เอริณ กรินเดอร์ ทูลแฮล์ม (Eirin Grinde Tunheim) เป็นรองอันดับสาม Miss Norway 2019
เธอเป็นหญิงข้ามเพศคนแรกในเวทีการประกวดนางงามระดับชาติของนอร์เวย์ และภูมิภาคสแกนดิเนเวีย
การก้าวออกมาประกาศตัวว่าเป็นหญิงข้ามเพศบนเวทีที่คนทั้งประเทศจับจ้อง ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก เพราะไม่รู้ว่ากระแสสังคมจะตอบรับเธอแบบไหน มันอาจพัดพาให้เธอซวนเซจนเสียศูนย์ กระทบสถานะนักศึกษาทันตแพทย์และแพทย์ของเธอ
แต่ไม่ว่าอย่างไร เธอก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวนอร์เวย์ ทำให้สังคมรู้ว่าโลกนี้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าแค่หญิงหรือชาย เธอเป็นกระบอกเสียงที่พูดแทนคนข้ามเพศ และเป็นที่ปรึกษาให้เด็กที่กำลังสับสนในตัวเอง
เธอคือหญิงข้ามเพศคนแรกของนอร์เวย์ ที่มีสถานะเป็นบุคคลสาธารณะ
เธอเป็นคนไทย เกิดและโตในหมู่บ้านเล็กๆ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อนจะย้ายตามคุณแม่มาอยู่นอร์เวย์เมื่ออายุ 13 ปี และผ่าตัดแปลงเพศเมื่ออายุ 18 ปี
เธอพูดได้ 5 ภาษา ไทย เขมร อังกฤษ นอร์เวย์ และจีน
เธอเริ่มต้นเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ แล้วก็เปลี่ยนมาเรียนทันตแพทย์ควบคู่กับแพทย์ ในอนาคตเธอตั้งเป้าว่าอยากทำวิจัยเรื่องสมอง
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ช่วยนัดเธอมานั่งคุยกับ The Cloud ในคาเฟ่ที่เมืองเฉียน ประเทศนอร์เวย์ หลังจากที่เธอเสร็จงานจากคลินิกทันตกรรม
และนี่คือเรื่องราวชีวิตของเธอ
01
ก้อนอิฐและดอกไม้ถึงนางงามข้ามเพศ
การเป็นสาวข้ามเพศที่ก้าวไปถึงตำแหน่งรองอันดับสาม Miss Norway 2019 พร้อมเสียงปรบมือกึกก้อง การปรากฏตัวในพื้นที่สื่อแบบนับไม่ถ้วน และได้รับคำชื่นชมจากทั่วสารทิศ ดูคล้ายฉากจบบริบูรณ์อย่างชื่นมื่นของเทพนิยายที่มีนางเอกชื่อ เอริณ กรินเดอร์ ทูลแฮล์ม
แต่ชีวิตจริงไม่ใช่เทพนิยาย
“การได้มายืนอยู่ตรงนี้ทำให้รู้ว่า Social Bullying คืออะไร” เอริณเล่าว่า เธอได้รับคำวิจารณ์มากมายในโลกออนไลน์ ระหว่างประกวด หนังสือพิมพ์บางฉบับก็พาดหัวและเรียกเธอด้วยคำสรรพนามของเพศชาย อย่างเช่น ‘เด็กชายคนนี้อาจจะเป็นมิสนอร์เวย์’
คนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมรับเธอในฐานะผู้หญิง
“คนนอร์เวย์จำนวนหนึ่งมีทัศนคติเป็นลบกับคนข้ามเพศ ยิ่งเจอคำวิจารณ์แรงเท่าไหร่ เราก็ยิ่งแกร่งขึ้นและรู้จักตัวเองมากขึ้นเท่านั้น” หญิงสาวคนนี้ตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
แม้ว่าการได้ตำแหน่งของเธอจะไม่ถูกใจหลายคน แต่มันก็สร้างความสุขให้หลายคน
“มีคนส่งข้อความมาขอบคุณเอริณเยอะมาก ที่ทำให้รู้ว่าสังคมเราไม่ได้มีแค่เพศชายหรือหญิง เกย์หรือเลสเบี้ยน สองเดือนก่อนเอริณไปร่วมงาน Pride ที่เมืองดรัมเมน มีคนถามว่าอยากขึ้นเวทีไปพูดไหม เราก็ขอพูดเพราะยืนอยู่ตรงนั้นแล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่เราบอกว่าเราเป็นผู้หญิงข้ามเพศแล้วคนปรบมือให้ เอริณขนลุกเลย ภูมิใจมาก แล้วก็ดีใจที่ได้เป็นกระบอกเสียงสื่อสารให้คนอื่นรู้ว่า โลกเรามีความหลากหลายทางเพศ มันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมาเป็นล้านปีแล้ว เราไม่จำเป็นต้องตกใจหรือกลัว เพราะคนส่วนมากกลัวสิ่งที่ไม่รู้จัก”
เธอเล่าต่อว่า ตอนนี้เธอกลายเป็นที่ปรึกษาให้เด็กนอร์เวย์ที่กำลังสับสนในตัวเอง
“มีเด็กถามเข้ามาเยอะมาก เขาไม่รู้จักตัวเองจริงๆ เขาไม่รู้ว่าเขาเป็นคนประเภทไหนกันแน่ บางคนก็ปรึกษาว่าจะแปลงเพศดีไหม จะตัดสินใจยังไงดี เราก็ให้คำแนะนำไป”
เอริณเข้าใจสิ่งนี้ดี เพราะครั้งหนึ่งเธอก็เคยสงสัยในตัวเองมาก่อนเหมือนกัน
02
ความไม่มีสอนอะไรเธอหลายอย่าง
ย้อนกลับไปเมื่อ 26 ปีก่อน เด็กชายกรินทร์ เตื่อยตุ่น เกิดและโตในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ หมู่บ้านของเธอเต็มไปด้วยชาวไทยเชื้อสายกัมพูชา บ้านของเธอก็เช่นกัน พ่อแม่รวมถึงปู่ย่าเธอถือสัญชาติไทย เป็นคนไทยเต็มรูปแบบ แต่พวกเขาก็พูดคุยกันในบ้านด้วยภาษาเขมร
พ่อแม่ของเอริณแยกทางกันตอนเธออายุ 3 ขวบ เธอย้ายไปอยู่กับพ่อที่บ้านปู่ย่า ซึ่งเป็นเกษตรกร ไม่มีเงินทอง แต่ก็มีที่ดินไว้ปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยูคาลิปตัส ส่วนแม่ของเธอหันหลังให้อาชีพเกษตรกรไปทำงานที่หัวหิน ส่งเงินมาให้ลูก 3 คน เดือนละ 500 บาท แบ่งกันแล้วได้เงินไปโรงเรียนวันละ 3 บาท ต่อคน
“บ้านเราไม่มีเงินมากนัก จำได้ว่าโรงเรียนให้ซื้อชุดพละ ไปขอเงินย่าร้อยยี่สิบบาท ย่าบอกว่าไม่มี” เอริณเงียบไปครู่หนึ่ง
“วันหยุด ถ้ามีรถไอติมมาขาย ไปขอเงินย่าบาทนึง ก็ไม่มี เราซื้ออะไรไม่ได้เลย”
แต่ความไม่มีนั้นสอนอะไรเธอหลายอย่าง
“ย่าเป็นคนมัธยัสถ์ แกสอนให้เราไม่ใช้เงิน แล้วก็สอนให้เราหาเงิน ย่าฝึกให้พวกเราอดทน ตอนเช้าก่อนไปโรงเรียนต้องไปเก็บพริก ต้องช่วยทำปลาร้า ทอเสื่อ เข็นผักขาย เข็นข้าวสารไปส่ง ทำงานบ้านทุกอย่าง ล้างจาน ให้อาหารสัตว์”
เอริณย้อนเล่าถึงชีวิตในวัยประถม เธอบอกว่า ฉากที่จำได้แม่นยำคือทุกเช้าวันจันทร์ก่อนจะไปโรงเรียน ต้องไปเก็บขยะที่ตลาดนัดแลกกับเงิน 20 บาท
“ของชิ้นแรกที่ซื้อด้วยตัวเองคือตุ๊กตาบาร์บี้ตอนปอสี่ ราคาตัวละสามสิบบาท ตอนนั้นมีเงินแค่ยี่สิบห้าบาท แต่เขาลดให้ห้าบาท แทบร้องไห้เลย ขอบคุณคนขายมาก ถ้าวันนี้เขามีโอกาสได้ยินเรื่องนี้ เอริณอยากขอบคุณเขาจริงๆ นะ” สาวบุรีรัมย์จบประโยคด้วยรอยยิ้มและน้ำตา
03
ข้างนอกมืดมน ข้างในหม่นหมอง
แม่ของเอริณมีความรักครั้งใหม่ที่หัวหิน แล้วก็ย้ายตามสามีชาวนอร์เวย์มาอาศัยในประเทศที่มีฤดูหนาวยาวนาน 8 เดือน
“เราได้คุยกับแม่ปีละสองครั้ง ยุคแรกยังไม่มีโทรศัพท์ เราต้องไปหมู่บ้านข้างๆ เพื่อเช่าโทรศัพท์โทรหาแม่ เราเลยเขียนจดหมายหาแม่มากกว่า กว่าจะถึงก็สองอาทิตย์ ซองจดหมายจะอูมๆ หน่อยเพราะเราพับหัวใจใส่ไปให้แม่ด้วย ตอนหลังเริ่มมีโทรศัพท์มือถือ แม่ก็ซื้อโทรศัพท์รุ่นเก่าๆ เอาไว้ให้ใช้ที่บ้านเครื่องนึง” เอริณย้อนเล่าถึงอดีตด้วยรอยยิ้ม
พอแม่อยู่นอร์เวย์ได้ 5 ปี ก็ชวนลูกทั้งสามคนมาอยู่ด้วย ในช่วงเวลาที่เอริณเรียนจบ ป.6 พอดี
“พี่ชายไม่ได้อยากไปนะ เขาชอบเลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ เขาอยากเลี้ยงสัตว์อยู่บ้าน แต่แม่บอกว่า มาอยู่ด้วยกันเถอะ ไหนๆ คนอื่นก็มาแล้ว สุดท้ายพี่ชาย พี่สาว และเอริณ ก็ไปอยู่กับแม่ที่นอร์เวย์
“บรรยากาศตอนนั่งรถไฟจากสนามบินไปบ้านที่เมืองดรัมเมนมืดตลอดเวลา หดหู่มาก วันนั้นวันที่ยี่สิบแปดเมษายน หิมะยังไม่ละลาย ได้กลิ่นหญ้าเปื่อยๆ จนป่วยไปเลยอาทิตย์หนึ่ง อยากอาเจียนตลอดเวลา” เอริณยังจำภาพวันนั้นได้ชัดเจน
ส่วนความสัมพันธ์กับพ่อเลี้ยงก็ราบรื่นดี พ่อเลี้ยงตั้งกฎให้ลูกๆ ว่า ห้ามพูดภาษาไทยบนโต๊ะอาหาร เพื่อช่วยฝึกภาษาให้เด็กๆ แต่เอริณก็ดื้อ ไม่พูดภาษานอร์เวย์ สุดท้ายบนโต๊ะอาหารก็มีแต่ภาษาไทย
“เอริณเรียนภาษาผ่านการดูการ์ตูนค่ะ เราเรียนภาษาได้เร็วมาก ตอนมาถึงเป็นช่วงปิดเทอม ได้นั่งดูการ์ตูนกับพี่ทุกวัน เราซึมซับการใช้ภาษามาจากการ์ตูน เปิดเทอมก็สื่อสารได้บ้างเล็กน้อย ตอนเด็กๆ เราไม่กลัวผิด คิดอะไรได้ก็พูดไปก่อน ถ้าไม่ใช่ เดี๋ยวครูหรือเพื่อนก็แก้ให้เราเอง”
ถึงจะพูดภาษานอร์เวย์ได้ แต่เอริณในวัย 13 ปี ก็ไม่ได้สนุกกับประเทศใหม่มากนัก
“แม่บอกว่า อยู่ที่นี่ต้องออกไปเดินเล่นข้างนอกบ่อยๆ ไม่อย่างนั้นจะเครียด แต่ช่วงปีแรกเราไม่อยากออกไปข้างนอกเลย ไม่รู้จะออกไปทำอะไร เพราะกิจกรรมข้างนอกทุกอย่างต้องใช้เงิน เราเป็นคนที่ไม่ค่อยอยากจะใช้เงินเลยอยู่ติดบ้านตลอดเวลา นั่งส่องกระจกเป็นชั่วโมง หกเจ็ดชั่วโมงก็มี จนแม่ต้องเอากระจกไปซ่อน”
ปัญหาของเอริณไม่ได้มีแค่สภาพอากาศภายนอกที่มืดมน แต่ยังมีเรื่องสภาพจิตใจภายในที่หม่นหมองด้วย
“เราอยากเป็นผู้หญิง อยากแต่งตัวเป็นผู้หญิง แต่แม่กลัวว่าเราจะโดนล้อแล้วจะไม่อยากไปโรงเรียน เลยพยายามให้เราใช้ชีวิตแบบปกติ แต่เอริณก็ดื้อ เพราะรู้ว่าสิ่งที่เราทำจะทำให้เรามีความสุขกับการใช้ชีวิต” เธอจึงหยิบเครื่องสำอางขึ้นมาแต่งหน้าแล้วนั่งมองตัวเองในกระจก
04
อยากเป็นผู้หญิงตั้งแต่จำความได้
“เอริณอยากเป็นผู้หญิงตั้งแต่จำความได้” เธอพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง
“ตอนอนุบาล เอริณเกลียดการเตะบอลมาก เกลียดกิจกรรมทุกอย่างที่ผู้ชายทำ ไม่อยากไปโรงเรียนเลย เพราะต้องถูกบังคับให้แยกชายหญิง ทำกิจกรรมแยกกัน ห้องน้ำแยกกัน นอนก็แยกกัน หลังพักเที่ยงเอริณจะไปซ่อนตัวในพุ่มไม้ ไม่อยากเข้าห้องเรียน ครูก็จะไปตามจับมาเข้าห้องเรียน แขนขาเราจับอะไรได้ก็จะเกี่ยวไว้หมด จับขึ้นบันไดก็จะวิ่งกลับลงมา”
สังคมต่างจังหวัดรอบตัวเอริณไม่ได้เปิดใจรับความหลากหลายทางเพศมากนัก ครอบครัวของเธอไม่ได้ว่าอะไร แต่ก็ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องการวางตัว เอริณจึงต้องเก็บอาการ ไม่ทำตัวตุ้งติ้ง จนครูและคนในชุมชนจำนวนมากไม่รู้ว่าเธอมีจิตใจเป็นผู้หญิง ส่วนเพื่อนพ้องก็ไม่ได้ล้อเธอเรื่องนี้
“ตอนเด็กๆ ไม่กล้าพูดคำว่า คะ ส่วนคำว่า ครับ ก็กระดาก พูดแล้วไม่เข้าปาก แต่ก็จำเป็นต้องพูด เราเล่นกับเพื่อนผู้หญิงมาตั้งแต่จำความได้ การแสดงออกมากที่สุดที่เคยทำก็คือตอนปอหนึ่ง แอบชอบเพื่อนผู้ชายในห้อง เลยไปแอบดูเขาเตะบอลทุกวัน เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ” เอริณหัวเราะ
05
ต่อไปนี้เราจะปฏิบัติกับเอริณเหมือนเด็กผู้หญิง
ตอนอายุ 14 อาจารย์ให้นักเรียนเขียนเรียงความถึงสิ่งตัวเองอยากเป็นในอนาคต เอริณเขียนว่า
อยากเป็นผู้หญิง
หลังจากที่ต้องปิดบังความเป็นตัวเองมาทั้งชีวิตตอนอยู่เมืองไทย พอมาถึงนอร์เวย์ได้แค่ 2 – 3 เดือน เอริณก็เริ่มปัดมาสคาร่าไปเรียน สักพักก็เติมลิปสติก ตบรองพื้น หนึ่งเดือนผ่านไป เอริณก็แต่งหน้าเต็มไปเรียน
เท่านั้นยังไม่พอ เธอยังแอบหนีแม่ไปเมืองออสโล เพื่อซื้อผมมาแปะกาวติดกับผมจริง เพียงข้ามคืน เธอก็กลายเป็นเด็กผู้หญิงผมยาวที่ใบหน้าฉ่ำไปด้วยเครื่องสำอาง
“เพื่อนก็งงนะคะ” เธอหัวเราะ
“ช่วงนั้นเราเป็นคนตัวเล็ก เสียงเล็ก เดินกับผู้หญิงตลอด เพื่อนก็เริ่มสับสนว่าเราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย มีเพื่อนคนหนึ่งถามว่าเราเป็น Homosexual (คนรักร่วมเพศ) หรือเปล่า เราตอบไปว่า เป็น ทีแรกเพื่อนก็ยังงง ไม่มีใครกล้าล้อ เพราะในความเข้าใจของเด็ก ถ้าไม่ใช่ Heterosexual (คนรักต่างเพศ) ก็ต้องเป็น Homosexual เท่านั้น ยังมีเพื่อนส่งข้อความมาในเฟซบุ๊กว่า ทำไมถึงไม่เปลี่ยนใจ คือคนยังเชื่อว่าการเป็น Homosexual หรือ Transexual คือทางเลือกที่เราเลือกได้”
พอเพื่อนผู้ชายรู้ว่าเธอเป็นเพศที่ต่างไป เธอก็โดนล้อทุกวัน สิ่งที่น่ากระอักกระอ่วนที่สุดก็คือ การเปลี่ยนเสื้อผ้าในวิชาพลศึกษา เธอเปลี่ยนเสื้อผ้าห้องเดียวกับผู้หญิงไม่ได้ แต่เมื่อเด็กผมยาวที่แต่งหน้าเต็มอย่างเธอเปลี่ยนเสื้อผ้าห้องเดียวกับผู้ชาย ผู้ปกครองของเด็กผู้ชายก็รับไม่ได้ ถึงกับมาบอกครูว่า ห้ามเอริณเปลี่ยนเสื้อผ้าห้องเดียวกับลูกเขา ครูเลยต้องเปิดห้องพักครูให้เธอเปลี่ยนชุด
ตอนแรกครูในโรงเรียนปฏิบัติต่อเอริณเหมือนเด็กผู้ชายคนหนึ่ง จนกระทั่งเธอบอกว่า ไม่ได้อยากเป็นผู้ชาย ครูก็เข้าใจแล้ววางตัวอย่างเป็นกลาง ไม่แสดงออกว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่ช่วยสนับสนุนเธอเต็มที่ มีการประชุมครูทั้งโรงเรียนเพื่อบอกว่าต่อจากนี้จะปฏิบัติต่อเอริณเหมือนเด็กผู้หญิง ใช้คำศัพท์ที่เป็นเพศหญิง แล้วเปลี่ยนตารางเรียนให้วิชาพลศึกษาเป็นชั่วโมงสุดท้าย เอริณจะได้กลับบ้านโดยไม่ต้องอาบน้ำ
“ตอนมอสองมีชั่วโมงว่ายน้ำและพลศึกษาอยู่ตอนเช้า เราต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและอาบน้ำ เอริณเป็นคนเดียวที่ไม่อาบน้ำ เพราะเราไม่อยากยืนอยู่ตรงนั้น รู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา” เอริณอธิบายถึงปัญหาการเปลี่ยนเสื้อผ้าอาบน้ำร่วมกับเพื่อนๆ ว่ามันคือเรื่องใหญ่สำหรับเธอ
“ในโรงเรียนไม่มีเด็กแบบเอริณนะ เป็นคนแรกของโรงเรียน หรืออาจจะของจังหวัดด้วยซ้ำ” เอริณเล่าต่อว่า
“มีเพื่อนชาวฟิลิปปินส์อีกคนในโรงเรียนที่อยู่ในช่วงสับสนว่าเป็นอะไร สุดท้ายเขาก็เป็นเกย์ แล้วก็มีทอมอีกคน ซึ่งตอนนี้แปลงเพศเป็นผู้ชายแล้ว”
06
อยากแปลงเพศตั้งแต่อายุ 14
“ตอนอายุสิบสี่เอริณบอกแม่ว่า อยากแปลงเพศ” สาววัย 26 เล่าถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต
“ตอนนั้นเริ่มมีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน เลยพยายามหาข้อมูลว่าเราคืออะไร ทำไมเราถึงเป็นแบบนี้ มีปัญหาเรื่องโครโมโซมหรือเปล่า แล้วเราก็เจอข้อมูลเกี่ยวกับการแปลงเพศ เราจะเป็นผู้หญิงได้ เป็นช่วงเวลาที่เครียดที่สุดในชีวิต”
แม่ของเอริณไม่เคยรู้เรื่องแปลงเพศมาก่อน เลยได้แต่หัวเราะกับความคิดแปลกๆ แล้วก็เป็นกังวลว่าทำแล้วจะปลอดภัยแค่ไหน
“เอริณเริ่มเทกฮอร์โมนก่อน ให้คนส่งมาจากเมืองไทย เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากนะคะ ควรต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์มากๆ พ่อเลี้ยงกลัวว่าวันหนึ่งถ้าเราอยากเป็นผู้ชาย แต่ผลของฮอร์โมนจะยังอยู่ในร่างกายเราไปตลอดชีวิต แกพยายามเตือน แต่เราก็ดื้อมาก” เอรินยิ้มในความรั้นของตัวเอง
การผ่าตัดแปลงเพศในนอร์เวย์จะต้องได้รับการรับรองจากจิตแพทย์ก่อน
เอริณในวัย 14 จึงถูกส่งไปพบกับจิตแพทย์ของโรงเรียน จิตแพทย์ระดับตำบล อำเภอ แล้วก็ประเทศ เธอรู้สึกว่าจิตแพทย์ที่พบปฏิบัติกับเธอไม่ดีนัก ไม่พยายามฟังสิ่งที่เธอเป็น เอาแต่ขู่บังคับว่า อันนี้อาจจะไม่เข้าเกณฑ์นะ สองแม่ลูกเลยตัดสินใจเดินทางไปผ่าตัดแปลงเพศที่ไทย
ตอนที่เอริณอายุ 18 ปี ช่วงปิดเทอมใหญ่ก่อนขึ้น ม.6 เธอมีเวลาว่างมากพอสำหรับการพักฟื้น 14 วัน จากการผ่าตัดแปลงเพศและเสริมหน้าอก ซึ่งถ้าทำ 2 อย่างนี้ เธอจะได้ใช้คำนำหน้าว่า นางสาว อย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศนอร์เวย์
กระบวนการผ่าตัดเต็มไปด้วยความเจ็บปวด จนเอริณคิดว่าทำไมเธอต้องมาทำอะไรที่หนักหนาขนาดนี้ แต่พอออกจากห้องผ่าตัด เธอก็รู้สึกโล่งเหมือนได้ยกภูเขาออกจากอก
“สิ่งแรกที่ทำคือโทรหาแม่แล้วร้องไห้ เอริณบอกแม่ว่า ตอนนี้ลูกเป็นผู้หญิงแล้วนะ แม่ก็ตอบว่า ยินดีด้วย” เอริณเล่าถึงช่วงเวลาสำคัญที่เธอได้กลายเป็นสาวข้ามเพศ
เมื่อกลับมาถึงโรงเรียน เธอเล่าให้เพื่อนสนิทฟังแค่ 3 คน เธอเดาว่าข่าวแบบนี้น่าจะมีการกระซิบกระซาบกันจนรู้ทั้งโรงเรียน แต่ถึงอย่างนั้น เพื่อนบางคนที่ไม่ได้สนิทมากก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าครั้งหนึ่งเธอเคยเป็นผู้ชายมาก่อน
รหัสประจำตัวประชาชนของนอร์เวย์มีเลขชุดหนึ่งบอกว่าเจ้าของรหัสเป็นเพศหญิงหรือชาย เมื่อผ่าตัดแปลงเพศแล้วต้องเปลี่ยนคำนำหน้าและเปลี่ยนรหัสประจำตัว ซึ่งเมื่อเปลี่ยนรหัสประจำตัว ก็จะกลายเป็นคนใหม่ที่แยกขาดจากคนเดิมแบบคนละคน ราวกับได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างแท้จริง
“หลังผ่าตัดแปลงเพศเสร็จเอริณถ่ายเป็นเลือด เลยไปหาหมอที่นอร์เวย์ หมอวินิจฉัยว่าเราน่าจะมีประจำเดือน เพราะเขาดูไม่ออก แล้วข้อมูลทุกอย่างของเราก็เป็นผู้หญิงหมดเลย เราเคยไปตรวจร่างกายกับหมอที่จุฬาฯ หมอถามว่า ประจำเดือนมาปกติไหม เราก็ตอบว่า ค่ะ แล้วค่อยบอกว่า ลืมค่ะลืม หนูไม่มีประจำเดือน หมอก็งงว่าทำไม” เอริณเล่าเรื่องนี้ด้วยความสนุก
“ที่นอร์เวย์มีหญิงข้ามเพศไม่เยอะ ไม่ค่อยเห็นในสื่อ คนส่วนใหญ่จึงแยกไม่ออก กฎหมายค่อนข้างเปิดกว้าง ชายรักชายแต่งงานกันได้ คนที่แปลงเพศแล้วก็ใช้นางสาวได้ แต่คนข้ามเพศก็ยังไม่กล้าเปิดตัว โดยเฉพาะเด็กๆ เพราะกลัวว่าเปิดตัวแล้วสังคมจะไม่ยอมรับ”
หลังจากแปลงเพศแล้ว เอริณและเพื่อนสนิทต่างคิดตรงกันว่าไม่ควรป่าวประกาศ ปล่อยให้ทุกคนเข้าใจว่าเธอเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ น่าจะดีที่สุด
07
เธอเป็นได้มากกว่าช่างเสริมสวย
ช่วงมัธยมต้น เอริณชอบดูรายการประกวดนางแบบของ ไทรา แบงค์ส เธอเลยมีความฝันว่าอยากจะเป็นนักออกแบบแฟชั่น แต่แม่มองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง แม่เห็นเอริณชอบแต่งหน้าทำผม เลยอยากให้ลูกเอาดีทางการเป็นช่างเสริมสวย แล้วเปิดร้านของตัวเอง
“พอเล่าเรื่องนี้ให้ครูที่ปรึกษาฟัง ครูบอกว่า ฉันคิดว่าเธอน่าจะทำได้มากกว่านี้นะ แกเป็นคนแรกที่ทำให้เอริณเชื่อว่าเราเป็นได้มากกว่าช่างเสริมสวย เพราะคนส่วนใหญ่เวลาเจอ LGBT หรือหญิงข้ามเพศ จะแนะนำให้ไปเป็นช่างเสริมสวย ไม่ก็นางโชว์”
เอริณเล่าต่อว่า ตอนมานอร์เวย์ใหม่ๆ เธอเรียนหนังสือแค่พอผ่าน ไม่ได้ตั้งใจเรียนมากนัก พอขึ้นมัธยมปลาย เธอเริ่มสนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ได้เจอเพื่อนที่ช่วยสนับสนุนเรื่องการเรียน คะแนนของเธอดีขึ้น ประตูอนาคตก็เปิดกว้างขึ้นอีกหลายบาน เธออยากเป็นนักบิน แล้วเบนมาทางนักเคมี แต่พอเรียนจบมาจริงๆ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเรียนต่ออะไรดี
“หลังจากเรียนจบก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ดีที่สุด เพราะทำอะไรก็สนุกไปหมด เลยอยากไปลองค้นหาตัวเองที่แอฟริกาใต้ คิดวันนี้ก็ซื้อตั๋วเลย พรุ่งนี้ก็บินไปแอฟริกาใต้คนเดียวสองอาทิตย์” เอริณเดินทางไปทำงานกับองค์กรการกุศล ทีแรกเธออยากทำคลินิกหรืองานที่เกี่ยวกับการแพทย์ แต่ไม่มีที่ว่าง เลยไปดูแลเด็กอนุบาลแทน
ช่วงเวลานั้นทำให้เธอค้นพบว่าเธอชอบใช้ภาษา ชอบการสื่อสาร และชอบงานบริหาร กลับมาก็เลยเลือกเรียนบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์
เรียนไปได้ 2 ปี ก็ไปแลกเปลี่ยนที่ปักกิ่ง เพราะเธอชอบความเป็นจีน ภาษาจีน หนังจีน และมีเพื่อนสนิทเป็นชาวจีนที่เก่งมาก
กลับจากจีนก็มาฝึกงานกับบริษัทที่ปรึกษาที่กรุงเทพฯ เธอรู้สึกว่าตัวเองทำงานนี้ได้ไม่ดี นี่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เธอทำได้ดีที่สุด
แล้วเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เอริณตัดสินใจเปลี่ยนคณะที่เรียนก็คือ การไปสัมภาษณ์งานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงของนอร์เวย์
“เขาถามคำถามสุดท้ายว่า เธอมีอะไรจะบอกเราไหม เราตอบว่า ไม่มี แต่เหมือนเราหลอกตัวเอง แล้วหลอกบริษัทด้วย ถ้าวันหนึ่งเราบอกว่าฉันเป็นหญิงข้ามเพศ บริษัทจะรู้สึกอย่างไร เหมือนเราหลอกเขาตั้งแต่ต้น” เอริณเล่าถึงปมที่อยู่ในใจของเธอเรื่อยมา
เธอกลัวว่าถ้าเปิดเผยความจริงจะมีคนรับไม่ได้ แล้วทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไป เอริณก็เลยเลือกเรียนในสาขาอาชีพที่มีการงานมั่นคงรองรับ นั่นก็คือ ทันตแพทย์และแพทย์
08
ทำยังไงถึงจะช่วยชีวิตคนได้มากที่สุด
ครอบครัวฝั่งพ่อของเอริณมีปัญหาเรื่องเหล้า
“พ่อของเอริณเสียชีวิตจากการดื่มเหล้า เขาติดเหล้ามาก ไม่ทำงานเลย สูบบุหรี่ เป็นเบาหวานด้วย แกโดนพานรถไถตกทับเท้า แกคิดว่าเดี๋ยวก็คงหายเอง หลายเดือนผ่านไปแกเจ็บจนทนไม่ไหวเลยไปโรงพยาบาล ไปถึงก็นอนแล้วไปเลย เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดไปทั้งร่างกายแล้ว ส่วนคุณปู่เสียชีวิตเพราะดื่มเหล้าเยอะ แล้วก็กินยาแก้ปวดจนกระเพาะทะลุ ลุงสองคนก็เสียชีวิตตอนอายุสามสิบสามปีเพราะดื่มเหล้า”
ครอบครัวฝั่งแม่มีปัญหาเรื่องความเครียด
“คุณน้าเสียชีวิตจากการยิงตัวตาย ลูกพี่ลูกน้องสองคนผูกคอตาย”
นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอเลือกเรียนแพทย์ เพราะอยากช่วยชีวิตคนไว้ให้ได้มากที่สุด โดยไม่สนใจว่านี่คืออาชีพที่ต้องการความน่าเชื่อถือมากที่สุดอาชีพหนึ่ง เธอมองเพียงว่าถ้าเธอทำผลงานได้ดี คนก็น่าจะยอมรับเธอได้
ตอนนี้เอริณเรียนทันตแพทย์ปี 4 และแพทย์ปี 1
เธออยู่บนเส้นทางการเรียนและการงานที่ดี ได้รับการยอมรับจากคนรอบตัวในฐานะของผู้หญิงคนหนึ่ง
ไม่ใช่เพราะคนรอบตัวเธอใจกว้าง
แต่เพราะพวกเขาคิดว่าเธอเป็นผู้หญิงมาตั้งแต่เกิด
09
ใช้เวทีนางงามประกาศตัวว่า ฉันเป็นหญิงข้ามเพศ
“หลังจากแปลงเพศปีสองพันสิบเอ็ด เอริณบอกตัวเองว่า อยากมีชีวิตเป็นเหมือนผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง เป็นนางสาว ใช้ชีวิตเรียนหนังสือตามปกติ แต่ช่วงหลังเริ่มอึดอัด เวลามีเพื่อนพูดขึ้นมาว่า เธอเป็นสาวประเภทสองเหรอ เราก็หน้าชาเลย รู้สึกวิตก กลัว เครียด” เอริณเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการลงประกวดนางงาม
“เคยพูดกับเพื่อนว่า ฉันประกาศกับทุกคนได้เลยไหมว่าฉันเป็นหญิงข้ามเพศ เพื่อนแนะนำว่ายังไม่ต้องบอกดีกว่า เพราะเราอยู่ในจุดที่โอเคแล้ว ทั้งเรื่องเรียนและเส้นทางการงาน บอกไปเดี๋ยวคนจะรับไม่ได้”
สุดท้ายเอริณก็ตัดสินใจบอกความจริงกับทุกคน แต่การเดินไปบอกเพื่อนทีละคน เพื่อนคงคิดว่าเธออำเล่น เพราะเธอเป็นคนชอบพูดเล่น ช่วงนั้นเอริณดูการประกวด Miss Universe แล้วเห็น Miss Spain ซึ่งเป็นสาวงามข้ามเพศ เธอจึงเกิดความคิดว่า อยากใช้เวทีนางงามเป็นที่เปิดตัวกับทุกคน
ปี 2019 เป็นปีแรกที่นอร์เวย์เปิดให้ผู้หญิงข้ามเพศเข้าประกวด Miss Norway ร่วมกับผู้หญิงได้
“เอริณเคยประกวดเทพีแถวบ้านที่บุรีรัมย์ เป็นเวทีเล็กๆ แบบธิดาปลาจ่อม แต่ไม่ได้เข้ารอบ” เอริณหัวเราะ เธอว่า การประกวดมิสนอร์เวย์ต้องมีอายุไม่เกิน 28 ปี ปีนี้เธออายุ 26 ปี น่าจะเป็นโอกาสแรกและโอกาสสุดท้าย เธอจึงสมัครทันที และกลายเป็นหญิงข้ามเพศคนแรกในภูมิภาคสแกนดิเนเวียที่ประกวดนางงามบนเวทีเดียวกับผู้หญิง
ปีนี้มีผู้สมัครทั้งหมด 200 คน นางงามทุกคนต้องเก็บคะแนนจากการทำงานการกุศล เขียนบล็อก ออกสื่อ และหาสปอนเซอร์ให้กองประกวด โดยผู้สมัครจะได้ส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง เอริณติดต่อหาผู้สนับสนุนไปราว 500 บริษัท แต่ถูกปฏิเสธทั้งหมด สุดท้ายก็ได้เจ้าของร้านอาหารไทยที่รู้จักกันมาเป็นสปอนเซอร์ให้
คะแนนเหล่านี้คิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ คะแนนจากกรรมการอีก 30 เปอร์เซ็นต์ และคะแนนจาก SMS ของผู้ชมทั่วไปอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อรวมคะแนนทั้งหมดเข้าด้วยกัน เอริณก็ผ่านเข้าสู่รอบ 12 คน สุดท้าย
10
ไม่ต้องเป็นสิ่งที่คนอื่นอยากให้คุณเป็น คุณเป็นอะไรก็ได้ที่คุณอยากเป็น
ครั้งหนึ่งเอริณเคยปฏิเสธที่จะเล่าถึงชีวิตของตัวเองผ่านสื่อ
“ตอนอายุสิบห้า ช่วงที่เริ่มเจอจิตแพทย์ก่อนแปลงเพศ มีนักข่าวติดต่อมาขอทำสารคดีเกี่ยวกับเรา ตั้งแต่ก่อนแปลงเพศจนถึงหลังแปลงเพศ เห็นกระบวนการตลอดสี่ปี แต่เอริณปฏิเสธไปเพราะกลัว ไม่รู้ว่าอนาคตเราจะทำอาชีพอะไร ประกาศตัวไปแล้วสังคมจะรับได้ไหม”
แต่ครั้งนี้เธอพร้อมแล้ว
เอริณให้สัมภาษณ์สื่อครั้งแรกช่วงเก็บตัวรอบแรก ช่วงท้ายของการพูดคุยนักข่าวถามเธอว่า
“ทุกอย่างที่อยู่ในตัวคุณ เป็นสิ่งที่คุณได้มาตั้งแต่กำเนิดใช่ไหม” นัยของคำถามนี้คือเรื่องการศัลยกรรมความงาม
“เอริณตอบว่า ใช่ค่ะ เอริณเงียบไปสักห้าวินาที แล้วบอกว่า พูดเล่นค่ะ จริงๆ แล้วเอริณแปลงเพศมา” เธอตอบพร้อมเสียงหัวเราะ
เธอบอกว่านักข่าวถึงกับช็อก เงียบไปพักใหญ่ ไม่แน่ใจว่าต้องสัมภาษณ์ต่อไหม เพราะเขาไม่มั่นใจว่าเธอจะผ่านคุณสมบัติของผู้ประกวด เนื่องจากเวลาพูดคำว่า Transgender คนนอร์เวย์จะรวมถึงคนที่ยังไม่ได้แปลงเพศด้วย
เมื่อเอริณยืนยันว่าเธอแปลงเพศแล้ว ใช้นางสาวถูกต้องตามกฎหมาย และถือสัญชาตินอร์เวย์ นักข่าวจึงสัมภาษณ์ต่อ และคุยเรื่องการเป็นสาวข้ามเพศ หลังจากที่ข่าวนี้ออกไป หนังสือพิมพ์ทั่วประเทศก็ลงเรื่องของเอริณบนหน้าหนึ่งประมาณ 20 ฉบับ จากนั้นสำนักข่าวต่างๆ ก็มาติดตามชีวิตของเธอ
“ก่อนการตัดสินรอบสุดท้าย เอริณไม่ได้หวังอะไรแล้ว จะได้ตำแหน่งหรือไม่ ก็ไม่เป็นไร เพราะเราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว เอริณมองการประกวดเป็นเวทีที่เราจะสร้างความเท่าเทียม เป็นแรงบันดาลใจให้คนที่เด็กกว่าเรา เอริณได้ออกทีวี ได้ขึ้นหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง ได้บอกทุกคนให้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องเป็นสิ่งที่คนอื่นอยากให้เป็น คุณจะเป็นอะไรก็ช่าง คุณจะทำอะไรก็ได้ อยากเรียน อยากประกอบอาชีพอะไรก็ได้ แค่ลุกขึ้นมาแล้วสู้มัน” เอริณพูดด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยพลัง
ผลการประกวดจบลงที่เอริณได้รองอันดับสาม แต่สิ่งที่เธอได้รับกลับมามีค่ามากกว่าตำแหน่ง เพราะมีคนมากมายติดต่อเธอมาเพื่อขอบคุณและชื่นชมในความกล้าหาญ
แล้วทุกคนก็ทราบว่าเธอเป็นหญิงข้ามเพศ
คนที่อยู่รอบตัวเอริณถึงกับช็อกเมื่อรู้ข่าวนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน อาจารย์ รวมไปถึงคนไข้ แต่ก็ไม่มีใครมองเธอในแง่ลบ มีแต่คนชื่นชม และยอมรับเธอในฐานะของผู้หญิงคนหนึ่ง
“เรามีความสุขมากขึ้น เราไม่ต้องเครียด ไม่ต้องกังวลว่าเดินออกไปข้างนอกจะมีคนชอบเราหรือเปล่า เราพบว่าเราคือผู้หญิงคนหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้หญิงมาตั้งแต่กำเนิด แต่คนรอบข้างก็ไม่มีใครอคติกับเรา” เอริณพูดถึงความรู้สึกหลังประกวด
11
อยากทำวิจัยทางการแพทย์เรื่องผู้หญิงข้ามเพศ
การประกวดจบลงแล้ว ชีวิตของเอริณก็ดำเนินต่อไป
“ชีวิตเอริณเริ่มต้นจากศูนย์ มาจากสถานที่ที่ไม่มีใครคิดว่าจะมายืนถึงจุดนี้ได้ เรามาไกลมาก เราภูมิใจในตัวเองนะ ประทับใจทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งคนที่ล้อเรา ชมเรา ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราถือเป็นกำไรชีวิตแล้ว สุดท้ายเรามีสิทธิที่จะมีความสุขได้ ขึ้นกับมุมมองในการใช้ชีวิต” เอริณย้อนมองชีวิตที่ผ่านมา
ถ้ามีใครสักคนถามว่าคนข้ามเพศคืออะไร นางงามข้ามเพศและนักศึกษาแพทย์อย่างเอริณจะตอบว่า
“ผู้หญิงข้ามเพศหรือผู้ชายข้ามเพศเป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ ธรรมชาติสร้างให้เราเป็นแบบนั้น ถ้าเราไปดูสัตว์ในสวนสัตว์จะเห็นว่าสัตว์บางตัวมีบุคลิกที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ สมัยก่อนเรียกว่าเกิดมาผิดร่าง เกิดผิดเพศ ทางการแพทย์เรียกว่ามีอาการผิดปกติ ต้องได้รับการรักษาด้วยการแปลงเพศ
“จากประสบการณ์ส่วนตัว เอริณถูกบังคับให้อยู่ในสังคมผู้ชาย ในกรอบของการเป็นผู้ชายตลอดเวลา แต่นั่นไม่ได้ทำให้เอริณเป็นผู้ชาย เพราะเรารู้ตัวว่าเราเป็นอะไร ความรู้สึกที่เราเป็นกับฮอร์โมนเพศเราไม่ตรงกัน บางคนมีโครโมโซมเป็น XY เหมือนเพศชาย แต่อยู่ในร่างผู้หญิงตั้งแต่กำเนิด มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ถ้ามองว่าสิ่งมีชีวิตต้องวิวัฒนาการเพื่อสร้างสิ่งที่ดีที่สุดในการดำรงเผ่าพันธุ์ ยีนของเอริณอาจจะไม่ดีพอที่จะส่งต่อไปยังลูกหลานก็ได้ ธรรมชาติก็เลยให้ยีนของเอริณวิวัฒนาการเพื่อหยุดอยู่แค่ตรงนี้”
พอเรียนทันตแพทย์จบ เอริณจะทำงานเป็นทันตแพทย์พร้อมๆ กับเรียนแพทย์ปี 2 ต่อ ความตั้งใจของเธอก็คือการทำวิจัยเรื่องหญิงข้ามเพศให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะงานวิจัยด้านสมอง
“เอริณอยากสานงานต่อจาก Dr. Simon LeVay ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แกใกล้จะเกษียณแล้ว แกเอาสมองส่วน Hypothalamus ของชาย หญิง หญิงข้ามเพศ ชายข้ามเพศ มาเปรียบเทียบกัน งานนี้ต้องใช้งบประมาณเยอะ และต้องการคนรุ่นใหม่มาช่วยทำงานต่อเพื่อหาสาเหตุของโรค จะได้หาทางแก้ เพราะบางทีเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่คือความผิดปกติจริงๆ หรือเป็นแค่ความรู้สึก นี่เป็นคำถามที่งานวิจัยจะช่วยตอบได้” เอริณตอบด้วยท่วงท่าแบบนักวิชาการ
และนั่นคือบทบาทต่อไปที่เราจะได้เห็นจากผู้หญิงที่ชื่อ เอริณ กรินเดอร์ ทูลแฮล์ม