“ขยะจะเป็นแค่ขยะ หากคุณไม่นำมันไปทำเป็นประโยชน์อะไร”

ประโยคเปิดแสนเรียบง่ายในการกล่าวสุนทรพจน์ของ Monique Collignon แฟชั่นดีไซเนอร์อันดับต้นๆ ของประเทศเนเธอร์แลนด์ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสตรีระดับโลก Monique Collignon ที่งานแฟชั่นโชว์ RECO Young Designer Competition 2018 ณ สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย

แฟชั่นดีไซเนอร์, Monique Collignon

โมนีกคือแฟชั่นดีไซเนอร์เจ้าของรางวัล The Designer of the Year ประจำปี 2010 ในปี 2012 เธอได้รับรางวัล Best Foreign Designer จากประเทศเยอรมนี ผลงานการออกแบบของเธอถูกจัดแสดงถาวรอยู่ที่ Amsterdam Historical Museum และ Haagse Gemeente Centrum ประเทศเนเธอร์แลนด์ นั่นหมายความว่า ผลงานของเธอได้รับการยอมรับในแง่ศิลปะ ประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และมีคุณค่าต่อสังคม

เหนือสิ่งอื่นใด โมนีกคือแฟชั่นดีไซเนอร์คนแรกของโลกที่นำเส้นใยรีไซเคิลมาใช้ในการออกแบบคอลเลกชัน Haute Couture พูดง่ายๆ ให้เห็นภาพคือ เธอนำขยะที่ถูกทิ้งขว้างมาเพิ่มมูลค่าให้กลายเป็นผลงานแฟชั่นชั้นสูง ผ่านนวัตกรรมในการแปรรูปวัสดุ ความคิดสร้างสรรค์ และความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้

แฟชั่นดีไซเนอร์, Monique Collignon แฟชั่นดีไซเนอร์, Monique Collignon แฟชั่นดีไซเนอร์, Monique Collignon

ก่อนจะไปถึงเรื่องราวของโมนีก เส้นทางในโลกแฟชั่นและแพสชันเรื่องพลาสติกรีโซเคิลของเธอ เราขอเล่าถึง RECO Young Designer Competition ที่โมนีกเดินทางมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเป็นกรรมการตัดสินโดยเฉพาะสักเล็กน้อย

โครงการประกวดออกแบบแฟชั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมนี้ ถือเป็นเวทีระเบิดไอเดียด้านการออกแบบแฟชั่นนวัตกรรมรักษ์โลก สำหรับกลุ่มนักศึกษาด้านการออกแบบ และดีไซเนอร์อิสระที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ให้ตระหนักถึงคุณค่าของเหลือใช้ทุกชิ้นว่าสามารถนำมาเพิ่มคุณค่า โดยใส่นวัตกรรมด้านแนวคิด และกระบวนการผลิตเทคนิคแปลกใหม่ ที่สามารถนำมาต่อยอดและใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริง

หลังจบแฟชั่นโชว์ วันต่อมาเรามีนัดกับโมนีคอีกครั้งที่งานเสวนา ‘Fashion from Waste’ ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC และนี่คือบทสนทนาในวันที่ขยะพลาสติกกำลังจะล้นโลกกับแฟชั่นดีไซเนอร์คนนี้

โมนีกเป็นทั้งนักออกแบบและนักธุรกิจ สิ่งที่เธอตั้งใจทำตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือ การส่งข้อความบางอย่างเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมออกไปในวงกว้าง ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานของเธอ

แฟชั่นดีไซเนอร์, Monique Collignon แฟชั่นดีไซเนอร์, Monique Collignon

“ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ฉันเชื่อมั่นในวิถีกินดีมีสุขของผู้คน สัตว์ ที่ส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ของโลกใบนี้ ฉันใช้แนวคิดอยู่ดีมีสุขนี้เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตเสมอมา ทั้งในแง่การทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว” โมนีกเริ่มเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของเธอ

“บางครั้งเวลาฉันไปบรรยายที่ใดก็ตาม และเริ่มด้วยการพูดถึงแนวคิดพื้นฐานเหล่านี้ คนมักจะมองว่าฉันเป็นคนที่เจ๋งมาก พวกเขาคิดว่าฉันคือนักพัฒนาที่ใส่ใจโลกและ สิ่งแวดล้อม ที่ใส่ใจผู้อื่นมากกว่าชีวิตตัวเอง ทั้งที่จริงแล้วฉันแค่กำลังทำสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด นั่นคือส่งต่อสิ่งดีงามออกไปโดยเริ่มต้นจากตัวเอง”

โมนีกสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. 1983 จากเมืองรอตเทอร์ดาม เมืองท่าหลัก และเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศเนเธอร์แลนด์ “ฉันเติบโตมากับการเห็นแม่สามารถเย็บ ปัก ถัก ทุกสิ่งรอบตัวออกมาเป็นข้าวของเครื่องใช้สวยๆ แม่เลยเป็นทั้งผู้มอบแรงบันดาลใจ และต้นแบบความคิดสร้างสรรค์ของฉัน

“ตอนที่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ ฉันอายุแค่ 7 ขวบเท่านั้นเอง ฉันหมกมุ่นอยู่กับการพัฒนาความสามารถของตัวเอง จนหลายสิบปีต่อมา การฝึกฝนอย่างหนักหน่วงเหล่านั้นก็เริ่มผลิดอกออกผล แบบที่เขาพูดกันว่า ‘All hard work paid off’ นั่นแหละ และเมื่อมองย้อนกลับไปยังเส้นทางอันยาวไกลที่ฉันเดินมา ฉันก็พบบทเรียนมากมายที่ทำให้ฉันเป็นฉันอย่างในทุกวันนี้”

โมนีกออกแบบคอลเลกชัน Haute Couture (โอต์ กูตูร์) ครั้งแรกใน ค.ศ. 1990 เธออธิบายให้ฟังคร่าวๆ ว่า “โอต์ กูตูร์ เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่าศิลปะการตัดเย็บชั้นสูง หรือ High Sewing ซึ่งจำกัดวงเฉพาะอยู่ในเมืองแฟชั่นระดับแนวหน้าของโลกเท่านั้น เช่น ปารีส นิวยอร์ก ลอนดอน และมิลาน”

แฟชั่นดีไซเนอร์, Monique Collignon แฟชั่นดีไซเนอร์, Monique Collignon

ห้องเสื้อโอต์ กูตูร์ มีขึ้นในประเทศฝรั่งเศสเป็นแห่งแรก เสื้อผ้าในแบบโอต์ กูตูร์ ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวัน แต่ถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์ ซึ่งเสื้อผ้าประเภทนี้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งเลยทีเดียว

ไม่นานหลังจากโอต์ กูตูร์ คอลเลกชันแรก โมนีกเปิดร้านเสื้อผ้าของเธอเองครั้งแรก ที่เมืองไลเดน (Leiden) ทางตอนโต้ของเนเธอร์แลนด์ และอีก 6 ปีต่อมาขยายสาขาไปสู่เมือง Van Baerlestraat จากนั้นใน ค.ศ. 2008 โมนีกก็เริ่มออกแบบและผลิตคอลเลกชัน Prêt-à-porter

“Prêt-à-porter เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า Ready-to-wear หรือเสื้อผ้าสำเร็จรูป” โมนีกอธิบายพร้อมรอยยิ้ม หลังจากฉันขมวดคิ้วน้อยๆ เมื่อได้ยินภาษาฝรั่งเศสติดกันหลายคำ

หลังจาก ค.ศ. 2008 โมนีกเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นเสื้อผ้าสำเร็จรูป และเริ่มมองเห็นอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ “การผลิตในอุตสาหกรรม Fast Fashion เป็นหนึ่งในต้นทุนอันยิ่งใหญ่ที่ต้องแลกมาด้วยสิ่งแวดล้อม จากแต่เดิม สินค้าแฟชั่นอาจมีเพียง 3 – 4 ฤดูกาลหลักเท่านั้น แต่ทุกวันนี้อาจมีมากถึง 6 – 8 ฤดูกาล และยังไม่นับคอลเลกชันย่อยๆ ที่ถูกเพิ่มเข้าไปในทุกๆ 2 สัปดาห์”

การปรับเปลี่ยนดิสเพลย์สินค้าหน้าร้าน และการหมุนเวียนสับเปลี่ยนการจัดวางสินค้าในร้านทุกๆ สัปดาห์ เพื่อให้มีความสดใหม่ หรือมีการเติมสินค้าใหม่เข้าเชลฟ์ มากถึง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ พร้อมกับเพิ่มความตื่นเต้น เช่น การทำ Collaborate กับสิ่งที่อยู่รอบแบรนด์ต่างๆ  เช่น การร่วมมือกันระหว่างสินค้าแต่ละแบรนด์ ซึ่งถือเป็นเซอร์ไพรส์เล็กๆ ให้กับกลุ่มลูกค้าตลอดเวลา

ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ถูกวางแผนและหยิบยื่นให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นความต้องการและสื่อสารกับผู้บริโภคในกลุ่มที่มีความหลงใหลต่อสินค้าแฟชั่น โดยเฉพาะกับกลุ่มที่มีความต้องการที่จะอัพเดตเทรนด์ ดูเป็นคนทันสมัย และใช้สินค้าแฟชั่นไอเทมใหม่ๆ ตลอดเวลา

แฟชั่นดีไซเนอร์, Monique Collignon แฟชั่นดีไซเนอร์, Monique Collignon

จากสิ่งที่กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบ จังหวะ และปัจจัยในการหมุนเวียนของ Fast Fashion ที่เกิดขึ้น เป็นผลทำให้วัฏจักรของ Fast Fashion Revolution มีความฉาบฉวยมากขึ้นไปอีก เช่นว่า ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้าใหม่บ่อยขึ้น มากขึ้น แต่กลับมีการใช้งานที่น้อยลง จากแต่ก่อน การจะซื้อเสื้อผ้าใหม่ก็ต่อเมื่อชิ้นเก่าชำรุด หรือไซส์ไม่พอดีแล้ว แต่ปัจจุบันอาจซื้อเพียงเพราะสีและลวดลายแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มเพื่อน

พฤติกรรมของผู้บริโภคเหล่านี้ก็ย่อมส่งผลอย่างต่อเนื่องกลับมาที่วัฏจักรแฟชั่นและอุตสาหกรรมแฟชั่นโดยรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุที่ทันสมัย แต่อาจไม่ต้องคำนึงถึงความทนทานมากนัก หรือกระบวนการผลิตที่รวบรัดตัดตอนมากขึ้น

สิ่งที่ถูกกระทบต่อมาคือการทำการตลาดสำหรับ Fast Fashion ก็ย่อมถูกปรับเปลี่ยนไปตาม Life Cycle ของสินค้านั้นๆ โดยกลยุทธ์และวิธีการทำการตลาดในยุค 4.0 ก็ต้องทำออกมาอย่างรวดเร็ว แบบติดจรวดเลยทีเดียว คราวนี้เราลองมาจินตนาการถึงความสิ้นเปลืองที่จะเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรม Fast Fashion ว่ามันจะมีปริมาณที่มหาศาลขนาดไหน

โมนิกยิ้มก่อนเล่าต่อว่า “เมื่อก่อนเวลามีคนถามว่า งานออกแบบสวยๆ ของฉันใช้ผ้าชนิดใดในการตัดเย็บ ฉันสามารถตอบได้อย่างไม่ลังเลว่า ‘พลาสติก’ แทบทุกคนตื่นตะลึงและคิดว่าฉันพูดเล่น แต่เมื่อรับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของสิ่งเล็กน้อยรอบตัว อย่างสภาพดินฟ้าอากาศ ฉันก็เริ่มตระหนักได้ว่านี่คือปัญหาระดับโลก”

ปัญหาระดับโลกที่โมนีกพูดถึง คือปัญหาขยะพลาสติกที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งบนโลก ตั้งแต่บนพื้นดินไปจนถึงใต้มหาสมุทร ณ ขณะนี้

แฟชั่นดีไซเนอร์, Monique Collignon แฟชั่นดีไซเนอร์, Monique Collignon

“แต่เชื่อไหมว่า แค่คุณเปิดตามองไปรอบๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ คุณจะเห็นผู้คนมากมาย ตั้งแต่คนตัวเล็กๆ ไปจนถึงองค์กรยักษ์ใหญ่ที่ตระหนักได้ถึงความร้ายแรงของปัญหานี้ และกำลัง Take Action เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้กับโลกของเราอยู่”

โมนีกใช้เวลากว่า 7 ปี นับจาก ค.ศ. 2008 ลองผิดลองถูกในการใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นวัสดุหลัก จนใน ค.ศ. 2015 ‘The Conscious Collection’ คอลเลกชันเสื้อผ้าที่ใช้พลาสติกรีไซเคิล เป็นวัสดุหลักกว่า 70% ก็ปรากฏสู่สายตาชาวโลก

“ฉันมองเห็นคุณค่าของ ‘การนำกลับมาใช้ใหม่’ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้โดยอาศัยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณขยะซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องการแบ่งปันองค์ความรู้ในการรีไซเคิล และกระตุ้นเตือนสังคมให้มีความรู้ความเข้าใจและมองเห็นคุณค่าของสิ่งของรอบตัวมากขึ้น”

แฟชั่นดีไซเนอร์, Monique Collignon

โมนีกชี้ให้ดูชุดสีสดตรงหน้าและอธิบายว่า “เนื้อผ้าที่เห็นอยู่นี้ทอขึ้นจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล ที่เกิดขึ้นจากการนำขยะขวดพลาสติก PET ไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก”

PET คือพลาสติกชนิดเดียวที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% สามารถนำกลับมาหลอมทำบรรจุภัณฑ์ใหม่หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้มากมาย นิยมใช้ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและของใช้ เพราะมีความใสแววเป็นประกาย มีความปลอดภัยสูง แข็งแรง ไม่เปราะแตกง่าย

โมนีกคือแฟชั่นดีไซเนอร์คนแรกของโลก ที่นำเส้นใยรีไซเคิลมาใช้ในการออกแบบคอลเลกชันโอต์ กูตูร์ เธอบอกกับเราว่า “ในอนาคต ฉันมีแผนที่จะใช้วัสดุยั่งยืนชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น ขนสัตว์รีไซเคิลและใยฝ้ายออแกนิค”

และเมื่อฉันถามถึงแรงผลักดันที่ทำให้เธอตั้งอกตั้งใจ ทำในสิ่งที่เธอทำอยู่ทุกวันนี้ คำตอบของเธอเรียบง่ายและทรงพลังแบบเดียวกับสุนทรพจน์บนเวทีแฟชั่นโชว์เมื่อคืน

“แม้ว่าฉันและสามีจะไม่มีลูกด้วยกัน แต่ฉันคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมให้คนรุ่นหลังจากนี้ ได้กินปลาที่เติบโตในมหาสมุทรอันสมบูรณ์ ได้หายใจด้วยอากาศบริสุทธิ์ และได้อาศัยอยู่ในโลกที่งดงามแบบที่คนรุ่นฉันเคยเห็นเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว”

แฟชั่นดีไซเนอร์, Monique Collignon

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ