มาตอบคำถามวัดอายุกันหน่อยค่ะ

ถ้าโชคชัยมีเหรียญบาทหนึ่งกำมือ เดินไปที่ตู้ ยกหู แล้วหยอดเหรียญ โชคชัยกำลังทำอะไร

ใครตอบได้ทันที สิริยากรขอทายว่าต้องเป็นคนสามย่านหรือหลักสี่ ไม่ก็อาจจะมีถึงห้าแยกปากเกร็ด หรือคลองหกโน่น

ค่ะ…​ โชคชัยกำลังใช้โทรศัพท์สาธารณะ (และคำทายหมายถึงอายุ หายงงยังคะ)

วันนี้อุ้มชวนกันมาคุยเรื่องโทรศัพท์สาธารณะ ไม่ใช่จะมาย้อนรำลึกความหลังอะไรหรอกนะคะ แต่เพราะว่าอยู่ดีๆ ตอนนี้ที่พอร์ตแลนด์ก็มีโทรศัพท์ตู้สีฟ้าๆ ผุดขึ้นมาตามที่ต่างๆ ทั้งที่มันเคยหายสาบสูญไปจากท้องถนนและจากประเทศอเมริกามานานหลายสิบปีแล้ว (เมืองไทยเองตอนนี้ยังมีคนใช้โทรศัพท์หยอดเหรียญกันอยู่อีกไหมน้อ) และที่สำคัญ คือยกหูโทรไปหาญาติโยมได้เลย ไม่ต้องหยอดเหรียญค่ะ!

Futel คืนชีพตู้โทรศัพท์สาธารณะพอร์ตแลนด์ ชวนยกหูหาเพื่อนยันผู้ว่าฯ ฟรี, ตู้โทรศัพท์สาธารณะ

อุ้มไปอ่านเจอเรื่องนี้เข้าจากหนังสือพิมพ์แจกฟรีฉบับรวมของดีพอร์ตแลนด์ 50 อย่าง อ่านแล้วก็มีคำถามเกิดขึ้นในหัวมากมาย ทำไมมันถึงใช้ได้ฟรี โทรหาใครก็ได้จริงหรือเปล่า เสียงชัดไหม ใครเป็นคนทำโครงการนี้ ทำทำไม แล้วโทรศัพท์พวกนี้อยู่ที่ไหนของเมือง ฯลฯ

ไม่สงสัยเปล่า อุ้มเริ่มหาข้อมูล แล้วก็เจอเว็บไซต์ futel.net เล่าที่มาที่ไปของโครงการ และมีแผนที่แสดงตำแหน่งของโทรศัพท์ด้วยว่าอยู่ตรงไหนบ้าง ยามบ้านเมืองปกติ จะใช้โทรศัพท์สาธารณะทีเรายังต้องเช็ดแล้วเช็ดอีก นี่ยิ่งเป็นช่วง COVID-19 เบิ้ลเข้าไป ดูโหงวเฮ้งแต่ละตู้ในเว็บไซต์แล้วก็พอจะเดาได้ว่ามันต้องฮาร์ดคอร์แน่ อุ้มเลยคว้าหน้ากาก ถุงมือ และแอลกอฮอล์ใส่กระบอกสเปรย์เตรียมไปอย่างพร้อม รู้สึกว่าเป็นการเขียนคอลัมน์ที่ระทึกขวัญดีแท้

Futel คืนชีพตู้โทรศัพท์สาธารณะพอร์ตแลนด์ ชวนยกหูหาเพื่อนยันผู้ว่าฯ ฟรี, ตู้โทรศัพท์สาธารณะ
ภาพ : Futel.net

ตู้แรกที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด สาหัสมากค่ะขอบอก คือพ่นสีมีป้ายติดเละไปหมด อุ้มพ่นแอลกอฮอล์อย่างหนักแล้วลองฟังดู อ่ะนั่นงะ สมดังคาด ไม่มีสัญญาณอะไรเลย ใจหนึ่งก็บอกตัวเองว่าสงสัยจะคว้าน้ำเหลว แต่อีกใจยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ขอลองขับเลยไปดูอีกสักสองสามตู้เพื่อให้รู้แน่

Futel คืนชีพตู้โทรศัพท์สาธารณะพอร์ตแลนด์ ชวนยกหูหาเพื่อนยันผู้ว่าฯ ฟรี, ตู้โทรศัพท์สาธารณะ
ภาพ : Futel.net

ตู้ที่ 2 ไม่ทำให้ป้าผิดหวัง! เนื่องจากอยู่ห่างไกลผู้คนออกมาหน่อย ตู้นี้เลยดูดีสะอาดสะอ้าน พ่นสเปรย์ฆ่าเชื้ออย่างเปียก (คือจุ่มลงไปในขวดแอลกอฮอล์ได้คงทำไปแล้ว) แล้วฟังดู เฮ้ยยยย… มีเสียงคนพูดออกมาชัดแจ๋ว บอกว่าถ้าอยากโทรออกให้กด 1 อุ้มนัดแนะกับสมคิดฝาละมีที่บ้านให้พกมือถือไว้ใกล้ๆ ตัว ลองกดหา สมคิดตอบกลับมาอย่างตื่นเต้นว่าเสียงยูชัดมาก! ส่วนภรรเมียก็ลิงโลดเพราะไม่ได้กดโทรศัพท์ตู้แบบนี้มานานหลายสิบปี

อุ้มลองขับไปลองอีกสองตู้ ใช้งานได้ดีเสียงชัดเจนเหมือนกันหมด ลองกด 0 ก็มีคนจริงๆ เป็นโอเปอเรเตอร์ตอบกลับมาด้วย (ตอนยกหูเป็นเสียงตอบรับอัตโนมัติ) อุ้มเลยถามเขาไปว่ายูเป็นคนทำโครงการนี้เหรอ เขาตอบกลับมาว่าเป็นแค่หนึ่งในอาสาสมัครที่หมุนเวียนกันมาคอยรับโทรศัพท์จากที่บ้านตัวเอง ถ้าอยากคุยกับ คาร์ล แอนเดอร์สัน (Karl Anderson) ที่เป็นคนต้นคิดเรื่องทั้งหมดนี้ ให้อีเมลไปนัดคุยกับเขาเอง (ง่ายดีนะ)

Futel คืนชีพตู้โทรศัพท์สาธารณะพอร์ตแลนด์ ชวนยกหูหาเพื่อนยันผู้ว่าฯ ฟรี, ตู้โทรศัพท์สาธารณะ

ทีแรกอุ้มกะจะนัดคุยกับคาร์ลจากตู้ฟิวเทล แต่คิดได้ว่าจะเยอะไปหน่อย เลยโทรคุยกันบ้านๆ แบบปกตินี่แหละ คาร์ลเล่าว่า เขาเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ที่สนใจเรื่องปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ และเชื่อในการสื่อสารที่คนยังรู้สึกถึงสังคมรอบๆ ตัว ไม่ใช่เอาแต่ก้มหน้ามองจออย่างทุกวันนี้ (แต่เอ๊ะ นี่เราก็คุยมือถือกันอยู่นะ)

แล้วทำไมถึงกลายมาเป็นโครงการโทรศัพท์สาธารณะให้คนโทรฟรี

คาร์ลบอกว่า แรงบันดาลใจสำคัญของเขาคือปรากฏการณ์ Phreaking ในยุค 50 – 60 ที่มีเด็กวัยรุ่นและพวกเด็กเนิร์ดหาทางจับช่องสัญญาณโทรศัพท์มาใช้ฟรี (Phreak = Phone + Freak) โดยที่มีอุปกรณ์สำคัญเรียกว่า Blue Box

Futel คืนชีพตู้โทรศัพท์สาธารณะพอร์ตแลนด์ ชวนยกหูหาเพื่อนยันผู้ว่าฯ ฟรี, ตู้โทรศัพท์สาธารณะ
ภาพ : Futel.net

ต้องบอกก่อนนะคะว่า คนกลุ่มนี้ไม่ใช่เป็นหัวขโมยกิ๊กก๊อกที่แค่อยากใช้ของฟรี แต่คือคนที่มีความกระหายใคร่รู้ มีพรสวรรค์ด้านวิศวกรรม และอยากเจาะทะลุเข้าไปในระบบขององค์กรใหญ่ๆ จะเรียกว่าเป็นบรรพบุรุษของแฮ็กเกอร์ก็ว่าได้ เพราะสมัยก่อนยังไม่มีคอมพิวเตอร์ สิ่งเดียวที่คนอยากลองของยุคนั้นเล่นได้ก็คือโทรศัพท์นี่แหละค่ะ 

Phreakers สองคนสำคัญจากกลุ่มนั้นก็คือ สตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak) และ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ซึ่งตื่นเต้นกับบทความในนิตยสาร Esquire เมื่อปี 1971 เกี่ยวกับบลูบ็อกซ์มาก จนทดลองทำเองและได้ไอเดียมาสร้าง Apple Computer ที่เปลี่ยนโลกไปอย่างไม่มีวันหวนกลับในทุกวันนี้ บลูบ็อกซ์ของพวกเขายังจัดแสดงอยู่ที่ The Powerhouse Museum เมืองซิดนีย์เลยค่ะ

Futel คืนชีพตู้โทรศัพท์สาธารณะพอร์ตแลนด์ ชวนยกหูหาเพื่อนยันผู้ว่าฯ ฟรี, ตู้โทรศัพท์สาธารณะ
Blue Box ของสตีฟ วอซเนียก
ภาพ : en.wikipedia.org

ทีนี้กลับมาถึงคาร์ลของเรา เขาบอกว่า ไอเดียเรื่องฟรีกกิ้งมันปลุกระดมความอยากทำโครงการเพื่อสังคมของเขามาก แต่ทีนี้จะทำอย่างไรถึงจะทำอะไรง่ายๆ ราคาถูกๆ โดยที่เขาไม่ต้องลาออกจากงานและไม่ต้องคอยเอาเงินตัวเองมาซัพพอร์ตให้เข้าเนื้อ ประจวบเหมาะกับความสนใจเรื่องโทรศัพท์สาธารณะที่มีอยู่เดิม (ว่าเดี๋ยวนี้มันหายไปไหนหมด และเราจะเอาสิ่งที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนกลับมาทำให้มีชีวิตอีกครั้งได้ไหม) ทำให้เขาเริ่มเสาะหาตู้โทรศัพท์สาธารณะเก่าและอุปกรณ์ต่างๆ จากอินเทอร์เน็ต แล้วลงมือประกอบมันใหม่ จากนั้นก็ไปซื้อสัญญาณโทรศัพท์แบบเหมามาส่งสัญญาณให้กับตู้นี้อีกที

ตู้โทรศัพท์ตู้แรกถูกเอาไปตั้งไว้แถวริมแม่น้ำที่มีคนไร้บ้านตั้งเต็นท์อยู่กันหนาแน่น คาร์ลบอกว่า ตู้นั้นไม่มีป้ายบอกว่าโทรฟรีด้วยซ้ำ แต่ทันทีที่เอาไปติด ก็มีคนยกหูใช้โทรออก และนั่นคือจุดเริ่มต้นขององค์กรโทรศัพท์ไม่แสวงหาผลกำไรชื่อ Futel ที่เขาตั้งขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนนี้มีโทรศัพท์ทั้งหมด 10 ตู้ในพอร์ตแลนด์ แล้วยังขยายไปยังดีทรอยต์ มิชิแกน และวอชิงตันด้วย

Futel คืนชีพตู้โทรศัพท์สาธารณะพอร์ตแลนด์ ชวนยกหูหาเพื่อนยันผู้ว่าฯ ฟรี, ตู้โทรศัพท์สาธารณะ
Futel คืนชีพตู้โทรศัพท์สาธารณะพอร์ตแลนด์ ชวนยกหูหาเพื่อนยันผู้ว่าฯ ฟรี, ตู้โทรศัพท์สาธารณะ
ภาพ : Futel.net

อุ้มถามเขาว่า ไม่เก็บเงินคนใช้ แล้วเอาเงินจากไหนมาดำเนินกิจการ คาร์ลบอกว่า คนที่มาช่วยส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร แล้วเขาก็ขอทุน (Grant) สนับสนุนจากองค์กรต่างๆ โดยหีบห่อ Futel ให้เป็นโครงการศิลปะ (ปี 2020 นี้ได้เงินบางส่วนจาก Regional Arts & Culture Council ประมาณสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของเรา) ซึ่งอุ้มว่ามันก็ให้อารมณ์นั้นจริงๆ แหละค่ะ เหมือนกับเป็น Public Art ที่ใช้งานได้ ให้คนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ ทั้งโทรหาคนอื่น โทรคุยกับโอเปอเรเตอร์ ทั้งพ่นสี แปะป้าย ทำเลอะเทอะอะไรก็ว่าไป

อ้อ… ลืมเล่า มีฟังก์ชันโทรไปหาผู้ว่าฯ หรือโทรไปค่ายกักกันที่ชายแดนอเมริกา-เม็กซิโกได้ด้วยนะคะ บ้าไหม (แต่อุ้มไม่ได้ลอง) อีกอันที่สนุกคือกด Conference Call แล้วทุกเครื่องของ Futel จะดังพร้อมกันหมดเลย แล้วแต่ว่าตอนนั้นใครเดินผ่านมา ยกหูรับสาย ก็จะได้คุยกันเป็นหมู่คณะโดยไม่รู้จักกัน

ล่าสุดเมื่อต้นปี ยังมีกลุ่มคนทำงานศิลปะชื่อ Open Signal มา Collaborate ด้วยการทำไฟล์เสียงชื่อ Hold The Phone; People’s Homes กดฟังได้จากเครื่องฟิวเทล จะมีคนเก่าคนแก่ของพอร์ตแลนด์มาเล่าเรื่องชีวิตของพวกเขากับเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป มันดีมากเลยค่ะ โดยเฉพาะคุณลุงคนสุดท้าย ฟังแล้วน้ำตาจะไหล ลองเข้าไปฟังกันดูก็ได้ค่ะ

Futel คืนชีพตู้โทรศัพท์สาธารณะพอร์ตแลนด์ ชวนยกหูหาเพื่อนยันผู้ว่าฯ ฟรี, ตู้โทรศัพท์สาธารณะ
ภาพ : Futel.net

คาร์ลบอกว่า ตั้งแต่วันแรกที่คิดจะทำโครงการนี้ เขาคิดอยู่ 2 เรื่อง หนึ่ง มันต้องมีประโยชน์ต่อคนทั่วไป คือใช้โทรออกได้สะดวกราบรื่นสมฐานะโทรศัพท์ กับสอง ต้องมีความสนุก เสียดสี กระตุ้นให้คนได้คิด (ชื่อฟิวเทลเองก็มาจากคำว่า Future of Telephony อนาคตของระบบโทรศัพท์ และ F U บริษัทโทรศัพท์ใหญ่ๆ) ซึ่งอุ้มว่าก็ประสบความสำเร็จทั้งสองอย่างนะคะ เฉพาะปีที่แล้ว มีคนใช้โทรออกเป็นหมื่นครั้ง คาร์ลบอกว่า ยิ่งช่วง COVID-19 คนตกงานไม่มีเงินจ่ายค่าโทรศัพท์ ยอดคนใช้ยิ่งสูงขึ้นอีก แล้วจากที่ไปลองใช้เอง อุ้มว่ามันมีความตื่นเต้นปนสงสัยงงๆ เหมือนเอ๊ะเรากำลังทำอะไรผิดกฎหมายหรือเปล่า แต่ก็มีความสะใจแบบเถื่อนๆ ดี คาร์ลหัวเราะหึๆ แล้วบอกว่านั่นล่ะจิตวิญญาณแฮกเกอร์

Futel คืนชีพตู้โทรศัพท์สาธารณะพอร์ตแลนด์ ชวนยกหูหาเพื่อนยันผู้ว่าฯ ฟรี, ตู้โทรศัพท์สาธารณะ
ภาพ : Futel.net

อุ้มถามคาร์ลว่า โครงการแบบนี้ทำในเมืองไทยได้ไหม หรือถ้ามีใครอยากติด Futel ที่หน้าบ้านจะขอมาคุยกับเขาได้หรือเปล่า คาร์ลคิดอยู่พักหนึ่งแล้วตอบว่าน่าจะได้ แต่ต้องอาศัยคนที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี และที่สำคัญ บ้าพอจะทำมันอย่างจริงจัง เพราะสำหรับเขา มันคือความหมกมุ่น หลงใหล คือโครงการที่ทำให้ชีวิตของเขามีความหมาย แม้บางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะถามตัวเองว่ามันดีจริงหรือ

โลกเราต้องการคนแบบนี้แหละค่ะ คนที่เชื่อในอะไรสักอย่าง แล้วทำมันทั้งๆ ที่ยังมีคำถาม เพราะสุดท้าย โลกก็จะรับสาย แล้วให้คำตอบกลับมาอย่างที่เราเองไม่อาจล่วงรู้หากไม่ลงมือทำ

อุ้มจบบทสนทนาด้วยการขอบคุณคาร์ลที่แบ่งเวลามาคุยด้วย และแบ่งเวลามาทำอะไรที่ดีต่อใจตัวเองและดีต่อชีวิตของคนอื่น อนาคตของระบบโทรศัพท์ฟิวเทลจะเป็นอย่างไรคงไม่มีใครบอกได้ แต่อย่างน้อย เสียงที่พูดคุยกันผ่านตู้สีฟ้าเปรอะกราฟฟิตี้เหล่านี้ ก็ทำให้มันมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างโชกโชนและมีสีสัน และทำให้การพูดว่า “เดี๋ยวจะยกหูโทรหา” กับ “จะวางล่ะนะ” เป็นตามนั้นจริงๆ

Writer & Photographer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์