที Miss World ตอนเตรียมตัว เราเอาโครงการของเราเข้าไปคุยกับกรมสุขภาพจิต บอกว่ากำลังจะไปแข่งนะ เราอยากได้ผู้เชี่ยวชาญมาสนับสนุนเรา คือเรารู้ว่าตอนนั้นเรียนอยู่ จึงต้องการคนสนับสนุน ต้องการความรู้เพิ่ม แต่ด้วยความที่เขาติดภาพเราเป็นนางงาม นึกว่าจะแค่มาเอาภาพเฉย ๆ ถ่ายรูปแล้วจบ พอเข้าไปก็มีความกดดันนิดหนึ่ง เพราะเขาถามลองเชิงเยอะ ตอนนั้นรู้สึกเครียดสุดแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่อยากทำมาก ๆ เลยพยายามชูทุก ๆ อย่างว่าอันนี้อยากทำจริง ๆ นะคะ”
ผลลัพธ์ความกล้าหาญในวันนั้น เกรซได้รับตำแหน่งทูตกรมสุขภาพจิตพ่วงท้ายมาอีกหนึ่ง และได้ ‘พี่ชาย’ ที่สนิทมาอีก 2 คน คือ หมอแน็ต-ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิตคนปัจจุบัน และ ซันจู-อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้ง SATI APP (ที่คอยดึงหน้าเข้มระหว่างถามทดสอบนางงามตรงหน้า) จากนั้นเกรซก็ลงพื้นที่ในฐานะทูตกรมสุขภาพจิตและพาโครงการ Let Me Hear You ไปโอบอุ้มผู้คนในหลายพื้นที่ เช่น ที่อุบลราชธานีตอนน้ำท่วม หรือ 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยะลา
“หลายคนบอกว่าเราเป็นผู้ให้ แต่รู้สึกว่าไปแล้วเราได้รับกลับมา เราได้รับกำลังใจ ได้รับมุมมอง ได้รับสิ่งใหม่ ๆ ที่ห้องเรียนหรือประสบการณ์ในชีวิตบางคนอาจจะไม่ได้เจอแบบนี้”
จากภาพแคปหน้าจอ Pantip ที่เกรซขออนุญาตเคสของเธอไปฉายประกอบบนเวที Miss Thailand World ตัดภาพไปที่เวที Miss World ที่โหดหินกว่าเดิมหลายเท่า เกรซผ่านเข้ารอบ 40 คนสุดท้าย และได้ไปยืนบอกเล่าประสบการณ์ทำโครงการในช่วง Head to Head Challenge ซึ่งเป็นการแข่งพูดสุนทรพจน์ที่สำคัญสุด ๆ ของเวทีนี้
จุดที่เกรซดีใจมากที่สุดในชีวิต คือตอนเวทีประกวดฉายภาพโครงการของเธอในจอใหญ่ ๆ ให้เห็นไปทั่วโลก โดยเลือกโครงการของเธอคนเดียว – จากผู้เข้าประกวด 271 คน
“ไม่มีอะไรสำเร็จเท่าที่เขาเอาเราออก แล้วเพื่อนก็เรียก Grace, Thailand ยูดูสิ” หญิงสาวเล่าวินาทีสำคัญด้วยรอยยิ้ม “เราเข้ารอบ Miss World ยังไม่ดีใจเท่าอันนี้เลย”


ไม่ขออาศัยพรใด แต่จะลงมือช่วยสร้างสังคมที่น่าอยู่มากขึ้น
ในช่วงสถานการณ์โควิดที่กินระยะเวลาหลายปี เกรซเดินหน้าทำงานในฐานะ Miss Thailand World 2019 และทูตกรมสุขภาพจิตในทุกงาน เช่น เป็นวิทยากรช่วยเล่าประสบการณ์เรื่องสุขภาพจิต และทำโครงการ #ปันรอยยิ้มนรินทร ควบคู่ไปด้วย เพื่อกระจายของใช้จำเป็นในการรับมือสถานการณ์โรคระบาดไปทั่วประเทศ ตามโรงพยาบาล วัด โรงเรียน และพื้นที่ขาดแคลน
ส่วนโครงการ Let Me Hear You เปิดตัวด้วยการให้อาสาสมัครที่สนใจหรือคนที่เรียนด้านจิตวิทยามาเป็น Street Listener ลงไปกระจายตัวตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น สยามสแควร์ ให้คนรู้ว่ายังมีบุคลากรที่เรียกว่านักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้คนคอยรับฟัง ในช่วงที่โควิดทำให้การรับฟังแบบใกล้ชิดต้องเว้นระยะห่าง เกรซขยายผลเป็นการไปพูดให้แรงบันดาลใจตามโรงเรียนต่าง ๆ โดยเน้นในต่างจังหวัด เพื่อให้ความรู้ว่าเรียนจิตวิทยาเป็นอย่างไร พร้อมทั้งให้คำแนะนำว่าจะหาตัวตนของตัวเองเจอได้อย่างไร
ฟังดูเป็นเส้นทางน่าชื่นชมในฐานะนางงามคนหนึ่ง แต่ความจริง เกรซถูกกระแสแอนตี้วิพากษ์วิจารณ์มาไม่น้อย ทั้งเรื่องหน้าตาที่ไม่ตรงตามแบบฉบับนางงาม หรือการตั้งคำถามเรื่องศักยภาพของเธอ
“เราไม่ได้ต้องการมีชื่อเสียง ถ้ามาอยู่ในจุดหนึ่งที่แสงส่อง แต่กลับกัน มันทำให้เราไม่มีความสุข มีแต่คนมาวิพากษ์วิจารณ์และคอมเมนต์ด้วยคำแรง ๆ เราไม่ทำศัลยกรรม หน้าแบบนี้ก็รู้ว่ามีคนชอบและไม่ชอบ ซึ่งถามว่ารับได้ไหม รับได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะรับได้ตลอดทุกช่วงอารมณ์ของเรา มีช่วงที่เราอ่อนแอบ้าง ช่วงเวลานั้นบอกตรง ๆ ว่าไม่มีความสุขเลย เพราะมันหนัก หนักมาก หนักที่สุดในชีวิตแล้ว
“แต่ทุกครั้งที่เสร็จจากงานนางงามแล้วไปงานกรมสุขภาพจิต ไปลงพื้นที่ เหนื่อยกว่าอีกนะ แต่มีความสุข เลยสะท้อนให้เราเห็นว่า ฉันชอบตรงนี้จริง ๆ ฉันยังเป็นนางงามอยู่ได้เพราะโครงการที่ฉันทำ ฉันเจอคุณป้า คุณยาย ทุกคนในชุมชน ได้คุยกับเขา มันมีความสุข”


ทันทีที่เรียนจบ เกรซก็เข้ารับตำแหน่งนักวิชาการด้านสุขภาพจิตของสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (Thailand Institute for Mental Health Sustainability หรือ TIMS) สถาบันใหม่เอี่ยมที่เพิ่งเปิดและเป็นอีกความหวังใหม่ ๆ ในสังคมไทย เพราะเป็นสถาบันที่ผลักดันเรื่องงานวิจัย ขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพจิต ให้เงินทุนสำหรับกลุ่มคนที่อยากผลักดันโปรเจกต์หรือชิ้นงานด้านสุขภาพจิต และยังสนใจพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพจิตด้วย อนาคตเราน่าจะได้เห็นแอปพลิเคชันหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยซัพพอร์ตใจและเป็นสิ่งที่ประชาชนเข้าถึงได้
“ทุกคนจะพูดเรื่องสุขภาพจิตในทุก ๆ งาน ทุก ๆ อีเวนต์ ทุก ๆ สิ่งที่ประกาศมา แต่ไม่เคยมีใครพูดว่าทำยังไงให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีและยั่งยืน ไม่ว่าเขาจะเจอสถานการณ์อะไร ถ้ามีน้ำท่วม มีโรคระบาด ทำอย่างไรให้สุขภาพจิตของคนไทยยังดีอยู่ เลยมีสถาบันนี้ขึ้นมา”
เกรซได้ช่วยดูแลในส่วนงานด้านนักวิชาการด้านสุขภาพจิตอย่างเต็มที่ ทั้งด้านงานวิจัย การศึกษาและการทำแบบสอบถาม การร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ และทำรายงานรวบรวมสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทย เพื่อผลักดันนโยบายทางสุขภาพจิต นวัตกรรมด้านสุขภาพจิต และอีกหลายอย่าง เพื่อพัฒนาความยั่งยืนทางสุขภาพจิตของคนไทย แต่มีอีกสิ่งที่เธอสนใจและขอดูแลเองโดยเฉพาะ นั่นคือการผลักดันเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของนักจิตวิทยาการปรึกษาให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยใน พ.ศ. 2567
“ในฐานะที่อยากทำงานเอง เราก็อยากมีใบอนุญาตเหมือนกัน” ว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษายืนยัน

นี่ไม่ใช่เทพนิยาย เราต่างมีทุกข์ แต่เราก็ล้วนมีแค่ชีวิตเดียวนี่นา
ในวันนี้ที่หญิงสาวก้าวเท้าลงจากตำแหน่งนางงาม เธอกล่าวคำอำลาด้วยประโยคที่ชอบมาก ๆ ว่า “ขอให้ทุกคนใจดีต่อกันอย่างเพื่อนมนุษย์ และขอให้ทุก ๆ คนใจดีกับตัวเองเยอะ ๆ นะคะ”
เกรซบอกว่านั่นคือตัวตนที่การเรียนจิตวิทยาและการเป็นนางงามได้ขัดเกลาเธอมา
มีวันที่ยากจะใจดีกับตัวเองบ้างไหม เราเอ่ยถามหญิงสาวที่ดูเต็มไปด้วยพลังล้นเหลือ หนึ่งในตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่กำลังมุ่งหน้าทำตามฝัน
“ในช่วงเวลาที่เจอเรื่องยาก บางครั้งเราอาจลืมใจดีกับตัวเอง แต่พอเราได้กลับมาอยู่กับตัวเอง ได้นอนพัก หรือได้ทำอะไรที่ตัวเองชอบ มันจะมีสักนิดหนึ่งที่นั่งคิดว่า จริง ๆ แล้วเราใจดีกับตัวเองก็ได้… ไม่จำเป็นต้องใจร้ายกับตัวเองเสมอในวันที่ไม่ดี เพราะเป็นวันที่ไม่ดีแล้ว ยังจะไม่ดีกับตัวเองอีกเหรอ สุดท้ายแล้วมีแค่เราเท่านั้นที่อยู่กับตัวเองจริง ๆ ดังนั้น ถ้าเราใจร้ายกับตัวเองอีกในวันที่โลกและคนต่าง ๆ ใจร้ายกับเรา เราทำร้ายตัวเองเกินไปไหม
“ถึงแม้วันนี้จะเป็นวันที่ไม่ดี ก็อยากให้ทุกคนคิดว่ายังมีวันพรุ่งนี้อยู่ สุดท้ายเวลาใครทำอะไรไม่ดีกับใคร แป๊บหนึ่งก็ลืม แต่บางทีคนที่ไม่ลืมคือคนที่โดนกระทำ ดังนั้น เราอยากให้ทุกคนพยายามใจดีกับคนรอบข้างเยอะ ๆ สุดท้ายเมื่อคุณใจดีกับตัวเอง ใจดีกับคนรอบข้าง การใช้ชีวิตของคุณบนโลกนี้จะมีความสุขมากขึ้น เพราะทุกคนมีชีวิตแค่ชีวิตเดียว เราจะพูดแบบนี้ตลอด วันวันหนึ่งของคุณจะผ่านไป ย้อนกลับมาไม่ได้ พอเวลาใครเครียดหรือเราเครียดเอง เราจะคิดว่า เฮ้ย ชีวิตนี้เป็นชีวิตของเรา แล้วเรามีแค่ 1 ชีวิต เราจะไม่ทำให้ทุกวันมันโอเคจริง ๆ เหรอ เราจะไม่มีช่วงเวลาสักขณะที่จะมีความสุขแบบยิ้มกับมันได้จริง ๆ เหรอ

“อยากให้ทุกคนพยายามหาสิ่งที่เป็นกำลังใจให้ตัวเองเยอะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเอง แมว ครอบครัว เพื่อน การไปเที่ยว หรืออะไรก็ตาม ทุกวันนี้การแข่งขันสูง สิ่งที่ค้ำทุกคนไว้คือการประสบความสำเร็จและเป้าหมายชีวิต แต่ไม่มีใครเคยพูดถึงจุดที่จะไปถึงตรงนั้นว่ายากมากแค่ไหน หรือเราต้องใจร้ายกับตัวเองแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องกลับมาตระหนักว่าแล้วเราจะมีชีวิตอยู่ไปถึงเมื่อไหร่
“มีวันที่เราดาวน์นะ ไม่ใช่ว่าเกรซแฮปปี้ตลอดเวลา มีวันที่อยากร้องไห้ สุดท้ายเราร้องไห้ได้ อ่อนแอได้ เพียงแต่ว่าอ่อนแอเสร็จแล้วก็รักตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิม ให้มากกว่าน้ำตาที่เราเสียไป แล้วกลับมาใจดีกับตัวเองใหม่”
ฝนที่ตกตลอดเวลานั่งคุยกันหยุดหยาดสุดท้ายพอดี หญิงสาวที่เชื่อในวิถีของจิตใจทิ้งท้ายกับเรา
“เราหวังว่าทุกคนจะหาสิ่งที่ตัวเองรัก สิ่งที่ตัวเองชอบเจอ เราคิดว่าไม่ยาก เพราะอยู่กับตัวคุณเอง ดังนั้น Don’t be so hard on yourself. Just enjoy it. It’s just one life. มันแค่ 1 ชีวิตเอง”

ขอบคุณสถานที่ found cafe