ช่วงที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นเทศกาลสร้างสรรค์ตามย่านใหญ่เล็กในจังหวัดต่าง ๆ ที่หยิบสินทรัพย์ของดี (Soft Asset) ประจำพื้นที่มานำเสนอในรูปแบบน่าสนใจ ตั้งแต่ ‘Chiang Mai Design Week’ ที่เชียงใหม่ Bangkok Design Week ที่กรุงเทพฯ งาน ‘สกลจังซั่น’ ที่สกลนคร งาน  ‘ปัตตานี ดีโคตร’ ที่ปัตตานี และงาน ‘มาแต่ตรัง’ ที่จังหวัดตรัง 

งานเหล่านี้ล้วนเดินสนุก เต็มไปด้วยสิ่งน่าดู ของน่าช้อป รวมถึงผู้คนและวัฒนธรรมที่โดดเด่นประจำท้องถิ่น แต่ลึกลงไป เทศกาลเหล่านี้มีความหมายลึกซึ้งและทรงพลังมากกว่าเทศกาลธรรมดา

เพราะเทศกาลคือหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยสร้าง ‘ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative District)’ ความเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในเมืองหลักและเมืองรองของไทย และจะยิ่งขยับขยายไปอีกมากในปี 2024 นี้

ก่อนพูดถึงย่าน เราขออธิบายคำว่า ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)’ สักหน่อย เผื่อใครผ่านตาแต่ยังไม่เคยเข้าใจความหมายแบบครบถ้วน 

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาจับกับทรัพยากรที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์เติบโต ก็จะส่งผลอย่างมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ เช่น ในประเทศอังกฤษ แต่ละอาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สร้างงานสู่ระบบเศรษฐกิจได้ถึง 2.5 เท่า

และย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เราพูดถึงกันอยู่ คือการที่เราหยิบของดีประจำย่านต่าง ๆ มาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในย่อหน้าบนเกิดขึ้นได้จริง เพราะเมื่อเราลงมือพัฒนาย่าน เศรษฐกิจสร้างสรรค์หลาย ๆ ย่านรวมกันก็จะนำไปสู่การเกิด ‘เมืองสร้างสรรค์ (Creative City)’ ที่ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นขยับตัว และนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด 

ด้วยเหตุนี้ การเกิดขึ้นของย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงไม่ได้เพียงทำให้เรามีย่านที่สนุกน่าเดินเพิ่มขึ้น แต่คนในย่านนั้นจะมีย่านที่ ‘น่าอยู่’ ซึ่งทำให้พวกเขาไม่ย้ายหนีไปไหนและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไปอย่างยั่งยืน นักลงทุนจะมีพื้นที่ ‘น่าลงทุน’ อีกทั้งนักท่องเที่ยวก็จะมีที่ ‘น่าเที่ยว’ ซึ่งพิเศษไปกว่าสถานที่เที่ยวปกติ และนั่นหมายถึงการจับจ่ายเพิ่มรายได้หมุนเวียนในพื้นที่มากขึ้นไปอีก

ถึงตอนนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนในหรือคนนอกพื้นที่ เป็นส่วนไหนของภาครัฐหรือเอกชน คุณคงพอมองเห็นแล้วว่าการเกิดขึ้นของ ‘ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ล้วนส่งผลกระทบเชิงบวกกับพวกเราทุกฝ่าย

ตอนแรกสุดของคอลัมน์ Trends ของ The Cloud จึงขอพาคุณมาเจาะลึกเทรนด์น่าจับตาของความเคลื่อนไหวนี้

และนี่คือ 7 เทรนด์การพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่คุณควรรู้ ซึ่งคัดสรรโดย พิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการ และ พันธิตรา สินพิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส แห่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency : CEA) 

7 เทรนด์การพัฒนา ‘ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ที่คุณควรรู้

1.สร้างด้วยพลังของคนใน

ปัจจุบันนี้มีคนโบกมือลาเมืองใหญ่กลับบ้านกันเยอะ และเพราะยุคนี้เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่าย เราจึงได้เห็นการที่คนกลับบ้านเกิดแล้วนำประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาทดลองแล้วลงมือพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ริเริ่มได้จากตัวเอง ซึ่งชาว CEA กล่าวว่า การพัฒนาย่านด้วยคนในนั้นเข้มแข็งและยั่งยืนที่สุด เพราะตอบโจทย์ของท้องถิ่นอย่างเข้าใจ ช่วยให้คนในรู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ และไม่ต้องลงทุนสูงตั้งแต่เริ่มต้น

2.เริ่มสร้างด้วย ‘เทศกาล’

เราจะสังเกตว่าหลายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นเริ่มขึ้นด้วยการจัดเทศกาลก่อน โดยเนื้อแท้ของเทศกาลไม่ใช่แค่กิจกรรมสนุก ๆ แต่เป็น ‘แพลตฟอร์ม’ หรือพื้นที่ซึ่งคนในท้องที่มาร่วมมือกันขับเคลื่อนเมืองของตัวเองได้ ที่สำคัญคือเทศกาลเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดโอกาสที่คนหลากหลายความเชี่ยวชาญได้มาร่วมกันสร้างสรรค์ในพื้นที่ และเห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ เข้าถึง เข้าใจได้  

3.ตั้งโจทย์ให้แม่น

ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เราเห็นว่าเติบโตได้ดีนั้นเกิดขึ้นจากการตั้งโจทย์ที่แม่นยำว่าเรามีเป้าหมายอะไร หรือพูดง่าย ๆ คือเราอยากเป็นย่านแบบไหน ซึ่งมาจากการทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และประเมินศักยภาพพื้นที่ก่อนลงมือพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

โจทย์ที่แม่นจะช่วยให้เราเหมือนมี ‘ไบเบิล’ ซึ่งจะพางานทุกส่วนไปในทิศทางเดียวกัน สู่เป้าหมายเดียวกัน ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริง รวมถึงมีตัวชี้วัดชัดเจนเพราะมีการวิจัยก่อนลงมือทำ และในที่สุดก็จะตอบโจทย์ที่ตั้งไว้จนเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จ

4.ทำให้แตกต่าง

ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่อยู่รอดคือย่านที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ซึ่งเกิดจากการทบทวนตัวเองว่าเรามีสินทรัพย์อะไรที่โดดเด่นต่างจากย่านอื่น ตั้งแต่กลุ่มคน ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต อาหาร พื้นที่ อาคารสถาปัตยกรรม แล้วส่งเสริมจุดเด่นนั้นให้ยิ่งโดดเด่นขึ้นมา เช่น งานปัตตานีดีโคตร ครั้งที่ 2 ในธีม Deep Salt ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ หยิบเรื่องราวของเกลือหวาน อันเป็นสินทรัพย์สำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตที่ใกล้เลือนหายจากเมือง มาเล่าเรื่องราวแง่มุมต่าง ๆ ของเมือง ทั้งประวัติศาสตร์การค้าเกลือ อาหารการกิน จนไปถึงการต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ ณ ย่านอา-รมย์-ดี ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมืองปัตตานี 

5.จัดกิจกรรมบ่อยครั้งและสม่ำเสมอ

การจะจุดย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ติดจะต้องมีการจัดกิจกรรมที่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพราะการชูสินทรัพย์ของดีประจำย่านผ่านการจัดงาน 1 ครั้ง อาจไม่เพียงพอที่จะสร้างย่านที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้จริงได้ในระยะยาว แต่ต้องอาศัยความถี่และความสม่ำเสมอของกิจกรรมเชิงคุณภาพและปริมาณ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่น เป็น ‘การสร้างแบรนด์’ และภาพจำใหม่ของเมือง

6.ร่วมสร้างกับภาคีเครือข่าย

การพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ควรเป็นการร่วมมือพันธมิตรหลากหลายฝ่าย เพราะความร่วมมือจากความถนัดของแต่ละเครือข่าย จะช่วยให้งานมีความหลากหลายมิติและตอบโจทย์ของเมืองอย่างแท้จริง ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของงาน พร้อมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น งบประมาณ สิ่งของจำเป็น หรือกำลังแรงงานที่จะช่วยให้แต่ละงานประสบความสำเร็จได้

โดยทีม CEA แนะนำว่ากลุ่มคนที่ควรมีในการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือ 6 กลุ่มด้านล่างนี้ 

  1. ภาครัฐ ส่งเสริมและพัฒนาแผนพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงสนับสนุนและสร้างกลไกการทำงาน
  2. ภาคเอกชน (เช่น หอการค้า YEC) ร่วมขับเคลื่อนแผนพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และประสานงานการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐและแหล่งอื่น ๆ รวมทั้งเชื่อมโยงนักสร้างสรรค์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่
  3. ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์และธุรกิจทั่วไป ร่วมทำแผนพัฒนาย่านและพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์
  4. ชุมชนและภาคประชาสังคม ร่วมกำหนดทิศทาง ให้ข้อมูล และร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาย่าน
  5. สถาบันการศึกษาและองค์กรด้านงานสร้างสรรค์ เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ และร่วมกำหนดทิศทางพัฒนาย่าน
  6. นักสร้างสรรค์ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปช่วยขับเคลื่อนย่าน เพื่อสร้างโอกาส รูปแบบ และแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์

7. เก็บ Data อย่างจริงจัง

การจะเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ยืนระยะได้ยาวนั้นต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลของพื้นที่ เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงผ่านตัวชี้วัดเชิงเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต เช่น จำนวนธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในย่าน จำนวนกิจกรรมสร้างสรรค์ ยอดขายร้านค้า จำนวนพื้นที่สร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการใช้งานพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่ ๆ ตามความต้องการของผู้อาศัยในย่าน และที่สำคัญคือเพื่อให้วางแผนพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่องร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ เช่น ข้อมูลย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในย่านเจริญกรุง พบว่าการพัฒนาพื้นที่ตลอด 6 – 7 ปีที่ผ่านมามีการปรับปรุงการใช้ประโยชน์อาคารเก่าที่ทิ้งร้างและว่างเพิ่มขึ้นกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นและโอกาสในการลงทุนจากการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

และทั้งหมดนี้คือ 7 เทรนด์การพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่น่ารู้และขยายผลไปสู่การพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในหลากหลายจังหวัดทั่วไทยได้

สำหรับใครที่อยากเจาะลึกจักรวาลของย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มากกว่าเดิม ลองเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

ภาพ : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ข้อมูลอ้างอิง
  • หนังสือ Toolkit for Creative District Maker ชุดเครื่องมือและแนวคิดสำหรับนักพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN