Margot Daris เดินมาที่โต๊ะพร้อมรอยยิ้มและจานผัดผัก (เธอกินมังสวิรัติ) เราอยู่ในโรงอาหารของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เธอดูมีพลังเต็มเปี่ยม

ส่วนเรา เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า และกำลังอัดน้ำอัดลมอย่างไม่คิดชีวิต หลังผ่านศึกสงครามจราจร ปั่นจักรยานฝ่าย่านพร้อมพงษ์ช่วง 5 โมงเย็น 

Margot (ออกเสียงว่า มา-โก้) ยังต่อให้ด้วยการปั่นจักรยานแม่บ้านแบบดัตช์แท้ ๆ ที่ต้องเบรกด้วยการปั่นถอยหลัง เธอปั่นในซอยเล็ก ๆ ย่านสุขุมวิทคล่องกว่าพวกเราหลายเท่า

มาร์โก้ทำงานที่ Dutch Cycling Embassy องค์กรที่ช่วยให้คำปรึกษากับเมืองทั่วโลกที่อยากปรับให้เป็นมิตรกับการใช้จักรยาน 

ดูเหมือนว่า ถ้าไม่รักจักรยาน คงทำงานนี้ไม่ได้ แต่มาร์โก้บอกว่าความจริงนั้นตรงกันข้าม

“ฉันว่าถ้าคุณถามคนเนเธอร์แลนด์ว่ารักจักรยานมั้ย ส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่นะ เพราะมันคือเรื่องปกติในชีวิต เราใช้จักรยานเพราะสะดวก เร็ว ไม่แพง เราปั่นเพราะทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น

“เป้าหมายของฉันไม่ใช่การอยากให้ทุกคนหันมาขี่จักรยาน เป้าหมายคือการสร้างเมืองให้อยู่ดี อากาศดี ไม่มีมลภาวะทางเสียง นั่นคือสิ่งที่ฉันต้องการ 

“และฉันคิดว่าจักรยานคือเครื่องมือที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายนั้น”

สุขุมวิทในสายตาชาวดัตช์

3 ชั่วโมงก่อนหน้า เราพบกันครั้งแรกที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

เหตุผลที่เราได้มาเจอกัน ต้องย้อนกลับไปปี 2022 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีโอกาสได้พบกับ Remco van Wijngaarden เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย มีการหารือเพื่อนำความรู้เกี่ยวกับเมืองของเนเธอร์แลนด์มาปรับใช้กับกรุงเทพฯ หนึ่งในนั้นคือเรื่องจักรยาน ซึ่งเป็นหัวข้อที่กรุงเทพฯ อยากทำมานาน แต่ยังไม่สำเร็จ

นั่นคือเหตุผลที่มาร์โก้ได้รับเชิญให้มาที่ประเทศไทย Dutch Cycling Embassy เป็นองค์กรที่ช่วยเมืองทำเรื่องจักรยานได้ดีและถูกต้อง เชื่อมโยงกับรัฐบาลและเอกชน ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคมทุกปี ถ้ามีเมืองไหนที่ต้องการให้เนเธอร์แลนด์ช่วยให้คำปรึกษาเรื่องจักรยาน เรื่องจะถูกส่งมาที่ Dutch Cycling Embassy นี่คืองานหลักของที่นี่

ปี 2023 มาร์โก้เดินทางไป 9 ประเทศ เมื่อมาถึง สิ่งแรกที่เธอทำคือขอปั่นจักรยานในเมืองร่วมกับชมรมจักรยานท้องถิ่น 

ถ้าจะทำเรื่องจักรยาน ก็ต้องมาลองปั่น เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว

กลุ่มวันนี้นำทีมโดย ‘ปั่นต่อ’ กลุ่มคนใช้จักรยานที่ทำงานร่วมกับกรุงเทพฯ ในเรื่องการทำเมืองให้น่าอยู่ และ Cafe’ Velodome คาเฟ่ที่ส่งเสริมให้คนใช้จักรยานร่วมทศวรรษ

เราออกจากสถานทูตฝั่งถนนวิทยุ ลัดเลาะเข้าตรอกซอกซอย ไปโผล่ที่ มศว ประสานมิตร ทะลุทางลัดย่านวัฒนาที่เต็มไปด้วยโรงแรมและร้านอาหารสำหรับชาวต่างชาติ ไม่นานเราก็มาอยู่ด้านหน้าห้างสรรพสินค้า EMSPHERE สังเกตวิถีชีวิตชาวสุขุมวิทยามชั่วโมงเร่งด่วน จากนั้นก็ลัดเลาะเข้าสวนเบญจกิติ ข้ามสะพานเขียวไปถึงสวนลุมพินี ก่อนจะหยุดพักกินข้าวที่โรงอาหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มาร์โก้สนุกกับกรุงเทพฯ ตั้งใจสังเกตวิธีการใช้ถนนของคนเมือง ช่วงพูดคุยระหว่างหยุดพัก เราพบว่าเธอมีมุมมองต่อจักรยานแตกต่างจากคนใช้จักรยานชาวไทยไม่น้อย

ตัวอย่างเช่น นักปั่นที่เคยใช้สะพานเขียวคงจำทางชัน ๆ ที่อยู่ระหว่างเส้นทางเลียบคลองไผ่สิงโต และทางลงสะพานบริเวณสวนลุมพินีได้ ทางออกของคนทำโครงสร้าง คือการทำทางลาดเล็ก ๆ คู่กับบันได ให้คนใช้ลากจักรยานขึ้นลง

มาร์โก้มองว่าทางชันขนาดนี้เนเธอร์แลนด์ก็มี แต่พวกเขาใช้ลิฟต์แทนทางลาด เพื่อให้คนใช้งานสะดวกที่สุด

เพราะไม่ได้มองจักรยานเป็นศูนย์กลาง แต่พุ่งเป้าไปที่ทำให้คนใช้ชีวิตง่ายที่สุด สะดวกที่สุด แนวคิดของที่ปรึกษาเมืองจักรยานคนนี้จึงแตกต่างอย่างชัดเจน

อีกข้อที่เธอบอก คือทางจักรยานที่นักปั่นใฝ่ฝันไม่จำเป็นต้องตีคู่ไปกับถนนสำหรับรถยนต์ ถ้าเราอยากให้คนเคลื่อนที่จากจุด A ไป B ให้เร็วที่สุด เราจินตนาการเส้นทางให้ต่างจากการใช้รถได้ 

เมืองจักรยานทั่วโลกใฝ่ฝันการสร้างทางแบบมีโครงสร้างป้องกัน เรียกว่า Protected Bike Lanes มาร์โก้บอกว่าไม่จำเป็นกับทุกสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับว่าเราเอาคนใช้จักรยานปั่นคู่กับรถยนต์หรือเปล่า ถ้าใช่ หากรถยนต์วิ่งช้า ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างทาง ถ้ารถเร็ว ถึงค่อยคิดการหาโครงสร้างมาป้องกันระหว่างจักรยานกับรถ ลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 

กรุงเทพฯ มักสร้างถนนขนาดใหญ่ตัดฝ่าใจกลางเมือง ทางออกของการใช้จักรยานในเมืองคือการใช้ทางลัดตามซอยต่าง ๆ มาร์โก้บอกว่านอกจากรถน้อยกว่า ปั่นในซอยแบบนี้อากาศยังดีกว่า เย็นกว่าด้วยราว 2 – 3 องศาเซลเซียส เพราะไม่ต้องปั่นคู่กับรถยนต์

ตอนนี้หลายเมืองในเนเธอร์แลนด์บังคับให้รถยนต์ในเมืองขับไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าเขยิบออกมานอกเมืองจะอยู่ที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าเขยิบออกมาเป็นทางหลวงเชื่อมระหว่างเมืองหรือจังหวัด ความเร็วรถจะเพิ่มขึ้นอีก และจะไม่มีทางจักรยานอยู่บนเส้นนั้นแน่นอน 

ย่อหน้าข้างบนแทบจะตรงกันข้ามกับประเทศไทย มาร์โก้มองว่าสิ่งที่บ้านเราต้องการ คือวิสัยทัศน์การเมือง 

นั่นคือสิ่งที่เนเธอร์แลนด์มี และทำได้สำเร็จเมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นเรื่องหลักที่มาร์โก้กำลังสนใจอยู่ในตอนนี้

ความสำคัญของวิสัยทัศน์ทางการเมือง

หลังจากเรียนจบ มาร์โก้เริ่มทำงานที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ 

หลายงานของสถานทูตมักเกี่ยวกับเรื่องจักรยาน เธอลงไปช่วยหลายโครงการ โดยไม่เข้าใจนักว่าทำไปทำไม

จุดเปลี่ยนของมาร์โก้ คือวันหนึ่งมะนิลาเชิญทีมงานของ Dutch Cycling Embassy มาให้คำแนะนำ ในฐานะผู้ประสานงาน เธอร่วมประชุม ปั่นจักรยาน ทำเวิร์กช็อป และสัมมนาร่วม 10 วันเต็ม

ช่วงก่อนโควิด มาร์โก้กลับไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Political Science ที่เนเธอร์แลนด์ ช่วงนั้น Dutch Cycling Embassy เปิดรับสมัครงาน เธอจึงได้เบนเข็มมาทำเรื่องจักรยานเต็มตัว 

สิ่งที่ดึงดูดให้มาร์โก้หลงใหลงาน คือชุมชนผู้ใช้จักรยานในประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้เธอยังพยายามนำสิ่งที่ร่ำเรียนด้านการเมืองมาจับกับเรื่องนี้ด้วย

ช่วงท้ายของการเรียนปริญญาโท เธอพยายามหาคำตอบว่าจักรยานจะทำให้เมืองบรรลุเป้าหมายทางความยั่งยืนหรือ SDGs ได้อย่างไร 

มาร์โก้ชี้ให้เห็นว่าจักรยานช่วยเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ดีขึ้นได้อย่างไร สมมติเราปั่นจักรยานในเมือง เดินทางไม่เร็วเท่ารถยนต์ โอกาสที่เราจะเห็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านค้าดี ๆ มีเยอะกว่า รู้สึกอยากหยุดแวะมากกว่า ร้านค้าจะมีรายได้มากกว่าหากคนใช้รถยนต์น้อยลง

“เวลาอยู่บนรถ ผู้คนเคลื่อนที่กันเหมือนซอมบี้” เธอยิ้ม 

“ในเนเธอร์แลนด์ยุค 70 ตอนที่เราเริ่มสร้างเขตปลอดรถหรือ Car-free Zone กลางเมือง คนจำนวนมากต่อต้าน เพราะกลัวว่าจะเสียรายได้มหาศาล แต่ตอนนี้จุดนั้นกลายเป็นพลาซ่า มีคนเดิน มีต้นไม้ ผู้คนไปรวมตัวกันตรงนั้น กลายเป็นพลาซ่าที่มีชีวิต แทนที่จะเป็นแค่ที่จอดรถเฉย ๆ คนเมืองไม่มีใครอยากได้ที่จอดรถหรอก เพราะมันวุ่นวาย เสียงดัง อันตราย โดยเฉพาะถ้าคุณทำแบบนี้ในกรุงเทพฯ” 

หากเราเชื่อมโยงว่าจักรยานสำคัญกับเศรษฐกิจและเรื่องอื่น ๆ อย่างไร คนจะเห็นความสำคัญมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องที่อินอยู่กับกลุ่มจักรยานอย่างเดียว

อีกปัจจัยสำคัญคือเรื่องการเมือง มาร์โก้มองว่าต้องมีนักการเมืองอยู่ข้างเดียวกับคนใช้จักรยาน ซึ่งใช้เวลา ช่วงที่เนเธอร์แลนด์เริ่มทำนโยบายจักรยาน นักการเมืองก็ไม่ได้ชอบมันมากนัก เวลาจะทำอะไร บางครั้งก็ได้แค่ 1 โหวตเท่านั้น 

“ตัวอย่างหนึ่งคือเมือง Utrecht ตอนนี้เขาเรียกตัวเองว่าเป็นเมืองหลวงจักรยานโลกใช่มั้ย แต่ก่อนหน้านี้ไม่ใช่เลย กลางเมืองจะมีที่จอดรถขนาดใหญ่มากอยู่หนึ่งแห่ง คนจะขับรถมาจอดแล้วไปช้อปปิ้ง จนกระทั่งคนเริ่มเห็นว่ามีรถอยู่กลางเมืองมากเกินไป อยากเอามันออกไป

“มันเริ่มต้นที่ได้รับแค่ 1 โหวต มีคนต่อต้านเยอะมาก แต่ 50 ปีผ่านไป พวกเขาโหวตใหม่อีกครั้งในหัวข้อเดิม 99% ไม่เห็นด้วยกับการเอารถกลับเข้ามาในเมือง

“มันยากที่คนจะจินตนาการว่าพื้นที่สาธารณะใช้งานได้หลากหลาย

“บางคนคิดว่าที่จอดรถต้องมีแค่รถ มันยากที่จะจินตนาการว่าเรามีม้านั่ง ดอกไม้ โต๊ะปิกนิก หรือสิ่งต่าง ๆ ในที่จอดรถได้ ฉันคิดว่าเราจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ทางการเมืองที่จะโชว์ให้คนเห็นว่าเราต้องการทำสิ่งนี้เพราะอะไร เพราะมันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า เหตุผลไม่ใช่เพราะจะห้ามไม่ให้คุณมาจอดรถ แต่เหตุผลคือการสร้างสถานที่น่าอยู่ร่วมกัน”

ช่วงที่มาร์โก้มากรุงเทพฯ เธอใช้เวลากว่า 2 อาทิตย์ในการร่วมประชุมกับเมือง เทศบาล มหาวิทยาลัย หนึ่งในโปรแกรมของเธอ คือการร่วมกับสถานทูตจัดฉายหนังกลางแปลง Together We Cycle โดยผู้กำกับ Arne Gielen 

หนังสารคดีเรื่องนี้เฉลยว่า ช่วงเวลาก่อนที่เนเธอร์แลนด์จะเปลี่ยนเมืองให้เป็นแบบนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง พวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง 

เนื้อหาของหนังเสริมคำตอบของมาร์โก้ให้ชัดเจนขึ้น เช่น การสร้างเขตปลอดรถ หลายครั้งเริ่มจากเขตที่อยู่อาศัยก่อน ซึ่งเริ่มต้นได้ง่ายกว่า ควบคุมได้มีประสิทธิภาพกว่า

อีกปัจจัยที่ชัดเจน คือคนเนเธอร์แลนด์ต่อสู้หนักมาก กว่าจะได้เมืองแบบนี้ เราจำได้ว่าหลังดูจบ นักปั่นกรุงเทพฯ หลายคนฮึกเหิมเป็นพิเศษ จุดประกายให้พวกเขาอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนเมืองมากขึ้น

หากมองในเชิงการเมือง การสื่อสารโน้มน้าวให้นักการเมืองเห็นความสำคัญเป็นสิ่งจำเป็นมาก 

มาร์โก้แนะนำว่าเราควรเข้าใจมุมมองพื้นฐานของคนส่วนมากที่มีต่อจักรยานก่อน เช่น คนจะรู้สึกว่าขับรถยนต์ปลอดภัยกว่าการปั่นจักรยาน เพราะเวลาเกิดอุบัติเหตุก็ยังมีรถที่ปกป้องเราเอาไว้ ส่วนจักรยาน โอกาสเจ็บหนักมีมากกว่า

มองมุมนี้ สิ่งสำคัญคือต้องลดความเร็วรถยนต์ในเมืองให้ได้ ถ้าทำได้ คนจะอยากปั่นมากขึ้น อย่างน้อยที่สุด ถ้ารถวิ่ง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงชนนักปั่น โอกาสเสียชีวิตก็น้อยกว่าหากรถวิ่งเร็วกว่านี้ 

มันคงใช้เวลาหากจะทำให้ทุกคนเห็น คิด และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 

ไม่ว่านานแค่ไหน หากเรายังทำไม่หยุด โอกาสก็ยังมี

นั่นคืองานของมาร์โก้

มองไทยและโลกผ่านจักรยาน

หลังกินข้าวเสร็จ เราเดินไปที่จุดจอดจักรยานที่มัดกับที่ล็อกเป็นก้อนใหญ่ จักรยานของเราไม่มีที่ล็อก มันเลยถูกจัดอยู่ด้านในสุด 

จอดจักรยานต้องมีที่ล็อกเสมอ ที่ปรึกษาสาวชาวดัตช์ย้ำผมไว้แบบนั้น

เราปั่นกันเป็นกลุ่มไม่ถึง 10 คน แม้ไม่มาก แต่ก็อุ่นใจกว่าปั่นคนเดียว มาร์โก้บอกว่ากับกรุงเทพฯ ที่ยังใช้เวลาในการปรับเมือง การปั่นเป็นกลุ่มก็น่าสนใจ เอาไปใช้กับบริบทอื่นได้ เช่น ถ้าอยากชวนเด็กนักเรียนปั่นจักรยานในละแวกไม่ไกล การปั่นเป็นกลุ่มช่วยให้รู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้น

แต่ละเมืองมีวิธีการไม่เหมือนกัน ก่อนมากรุงเทพฯ เธอไปทำงานที่โฮจิมินห์ เมืองที่เต็มไปด้วยมอเตอร์ไซค์ และแทบไม่มีใครทำตามไฟจราจร 

ไอร์แลนด์มีกฎหมายว่าถ้าจะปรับเปลี่ยนเมือง ต้องส่งจดหมายให้ทุกคนในเมืองลงชื่อเห็นด้วยก่อนถึงจะทำได้ การลงทุนด้านจักรยานจึงใช้เวลานานกว่าเมืองอื่น 

“สิ่งที่ฉันเซอร์ไพรส์ที่สุด คือจริง ๆ กรุงเทพฯ ปั่นจักรยานได้ค่อนข้างดีเลยล่ะ เมืองค่อนข้างเรียบ นั่นทำให้มันง่ายกว่าเมืองที่มีเนิน”

การปั่นในซอยเป็นวัฒนธรรมที่ดีของเรา และจะดีกว่าถ้าระหว่างปั่นได้มองตาเจ้าของบ้านที่เราขอปั่นผ่านด้วย 

อย่างน้อยที่สุด เราจะรู้สึกเกรงใจ ปั่นช้าลง ความถ้อยทีถ้อยอาศัยจะโน้มน้าวให้คนพูดคุยกันง่ายขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น 

งานของมาร์โก้ยังไม่จบ หลังเราสัมภาษณ์เสร็จปลายปี 2023 เธอกลับไปเนเธอร์แลนด์ 

ก่อนบทความนี้จะออนไลน์ ทีมงานสถานทูตโทรมาแจ้งว่ามาร์โก้จะกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ อีกครั้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และคงจะขับเคลื่อนต่อไปตลอดปี 

มาร์โก้เชื่อว่า จะทำให้เมืองน่าอยู่ อยู่ดี มีเครื่องมือหลากหลายในการสร้างความเปลี่ยนแปลง จักรยานเป็นเพียงส่วนหนึ่ง

ไม่ว่าจะใช้เครื่องมือแบบไหน หากเราทำโดยคิดถึงคนที่เกี่ยวข้องครบทุกส่วน งานจะไปได้ดี และจะทำให้เมืองมีชีวิตในที่สุด

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)