ทุกวันนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการออกแบบเมืองมาก และผู้คนหลากหลายสายงานก็ได้มีการถกเถียงเกี่ยวกับ ‘คุณค่า’ ที่เมืองในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้าจะต้องคำนึงถึง

ท่ามกลางเรื่องเทคโนโลยี และ Wellness ที่กำลังบูม ยังมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ประเด็นไหน ๆ คือ ‘Designing with Country’ หรือการกำหนดระบบการออกแบบ-วางผัง โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมของชาวอะบอริจิน ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนแรก (First Nation) ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศออสเตรเลีย แต่ปัจจุบันประวัติศาสตร์ของพวกเขาถูกทำให้เบาบางลงไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา

จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่แค่ที่เมืองจิงโจ้ ในยุคนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังเดินหน้าเพื่อเมืองที่ครอบคลุมสำหรับทุกคนมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยเองก็มีกลุ่มคนที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างแข็งขันเช่นกัน

มาดูกันว่าพวกเขาทำยังไงกันบ้าง

คำว่า Country ในบริบทของ Designing with Country นั้นไม่ได้แปลว่า ‘ประเทศ’ ตรง ๆ

‘Country’ (สะกดด้วย C ตัวใหญ่) ของชาวอะบอริจินนั้นเป็นมากกว่าผืนดิน แต่รวมทุกอย่างที่เป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ทั้งลอยสูงขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ลึกเข้าไปในเปลือกโลก และไกลออกไปในมหาสมุทร Country รวมถึงสิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ แม้แต่ตัวตนของผู้คนเองก็เป็นการสืบทอดมาจาก Country เช่นกัน

โดยทั่วไป นักออกแบบมักดีไซน์โดยยึดมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง แต่ Designing with Country มองว่ามนุษย์ สัตว์ พืช และทรัพยากรต่าง ๆ สำคัญโดยเท่าเทียมกันในระบบนิเวศ

สำหรับเราก็คิดว่า นอกเหนือจากการเคารพคนชาติพันธุ์ที่จำเป็นมาก ๆ การออกแบบบนพื้นฐานของหลักคิดนี้ก็เท่ากับดีไซเนอร์ได้ให้ความสำคัญกับธรรมชาติไปโดยปริยายด้วย สอดคล้องกับแนวทางด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมในโลกสมัยใหม่

เพื่อให้เป้าหมายสำเร็จลุล่วง หน่วยงานอย่าง The Office of the Government Architect NSW จึงทำงานร่วมกับผู้เฒ่าชาวอะบอริจิน ผู้มีความรู้เฉพาะทางด้านวัฒนธรรมอะบอริจิน และผู้เชี่ยวชาญด้าน Built Environment ในที่สุดก็ได้ออกมาเป็น Australian Indigenous Design Charter : Communication Design (AIDC:CD) ที่นักออกแบบในหน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ได้ โดยข้อที่เราว่าเป็นกุญแจหลักและปรากฏอยู่ในกฎสากลเช่นกัน คือ Deep Listening หรือการฟังอย่างลึกซึ้ง ถ้าได้ลอง ‘ฟัง’ แล้ว ความสำเร็จในขั้นอื่น ๆ ก็ตามมาได้

สำหรับประเทศไทยนั้นมีบริบทที่ต่างออกไป

ในขณะที่ออสเตรเลียมีชาติพันธุ์ที่เป็น First Nation และมีกลุ่มคนที่เข้ามาหลังจากนั้น ประเทศไทยประกอบไปด้วยหลากหลายชาติพันธุ์มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

หากพูดถึงการออกแบบเพื่อคนชาติพันธุ์ คำว่า ‘ชาติพันธุ์’ ในตอนนี้มักหมายถึงชนกลุ่มน้อยที่ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลต่าง ๆ โดยเฉพาะในป่าเขา

เมื่อเราชวนคุยเรื่อง Designing with Country ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกชุมชนผู้เดินทางไปทำงานทั่วเอเชีย ก็แบ่งปันประสบการณ์ตรงของเขา ทีมสถาปนิกชุมชน OPENSPACE ที่เขาร่วมก่อตั้ง และทีม The Center for People and Forests (RECOFTC) ในการทำงานที่ห้วยหินดำ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ 15 – 20 ปีที่แล้ว แม้เวลาจะผ่านมาหลายปีแต่เขายังจำได้แม่น

ชาวกะเหรี่ยงโปว์อาศัยอยู่ตรงนั้นมากว่า 200 ปี อยู่กันยาวนานจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นบ้านของตัวเอง แต่เมื่อรัฐต้องการจัดการป่าไม้ ชาวกะเหรี่ยงโปว์ก็ถูกผลักไสออกจากพื้นที่ สิ่งที่ชวณัฏฐ์ไปทำในตอนนั้นคือเข้าไปศึกษาวิถีชีวิตของพวกเขา และวิธีที่พี่น้องเหล่านั้นจำแนกประเภทป่า เพื่อพิสูจน์ให้รัฐเห็นว่าพวกเขาที่อยู่กันเพียง 50 หลังคาเรือน ดูแลป่า 20,000 ไร่ได้ ซึ่งทำมาตลอด 200 ปีที่ผ่านมา

หลังกลับจากห้วยหินดำในครั้งนั้น ชวณัฏฐ์เริ่มศึกษาทฤษฎี ‘Permaculture’ หรือการตั้งคำถามเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์จาก Bill Mollison และ David Holmgren อย่างจริงจัง

ซึ่งหนึ่งในคำตอบสำคัญของ Permaculture ก็คือ Indigenous Knowledge หรือองค์ความรู้ของคนท้องถิ่นที่ส่งต่อกันมา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง

กะเหรี่ยงโปว์ที่ห้วยหินดำมี Shifting Cultivation หรือการทำไร่หมุนเวียน โดยพวกเขาจะเปลี่ยนที่ทำไร่ไปเรื่อย ๆ 3 – 4 ปีถัดมาก็ปล่อยให้บริเวณนั้นฟื้นขึ้นมาเป็นป่า แล้วอีกประมาณ 10 ปีค่อยหมุนกลับมาใช้ ซึ่งต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่นั้นถูกตัดให้สูงเลยเข่าขึ้นมา จึงยังแตกยอดต่อไปได้

และการทำไร่ที่ว่าก็ไม่ได้เป็นการปลูกพืชชนิดเดียว แต่มีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นเพื่อปลูกปนลงไปจนเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายสูง อ้างอิงจากงานวิจัย นี่ก็ถือเป็นวิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ไม่เหมือนกับการนำเมล็ดไปแช่ไฮโดรเจนแบบที่โลกวิทยาศาสตร์ทำ

ไม่นานมานี้เอง กลุ่ม Refield Lab เพิ่งลงพื้นที่ชายแดนลาว ตำบลยอด จังหวัดน่าน และได้มาเล่าให้เราฟังในครั้งนี้

Refield Lab เป็นกลุ่มภูมิสถาปนิกนักออกแบบผังภูมินิเวศที่น่าจับตามอง ประกอบไปด้วย หมี-นักรบ สายเทพ, ตอง-อัตนา วสุวัฒนะ, ก๊อก-อรกมล นิละนนท์

ตำบลยอดเป็นแหล่งเกษตรกรรมของชาวบ้าน โดยแต่ละชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากที่ต่าง ๆ อย่างไทลื้อ ก่อ เมี่ยน อยู่กระจายกันไปตาม 6 หมู่บ้าน หากลองนับเวลาดูก็ราว 200 ปี หรือประมาณ 3 – 4 ชั่วอายุคนแล้ว

เช่นเดียวกันกับห้วยหินดำ ที่นี่ก็มีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินเพราะการประกาศพื้นที่ป่าสงวนใน พ.ศ. 2528 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) จึงได้มอบหมายพื้นที่นี้ให้ Refield Lab เข้าไปดูแล

ควบคู่กับการลงสำรวจพื้นที่และวิเคราะห์ข้อมูล พวกเขาได้จัดวงพูดคุยกับตัวแทนจากหมู่ต่าง ๆ ที่สนใจ เรียนรู้ว่าแต่ละหมู่มีการจัดการป่าไม้อย่างไรบ้าง

ในส่วนของพื้นที่ชันน้อยซึ่งไว้ใช้ทำเกษตรกรรม ก็ได้กางกระดาษ วาดผัง วาดรูปตัดกัน ทำความเข้าใจกันว่าปัจจุบันนี้พี่ ๆ ปลูกอะไรกันอยู่บ้าง มีปัญหาอะไร และ Refield Lab เห็นว่าควรปลูกอะไรเป็นการเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้เพื่อนำไปต่อรองกับรัฐ แสดงให้เห็นว่าผู้คนในชุมชนที่อยู่กันมาอย่างยาวนานนี้ดูแลป่าได้เป็นอย่างดี

ส่วนที่น่าสนใจเป็นพิเศษของตำบลยอดคือความเชื่อที่เข้มข้น

ชาวบ้านที่นี่นับถือผีกันจริงจัง แต่ละป่าชุมชนมีศาลบูชาผีตั้งอยู่กันเป็นปกติ โดยบริเวณรอบศาลนั้นถือเป็น ‘ป่าศักดิ์สิทธิ์’ ห้ามใครมาเมาเหล้าหรือเต้นแร้งเต้นกา ที่สำคัญก็คือป่าบริเวณนั้นจะได้รับการดูแลอย่างดีและไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าเด็ดขาด

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเล่าให้ฟังอย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อพาทีม Refield Lab เดินผ่านศาลตอนสำรวจป่า ซึ่งนอกจากทำให้เข้าใจท้องถิ่นถึงระดับจิตวิญญาณแล้ว ป่าศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ยังเป็นอีกเครื่องยืนยันให้รัฐรู้ว่าคนชาติพันธุ์นั้นแยกป่าเก็บรักษาและป่าใช้สอยอย่างชัดเจน ซึ่งป่าเก็บรักษาอย่างป่าศักดิ์สิทธิ์นั้นก็อุดมสมบูรณ์มาก

หากให้รัฐรับหน้าที่จัดการผืนป่ากว้างใหญ่และยาวนานแบบพวกเขา รัฐอาจไม่มีองค์ความรู้พอจะทำได้เลยด้วยซ้ำ

(ซ้าย) ศาลผีหน้าถ้ำ (ขวา) ภายในถ้ำ

ปัจจุบันยังมีคนชาติพันธุ์มากมายหลายพื้นที่ที่กำลังเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัย ต้องนับถอยหลังออกจากบ้านที่อยู่มานาน พื้นที่ที่ พอช. และภาคีที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งมือให้การดูแลกันก็มีมาก แต่พื้นที่ที่ยังไปไม่ถึงก็อีกมหาศาล

สำหรับสถาปนิกชุมชนที่ตระเวนมาทั่วอย่างชวณัฏฐ์ เขามองว่าประเทศที่เข้มแข็งเรื่องป่าชุมชนมาก ๆ คือเนปาล ซึ่งมีการศึกษาเรื่องป่าไม้ ตั้งกฎร่วมจากด้านล่าง (Bottom-up) แล้วกระจายอำนาจให้องค์กรท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดดูแลป่าไม้กันเอง 

ต่อเนื่องจากการทำข้อมูลป่าไม้ในแต่ละท้องที่ให้รับรู้ร่วมกันของ พอช. แล้ว เขาเห็นว่าประเทศไทยควรต้องกระจายอำนาจไปสู่แต่ละจังหวัดเช่นเดียวกันกับเนปาลด้วย

Refield Lab จัดกระบวนการกับชาวบ้านตำบลยอด

เมื่อเราถามว่า ทำไมการออกแบบโดยคำนึงถึงองค์ความรู้ของคนชาติพันธุ์จึงเป็นกระแสโลกขึ้นมาในตอนนี้ เขาตอบทันทีว่า “เพราะเรายอมรับว่าความรู้วิทยาศาสตร์แบบแยกส่วนมันล้มเหลว”

Indigenous Knowledge เป็นความรู้แบบองค์รวมที่นับรวมมิติทางจิตวิญญาณของโลก และการเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวลดทอนมิติเหล่านั้นลงไป แท้จริงแล้วโลกเราซับซ้อนกว่านั้นมาก

ซึ่งหากนักออกแบบเข้าไปเรียนรู้แต่เรื่องออกแบบ ก็อาจไม่เจอคำตอบเรื่องวิธีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างที่ต้องการ นักออกแบบจะต้องทำความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ หรือแม้แต่พิธีกรรมอย่างลึกซึ้ง เพราะจริง ๆ แล้วกระบวนการใช้พื้นที่ของเขาก็ไม่ได้แยกออกจากเรื่องพวกนั้นแต่อย่างใด

วิถีชีวิตชาวบ้านห้วยหินดำ
วิถีชีวิตชาวบ้านห้วยหินดำ

ที่ผ่านมามีคนเมืองทำการศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะนักมนุษยวิทยา นักคติชนวิทยา นักชาติพันธุ์วิทยา แต่น่าเสียดายที่ศาสตร์แขนงต่าง ๆ ในบ้านเรายังไม่เชื่อมโยงถึงกัน

แน่นอนว่า Designing with Country ของออสเตรเลียนั้นมีบริบทที่ต่างกันกับประเทศไทย แต่สิ่งที่เป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ณ ขณะนี้ ก็คือการไม่ละเลยองค์ความรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ (Indigenous Knowledge) ที่ส่งต่อกันมายาวนาน

มุมมองหรือองค์ความรู้ของคนเมืองเองก็มีข้อดี และอาจช่วยทำให้คุณภาพชีวิตบางแง่ดีขึ้นได้ แต่จะดีมากหากทั้ง 2 ทางได้ประยุกต์ร่วมกัน เพื่อออกแบบการอยู่อาศัยที่ทุกคนพึงพอใจ

พึงระลึกไว้เสมอว่าโลกไม่ได้เป็นของคนเมืองเท่านั้น หากเป็นของคนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ด้วย และมากกว่านั้นคือ พืช สัตว์ หรือสรรพสิ่งอื่น ๆ ก็ควรได้เป็นเจ้าของโลกใบนี้โดยเท่าเทียมเช่นกัน

ข้อมูลอ้างอิง
  • ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง
  • Refield Lab
  • พิสุทธิ์ ศรีหมอก OPENSPACE
  • https://citiespeoplelove.co/article/designing-with-country
  • https://freestatestudio.com/co-designing-for-a-better-design-practice/
  • https://www.bbc.co.uk/bbcthree/article/1e98f892-d352-4aef-9c4e-3b024579d867
  • https://www.governmentarchitect.nsw.gov.au/projects/designing-with-country

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน