23 พฤศจิกายน 2018
5 K

Earth Appreciation 03: มาหาสมุทร คือทริปที่ The Cloud, โคคา-โคลา ประเทศไทย และ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ International Union for Conservation of Nature: IUCN ตั้งใจจัดขึ้น เพื่อพาคนเมืองเดินทางไปทำความรู้จักและสร้างความเข้าใจเรื่องราวเรียบง่ายที่เชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายชีวิตขนาดใหญ่ของธรรมชาติใกล้ตัวอย่าง ‘มหาสมุทร’

ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ ใช้น้ำประปาที่ส่งตรงถึงก๊อก กินดื่มอาหารผลิตสำเร็จรูปในตู้แช่ ทิ้งขว้างข้าวของมากมายโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันกำลังเดินทางไปที่ไหนต่อ เป็นชีวิตแสนสะดวกสบายที่ตัดขาดกับธรรมชาติรอบตัว

เมื่อเราตัดขาดกับธรรมชาติ เราจึงไม่รู้ว่าธรรมชาตินั้นสำคัญยังไง และตอนนี้ธรรมชาติกำลังประสบกับภัยคุกคามอะไรบ้าง เราเชื่อว่าคุณเคยเห็นและรับรู้ว่าสิ่งแวดล้อมกำลังป่วยหนัก ขยะพลาสติกกำลังล้นโลกผ่านหน้านิวส์ฟีดในโซเชียลมีเดีย แต่เรื่องราวเหล่านั้นช่างไกลตัวพวกเราเหลือเกิน

เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้เราใกล้และเข้าใจกันมากขึ้น เราจึงชวนคนเมืองข้ามน้ำข้ามทะเลมาที่เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา พร้อม เร แมคโดนัลด์ นักแสดง นักเดินทาง ผู้หลงใหลในธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คน และ แพรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์ เมกอัพอาร์ทิสต์ผู้กำลังเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความงดงามจากธรรมชาติรอบตัว

เพื่อมาดูให้เห็นกับตาว่าธรรมชาติกำลังอยากบอกอะไรกับเรา

เกาะยาวใหญ่

01 จากต้นน้ำสู่มหาสมุทร

หลังขึ้นฝั่ง เราเริ่มต้นวิถีชาวเกาะด้วยการออกไปสำรวจระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ พี่เปิ้ล-สุปราณี กำปงซัน หัวหน้าแผนงานประเทศไทย IUCN หนึ่งในครูคนสำคัญของทริปเริ่มอธิบายว่า “ระบบนิเวศคือระบบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ที่มีการพึ่งพากันผ่านการส่งผ่านพลังงานและห่วงโซ่อาหารในบริเวณนั้นๆ”

เกาะยาวใหญ่มีภูเขาสูงเป็นแหล่งต้นน้ำ กำเนิดเป็นลำธารไหลคดเคี้ยวหล่อเลี้ยงพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตไปทั่วเกาะ ก่อนจะทอดตัวลงสู่ทะเล

เกาะยาวใหญ่

แม้จะอยู่กลางทะเล แต่เกาะยาวใหญ่ไม่เคยขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ไม่ต้องกระเสือกกระสนไปซื้อน้ำต่างถิ่น เพราะชาวเกาะยาวใหญ่ใช้น้ำจากการประปาภูเขา จากลำธารหลายสิบสายที่มีการทำฝายน้ำล้น การประปาภูเขานี้ มีค่าธรรมเนียมแค่เดือนละ 20 บาทเท่านั้น

“ชาวเกาะยาวใหญ่รักและหวงแหนผืนป่าชุมชน แหล่งต้นน้ำมาก แม้ไม่มีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ชาวบ้านทุกคน ทุกเรือกสวน ที่มีอาณาบริเวณต่อเนื่องกับป่า จะมีความรู้สึกเหมือนตนเองเป็นผู้รับผิดชอบ ดูแลความเรียบร้อยของเขตแดนป่าบริเวณนั้น” บังยา-ดุสิทธิ์ ทองเกิด ชาวชุมชนท้องถิ่นผู้เป็นเหมือนครูอีกคนของทริปเอ่ยขึ้น เมื่อเราถามถึงความผูกพันที่ชาวทะเลมีต่อป่าเขาบนเกาะ

เกาะยาวใหญ่

เกาะยาวใหญ่

จากลำธารบนภูเขาสูงสู่มหาสมุทรกว้างใหญ่ บริเวณปากแม่น้ำซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างน้ำจืดจากภูเขาและน้ำเค็มจากทะเลแบบนี้ คือที่ๆ เราจะพบระบบนิเวศป่าชายเลน

ป่าชายเลนมีคุณค่าตามธรรมชาติทำหน้าที่ในการดักตะกอนและสะสมแร่ธาตุสารอาหารจากที่ราบบนแผ่นดิน ตะกอนเหล่านี้มีประโยชน์มหาศาลต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ในพื้นที่ป่าชายเลน ใบไม้ที่เน่าเปื่อยอยู่ใต้น้ำเป็นอาหารของแบคทีเรียและแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของสัตว์น้ำวัยอ่อน

เกาะยาวใหญ่

เราสามารถพบเห็นพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดได้ในป่าชายเลน โดยเฉพาะต้นโกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่โดดเด่น พบเห็นได้ง่าย และคนส่วนใหญ่รู้จัก รากของต้นโกงกางและพันธุ์ไม้ป่าชายเลนชนิดอื่นๆเรียงตัวแน่นทึบกลายเป็นหลังคาธรรมชาติที่ช่วยบังแสงอาทิตย์ และเป็นแหล่งอนุบาลและคุ้มภัยให้เหล่าสัตว์น้ำวัยอ่อน

นอกจากนี้ รากพันธุ์ไม้ป่าชายเลนยังมีโครงสร้างซับซ้อน ทั้งทำหน้าที่พยุงลำต้นและเป็นรากอากาศที่ดูดซับออกซิเจนสู่รากที่อยู่ใต้ดิน แถมยังเป็นที่แหล่งที่อยู่อาศัยของเพรียงและหอยชนิดต่างๆ อีกทั้งเป็นแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำหลากหลายชนิดอีกด้วย

เกาะยาวใหญ่

เกาะยาวใหญ่

บังอิบ-อิบร่อฮิม หยั่งทะเล ครูท้องถิ่นอีกคนของทริปเล่าให้ฟังถึงการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัสพื้นที่ป่าชายเลน โดยการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บนเกาะยาวใหญ่ นั่นคือการพายเรือคายัคและนั่งเรือหางยาวเข้าไปเพื่อชมความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน โดยไม่มีการตัดกิ่งต้นโกงกางหรือพันธุ์ไม้ชนิดใดในผืนป่าโดยเด็ดขาด นักท่องเที่ยวต้องพายช้าๆ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนสัตว์ที่อาศัยอยู่

เกาะยาวใหญ่

เราได้พายเรือคายัคสำรวจป่าชายเลนเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร ใช้เวลาเกือบสองชั่วโมง แดดข้างนอกร้อนเปรี้ยงแต่เมื่ออยู่ใต้ร่มเงาป่าชายเลน เราแทบไม่รู้สึกถึงไอแดดเลย มีแต่ความเย็นสบายสดชื่นจากน้ำและพืชพรรณโดยรอบ

เมื่อมองลอดแมกไม้ก็พบปลาตีน ปูก้ามดาบ ลิงแสม ตัวเงินตัวทอง และเมื่อแหงนหน้ามองท้องฟ้า ก็พบกับนกกระเต็น นกยางเขียว และเหยี่ยวแดง ที่บินมาทักทายเป็นระยะ

เกาะยาวใหญ่

จากป่าชายเลน เรามุ่งหน้าสู่ชายฝั่งทะเลเพื่อสำรวจระบบนิเวศป่าชายหาดและระบบนิเวศหญ้าทะเล ซึ่งถือเป็นปราการด่านแรกสู่มหาสมุทร

พี่เอ็ม-กิตติพันธุ์ ทรัพย์คูณ อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญจาก IUCN อธิบายว่า พื้นที่ป่าชายหาดเป็นรอยต่อระหว่างบนบกกับทะเล สิ่งแวดล้อมบริเวณนี้มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลเพราะได้รับอิทธิพลจากมรสุม คลื่นลม กระแสน้ำ และไอความเค็มของน้ำทะเลที่ถูกพัดเข้ามาในบริเวณป่าชายหาด

พันธุ์ไม้ป่าชายหาดทำหน้าที่ป้องกันคลื่นลมและการกัดเซาะชายฝั่ง สะสมเม็ดทรายที่ถูกคลื่นลมพัดเข้ามาบริเวณชายฝั่งทำให้เกิดเป็นสันทราย ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ

เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวใหญ่

ระหว่างเดินลัดเลาะบริเวณชายหาดลงไปในทะเล เราสังเกตเห็นสัตว์ทะเลที่แอบอยู่ตามหลืบมุมต่างๆ อย่างปูลม ปูเสฉวน และฝูงปูทหาร ที่อาศัยและหากินอยู่บนหาดทราย เคลื่อนตัวพร้อมกันนับหมื่นนับพันตัว ในช่วงที่น้ำลงเราได้เห็นสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่พบได้ในบริเวณที่เป็นดินเลนปนทรายตามแนวชายฝั่ง

เกาะยาวใหญ่

พี่เปิ้ลอธิบายต่อว่า หญ้าทะเลเป็นแหล่งสะสมและกักเก็บตะกอนที่ถูกพัดพามาจากแนวชายฝั่งและปากแม่น้ำ เต็มไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ เช่น หอยชักตีน ปลิงทะเล กั้ง และปู 

เกาะยาวใหญ่

เกาะยาวใหญ่

หญ้าทะเลมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศชายฝั่งเขตร้อนมาก เพราะมีบทบาทในการชะลอความรุนแรงของกระแสน้ำ ป้องกันการพังทลายและกัดเซาะของชายหาด เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน แหล่งอาหารที่สำคัญของเต่าทะเลและพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายาก 1 ใน 15 ชนิดของสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตอาหารและหมุนเวียนธาตุอาหารไปยังในแหล่งนิเวศใกล้เคียง

หญ้าทะเลเจริญเติบโตได้ในบริเวณที่น้ำมีความขุ่น ปริมาณตะกอนสูง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แม้ในขณะที่น้ำลงต่ำสุดในช่วงน้ำลงแนวน้ำลงต่ำสุดถึง 1 กิโลเมตร ชาวบ้านเกาะยาวใหญ่จึงมักมาคราดหอยแครงในหาดเลน และหาหอยชักตีนตามแนวหญ้าทะเล ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญที่เป็นรายได้เสริมให้กับชุมชน

การไปเกาะยาวใหญ่ครั้งนี้พวกเราได้ร่วมกันปล่อยลูกหอยชักตีนลงสู่ท้องทะเล ลูกหอยตัวเล็กจิ๋วใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะเติบโตจนได้ขนาดพอเหมาะที่ชาวบ้านสามารถจับไปเป็นอาหารได้ และต้องระมัดระวังเป็นพิเศษไม่เก็บลูกหอยไปก่อนเวลาที่พวกมันเติบโตเต็มที่ เพื่อรักษาสมดุลประชากรของหอยชักตีนในธรรมชาติไว้

เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวใหญ่

02 จับปลายังไงให้ยั่งยืน

“ทะเลเป็นเหมือนตู้เย็นของชาวบ้าน เราไม่มีอะไรกินเราก็มาหาในทะเล” จ๊ะดำ-กานดา โต๊ะไม สมาชิกสภาเทศบาล หมู่ 3 ตำบลเกาะยาวใหญ่ ผู้หวงแหนและตั้งใจอนุรักษ์ท้องถิ่นไว้เอ่ยขึ้น เราพยักหน้าเห็นด้วย เพราะท้องทะเลของเกาะยาวใหญ่นั้นยังอุดมสมบูรณ์ เดินลงทะเลไปแค่ไม่กี่สิบเมตรก็สามารถหาวัตถุดิบสดจากท้องทะเลมาปรุงอาหารใต้อร่อยๆ ได้แล้ว

เกาะยาวใหญ่

ช่วงบ่ายของวันนั้น เราได้ลองสวมวิญญาณเป็นชาวประมงพื้นบ้าน เยี่ยมชมกระชังเลี้ยงปลาบริเวณใกล้ชายฝั่ง ทดลองจับสัตว์ทะเลด้วยวิธีอย่างการยั่งยืน โดยลองตกเบ็ดปลาทรายด้วยไม้ระกำ ไม้ระกำมีข้อดีคือน้ำหนักเบา หาง่ายในชุมชน ด้วยความที่เนื้อไม้เบาทำให้เราสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนเวลาปลาตอดเหยื่อได้ง่าย เหยื่อที่ใช้ก็คือไส้เดือนทะเลที่ฝังตัวอยู่ในดินเลนบริเวณนั้น

เหมือนจะง่าย แต่พอทดลองจริงปรากฏว่ายากกว่าที่คิด หลังพวกเราชาวทริปพยายามอยู่ครู่ใหญ่ ในที่สุดเราก็ตกปลาทรายได้ เรียกเสียงเฮดังลั่นหาด ปลาทรายที่ตกได้ถูกนำไปทอดกระเทียมกลิ่มหอมฉุย แถมเป็นครั้งแรกของหลายคนในทริปที่ได้ชิมอาหารทะเลที่จับด้วยตัวเอง

เกาะยาวใหญ่เกาะยาวใหญ่

พื้นที่เกาะยาวใหญ่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีระบบนิเวศอีกหลายประเภทที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นโครงข่ายสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ 

เกาะยาวใหญ่

ค่ำวันนั้น หลังอิ่มหนำกันด้วยมื้ออาหารจากท้องทะเลฝีมือชาวบ้านแบบปักษ์ใต้แท้ๆ เราล้อมวงนั่งคุยกับ พี่ธนู แนบเนียน ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน ซึ่งเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามชวนคิดว่า ‘มหาสมุทรเป็นของใคร’ และเล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวการต่อสู้เพื่อปกปักทรัพยากรธรรมชาติและท้องทะเลเป็นที่รักของชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณอ่าวพังงา

เกาะยาวใหญ่

พี่ธนูบอกว่า เมื่อก่อนเกาะยาวใหญ่และท้องทะเลไทยมีการทำประมงอวนลากและอวนรุน การประมงประเภทนี้จะเน้นจับปลาครั้งละมากๆ โดยไถลากอวนขนาดมหึมาครูดไปกับพื้นมหาสมุทร โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับท้องทะเล ระบบนิเวศ และสัตว์น้ำหลากหลายประเภทที่อาจโดนต้อนกว้านจับไปพร้อมกันในคราวเดียว

เกาะยาวใหญ่

แต่หลังจาก พ.ศ. 2535 มีการรณรงค์เรื่องเครื่องมือประมงทำลายล้างจำพวกนั้น ด้วยการดูแลของหน่วยงานภาครัฐและการผลักดันของชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งมารวมตัวกันทั่วภาคใต้ ทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทยเพื่อผลักให้เครื่องมือทำลายทางการประมงเหล่านี้ออกไปจากเขตน้ำตื้นในระยะ 3,000 เมตร  

25 ปีหลังจากมีการรณรงค์ ตอนนี้เกาะยาวใหญ่ไม่มีการประมงประเภทนั้นอีก เพราะชาวบ้านรู้ดีว่าเป็นการประมงที่ทำลายสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลอย่างร้ายแรง หากเราคิดว่ามหาสมุทรนี้เป็นของเรา ก็เป็นหน้าที่ของเรา ไม่ใช่ของใคร ซึ่งเราทุกคนจะต้องปกป้องผืนมหาสมุทรแห่งนี้

เกาะยาวใหญ่

บังสอม-ถาวร คงบำรุง และ ผู้ใหญ่ดำ-ประวิทย์ งานแข็ง ช่วยอธิบายเพิ่มว่า การประมงหลักของชาวบ้านทุกวันนี้จะเป็นการวางอวนกุ้งแชบ๊วย อวนปลา และเบ็ดราว ซึ่งมีวิธีการแตกต่างจากอวนลากหรืออวนรุนโดยสิ้นเชิง การประมงที่ชาวบ้านเลือกใช้ไม่ทำลายทรัพยากรทางทะเล แต่เน้นอยู่อย่างพึ่งพิงอิงอาศัยกับธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังมีกระชังเลี้ยงปลาที่ลอยอยู่นอกชายฝั่ง ถือเป็นอาชีพเสริมรายได้ของพี่น้องชาวประมงจากการเลี้ยงปลาเก๋า ปลากะพง ในสภาวะแวดล้อมแบบธรรมชาติ โดยสัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชังจะจับสัตว์น้ำและแพลงก์ตอนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นๆ เป็นอาหาร

เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวใหญ่

การจับปลาของชาวบ้านมีกฎระเบียบเคร่งครัดชัดเจนที่รู้กันดีทั่วทั้งเกาะ คือทำการประมงพื้นบ้านแบบไม่ทำลายล้าง ไม่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ขนาดยังไม่โตเต็มที่ เป็นการประมงพื้นบ้านบริเวณชายฝั่งที่ช่วยดูแลรักษาทรัพยากรให้ยังคงอุดมสมบูรณ์ต่อไปให้ลูกหลาน เรียกว่าเป็นอาหารทะเลออร์แกนิกหรืออาหารทะเลยั่งยืน เพราะสัตว์ทะเลถูกจับมาด้วยความใส่ใจรับผิดชอบ และเป็นมาตรฐานในการประมงที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ

ทุกวันนี้ชาวบ้านในแต่ละครัวเรือนจะมีอย่างน้อย 3 อาชีพ คือทำประมง ทำสวนยางพารา ทำสวนผลไม้จำพวกมะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ และทำนาข้าว เป็นวิถีของคนเกาะยาวที่ประกอบอาชีพหมุนเวียนตามฤดูกลาง ช่วงมรสุม ชาวบ้านออกทะเลไปหาปลาไม่ได้ก็มากรีดยางพารา พอช่วงยางพาราผลัดใบก็ออกไปจับปลา

เกาะยาวใหญ่

03 ข้ามทะเลมาทำความเข้าใจพลาสติก

บนเกาะยาวใหญ่ นอกจากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ อีกสิ่งหนึ่งที่เราค้นพบและมีจำนวนมหาศาลคือ ‘ขยะ’

บ่ายวันต่อมาทุกคนในทริป มาหาสมุทรช่วยกันเก็บขยะบนชายหาดโละวัก บนเกาะยาวใหญ่ ใช้เวลาเพียง 30 นาที เราเก็บขยะพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม เศษผ้า อุปกรณ์ประมง และรองเท้าแตะได้ถึง 161.6 กิโลกรัม

คุณคิดว่าขยะในทะเลที่ลอยอยู่ในผืนน้ำและถูกคลื่นพัดเข้ามาบริเวณชายฝั่ง กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ธรรมชาติ มันส่งผลเสียอะไรอีกบ้าง นอกเหนือจากสร้างความรกหูรกตาให้กับทัศนียภาพที่งดงาม ทำให้สัตว์ทะเลและนกที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งตายเป็นจำนวนมากเนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหาร

เกาะยาวใหญ่

คำตอบหลากหลายจากเพื่อนร่วมทริปที่เราได้ฟังน่าวิตกกังวลกว่าที่คิด อย่างแรกคือการเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค เพราะขยะก็ไม่ใช่ขยะประเภทเดียว มันมีเศษอาหารหมักหมมรวมกันกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค 

และเมื่อขยะพลาสติกแตกตัวเล็กลงเรื่อยๆ หลังถูกปล่อยออกสู่ธรรมชาติ มันจะค่อยๆสลายตัวเปลี่ยนเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งหมายถึงพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรจนถึงขนาดที่สายตามองไม่เห็น และยังคงคุณสมบัติความเป็นพลาสติกอยู่ครบถ้วนทุกประการแม้ขนาดจะเล็กลงก็ตาม 

เกาะยาวใหญ่

โลกหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ผู้คนใช้ชีวิตอย่างรีบเร่งเพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยี ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย และพลาสติกคือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ชีวิตมนุษย์สะดวกสบายขึ้น พลาสติกจึงไม่ใช่ตัวร้ายที่ทำลายโลกใบนี้ แต่เราต้องมีระบบการจัดการกับขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี จะช่วยยืดอายุการใช้งานและลดปริมาณขยะที่จะปนเปื้อนสู่ธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

เกาะยาวใหญ่

ทุกวันนี้พบขยะในทะเลจำนวนมหาศาล 80เป็นขยะที่เกิดจากกิจกรรมบนบก และ 20มาจากกิจกรรมทางทะเล ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี 2560 พบว่าเฉพาะขยะจากจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดมีปริมาณถึง 11 ล้านตัน

โดย 14% หรือ 1.5 ล้านตันต่อปีถูกนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง 12% ของขยะที่ไม่ถูกจัดการอย่างถูกต้องเป็นขยะพลาสติก ซึ่งมีปริมาณสูงถึง 185,000 ตันต่อปี และมีสถิติที่น่าตกใจคือ 10 – 15% เป็นขยะพลาสติกที่เล็ดลอดลงสู่ทะเล หรือประมาณ 18,000 – 27,000 ตันต่อปี

และหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ปริมาณขยะในประเทศไทยในปี 2560 มีปริมาณมากถึง 27 ล้านตัน หากเทียบจำนวนประชากรกับประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ นับว่าเราสร้างรอยเท้าขนาดใหญ่มหึมาให้กับระบบนิเวศ 

ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรกับเราบ้าง?

เหตุผลที่เราข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงเกาะยาวใหญ่ ไม่ใช่เพียงเพื่อมาเก็บขยะ แต่เราอยากสร้าง ‘ความเข้าใจ’ เพื่อนำไปสู่ ‘แรงบันดาลใจ’ ในการช่วยกันแก้ไขปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมนี้อย่างถูกจุด

เกาะยาวใหญ่

กระป๋องโลหะที่ดูเหมือนเป็นวัสดุชิ้นเดียว จริงๆ แล้วประกอบไปด้วยชิ้นส่วนหลากหลายประเภท ห่วงเปิดกระป๋องคือโลหะชนิดหนึ่ง ตัวกระป๋องก็อีกชนิดหนึ่ง แม้แต่ขวดน้ำที่เราดื่มกันทุกวันนี้ ฝาขวด ตัวขวด พลาสติกหุ้มฝาขวด หรือฉลาก ล้วนเป็นพลาสติกคนละชนิดกัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถนำไปเข้าสู่กระบวนรีไซเคิลรวมกันได้

ดังนั้น การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีตามประเภทที่แท้จริง จึงเป็นวิธีแก้ปัญหาจากต้นทางที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุดแล้วในวันนี้ ขยะจะไม่ลอยข้ามมหาสมุทรมาไกลแสนไกลจนถึงหาดที่เรายืนอยู่นี้ เราทุกคนจะมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะบนโลกใบนี้จากที่ใดก็ได้แม้แต่บ้านของเราเอง

ชาวบ้านหอบหิ้วปลาที่เพิ่งตกได้สดๆ ใหม่ๆ จากท้องทะเลมาปิ้งกินกันบริเวณชายหาดที่เรากำลังเก็บขยะกันอยู่ สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของเกาะแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่น่ากังวลคือเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าปลาจากท้องทะเลที่เรากินทุกวันนี้ พวกมันกลืนกินไมโครพลาสติกเข้าไปหรือเปล่า

เกาะยาวใหญ่

เกาะยาวใหญ่

ทั้งมนุษย์และสัตว์ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในธรรมชาติจากขยะพลาสติกที่เราทิ้ง สุดท้ายผลกระทบเหล่านั้นก็จะวนกลับมาสู่มนุษย์ เพราะทุกชีวิตในห่วงโซ่อาหารตั้งแต่จุลินทรีย์ แพลงก์ตอน ไปจนถึง กุ้ง หอย ปู ปลา และมนุษย์ ล้วนเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายชีวิตขนาดใหญ่

เกาะยาวใหญ่

04 แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง

หลักคิดสากลการจัดการขยะที่ถูกต้องเริ่มจากการใช้น้อย ใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Reduce Reuse Recycle ซึ่งการจะทำให้เกิดการจัดการเหล่านั้นได้ ต้องเริ่มมาจากการคัดแยกขยะก่อนอย่างที่เราบอกไปข้างต้น

ทันทีที่คุณอ่านบทความนี้จบ และมีแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาแยกขยะแบบเดียวกับพวกเราชาวทริป ‘มาหาสมุทร’ สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือเริ่มต้นแยกวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ออกจากขยะเศษอาหารอย่างเด็ดขาด

เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม และกระดาษ ซึ่งถ้าเปียกน้ำหรือปนกับเศษอาหารก็จะไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เลย หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงจนเกินไป ลองมองหาร้านรับซื้อวัสดุรีไซเคิลใกล้บ้านที่คุณจะสามารถนำวัสดุเหล่านั้นไปส่งต่อเพื่อจัดการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีต่อไป 

เกาะยาวใหญ่

บนหาดที่พวกเรายืนอยู่นี้เต็มไปด้วยขยะมากมายหลายประเภท พี่เปิ้ลค่อยๆ อธิบายวิธีการจำแนกขยะอย่างง่าย จำกลับไปจำแนกที่บ้านได้อย่างแน่นอนว่า

‘พลาสติก’ มี 2 ประเภท คือพลาสติกแบบใสและพลาสติกแบบขุ่น ขวดพลาสติกทึบมีสีอย่างขวดน้ำยาปรับผ้านุ่ม ขวดน้ำมันเครื่อง ล้วนอยู่ในจำพวกพลาสติกแบบขุ่น เสื้อ ‘มาหาสมุทร’ ที่ทุกคนใส่อยู่วันนั้นก็มาจากการรีไซเคิลขวดพลาสติกแบบใสหรือ PET ออกมาเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกฉีดสีทุกชนิดที่เราใช้งานอยู่ทุกวันนี้ อย่างกะละมัง เก้าอี้ ต่างมีวัสดุตั้งต้นเป็นพลาสติกที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลมาแล้วทั้งสิ้น

เกาะยาวใหญ่

ฝาขวดน้ำ ฝาขวดนม ไปจนถึงหลอดพลาสติก หลอดชานมไข่มุก คือพลาสติกประเภทเดียวกับขวดขุ่น ซึ่งยากต่อการจัดเก็บ จึงเล็ดรอดไปสู่ทะเล มหาสมุทร ได้ง่าย

บนหาดเรายังเจอโฟมจำนวนมาก ตั้งแต่ชิ้นใหญ่ไปจนถึงเล็ก โฟมบอร์ดที่ยังคงสภาพดี สามารถนำมารีไซเคิลกลับเป็นโฟมแผ่นใหม่ได้ไม่ยากเย็นนัก แต่โฟมที่แช่น้ำทะเลจนเปื่อยยุ่ยกลายเป็นเศษชิ้นเล็กชิ้นน้อยแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำกลับมารีไซเคิล

หนังยางที่ใช้รัดถุงแกงเราสามารถนำกลับมาใช้ได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทุกครั้งที่ได้รับมาใหม่ ล้างทำความสะอาดแล้วเก็บไว้ใช้ หรือถ้ามีจำนวนมากเก็บสะสมไว้ที่บ้านอยู่แล้ว ลองนำไปให้แม่ค้าร้านข้าวแกงแถวบ้านใช้ต่อ เราเชื่อว่าแหล่าแม่ค้ายินดีรับน้ำใจที่จะช่วยโลกใบนี้อย่างแน่นอน

เกาะยาวใหญ่

เกาะยาวใหญ่

บรรจุภัณฑ์ประเภท ‘แก้ว’ มี 2 ประเภท คือแก้วสีและแก้วใส

‘กระป๋อง’ เครื่องดื่มและอาหารก็มี 2 ประเภท คือกระป๋องสังกะสีและกระป๋องอะลูมิเนียม พี่เปิ้ลแอบบอกเคล็ดลับจากจำแนกอย่างง่ายว่าให้มองที่ก้นกระป๋อง กระป๋องเครื่องดื่มบางชนิดถ้าเป็นสีขาวคือกระป๋องสังกะสี แยกให้ดี เพราะมีกระบวนการรีไซเคิลแตกต่างกัน

และสุดท้ายคือ ‘กระดาษ’ 

คนบนเกาะยาวใหญ่เองก็กำลังหาทางออกที่ดีที่สุด ในการจัดการขยะแต่ละประเภทอยู่เช่นกัน ขยะอินทรีย์ไม่ใช่ปัญหาหลัก เพราะนำไปเป็นอาหารสัตว์ ฝังกลบและนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ขยะอันตรายก็มีการรวบรวมจัดเก็บโดยมีเทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่เป็นจุดรับ

เกาะยาวใหญ่

เกาะยาวใหญ่

ตอนนี้ชุมชนมีการคัดแยกขยะ เราเห็นถุงอวนตาข่ายใส่ขวดพลาสติกวางคู่กับถังขยะเป็นระยะ พี่เปิ้ลบอกว่า ขวดพลาสติกเหล่านี้ต้องขนออกจากเกาะไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นขวดพลาสติกที่สะอาด เพราะถ้ามีน้ำ เศษขยะ หรือเศษทราย อยู่ข้างใน การขนขวดเหล่านี้ออกจากเกาะไปแสนไกลสู่โรงงานรีไซเคิลจะไม่มีผลอะไรเลย เนื่องจากไม่ถูกรับซื้อ

เมื่อเราและคนรอบตัวเริ่มแยกขยะ คนในครอบครัวร่วมมือกันทำ ทุกชุมชนมีระบบการจัดการขยะที่ถูกต้องเหมาะสม มันจะทำให้ปริมาณขยะจากต้นทางไปปลายทางน้อยลง ป้องกันการเล็ดรอดของขยะเหล่านั้นลงสู่ท้องทะเล และสารพิษปนเปื้อนเหล่านั้นก็จะไม่ย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์

เกาะยาวใหญ่

05 ในน้ำมีปลา ในอาหารมีชีวิต

ค่ำคืนสุดท้ายบนเกาะยาวใหญ่ เรานั่งลงเรียนรู้เรื่องทะเลผ่าน ‘ความรู้กินได้’ ในสไตล์ Chef’s Table

เกาะยาวใหญ่

หัวหน้าทีมมื้อนี้คือ อุ้ม-คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ แห่งร้านตรัง โคอิ เชฟอุ้มไปเลือกสรรวัตถุดิบจากท้องทะเลด้วยตัวเอง เป็นวัตถุดิบท้องถิ่นที่หยิบมาพลิกแพลงด้วยวิธีการปรุงที่หลากหลาย จนกลายเป็นเซ็ตอาหารมื้อค่ำสุดพิเศษที่น่าสนใจทั้งรสชาติและเรื่องราว

เกาะยาวใหญ่

เริ่มจาก Welcome Drink เครื่องดื่มล้างรสชาติที่ติดค้างอยู่ในปากเรามาตลอดทั้งวัน ก่อนจะเข้าสู่เมนูอาหาร อย่าง Mojito มะพร้าวอ่อน รสชาติกลมกล่อมที่ให้ความสดชื่นตั้งแต่จิบแรกมาจากการผสมกันของน้ำมะพร้าวอ่อน, น้ำตะไคร้ และน้ำดอกดาหลา ซึ่งเป็นไม้ดอกท้องถิ่นทางภาคใต้ชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมปลูก เพราะดอกจากความสวยงามแล้ว สามารถนำหน่ออ่อนและดอกมาใช้ประกอบอาหารได้

เกาะยาวใหญ่

ตามมาด้วยหอยนางรม ท็อปด้วยซอร์เบต์ดอกดาหลาและผิวมะนาว เชฟอุ้มอธิบายว่า เสน่ห์ของหอยนางรมคือความหวาน ดังนั้น ควรรับประทานสดเพื่อคงรสชาติวัตถุดิบเอาไว้ให้มากที่สุด ความเปรี้ยวของดอกดาหลาและความฝาดเล็กๆ ของผิวมะนาว เข้ากันได้ดีมากกับผิวสัมผัสหนึบหนับของหอยนางรมสด

เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวใหญ่

อีกจานที่พิเศษมากคือ เมนูหอยชักตีนซอสตะไคร้ ลูกหอยชักตีนที่พวกเรามีโอกาสปล่อยลงสู่ท้องทะเลเมื่อวันก่อน หลายเดือนต่อมาจะเติบโตเต็มวัยและสามารถจับมาปรุงอาหารได้ โดยไม่เสียสมดุลประชากรของหอยชักตีนตามธรรมชาติ ซอสตะไคร้รสชาติหวานมันเพราะมีส่วนผสมของมะม่วงหิมพานต์ พืชยืนต้นที่ชาวบ้านบนเกาะยาวใหญ่นิยมปลูกเป็นอาชีพเสริม

เกาะยาวใหญ่

เนื้อปลาเก๋าชิ้นโตเสิร์ฟพร้อมอาจาดแตงกวาที่ดองในน้ำส้มสายชูจากสับปะรด ผลไม้พื้นเมืองของจังหวัดภูเก็ต

เชฟอุ้มเล่าว่า ทุกเมนูที่ตั้งใจปรุงในคืนนี้จะมีรสชาติอมเปรี้ยว เพราะวัตถุดิบหลักคือสัตว์ทะเลซึ่งมีความหวานและกลิ่นเฉพาะตัว รสเปรี้ยวจะช่วยกลบกลิ่นคาวและลดความเลี่ยน รวมถึงช่วยลดอุณหภูมิและความชื้นในร่างกาย เพราะภาคใต้มีสภาพอากาศร้อนชื้น

เกาะยาวใหญ่

ไอศครีมกะทิสดเสิร์ฟพร้อมขนมบ้าบิ่น ขนมพื้นถิ่นขึ้นชื่อของเกาะยาวใหญ่ เชฟอุ้มตั้งใจโรยหน้าด้วยเนื้อมะพร้าวและลูกหยี ผลไม้พื้นเมืองอีกชนิดของภาคใต้ เพื่อบาลานซ์ให้ขนมหวานจานนี้มีรสชาติอมเปรี้ยว

เนื้อมะพร้าวที่ใช้ในเมนูนี้เป็นลูกเดียวกับน้ำมะพร้าวที่ใช้ทำ Welcome Drink ด้วย ถือเป็นการทำอาหารแบบ Zero-waste ไม่มีวัตถุดิบเหลือใช้ และขอบอกเลยว่าอร่อยมาก

เชฟอุ้มกล่าวทิ้งท้ายก่อนจะปล่อยให้เราเพลิดเพลินกับอาหารและบรรยากาศดีต่อใจว่า “ชีวภาพทางทะเล ถ้ามันมีความสมบูรณ์ สุดท้ายมันก็มีความสมบูรณ์ คืนชีวิตชีวาให้เรา ถ้าเขามีชีวิตที่ดี เราก็จะมีชีวิตที่ดี มาเที่ยวทะเลก็อย่าทำลายเขา แล้วเขาก็จะไม่ทำร้ายเราเหมือนกัน”

06 สองมือเล็กๆ ของเรา

ตลอดทั้งทริป ‘มาหาสมุทร’ เราได้พบเรื่องราวน่าทึ่งมากมายของธรรมชาติยิ่งใหญ่ที่โอบกอดมนุษย์ตัวเล็กๆ เอาไว้ และในขณะเดียวกัน เราก็ได้สัมผัสกับปัญหา ‘ขยะพลาสติก’ ปัญหาระดับโลกที่เกิดขึ้นจากสองมือเล็กๆ ของมนุษย์

ดังนั้น หนทางแก้ไขจึงต้องมาจากสองมือของทุกคน ไม่ใช่แค่ใครหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง 

พี่ธนูบอกว่า การดูแลมหาสมุทรก็เหมือนการดูแลรักษาบ้านของพวกเรา ท้องทะเลไม่มีเขตกั้น ไม่ว่าจะเป็นคนเกาะยาว คนภูเก็ต คนพังงา คนกรุงเทพฯ คนเชียงใหม่ คนขอนแก่น ถ้าเราคิดว่าทะเลเป็นของเรา เราจะช่วยกันทะนุถนอม ดูแลรักษา และปกป้อง บ้านของเรา

เกาะยาวใหญ่

เกาะยาวใหญ่

ทุกครั้งที่เราปฏิเสธการรับหลอดหรือถุงพลาสติก แยกขยะเพื่อนำขวดพลาสติกไปรีไซเคิล หรือพยายามใช้ถุงพลาสติกซ้ำแทนการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ก็ถือเป็นการร่วมแก้ปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มต้นที่ตัวเองแล้ว

พี่เปิ้ลเล่าว่า ที่เกาะยาวใหญ่ทุกคนได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะ จากที่ไม่เคยพูดคุยกัน ตอนนี้ชุมชนหันมาร่วมมือกัน เทศบาลลุกขึ้นมาจริงจังกับเรื่องนี้ ตอนนี้ IUCN ร่วมมือกับภาคเอกชนในการเข้ามาสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นด้านการบริหารจัดการขยะ

เกาะยาวใหญ่

ภาคเอกชนที่ว่าคือ โคคา-โคลาประเทศไทย ได้ประกาศวิสัยทัศน์ระดับโลก World without Waste เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าตามเก็บบรรจุภัณฑ์ของโคคา-โคลา และใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลไม่น้อยกว่า 50% ภายในปี 2573 พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568 และประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่สะอาดปราศจากขยะมูลฝอยทั้งบนพื้นดินและในทะเล

โคคาโคลา ตั้งใจแก้ไขปัญหา ‘ขยะพลาสติก’ โดยเริ่มจากการทำงานวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องของ ‘ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน’ ในการทำความเข้าใจกับปัญหาขยะในประเทศ และระบบจัดการบริหารขยะปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง

เป็นงานวิจัยที่ว่าด้วยเรื่องการศึกษาวิเคราะห์เส้นทางของบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติกและกระป๋องอะลูมิเนียมในประเทศไทย (Material Flow Analysis) เริ่มตั้งแต่การผลิต และเมื่อถูกส่งต่อไปถึงมือผู้บริโภคแล้วมันเดินทางไปที่ไหนต่อ ทำการศึกษาเพื่อจะได้รู้ที่อยู่ของปัญหา และตามไปแก้ไขจัดการให้ถูกจุด

เกาะยาวใหญ่

ตอนนี้โคคา-โคลา IUCN และชุมชนบนเกาะยาวใหญ่ กำลังร่วมมือกันเสริมสร้างความตระหนัก และพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการขยะในชุมชนบนพื้นที่เกาะยาวใหญ่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รวมถึงสนับสนุนการจัดการกิจกรรมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้บุคคลภายนอกได้รับทราบถึงความพยายามของคนในชุมชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะในระดับชุมชน

เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมระดับบุคคล และการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านการจัดการขยะพลาสติกทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศต่อไป

เกาะยาวใหญ่

พี่เอ็ด-นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร โคคา-โคลา ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ในการผลิตเครื่องดื่มให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างปลอดภัย และถูกสุขอนามัย โค้กจำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกด้วยนอกเหนือจากขวดแก้วและกระป๋องอะลูมิเนียม

โค้กตระหนักดีว่าบรรจุภัณฑ์พวกนี้ ถ้าไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม คนทิ้งไปแล้วไม่ได้มีการจัดการแยกขยะเพื่อนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิล มันก็จะกลายเป็นขยะที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะอยู่ในหลุมฝังกลบ หรือแม้แต่การเล็ดลอดไปสู่ลำคลอง แม่น้ำ และในที่สุดในท้องทะเลที่เห็นกับตาในทริปครั้งนี้

จึงเป็นที่มาของโครงการสร้างความตระหนักด้านการจัดการขยะในชุมชมบนเกาะยาวใหญ่ และทริป มาหาสมุทรในครั้งนี้ เพราะโค้กรู้ดีว่าไม่เฉพาะชุมชนริมทะเลเท่านั้นที่ต้องจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร แต่คนต้นทางผู้ผลิตขยะจำนวนมหาศาลจากในเมืองอย่างพวกเราด้วย ที่จะต้องร่วมไม้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ไปได้อย่างยั่งยืน

ทริป ‘มาหาสมุทร’ ประกอบด้วยคนหลากหลาย ตั้งแต่นักศึกษา นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม ผู้ดูแลโรงงานแหอวน จนถึงเจ้าของร้านน้ำยาแบ่งขาย ทุกคนมีพื้นเพที่ต่างกัน และก็มีความคาดหวังที่หอบหิ้วข้ามน้ำข้ามทะเลมาต่างกันด้วย 

แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันหลังจากที่เราร่วมทำความรู้จักทะเลอย่างใกล้ชิดมาตลอดทั้งทริป นั่นคือ ‘ความเข้าใจ’ ที่นำไปสู่ ‘แรงบันดาลใจ’ ในการเห็นปัญหาขยะพลาสติกในท้องทะเลได้รับการแก้ไข

ประสบการณ์และการเรียนรู้ที่เราได้รับบนเกาะยาวใหญ่ อาจเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ของคนไม่กี่สิบคน แต่เราเชื่อมั่นว่าจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้จะค่อยๆ ขยายวงกว้างออกไปยังคนอีกมากมายในสังคมและกลายเป็นพลังที่ขับเคลื่อนให้โลกใบนี้ดีขึ้นกว่าเดิม

เกาะยาวใหญ่

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล