29 มิถุนายน 2022
17 K

“ที่ที่คุณจะเรียกเขาว่าอะไรก็ได้ แต่เขาขายอาหารและกาแฟ”

บาสพูดจบแล้วขำตัวเอง “พี่ว่าเขียนไปว่าร้านอาหารก็ได้”

หลังจากที่หลับอยู่ในรถมากว่า 2 ชั่วโมง พี่คนขับก็ปลุกเราให้ลืมตามาเจอกับอาคารหลังไม่ใหญ่โต ครึ่งบนเป็นบ้านไม้เก่า ๆ อายุราว 50 ปี อีกครึ่งดูเป็นคาเฟ่โมเดิร์นราวกับอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเมืองเก๋ ๆ อย่างเชียงใหม่ แต่ที่นี่คือ ‘สวนผึ้ง’ จังหวัดราชบุรี เพียงแค่ 30 กิโลเมตรก็จะถึงชายแดนไทย-พม่าแล้ว

‘First and Foremost’ หน้าร้านเขียนอย่างนั้น

First and Foremost ร้านอาหารในบ้านไม้ 50 ปีที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของสวนผึ้ง ราชบุรี

Share Location คราวนี้ เรานัด บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา ผู้เคยประจำอยู่ที่พสุธารา และ Ali มาพูดคุยเรื่องพื้นที่ใหม่ของเขา ร่วมกับ โน้ต-อธิป สโมสร และ ซัน-พงศ์วิจิตร สามัตถิยะ สองพาร์ตเนอร์ที่เพิ่งมาร่วมงานกัน บาสแนะนำว่า คนหนึ่งเก่งเรื่องอาหาร คนหนึ่งเก่งเรื่องกาแฟ

ถ้าให้เจาะจงว่าที่แห่งนี้ ‘เป็นอะไร’ แม้แต่ทีมงานก็ตอบยาก พวกเขารู้แค่ว่าที่นี่สรรสร้างมาเพื่อสื่อสารเมืองสวนผึ้งในรูปแบบที่ต่างออกไป เพื่อให้คนเมืองที่อยู่สวนผึ้งหรือที่แวะมาเยี่ยมเยียน ได้รู้จักและรักสวนผึ้งยิ่งกว่าเดิม ด้วยสเปซ สถาปัตยกรรม อาหาร กาแฟ บทสนทนา และกิจกรรมที่พวกเขานำเสนอ

“พี่ว่าทุกคนที่อยู่ในเมืองนี้ ทำมาหากินกับเมืองนี้ มีสัญชาตญาณอัตโนมัติว่า อยากให้ที่นี่ดีขึ้น”

บาส ผู้คลุกคลีกับสวนผึ้งมาหลายปีให้ความเห็น

First and Foremost ร้านอาหารในบ้านไม้ 50 ปีที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของสวนผึ้ง ราชบุรี

Decision-making

“พี่สนใจมนุษย์ แล้วก็ธรรมชาติ” บาสพูดถึงความสนใจโดยรวมของตัวเอง

เขาเป็นบัณฑิตจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอย่างที่เราเกริ่นไปในตอนแรก ที่บ้านของเขาทำกิจการชื่อ ‘พสุธารา’ แบรนด์ไทยที่แปรรูปพืชผักเป็นอาหารธรรมชาติ มี Bed & Breakfast เป็นของตัวเอง ย้อนกลับไป พ.ศ. 2559 ที่แบรนด์เปิดตัว ตอนนั้นเขารับหน้าที่เป็น Business Development ต้องประจำที่อำเภอสวนผึ้ง 2 – 3 ปี แล้วจึงย้ายไปทำแบรนด์ของครอบครัว ภายใต้ชื่อ ‘Ali’ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนจากธรรมชาติ นอกจาก 2 กิจการที่กล่าวมา เขายังทำโปรเจกต์หลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูระบบนิเวศ การเชื่อมสัมพันธ์คนกับธรรมชาติ และงานด้านความยั่งยืนด้วย

“อยู่ดี ๆ เราก็รู้สึกว่าอยู่กรุงเทพฯ ไม่ไหวแล้ว” บาสเล่าถึงจุดเปลี่ยนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญพร้อมกัน “โควิด 2 ปี ทำให้เราขาดการเชื่อมต่อกับทุกอย่าง ก็เลยอยากกลับไปสวนผึ้ง”

First and Foremost ร้านอาหารในบ้านไม้ 50 ปีที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของสวนผึ้ง ราชบุรี
First and Foremost ร้านอาหารในบ้านไม้ 50 ปีที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของสวนผึ้ง ราชบุรี

ทำไมถึงอยากกลับมา ที่นี่ดียังไง เราถามในฐานะคนที่มาสวนผึ้งเป็นครั้งแรก

“เราตกหลุมรักที่นี่ตั้งแต่ตอนนั้น ส่วนตัวคิดว่าคุณภาพชีวิตที่ดีมันเป็นแบบนี้ มันมีความเป็นเมือง อยากจะเข้าไปดูหนังในกรุงเทพฯ ก็สะดวก ขณะเดียวกันก็มีป่าเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดมหึมาอยู่ใกล้ ๆ ขับไปอีกนิดเดียวก็ถึงแล้ว” เรียกว่าที่นี่ตอบโจทย์เขานั่นแหละ “มันทำให้ชีวิตมีตัวเลือกที่หลากหลาย”

ถึงอย่างนั้น เขาก็ยอมรับว่าตนมีแต้มต่อ เขามีที่ทางอยู่ที่นี่ รู้จักผู้คนที่นี่พอสมควร ไม่ได้มาแบบเสื่อผืนหมอนใบหรือเริ่มจากศูนย์ สวนผึ้งกลายเป็นอีกคอมฟอร์ตโซนที่จะรองรับไอเดียใหม่ ๆ ของเขาได้

“ไอเดียในหัวคือ Community Space พี่อยากให้ที่นี่มันเป็น Friend’s Table โต๊ะเพื่อนกัน

“ให้ร้านช่วยให้คนที่มาเยือน ตกหลุมรักสวนผึ้ง” เขาเริ่มเอ่ยถึงคอนเซ็ปต์แรก

แล้วอะไรล่ะที่จะเป็น Community Space ของคนยุคนี้ คำตอบคือ ‘ร้านอาหาร’

ร้านอาหารเป็นพื้นที่ที่คนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นธรรมชาติ บาสมองว่าถ้าไม่ใช่ร้านอาหาร ก็หาพื้นที่ที่ทำหน้าที่นี้ได้น้อยมาก และบ้านที่นำมารีโนเวตก็เป็นบ้านไม้เก่าอายุ 50 – 60 ปีของคุณยายคนหนึ่ง ซึ่งครอบครัวของบาสซื้อต่อมา ปัจจุบันคุณยายก็ยังคงอาศัยอยู่ในบริเวณหลังบ้านนี้ด้วย

First and Foremost ร้านอาหารในบ้านไม้ 50 ปีที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของสวนผึ้ง ราชบุรี

“ที่ตัดสินใจทำ ประกอบไปด้วย 2 ส่วน” บาสค่อย ๆ แจกแจงให้เราคิดตาม

หนึ่ง คือ โอกาสทางธุรกิจ เขารู้ว่ามีคนเมืองมากมายมาเที่ยวสวนผึ้ง แต่ไม่มีอาหารประเภทมื้อสายผสมผสานสไตล์นานาชาติแบบที่พวกเขากำลังจะทำ ซึ่งคนเมืองที่เขาว่าไม่ได้หมายถึงนักท่องเที่ยวเสมอไป แต่อาจหมายถึงผู้ประกอบการ คนที่เข้ามาทำงาน หรือคนรุ่นใหม่ที่เคยผ่านชีวิตในเมือง มีประสบการณ์กับอาหารแบบนี้ และเคยชินกับ ‘จริตโมเดิร์น’ ของพื้นที่แห่งนี้

สอง คือ จิตวิญญาณ เรียบง่าย บาสหลงรักสวนผึ้ง และอยากให้คนอื่นหลงรักเช่นกัน

บาสเชื่อว่าการนำเสนอเรื่องราวใหม่ ๆ ในพื้นที่ คือการพัฒนาเมือง ตามที่พี่คนหนึ่งบอกมา ดังนั้น เขาจึงทดลองทำหลายอย่างกับ First and Foremost ไม่จำกัดอยู่แค่การเป็นร้านอาหารหรือคาเฟ่

“ตอนแรกตั้งใจทำเป็น Pop-up Event แต่ไป ๆ มา ๆ ก็ปล่อยไหลยาวเลย รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมาถูกทาง เพราะลูกค้าที่เข้ามาทุกคนมีความสุข สิ่งนี้เป็นตัวบอกว่า โอเค ทำต่อไป” บาสว่าถ้าผู้คนมีความสุข แปลว่าเขากำลังทำสิ่งที่มีประโยชน์ ทั้งกับธุรกิจของเขาเอง ทั้งกับความรู้สึกของคน

ส่วนจะเรียกที่นี่ว่าอะไร ปล่อยให้คนอื่นนิยามกันเอง

Hidden Message

ย้อนกลับไป 4 – 5 ปีที่แล้ว บาสเจอกับโน้ต พาร์ตเนอร์สายอาหาร ตั้งแต่ตอนที่เขาทำพสุธารา โน้ตมาออกร้าน เขาเป็นคนทำอาหารที่สนใจเรื่องวัตถุดิบท้องถิ่น รักความออร์แกนิก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและต่อมนุษย์ บางคนก็เรียกเขาว่า ‘นักทดลองอาหาร’

“ตอนแรกพี่อยากให้เป็น Brunch แบบ Eggs Benedict, Eggs Royale แบบ Croque Monsieur มันไม่ได้สักอย่างที่พี่คิด” บาสหัวเราะเสียงดัง “พี่โน้ตเขาไม่ได้อินแบบนี้ พี่ก็เลยปล่อยให้เขาทำ”

“ตอนแรกจะเข้ามา 3 เดือนแล้วก็ออก” โน้ตที่นั่งอยู่ข้าง ๆ พูดขึ้นเป็นครั้งแรก “ไม่ต้องมีมาตรฐานตายตัวขนาดนั้น เรามองว่าเขาอุตส่าห์มาสวนผึ้ง มาใช้เวลา ก็ควรจะได้กินอะไรที่แตกต่าง”

“เรามองว่าแต่ละพื้นที่มีวัตถุดิบ มีเรื่องราวของเขาอยู่แล้ว เราไม่ได้ต้องการให้ร้านนี้โดดเด่น แต่ต้องการให้ตัวพื้นที่ทั้งหมดมีสิ่งที่จะพูด มีเรื่องราวของมัน เช่น น้องที่ร้านเป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เราก็นำอาหารบางอย่างของเขามาทำ หรือว่ากูลาชที่ทำให้กินวันนี้ ก็เป็นการเอาเนื้อต้มบ้านสิงห์มาผสมกับอาหารรัสเซีย” เขาพูดถึงเมนูที่สั่งมาให้เรากินกันอิ่มหนำก่อนเริ่มบทสนทนา

First and Foremost ร้านอาหารในบ้านไม้ 50 ปีที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของสวนผึ้ง ราชบุรี

บ้านสิงห์เป็นตำบลหนึ่งในจังหวัดราชบุรี และเนื้อต้มบ้านสิงห์ก็เป็นอาหารขึ้นชื่อของที่นั่น เริ่มมาจากคุณลุงคนหนึ่งมีสูตรต้มเนื้อแสนอร่อย จนคนอื่น ๆ ในย่านนั้นเปิดร้านด้วยสูตรเดียวกัน

จุดเด่นของเนื้อต้มบ้านสิงห์คือ มีกะเพรา พริกตำ และซีอิ๊วดำ

โน้ตพยายามใช้วัตถุดิบท้องถิ่นให้มากที่สุด ซีอิ๊วที่ว่า เขาก็ใช้ซีอิ๊วตราเสือจากอำเภอดำเนินสะดวก ซอสพริก เขาใช้พริกกะเหรี่ยงของที่นี่ ซอสบาร์บีคิวใช้สับปะรดในพื้นที่ นมได้มาจากสหกรณ์โคนมของนักบวชคริสต์ที่จอมบึง เนื้อมาจาก KU Beef ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และไก่ เป็นไก่พื้นเมืองจากคุณป้าร้านทำผม

ล่าสุดวัตถุดิบท้องถิ่นเหล่านั้นกลายมาเป็นเมนูพิเศษ อย่างอาหารยูเครน

“เราอยากให้คนตัวเล็ก ๆ ได้ประโยชน์ ก็เลยขับรถไปรับวัตถุดิบทุกอย่างเอง”

First and Foremost ร้านอาหารในบ้านไม้ 50 ปีที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของสวนผึ้ง ราชบุรี
First and Foremost ร้านอาหารในบ้านไม้ 50 ปีที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของสวนผึ้ง ราชบุรี

เราถามว่า เขา ‘นำเสนอ’ ความพิเศษของอาหารมากแค่ไหน

“พี่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็น Hidden Message มากกว่า” บาสให้ความเห็น เราแปลกใจนิดหน่อยที่เขาเลือกทางนี้ สำหรับเราแล้ว หากแต่ละเมนูมีที่มาขนาดนี้ นำเสนอเป็นสไตล์โอมากาเสะก็ยังได้

“พี่โน้ตไม่ได้เป็นคนป่าวประกาศว่าใช้อะไรบ้าง แต่มันมาจากความเคารพ”

โน้ตพูดต่อว่า โดยจุดมุ่งหมาย เขาไม่ได้ต้องการให้ร้านมีเอกลักษณ์ แต่เขาอยากให้ ‘พื้นที่ทั้งหมด’ โดดเด่นขึ้นมาด้วยอาหารที่เขาทำมากกว่า

“พอมันเป็น Hidden Message มันเป็นต่อมเอ๊ะ เอ๊ะ สับปะรดเหรอ สับปะรดที่นี่หรือเปล่า มันคือการเปิดบทสนทนา ก็กลับไปเรื่องของความเป็น Community Space นะ เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่จะคุยกันได้” บาสวกกลับมาที่ไอเดียเดิม ซึ่งตอบโจทย์ได้ด้วยอาหาร หากลูกค้าไม่ถาม พวกเขาหรือพนักงานก็มักจะไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพูด สวนผึ้งเป็นเมืองพักผ่อน พวกเขาอยากให้ผู้มาเยือนมีความสุขกับช่วงเวลาให้เต็มที่ แทนที่จะต้องมานั่งรอเชฟอธิบายอาหารอย่างเป็นทางการ

Everyday Coffee

‘หาพาร์ตเนอร์กาแฟ! มาด่วนเลย!’ คือสิ่งที่บาสโพสต์ลงโซเชียลมีเดียก่อนร้านเปิดราว 10 วัน

“ด้วยวิสัยคืออยากทำคุณภาพสูงสุด แต่เรารู้ว่าถ้าให้เรียนรู้ด้วยตัวเองมันใช้เวลา แล้วไม่มีใครในโลกนี้ที่จะเป็นซูเปอร์แมน ทำได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เราต้องหาเพื่อนมาส่งเสริมในสิ่งที่เราคิด”

และสมาชิกคนสุดท้ายที่มาเสริมทัพ ก็คือซัน เพื่อนของเพื่อนในเฟซบุ๊กคนนี้

หลังจากที่ไปเป็นบาริสต้าที่ออสเตรเลียมา 8 ปี ซันก็กลับมาเปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ ของตัวเองที่กรุงเทพฯ กาแฟที่เข้าไทป์ซัน เป็นกาแฟเรียบง่ายที่ดื่มได้ทุกวันตามแบบฉบับซิดนีย์ เมืองที่เขาเคยไปอยู่ หากเดินกลับไปดูหน้าร้าน จะเห็นวลี SYDNEY VIBE’S COFFEE เขียนอยู่เหนือวลี ALL-DAY BRUNCH

First and Foremost; brunch and coffee ร้านอาหารและกาแฟที่เล่าเรื่องเมืองผ่านวัตถุดิบท้องถิ่น วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

เขาเล่าว่าสมัยอยู่ออสเตรเลีย ซูเปอร์มาร์เก็ตต้องคำนวณ Healthy Star ให้ดูอย่างชัดเจน ถ้าดีต่อร่างกายก็ได้ 5 ดาว ขนมขบเคี้ยวให้ครึ่งดาว ส่วนจะตัดสินใจซื้อหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์ของลูกค้า ผู้ขายมีหน้าที่บอกให้ชัดเจน แต่ประเทศไทย ซันว่าผู้บริโภคต้องดูแลตัวเองเยอะเกินความจำเป็น เพราะอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลเสียต่อสุขภาพมีขายอยู่ทั่วไป และคนไทยคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่รู้ว่ามีตัวเลือกอื่นนอกจากนั้น

“กาแฟในไทยต้องใส่นมข้นจืด นมข้นหวาน น้ำเชื่อม ครีมเทียม นมเทียม หลายคนพอเห็นเราทำกาแฟ แค่ช็อตกาแฟ แล้วก็เทนมสด จะงงว่าแค่นี้เหรอ คือกาแฟจริง ๆ ควรเป็นแบบนี้ และควรจะอร่อยได้ด้วยตัวมันเพียงเท่านี้” ซันพูดพลางเสิร์ฟกาแฟดำหอมกรุ่นให้เราชิมกันคนละแก้ว

เขาถอดรูปแบบและรสชาติของกาแฟมาจากซิดนีย์ ซึ่งเป็นเมืองของผู้ใช้แรงงาน

กาแฟของซิดนีย์ต้องดื่มแล้วอยู่ ดื่มแล้วมีแรง ไม่ต้องดื่มซ้ำเยอะแยะ!

First and Foremost; brunch and coffee ร้านอาหารและกาแฟที่เล่าเรื่องเมืองผ่านวัตถุดิบท้องถิ่น วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

“ที่ซันพูดมันคือตัวตนเขา เป็น Traditional Coffee ที่เขาทำตอนอยู่ซิดนีย์ แต่เราไม่ได้ปฏิเสธความต้องการของคนไทยนะ อย่างคาปูชิโน่เย็น เราก็มีในเมนู ในขณะเดียวกัน เราก็มีจิตวิญญาณของการทำกาแฟแบบสากล” บาสอธิบายเพิ่มเติม “พี่ไม่ชอบให้คนไม่มีตัวเลือก” ไม่ว่าจะอาหารหรือกาแฟ First and Foremost จึงพยายามนำเสนอทางเลือกให้ผู้มาเยือนสวนผึ้งได้ลิ้มลองเสมอ

Sensing x Experiencing

โน้ตเป็นพาร์ตเนอร์อาหาร ซันเป็นพาร์ตเนอร์กาแฟ แล้วบาสล่ะ?

“เขาเป็นคนที่เชื่อมโยงทุกอย่างเข้ากับทุกคน เราไม่คุ้นเคยกับคนในพื้นที่เท่าพี่บาส เขาเป็นเหมือน Translator ที่แปลความหมายของสิ่งที่เราทำไปให้กับผู้คน” ซันพยายามหาคำจำกัดความมาให้บาส

“หรืออาจจะเป็น Director, Curator แต่จริง ๆ ร้านอาหารมันไม่มีหน้าที่พวกนี้นะ” โน้ตพูดบ้าง

“ถ้าถามว่าตัวเองทำหน้าที่อะไร รู้สึกว่าตัวเองเป็น Pointer ที่พูดได้ มีมือ มีปาก มีเท้า” บาสเล่าอย่างอารมณ์ดี “ปกติ Pointer ต้องรอคนหยิบไปชี้ใช่ไหม แต่พี่ไม่ต้องรอคนมาหยิบ อยากจะฉายไปสิ่งไหน ให้คนเห็นอะไร พี่ก็ชี้ไป ภาษาอังกฤษพี่จะใช้ว่า Talkative Pointer เป็น Pointer ที่พูดได้” หน้าที่ของบาสคือชี้ชวนให้ผู้มาเยือนเห็นและสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ที่สวนผึ้งมีอยู่แล้ว รวมถึงสิ่งใหม่ที่พวกเขาเลือกเพิ่มเข้าไป

First and Foremost; brunch and coffee ร้านอาหารและกาแฟที่เล่าเรื่องเมืองผ่านวัตถุดิบท้องถิ่น วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

สิ่งใหม่อาจเป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย ทุก ๆ ครั้งที่นำสิ่งใหม่เข้ามา พวกเขาต้องคิดให้ดีว่า หากนำเข้ามาแล้วสิ่งนั้นจะเคารพพื้นที่หรือไม่ เช่น บ้านไม้ของคุณยาย แทนที่จะรื้อทิ้งแล้วนำไม้เก่าเหล่านี้ไปขาย บาสก็เก็บโครงบ้านไว้บางส่วน และปล่อยสนามหน้าบ้านให้โล่งโจ้ง ไม่บดบังความงามของบ้านไม้ เพื่อให้เห็นถึง ‘ราก’ ของพื้นที่ สมัยที่สวนผึ้งยังไม่เป็นแบบนี้ สมัยที่คุณตาคุณยายพากันไปตัดไม้มาสร้างบ้าน

“บ้านหลังนี้เป็นตัวสื่อสารในลักษณะภายนอก มันทำให้เราเห็นว่า สิ่งนี้เป็นมรดกของเมือง” บาสเปรย แล้วเล่าต่อถึงยันต์ที่แปะตามเสา แรกเริ่มเดิมทีตอนได้บ้านมาเขากลัวมาก แต่ก็เลือกจะเก็บไว้ วันหนึ่งมีคุณลุงอายุ 70 เดินเข้ามา แล้วอธิบายว่านี่คือยันต์มงคล แปะไว้ที่เสาเอกกับเสาโท เขาจึงมีโอกาสได้รู้ความจริง นี่ก็เป็นการเชื่อมโยงความเก่ากับความใหม่ แถมเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาได้ดี

First and Foremost; brunch and coffee ร้านอาหารและกาแฟที่เล่าเรื่องเมืองผ่านวัตถุดิบท้องถิ่น วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

อีกสิ่งสำคัญที่ขาดไปไม่ได้สำหรับที่นี่ คือ ‘กิจกรรม’

“คนรุ่นเราในสังคมเมืองต้องการมีประสบการณ์กับพื้นที่เยอะ ๆ มันเอื้อให้เกิดการเติบโตภายในมากกว่าการขับรถไปดูธรรมชาติ ไปดูทะเลหมอกเฉย ๆ พี่ก็เลยคิดถึงกิจกรรมแนว Ecotourism หรืออาจไปไกลกว่านั้น เป็น Lifestyle หรือ Spiritual” บาสเล่าถึงที่มาของกิจกรรมสนุก ๆ ที่นี่

Coffee Sensing (สังเกตว่าใช้ Sensing ไม่ใช่ Testing) เป็นกิจกรรมที่พวกเขาจัดขึ้นมาให้ผู้คนจำนวนไม่มากมาลอง ‘ผัสสะ’ เพื่อจะได้เลือกกาแฟที่ถูกใจตัวเองในอนาคต

First and Foremost; brunch and coffee ร้านอาหารและกาแฟที่เล่าเรื่องเมืองผ่านวัตถุดิบท้องถิ่น วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

กิจกรรมต่อมาคือ Nature Walk เป็นการพาคนเข้าไปสำรวจธรรมชาติ ทำให้คนวัยผู้ใหญ่ได้คืนอำนาจการเล่นให้กับตัวเอง โดยพื้นที่ธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในสวนผึ้งเป็นสนามทดลองให้เขา และให้คนได้สัมผัสสวนผึ้งในแง่มุมแท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น (Human-made)

“พี่คิดว่าธรรมชาติมันตรงไปตรงมา โดนหนามก็ต้องเจ็บ อยู่กลางป่า ร้อนก็คือร้อน แต่ถ้ามนุษย์พูดแบบนี้มันคิดอีกอย่างหนึ่งได้ เพราะฉะนั้น ในพื้นที่ธรรมชาติมันเลยเป็นสนามทดลองที่ดีและปลอดภัยทางความคิด” หลังจากที่นั่งคุยกันในร้านเรียบร้อย บาสก็พาเราไปเดินดูเด็ก ๆ กระโดดน้ำในพื้นที่ธรรมชาติสาธารณะแห่งเดียวของสวนผึ้ง เพื่อจำลองการเล่นอย่างที่เขาบอก

First and Foremost; brunch and coffee ร้านอาหารและกาแฟที่เล่าเรื่องเมืองผ่านวัตถุดิบท้องถิ่น วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

นอกจากนั้น บาสก็พูดถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่าง Suanphueng Wild Cooking Club ซึ่งผสมระหว่าง Nature Walk กับวัฒนธรรม พาไปเก็บวัตถุดิบตามฤดูกาล แล้วมาทำอาหารแบบคนในพื้นที่กินกัน หรือกิจกรรม Brunch in the Wood พาคนไปปิกนิกกันในโลเคชันที่เหมาะแก่การรื่นรมย์โดยไม่ประกาศล่วงหน้านานนัก ฟังแค่นี้ก็น่าสนุกแล้ว สำหรับเรา กิจกรรมทั้งหมดที่พูดมาต่างมีจุดร่วมกันคือ เน้นประสบการณ์กับตนเองและสวนผึ้ง

“พี่ว่าที่นี่คือสนามเด็กเล่น วันหนึ่งพี่อาจจะทำห้องเวิร์กชอปก็ได้นะ”

First and Foremost

First and Foremost แปลว่า เหนือสิ่งอื่นใด

“เหนือสิ่งอื่นใด เข้ามาที่นี่แล้วคนต้องมีความสุข” กว่า 6 เดือนที่เปิดร้านมา มีผู้คนมากหน้าหลายตาที่พวกเขาไม่เคยรู้จักมาก่อน ผลัดกันเข้ามานั่งที่ Friend’s Table ตัวนี้

‘พี่แนน คุณหมอที่โรงพยาบาลสวนผึ้ง’ ขอบคุณที่พวกเขาทำร้านนี้ขึ้นมา

‘น้องกราฟิกดีไซเนอร์แห่งสวนผึ้ง’ แวะมาที่นี่ด้วยความสุข

‘สาวซิดนีย์’ บังเอิญเข้ามาชิมกาแฟแล้วคิดถึงบ้าน

‘ฝรั่งที่สอนศาสนากลุ่มชาติพันธุ์’ สบายใจที่เข้ามาทานอาหาร พร้อมแลกเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ

ทีม First and Foremost ทั้งบาส โน้ต ซัน รวมถึงแอมและตาล ดีใจที่พื้นที่ไร้คำจำกัดความแห่งนี้ ตอบสนองผู้คนได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“เราต้องการเพื่อนเยอะ ๆ มานั่งโต๊ะนี้กันเยอะ ๆ นะ” บาสเชิญชวนเป็นการปิดท้าย

First and Foremost; brunch and coffee ร้านอาหารและกาแฟที่เล่าเรื่องเมืองผ่านวัตถุดิบท้องถิ่น วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

First and Foremost

ที่ตั้ง : 25/1 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี 70180 (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : เปิดให้บริการวันจันทร์-พฤหัสบดี (ยกเว้นวันพุธ) เวลา 09.00 – 16.00 น. วันศุกร์-เสาร์ เวลา 09.00 – 20.00 น. และวันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 18.00 น.
โทรศัพท์ : 09 8754 1535
Facebook : First and Foremost; brunch and coffee

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์