20 ธันวาคม 2018
23 K
The Cloud x  Tetra Pak

ขวดน้ำดื่ม ถุงขนม กระป๋องน้ำอัดลม ซองอาหารแช่แข็ง กล่องนม และอีกสารพัดบรรจุภัณฑ์ คือสิ่งที่เราคุ้นเคยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน พวกมันมีประโยชน์มหาศาลในการห่อหุ้มอุ้มชูของกินหลากหลายรูปแบบ จากแหล่งผลิตมาสู่ผู้บริโภคอย่างเราๆ

คุณเคยนับไหมว่าในแต่ละวันคุณแกะถุงขนมไปกี่ถุง เปิดฝาขวดน้ำดื่มไปกี่ขวด หรือดื่มนมไปกี่กล่อง บรรจุภัณฑ์จำนวนมหาศาลผ่านมือผู้คนนับล้านในแต่ละวัน เราดื่มกินอาหารและเครื่องดื่มที่ถูกบรรจุอย่างมิดชิดมาจากแหล่งผลิตแสนไกล

ทันทีที่อาหารและเครื่องดื่มเข้าปาก บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยประคองของกินมาตั้งไกลก็ไร้ประโยชน์ หมดคุณค่าและถูกทิ้งไป ภารกิจของบรรจุภัณฑ์เหล่านี้สิ้นสุดลงเมื่อเดินทางมาถึงมือพวกเราเท่านี้จริงๆ หรือเปล่านะ

โชคดีที่โลกมีการ รีไซเคิล หรือการนำเอาวัตถุสิ่งของมาผ่านกระบวนการปรับแต่งเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง การเดินทางและประโยชน์ของบรรจุภัณฑ์จึงขยายยืดยาวออกไปได้ไม่สิ้นสุด

เราจึงอยากชวนคุณไปดูการเดินทางของ ‘กล่องเครื่องดื่ม’ บรรจุภัณฑ์หน้าตาเป็นมิตร เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่ามันสร้างมาจากกระดาษ จึงย่อมย่อยสลายได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว แม้จะมีส่วนประกอบหลักเป็นกระดาษ แต่กล่องนี้มีเรื่องราวที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก

รีไซเคิล, หลังคาเขียว

ซับซ้อนยังไง แกะกล่องดูไปพร้อมกัน

1

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่ากล่องเครื่องดื่มไม่ได้ทำมาจากกระดาษ 100% แต่มีส่วนประกอบอื่นเคลือบแนบสนิทไปกับกระดาษด้วย นั่นคืออะลูมิเนียมฟอยล์และพลาสติก ส่วนประกอบทั้งสามชนิดทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป

กระดาษมีเพื่อตั้งโครง ไม่ทำให้กล่องบุบสลาย หยิบจับง่าย ในขณะที่พลาสติกช่วยป้องกันความชื้นและสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ถ้าไม่มีชั้นพลาสติกเคลือบไว้ เมื่อกระดาษสัมผัสกับนมโดยตรง แน่นอนว่ากระดาษจะยุ่ยเปื่อย และสุดท้ายคืออะลูมิเนียมฟอยล์ ทำหน้าที่ป้องกันแสงที่จะทำให้เครื่องดื่มในกล่องเกิดปฏิกิริยาเน่าเสีย

แล้วกระดาษที่นำมาใช้ผลิตกล่องเหล่านี้มาจากไหน แน่นอนว่ากระดาษผลิตมาจากต้นไม้ในผืนป่า ซึ่งเป็นป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่มีการควบคุม

ถ้าคุณเคยสังเกต บนบรรจุภัณฑ์หลายๆ ชนิด เช่น ถุงกระดาษแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง IKEA หรือพลิกดูข้างกล่องเครื่องดื่มของ Tetra Pak จะมีสัญลักษณ์ FSC™ แปะอยู่ นั่นหมายถึงบรรจุภัณฑ์นั้นได้ผ่านกระบวนการจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบจากองค์การจัดการด้านป่าไม้ หรือ The Forest Stewardship Council™ โดยที่วัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ได้จากป่าที่ปลูกเชิงพาณิชย์ที่มีการจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ

รีไซเคิล, หลังคาเขียว

รีไซเคิล, หลังคาเขียว

2

จากส่วนประกอบทั้งสามชนิด คือกระดาษ อะลูมิเนียมฟอยล์ และพลาสติก ที่รวมกันเป็นกล่องนม 1 กล่อง สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 2 แบบด้วยกัน คือแบบแยกเยื่อและแบบตัดย่อย

การรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มแบบแยกเยื่อเริ่มจากการนำกล่องไปเข้าเครื่องตีเยื่อ เพื่อแยกวัสดุที่ถูกซีลทับซ้อนกันอย่างแนบสนิทถึง 6 ชั้นออกจากกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือเยื่อกระดาษและโพลีแอล ซึ่งก็คืออะลูมิเนียมฟอยล์ผสมพลาสติก

รีไซเคิล, หลังคาเขียว

เยื่อกระดาษสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์กระดาษได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นถุง กระดาษลัง กระดาษทิชชู

รีไซเคิล, หลังคาเขียว

ส่วนโพลีแอลนำไปเข้าเพลตเพื่อเกลี่ยเป็นแผ่นขนาดเท่ากัน จากนั้นอัดร้อนที่อุณหภูมิ 150 – 180 องศาเซลเซียส ออกมาเป็นแผ่น Eco-Board แปรรูปได้สารพัดรวมถึงเป็นแผ่นหลังคา Green Roof หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘หลังคาเขียว’

ในราคาที่ใกล้เคียงกับกระเบื้องลอนคู่ หลังคาเขียวช่วยสะท้อนแสงแดด ไม่ดูดซับความร้อน และทนไฟ เพราะผลิตจากฟอยล์ผสมพลาสติก เวลารั่วหรือถูกเจาะเป็นรูสามารถซ่อมแซมด้วยการเอาความร้อนมาประสานวัสดุเข้าหากัน

รีไซเคิล, หลังคาเขียว

การทำหลังคาเขียวเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ‘หลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก’ ที่มีแนวคิดการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครตั้งจุดรับกล่องเครื่องดื่ม จัดเก็บกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว ผ่านทางอาสาหลังคาเขียว มารีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคา มอบให้กับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อนำไปใช้สร้างบ้านให้ผู้ประสบภัยพิบัติและผู้ด้อยโอกาส

โครงการหลังคาเขียวดำเนินการมาทั้งสิ้น 9 ปี ผลิต ‘หลังคาเขียว’ ไปแล้วกว่า 60,000 แผ่น อาจฟังดูเหมือนไม่เยอะ แต่แผ่นหลังคาเขียวขนาดมาตรฐาน 1.2×2.4 เมตร ใช้กล่องเครื่องดื่มถึง 2,000 กล่องหรือประมาณ 20 กิโลกรัมในการรีไซเคิล คิดง่ายๆ ว่าโครงการนี้ช่วยขยายการเดินทางของเจ้ากล่องนี้ ไม่ให้จบอยู่แค่ที่กองขยะไปแล้วถึง 12 ล้านกล่อง

รีไซเคิล, หลังคาเขียว

ต่อมาคือการรีไซเคิลกล่องแบบตัดย่อย ซึ่งซับซ้อนน้อยกว่าการรีไซเคิลแบบแยกเยื่อ เพราะไม่ต้องแยกองค์ประกอบทั้งสามชนิดของกล่องเครื่องดื่มออกจากกัน เพียงแค่ล้างทำความสะอาด สับย่อย นำไปเข้าเพลตและอัดร้อน ออกมาเป็น Green Board

รีไซเคิล, หลังคาเขียว

เราเชื่อว่าหลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาและเคยเห็นกรีนบอร์ดที่ถูกนำไปแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ชิ้นเล็กอย่างเครื่องเขียน ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่อย่างท็อปโต๊ะ ตู้ และเก้าอี้ และแน่นอนว่าขนาดมาตรฐาน 1×2.4 เมตร ของกรีนบอร์ด 1 แผ่นก็ใช้กล่องเครื่องดื่มจำนวนนับพันในการรีไซเคิลเช่นเดียวกัน

รีไซเคิล, หลังคาเขียว รีไซเคิล, หลังคาเขียว

จริงๆ แล้วกล่องหรือขวดกระดาษที่บรรจุเครื่องดื่มบางประเภทยังมีชิ้นส่วนอื่นอีก อย่างเช่น ฝาขวดที่ทำจากพลาสติก ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลด้วยกระบวนการหลอมและขึ้นรูปใหม่เป็นของใช้พลาสติกรูปแบบอื่นได้ด้วย

รีไซเคิล, หลังคาเขียว

อย่างขวดกระดาษ Tetra Top ที่เป็นบรรจุภัณฑ์รุ่นใหม่ล่าสุดของ Tetra Pak ที่ mMilk ใช้บรรจุผลิตภัณฑ์นมสดพาสเจอร์ไรซ์ส่งออกสู่ท้องตลาดประเทศไทยเป็นครั้งแรกพร้อมแคมเปญ TOP OF THE FEELINGS โดยมีแนวคิดหลัก 3 ข้อคือ

Top of Trust ความสะอาดและสดใหม่ของนม เพราะบรรจุภัณฑ์จะคงคุณค่าของสารอาหารที่มีได้ครบถ้วน

Top of Coolness ฟังก์ชันใช้งานที่ถือดื่มง่าย ดีไซน์ที่ดูเรียบง่าย แต่แฝงสีสันที่ดูน่าค้นหา เนื่องจากกระดาษสร้างสีสันและลวดลายได้ชัดเจน

Top of Caring เมื่อดื่มหมดสามารถแยกส่วนด้านบนที่เป็นพลาสติกออก ก็จะเหลือด้านล่างที่เป็นกระดาษ ซึ่งได้มาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่ผ่านการจัดการอย่างรับผิดชอบ แถมหากจัดเก็บอย่างถูกวิธีก็สามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมดตามขั้นตอนที่เราบอกไว้ข้างต้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย

แม้ว่าส่วนประกอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวกล่องหรือฝาพลาสติกสามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด แต่การรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มหรือขวดกระดาษอย่างถูกวิธี หากเราดื่มนมหรือเครื่องดื่มแล้วโยนกล่องทิ้งปะปนกับเศษอาหารและขยะประเภทอื่น การเดินทางของบรรจุภัณฑ์จะสิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น

รีไซเคิล, หลังคาเขียว

3.

การจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มหรือขวดกระดาษอย่างถูกวิธี เพื่อประสิทธิภาพในการนำมารีไซเคิลมีด้วยกัน 3 วิธี

วิธีแรก คือการแกะ ล้าง เก็บ เริ่มจากตัดด้านล่างของขวดกระดาษและด้านข้าง แยกส่วนกระดาษและพลาสติกออกจากนั้นล้างทำความสะอาดและเอาไปผึ่งแห้ง เพื่อป้องกันนมหรือเครื่องดื่มตกค้างส่งกลิ่นเหม็น วิธีนี้ใช้น้ำล้างจานก็ได้ ประหยัดดี ทำที่บ้านได้ไม่ยุ่งยาก

วิธีที่สอง คือการพับเล็ก วิธีนี้ไม่ต้องใช้น้ำ ทำได้ทันทีหลังดื่มเสร็จ เมื่อพับเสร็จเราจะได้กล่องขนาดกะทัดรัด ไม่มีออกซิเจนอยู่ข้างในกล่อง

และวิธีที่สาม คือการดึงหูบนหูล่าง วิธีนี้ไม่ต้องใช้สกิลล์การพับแบบวิธีที่สอง แค่ดึงหูและรีดกล่องกระดาษให้แบนเพื่อไล่ออกซิเจนในกล่อง

การจัดการกับกล่องทั้งสามวิธีจะช่วยลดกลิ่น ลดแมลงตอม และทำให้การขนส่งมาที่โรงงานรีไซเคิลมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับกล่องฟูๆ ซึ่งเปลืองพื้นที่และสิ้นเปลืองพลังงานในการขนส่ง

รีไซเคิล, หลังคาเขียว รีไซเคิล, หลังคาเขียว

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าทุกวันนี้มีจุดจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มและขวดกระดาษที่ห้างสรรพสินค้า Big C ทั้ง 130 สาขาทั่วประเทศ หลังดื่มนมหรือเครื่องดื่มเสร็จ จัดเก็บด้วยวิธีการใดก็ได้ใน 3 วิธีข้างต้น แล้วนำไปหย่อนที่ Big C ซึ่งจะลำเลียงต่อไปยังโรงงานรีไซเคิล

เพื่อขยายการเดินทางและประโยชน์ของกล่องเครื่องดื่มและขวดกระดาษออกไป ให้กว้างและไกลมากขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

Tetra Pak เป็นแบรนด์ที่ใส่ใจในการปกป้องอาหาร ผู้คน และอนาคต รวมถึงโลกของเรา ซึ่งก็คือธรรมชาติรายรอบตัว ความใส่ใจเหล่านี้นำไปสู่ความยั่งยืนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การใช้จากทรัพยากรทดแทนได้เป็นหลัก การเลือกวัสดุที่รักษาคุณค่าอาหาร การรีไซเคิลวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ไปจนถึงโครงการ CSR ที่ทำเพื่อดูแลกระบวนการเหล่านั้นอย่างถูกต้องและมอบประโยชน์คืนสู่สังคมให้มากที่สุด

รีไซเคิล, หลังคาเขียว

‘โครงการหลังคาเขียว’ เป็นหนึ่งในโครงการรีไซเคิลหลักของบริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทชั้นนำด้านกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ที่ได้ร่วมมือกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม โดย บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นในการดำเนินโครงการรณรงค์เพื่อสนับสนุนการคัดแยก จัดเก็บ และรีไซเคิล กล่องเครื่องดื่มใช้แล้วให้ประสบความสำเร็จสูงสุด

โดยร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายชุมชน โรงเรียน องค์กรต่างๆในการให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกแก่ผู้บริโภคเรื่องการแยกจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วมารีไซเคิล รวมถึงดูแล พัฒนาระบบจัดเก็บ และรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพ

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ