จากท้องถนนอันวุ่นวายของกรุงย่างกุ้ง ศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจประเทศเมียนมา สู่ความสงบเงียบและร่มเงาไม้ใหญ่บนถนนโปรม หนึ่งในถนนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก นับตั้งแต่เมียนมาตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษจนได้รับเอกราชอีกเกือบ 200 ปีต่อมา
สองข้างทางเรียงรายไปด้วยสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ คล้ายถนนวิทยุของบ้านเราที่เต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่ และร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันยาวนานแน่นแฟ้น
รถเคลื่อนตัวผ่านระบบรักษาความปลอดภัยและรั้วคอนกรีตสูงใหญ่เข้าสู่แผ่นดินไทยผืนน้อยขนาด 7 ไร่
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง คืออาคาร 3 ชั้นหน้าตาเรียบง่ายเป็นมิตร ตั้งอยู่อย่างถ่อมตัวกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ เมื่อรถเลี้ยวพ้นแมกไม้ อาคารหลังที่สองก็ปรากฏสู่สายตา
ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง โดดเด่นและสง่างามท่ามกลางพืชพรรณเขตร้อน อาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้นหลังนี้แสดงความแข็งแรงหนักแน่นตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมอังกฤษโบราณออกมาอย่างชัดเจน ตั้งแต่เส้นสายของผนังรับน้ำหนักรูปโค้งรอบตัวบ้านชั้นล่าง ตลอดจนหลังคาปั้นหยาผสมหลังคาจั่วทรงสูง
‘ทำเนียบ’ แปลว่า บ้าน แม้เจ้าของบ้านจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวาระราชการของเอกอัครราชทูตที่มาประจำการ ณ กรุงย่างกุ้ง แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้าของบ้านทุกคนสืบทอดต่อกันมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ คือการดูแลรักษาบ้านโบราณหลังนี้เป็นอย่างดี จนได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2557
ฉันยืนสูดกลิ่นลมฝนอันสดชื่นของพม่าหน้าฝน เมื่อประตูทำเนียบทรงคุณค่าหลังนี้เปิดออก พร้อมรอยยิ้มต้อนรับจากเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ท่านเอกอัครราชทูต จักร บุญ-หลง และ คุณตุ๊ก-กมลรัตน์ บุญ-หลง ภริยา ผู้จะมาบอกเล่าเรื่องราวความพิเศษในบ้านแห่งแผ่นดินไทย ณ กรุงย่างกุ้ง หลังนี้
บ้านใกล้เรือนเคียง
“เอกอัครราชทูต คือตัวแทนคนไทยที่ทำหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ความสัมพันธ์ทางการทูตในยุคปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิชาการ และสังคม” ท่านทูตเริ่มอธิบาย
คนไทยส่วนใหญ่จดจำเมียนมาในฐานะข้าศึกที่เข้ามารุกรานกรุงศรีอยุธยา นั่นคือประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่บันทึกไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อน การรบราเพื่อแย่งชิงพื้นที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก ภายใต้บริบทการปกครองสมัยก่อน เพราะฉะนั้น เราไม่ควรนำเหตุการณ์เหล่านั้นมาเป็นตัวกำหนดสิ่งต่างๆ ในยุคปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเมียนมาเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เมียนมาได้รับเอกราชหลังตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเกือบ 200 ปี อูนู นายกรัฐมนตรีคนแรกของเมียนมา เชิญประเทศไทยเข้าร่วมเฉลิมฉลองการประกาศอิสรภาพของเมียนมา
นายกรัฐมนตรีไทย พันตรี ควง อภัยวงศ์ ตอบรับคำเชิญพร้อมส่งคณะผู้แทน นำโดยพระยาอภิบาลราชไมตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายตุล บุนนาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ หม่อมหลวงปีกทิพย์ มาลากุล ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองการประกาศเอกราช เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 ณ กรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงของเมียนมาช่วงเวลานั้น
เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเริ่มต้นขึ้น รัฐบาลไทยจึงเริ่มมองหาสถานที่สำหรับตั้งสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง
แผ่นดินไทยไกลบ้าน
บ้านสไตล์บริติชทิวดอร์หลังนี้ ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนมนาวรีและถนนโปรม ถือเป็นย่านผู้มีฐานะ คลาคล่ำไปด้วยชาวตะวันตก เจ้าของบ้านคือนายเดอ ซูซา (De Souza) เภสัชกรเชื้อชาติโปรตุเกสสัญชาติอังกฤษ ผู้มั่งคั่งจากการนำเข้ายารายใหญ่ สมัยที่พม่ายังคงเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ
แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานปีที่สร้างชัดเจน แต่หลักฐานการซื้อขายระหว่างนายเดอ ซูซา และเจ้าของบ้านดั้งเดิม ระบุ พ.ศ. 2445 จึงประมาณได้ว่าอาคารหลังนี้สร้างก่อน พ.ศ. 2445 หรือกว่า 100 ปีมาแล้ว
3 ปีให้หลัง นับจากก้าวแรกความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและพม่า ข้อตกลงการซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินขนาด 7 ไร่เศษ ระหว่างนายเดอ ซูซา และรัฐบาลไทยก็เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2494 เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งสถานเอกอัครราชทูตไทยและทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง
ในที่สุดธงชาติไทยก็ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสา ณ บ้านและแหล่งคุ้มภัยหลังใหม่ของเหล่าชาวไทยไกลบ้าน
นอกจากใช้เป็นสถานที่ทำงานแล้ว อาคารหลังนี้ยังใช้เป็นที่รับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงและผู้นำไทยเรื่อยมา พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ ทั้งสองพระองค์ทรงใช้อาคารหลังนี้ในการพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่นายอู วิน หม่อง ประธานาธิบดีและภริยา รวมถึงผู้นำรัฐบาลเมียนมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2503 ซึ่งเป็นทำเนียบไม่กี่แห่งในต่างประเทศที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ เยือน
ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2538 – 2539 ระหว่างการดำรงตำแหน่งของท่านเอกอัครราชทูตปกศักดิ์ นิลอุบล รัฐบาลไทยปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเพื่อใช้เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตเพียงอย่างเดียว และแยกส่วนของสถานเอกอัครราชทูตไปยังอาคารหลังใหม่
“ก่อนการปรับปรุง บ้านหลังนี้หลังเดียวเป็นทั้งที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตและทำเนียบเอกอัครราชทูต อธิบายให้เห็นภาพคือ สำนักงานสถานทูตอยู่ชั้นล่าง ส่วนบ้านทูตที่ใช้อาศัยอยู่ชั้นบน” คุณตุ๊กอธิบาย
การออกแบบและก่อสร้างที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพ ทำลายความสง่างามของทำเนียบเอกอัครราชทูตสไตล์บริติชทิวดอร์หลังเดิมที่ตั้งอยู่ภายในรั้วเดียวกัน อาคารหลังใหม่อันเรียบง่ายถ่อมตัวสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2550 และเปิดทำการเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2551 โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด
เรื่องราวของเจ้าบ้าน
การเดินทางอันยาวนานตลอดอายุราชการของท่านทูตดำเนินมากว่า 30 ปี ก่อนมาประจำการ ณ กรุงย่างกุ้ง ท่านดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล และเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์
“การต้องเดินทางไปทำงานในที่ต่างๆ คือส่วนหนึ่งของชีวิตนักการทูต เราจะปรับตัว ใช้ชีวิต ทำงานอย่างไรให้ดีและมีประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด ไม่ว่าจะประจำการอยู่ที่ประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศกำลังพัฒนาก็ตาม จงมองหาสิ่งที่ดีที่สุดในประเทศนั้นๆ แล้วมีความสุขกับที่ใหม่ งานใหม่ วัฒนธรรมใหม่”
ฉันถามถึงการปรับตัวในการย้ายมาอยู่ที่นี่ ท่านทูตตอบอย่างอารมณ์ดี “อย่างแรกต้องปรับตัวกับอากาศก่อนเลย เพราะจากกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ 0 องศาฯ วันถัดมาเจอเข้ากับแดดเปรี้ยง 37 องศาฯ ของประเทศพม่าทันที”
“ทำเนียบทูตแต่ละหลังมีข้าวของบางส่วนที่เป็นของหลวงอยู่ติดกับบ้านอยู่แล้ว พวกเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ เช่น โซฟา โต๊ะ ตู้โชว์ อย่างแกรนด์เปียโนก็เป็นของเจ้าของบ้านคนเก่า ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเมื่อย้ายเข้าสู่ทำเนียบหลังใหม่ คือทำอย่างไรที่จะผสมผสานวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมท้องถิ่น และตัวตนของเราสองคนลงไปในบ้าน หรือทำเนียบทูต” คุณตุ๊กเล่าพร้อมพาฉันเข้าสู่ Foyer
สิ่งแรกที่สะดุดตาคือ ชุดเก้าอี้ไม้คลาสสิกแบบพม่าดั้งเดิม ออกแบบโดยสถาปนิกพม่าในยุคโคโลเนียล จัดวางไว้อย่างเก๋ไก๋บนพื้นกระเบื้องปูสลับขาวดำสไตล์โมเดิร์น ถือเป็นลูกเล่นที่ทำให้บ้านดูผ่อนคลายขึ้น ภาพวาดสีน้ำที่ประดับอยู่โดยรอบคือของสะสมที่ท่านทูตเริ่มเก็บตั้งแต่ออกประจำการต่างประเทศ
จาก Foyer มองขึ้นไปจะเห็นบันไดสู่ชั้นสองของตัวบ้าน โครงสร้างรับน้ำหนักรูปโค้ง หน้าต่าง ช่องลม ลูกกรง บันไดและราวบันไดตกแต่งอย่างเรียบง่ายด้วยไม้สีเข้ม เพดานตีกรอบไม้เป็นเส้นตั้ง เส้นนอน และเส้นทแยง ทั้งหมดนี้คือเอกลักษณ์สำคัญของสถาปัตยกรรมแบบบริติชทิวดอร์
ถัดมาจาก Foyer คือห้องโถงต้อนรับ ซึ่งนำไปสู่ห้องรับประทานอาหารและห้องรับแขก พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประดับอยู่บนผนังซึ่งกรุด้วยไม้โดยรอบห้อง บริเวณบัวแกะสลักลวดลายวิจิตรในสไตล์โคโลเนียล ท่านทูตบอกว่าห้องนี้มีไว้เพื่อคุยพูด Small Talk ในระหว่างรอเข้าโต๊ะอาหาร โดยจะมีการเสิร์ฟเครื่องดื่มและของว่างเล็กน้อย
“แขกที่มาบ้านทูตคือแขกบ้านแขกเมือง เราเชิญเขามาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ ทุกบทสนทนาคือการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ห้องโถงต้อนรับจึงเป็นเหมือนห้องเลี้ยงรับรอง ไม่มีเก้าอี้ เพื่อให้แขกรู้สึกผ่อนคลายในการเดินไปมาหาสู่พูดคุยกัน นับเป็นช่วงเวลาที่คณะทูตต่างประเทศหรือผู้ใหญ่ในประเทศนั้นๆ ผ่อนปรนท่าทีและมีเวลาให้เรามากที่สุด ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการหาข่าว แลกเปลี่ยนข้อมูล รับทราบท่าทีของประเทศเจ้าภาพ หรือท่าทีของต่างประเทศในประเด็นสำคัญ”
แขกบ้านแขกเมือง
“ทำเนียบเอกอัครราชทูตก็คือแผ่นดินไทย เราต้องดูแลให้สวยงามสมศักดิ์ศรี เพื่อแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์อันช้านานและความเป็นไทย เมื่อเราเชิญแขกทางการทูตมาที่บ้าน เขาจะรับรู้ได้ว่า ประเทศเรามีวัฒนธรรมที่สวยงามและหลากหลาย ไม่ใช่แค่สิ่งของที่ประดับตกแต่งบ้านเท่านั้น สิ่งที่เราให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือเรื่องอาหารไทย”
คุณตุ๊กเล่าว่า กระทรวงการต่างประเทศอนุญาตให้เอกอัครราชทูตมีผู้ติดตามได้ 3 คน ได้แก่ แม่ครัว ผู้ช่วยแม่ครัว และพนักงานจัดเลี้ยง เมื่อใดที่ทำเนียบจัดงานเลี้ยงรับรองแขก เมื่อนั้นคือช่วงเวลาในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมอาหารไทย ซึ่งคุณตุ๊ก ใช้คำว่า ‘Thai Food Diplomacy’ คือการนำอาหารไทยมาช่วยส่งเสริมและเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูต
ทั้งนี้ปรุงอาหารรับรองแขกระดับประเทศถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้ แม่ครัวต้องเข้าใจรสชาติความเป็นไทยแท้ดั้งเดิม และสามารถนำวัตถุดิบท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ มาประยุกต์ใช้กับเมนูอาหารไทยให้เหมาะสมอีกด้วย
นอกจากการเชิญคณะทูตและผู้นำประเทศต่างๆ มาร่วมรับประทานอาหารแล้ว ทางฝ่ายหญิงจะมีการเชิญภริยานักการทูตและผู้นำระดับสูงมารับประทานของว่างช่วงเช้า เรียกว่า Morning Coffee หรือมารับประทานอาหารกลางวัน เพื่อมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ร่วมกัน
บางครั้งก็เชิญวิทยากรมาบรรยายเรื่องผ้าไหมไทย นาฏศิลป์ไทย อาหารไทย ทั้งในด้านวัฒนธรรมไทยและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของอาหารไทย ถือเป็นการเผยแผ่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้กับเหล่าสุภาพสตรีชั้นสูงไปด้วย
ภายใต้ความโอ่อ่าสง่างาม ฉันพบรายละเอียดน่ารักมากมายซุกซ่อนตัวอยู่ตามมุมต่างๆ ทำให้ทำเนียบหลังนี้เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เช่น ผ้าพาดทอมือจากรัฐฉาน ตุ๊กตาเปเปอร์มาร์เช่ฝีมือชนเผ่าหนึ่งของพม่า จัดวางผสมผสานกับเรือไวกิ้งหล่อสัมฤทธิ์ ของสะสมเดิมของท่านทูตตั้งแต่ประจำการอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์
ในทำเนียบหลังนี้มีหมอนอิง 50 กว่าใบ ปลอกหมอนทุกใบคือผ้าไหมไทย
“พื้นที่ชั้นล่างค่อนข้างสาธารณะ เราเปิดต้อนรับแขกเต็มที่ แต่ชั้นบนคือที่ของครอบครัวและคนสนิทเท่านั้น คุณได้ขึ้นมาเยี่ยมชม แสดงว่าเราสนิทกันแล้วนะ” ท่านทูตเอ่ยขึ้นพร้อมรอยยิ้ม ขณะเดินนำฉันเดินขึ้นชั้นสองของตัวบ้าน
ตอนอยู่ชั้นล่าง ฉันลืมไปเสียสนิทว่าบ้านหลังนี้สร้างในสไตล์บริติชทิวดอร์ จนกระทั่งย่างเท้าสู่ชั้นบน ความหนักแน่นของสถาปัตยกรรมยุคกลางปรากฏต่อสายตาอีกครั้ง
ท่านทูตชี้ให้ดูจุดที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ประทับเพื่อทอดพระเนตรการแสดงนาฏศิลป์ไทยเมื่อครั้งพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่คณะผู้นำพม่าและภริยา ผนังโค้งสไตล์ทิวดอร์ที่ปรากฏในภาพเก่าแก่ใบนั้นเป็นโค้งเดียวกันกับที่อยู่ตรงหน้าฉันไม่มีผิดเพี้ยน
ท่านทูตเล่าต่อว่า “ในการเสด็จฯ เยือนเมียนมาครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกต้นโพธิ์ไว้ที่มหาอาสนะคูหาด้วย หลายสิบปีต่อมา เมียนมาโดนพายุไซโคลนนาร์กีสถล่ม บ้านเมืองได้รับความเสียหายอย่างหนัก แม้แต่ต้นจำปีเก่าแก่อายุร้อยปีที่หน้าทำเนียบเอกอัครราชทูตยังหักโค่นลงมา แต่ต้นโพธิ์ทรงปลูกกลับไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด”
ความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน
ท่านทูตอธิบายว่า หากประจำการอยู่ในประเทศใหญ่ งานที่ต้องรับผิดชอบจะค่อนข้างสลับซับซ้อน เพราะผลประโยชน์แห่งชาติมีความหลากหลาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในขณะที่ประเทศเล็กอย่างนอร์เวย์หรืออิสราเอล ที่ท่านได้ไปประจำการก่อนหน้านี้ อาจไม่ได้มีงานที่สลับซับซ้อนเช่นที่เมียนมา
หน้าที่หลักๆ ของสถานทูตไทยที่อิสราเอล คือการดูแลแรงงานไทยจำนวน 30,000 กว่าคนที่ไปทำงานอยู่ในนิคมเกษตรกรรม นอกเหนือจากนั้นเป็นงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ท่านทูตจึงเริ่มมองหางานส่วนวิชาการ เพื่อนำองค์ความรู้ที่น่าสนใจส่งกลับมาที่ประเทศไทย
อิสราเอลมีความเชี่ยวชาญด้าน Trauma Management เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ศาสตร์ที่ว่าคือการดูแลผู้ป่วยจากผลของสงครามหรือภัยธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการรักษาแบบปกติ อาจเพราะอิสราเอลอยู่ในสภาพที่ถูกบีบคั้น มีผู้ไม่หวังดีอยู่รอบตัวเต็มไปหมด จึงพยายามพัฒนาศาสตร์แห่งการรักษานี้ขึ้นมา ท่านทูตจึงจัดตั้งโครงการเพื่อนำคณะผู้เชี่ยวชาญจากอิสราเอลไปฝึกอบรมแพทย์ไทยที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ท่านทูตเล่าต่อถึงประเทศนอร์เวย์ซึ่งเชี่ยวชาญด้าน Maritime Medicine หรือเวชศาสตร์ทางทะเล ซึ่งเป็นศาสตร์การดูแลรักษาคนเจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพอยู่ในทะเล ไม่ว่าจะเป็นทหารเรือ นักประดาน้ำ หรือวิศวกรแท่นขุดเจาะ สถานทูตไทยจึงติดต่อสถาบัน Norwegian Institute For Maritime Medicine เพื่อขอความร่วมมือในการส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไปช่วยฝึกอบรมให้ความรู้แก่แพทย์ไทยที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า (โรงพยาบาลทหารเรือ)
เมื่อท่านทูตย้ายมาประจำการ ณ กรุงย่างกุ้ง จึงจับมือกับสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลและสถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ ประจำกรุงย่างกุ้ง เพื่อขอความร่วมมือให้ทั้งสองประเทศส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Trauma Management และ Maritime Medicine มาที่ประเทศเพื่อฝึกอบรมให้แพทย์เมียนมา ทั้งแพทย์พลเรือนและแพทย์ทหาร โดยกระทรวงการต่างประเทศไทยให้ความสนับสนุนงบประมาณในการนำแพทย์เมียนมามารับการฝึกอบรมด้วย เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ในการเยียวยาผู้คนร่วมกันของหลายประเทศ
“การแลกเปลี่ยนวิทยาการความรู้ถือเป็นการทูตรูปแบบหนึ่ง หลายคนอาจจะจำกัดความการทูตแบบนี้ว่า ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ แต่ผมอยากจะบอกว่า นี่คือการทูตเพื่อประชาชน เราไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่ที่การเจรจาด้านการเมือง หรือเศรษฐกิจเท่านั้น หน้าที่ของทูตคือการดึงองค์ความรู้ สิ่งดีๆ อันเป็นประโยชน์ที่เราได้พบเห็นในต่างแดน กลับไปให้ประชาชนไทย”
ท่านทูตทิ้งท้ายถึงการจับมือกันครั้งล่าสุดระหว่างสถานทูตเอกอัครราชทูตฯ มูลนิธิชัยพัฒนาและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Yezin ที่ชานกรุงเนปยีดอว่า “ทุกวันนี้เกษตรกรพม่ายังปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันอยู่ เมื่อเกิดภัยพิบัติ เจอแมลง หรือโรคติดต่อทางพืช ผลผลิตจะเสียหายทั้งหมด ผมคิดว่าการปลูกพืชผสมผสาน ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คือสิ่งที่จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเมียนมาเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรกรรม”
ทางโครงการมูลนิธิชัยพัฒนาจะร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเกษตร Yezin ในการสร้างศูนย์ข้อมูลและฝึกอบรม ตามแนวทางของศูนย์ศึกษาและการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในประเทศไทย โดยจะมีแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่สาธิต ใครมีปัญหาเรื่องดิน น้ำ ปศุสัตว์ พืชไร่ ให้เข้ามาที่ศูนย์แห่งนี้ มาศึกษาและได้เห็นเองว่าเกษตรทฤษฎีใหม่นั้นทำได้จริง องค์ความรู้ที่ไทยจะมอบให้ในศูนย์แห่งนี้
โดยกระทรวงการต่างประเทศไทยจะเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนด้านงบประมาณ ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาในการวางแผนการดำเนินงาน ซึ่งภาคเอกชนที่สนใจสามารถเข้ามีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ โครงการนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรเมียนมาแล้ว ยังถือเป็นถาวรวัตถุที่จะอยู่คู่ความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาตลอดไป
เพื่อนบ้านและมิตรภาพ 70 ปี
ปีนี้เป็นปีเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทยเมียนมา
“เราจัดงานหลากหลายมิติ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องของคนทุกระดับ ไม่ใช่แค่ระดับรัฐบาลอย่างเดียว เราต้องดำเนินการในระดับประชาชนด้วย เพราะถ้าประชาชนของทั้งสองประเทศรู้จักกัน เข้าใจกัน ความสัมพันธ์จะเป็นไปอย่างราบรื่น” ท่านทูตอธิบาย
โครงการระดับประชาชนที่ท่านทูตหมายถึง คือนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติของไทยและศิลปินอาวุโสของเมียนมา การแสดงโขนของกรมศิลปากรใน 3 เมืองหลักของเมียนมา เทศกาลภาพยนตร์ไทย และเทศกาลอาหารไทย
“ภาพยนตร์ไทยแต่ละเรื่องบรรจุวัฒนธรรมเอาไว้มากมาย เมื่อคนเมียนมาได้ชมภาพยนตร์ นอกจากจะได้ความสุขแล้ว เขาจะได้เรียนรู้ ซึมซับ วิถีชีวิต แนวความคิด และวัฒนธรรมไทยไปด้วย วัฒนธรรมอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การรับประทาน คนเมียนมาชอบทานอาหารไทยมาก ส้มตำ ผัดกะเพรา น้ำพริก หรือแม้แต่กะปิเขาก็มีเหมือนเรา แต่ของเขาเรียกว่านาปิ”
นอกจากนี้ยังมีงาน Myanmar Insight โดยเริ่มต้นจากแนวคิดที่ว่าเมียนมาเพิ่งเปิดประเทศให้มีความเสรีด้านการค้าและการลงทุน ทำให้ภาคเอกชนจากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างมากหลังจากเปิดประเทศ งานสัมมมานี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในนโยบายการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ของเมียนมา โดยแบ่งเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และการลงทุน
ดวงใจในบ้าน
ก่อนจะมาเป็นมาดามทูต คุณตุ๊กเคยรับราชการกระทรวงการต่างประเทศมาก่อน เป็นเพื่อนร่วมกระทรวงกับท่านทูตนานถึง 8 ปี จนกระทั่งวันหนึ่งต้องไปออกประจำการด้วยกันที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
“ตอนนั้นท่านทูตดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา ส่วนพี่เป็นเลขานุการเอก เมื่อต้องทำงานร่วมกัน เราก็ได้รู้จักตัวตนซึ่งกันและกันมากขึ้น พี่กับท่านทูตชอบฟังเพลงแนวเดียวกัน ชอบงานศิลปะเหมือนกัน วิธีคิด ทัศนคติคล้ายคลึงกันไปหมด โดยที่เราไม่ได้นึกเลยว่าจะเหมือนกันได้ขนาดนี้ เราเป็นแฟนกันอยู่ 8 เดือนก็ตัดสินใจแต่งงานกัน นับว่าสั้นมากนะกับการที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกับใครสักคน
“แต่เพราะตอนนั้นรู้สึกว่าผู้ชายคนนี้ใช่เลย”คุณตุ๊กเล่าย้อนความหลัง
ในช่วงแรกของการแต่งงาน คุณตุ๊กลาติดตามท่านทูตไปประจำการที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ลาติดตามคือการลาราชการ โดยที่กระทรวงการต่างประเทศยังรักษาตำแหน่งไว้ให้ แต่ผู้ลาจะไม่ได้รับเงินเดือนและอายุราชการ โดยปกติจะลาได้ 4 ปี
“พี่ลาติดตามไปที่กรุงเบอร์ลินได้ 3 ปีกว่า จากนั้นกลับมารับราชการในกระทรวงฯ อยู่ 2 ปีกว่า จึงตัดสินใจลาออกจากราชการ ตอนนั้นรู้ว่าเราคงทำทั้งสองอย่างพร้อมกันไม่ได้ ทั้งบทบาทความเป็นแม่และข้าราชการ เพราะงานกระทรวงการต่างประเทศถือว่าหนักพอสมควร เราต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง”
การเปลี่ยนบทบาทจากนักการทูตสาวมาเป็นภริยาทูตของคุณตุ๊กค่อนข้างราบรื่น ด้วยความที่รับราชการมาก่อน ทำให้เข้าใจเนื้องานทางการทูตเป็นอย่างดี
“พี่รู้ว่าควรวางตัวอย่างไร อะไรที่เราควรและไม่ควรทำ บทบาทไหนที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของท่านทูต ขณะเดียวกัน วิธีคิดเราก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย หน้าที่ของเราต่อจากนี้ คือการเป็นแม่บ้านที่ต้องดูแลทำเนียบ ดูแลการรับรองแขกนานาชาติ เป็นฝ่ายหลังที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นมากขึ้น”
ทุกย่างก้าวและการกระทำ คือหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบตลอดหลายสิบปีของการรับใช้ประเทศชาติ ณ ต่างแดน ของท่านเอกอัครราชทูต จักร บุญ-หลง และ คุณตุ๊ก-กมลรัตน์ บุญ-หลง ภริยา
“เมื่อใส่หัวโขนของการเป็นทูตไทย เราต้องรำให้สวย ไม่ให้ใครมาดูถูกชาติเราได้ เพราะชื่อเสียงของประเทศชาติขึ้นอยู่กับเรา แต่เมื่อถอดหัวโขนนั้นออก ตัวตนที่แท้จริงของเราก็คือคนปกติธรรมดา ตายายคู่หนึ่ง” ท่านทูตทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม