14 พฤศจิกายน 2023
3 K

เรามีไดโนเสาร์อยู่ที่ภาคอีสาน

เรามีช้างสเตโกดอน ยุคน้ำแข็งที่โคราชและสตูล

เรามีไฮยีนาอยู่ในทุ่งหญ้าสะวันนาเมืองไทย

เรามีบิ๊กฟุตสูง 3 เมตรที่แม่ฮ่องสอน

ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ หรือ ด้อม อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แชมป์รายการ แฟนพันธุ์แท้ 2013 ตอนสัตว์ดึกดำบรรพ์ และเจ้าของเพจบรรพชีวิน Dom Paleoworld ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.8 หมื่นคน เล่าให้เราฟังเหมือนเรื่องแต่ง แต่ไม่ใช่เลย! 

เราเคยมีแพนด้ายักษ์กินไผ่อยู่ที่ชัยภูมิ มีบีเวอร์สร้างเขื่อนอยู่ที่ลำปาง มีอัลลิเกเตอร์ (ไม่ใช่จระเข้) ว่ายน้ำเล่นอยู่ในแม่น้ำมูล ฯลฯ ตัวละครเหล่านี้ไม่ได้พาเราย้อนเวลากลับไปเพียงสมัยธนบุรีหรือกรุงศรีอยุธยา แต่พาเราย้อนเวลาไปกว่า 10,000 ปี +++ 

ที่สำคัญคือสิ่งมีชีวิตทุกตัวมีอยู่จริงตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏในรูปแบบของฟอสซิลหรือซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งศึกษาโดยนักบรรพชีวินวิทยา ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์หรือสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

โดย Dom Paleoworld เป็นเพจที่ถนัดเล่าเรื่อง (โค-ตะ-ระ) โบราณให้คนปัจจุบันเห็นภาพ เสมือนได้ยืนดูกระซู่ กูปรี สมัน และแรดชวา วิ่งเล่นอยู่ตรงหน้าในสมัยที่กรุงเทพฯ ยังเป็นทุ่งหญ้า แต่ถึงอย่างนั้น การเล่าเรื่องอดีตที่ไกลตัวก็ยังมีความท้าทายให้ฝ่าฟันเสมอ 

ครั้งนี้ Page Maker จึงชวนอาจารย์ด้อมมาพูดคุยถึงการสร้างเพจที่สุดจะเฉพาะทางให้คนทั่วไปอ่านง่าย เข้าใจได้ และสนุกไปพร้อมกัน แม้คุณจะไม่ใช่เด็กสายวิทย์ก็ตาม

จุดเริ่มต้นของเนิร์ดไดโนเสาร์

ด.ช.กันตภณ ตอน 4 ขวบ ชอบเปิดดูภาพไดโนเสาร์ในหนังสือ

7 ขวบ บอกคุณพ่อคุณแม่ว่าอยากเป็นนักบรรพชีวินวิทยา หรือที่ ด.ช.ด้อม เรียกง่าย ๆ ว่า ‘นักไดโนเสาร์วิทยา’ ซึ่งในปัจจุบันเรายังมองหน้าถามกันอยู่เลยว่าบรรพชีวินวิทยาคืออะไร คำถามนี้อยู่ในใจของคุณพ่อคุณแม่เมื่อ 30 ปีก่อนเช่นกัน แต่พวกเขาเลือกช่วยหาข้อมูลเพื่อสนับสนุนลูกชายอย่างเต็มที่

ต่อมา เมื่อด้อมไปร่วมกิจกรรมของชมรมรักษ์ไดโนเสาร์ เขาจึงได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของ ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้บุกเบิกการศึกษาไดโนเสาร์ในไทย และเขายังเป็นคุณพ่อของ ดร.สุรเวช สุธีธร นักบรรพชีวินวิทยาแนวหน้าคนหนึ่งของประเทศ

จากนั้น ตอน ม.5 อาจารย์ไสว ธราภิชาตบุตร อาจารย์สอนวิชาชีววิทยาเล่าให้ด้อมฟังว่า เขาพานักเรียนไปประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ประเทศรัสเซีย และเห็นว่ามีเด็กที่นั่นเก็บฟอสซิลจากหลังบ้านมาทำงานวิจัย เขาจึงชวนด้อมไปเก็บฟอสซิลบนภูเขาที่กาญจนบุรีซึ่งเต็มไปด้วยฟอสซิลสัตว์ทะเล ด้อมส่งโครงงานประกวดและคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศของสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) โดยใช้สิ่งที่ค้นพบอธิบายว่าภูเขาลูกนี้เคยเป็นทะเลมาก่อนตั้งแต่ 300 ล้านปีที่แล้ว

เมื่อเข้าเรียนปริญญาตรีที่ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาก็ทวีความชอบไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์ขึ้นอีก เพราะได้เรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับโลก หิน แร่ และฟอสซิลโดยตรง บ่อยครั้งเขาจึงชวนเพื่อนขับรถออกไปหาฟอสซิลกันเองในต่างจังหวัด ไม่ก็เดินดูฟอสซิลที่วางขายตามตลาดนัดจตุจักรในสมัยนั้น หรือไปชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เพราะเขาหวังอยากจะค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลก รวมถึงเป็นการหาประสบการณ์และความรู้เพิ่มเติม

“ผมชอบวิชานี้ เพราะเราจับต้องได้ มีโอกาสค้นพบสิ่งใหม่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ เป็นของเก่าที่ใหม่และคนไม่รู้ ถ้าเทียบกับแขนงอื่น ก็ไม่ต่างกับการคิดทฤษฎีและสมการใหม่” เขาบอก

ความฝันนี้สำเร็จตอนเรียนปริญญาโทที่ฝรั่งเศสกับ ศ.ดร. Jean-Jacques Jaeger และ ดร.เยาวลักษณ์ ชัยมณี สองปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมระดับโลก

ด้อมได้ศึกษาวิจัยและเปิดเผยการค้นพบ ‘บีเวอร์สยาม’ (Steneofiber siamensis) อายุ 12 ล้านปี จากเหมืองแม่เมาะ รวมไปถึงกวางโบราณสายพันธุ์ใหม่ (Lagomeryx manai) และบรรพบุรุษแพะสายพันธุ์ใหม่แห่งลำปาง (Eotragus lampangensis) ที่ถือว่ามีอายุเก่าแก่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมแล้วเนิร์ดสัตว์ดึกดำบรรพ์คนนี้ค้นพบสัตว์ดึกดำบรรพ์ใหม่ 3 สายพันธุ์ระหว่างเรียนปริญญาโทผ่านผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ และค้นพบประเภทกลุ่มสัตว์ที่ตัวเองสนใจศึกษาต่อ คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโบราณ

จนถึงปริญญาเอก เขาขยับมาศึกษาสัตว์ยุคน้ำแข็ง ซึ่งใกล้ปัจจุบันมากขึ้นในระยะแสนกว่าปี สิ่งที่พบใหม่คือประเทศไทยเคยมีไฮยีนา (ปัจจุบันอยู่แค่ในแอฟริกา) ช้างสเตโกดอน เลียงผา กูปรี หมูหนวดขาว แรดอินเดีย อาศัยร่วมยุคอยู่กับแพนด้ายักษ์ที่กระจายตัวมาถึงชัยภูมิ รวมถึงไพรเมตหรือวานรยักษ์ (Gigantopithecus) สูง 3 เมตรที่แม่ฮ่องสอนในยุคน้ำแข็ง แต่จะเห็นว่าไม่มีเสือเขี้ยวดาบหรือแมมมอท เพราะยุคน้ำแข็งที่ไทยไม่มีหิมะปกคลุมอย่างแถบทวีปอเมริกาเหนือหรือยุโรป

และในปีที่ด้อมกำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ เขาก็ได้รับตำแหน่งผู้ชนะรายการ แฟนพันธุ์แท้ หัวข้อสัตว์ดึกดำบรรพ์ ด้วย

ที่ที่ชอบ ในเวลาที่ใช่

ปี 2003 มีการแข่งขันรายการ แฟนพันธุ์แท้ หัวข้อไดโนเสาร์ ดำเนินรายการโดย ปัญญา นิรันดร์กุล ตอนนั้น ด้อมที่อยู่ ม.3 โทรไปสมัครเป็นผู้เข้าแข่งขันคนแรก แต่รอการตอบกลับอยู่นานจนกระทั่งเห็นเทปออนแอร์จึงพบว่าไม่มีเขาในนั้น เพราะการสมัครร่วมรายการในยุคก่อนมีเพียงไม่กี่ช่องทาง รายชื่อผู้สมัครจึงอาจตกหล่นได้ เขาเสียใจ และหวังว่าตนเองจะมีโอกาสขึ้นไปยืนตอบคำถามบนเวทีในอนาคตสักครั้ง

ปี 2013 ในยุคที่มี กฤษณ์ ศรีภูมิเศรษฐ์ เป็นพิธีกรรายการ แฟนพันธุ์แท้ หัวข้อสัตว์ดึกดำบรรพ์ ผ่านไป 10 ปียังไม่สาย ด้อมที่เรียนอยู่ฝรั่งเศสในขณะนั้นรีบสมัครและทำแบบทดสอบออนไลน์จนผ่านเข้ารอบคัดเลือก 5 คนสุดท้าย ซึ่งให้เดินทางมาแข่งในรายการ แต่ตอนนั้นเขายังลังเล เพราะเสียดายเงินที่ต้องใช้บินกลับไทย ครอบครัวที่ยังอยากให้เขาสานฝันต่อจึงสนับสนุนอย่างเต็มที่ สุดท้ายด้อมก็บินมาปรากฏตัวบนเวทีและคว้าแชมป์ได้สำเร็จ

“ทีมงานบอกผมว่าอยากให้กลับมาช่วยกันเผยแพร่เรื่องไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตในอดีตให้คนรู้จัก ผมก็ตั้งใจอย่างนั้น และก็ได้ทำอย่างที่คิดไว้จนถึงตอนนี้ด้วยเพจ Dom Paleoworld ซึ่งมีน้องที่ติดตามรายการและชอบไดโนเสาร์มากคนหนึ่งสร้างให้ช่วงที่เรากำลังแข่งบนเวที แฟนพันธุ์แท้ แต่พอน้องเขาทำได้สัก 1 ปีก็เริ่มหายไป ผมเลยขอมาจัดการเพจต่อเอง”

ภาพ : Dom Paleoworld

คอนเทนต์ไดโนเสาร์ไม่เศร้าเสมอไป

เรื่องที่อาจารย์ด้อมเล่าน่าตื่นเต้น เราเองก็อยากรู้ว่าเมื่อหลายแสนหลายล้านปีก่อน โลกใบนี้เป็นอย่างไร ซึ่งเขาต้องทำการบ้านเรื่องการเขียนเยอะมาก เพื่อให้ย้อนเวลากลับไปไกลแค่ไหนคนก็ยังอินได้

ช่วงแรกเป็นไปอย่างที่ใคร ๆ ก็คงเดาออก คอนเทนต์เรื่องโบราณมีคนกดไลก์แค่หลักสิบ-หลักร้อย เพราะเขาเคยคิดว่าอยากให้คนอ่านได้รับความรู้ทั้งหมดที่ตัวเองมีจึงอัดวิชาการให้แบบแน่น ๆ แต่พอไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าที่ควร เขาจึงเปลี่ยนเป็นคอนเทนต์ง่าย ๆ เป็นที่สนใจ หรือเข้าถึงได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้นก็ใช้เวลาเผยแพร่ข้อมูลและข่าวสารใหม่ ๆ ลงเพจอย่างสม่ำเสมออีกประมาณ 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ทำในขณะได้ทุนทำวิจัยหลังปริญญาเอกอยู่ที่เยอรมนีจนทุกอย่างอยู่ตัว

“ผมไม่ใช่นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่เก่งเลยต้องพยายามเขียนให้ง่ายลงมาก ๆ เพราะถ้ายังเป็นนักวิชาการที่พูดจากับคนทั่วไปไม่รู้เรื่อง คงไม่มีใครมาอ่านหรือติดตามสิ่งที่เราตั้งใจเผยแพร่ ตอนนี้มีคนที่ติดตามเพจจำนวนหนึ่งแล้ว สำหรับสาขาที่เฉพาะทางมากก็ถือเป็นผลลัพธ์ที่ดี เพิ่มเติมคือผมพยายามฝึกทำอินโฟกราฟิกให้สวยขึ้นด้วย”

คอนเทนต์ที่มียอดแชร์ประมาณ 4 – 5 พัน คือเรื่องฟอสซิลที่เกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรง หรือเป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัวคนทั่วไป เช่น มนุษย์ปางมะผ้า (มนุษย์ยุคน้ำแข็งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน) ซึ่งมีความน่าสนใจ เพราะแม่ฮ่องสอนขึ้นชื่อเรื่องมีภูเขาสูงและโค้งหฤโหด แต่เมื่อครั้งอดีตกาลกลับเคยเป็นทุ่งหญ้ามาก่อน

“สมมติเจอฟอสซิลที่จังหวัดหนึ่งในไทย คนที่นั่นก็จะแชร์กันเยอะ แต่ถ้าเป็นเรื่องซับซ้อน ๆ หรือไกลตัว คนไม่เข้าใจก็จะไม่ค่อยสนใจ แต่อย่างการค้นพบฟอสซิลอัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ที่โคราช หรือการค้นพบว่าพื้นที่จังหวัดกระบี่เคยเป็นทุ่งหญ้าสะวันนามาก่อนในยุคน้ำแข็ง ถือว่าเป็นข่าวดังระดับสากลเลย” เขาเล่าด้วยความภูมิใจ

เรื่องล่าสุดคือทีมนักวิจัยเยอรมนี-จุฬาฯ ที่อาจารย์ด้อมร่วมงานด้วยเพิ่งค้นพบอัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ตั้งชื่อว่า ‘อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส’ (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล มีเสียงตอบรับที่ดีทั้งระดับประเทศและระดับสากล เพราะเป็นการบอกว่าก่อนอัลลิเกเตอร์บนโลกจะเหลืออยู่เพียง 2 สายพันธุ์ คืออัลลิเกเตอร์อเมริกา (Alligator mississippiensis) และอัลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis) ลุ่มแม่น้ำโขง-เจ้าพระยาก็เคยมีอัลลิเกเตอร์อาศัยอยู่เช่นกัน เพียงแต่สูญพันธุ์ไปก่อนที่พวกเราจะได้เห็น

“นอกจากนี้ในเพจก็มีอธิบายเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่คนเข้าใจผิดอื่น ๆ อย่างไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว จริง ๆ อาจพูดได้ว่าพวกมันยังไม่สูญพันธุ์ เพราะไดโนเสาร์เป็นบรรพบุรุษของ ‘นก’ ในปัจจุบัน หากลำดับแบบนั้นก็เรียกว่า นกคือไดโนเสาร์มีปีก ได้

“หรือเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งชนโลกที่คนเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ทั้งหมด จริง ๆ มีเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Mass Extinction) มาแล้วหลายครั้ง มีไดโนเสาร์บางกลุ่มหายไปและบางกลุ่มที่อยู่รอด แต่นอกเหนือจากนั้น เรายังมีการสูญพันธุ์ย่อยเกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่โลกกำเนิดขึ้นมา เช่น เหตุการณ์ในยุคน้ำแข็งที่ทำให้สลอทและช้างแมมมอทสูญพันธุ์ไป

“บางทีก็เขียนเรื่องหนังตระกูล Jurassic ผมไปดูแล้วเอามาเขียนเป็นเชิงวิชาการก็มี โดยที่ไม่ได้ดิสเครดิตหนังนะ เพราะผมเองก็สนุกกับสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน แล้วผู้กำกับเขาก็มีนักบรรพชีวินวิทยาเป็นที่ปรึกษาให้กับภาพยนตร์อยู่แล้ว แต่เรื่องที่ผมยกตัวอย่างได้ คือขนาดไดโนเสาร์ค่อนข้างผิดจากขนาดจริงไปมาก อาจจะสร้างเพื่อความอลังการ เช่น แรปเตอร์ที่ดูน่ากลัว ตัวจริงขนาดเท่าไก่เองครับ” อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์หัวเราะ

“แต่ผมคิดว่าเรื่องสำคัญตอนนี้คือการสื่อสารกับทุกคนว่าอดีตไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เพียง 2,000 ปีที่มนุษย์เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด โลกก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน เราเข้าสู่ยุคแห่งการทำลายระบบนิเวศแล้ว นี่คือยุค ‘แอนโทรโปซีน’ ที่เต็มไปด้วยการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สารพิษ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”

หมอดูวิทยาศาสตร์ ผู้ใช้อดีตทำนายอนาคต

ขณะที่คนไทยยังไม่รู้จักวิชาบรรพชีวินวิทยามากนัก ทั่วโลกกลับมองว่าวิชานี้คือวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่มีความสำคัญ เพราะเป็นรากฐานของการเรียนรู้ชีวิต แม้กระทั่งคำถามว่า มนุษย์มีวิวัฒนาการอย่างไร ในอดีตโลกร้อนหรือหนาวเย็นขนาดไหน ในอนาคตมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ จะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน บรรพชีวินวิทยาก็มีคำตอบ

“คำถามทั้งในเพจและในชีวิตจริงที่เจอบ่อย คือเรียนบรรพชีวินวิทยาไปทำไม แต่ก่อนที่คนจะคิดค้นนวัตกรรมใด ๆ เราก็ต้องมองย้อนกลับไปว่ารากฐานเดิมเราเคยมีองค์ความรู้หรือการค้นพบอะไรมาก่อนบ้าง แล้วจะนำสิ่งนั้นมาต่อยอดหรือประยุกต์ใช้ต่อไปอย่างไร ซึ่งบรรพชีวินวิทยาเปรียบเสมือนฐานของพีระมิดเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ อย่างฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา แค่ยังไม่เป็นที่รู้จักในไทยมากนัก

“ตอนนี้เหตุผลสำคัญที่เราควรรู้เรื่องนี้ คือในช่วงชีวิตของคนหนึ่งอาจเคยเจอภัยพิบัติทางธรรมชาติสักครั้ง เช่น น้ำท่วม คลื่นสึนามิ แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในฟอสซิลบันทึกสิ่งเหล่านี้เอาไว้เช่นกัน อย่างที่นักธรณีวิทยามีคำพูดติดปากว่า The present is the key to the past. แต่นักบรรพชีวินวิทยาจะเสริมไปอีกว่า อดีตคือคำใบ้สู่อนาคต The past can give clues to the future. ทีนี้เราก็จะปะติดปะต่อเรื่องราวของกาลเวลาทั้ง 3 มิติ คืออดีต ปัจจุบัน และอนาคต จากการศึกษาฟอสซิลได้

“เช่น เรารู้ได้อย่างไรว่านี่คือหินภูเขาไฟ เราก็มาดูปัจจุบัน ลาวาที่ปะทุ ไหลออกจากภูเขาไฟแล้วเย็นตัวกลายเป็นหินหน้าตาอย่างไร เสร็จแล้วเอาไปเทียบกับหินที่พบในบริเวณอื่น ๆ ทั่วโลกก็จะรู้ว่า ในอดีตบริเวณใดเคยเกิดการปะทุของภูเขาไฟมาก่อน และถ้าศึกษาไปถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการปะทุของภูเขาไฟ เช่น บริเวณดังกล่าวเคยเป็นแนวรอยเลื่อน มันยังคงเลื่อนอยู่ไหม เราอาจเฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้”

อีกหนึ่งสิ่งที่ศาสตร์ด้านบรรพชีวินวิทยาทำได้คือการ ‘อนุรักษ์’ เพราะงานของอาจารย์ด้อมในขณะนี้คือการนำฟันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์เดียวกัน ทั้งตัวปัจจุบันและในอดีตเมื่อหมื่นถึงแสนกว่าปีก่อน เช่น กระทิง ควายป่า กวางผา และเลียงผา ไปวิเคราะห์ด้วยกระบวนการทางชีวเคมีที่เรียกว่า การหาสัดส่วนไอโซโทป เพื่อดูว่าสัตว์เหล่านี้ในอดีตเคยกินอะไรเป็นอาหาร

ผลลัพธ์คือพวกมันกินหญ้าและอาศัยในทุ่งหญ้าสะวันนาของไทยในอดีต ขณะที่กระทิง ควายป่า กวางผา และเลียงผาปัจจุบันเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่อาศัยและอาหารด้วยหลายปัจจัย โดยเฉพาะการถูกมนุษย์เบียดเบียนจนต้องหนีเข้าไปอยู่ในป่า

“ไม่แปลกที่ควายป่า กระทิง กวางผา และเลียงผา ถูกจัดเป็นสัตว์สงวนหรือสัตว์ที่ถูกคุกคามเกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ อย่างกวางผาและเลียงผาที่พบเห็นในปัจจุบัน เราคาดว่าพวกมันชอบอยู่บนพื้นที่สูงชัน แต่ตามหลักฐานฟอสซิล จริง ๆ มันเคยอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าบนพื้นที่ราบต่ำ ไม่ใช่ในป่าฝนบนภูเขา

“หากไม่มีนักบรรพชีวินวิทยา และสังเกตจากพฤติกรรมในปัจจุบันตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เราก็จะมองว่ากวางผาและเลียงผาชอบอาศัยอยู่บนพื้นที่ลาดชันบนภูเขาสูง ซึ่งเป็นข้อมูลในช่วงที่มีอิทธิพลของมนุษย์เข้ามาแล้ว แต่ศาสตร์ของเรามองย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาในอดีตกาลที่สัตว์เหล่านี้ยังไม่ถูกคนรบกวน มันเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะพื้นที่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ ที่พบเห็นในปัจจุบันอาจไม่ใช่ถิ่นอาศัยที่เหมาะสมอย่างแท้จริงของพวกมันก็ได้

“การอนุรักษ์สัตว์ป่าต่าง ๆ ที่ยังเหลืออยู่ก็อยากให้ดูหลักฐานหลายด้านประกอบกัน รวมถึงใช้ข้อมูลในอดีตเพื่ออนุรักษ์สิ่งมีชีวิตปัจจุบันด้วยครับ”

นอกจากนี้ การเรียนรู้วิวัฒนาการของมนุษย์ในอดีตอันไกลแสนไกลก็น่าสนุกไม่แพ้กัน ฟันคุดสุดไร้ประโยชน์มาจากการที่มนุษย์ในอดีตมีขากรรไกรยาว มีพื้นที่ให้ฟันงอกเยอะ และมีสมองที่เล็กกว่ามนุษย์ปัจจุบัน แต่เมื่อมนุษย์พัฒนา สมองใหญ่ขึ้นส่งผลให้ขากรรไกรสั้นลง อาหารที่กินปรุงสุก เคี้ยวง่าย ฟันซี่ด้านในสุดของปากจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป ซึ่งในอนาคต มนุษย์อาจมีนิ้วยาว สมองใหญ่ขึ้น และตัวเล็กลง เพราะมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก รวมถึงนวัตกรรมมากมาย และอาจไม่จำเป็นต้องใช้พละกำลังอีกต่อไป

หรือในอนาคต เราจะมีโอกาสได้เห็นไดโนเสาร์ตัวเป็น ๆ 

อาจารย์ด้อมบอกว่านั่นก็เป็นความฝันของเขา แต่คงยังห่างไกลอีกมาก และการฟื้นคืนชีพไดโนเสาร์คงต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง เพราะไดโนเสาร์สูญพันธุ์โดยธรรมชาติ ในทางตรงกันข้าม หากเป็นสัตว์ที่เพิ่งสูญพันธุุ์ไปจากการล่าของมนุษย์ในปัจจุบันอย่างสมัน กูปรี และแรดชวา ก็มีความน่าสนใจมากกว่าที่จะทำให้พวกมันฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม DNA เก่าแก่ที่สุดที่ถูกเก็บรักษาไว้ในฟอสซิลและนำมาสกัดได้ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในตอนนี้มีอายุประมาณ 2 ล้านปีเท่านั้น จึงมีความเป็นไปได้ยากมากที่จะชุบชีวิตไดโนเสาร์อายุมากกว่า 66 ล้านปีขึ้นมา

แต่ถึงอย่างนั้นเรื่องราวของไดโนเสาร์และลูกหลานของมันก็ยังไม่สูญพันธุ์อย่างสมบูรณ์ เพราะเรายังศึกษาเรื่องราวของพวกมันผ่านฟอสซิลหรือแม้กระทั่งญาติ ๆ ของพวกมันในปัจจุบัน โดยเศษเสี้ยวชีวิตของสรรพสัตว์ในอดีตกาลจะยังได้รับการถ่ายทอดอย่างบทสารคดีสนุก ๆ สักเรื่องด้วยฝีมือการเขียนของ Dom Paleoworld เพจที่จะทำให้คอนเทนต์อดีตกาลไม่สูญพันธุ์เร็วจนเกินไป

Facebook : Dom Paleoworld

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ