“คุณว่าคุณจะไปที่ไหนนะ…” เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเปลี่ยนท่าทีจากเฉยชาเป็นสนอกสนใจขึ้นมานิดหน่อย หลังจากได้ยินจุดหมายปลายทางของนักเดินทางเอเชียตรงหน้า

“ฟรีสแลนด์ค่ะ ฉันจะไปฟรีสแลนด์”

“ฟรีสแลนด์?? คุณหมายถึงฟรีสแลนด์ในเนเธอร์แลนด์น่ะเหรอ”

“ใช่ค่ะ ฟรีสแลนด์นั้นแหละ”

หนุ่ม ตม. มองตาเราแล้วก็ก้มหน้าประทับตราในหนังสือเดินทางพร้อมพยักหน้าให้เราผ่านไปได้

ไม่รู้เหมือนกันว่าในใจเขายังมีคำถามอยู่อีกหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือเขาจุดประกายความสงสัยขึ้นในใจเราแล้วเรียบร้อย นึกขำในใจตอนลากกระเป๋าออกจากสนามบินสคิปโฮล (Amsterdam Schiphol Airport) ลงบันไดมายังชานชาลารถไฟชั้นล่าง ‘มันแปลกประหลาดมากนักเหรอ ถ้าฉันจะหันหลังให้อัมสเตอร์ดัม ออกห่างอูเทร็กต์ (Utrecht) ไม่สนใจกรุงเฮก (Hague) แต่ดันลากกระเป๋านั่งรถไฟไปอีกร้อยกว่ากิโลเมตร ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อไปจังหวัดทางเหนือของประเทศ ดินแดนที่แม้แต่คนดัตช์เองยังเอียงคอตั้งคำถามว่า “ไปทำไมเหรอตัวเธอ”

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก

Friesland ที่(ไม่)รู้จัก

ชื่อจังหวัดฟรีสแลนด์ (Friesland) อาจฟังดูห่างไกลไม่คุ้นหูสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย แต่อันที่จริงดินแดนนี้มีความชิดใกล้เรามากกว่าที่คิด เพราะฟรีสแลนด์เป็นดินแดนแหล่งกำเนิดแบรนด์นมโฟร์โมสต์ ซึ่งเป็นตราสินค้าภายใต้ฟรีสแลนด์คัมพิน่า หนึ่งในสหกรณ์โคนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี มีผลิตภัณฑ์หลากหลายจากโคนมจำหน่ายทั่วโลก ภายใต้ชื่อแบรนด์แตกต่างกันไป เช่น โฟร์โมสต์ในเมืองไทย ฟรีเชียนแฟลก (Frisian Flag) ที่อินโดนีเซีย เป็นต้น

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ได้มาฟรีสแลนด์เพราะนมโฟร์โมสต์ แต่บากบั่นมาถึงจังหวัดตอนเหนือนี้ได้ก็เพราะมีเจ้าบ้านใจดีที่เปิดบ้านให้พัก และพร้อมอาสาทำหน้าที่ไกด์ท้องถิ่นให้อย่างไม่อิดออด โอกาสที่จะได้กินอาหารจากครัวในบ้าน และแสร้งทำตัวเป็นคนโลคอล มันน่าสนใจน้อยอยู่เมื่อไหร่ นั่นแหละ รู้ตัวอีกทีก็ได้มายืนหนาวสั่นอยู่ที่นี่ในช่วงปลายปี 2022 ที่ฤดูใบไม้ร่วงแต่ต้นไม้ยังไม่โกร๋นใบดี หลายวันอุณหภูมิติดลบ และถ้าเดินออกนอกบ้านแล้วลืมหมวกหรือถุงมือ ก็ถือเป็นการบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างหนึ่ง เพราะลมประเทศนี้บาดผิวบาดใจที่สุด

ถามว่าแล้วจังหวัดนี้มีอะไรโดดเด่นให้ต้องเดินทางมา ถ้าให้ตอบแบบจริตเจ้าบ้านเชิญแขกมาเที่ยวก็ต้องบอกว่าฟรีสแลนด์เป็นดินแดนที่โดดเด่น คาแรกเตอร์จัด ถึงขั้นเป็นจังหวัดเดียวของประเทศที่มีภาษาท้องถิ่นคือภาษาฟรีเชียน (Frisian) เป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาดัตช์ และคนท้องถิ่นส่วนใหญ่พูดฟรีเชียนมากกว่าดัตช์ แต่นักท่องเที่ยวไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อคุณทำหน้าเหลอหลาใส่เขา ลิ้นฟรีเชียนของเขาจะพลิกเป็นภาษาอังกฤษทันที รับรองการสื่อสารไม่มีขาดตอน

เราเล่าให้เจ้าบ้านฟังถึงหน้าตาขี้สงสัยของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเมื่อรู้ว่าปลายทางเราคือฟรีสแลนด์ เจ้าบ้านหัวเราะงอหาย แล้วพูดประมาณว่า “ธรรมดาแหละ สำหรับคนดัตช์นะ มาฟรีสแลนด์เนี่ยเหมือนเดินทางไปต่างประเทศเลย เขารู้สึกว่ามันไกลมาก โดยเฉพาะถ้าขับรถมาจากอัมสเตอร์ดัม แล้วต้องผ่านถนนอัฟสเลาต์ไดค์ (Afsluitdijk) ที่เชื่อมระหว่างฮอลแลนด์เหนือกับจังหวัดฟรีสแลนด์น่ะ” 

ฟังเขาพูดทีแรกยังไม่เข้าใจว่าแค่ระยะทางขับรถชั่วโมงครึ่งจากอัมสเตอร์ดัมถึงฟรีสแลนด์ จะทำให้คนรู้สึกว่าไกลจนเหมือนเดินทางไปต่างประเทศได้ยังไง จนกระทั่งวันหนึ่งได้นั่งรถไปถึงถนนเส้นที่ว่าด้วยตัวเอง

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก

อย่างที่รู้กันว่าพื้นที่เกือบ 1 ใน 3 ของเนเธอร์แลนด์อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล โดยเฉพาะดินแดนแถบเหนือที่เป็นที่ราบต่ำแบบไม่มีอะไรกั้น ความราบเรียบของภูมิประเทศเปิดทางให้ลมและคลื่นใหญ่จากทะเลเหนือ (North Sea) สาดซัดเมืองโดยสะดวก ชาวดัตช์ต้องคิดหาวิธีต่อกรกับน้ำมาหลายชั่วอายุคน ถนนอัฟสเลาต์ไดค์ที่สร้างเมื่อ ค.ศ. 1927 มีความยาว 32 กิโลเมตรแต่สูงถึง 7 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้นั้น เพราะไม่ได้เป็นแค่ถนน แต่ทำหน้าที่เป็น ‘เขื่อน’ กั้นทะเลเหนือไม่ให้ซัดท่วมเมืองได้โดยตรง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่คนจะเห็นเมื่ออยู่บนถนนเส้นนี้ คือทัศนียภาพแปลกตา (ซึ่งนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนท้องถิ่นรู้สึกว่ากำลังเดินทางไกลไปต่างบ้านต่างเมืองก็เป็นได้) ที่ฟากหนึ่งเป็นทะเลเหนือ กับอีกฟากคือทะเลสาบไอเซิลเมียร์ (IJsseImeer) ที่ติดกับแผ่นดิน อันเกิดจากการสร้างถนนอัฟสเลาต์ไดค์มาล้อมปิดไว้ เมื่อควบคุมน้ำส่วนที่ติดกับแผ่นดินให้สงบได้ ปัญหาน้ำท่วมก็หมดไป ทุกวันนี้ถนนอัฟสเลาต์ไดค์ได้รับการดูแลบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ เขาต้องคอยตรวจสอบ ตรงไหนรั่ว ตรงไหนพัง ตรงไหนมีรู เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้น ความเสียหายจะส่งผลกระทบต่อระบบจัดการน้ำที่เพียรพยายามสู้มานับศตวรรษ

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก

เลียววาเดน (Leeuwarden) เมืองเด่นคนดัง

เรื่องแรก ๆ ที่ซักเจ้าบ้านอยู่นาน คือเรื่องเมืองทั้ง 11 ของจังหวัดฟรีสแลนด์ เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมบางเมืองเล็กมาก เล็กแบบควรเรียกว่าหมู่บ้านมากกว่าเมือง ข้อสรุปคร่าว ๆ ก็คือ การจัดสถานะเมืองที่นี่แบ่งตามความสำคัญของเมืองที่มีมาตั้งแต่โบราณมากกว่าแบ่งกันที่ขนาดพื้นที่ 

ความสำคัญที่ว่าก็คือการเป็นเมืองท่า เมืองค้าขาย มีระบบการปกครองชัดเจน ขุนนางเป็นเจ้าของที่และมีชาวนาผู้เช่าที่ทำกสิกรรมเลี้ยงสัตว์ โดยแลนด์ลอร์ดศักดินาก็ทำหน้าที่คุ้มครองป้องภัยให้ชาวบ้านอีกที หลักฐานความเป็นเมืองในแถบนี้ย้อนกลับไปได้ถึงสมัยโรมันเลยทีเดียว เช่น เมืองเลียววาเดน (Leeuwarden) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของฟรีสแลนด์ในปัจจุบันก็พบร่องรอยสิ่งปลูกสร้างมาตั้งแต่หลังยุคพระคริสต์ไม่เกิน 200 ปี

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก

เลียววาเดนมีสถานะเป็นเมืองหลวงของฟรีสแลนด์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1504 ร่องรอยความเป็นเมืองประวัติศาสตร์พบเห็นอยู่ทั่วไปในบริเวณย่านเมืองเก่า อาทิ Oldehove หรือในภาษาอังกฤษคือ The Leaning Tower แปลเป็นไทยเองง่าย ๆ ว่าหอเอนแห่งเลียววาเดน ชาวบ้านอวดว่าหอเอนที่นี่เอนยิ่งกว่าหอเอนปิซ่าที่อิตาลีเสียอีก เมื่อแรกสร้างใน ค.ศ. 1529 คนสร้างก็ไม่ได้ตั้งใจให้มันเอน แต่พอสร้างไปสร้างมาตัวหอกลับทรุดตัวและเอนไปเรื่อย ๆ แม้ว่าจะเพียรพยายามแก้ไขเพียงไหนก็ไม่เป็นผล จนในที่สุดต้องยุติการก่อสร้างลงเมื่อ ค.ศ. 1533 ความฝันที่ว่ากลางเมืองจะมีหอสูง 120 เมตรพลันต้องจบลง เหลือเพียงความสูงที่นับรวมโครงสร้างด้วยได้ราว 48 เมตร

แม้จะไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ชาวบ้านก็ภาคภูมิใจกับหอเอนในฐานะเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง ปัจจุบันยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เปิดให้เข้าชมระหว่างเดือนเมษายนถึงตุลาคม อีกทั้งลานด้านหน้ายังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมประจำเมืองในช่วงหน้าร้อนอีกด้วย

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก

ความเข้มข้นทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนานของฟรีสแลนด์และเลียววาเดน ส่งผลให้เมื่อปี 2018 สหภาพยุโรปประกาศให้เลียววาเดนเป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของยุโรป กิจกรรมทางวัฒนธรรมมากมายถูกจัดขึ้นในระยะเวลา 1 ปี ตัวตนที่น่าสนใจของทั้งฟรีสแลนด์และเลียววาเดนก็ได้โอกาสเฉิดฉายต่อสายตานักเดินทางในมิติต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งในฐานะเป็นบ้านและบ้านเกิดของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น เป็นบ้านของ พระนางมารี หลุยส์ ฟาน เฮสเซน-กัสเซล (Marie Louise van Hessen-Kassel) เจ้าหญิงแห่งออเรนจ์-นาเซา Orange-Nassau สตรีผู้ทรงอิทธิพลของราชสำนักในศตวรรษที่ 18 และทรงเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของราชวงศ์ออเรนจ์ (House of Orange) พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันของเนเธอร์แลนด์ คือ สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ก็ทรงสืบเชื้อสายจากพระนางมารีหลุยส์เช่นกัน

แล้วใครอีก… เอ็ม. ซี. เอชเชอร์ (M.C. Escher) ศิลปินภาพพิมพ์ชื่อดังระดับโลกคนนี้ก็ด้วย แม้จะไปเติบโตที่อื่นแต่ก็ลืมตาดูโลกที่เลียววาเดน อีกหนึ่งศิลปินคือ เซอร์ ลอว์เรนซ์ อัลมา ทาเดมา (Sir Lawrence Alma-Tadema) จิตรกรยุควิกตอเรียน ก็เกิดที่หมู่บ้านโดรนไรป์ (Dronryp) ในฟรีสแลนด์ แต่ไปลงหลักปักฐานสร้างชื่อเสียงอยู่ที่สหราชอาณาจักร

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก

นอกจากสายจิตรกรแล้ว ฟรีสแลนด์ยังเป็นบ้านเกิดของอีกหนึ่งสตรีที่มีชีวิตสุดโลดโผน นั่นก็คือ มาตา ฮารี (Mata Hari) ชื่อภาษาอินโดนีเซียที่มีความหมายว่า Eye of The Day ซึ่งหมายถึงพระอาทิตย์นั่นเอง

มาตา ฮารี มีชื่อจริงว่า มากาเรตา เกียร์ทรูดา เซลล์ (Margaretha Geertruida Zelle) เด็กสาวจากเลียววาเดนที่เดินทางสู่โลกกว้าง กลายเป็นเมีย เป็นแม่ เป็นนักเต้นระบำโชว์เนื้อหนังแฝงกลิ่นอายชวนพิศวงของโลกตะวันออก ประดับเรือนร่างด้วยอัญมณีแพรวพราว เป็นโสเภณีชั้นสูง มีชีวิตเจิดจ้าโด่งดังตั้งแต่อินโดนีเซียจนถึงวงสังคมชั้นสูงที่ปารีส แต่แล้วกลับพบจุดจบด้วยข้อหาเป็นสายลับสองหน้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเธอยืนยันว่าเธอบริสุทธิ์จนวันตาย

ทุกวันนี้บ้านเกิดของมาตา ฮารี ที่ Kelders 33 กลางเมืองเลียววาเดนเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ พื้นที่ส่วนหนึ่งจำลองบรรยากาศอดีตไว้เสมือนยังเป็นร้านขายหมวกสมัยศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นกิจการของพ่อมาตา ฮารี และยังมีเรื่องราวของเธอจัดแสดงที่นี่ด้วย

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก
บ้านเกิด มาตา ฮารี

ชีวิตจิตใจของบุคคลสำคัญเหล่านี้ก็ถูกนำมาร้อยเรียงสอดประสานอยู่ในเรื่องเล่าของเมือง ไม่ว่าคุณจะเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ไหน หรือหยุดยืนอ่านโบรชัวร์เกี่ยวกับฟรีสแลนด์ที่ใด ย่อมต้องได้รู้ ได้เห็นเรื่องราวของพวกเขาไม่มุมใดก็มุมหนึ่ง เช่น ถ้าคุณแวะไปที่พิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งชาติ (Princessehof National Museum of Ceramics) ใจกลางย่านเมืองเก่า นอกจากจะได้ชมคอลเลกชันเครื่องกระเบื้องจีนที่ใหญ่และหลากหลายที่สุดในเนเธอร์แลนด์ ชมคอลเลกชันเซรามิกยุคอาร์ตนูโวและอาร์ตเดโคของดัตช์ระหว่างปี 1880 – 1930 ชมงานเซรามิกฝีมือ ปาโบล ปิกัสโซ และแน่นอนว่าชมงานขึ้นชื่ออย่างเครื่องเคลือบเขียนสีน้ำเงินจากเมืองเดล์ฟ (Delft Blue) และงานเอกลักษณ์ท้องถิ่นแบบ Frisian Blue แล้ว คุณก็ต้องได้รับรู้เรื่องราวของพระนางมารี หลุยส์ ที่น่าตื่นตาตื่นใจไปด้วย เพราะในอดีตตัวอาคารพิพิธภัณฑ์เคยเป็นวังที่พำนักสุดท้ายของพระนางนั่นเอง

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก
งานเซรามิกฝีมือ ปาโบล ปิกัสโซ

ตัวพระนางมารี หลุยส์ ไม่ได้เกิดที่ฟรีสแลนด์ แต่มาจากตระกูลขุนนางฟากเยอรมนี พระนางแต่งงานเข้ามาเป็นสะใภ้เจ้าของ โยฮัน วิลเลม ฟริโซ (Johan Willem Friso) ผู้รั้งตำแหน่ง ‘สตัดเฮาเดอร์ (Stadholder)’ ผู้ปกครองระดับสูงที่เทียบได้กับประมุขแห่งรัฐ ทั้งยังมีสถานะเป็นเจ้าชายแห่งออเรนจ์ โชคร้ายที่สวามีของพระนางอายุสั้น ตายจากไปตอนอายุเพียง 23 ปี พระนางจึงต้องรับหน้าที่เป็นเหมือนผู้สำเร็จราชการแทนบุตรชายที่ยังเด็ก จวบจนบุตรชายโตขึ้นเป็นสตัดเฮาเดอร์ได้สำเร็จ พระนางจึงวางมือ แต่ก็อำลาวงการได้เพียงสั้น ๆ เท่านั้น เพราะบุตรชายก็มาป่วยตายไปอีกคน หลานน้อยก็ยังเล็กเกินกว่าจะทำหน้าที่ได้ พระนางจึงต้องเล่นบทบาทคือหัตถาครองพิภพต่อมาอีกหลายปี โดยประทับอยู่ที่ Princessehof ระหว่าง ค.ศ. 1731 จนกระทั่งสิ้นลมใน ค.ศ. 1765

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก

ความหรูหรารุ่งเรืองภายใต้สองมือของพระนางยังคงเหลือร่องรอยให้เห็นในห้องรับประทานอาหาร ซึ่งตกแต่งแบบบาโรก (Baroque) เน้นความเยอะเพริศแพร้วพรรณราย มองปราดเดียวต้องเห็นความรวยแบบตะโกน วอลเปเปอร์หนังแท้แทรกลายทอง เตาผิงหินอ่อน เพดานลวดลายปูนปั้น ผ้าม่านทอเนื้อดี เครื่องกระเบื้องยุโรปตกมาใหม่ ๆ ในสมัยนั้น เมื่อนึกว่าของพวกนี้ผ่านกาลเวลามาเกือบ 300 ปี ก็อดทึ่งในการเก็บรักษาประวัติศาสตร์ของเขาไม่ได้

ความบรรพบุรุษแห่งราชวงศ์ออเรนจ์ไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเมื่อเดินออกมานอกตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ ปรากฏว่ากำแพงด้านหนึ่งที่หันสู่หอเอนแห่งเลียววาเดนเป็นกำแพงที่มีกระเบื้องจำนวนกว่า 2,160 ชิ้น เรียงเป็นรูปพระพักตร์ของพระนางมารี หลุยส์ โดยมีหน้าเล็ก ๆ ของสวามีผู้อายุสั้นอยู่เคียงข้าง จำลองจากภาพเขียนจริงที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ (Rijksmuseum) ที่อัมสเตอร์ดัม และกระเบื้องเหล่านั้นยังเรียงเป็นพงศาวลีของเจ้านายในยุโรปที่มีความเกี่ยวพันหรือสืบเชื้อสายมาจากพระนางมารี หลุยส์ ให้อารมณ์ประหนึ่งแม่ของแผ่นดินยังไงยังงั้น

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก

และเชื่อหรือไม่ว่า Princessehof ไม่ได้เป็นบ้านของพระนางมารี หลุยส์ เท่านั้น เพราะในเวลาต่อมายังเป็น ‘บ้านเกิด’ ของ เอ็ม. ซี. เอชเชอร์ อีกด้วย ครอบครัวของเอชเชอร์เป็นผู้มีอันจะกินอย่างไม่ต้องสงสัย หาไม่แล้วคงไม่สามารถอาศัยอยู่ในคฤหาสน์หรูกลางเมืองได้ ตัวเอชเชอร์เองลืมตามาเห็นแสงแรกของชีวิตเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1898 ที่บ้านนี้จริง ๆ แต่ใช้เวลาที่นี่เพียงขวบปีแรก ๆ เท่านั้น ก่อนจะย้ายไปโตที่อื่น

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก
ผลงานของเอชเชอร์

นิทรรศการถาวร At Home with M.C. Escher จัดแสดงที่ชั้นใต้ถุนของอาคาร Princessehof นอกจากมีภาพวัยเด็กและประวัติของเอชเชอร์แล้ว ยังมีผลงานของ Leon Keer ศิลปินสตรีทอาร์ตคนดังมาจัดแสดงด้วย ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมาจากงาน Convex and Concave ของเอชเชอร์ โดย Keer สร้างภาพลวงตาบนฝาผนังและเพดานห้องใต้ดิน ตามแบบฉบับลายเซ็นในงานของเอชเชอร์ที่อุดมด้วยมุมมองแปลกประหลาด สถาปัตยกรรมลวงตาหากดูเสมือนจริง การจัดเรียงรูปทรงเรขาคณิตหรือรูปทรงต่าง ๆ ในภาพอย่างมีจังหวะสอดประสานกลมกลืนแบบที่ต้องผ่านการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์มาแล้ว ถือเป็นนิทรรศการขนาดเล็กที่ปลุกใจให้อยากดูงานเอชเชอร์อย่างลงลึกกว่าเดิม

ใครสนใจก็ไปดูงานเอชเชอร์แบบเต็ม ๆ ได้ที่พิพิธภัณฑ์ Escher in the Palace ที่กรุงเฮก แต่ตอนนี้เที่ยวที่ Princessehof ไปก่อน นี่แค่พิพิธภัณฑ์เดียวเท่านั้น แต่มีเรื่องหลากหลายเหลือเกิน เดิน 1 วันไม่จบ สมแล้วที่เขาโฆษณาตัวเองว่าเปรียบดั่งพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์แห่งภาคเหนือ

เดินไปสู่ใจเมือง

ข้อมูลจากเว็บไซต์การท่องเที่ยวเนเธอร์แลนด์ระบุว่า เนเธอร์แลนด์เป็นชาติที่มีพิพิธภัณฑ์หนาแน่นมากสุดในโลก จริง ๆ ถึงเขาไม่บอกเราก็คงต้องสังเกตเห็นเองอยู่ดี เพราะเฉพาะในเลียววาเดนเอง มีพิพิธภัณฑ์อยู่ตามมุมต่าง ๆ จนทำตัวไม่ถูก คือความรู้ก็อยากได้ ความไร้สาระก็ต้องการ เลยใช้วิธีวางแผนชีวิตจากการดูพยากรณ์อากาศ ถ้าวันไหนเขาบอกแดดแจ๋ก็ออกเดินเรื่อยเปื่อยไปเลย (แม้จะเป็นแดดแจ๋ที่มาพร้อมอุณหภูมิติดลบก็เถอะ) ซึ่งก็ได้ผล เพราะเดินไปเจอตรอกเล็กที่จริง ๆ คือถนนไคลเนอ แคร์กสตราต (Kleine Kerkstraat) อยู่ใกล้วังพระนางมารี หลุยส์ นี่แหละ

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก

ชาวบ้านบอกว่านี่คือถนนที่เคยได้รับการโหวตให้เป็นถนนสายช้อปปิ้งที่น่ารักที่สุดของเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันก็ยังน่ารักอยู่ ยิ่งช่วงใกล้เทศกาลปลายปี ทุกร้านตกแต่งกันเต็มที่ ร้านรวงบนถนนสายนี้มีหลากหลาย มีทั้งร้านไอศกรีม ร้านขายของตกแต่งบ้าน ร้านขายของมือสอง ร้านตัดผมสุดคลาสสิก และที่ดูดเงินออกจากกระเป๋าเราได้รัว ๆ คือร้านเก่าแก่ ซาว์โวลฮูเฟอ (Zuivelhoeve) ขายสารพัดชีส ถั่ว ไส้กรอก แฮม และไวน์ อยากลองชีสตัวไหนบอก เขาให้ชิมไม่กั๊ก ซื้อกลับไทยก็ได้ เขาบรรจุในถุงสุญญากาศให้เสร็จ

ใจกลางย่านช้อปปิ้งของเลียววาเดนก็ยังคงอยู่ในย่านเมืองเก่า คูคลองแคบบ้างกว้างบ้างถักทอประสานเหมือนใยแมงมุมไปทั่วเมือง ความเก่าและความใหม่สอดผสานไปด้วยกันอย่างไม่ขัดเขิน เป็นธรรมดาของบ้านเมืองในยุโรปที่คุณอาจเพิ่งถอยโค้ทตัวใหม่ออกจาก H&M เสร็จแล้วก็เดินข้ามถนนมาสั่งอะไรดื่มแก้กระหายที่อาคารโบราณหลายร้อยปีฝั่งตรงข้าม เลียววาเดนก็เป็นเช่นนั้น เพราะที่กลางเมืองตรงข้ามร้านรวงทันสมัย มีอาคารจากศตวรรษที่ 16 ตั้งอยู่ ปัจจุบันคือคาเฟ่แต่อดีตคือ เดอ วากก์ (De Waag) หรือโรงชั่งน้ำหนักสินค้า สมัยก่อนพ่อค้าจะนำผลิตภัณฑ์จากนมมาซื้อขายที่นี่ ก่อนซื้อขายก็ต้องชั่งน้ำหนักตรวจสอบคุณภาพ กำหนดราคา กำหนดภาษีต่าง ๆ เดอ วากก์ จึงเป็นหนึ่งในหลักฐานจากอดีตที่บ่งชี้ว่า เลียววาเดนเคยเป็นเมืองการค้าสำคัญมาหลายร้อยปีแล้ว

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก

สีสันของเมืองคึกคักขึ้นมาอีกขั้นในวันศุกร์เพราะเป็นวันที่มีตลาดนัด ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลเลิศคือจัตุรัสไซลองด์ (Zaailand) หน้าพิพิธภัณฑ์ Fries Museum ตลาดนัดที่นี่ก็เหมือนบ้านเรา มีตั้งแต่ร้านขายของสด ขายอาหาร ขายชีส ขายขนมหวาน ขายเสื้อผ้ามือสอง เครื่องประดับ ฯลฯ ไปจนถึงเปาะเปี๊ยะร้อน ๆ ที่ตอนอยู่เมืองไทยไม่ได้นึกอยากกินนัก แต่ตอนอยู่ที่หนาว ๆ การเห็นของทอดร้อนฉ่าขึ้นมาจากกระทะถือเป็นสวรรค์

Friesland แดนแผ่นดินราบ เมืองน่ารักในเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์หลายคนไม่รู้จัก

และที่อยากจะลองมากคือ ปลาแฮริ่งดิบหมักเกลือตามวิธีถนอมอาหารให้กินได้นาน ๆ เป็นเมนูที่คนที่นี่กินกันเป็นว่าเล่น ในตลาดนัดนี่เห็นผู้ชายตัวโต ๆ ถือจานกระดาษใส่ปลาแฮริ่งดิบตัวจ้อย แนมด้วยหอมใหญ่หั่นซอย กินกันเบิกบานน่าอร่อย กลิ่นคงจรุงทุกมิติ อย่างนี้มันต้องลองบ้าง เจ้าบ้านอาสาไปซื้อให้พร้อมสั่งสอนว่า คนที่นี่เวลาไปซื้อแฮริ่งเขาไม่บอกคนขายว่าซื้อปลาแฮริ่งนะ แต่เขาจะพูดว่า (แปลจากดัตช์เป็นอังกฤษได้ประมาณนี้) “พี่ ๆ ขอ Salted One ตัวสิ” และหลังจากเรากินเข้าไปคำสองคำก็ อืม ไม่คาวและมีความนัวลิ้น แปลกดี แต่คงไม่ใช่จานโปรดของเรา เลยหันไปสั่งปลาคอดทอดแทน อันนี้ฉ่ำร้อนสะใจ กินกันควันออกปาก

ฟรีสแลนด์ 360 องศา ที่ Fries Museum

ฟรีส มิวเซียม หรือ ฟรีเชียน มิวเซียม (Frisian Museum) คือพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในเลียววาเดน และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง เพราะที่นี่มัดรวมเรื่องทั้งหมดทั้งสิ้นทุกมิติของฟรีสแลนด์ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ไว้ด้วยกันในพื้นที่จัดแสดง 3 ชั้น เรื่องเด่น ๆ ที่เราชอบคือความสัมพันธ์แบบ Love-hate Relationship ของชาวฟรีเชียนที่มีต่อสายน้ำ

เยือน Friesland บ้านเกิดนมโฟร์โมสต์ ค้นรากเหง้าเหล่าคนดัง ภายในจังหวัดเล็กแสนสวยที่แตกต่างจากทุกจังหวัดของเนเธอร์แลนด์

ว่ากันว่าชาวฟรีเชียนรบรากับทะเลเหนือมานานกว่า 2,500 ปี เพราะแผ่นดินทางเหนือนั้นเปราะบางมาก มองไปสุดลูกหูลูกตาเห็นแต่ภูมิประเทศราบเรียบไปจนจรดทะเล เปิดทางให้ลมและคลื่นใหญ่สาดซัดเมืองโดยสะดวก ชาวฟรีเชียนหลายชั่วอายุต่างต้องค้นหาว่า จะทำยังให้บ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรไม่โดนน้ำท่วม คำตอบมาในรูปของแลนด์สเคปที่ยังเหลือให้เห็นในปัจจุบัน นั่นก็คือเนินเขาเล็ก ๆ (Mound) ผลงานมนุษย์สร้าง บนยอดเป็นที่ตั้งของโบสถ์ ลดหลั่นลงมาคือบ้านเรือน ถ้าเป็นสมัยโบราณ บ้านคนรวยก็จะอยู่ใกล้ ๆ โบสถ์ พูดง่าย ๆ คือได้ทำเลทองรอดพ้นจากน้ำท่วมแน่ ๆ และอีกสิ่งสำคัญขาดไม่ได้เด็ดขาด คือ เขื่อนดินสูง (Dike) ถ้ามองจากมุมสูงจะเห็นเลยว่าตลอดแนวชายฝั่งของฟรีสแลนด์มีเขื่อนสูงเป็นปราการยาวป้องกันเมืองไว้ทั้งหมด

เยือน Friesland บ้านเกิดนมโฟร์โมสต์ ค้นรากเหง้าเหล่าคนดัง ภายในจังหวัดเล็กแสนสวยที่แตกต่างจากทุกจังหวัดของเนเธอร์แลนด์

นอกจากนั้นยังมีส่วนจัดแสดงที่เล่าแยกย่อยถึงบางเมืองเด่น ๆ ในฟรีสแลนด์ เช่น เมืองฮินเดอโลเปน (Hindeloopen) อดีตเมืองท่าสุดคึกคักในศตวรรษที่ 17 – 18 ศูนย์รวมของพ่อค้าวาณิชที่ล่องเรือไปมาจากที่หลากหลาย กลับบ้านทีก็นำของแปลก ๆ จากประเทศแสนไกลมาฝากภรรยาผู้ทำหน้าที่ตกแต่งบ้านด้วยเครื่องเรือนไม้หรูหราแกะสลักลายละเอียด บ้างก็วาดลวดลายและทาสีสดใส ทั้งยังมีผ้าพื้นเมืองจากอินเดียและเครื่องกระเบื้องเนื้อบางจากจีน ก่อกำเนิดศิลปะแบบฮินเดอโลเปน ที่ผสมผสานกลิ่นอายชวนพิศวงของโลกตะวันออกเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างเอกลักษณ์ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในยุโรปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี

เยือน Friesland บ้านเกิดนมโฟร์โมสต์ ค้นรากเหง้าเหล่าคนดัง ภายในจังหวัดเล็กแสนสวยที่แตกต่างจากทุกจังหวัดของเนเธอร์แลนด์

ไทม์ไลน์การเล่าเรื่องในพิพิธภัณฑ์ลากยาวตั้งแต่มิติด้านธรณีวิทยาในอดีตไกลโพ้น ยุคกลางที่เต็มไปด้วยโรคระบาด เรื่อยมาจนสงครามโลกครั้งที่ 1 ตามด้วยความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าวของและถ้อยคำที่นำจัดแสดงบอกเลยว่ามีน้ำตาซึม

และเส้นเวลาก็เชื่อมสู่ปัจจุบันด้วยการตั้งคำถามถึงอิสรภาพที่คนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกว่า 75 ปีก่อนโหยหา แล้วอิสรภาพสำหรับคนรุ่นเราหมายถึงอะไร คำตอบหลากหลายในมุมมองปัจเจกที่อาศัยในฟรีสแลนด์ คละเคล้าจากคนท้องถิ่นไปจนถึงผู้อพยพลี้ภัย แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่ว่ายุคสมัยใด อิสรภาพที่ปรารถนา คือหัวใจเสรีที่จะเลือกใช้ชีวิตอย่างใจต้องการโดยไม่เบียดเบียนใครและไม่อยากให้ใครมาเบียดเบียน

เยือน Friesland บ้านเกิดนมโฟร์โมสต์ ค้นรากเหง้าเหล่าคนดัง ภายในจังหวัดเล็กแสนสวยที่แตกต่างจากทุกจังหวัดของเนเธอร์แลนด์

เดินออกจากพิพิธภัณฑ์มาอีกทีฟ้ามืดแล้ว ฤดูนี้นะ 4 โมงครึ่งก็มืดเหมือนหัวค่ำ สมองยังมึนกับสารพันเรื่องราวที่คาดว่าต้องใช้เวลาตกผลึกสักพักกว่าจะรู้ว่าซึมซับอะไรเข้าไปบ้าง เจ้าบ้านคงเข้าใจเลยชวนคุยเรื่องเบาๆ ว่าด้วยอาหารเย็นนี้ที่เป็นเมนูคนดัตช์ทำกินเองในบ้านจริง ๆ และมักจะกินช่วงหน้าหนาวด้วยเพราะว่า

“คือมันเป็นเมนูที่ Heavy พอสมควรอะ นึกออกมั้ย” เจ้าบ้านอรรถาธิบาย 

เมนูที่ว่านั้นคือ Preischotel ฟังเขาออกเสียงได้ประมาณว่า ‘ไปรสโคเทิล’ วัตถุดิบสำคัญคือมันฝรั่ง ต้นหอม (Leek) ชีส ไส้กรอก เนื้อบดหรือเบคอนตามชอบ แต่ละบ้านก็อาจจะมีวิธีปรุงต่างกันออกไป อย่างของบ้านนี้พอต้มมันฝรั่งแล้วก็บดหยาบ ๆ ซอยต้นหอม ใส่ไส้กรอก และชีส แล้วเอาเข้าเตาอบ ปล่อยให้ส่วนผสมแต่ละอย่างสอดประสานความอร่อยเป็นเนื้อเดียวกันเอง อบจนกระทั่งเห็นหน้าด้านบนดูเหลืองกรอบก็พร้อมกิน อากาศหนาว ๆ แสงเทียนเรืองบนโต๊ะและวับวามตามมุมต่าง ๆ ในบ้าน ตักแบ่งไปรสโคเทิลใส่จานให้กัน เป็นมื้อง่าย ๆ ไม่แฟนซีแต่คอนเฟิร์มว่าอุ่น อร่อย และอิ่ม

เยือน Friesland บ้านเกิดนมโฟร์โมสต์ ค้นรากเหง้าเหล่าคนดัง ภายในจังหวัดเล็กแสนสวยที่แตกต่างจากทุกจังหวัดของเนเธอร์แลนด์

ระหว่างกินก็ค่อยๆ ตกผลึกให้เจ้าบ้านฟังว่าหลายวันมานี้เดินโต๋เต๋ไปไหนมาบ้าง ได้รู้จักบ้านเมืองนี้ตื้นลึกอย่างไร ไปมาแล้วกี่พิพิธภัณฑ์ กินชีสมาแล้วกี่ตัน ชอปปิงของไร้สาระมาแล้วเท่าไหร่ แล้วใจก็ประหวัดกลับไปถึงพ่อหนุ่ม ตม. ที่แปลกใจต่อจุดหมายของเราอีกครั้ง พ่วงด้วยความเห็นส่วนตัวที่หลุดปากบอกเจ้าบ้านไปว่า “ฉันว่าคนที่มาเที่ยวฟรีสแลนด์นี่ไม่แปลกนะ คนที่แปลกคือคนที่คิดว่าฟรีสแลนด์ไกลมากและไม่รู้จะมาทำไมมากกว่ามั้ยอะ” 

เจ้าบ้านฟังแล้วหัวเราะก่อนจะบอกว่า “ก็ตอนนี้เรื่องที่เธอรู้เกี่ยวกับฟรีสแลนด์น่ะมันมากกว่าคนดัตช์หลาย ๆ คนแล้วมั้ง อยู่อีกสักพักสิ คนซอกแซกอย่างเธอน่าจะเขียนหนังสือได้หลายเล่ม” 

ฟังแล้วเหมือนถูกหลอกเหน็บยังไงไม่รู้ แต่ก็นั่นแหละค่ะ ก็จริงอย่างเขาว่า เพราะที่เขียนมานี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของการเดินทางเท่านั้นเอง เรื่องที่ยังไม่ได้เล่าก็มีอีกเยอะเป็นกระบุงจริง ๆ

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

แพร ปุโรทกานนท์

นักเขียนอิสระที่ทำงานประจำ อยากรู้อยากเห็นประวัติศาสตร์ สนใจศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเรื่องอาหารการกิน