ดร.สุรเวช สุธีธร หรือ ดร.ป้อง เป็นผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์กินพืชคอยาว หรือ ซอโรพอด เพียงคนเดียวในอาเซียน และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์ 1 ใน 4 คนของประเทศไทย
ดร.ป้อง เป็นหัวหน้าทีมที่ค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ที่กำลังทำวิจัยใกล้เสร็จและรอตั้งชื่อ 2 สายพันธุ์ และที่ยังอยู่ในกระบวนการวิจัยอีกหลายสายพันธุ์
ดร.ป้อง เป็นทายาทของ ดร.วราวุธ สุธีธร นักบรรพชีวินวิทยามือหนึ่ง ผู้บุกเบิกเรื่องไดโนเสาร์ในประเทศไทย ดร.วราวุธ ค้นพบชิ้นส่วนไดโนเสาร์ตัวแรกของประเทศไทยที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เมื่อ พ.ศ. 2523 พอ พ.ศ. 2524 ดร.ป้อง ก็ลืมตาดูโลก

ในชีวิตในวัยเยาว์ของเขาจึงเติบโตอยู่ท่ามกลางแหล่งขุดค้น เดินตามนักวิจัยไปหากระดูกไดโนเสาร์ ยังไม่ทันเรียนจบชั้นประถม เขาก็จับปากกาลมช่วยคุณพ่อกรอกระดูกไดโนเสาร์แล้ว
ชีวิตในวัยเยาว์อีกด้านคือ การเข้าค่ายศึกษาธรรมชาติ กางเต็นท์นอนในป่าทุกปิดเทอม เพราะคุณแม่เป็นนักจัดค่าย เขาบอกว่า ประสบการณ์ในวัยเยาว์ทำให้เขาชอบเรื่องทางนิเวศวิทยาและธรรมชาติมาจนถึงวันนี้
ดร.ป้อง เป็นเด็กที่ไม่ได้ชอบไดโนเสาร์ มองมันเป็นแค่สัตว์ตัวหนึ่ง เป็นงานของพ่อ เขาเรียนปริญญาตรีด้านชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งมามาสนใจเรื่องไดโนเสาร์ตอนเรียนปริญญาโทด้านบรรพชีวินวิทยาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แล้วต่อปริญญาเอกด้านเดิมที่ฝรั่งเศส
เขาเลือกศึกษาซอโรพอดเพราะไดโนเสาร์กลุ่มนี้มีเสน่ห์ มีรูปร่างที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดช่วงเวลา 150 ล้านปี และกระบวนการที่ทำให้ร่างกายอันใหญ่โตอยู่รอดได้ก็น่าค้นหา
ปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และทำงานวิจัยอยู่ในศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกัน
เราขอเดินทางไปเยี่ยม ดร.ป้อง ที่ศูนย์วิจัยของเขา แล้วก็ขอติดตามไปที่แหล่งขุดค้นภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ จุดที่เขาบอกว่าน่าจะมีไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่หลายชนิดที่นี่
และนี่คือเรื่องราวของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เราคุยกัน

ฟอสซิลในอำพัน
ตอนนี้คุณตื่นเต้นกับข่าวการค้นพบอะไรในวงการไดโนเสาร์ที่สุด
“การเจอฟอสซิลในแหล่งอำพันที่เมียนมาเป็นสิ่งเปลี่ยนโลกอีกอย่างเลย เราก็แอบอิจฉาเพราะห่างจากแม่สอดไปไม่ถึงร้อยกิโลเมตร หวังว่าจะโผล่มาฝั่งเราบ้าง เหมือนเรื่อง จูราสสิกปาร์ก ในก้อนอำพันขนาดหนึ่งถึงสองนิ้วมีทุกอย่างจริงๆ ทั้งกะโหลกไดโนเสาร์ ปีกนก ขนนกสารพัดแบบ กิ้งก่า งู แม้กระทั่งแอมโมไนต์ (หอยงวงช้าง) เก็บสภาพไว้เหมือนมัมมี่จิ๋ว ตอนนี้งานวิจัยหลังๆ ของทีมดังๆ ในจีน เน้นไปที่อำพัน มีการตีพิมพ์ First Record ตลอดเวลา งานวิจัยล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน เจอหัวกะโหลกกิ้งก่าอายุอยู่ในช่วงร้อยล้านปี เมื่อก่อนคงรู้แค่เป็นกิ้งก่าชนิดใหม่ เดี๋ยวนี้เครื่องสแกนดีมาก เห็นเนื้อเยื่ออ่อนซึ่งน่าจะเป็นลิ้น เลยเห็นว่า กิ้งก่าตัวนี้มีลิ้นตวัดได้เหมือนพวกกิ้งก่าคาเมเลียน
“ที่นั่นเป็นตลาดอำพันขนาดใหญ่ คนแห่กันไปขุดแล้วเอามาขายที่ตลาด เป็นตลาดหลังคาสูงๆ มีอำพันกองกันท่วม ถ้าขายเป็นก้อนๆ ก็ต้องไปส่องหากันเอง หลังๆ คนเริ่มรู้แล้วก็ไปกว้านซื้อมาขัดแล้วขาย พวกหัวไดโนเสาร์หรือหัวนกนี่หลักล้านบาทเลย
“ทีมนักวิจัยของจีนส่งคนมาคุมตั้งแต่ที่เหมือง เจอก็ซื้อเลย ทำให้ทีมนักวิจัยของชาติอื่นเข้าไม่ถึง จึงมีการออกจดหมายแบนขอให้วารสารทั้งหลายไม่รับตีพิมพ์การค้นพบจากอำพันที่นี่ เขาเรียกว่าเป็น อำพันเลือด เพราะเกิดในดินแดนที่สนับสนุนให้เกิดสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
เมืองที่มีซากฟอสซิลของแมลงและดอกไม้
เมืองเหลียวหนิงในจีนก็ค้นพบฟอสซิลแปลกๆ มากมายไม่ซ้ำใครในโลก เมืองนี้พิเศษยังไง
“เหลียวหนิงก็เจ๋ง ผมเคยไปดูแล้ว ในอดีตที่นี่เคยเป็นทะเลสาบน้ำนิ่ง ช่วงภูเขาไฟปะทุเกิดเถ้าภูเขาไฟทำให้นกนอนตายตามชายหาด แล้วเถ้าภูเขาไฟก็ร่วงลงมากลบทันที สภาพเลยสมบูรณ์มาก เจอรังนกที่ยังมีไข่ เจอฟอสซิลแมลง และฟอสซิลดอกไม้กลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุประมาณร้อยยี่สิบล้านปี เวลาไปที่แหล่งขุดค้น เขาจะแซะแผ่นหินขึ้นมาทีละแผ่น แล้วก็ลุ้นกัน เจอแต่ของเจ๋งๆ
“จีนเขาเข้มงวดมาก คุมการขุดได้หมด มีการเปิดพื้นที่ให้สัมปทานนักวิจัยต่างชาติเข้ามาได้ ทีมนักวิจัยเยอรมนีก็ไปขอสัมปทานเหมือง แต่ต้องทำวิจัยที่นี่ ห้ามเอาออกนอกประเทศ ในเมืองเลยมีพิพิธภัณฑ์ของต่างชาติหลายแห่ง”
ต้นกำเนิดอินเดียน่าโจนส์
คุณไปร่วมประชุมไดโนเสาร์โลกครั้งล่าสุดที่มองโกเลีย งานนั้นพาผู้ร่วมประชุมไปออกภาคสนามที่ไหน
“เฟลมมิ่งคลีฟส์ (Flaming Cliffs) เป็นไซต์ดัง (ตั้งชื่อโดย รอย แชปแมน แอนดรูวส์ นักขุดฟอสซิลชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้เป็นต้นกำเนิดคาแรกเตอร์อินเดียนน่า โจนส์ และค้นพบไข่ไดโนเสาร์ที่นี่) ทีมสำรวจยุคก่อนมากันเป็นคาราวานเหมือนในเรื่อง อินเดียน่า โจนส์ แล้วก็เจอฟอสซิลไทรเซราทอปส์ทั้งรังเลย ในไข่ก็มีตัวอ่อนด้วย

“เขาพาไปไซต์กลางทะเลทรายโล่งๆ มีซากไดโนเสาร์เกลื่อนเลย นี่คือแหล่งที่เจอตัวอย่างไดโนเสาร์สู้กันระหว่าง โปรโตเซราทอปส์กับเวโลซีแรปเตอร์ เป็นคู่ตำนานของโลกเลย ผมก็สงสัยว่าทำไมมองโกเลียถึงไม่ค่อยมีซอโรพอด จริงๆ แล้วพอมี แต่ซอโรพอดมีขนาดใหญ่มาก คาราวานต้องจำกัดน้ำหนัก ถ้าเก็บตัวอย่างแรปเตอร์แบบครบสมบูรณ์ทั้งตัวอาจจะเอาใส่หลังรถมาได้ แต่ถ้าเป็นซอโรพอดต้องใช้รถบรรทุกห้าคันถึงจะขนได้ตัวหนึ่ง เขาก็เลยปล่อยทิ้งไว้ตรงนั้น ตอนไปเดินเจอกะโหลกโปรโตเซราทอปส์ครึ่งหัว เขาบอกว่าวางไว้ตรงนั้นแหละ เดี๋ยวค่อยมาเก็บ (หัวเราะ)”
งานขุดค้น
ไดโนเสาร์ตัวดังๆ ของโลกและไทยมักจะค้นพบโดยบังเอิญ ถ้าเราอยากตั้งใจออกไปหาฟอสซิลไดโนเสาร์ให้เจอต้องเริ่มยังไง
“เริ่มจากวางแผนสำรวจ ดููแผนที่ธรณี หาชั้นหินที่มีโอกาสเจอว่าอยู่แถวไหนบ้าง ขับรถตระเวนหา ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมมาประกอบ เพราะพื้นที่ที่เป็นลานหินกว้างๆ มีโอกาสเจอมากกว่า แต่ครึ่งหนึ่งพบเพราะมีคนแจ้งเข้ามา
“พอเจอไซต์ที่คาดว่าจะมีฟอสซิล เราก็เดินดูว่าเป็นแค่เศษๆ ที่โผล่ขึ้นมาหรือเปล่า ถ้ามีชิ้นที่ฝังอยู่ในชั้นหินเดิมก็มีโอกาสเจอกระดูกต่อเนื่อง เราถึงค่อยๆ ขุดเปิดพื้นที่สำรวจ ถ้าโชคดีกระดูกต่อเนื่องกันอาจจะเจอทั้งตัว
“เราต้องขุดอย่างเป็นระบบ ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม การเอาฟอสซิลออกจากชั้นหิน มันอยู่มาเป็นร้อยล้านปี บอบบางมาก ถ้าหยิบขึ้นมาเฉยๆ อาจจะแตกหักได้ เราต้องประคบประหงม คอยหยอดกาวตลอด ถ้าชิ้นใหญ่ก็ต้องเข้าเฝือก เอาปูนปลาสเตอร์หุ้มไว้แล้วล้อมกระดูกขึ้นมา”


งานในแล็บ
นักวิจัยนั่งทำอะไรกันในห้องแล็บ
“พอเอาตัวอย่างกลับมา เราจะผ่าเฝือกออก ทำความสะอาดฟอสซิลด้วยการสกัดหินออกให้เหลือแต่ตัวกระดูก ขั้นตอนนี้ใช้เวลามหาศาล ตอนขุดอาจจะใช้เวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ แต่การสกัดหินนี่ใช้เป็นเดือน ถ้าหินแข็งมากๆ บางชิ้นหลายเดือนกว่าจะเสร็จ
“ตอนเจอฟอสซิลเราต้องวาดแผนผังไว้ด้วย จะได้ช่วยประเมินว่ากระดูกแต่ละชิ้นเป็นของตัวไหน ความยากคือ เราต้องดูให้รู้ว่ากระดูกชิ้นนี้ของตัวเล็ก ชิ้นนี้ของตัวใหญ่ ถ้ากระดูกแขนมีขนาดเท่านี้ กระดููกขาจะมีขนาดเท่าไหน พยายามจับคู่กันจะได้รูู้ว่ามีกี่ตัว บางทีนักวิจัยก็อยากจะให้เจอแค่ตัวเดียวในหลุม จะได้รู้ว่าทุกชิ้นเป็นของตัวนี้ เอามาประกอบง่าย พอในหลุมหนึ่งมีห้าหกตัวนี่ยากแล้ว
“เรามีโอกาสเจอไดโนเสาร์ที่มีกระดูกทุกชิ้นอยู่ครบ เช่นที่มองโกเลีย มีไดโนเสาร์ที่อาจจะโดนพายุทรายถล่มแล้วถูกฝังทันที บ้านเรามีตัวสมบูรณ์ที่สุดอยู่ที่ภูกุ้มข้าว มีอยู่ครึ่งตัวเรียงกันไปตั้งแต่ช่วงอก ที่ภููน้อยมีตัวเล็กที่เจอเกือบทั้งตัว
“ถ้าเจอกระดูกไม่ครบ เราต้องจำลองกระดูกที่เหลือด้วยการเทียบกับพันธุ์ที่รูปทรงใกล้เคียงกันไปก่อน จนกว่าจะมีการค้นพบกระดูกชิ้นที่ยังขาด”


ความยาก
ความยากในการจำแนกฟอสซิลไดโนเสาร์ที่คนทั่วไปคิดไม่ถึงคืออะไร
“ฟอสซิลที่ภูกุ้มข้าวเกือบทั้งหมดเป็นซอโรพอด มีตัวอย่างให้ศึกษาเยอะเลย หลุมที่มีตัวอย่างเยอะขนาดนี้พบไม่มาก แต่ความเยอะนี่แหละคือปัญหา เราต้องมานั่งอยู่กับกองกระดูกเป็นพันชิ้น แยกว่าชิ้นไหนของตัวไหน ตัวใหญ่ ตัวเล็ก ตัวผู้กับตัวเมียจะต่างกันไหม แค่ชนิดเดียวกันตัวหนึ่งมีสามร้อยกว่าชิ้น ต้องหาให้ครบทุกส่วนของร่างกายก็ยากแล้ว ที่ภูกุ้มข้าวน่าจะมีสามชนิดในหลุมเดียวกัน ยิ่งยากไปอีก
“งานรุ่นคลาสสิกมากของนักวิจัยคือ นั่งแยกว่าแต่ละชิ้นเป็นกระดูกส่วนไหนของตัวไหน เหมือนของตัวที่เคยพบไหม ถ้าชิ้นนี้ไม่เคยเจอมาก่อน เช่น เราไม่เคยเจอขาหน้าของภูเวียงโกซอรัส ชิ้นนี้อาจจะเป็นขาหน้าของภูเวียงฯ ก็ได้ หรือเป็นชนิดใหม่ก็ได้ เพราะไม่มีให้เทียบ เราต้องตั้งสมมติฐานไว้ก่อน
“แล้วงานเดียวกันนี้ก็จะแอดวานซ์ขึ้นไปอีก ถ้าเอาศาสตร์อื่นๆ มาผสมผสาน ไม่ได้ดูแต่กระดูกภายนอก ทีมต่างประเทศเขาเอากระดูกตัดเป็นแผ่นสไลด์เพื่อดูลายเส้นกระดูก จะบอกได้ว่ากระดูกขาชิ้นนี้มีอายุกี่ปี เป็นของวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ หรือวัยแก่ แม้กระทั่งกระดูกบิดเบี้ยวก็มาดูว่ามันเป็นโรคหรือเปล่า งานวิจัยล่าสุดมีคนบอกว่า ไดโนเสาร์ตัวนี้ตายเพราะเป็นมะเร็ง บอกได้ถึงขั้นนั้นเลย ยุคนี้เอาเข้าซีทีสแกนแล้ว”
ความล้ำสมัยในวงการไดโนเสาร์
ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด เรารู้อะไรเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่ไม่เคยรู้มาก่อนบ้าง
“เยอะขึ้นมากครับ ทางจีนรู้ว่าไดโนเสาร์บางตัวสีอะไร ไดโนเสาร์พวกที่มีปีก ตรงขนยังเหลือยังเหลือเมลาโนโซม เป็นตัวเม็ดสี แต่ละเกล็ดมีรูปทรงต่างๆ พอไปส่องกล้องขยายดู ตัวอย่างเช่น ถ้าเห็นเกล็ดสี่เหลี่ยมแสดงว่าเป็นสีดำ เกล็ดวงรีเป็นสีแดง ทำให้รู้ว่า นกตัวนี้สีอะไร เทคโนโลยีที่ดีขึ้นทำให้เราสแกนเห็นถึงรอยพิมพ์ เห็นโครงสร้างประสาท อันนี้เป็นปอด เป็นหัวใจ เป็นอวัยวะ จากที่เมื่อก่อนเราเห็นว่าเป็นแค่กุ้งโบราณ ตอนนี้สแกนแล้วแยกได้ว่า มีเนื้อเยื่อเป็นชั้นต่างๆ มีอวัยวะ เจออวัยวะสืบพันธุ์ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นอวัยวะสืบพันธุ์เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบ”


นิวสปีชีส์
คุณมีส่วนร่วมในการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่กี่ชนิดแล้ว
“สองสปีชีส์ เป็นซอโรพอดที่ภูกุ้มข้าวกับภูเป้ง ในเมืองไทยมีการค้นพบไดโนเสาร์ที่ตั้งชื่อแล้วสิบสองชนิด แต่ถ้ารวมพันธุ์ที่ยังอยูุ่ในการวิจัยด้วยน่าจะมีไม่ต่ำว่าสามสิบชนิด บางตัวเจอแค่กระดูกสันหลังชิ้นเดียว เรารู้ว่าเป็นสเต็กโกซอรัส แต่มันยังไม่เยอะพอจะตั้งเป็นชนิดใหม่ได้ ต้องไปหากระดูกเพิ่มก่อน ที่ภูน้อยก็มีอยู่สามสี่ชนิดที่เรากำลังศึกษาอยู่
“การค้นพบนิวสปีชีส์ของสัตว์ยุคปัจจุบันต้องใช้ดีเอ็นเอ แต่ไดโนเสาร์ไม่มี เลยต้องใช้วิธีเทียบกับตัวอย่างที่เคยพบ ถ้าในประเทศเราไม่เหมือนใครเลย ก็ต้องไปเทียบกับเพื่อนบ้านว่าที่จีนเหมือนไหม ลาว ญี่ปุ่น เหมือนไหม แล้วดูทุกที่ในโลก ถ้าชิ้นนี้ไม่เหมือนใครเลย ก็เป็นชนิดใหม่ อยู่กันคนละเกาะก็มีโอกาสเป็นสปีชีส์ใหม่ ช่วงเวลาห่างกันหลักพันหลักหมื่นปีก็มีโอกาสเป็นสปีชีส์ใหม่สูงมาก ในทางบรรพชีวินวิทยา ชั้นหินห่างกันคืบหนึ่ง อาจจะต่างกันแสนปีเลย โอกาสที่จะเป็นคนละชนิดมีมากกว่าจะเป็นชนิดเดียวกันอีก”
โครงกระดูกไดโนเสาร์หน้ามิวเซียม
กระดูกไดโนเสาร์หน้ามิวเซียมเป็นโมเดลที่ใครๆ ก็เปิดแคตตาล็อกสั่งซื้อมาวางหน้าบ้านได้ใช่ไหม
“เป็นโครงจำลองที่สั่งซื้อได้ มีหลายเกรด อย่างดีก็ของอเมริกา ยุโรป ทางอเมริกาเขาเจอตัวที่ครบสมบูรณ์จริงๆ เยอะ อย่าง Sue ทีเร็กซ์ที่เจอตั้งเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ เขาก็ทำพิมพ์ขึ้นมา เป็น Replica (ชิ้นส่วนจำลอง) ของอเมริกาตัวหนึ่งหลักล้านบาท ตอนนี้ของจีนตัดราคาลงมาเหลือแค่หลักแสน หลักหมื่น เป็นเกรดที่เด็กดูแล้วไม่รู้ว่าต่างกันยังไง ไม่ได้ใช้เชิงวิชาการเพื่อการศึกษา พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินกับพิพิธภัณฑ์สิรินธรก็กำลังจะเริ่มทำของเราเองอยู่
“ถ้ามีเงินก็สั่งซื้อมาวางที่บ้านได้ หรือฟอสซิลจริงๆ ถ้ามีเงินก็ซื้อได้ โครงที่สมบูรณ์ทั้งตัวของอเมริกาหลักร้อยล้านบาทนะครับ ด้วยกฎหมายของบางรัฐอนุญาตให้ซื้อขายได้ ที่สิงคโปร์ก็ซื้อมาตั้งโชว์อยู่สามตัวเป็นซอโรพอดดิปโพลโดคัส


Replica
เราจะรู้ได้ยังไงว่า ฟอสซิลที่จัดแสดงในมิวเซียมเป็นของจริงหรือของจำลอง
“ฟอสซิลส่วนใหญ่ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกเป็น Replica เพราะถ้าเอาไปจัดแสดงแล้วนักวิจัยอาจจะเข้าถึงได้ยาก จะไปเปิดตู้ขอหมุนดูเพื่อศึกษาไม่ได้ ก็เลยมักเก็บชิ้นจริงไว้ในคลังเพื่อความปลอดภัย แล้วให้คนดูชิ้นจำลอง ยกเว้นแต่นิทรรศการพิเศษบางงานที่อาจจะโชว์ชิ้นจริง
“เขาจำลองด้วยการถอดพิมพ์แล้วหล่อขึ้นมา ทำสีให้เหมือน ญี่ปุ่นทำชิ้นจำลองสวยมาก ลงสีเหมือนมาก เพราะเขามีฝีมือด้านการทำโมเดลอยู่แล้ว Replica ส่วนใหญ่เบากว่าของจริง (ของจริงเป็นหิน Replica เป็นปูนพลาสเตอร์) แต่จะทำน้ำหนักให้เท่าของจริงก็ได้นะ วิธีแยกคือต้องทุบดู (หัวเราะ)
“เมืองไทยเก็บฟอสซิลไว้ในคลัง หลักๆ คือที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร มีตู้เซฟอย่างดี กันฟอสซิลเสียหาย แบ่งแยกตามยุค ตามชั้นหิน ตามแหล่งขุดค้น ใครอยากศึกษาก็ติดต่อมาขอชมได้ แล้วก็อยู่ในคลังของมหาวิทยาลัยที่มีทีมศึกษา คือที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ฟอสซิลสัตว์ที่ไม่ใช่ไดโนเสาร์
ทำไมคนไม่ค่อยพูดถึงงานฟอสซิลของสัตว์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ไดโนเสาร์
“ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อหกสิบหกล้านปีที่แล้ว ในยุคไดโนเสาร์เราก็ยังเจอปลา เจอจระเข้ เจอเต่าด้วย พวกนี้อยู่มาสามร้อยล้านปีแล้ว บางกลุ่มก็ยังมีลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน พวกเกล็ดทรงสี่ขนมเปียกปูนอย่างปลาและจระเข้ก็ยังหลงเหลืออยู่ รูปร่างจระเข้รุ่นนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนจากบรรพบุรุษของเขา พวกแมลงก็ยังอยู่รอด ฉลามถือเป็นสัตว์ชนิดนึงที่มีมาตั้งแต่แรกๆ เมื่อสี่ร้อยล้านปีก่อน ยังอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ จะมาสูญพันธุ์เพราะเจอเรากินหูฉลามนี่แหละ


“ที่สัตว์ชนิดอื่นๆ ไม่ถูกพูดถึงนักก็เพราะมันไม่น่าสนใจ พอบอกว่านี่คือจระเข้โบราณ เด็กก็จะบอกว่า เหมือนในสวนสัตว์ ปลาโบราณก็เหมือนที่เพิ่งทอดกินเมื่อเช้า เลยไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่เพราะยังเห็นในปัจจุบัน
“นักวิจัยที่ทำเรื่องสัตว์เหล่านี้เอาสารเคลือบฟันที่อยู่บนฟอสซิลไปหาค่าออกซิเจนไอโซโทป์ที่ยังหลงเหลืออยู่ เพื่อบอกว่าปลาตัวนี้อยู่ในแหล่งน้ำไหล แต่จระเข้อยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง แปลว่าสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง ช่วงหนึ่งน้ำอาจจะไหลผ่าน มีน้ำท่วมขัง ปลาตัวนี้เลยมาติดอยู่ในแอ่ง จระเข้ตัวนี้อาศัยอยู่ตรงนี้ตั้งแต่แรก ไม่ได้ไปไหน อาจจะทำให้เรารู้ว่าแม่น้ำยุคก่อนมีฤดูกาล มีน้ำท่วม น้ำแห้ง พวกเศษกระดูกเล็กๆ แตกๆ หักๆ ก็ยังบอกอะไรได้อีกหลายอย่างเลย”
แพนด้า ไฮยีนา อุรังอุตัง
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินจัดแสดงกะโหลกของช้างสี่งา เมืองไทยเคยมีสัตว์ที่แปลกกว่านั้นไหม
“ในถ้ำแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ มีคนสำรวจเจอฟันไฮยีนา แพนด้า วัวกระทิง เหลือแต่ฟันไม่มีกระดููกชิ้นอื่น (ฟันคือกระดูกชิ้นที่แข็งที่สุดในร่างกายเลยอยู่นานที่สุด) เราเจอฟันเม่นด้วย เม่นอาจจะกินกระดูกชิ้นอื่นไป หรือมารวมกันตรงนี้อาจจะเพราะน้ำพัดเข้ามาในหน้าฝน หรือมีตัวอะไรลากเข้ามากิน หรืออาจจะเป็นบ้านของเม่น หรือนกเค้าเอามากินที่ปากถ้ำแล้วกระดูกพัดน้ำเข้ามา มันรวมกันอยู่ในแอ่งเล็กๆ เท่านั้นเอง
“กระดูกพวกนี้อายุสามหมื่นถึงห้าหมื่นปี เป็นช่วงเดียวกับแมมมอธ แมมมอธตัวสุดท้ายสูญพันธุ์ไปเมื่อห้าพันปีที่แล้ว กระดูกพวกนี้ทำให้เรารู้ว่า อุรังอุตัง แพนด้า และไฮยีนา เคยอยู่รวมกันในไทย ตอนนี้แพนด้าอยู่แค่ทางจีนตอนใต้ในเขตหนาว ไฮยีนาอยู่ในทุ่งหญ้าสะวันนาในแอฟริกา อุรังอุตังอยู่ในป่าเขตร้อนทางเกาะบอร์เนียว แสดงว่าสภาพอากาศหลายหมื่นปีก่อนอาจจะไม่ได้เป็นแบบนี้ หรืออาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดการอพยพเหมือนในเรื่อง Ice Age พายุหิมะมา พวกสัตว์ก็อพยพเดินทางไกลไปหาพื้นที่อบอุ่น หรือเมื่อก่อนไฮยีนาอาจจะชอบป่าก็ได้ แต่พอป่าเหลือน้อยลงกลายเป็นทุ่งหญ้าเลยค่อยๆ ปรับตัว หรือที่นี่อาจจะเคยมีป่าหนาแน่น อุรังอุตังก็เลยปีนต้นไม้มาจนถึงที่นี่ได้”

เด็กกับไดโนเสาร์
ทำไมเด็กถึงชอบไดโนเสาร์
“ไดโนเสาร์เป็นสัตว์ในจินตนาการที่มีอยู่จริงบนโลก ด้วยความที่มันตัวใหญ่ ทรงพลัง ครองโลก มีอยู่ทั้งในหนังในการ์ตูน ดูน่ารักและน่ากลัว เด็กๆ เลยชอบ ถ้าเป็นรูปปั้นสัตว์อื่นๆ ไปดูของจริงที่สวนสัตว์ก็ได้ เราใช้ไดโนเสาร์เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ ลูกศิษย์บางคนเรียนจบไปแล้วไปเรียนต่อทางศึกษาศาสตร์ เขาเอาไดโนเสาร์ไปใส่ในเนื้อหา ช่วยให้เด็กสนใจมากขึ้น เช่น วิชาคณิตศาสตร์ การชวนกันนับไดโนเสาร์น่าสนใจกว่านับแอปเปิ้ล ช่วยทำให้การสอนมีรสชาติขึ้น”
วงการไดโนเสาร์ไทย
ตอนนี้วงการไดโนเสาร์ไทยถือว่าอยู่ตรงไหนในโลก นักวิจัยหน้าใหม่ที่เข้ามายังมีอนาคตไหม
“วงการไดโนเสาร์ไทยยังไปได้อีกไกลเลยครับ ฟอสซิลที่เราเจอเจ๋งกว่าญี่ปุ่นอีก ทั้งปริมาณและ ตัวอย่างที่เจอ ในย่านนี้อาจจะเป็นรองแค่ที่จีน มีพื้นที่ที่เรายังไม่ได้ศึกษาอีกมาก ยังทำอะไรได้อีกมากมาย ถ้าเรามีคอลเลกชันดีๆ พิพิธภัณฑ์ดีๆ จะดึงดูดคน เป็นที่เรียนรู้ให้เด็กได้อีกเยอะเลย
“พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ของไทยไม่เหมือนที่ไหนเลย มีตัวอย่างค่อนข้างเยอะและสมบูรณ์ ปัญหาที่ผมเห็นในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งคือ เวลาทำข้อมูลเกี่ยวกับฟอสซิลไม่ค่อยมีเรื่องเล่า ต้องให้คิวเรเตอร์มาคุยกับนักวิชาการมากขึ้น ส่วนใหญ่ให้จะเป็นแค่ที่ปรึกษา แก้นิดๆ หน่อยๆ ตอนท้าย การจัดแสดงหลังๆ เน้นใส่เทคโนโลยี มีทัชสกรีน มากกว่าการโชว์ของ ผมชอบพิพิธภัณฑ์ที่โชว์ของเยอะๆ บ้านเรามีคอลเลกชันเกี่ยวกับสัตว์ดีๆ เยอะมากในคลัง แต่เวลาเลือกมาโชว์ก็มักจะเล่ากว้างๆ ผมว่าเสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์คือการได้ฟังเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับตัวอย่างชิ้นนั้นๆ”
ความลับของลับ
ถ้ารู้ความลับไดโนเสาร์ได้ข้อหนึ่ง อยากรู้อะไรที่สุด
“อยากรู้ว่าตัวผู้กับตัวเมียแยกกันยังไง ถ้ามีโครงกระดูกเยอะพอ อาจจะพอบอกได้จากตัว Histology แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคาใจอยู่ก็คือ ผมขุดเจอกระดูกชิ้นหนึ่ง ผมคิดว่ามันเหมือนกระดูกจู๋ สัตว์บางกลุ่มลึงค์มีกระดูกที่เรียกว่า Penis Bone รูปทรงเหมือนกันเด๊ะ ผมคิดว่าดังแล้ว ระดับโลกแน่นอน เจอกระดูกจู๋ไดโนเสาร์ แต่พอศึกษาไปมันก็ยังก้ำกึ่ง ไม่ชัดเจนซะทีเดียว เลยยังคาใจอยู่ (หัวเราะ)”
