ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนของ ‘บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด’ (Buriram United) หรือไม่ เราต่างต้องยอมรับว่าเรื่องราวของสโมสรฟุตบอลนี้มหัศจรรย์

จากเมืองอีสานที่เป็นทางผ่าน กีฬาเป่าลมหายใจรดเมืองเล็กๆ นี้ให้มีชีวิตชีวา เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมาย เมืองเติบโตก้าวหน้า และหัวใจคนบุรีรัมย์ก็สามัคคีเป็นหนึ่งเดียว

ขณะที่สโมสรฟุตบอลประจำจังหวัดย่างเท้าเข้าสู่ปีที่ 10 บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ยังเปิดตัวจังหวัดสู่บทบาทใหม่ ในฐานะชุมชนงานคราฟต์อีสานที่ยิ่งใหญ่และมีคุณภาพ

สโมสรฟุตบอลชายและแม่บ้านนักทอผ้าไทย ดูเผินๆ ไม่เกี่ยวข้องกันสักนิด แต่บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กำลังจะสร้างสิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้อีกครั้ง

โดยเริ่มจากผ้าพันคอ

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram united

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram united

จากผ้าถักของคุณยายอังกฤษ กลายเป็นผ้าทอคุณป้าอีสาน

ผ้าพันคอเป็นวัฒนธรรมแฟนบอลอังกฤษที่เริ่มต้นในช่วงปี 1900

ชาวเมืองผู้ดีที่ชอบใส่เสื้อโค้ตและหมวกสีเรียบทึม นิยมใช้ผ้าพันคอสีประจำสโมสรฟุตบอลเป็นสัญลักษณ์แสดงความภักดี และชูผ้าโห่ร้องเมื่อได้รับชัยชนะ

ในช่วงแรก ผ้าพันคอเหล่านี้เป็นผ้าไหมพรมที่คุณย่าคุณยายหรือคุณแม่ถักให้ลูกหลานใช้ ต่อมาก็กลายเป็นอุตสาหกรรมผ้าพิมพ์ลายสีฉูดฉาด เพราะการชูผ้าพันคอเชียร์บอลข้างสนามหรือซื้อผ้าเก็บเป็นที่ระลึก กลายเป็นธรรมเนียมที่แพร่หลายไปทั่วโลก

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram united

สโมสรฟุตบอลในเมืองไทยก็รับวัฒนธรรมผ้าพันคอมาใช้เป็นของที่ระลึกเหมือนกัน แม้บ้านเราจะเป็นเมืองร้อน (มาก) จนผ้าพันคอไม่เคยได้ใช้กันหนาวตามฟังก์ชันดั้งเดิม ครั้นจะเอาผ้าผืนยาวหน้าแคบมาใช้ในชีวิตประจำวันก็ไม่ถนัด แตกต่างจากผ้าขาวม้าที่เป็นผ้าติดมือสารพัดประโยชน์ของคนอีสาน จะใช้นุ่งเป็นโสร่ง โพกหัว ผูกเอว ผูกเป็นย่ามใส่ข้าวกล่องไปทำงานก็ได้

แนน-ชิดชนก ชิดชอบ Merchandise Director แห่งบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ลูกสาวของ เนวิน ชิดชอบ ที่ดูแลของที่ระลึกทั้งหมดของสโมสร มองเห็นช่องโหว่ของสินค้าในมือ เลยเกิดไอเดียเปลี่ยนผ้าพันคอแบบอังกฤษเป็นผ้าทอมือแบบบุรีรัมย์ บิดโจทย์ด้วยการเปลี่ยนขนาด รูปทรง และดีไซน์ใหม่ ผ้าเชียร์บอลที่โบกสะบัดในมือแฟนๆ ก็ใช้ได้ในทุกโอกาส ทุกวัน แถมยังได้สนับสนุนคุณป้าคุณน้าที่ทำงานคราฟต์ในจังหวัดด้วย

การเดินทางจากผ้าถักไหมพรมเรียบง่าย สู่ผ้าเร็จรูปจากโรงงาน แล้วกลับไปสู่กระบวนการคราฟต์อย่างการทอมือเกิดขึ้นได้อย่างไร เราเดินทางไปหาคำตอบนี้ที่บุรีรัมย์

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram united

เป่าลมหายใจให้เมือง

“Breath of Buriram เป็นสโลแกนของสโมสรที่พ่อคิด โจทย์มันเรียบง่ายมาก บุรีรัมย์เป็นเมืองผ่าน ตั้งแต่มาทำสโมสรฟุตบอล คนก็สนใจมาก และประสบความสำเร็จมากจนเราสร้างสนามฟุตบอลได้ เขาเลยเอาคำนี้ไปคาดไว้บนอัฒจันทร์”

ข้างสนามช้างอารีน่าหรือปราสาทสายฟ้า แนนเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เธอเล่าต่อว่า ทุกปีสโมสรจะมีแคมเปญใหม่ๆ ผลัดเปลี่ยนเสมอ จนคำว่า Breath of Buriram เริ่มจมหายไป ในวาระที่สโมสรจะอายุครบรอบ 10 ปี ในปี 2019 ที่จะมาถึง เธอจึงอยากชูคำนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

สำหรับลูกสาวประธานสโมสร ลมหายใจของบุรีรัมย์ไม่ใช่แค่ทีมฟุตบอล แต่คือคนบุรีรัมย์

“เวลาพ่อไปบรรยายที่ไหน เขาพูดเสมอว่า ตั้งแต่ทำสโมสรฟุตบอลเศรษฐกิจเมืองบุรีรัมย์ดีขึ้นมาก GDP เพิ่มเป็นพันเปอร์เซ็นต์ จริงอยู่ที่ค่าเฉลี่ยรายได้คนบุรีรัมย์ขึ้นก็จริง แต่คนที่ได้ประโยชน์คือเจ้าของโรงแรม เจ้าของร้านอาหาร เจ้าของคาเฟ่ พวกคนที่ทำธุรกิจท่องเที่ยว คนส่วนใหญ่ในบุรีรัมย์ที่เป็นเกษตรกรเขายังไม่ได้ประโยชน์อะไรมากมาย ดังนั้น ในวาระที่เราจะอายุครบ 10 ปี เราอยากให้ชาวบ้านมากกว่านี้ สโมสรอยากจะตอบแทนคนบุรีรัมย์ ทำให้บุรีรัมย์มีลมหายใจอีกครั้ง”

ฝ่ายของที่ระลึกที่ชิดชนกดูแลเป็นฝ่ายที่ทำรายได้ให้สโมสรได้มากที่สุดหลายปีติดต่อกัน เพราะแฟนคลับและนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาซื้อสารพัดของที่ระลึกตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นผ้าพันคอ ตุ๊กตา พวงกุญแจ หรือเสื้อบอลที่ชอบหมดเกลี้ยงในพริบตา แนนรู้ว่าตอนนี้อ้อมแขนของสโมสรฟุตบอลกว้างพอที่จะโอบคนท้องถิ่นให้เดินไปด้วยกัน

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram united

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram united

ของดี 7 หมู่บ้าน

“วิเวียน เวสต์วูด ทำให้ผ้าลายสก๊อตเจ๋งได้ เราก็อยากทำให้ผ้าไทยเข้าถึงวัยรุ่นเหมือนกัน”

ดีไซเนอร์ที่ซื้อผ้าซื้อพรมท้องถิ่นจากทุกประเทศที่ไปเที่ยว เช่น อินเดีย โมร็อกโก หลงรักงานคราฟต์ท้องถิ่นมาเนิ่นนาน

“จุดเด่นของผ้าบุรีรัมย์คือผ้าซิ่นตีนแดงและผ้าหางกระรอก คนบุรีรัมย์มี 4 เผ่า คือไทยเขมร ไทยลาว ไทยโคราช และไทยส่วย ซึ่งแต่ละเผ่ามีผ้าแตกต่างกัน แต่พอมาอยู่บุรีรัมย์ด้วยกันก็เลยเกิดการผสมผสานเป็นผ้าซิ่นตีนแดงหางกระรอก นอกจากนี้ ยังมีผ้าไหมเปลือกนอก ผ้าขาวม้า และผ้าฝ้าย” หญิงสาวอธิบายความหลากหลายของผ้าอย่างคร่าวๆ

“แนนชอบคำว่า Local for Local ของบ้านเรามันมีดีอยู่แล้ว ไม่ต้องรอแบรนด์เมืองนอกเอาผ้าไทยไปตัด มันก็สวยด้วยตัวมันเอง คุณภาพก็ดี แต่ตัวสินค้าอาจยังขายไม่ได้กับคนรุ่นใหม่ เรามีฐานแฟนบอลอยู่แล้ว เรารู้ว่าเขาชอบซื้ออะไร มันเป็นโอกาสที่เราจะช่วยคนบุรีรัมย์ได้ เราอยากทำงานคราฟต์ที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ ไม่ได้อยากทำสินค้าหรูหรา ต้องเป็นของที่เข้าถึงคน ซื้อง่าย ใช้ง่าย”

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram united

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram united

การทอผ้าเป็นทักษะงานคราฟต์ที่ผู้หญิงบุรีรัมย์รุ่นก่อนๆ ทำเป็นกันอยู่แล้ว แนนและทีมงานตระเวนดูหมู่บ้านต่างๆ ในบุรีรัมย์ แล้วเลือกหมู่บ้านเล็กๆ 7 หมู่บ้านมาเป็นแนวร่วมตัวอย่าง

เกณฑ์คือไม่เลือกหมู่บ้านที่ดังเรื่องการทอผ้าที่สุด เพราะพวกเขามีกลุ่มลูกค้าของตัวเองแล้ว แต่จงใจเลือกหมู่บ้านที่มีแม่บ้านที่ทอผ้าเป็นอาชีพเสริม ไปทำนามาตอนเช้า บ่ายๆ ระหว่างเลี้ยงลูกหลานก็ทอผ้าไปด้วยได้ โครงการนี้จะทำให้คนกลุ่มนี้มีรายได้เสถียรมากขึ้น

เกณฑ์ข้อต่อมา คือเลือกหมู่บ้านที่ยินดีปรับตัว พร้อมจะทดลองทำสิ่งใหม่ไปด้วยกัน

“ช่วงแรกป้าๆ หลายคนบอกเราว่าเขาทำไม่ได้หรอก เขาไม่เคยทำ แต่ถ้า 7 หมู่บ้านนี้เป็นตัวอย่างว่าประสบความสำเร็จ ต่อไปก็จะมีมากกว่านี้”

แนนกล่าวอย่างมุ่งมั่น

แปลงโฉมผ้าไทย

ชิดชนกและทีมงานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด พัฒนารูปแบบ ลายผ้า และสีสันของผ้าไทยแบบต่างๆ ให้ทันสมัยขึ้น เป็นผ้าโทนสีฟ้าน้ำเงิน 6 แบบที่ใช้งานได้แตกต่างกัน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ร่วมเป็นตัวกลางสื่อสารเรื่องดีไซน์กับบรรดาคุณป้าช่างย้อมช่างทอ

ผ้าไทยส่วนใหญ่จะทอเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้งานอื่นนอกจากนุ่งเป็นซิ่นไม่ค่อยได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฟังก์ชันจะเพิ่มเป็นโพก พัน คาด นุ่ง ห่ม ได้สารพัด

ผ้า 2 แบบที่ได้ทอเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส คือผ้าไหมเปลือกนอกเนื้อหนาฟูนุ่ม เหมาะกับการห่มกันหนาว ห่มนอนบนโซฟาที่บ้าน ของกลุ่มทอผ้าบ้านหนองตาไก้ และผ้าไหมมัดหมี่รวม จากกลุ่มทอผ้าบ้านตาลองที่เชี่ยวชาญเรื่องการย้อมสีธรรมชาติ จะโพกหัว ผูกคอ หรือพลิกแพลงได้ตามความชอบ

ผ้าที่เหลือทอชื่อ BURIRAM UNITED ตรงกลาง ขนาดใกล้เคียงผ้าขาวม้าดั้งเดิมที่ใช้คนเก่าคนแก่ออกแบบไว้ให้ใช้งานได้ดีแล้ว ใช้ชูในสนามได้อย่างเก๋ไก๋ แม้เนื้อสัมผัสและลวดลายแตกต่างกันออกไป ได้แก่ ผ้าขาวม้าจากกลุ่มทอผ้าบ้านโคกสะอาด บ้านหนองกระโดน และบ้านตาลอง ผ้าหางกระรอกขอบแดง จากกลุ่มทอป้าบ้านสนวนนอก ผ้าภูอัคนีย้อมดินภูเขาไฟ จากกลุ่มทอผ้าบ้านเจริญสุข และผ้าไหมมัดหมี่ลายสายฟ้า จากกลุ่มทอผ้าชุมชนสายยาว

น่าเสียดายที่ผ้าทั้งหมดกำลังอยู่ในขั้นตอนการทอ เราเลยไม่มีผ้าทั้ง 6 แบบมาอวดโฉม แต่เราได้เดินทางไปเยี่ยม 2 หมู่บ้านสุดท้าย เลยมีตัวอย่างขั้นตอนการผลิตผ้าย้อมดินภูเขาไฟ และผ้าไหมลายสายฟ้าสุดเท่มาให้ดู

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram unitedบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram united

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram unitedบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram united

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram united

ลำแข้งแม่บ้าน

ผ้าของที่ระลึกเหล่านี้จะเริ่มวางขายปลายเดือนกันยายน ทุกแบบมีจำนวนจำกัด เพราะแต่ละหมู่บ้านทอได้แค่หมู่บ้านละ 100 ผืน

“ผ้าทุกผืนจะมีนามบัตรป้าที่ทอผ้าผืนนั้นไว้ มีเบอร์โทรติดต่อเสร็จสรรพ เผื่อเขาจะสั่งซื้อเพิ่มอีก เราไม่อยากกินรวบ ถ้าเขาไปขายของต่อเองได้ก็วิน-วินกันหมด เราขอสงวนแค่สีและแบบที่เป็นของสโมสรเท่านั้น” ดีไซเนอร์ไฟแรงอธิบาย

“บนนามบัตรยังมีที่ให้เขาเขียนอะไรสั้นๆ ลงไป เขาจะได้ภูมิใจ และจะได้มีความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนรับก็รู้สึกดี สัมผัสความตั้งใจได้มากกว่าซื้อของที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ เราหวังว่าจะทำให้คนทอภูมิใจในงานคราฟต์ของตัวเอง และอาจจะปลุกคนอื่นๆ ให้สนใจงานนี้

แนนได้ยินตลอดว่าคนรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานแบบนี้แล้ว ลูกหลานของป้าๆ ชอบเข้าไปทำงานในเมืองเพราะรายได้ดีกว่า มันน่าเสียใจนะที่เรากำลังเสียวัฒนธรรมที่สวยงามไป เราอยากสร้างโอกาสให้การกลับมาทำงานคราฟต์ที่บ้านเป็นไปได้”

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram united

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram united

“เราอยากทำให้มันเป็นโครงการระยะยาว เพราะมันคือ Breath of Buriram ถ้าคุณหยุดหายใจ คุณก็ตาย”

ผู้หญิงที่กุมบังเหียนฝ่ายสำคัญในสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ตั้งใจว่า นับแต่นี้ สินค้าของที่ระลึกของสโมสรฟุตบอลจะไม่หยุดแค่ผ้า แต่จะช่วยสนับสนุนของคราฟต์ท้องถิ่นทุกอย่างของบุรีรัมย์ เช่น เสื่อสาน กระเป๋าสาน และสารพัดงานฝีมือ

“เราคงทำให้คราฟต์ 100% ไม่ได้ อย่างเสื้อบอลก็ต้องทำให้เหมาะกับการเล่นกีฬา ต้องพึ่งเทคโนโลยี แต่เราอยากจะคืนกำไรสู่แฟนๆ สู่คนที่สนับสนุนเรามาตลอด กำลังดูอยู่ว่าชาวบ้านสามารถจะผลิตผ้าเป็นสินค้าอื่นๆ ได้มากแค่ไหน”

การขยับตัวจากเมืองกีฬาสู่เมืองคราฟต์ อาจทำให้เมืองแห่งผ้าอื่นๆ ไหวตัวตาม แต่ลูกสาวคนเดียวของประธานสโมสรฟุตบอลชายประกาศชัดเจนว่า เธอไม่คิดจะลงสนามแข่งขันกับใคร

“แต่ละเมืองมีจุดเด่นต่างกัน เราคงไม่ไปแข่งกับเมืองคราฟต์เมืองอื่นหรอก นี่ไม่ใช่ฟุตบอล (หัวเราะ) แนนก็อยากเรียนรู้จากเมืองอื่นๆ นะ คงจะดีถ้าเรากระตุ้นความคิดเรื่องการรักษางานคราฟต์ไปด้วยกัน”

ชิดชนก ชิดชอบ เอ่ยอย่างครุ่นคิด เธอกอดลาป้าๆ ช่างทออย่างรักใคร่ก่อนก้าวขาออกจากหมู่บ้าน สิ่งที่เธอมอบให้พวกเขาไม่ใช่แค่การออกแบบลวดลายผ้าใหม่ หรือออร์เดอร์ผ้าพันคอมากมาย

แต่เป็นโอกาสให้พวกเขาได้ยืนบนลำแข้งของตัวเอง โดยไม่พึ่งเพียงชื่อเสียงของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, Buriram united



ข้อมูลบางส่วนจาก https://www.ruffneckscarves.com/blogs/ruffneck-blog/a-history-of-soccer-scarves-explained

ถ้าสนใจอยากไปเรียนรู้ขั้นตอนการทอและย้อมผ้าที่ระลึกสุดคราฟต์ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อ่านรายละเอียดและสมัครร่วมทริปได้ที่นี่

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล