เป็นเลขาสมาคมบาริสต้าไทย

เป็น Q Grader มือฉมังตั้งแต่ตอนที่ประเทศไทยยังมีไม่ถึง 10 คน

ได้ Specialty Coffee Association (SCA) Certified จากสมาคมกาแฟพิเศษ สำหรับสอนบาริสต้าทุกเลเวล 

ได้ Certified Judge รับรองเป็นกรรมการตัดสินกาแฟ ทั้งประเภท Barista, Brewers Cup, Cup Tasters, Latte Art, Good Spirits และ Roasting 

เป็นกรรมการคนแรกของไทยในการตัดสินกาแฟระดับโลกหรือ World Coffee Events ก่อนก้าวมาเป็นหัวหน้ากรรมการหรือ Representatives หนึ่งเดียวจนถึงปัจจุบัน

ถ้า ฝ้าย-สุธิณี อมรพัฒนกุล มีวิกิพีเดีย เหล่านี้ก็คงปรากฏอยู่ในประวัติของเธอ

ในแวดวงกาแฟ เราอาจคุ้นชื่อเธอในนาม ฝ้าย K2 หรือ ฝ้าย UCC ธุรกิจกาแฟครบวงจรที่เธอทำอยู่ แต่วันนี้เราอยากให้คุณรู้จักเธอในแวดวงการแข่งขันดูบ้าง

ในขณะที่คนอื่นเริ่มต้นจากชิมกาแฟก่อนแล้วค่อยชอบ ฝ้ายชอบเครื่องก่อนแล้วค่อยอินกับกาแฟ

ฝ้ายชอบรถแข่ง ติดตามเทคโนโลยี เรียนจบวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เชื่อว่ากาแฟทุกแก้วมีเหตุผล และตัดสินใจเป็นกรรมการเพราะอยากเห็นคนไทยได้แชมป์โลก

ท่ามกลางสุนทรียะของกาแฟหอมกรุ่น มือข้างขวาเธอจับปากกาตามประสาหัวหน้าผู้เถรตรง ส่วนอีกข้างถูกจับจองด้วยผ้าพันแผล เพราะอุบัติเหตุจากการช่วยเหลือแมวไร้บ้าน

หลังได้แลกเปลี่ยนบทสนทนาที่เข้มข้น เต็มไปด้วยศัพท์เทคนิค เราพบว่าเธอสนุกกับชีวิตมากกว่าที่คิดไว้

ฝ้าย สุธิณี กรรมการ World Coffee Events คนแรกของไทยที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ตัดสินกาแฟ

Method to My Madness

คุณอยู่วงการกาแฟมามากกว่า 10 ปี แต่ไม่ค่อยเจอประวัติของคุณในอินเทอร์เน็ตเลย

ดีแล้วค่ะ (หัวเราะ) เราอยู่มานานแล้ว ทุกคนรู้จักเราบนเวที จริง ๆ ตอนนี้เราก็เริ่ม Step Back บ้างแล้วค่ะเพื่อพัฒนาน้อง ๆ กรรมการใหม่ ๆ มามากขึ้น

เราเริ่มทำงานที่ K2 ก่อนจะมาเป็น UCC เพราะคุณอาเป็นเจ้าของ พอเรียนจบแล้วก็มาช่วยงาน เราไม่กินกาแฟด้วยนะ มาทำงานที่นี่เราก็ยังไม่กิน แต่พอมาช่วยแล้วเราต้องรู้ว่าใช้เครื่องยังไง ชงกาแฟยังไง เลยได้มีโอกาสทำความรู้จักกับกาแฟ 

เติบโตมากับคนในครอบครัวที่เป็นเจ้าของธุรกิจเครื่องทำกาแฟ ทำไมถึงไม่กินกาแฟ

เพราะมันขม (หัวเราะ) บอกตรง ๆ ตอนวัยรุ่นสิ่งเดียวที่ขมแล้วกินคือเบียร์ คนเรากินกาแฟเพื่อให้ตื่น แต่เราไม่ได้เป็นคนที่ต้องตื่นเพราะกาแฟ 

สมัยนั้นไปนั่งอ่านหนังสือกัน 10 คนที่ Coffee World, Starbucks มีคนสั่งกาแฟแค่คนเดียว ที่เหลือสั่งแฟรปปูชิโน่ โอรีโอปั่น สั่งเครื่องดื่มหวาน ๆ ยิ่งตอนเด็ก ๆ พ่อแม่จะคอยบอกว่า เด็กห้ามกินคาเฟอีน เป็นโทษกับสุขภาพร่างกาย แล้วเราโตมาแบบนี้ ก็เลยไม่อินกับมันจริง ๆ 

คุณเรียนจบอะไรมา

Computer Sciences (หัวเราะ) 

เอาอะไรที่ได้จากการเรียน Computer Sciences มาปรับใช้กับอาชีพปัจจุบันบ้าง

Logic อย่างเดียวเลย ตรรกะ ความเป็นเหตุเป็นผล เราเรียน Software Engineering

เราเป็นผู้หญิงชอบรถ RX7 ชอบเฟอร์รารี่ ชอบ BMW ชอบเครื่องยนต์ ชอบเทคโนโลยี พอเห็นเครื่องชงกาแฟ เราก็ชิลล์ เข้าใจง่าย ตอนมาทำงานครั้งแรกเราเป็นเซลส์ ทำงานกับเครื่อง

แต่พออยู่กับมัน เราเริ่มอิน อินแบบอินจริง ๆ ไม่คิดว่าตัวเองจะอินได้ขนาดนี้

อะไรคือเสน่ห์ของเครื่องทำกาแฟในตอนนั้น

ตอนแรก ๆ เรามองว่ามันต้องชงได้ต่อเนื่อง 100 – 200 ช็อตแล้วไม่มีปัญหาเครื่องพัง สอง ทุกช็อตชงแล้วรสชาติควรเสถียรเหมือนกัน 

แต่พอเริ่มรู้จักรสชาติกาแฟ เริ่มรู้จักบาริสต้า เครื่องเหมือนกัน กาแฟเหมือนกัน คนชงคนละคน รสชาติมันต่าง แม้กระทั่งการเปลี่ยนเทคโนโลยีเครื่องชงและเครื่องบดกาแฟ เช่น Grind Size Distribution หรือพื้นที่หน้าตัดก็มีผลต่อรสชาติ นี่แหละคือเสน่ห์ที่กาแฟเดียวกันต่างกันได้ขนาดนี้ 

เราเป็นคนชอบ Logic ยิ่งพอได้เป็นกรรมการ เราได้เห็นความแตกต่างจริง ๆ ว่าทำไมคนนี้ได้แค่ 1 คนนี้ได้ 5 หรือ 6 คะแนน

คนอื่นหลงใหลในสุนทรียศาสตร์และความพิถีพิถันของกาแฟ แต่คุณเป็นคนช่างวิเคราะห์และชอบวิทยาศาสตร์ของมัน 

ใช่ ตลกมาก (หัวเราะ) กาแฟเจ๋งตรงนี้ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ทุกคนมีอารมณ์ความรู้สึกหมด แต่ภายใต้ความรู้สึกนั้น ๆ มีวิทยาศาสตร์ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ เวลาเราดมกลิ่นนี้ รสชาตินี้ เราอยากรู้ว่าทำไม ก็พยายามไปเรียนเกี่ยวกับการคั่วกาแฟและที่มาของกาแฟนั้น ๆ

เวลากินกาแฟต้องคิดตลอดว่ามาจากไหน เราใช้ Sensory เยอะ ไม่ใช่แค่กาแฟ เวลาชิมน้ำเปล่า ก็มีบางที่ที่เขาใช้น้ำหนัก ๆ หน่อย เพื่อนยังชอบบ่นว่าเราเรื่องมาก (หัวเราะ) แต่ก็มีบ้างที่อยากนั่งจิบกาแฟเฉย ๆ โดยไม่ต้องมาคิดอะไร 

ฝ้าย สุธิณี กรรมการ World Coffee Events คนแรกของไทยที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ตัดสินกาแฟ

แล้วตอนไหนที่คุณเริ่มชอบกาแฟ

น่าจะปี 2004 – 2005 ประเทศไทยไม่ได้มีความรู้เรื่องกาแฟมากนัก ต้องไปเรียนเมืองนอก แล้วเราก็มีโอกาสได้ไปเห็นการแข่งขันบาริสต้า ได้ไปกินกาแฟเอธิโอเปียที่สหรัฐฯ มันเปิดโลกเรามากว่า กาแฟรสชาติแบบนี้ได้เหรอวะ ทำไมเหมือนชามะนาว (หัวเราะ)

แล้วก็มีโอกาสขึ้นไปฟาร์มกาแฟ ซึ่งสมัยนั้นคนไทยยังไม่สนใจเหมือนตอนนี้ที่ใคร ๆ ก็อยากทำ Process ที่ดอยสะเก็ดไม่มีอะไรเลยจริง ๆ ขึ้นไปเป็นดินแดง ถนนบางเส้นยังน้ำท่วม แล้วนั่งรถก็นาน ทรมานมาก แต่พอเราไปเห็นชีวิตบนนั้น ก่อนจะออกมาเป็นเมล็ดหนึ่ง เราเก็บแทบตายกว่าจะได้ 5 กิโล แล้วจะเหลือ Green Bean แค่ 1 กิโล 

เราเลยตั้งปฏิญาณกับตัวเองว่า จะพัฒนาตรงนี้ให้มากขึ้น ต้องทำยังไงให้คนรู้ ให้คนเข้าใจว่ากว่าจะได้กาแฟแก้วหนึ่งเหนื่อยแค่ไหน 

มีผู้เกี่ยวข้องเยอะมากในกระบวนการตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ ทำไมถึงสนใจบาริสต้าเป็นพิเศษ

เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่า ทฤษฎี 4M ของเอสเปรสโซ่จากอิตาลีคือหลักในการชงกาแฟเอสเอสเปรสโซ่ให้ได้ดี ได้แก่

Miscela คือเมล็ดกาแฟ Macinazione คือเครื่องบดกาแฟ Macchina คือเครื่องชงกาแฟ และ Mano หรือ Man คือฝีมือของมนุษย์ 

เรามองว่า Man เป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด หมายความว่า ต่อให้ใช้เครื่องราคาแพง มีแนวโน้มให้มีคุณภาพดีกว่า กับใช้เครื่องราคาถูกกว่าในบ้าน แต่คุณมีมนุษย์ที่เข้าใจกาแฟ เข้าใจว่าเครื่องทำอะไรได้ แล้วพยายามสกัดความดีงามนั้นออกมา อาจจะไม่ดีเท่าเครื่องใหญ่แพง ๆ แต่ก็ยกระดับกันได้ 

ประจวบกับตอนนั้น ถ้าถามว่าบาริสต้าคืออะไร ทุกคนงง คนยังไม่รู้จักคำนี้จริง ๆ เขาเข้าใจว่าคนชงกาแฟใส่แก้วก็คือคนชงกาแฟ 

ต้องขอบคุณ Starbucks ที่เข้ามาทำให้เรารู้จักเอสเปรสโซ่ ทำให้เรารู้ว่ามีอาชีพที่ชื่อว่าบาริสต้า เพราะอาชีพนี้ในต่างประเทศไม่ได้แค่ชง เขาดูแลตั้งแต่เปิดร้าน ถูร้าน ไฟในร้านเสียก็เปลี่ยน

ต่อมาเราก็ได้มานั่งคุยกันกับ คุณมีชัย อมรพัฒนกุล นายกสมาคมบาริสต้าไทยว่า จะทำยังไงให้คนใส่ใจอาชีพนี้มากขึ้น เพราะเมื่อก่อนเงินเดือนบาริสต้าแค่ 5,000 – 7,500 บาท ซึ่งไม่พอกิน เทียบกับตอนนี้ไม่ได้เลย พอเราได้ไปต่างประเทศ ได้เห็นการแข่งขัน เราก็เชื่อว่าการแข่งขันจะทำให้คนรู้จักอาชีพนี้มากกว่าเดิม

คุณเริ่มจัดแข่งบาริสต้าในประเทศไทยได้ยังไง

สมาคมบาริสต้าไทยพยายามที่จะจัดแข่งบาริสต้า ซึ่งแน่นอน ปีแรก ๆ เรายังไม่ Sanction กับ WCE ก็แข่งไปก่อนเหมือนกันกับทุกประเทศ และตอนนั้นเราเข้าใจการแข่งที่สุด เราเคยเป็นเทรนเนอร์ สอนชง เคยจะแข่งด้วยแต่เขาไม่ให้ลง (หัวเราะ) เพราะคุณมีชัยให้มาช่วยการจัดแข่งตอนปี 2008 

มีการเชิญกรรมการจากต่างประเทศเข้ามาเป็น Head Judge เราเลยมีโอกาสได้เรียนรู้ว่ากรรมการเขาเป็นอย่างนี้ แข่งยังไง ชงยังไง ให้คะแนนยังไง 

พอเราเริ่มรู้จักการแข่งขันมากขึ้น และรู้ว่าถ้าจะพัฒนาก็ต้องมีคนเข้าใจในการแข่งขันระดับโลก เราเลยพยายามศึกษามากขึ้น แล้วก็ไปสอบที่สิงคโปร์ เพื่อที่จะได้ Certified ตอนปี 2011 และได้เป็นกรรมการตัดสินระดับโลกตอนปี 2012 

ฝ้าย สุธิณี กรรมการ World Coffee Events คนแรกของไทยที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ตัดสินกาแฟ

Coffee in one hand, Confidence in the other.

การตัดสินที่ World Coffee Events เป็นยังไง

ที่ WCE มีระบบ Certified Judge คนที่เป็น Certified Judge จะบินมางานตัดสินระดับโลกและมักถูกเชิญไปตัดสินระดับประเทศ เราถูกเชิญไปตัดสินบ่อยเพราะตอนนั้นกรรมการในเอเชียมีไม่เยอะ เราได้รับเชิญไปที่สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน และอีกหลายประเทศ

แต่ไม่ใช่ว่าคุณเป็น Certified Judge แล้วจะได้ตัดสินระดับโลกเสมอไป ทุกการแข่งจะมีการ Judge Calibration ต้อง Calibrate กรรมการ ไม่งั้นคะแนน 4 ของคุณกับคะแนน 4 ของเราจะไม่เหมือนกัน ถ้าคุณไม่ผ่าน Calibration คุณก็จะไม่ได้ Judge

และการเป็นกรรมการไม่ได้เงิน กรรมการถือเป็นงานอาสา สิ่งที่ได้คือตั๋วเครื่องบิน ที่พักในการตัดสินระดับประเทศและในระดับโลกเราต้องออกค่าใช้จ่ายเอง WCE เขาเขียนไว้ชัดเจน

กระบวนการ Calibrate กรรมการคืออะไร

ใน WCE จะมี Head Judge, Certified Judge และมี Representatives ตัวเราเป็นหนึ่งใน Representatives 

สมมติมีคนแข่งบาริสต้า 60 คน จาก 60 ประเทศ ใน 60 ประเทศก็จะมีการแข่งขันในประเทศนั้น ๆ

การแข่งในประเทศรอบไฟนอลต้องมี Representatives 1 คนอยู่ตรงนั้น เพื่อทำหน้าที่เทรนกรรมการ ทำให้แน่ใจว่ากรรมการเข้าใจกฎกติกาที่ไปทางเดียวกับ WCE อย่างยุติธรรม ไม่มีการโกงกัน 

ในการแข่งระดับโลกก่อนจะมี Judge Calibration เขาจะมี Head Judge Calibration ที่ Representatives หรือหัวหน้ากรรมการ จะมารวมตัวกันเองก่อนว่าเกณฑ์การให้คะแนนเป็นยังไง กฎมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง อดีตคุณไปตัดสินที่ไหนมา เจออุปสรรคแบบไหน 

วันต่อมาก็จะทำการ Calibrate กับกรรมการ พูดถึงกฎกติกา การชิมกาแฟร่วมกัน การ Mock Up บาริสต้า พวก Head Judge จะดูพฤติกรรมกรรมการบนเวทีว่าเป็นยังไง การให้คะแนน การเขียนคอมเมนต์ ทุกอย่างต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด 

สกิลล์อะไรที่กรรมการตัดสินกาแฟต้องมี

อย่างแรก คุณต้องมี Basic Understanding Coffee ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ 

สอง ชอบหรือไม่ชอบไม่รู้ แต่เข้ามาในวงการแล้ว คุณต้องอัปเดตเทคโนโลยีตลอด กาแฟอาจจะไม่ไวเท่าเทคโนโลยีมือถือหรือการแพทย์ แต่ก็อัปเดตทุกวัน 

ปี 2004 เราไปสหรัฐฯ ครั้งแรก เขาบอกว่ากาแฟที่ดีที่สุดในโลกคือ Washed ซึ่งไม่ผิดนะ แค่ตอนนั้นไม่มี Processing อื่นที่ทำแล้วเสถียรที่สุด ไม่มีเทคโนโลยีการทำ Dried Process ดี ๆ หรือแม้กระทั่ง Honey ตอนยังไม่มียังถูกเรียกว่า Semi-washed ด้วย

สาม คุณต้องเข้าใจกฎกติกา ไม่ใช่แค่กรรมการนะ คนแข่งด้วย เพราะการแข่งก็เหมือนการเล่นเกม เราต้องพยายามเล่นกับกฎ ทำยังไงให้ได้คะแนน อันไหนเป็น Grey Area ปัจจุบันประเทศไทยมีจัดแข่งบาริสต้า, Brewers Cup, Cup Tester, Latte Art, Syphon, Roasting ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างกฎไม่เหมือนกัน 

ฝ้าย สุธิณี กรรมการ World Coffee Events คนแรกของไทยที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ตัดสินกาแฟ

สมมติให้กรรมการเป็นเหมือนอาจารย์ ฝ้าย สุธิณี เป็นอาจารย์ที่กดหรือปล่อยเกรด

ไม่กด ไม่ปล่อย (หัวเราะ) เรามองว่าทุกอย่างมีกฎ ถ้าได้มา Calibrate กับเรา เราจะบอกเลยว่า Score Sheet คือเครื่องพิสูจน์ของเรา เราไม่ได้มากดคะแนน หน้าที่ของเราคือมาซัพพอร์ตบาริสต้าให้เขาเป็นแชมป์โลกได้ 

อีกอย่างที่เราพูดกับกรรมการเสมอ คือบาริสต้ามีโอกาสพรีเซนต์กับเราแค่ 15 นาที แต่ 15 นาทีนี้ที่เขามีโอกาสได้พูด เราต้องโฟกัส ซัพพอร์ตเขา ทำให้เขาผ่อนคลายเพื่อที่จะพรีเซนต์ตัวเองออกมาได้มากที่สุด จะเห็นว่ากรรมการทุกคนจะต้องมองหน้าบาริสต้าแล้วยิ้มเสมอ

ความยากของการเป็นกรรมการตัดสินกาแฟคืออะไร

คือเราไม่ใช่โค้ช เราบอกเขาไม่ได้ว่าคุณต้องทำอย่างนี้ถึงได้คะแนนเยอะ แต่เราต้องบอกเขาว่าบนเวทีเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เลยส่งผลให้รสชาติเป็นแบบนี้ คุณเลยได้คะแนนเท่านี้ เรากล้าพูด นี่เป็นความสามารถอีกอย่างหนึ่งของกรรมการ

ซึ่งบางทียากมาก คนแข่งตื่นเต้น กรรมการก็ตื่นเต้น ยิ่งการที่เราเป็น World Judge มี 60 ประเทศ โอ้โห สำเนียงหลากหลายมาก แต่ด้วยความที่เป็นกาแฟก็จะมีภาษากลาง เช่น Aroma Flavor, Chocolate Caramel ฯลฯ ที่ต้องรู้และเข้าใจ 

ตอนนี้จะมีสิ่งที่เรียกว่า Shadow Judge คือกรรมการที่มีหน้าที่จดทุกอย่างที่บาริสต้าพูด ทุกครั้งที่ Head Judge ถามว่าเขาพูดอะไร Shadow Judge ต้องตอบให้ได้ และต้องโฟกัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าจริง ๆ

สถานการณ์บนเวทีแบบไหนที่กรรมการตัดสินใจลำบากที่สุด

ขอพูดในมุมมอง Representatives หรือหัวหน้ากรรมการ ณ ประเทศนั้น ๆ 

บางทีเขาไม่เข้าใจกฎกติกาหรือไม่รู้ว่าการแข่งต้องเท่าเทียมกัน เช่น เครื่องชงกาแฟต้องสเปกเหมือนกัน ต่อให้เป็นยี่ห้อเดียวกัน สำหรับเราคือไม่ได้แล้ว ก็ต้องคุยกัน

ส่วนการตัดสินใจที่ลำบากที่สุดคือการตัดสิทธิ์ Disqualified (DQ) เช่น ถ้าเมื่อไหร่คนแข่งอยู่บนเวทีแล้วโค้ชพยายามจะสื่อสาร พยายามช่วย ลืมช้อนแล้วเพื่อนวิ่งไปเอาให้ เรา DQ เลยนะ กฎเขียนชัดเจนก็จริง แต่เราลำบากใจ เพราะเรารู้ว่ากว่าที่เขาจะมาถึงตรงนี้ เขาซ้อมกันหนักขนาดไหน ราคากาแฟก็สูง แล้วมาถูกกำจัดด้วยการตัดสิทธิ์ 

แต่เราก็มองว่า แค่บาริสต้าเอาตัวเองมาแข่ง เขาก็ชนะตัวเขาเองแล้ว 

มีสถานการณ์ยาก ๆ หลังลงจากเวทีบ้างไหม

คือการเขียน Score Sheet ให้สอดคล้องกับ Rule & Regulation แล้วก็เป็น Score Sheet ที่คนแข่งอ่านแล้วเข้าใจเลย เพราะแข่งเสร็จปุ๊บจะมีการ Debrief คือการที่คนชนะและไม่ชนะมีโอกาสได้คุยกับกรรมการ และได้ดู Score Sheet ว่าคุณได้คะแนนเท่านี้เพราะอะไร 

อย่างบางประเทศ ตอนอยู่บนเวที Brewers Cup เราเป็น Head Judge ก็ต้องจดหมดทุกอย่าง ตอนที่คุณชง คุณก็พูดไปกด AeroPress ไป ทำให้มีกาแฟหกออกจากแต่ละแก้ว และเสิร์ฟกาแฟให้กรรมการสลับกัน ทำให้รสชาติทั้ง 3 แก้วออกมาเหมือนกัน Work Flow คุณไม่ดี บางคนก็รับฟัง บางคนก็ไม่ยอม เราก็ต้องมาคุยกันด้วยเหตุผล

นึกสภาพว่าเราเป็นคนแข่ง แล้วกรรมการให้คะแนนเรา แต่บอกไม่ได้ว่าทำไม เราก็ไม่แฮปปี้ การ Debrief ใน WCE เป็นอะไรที่ Sensitive มาก ๆ 

อย่าลืมว่าทุกคนอยากเป็นแชมป์ แต่แชมป์มีได้คนเดียว แล้ว 50 กว่าคนที่เหลือก็ต้องเข้ามาแล้วถามว่าทำไมไม่ได้แชมป์ถูกต้องไหม เราต้องเป็นพยานหลักฐาน ต้องมีเหตุผลสุด ๆ สำหรับเรามันเป็น Tough Time ของกรรมการ

นอกจากการชงกาแฟให้อร่อยแล้ว บาริสต้าต้องมีอะไรอีก

เยอะเลยค่ะ เพราะเรามองหา Ambassador ที่จะเป็นตัวแทนของกาแฟพิเศษและเข้าใจกาแฟ เขาต้องรู้ว่าทำไมเลือกกาแฟตัวนี้ ทำไมเลือกจากฟาร์มนี้ Process นี้ คั่วแบบนี้ 

อย่างการแข่งบาริสต้า เสิร์ฟทั้งหมด 3 คอร์ส คือ Espresso, Milk และ Signature ทั้ง 3 คอร์สต้องมีคอนเซปต์ทั้งหมด แล้วก็มีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่อง Customer Service หรือการทำบาร์ยังไงให้สะอาดเสมอ 

ถ้าคนพูดไม่เก่งอยากมาแข่งบาริสต้าทำยังไง

ไปแข่งคั่วกาแฟค่ะ (หัวเราะ)

ฝ้าย สุธิณี กรรมการ World Coffee Events คนแรกของไทยที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ตัดสินกาแฟ

You can brew it!

มีอาชีพมากมายในวงการนี้ ทำไมคุณถึงเลือกเป็นกรรมการตั้งแต่แรก

เป้าหมายเราชัดเจนมาก เราเป็นกรรมการเพราะเราอยากเห็นคนไทยเป็นแชมป์โลก 

วันที่ ต๋อง-อานนท์ ธิติประเสริฐ เป็นแชมป์โลกลาเต้อาร์ต เรายืนร้องไห้เลย ดีใจมาก มีการแข่งขันบาริสต้าอีกอันที่ เจน-กวินนาถ วีระวรเวท เพิ่งได้อันดับ 13 น่าจะเป็นอันดับสูงสุดที่คนไทยทำได้ เราอยากเห็นคนไทยเข้า Top 6 ต่อไป

ถ้าการเป็นกรรมการคืองานที่ไม่ได้เงิน แล้วคุณได้อะไรกลับมา

(หัวเราะ) 

ใช่แหละ ทุกคนก็ทำงานเพื่อเงิน แต่การได้เห็นวงการกาแฟไทยพัฒนาขึ้น เห็นน้อง ๆ ที่มาแข่งแล้วไม่ได้แชมป์กลับมาแข่งใหม่ พยายามปรับปรุงจากสิ่งที่เราพูด อันนี้คือที่สุดแล้ว 

แบรนด์กาแฟในโลกนี้ที่ดัง ๆ ใครเป็นคนผลิตบ้าง หลัก ๆ ก็อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม แล้วทำไมประเทศที่แบรนด์ดังไม่ใช่ประเทศที่ปลูกกาแฟ เราอยากทำยังไงก็ได้ให้ประเทศ Coffee Origin อย่างพวกเราเป็นที่รู้จักในโลกมากขึ้น กาแฟไทยก็มีดีเหมือนกัน

เป็นไปได้ไหมที่คนไทยจะได้แชมป์บาริสต้าโลก

เป็นไปได้ แต่ก็ยากขึ้นทุกปี เพราะทุกประเทศเขาก็เก่งขึ้น

เมื่อก่อนบาริสต้าไทยไม่เจ๋งขนาดนี้ คนที่แข่งบาริสต้าคือบริษัทใหญ่ เพราะเขาลงทุน ร้านอื่น ๆ คือไม่มีการซ้อม ไม่มีเวลาแข่ง ไม่ได้บอกว่าช่วงนั้นไม่ดีนะ แต่มันเป็นช่วงที่คนยังไม่เข้าใจ กาแฟที่ใช้แข่งก็ยังเป็นคั่วเข้ม แพสชันในกาแฟมันต่างกันกับปัจจุบัน ความรู้ความเข้าใจน้อยกว่า 

บางคนมองว่าแค่ชนะก็ดีใจแล้ว ไม่ได้มองว่าจะก้าวขึ้นไประดับโลก แต่พอเราเป็นกรรมการ เรามองอีกมุม เราเชื่อว่าคนไทยทำได้อยู่แล้ว มีศักยภาพ

ตอนนี้จะเห็นว่าแชมป์บาริสต้าไทยมาจากร้านกาแฟเดี่ยว ๆ ซึ่งไม่แปลก เป็นพัฒนาการการแข่งขันของประเทศเรา

ฝ้าย สุธิณี หัวหน้ากรรมการแห่ง World Coffee Events คนแรกของไทย ผู้เชื่อว่าการแข่งขันจะทำให้คนรู้จักบาริสต้า

การได้แชมป์บาริสต้าโลกสำคัญต่อวงการกาแฟไทยยังไง

มันจะช่วยพัฒนาวงการแน่นอน 

ต่อให้เราพูดแทบตายว่ากาแฟดี มันก็ไปได้แค่นั้น การแข่งขันจะทำให้คนรู้จักมากขึ้น จุดประสงค์แต่ต้นของการจัดแข่งบาริสต้า คือต้องการจะขยายตลาดกาแฟพิเศษอยู่แล้ว ดังนั้น การที่คนไทยเป็นแชมป์โลกจะทำให้ทั้งประเทศหันมาสนใจกาแฟพิเศษ 

ถ้ามีคนที่รู้เรื่องกาแฟเยอะขึ้นแล้วเรามากระจายความรู้ไปด้วยกัน ตลาดก็โตไปด้วยกันได้ 

รู้สึกยังไงกับกระแสตอบรับของ Thailand Coffee Events 2024 ที่เปิดแข่งไม่กี่นาทีก็เต็มทุกรายการ 

ดีใจ แต่ก็อยากรับคนแข่งเยอะกว่านี้ (หัวเราะ) เราว่ามันพัฒนาไปได้อีก ในอนาคตเราอาจต้องมี Preliminary ที่ทำให้คนอื่น ๆ นอกจาก 20 คนที่เรารับเข้ามา

ความเจ๋งของ Thailand Coffee Fest 2023 คือเป็นปีแรกที่สมาคมบาริสต้าไทยกับสมาคมกาแฟพิเศษไทยร่วมงานกัน ทำให้คนรอบข้างรู้จักบาริสต้ามากขึ้น เข้าใจความสำคัญของการแข่งขันกาแฟต่าง ๆ มากขึ้นด้วย

เป็น Head Judge แล้ว สเตปต่อไปที่ ฝ้าย สุธิณี อยากเป็นคืออะไร

อยากให้คนไทยได้เป็น Representatives ต่อไป ไม่ได้บอกว่าเป็นกรรมการไม่ดี แต่กว่าจะมาเป็นได้ต้องอาศัยทั้งเวลา ความเข้าใจ และทักษะ

แล้วก็อยากกลับมาที่ต้นน้ำ ภูมิศาสตร์ประเทศเราสู้กาแฟเอธิโอเปียไม่ได้หรอก แต่เราทำอะไรเพื่อพัฒนาคุณภาพโดยรวมให้ดีขึ้นได้ ให้เกษตรกรทำงานง่ายขึ้น 

ในฐานะกรรมการที่ตัดสินกาแฟมาแล้วทั่วโลก ถ้าให้คะแนนชีวิตตัวเองเต็ม 10 ได้เท่าไหร่

เราให้ 7 

อย่างที่บอก การเป็นกรรมการเป็นงานอาสา เรายังต้องทำงานที่ได้เงิน บางทีเราอาจไม่ได้เต็มที่กับมันมากเท่าที่ควร ต่อให้ตอนนี้ดีแล้ว แต่วงการนี้ยังมีช่องให้โต ยังพัฒนาบุคลากรไปได้อีก 

ฝ้าย สุธิณี หัวหน้ากรรมการแห่ง World Coffee Events คนแรกของไทย ผู้เชื่อว่าการแข่งขันจะทำให้คนรู้จักบาริสต้า

ขอเคล็ดลับ 5 ข้อที่บาริสต้าจะชนะใจคุณ

1. ยึดลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง

ก่อนที่เราจะให้อะไรใคร ต้องรู้ว่าเขาอยากได้อะไรด้วย ใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะทุกคนไม่เหมือนกัน และเรามักจะดีใจถ้าได้ในสิ่งที่เหนือความคาดหวังของเรา

2. มีความรู้ความเข้าใจในกาแฟ

ทั้งเครื่องทำกาแฟ การทำไร่ การ Processing ต้องคอยอัปเดตความรู้ สรรหาสิ่งใหม่ ๆ เสมอ

3. เก่งแต่ถ่อมตน

เราไม่ชอบเรียกตัวเองว่ากูรูกาแฟ เพราะยิ่งอายุเยอะ ยิ่งมีที่ไม่รู้เยอะ และเราเชื่อว่าไม่มีทางจบ ไม่มีคนเดียวที่รู้ไปทั้งโลก เราแค่ต้องรู้ว่าเราสวมบทอะไรอยู่

4. หน้าบาร์เป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากจะพรีเซนต์ดีและเข้าใจแล้ว ต้องจัดระเบียบหน้าบาร์ให้เป็น ไม่ได้ถึงขนาดทำความสะอาดบาร์เอี่ยม แต่ของอะไรก่อนใช้อยู่ตรงไหน หลังใช้อยู่ตรงไหน Work Flow สำคัญมาก

5. เสน่ห์มีผลกว่าหน้าตา

อย่าลืมว่าเรามาหาคนที่เป็น Ambassador เพื่อพรีเซนต์กาแฟพิเศษ คุณต้องทำให้สิ่งที่คุณพูดให้มันน่าสนใจได้ เราว่าคนที่มีเสน่ห์ในการพูดคือพูดในสิ่งที่เขาชอบ และมีแพสชันออกมาจากดวงตา

6. ที่สำคัญ ก่อนแข่งอ่านกฎกติกาให้เข้าใจก่อนค่ะ (หัวเราะ)

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์