20 กุมภาพันธ์ 2019
15 K

ช่วงหนึ่งในการสนทนากับ นัด-ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง เขาพูดขึ้นมาว่า “ถ้าเย็นนี้เราตาย เราตายได้นะ ไม่เสียดายเลย เพราะใช้ชีวิตมาอย่างดีที่สุดแล้ว”

หากประโยคที่ว่า คนพูดคือชายวัยกลางคนที่ใช้ชีวิตผ่านโลกมาค่อนชีวิต ก็คงไม่น่าแปลกอะไร แต่คนที่เรากำลังคุยอยู่ดูจะไม่เป็นเช่นนั้น ชวณัฏฐ์วันนี้ยังเป็นชายหนุ่ม อายุเพิ่งเข้าสู่หลักสี่มาไม่นาน ใครได้ฟังประโยคแบบนั้นคงอยากรู้หน่อยล่ะว่า ชีวิตไปเจออะไรมา

อาชีพชวณัฏฐ์คือ สถาปนิกชุมชน ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือชุมชนที่กำลังประสบปัญหาด้วยกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม และด้วยความรู้ความสามารถของเขามันพาเขาไปไกลกว่าขอบเขตประเทศไทย ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ชวณัฏฐ์เดินทางไปทำงานในประเทศต่างๆ ทั่วทวีปเอเชีย

ในแง่ความสำเร็จ เขาคือคนหนุ่มที่ได้รับรางวัลอโชก้า เฟลโล่ส์ (Ashoka Fellows) ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกที่มอบให้กับผู้ที่ยืนระยะทำงานนวัตกรรมทางสังคมมามากกว่า 10 ปี

บางคนอาจคิดว่าการได้เดินทางไปหลากหลายดินแดน ได้ทำงานท่ามกลางทิวทัศน์ของเทือกเขาหิมาลัย หรือได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ นี่คือสิ่งเติมเต็มชีวิตแล้ว แต่สำหรับชวณัฏฐ์ เขาตอบได้ทันทีว่ายังไม่ใช่ เพราะสิ่งที่เขาค้นพบนั้น…ล้ำค่ากว่า

มาทำความรู้จักกับชวณัฏฐ์ไปด้วยกัน คุณอาจจะพบว่าสิ่งล้ำค่านั้นคืออะไร และเมื่อทำความรู้จักชีวิตของเขาแล้ว อาจทำให้กลับมาขบคิดถึงคำถามสำคัญด้วยว่า จะใช้ชีวิตอย่างไร ให้ถึงวันหนึ่งเราจะพูดได้ว่า “ใช้มันอย่างดีที่สุดแล้ว”

ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชียด้วยการออกแบบ และการฟังความฝัน
ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชียด้วยการออกแบบ และการฟังความฝัน

อนุญาตให้ความหลงใหลช่วยขีดร่างเส้นทางชีวิต

ชวณัฏฐ์เป็นบัณฑิตสถาปัตย์ เรียนจบมาพร้อมกับเป้าหมาย 2 อย่าง

อย่างแรก อยากพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นสถาปนิกจริงๆ ในโลกใบนี้ได้ไหม ถ้าจะเป็น จะเป็นมันอย่างไร และอีกเป้าหมายคือ อยากเรียนรู้งานออฟฟิศ อยากรู้ว่างานสถาปนิกในออฟฟิศต้องเจออะไรบ้าง เพื่อในที่สุดวันหนึ่งจะออกมาทำเอง

ตอนนั้นชวณัฏฐ์ตั้งใจว่าจะทำงานออฟฟิศแค่ปีเดียว เมื่อค้นพบอะไรที่สำคัญแล้วจะออกมาเอาตัวรอดด้วยตัวเอง เขาบอกว่าโชคดีที่ได้ทำงานกับออฟฟิศเล็กๆ ซึ่งมีเจ้านายและเพื่อนร่วมงานที่ดี ได้ทำงานออกแบบในภาคใต้ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดที่เขารัก งานนั้นเขาต้องลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล พาเขาไปเห็นสิ่งดีๆ ในวัฒนธรรมท้องถิ่น วิธีคิดของชุมชน ที่ทำให้คำถามที่เคยค้างคาใจเรื่องจะเปลี่ยนผ่านสิ่งดีงามที่สืบเนื่องมาจากอดีตไปสู่อนาคตได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้วนเวียนในใจเขาเรื่อยมา

มันน่าสนใจยังไง ทำไมจึงสนใจเรื่องเหล่านี้

“อาจเพราะเห็นสิ่งดีๆ เยอะ เรารักประเทศนี้ เราเติบโตมาจากจังหวัดตรัง ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่งดงาม มีวันเวลาดีๆ ที่เคยไปเที่ยวทะเลกับที่บ้าน เรียนว่ายน้ำครั้งแรกก็ในแม่น้ำที่สวยมาก พอมาเป็นสถาปนิก ก็เลยอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เราจะทำอะไรได้บ้างในสิ่งที่เรารักเหล่านี้ เรารักผู้คน รักวัฒนธรรม รักธรรมชาติของบ้านเรา เราเห็นคุณค่ามัน อยากทำในสิ่งที่พอทำได้

“ตอนเรียนก็ทำวิทยานิพนธ์เรื่องทำนองนี้ คือการเปลี่ยนผ่านของชุมชนริมทะเลสาบทะเลน้อยที่พัทลุง ได้ขลุกอยู่ในพื้นที่ ไปดูว่าชาวบ้านเห็นคุณค่าอะไร เราสนใจงานการออกแบบที่สอดคล้องกับชุมชน โดยยึดเอาแนวความคิดของหมอประเวศ วะสี เรื่องประชาคมตำบล ที่ให้หน่วยที่เล็กสุดให้ดูแลตัวเอง ถ้าเล็กสุดทำได้ มันจะมีพลังต่อกรกับการเปลี่ยนแปลง เราชอบเรื่องนี้มาก

“ตอนนั้นอ่านคานธีเรื่องสัตยเคราะห์ เรื่องชุมชนพึ่งตัวเอง ก็หลงใหลเลย รู้สึกว่าน่าจะต้องมีคนลงไปทำงานกับชุมชน กับพื้นที่ กับระบบนิเวศ ชุมชนที่เขารักษาสิ่งดีๆ มา แต่การพัฒนาสมัยใหม่เข้ามาก็เลยลักลั่นกันอยู่ตรงนั้น เหมือนจะขาดอะไรบางอย่างที่ชุมชนจะหาทิศทางเพื่อเดินไปข้างหน้าด้วยตัวเอง เราก็คิดตลอดว่าอยากทำงานแบบนี้ แต่ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร สับสนว่ายังเป็นสถาปนิกอยู่ไหม ตอนนั้นไม่รู้จักสถาปนิกชุมชนเลย”

ทำงานออฟฟิศเข้าสู่เดือนที่ 6 ความฝันที่ยังค้างเรื่องงานชุมชนเริ่มคุกรุ่นในใจชวณัฏฐ์ เขารู้สึกว่ามีงานที่รอเขาอยู่ แต่ไม่เห็นมีใครทำ เขาเริ่มเอาเรื่องนี้ไปคุยกับผู้คนรอบตัว ก่อนจะได้รับคำแนะนำให้ไปรู้จักกับรุ่นพี่ที่ทำกลุ่ม CASE (Community Architects for Shelter and Environment) และในที่สุดเขาก็ผลักดันตัวเองเพื่อเข้าไปร่วมเป็นอาสาสมัครให้กลุ่ม CASE ในวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งตอนนั้นกำลังทำโครงการพัฒนาชุมชมคลองเปรม ซึ่งกำลังถูกไล่รื้อ

ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชียด้วยการออกแบบ และการฟังความฝัน

คุณได้เรียนรู้อะไรจากงานนั้น

“รู้สึกเหมือนเป็นโลกใหม่ สนุกมาก ครั้งแรกที่ได้ลงพื้นที่สลัม เราได้เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้น ภายนอกอาจดูทรุดโทรม แต่พอเข้าไป มันเต็มไปด้วยปัญญานอกระบบ (Informal Wisdom) ถ้าสถาปนิกท้าทายตัวเองด้วยการลงพื้นที่ไปในสลัม แล้วตั้งคำถามว่ามนุษย์จะสร้างบ้านได้กี่แบบ คุณจะพบวิธีสร้างบ้านที่หลากหลายมาก รูปแบบอาจดูคล้าย แต่ถ้าไปดูวิธีคิด วิธีการสร้าง สัดส่วน มันมีความเฉพาะมาก เป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านเขาคราฟต์กันเอง นั่นคือความสามารถของความพยายามจะดำรงอยู่ด้วยการใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด

“บ้านเหล่านั้นไม่ต้องลงทุนเยอะ เพราะไม่ใช่ที่ดินตัวเอง แต่เขาทำหน้าที่ปกปักรักษาความฝันและครอบครัวของเขาไว้ในความทรุดโทรมนั้น ที่ยอมอยู่ในบ้านโทรมๆ เพราะเงินทุกบาทต้องเก็บไว้ให้ลูกได้มีอนาคตที่ดีกว่า เราฟังแล้วขนลุก

“ตอนเข้าไป เราเป็นสถาปนิกก็คิดแต่อยากให้ชุมชนสวย แต่ไม่เข้าใจเงื่อนไขในโลกของเขาเลย ว่าสำหรับเขาแล้ว บ้านหมายถึงชีวิต คือครอบครัว คืออนาคตลูกหลาน เราว่านี่คือความสวยงาม เมื่อได้นั่งฟังคนเล่าความฝันของเขา ไม่ใช่ว่าเราไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ทำให้เห็นว่าสาระสำคัญของการสนับสนุนคนในชุมชนแออัดควรจะอยู่ตรงไหน

“บ้านคือที่อยู่ของจิตวิญญาณ เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ว่าสร้างด้วยราคาเท่าไหร่ บ้านต้องมีกระบวนการที่ให้ความหมาย แล้วเราพบสิ่งนี้เมื่อได้ทำงานกับคนจน ในชุมชนที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่จริงๆ แล้วมีเยอะ มีความรัก ความเสียสละ บางคนทำงานก็ยุ่งมากแล้ว แต่เลิกงานยังต้องมาช่วยดูแลเด็กๆ ต้องดูแลคนป่วยในชุมชน เราสงสัยในบางทีว่าทำไปทำไม แต่เขาทำเพราะเขามีจิตใจสูง ไม่จำยอม หลายครั้งที่เราได้พี่ๆ เหล่านั้นเป็นครู ที่เตือนเราถึงหนทางง่ายๆ ของการเติบโต ของการมีความรักให้ผู้อื่นโดยไม่คาดหวัง”

เดือนแล้วเดือนเล่าที่ผ่านไป ความเป็นอาสาสมัครก็ค่อยๆ ครอบงำงานประจำของชวณัฏฐ์ เขาเหมือนจะรีบคิดๆ รีบทำๆ งานประจำให้เสร็จ เพื่อจะได้มานั่งวางแผนว่าเสาร์-อาทิตย์นี้จะเตรียมกระบวนการอะไรให้กับชุมชน คล้ายจะเฝ้ารอทั้งสัปดาห์เพื่อไปทำงานอาสาในวันหยุด ความรู้สึกนี้แหละที่ทำให้ในที่สุดเขาก็มั่นใจว่า เขาพบงานที่ใช่แล้ว จึงตัดสินใจลาออก

ลาออกจากงานประจำ เพื่อไปทำงานอาสาสมัคร เหมือนตัดสินใจโดยไม่เห็นว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญ

“เดี๋ยวๆ เงินสำคัญกับเรานะ (หัวเราะ) ตอนนั้นก็กังวลอยู่ เพราะต้องหาเงินเอง ไม่ได้ขอพ่อแม่แล้ว แต่มันไม่มีอะไรเสียหายนี่ เอาเงินเก็บมาดูแล้ว คิดว่าถ้าใช้อย่างประหยัด ต่อให้ไม่มีเงินเข้ามาเลย จะอยู่ได้ 6 เดือนแน่นอน คิดแค่นั้น ทุบหม้อข้าวทิ้งเงินเดือนหมื่นห้าออกไปลองดู ตั้งใจว่าเอาวะ อายุแค่ 23 เอง ขอลองงานนี้ให้สุดไปเลยสัก 6 เดือน

“เวลาชีวิตเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลง มันมักจะเริ่มจากความคิดจากข้างในว่า อันนี้มันใช่ หรือไม่ใช่สำหรับเรา พอเราเริ่มค้นหา ก็จะมีสัญญาณเข้ามาถึงเรา แล้วเราก็มักจะเชื่อในสัญญาณนั้น (หัวเราะ)”

ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชียด้วยการออกแบบ และการฟังความฝัน
ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชียด้วยการออกแบบ และการฟังความฝัน

ที่บ้านว่าอย่างไรที่รู้ว่าเราทำงานนี้

“เอาจริงๆ นะ เวลาพ่อแม่ถามว่าทำไมต้องไปทำงานในสลัม หรือเขาพูดถึงสิ่งที่คิดเกี่ยวกับสลัม เราเข้าใจเลยว่าคนภายนอกคงเข้าใจเรื่องนี้ยาก อธิบายยาก เพราะคงต้องให้เข้าไปสัมผัสเองจึงจะเข้าใจ”

เมื่อชวณัฏฐ์ตัดสินใจทำเต็มตัวแล้วก็สนุกกับงานมาก และจากที่คิดว่าจะทำอาสาสมัครแบบไม่มีรายได้ไปสักครึ่งปี ก็กลายเป็นว่าก็มีโปรเจกต์ที่กำลังหาสถาปนิกที่ทำกระบวนการชุมชนกับผู้พักอาศัยใต้สะพานพระราม4 ที่กำลังจะโดนไล่รื้อ เขาได้ทำงานนี้โดยมีเงินเดือนให้ด้วย แม้จะน้อยลงกว่าที่เคยได้ แต่ก็ถือว่าดีกว่าที่คาดไว้เยอะ

ได้เรียนรู้อะไรจากงานนั้นบ้าง

“งานชุมชนไม่เหมือนงานออกแบบที่เรียนมาเลย งานออกแบบหาโจทย์กับลูกค้า แต่งานชุมชนต้องไปหาโจทย์เอง โจทย์อยู่ทั้งในความต้องการชุมชน บริบทของเมือง คนนอกที่มองเข้ามา ความต้องการของเจ้าของที่ดิน รวมถึงการเมืองในขณะนั้น มีปัจจัยตั้งหลายอย่างทั้งที่มองเห็นและไม่เห็นเพื่อไปสู่คำตอบว่า การดำรงอยู่ของชุมชนนี้ควรเป็นอย่างไร ชุมชนคิดอย่างไร และถ้าจะอยู่ตรงนี้จะอยู่อย่างไร ถ้าเราไปพร้อมกับคำตอบว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เหมือนไปแบบปิดประตูความเป็นไปได้ แต่ถ้าไปด้วยคำถามว่า ฝ่ายต่างๆ คิดอย่างไร เราอาจเจอคำตอบที่หลากหลาย วินวินทุกฝ่าย

“เปลี่ยนชุมชนก็คือการเปลี่ยนเมืองด้วย ไม่ใช่จะเปลี่ยนสลัมให้ถูกกฎหมายหรือสนับสนุนให้คนมายึดที่สาธารณะ เราอยากทำงานให้คนในชุมชนเห็นศักยภาพของตัวเอง สร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาจากในนั้น สนับสนุนให้มีการพูดคุยอย่างเท่าเทียมระหว่างคนไม่มีอำนาจและคนที่มีอำนาจ

การเปลี่ยนแปลงจากในชุมชนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

“เริ่มง่ายๆ จากทำความเข้าใจสิ่งที่เป็น คุยกับเขาว่ามาอยู่ที่นี่เพราะอะไร เขาเห็นคุณค่าอะไร สิ่งสำคัญของการอยู่ตรงนี้คืออะไร เริ่มทุกโครงการด้วยมุมมองของเขา โดยใช้ความเป็นคนนอกของเราถามไปอย่างซื่อตรง

“อย่างโครงการชุมชนใต้สะพานพระราม 4 เขาอยู่กันตรงนั้นมากว่า 10 ปี ก็เริ่มจากการคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมกับการออกแบบ เราก็ชวนให้คนมารวมตัวกันคิดถึงอนาคต คุยกันทุกเย็น ทำความเข้าใจกัน แล้วก็เริ่มกระบวนการฝัน องค์กรเราไม่ได้มีเงินเยอะ แต่อยากช่วยเรื่องกระบวนการพูดคุย จากที่ต่างคนต่างอยู่ ก็ได้มาแชร์ความฝัน ทำให้เจอความคิดความฝันหลายอย่างที่มีร่วมกัน

“พื้นที่ตรงนั้นทำให้เขาค่อยๆ เสนอทางออก ซึ่งตลอดมาโครงสร้างสังคมทำให้เขาไม่สามารถแสดงความคิดได้ เราอยากแสดงให้เห็นว่า ถ้าคนเรามีโอกาส เขาสามารถจัดการ สร้างสรรค์ และหาทางออกได้ ไม่มีใครอยากอยู่แบบนี้

“5 หลังแรกก็ช่วยกันคิดช่วยกันทำด้วยเงินแค่หมื่นเดียว เราเป็นสถาปนิกยังคิดไม่ออกเลยว่าเงินแค่นั้นจะปรับปรุงยังไง แต่เขามีความคิดและเสนอกันเอง อย่างเขามีฝันว่าอยากมีห้องน้ำรวมให้ทุกคนใช้ได้ อยากปรับปรุงทางเดินให้ไปมาหาสู่สะดวก แล้วความที่ทุกคนเป็นช่างก่อสร้างก็ช่วยกันเสนอความคิด บางคนเสนอว่าถ้าอยากปรับปรุงไม่ยากหรอก เขารู้ว่าไม้มือสอง กระเบื้องมือสองหรือวัสุดถูกๆ อยู่ตรงไหน สามารถเอาเงินซื้อวัสดุใหม่ไม่เท่าไหร่ และสามารถใช้การรื้อวัสดุเก่ามาปรับปรุง หรือขอบริจาคสี แล้วก็ใช้เวลาเสาร์-อาทิตย์ทำ ทำเสร็จนั่งคุยกัน

“แค่ 2 สัปดาห์ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้คนต่างก็สงสัยว่าทำได้อย่างไร แล้วมีการเชิญเจ้าของที่ดิน หน่วยงานที่ให้ทุน ลงไปดูว่านี่เป็นจุดเริ่มต้น อาจขยายไปในชุมชนอื่นได้ แล้วเราก็จัดตั้งแบบนี้ไปอีกสองร้อยกว่าหลัง ซึ่งเป็นงานที่หนัก แต่ก็ได้น้องๆ อาสาสมัครมาช่วยกัน นี่เป็นจุดเริ่มที่เรียกได้ว่าฟินทุกวันที่ได้เข้าไปในชุมชน ไม่ได้ฟินเพราะเราเจอเรื่องสุขสบาย แต่ฟินเหมือนได้ปีนหิมาลัย

ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชียด้วยการออกแบบ และการฟังความฝัน
ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชียด้วยการออกแบบ และการฟังความฝัน

ความรู้สึกฟินที่ว่านั้นสำคัญกับคุณยังไง

“เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำมีความหมาย ไม่ได้บอกว่างานนี้ดีกว่างานสถาปนิกอื่น ทุกการออกแบบมีความหมายในแบบของมัน เราแค่อยากหาความหมายในชีวิตผ่านการงาน แล้วเราก็มาเจอสิ่งนั้นในงานนี้

“เราพบว่างานที่เราทำนิยามง่ายๆ ว่า เราสร้างพื้นที่ให้คนได้ค้นพบศักยภาพตัวเองและระหว่างกันและกันผ่านกระบวนการออกแบบ เวลาคนลุกขึ้นมาทำการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง เขาจะจำได้ว่าเมื่อก่อนมันผุพังแค่ไหน แต่วันนี้เขาสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมานะ และสร้างมันร่วมกับคนอื่นๆ เราหลงใหลสิ่งนี้

“ฉะนั้น เวลาเห็นเขามีความฝัน มีแรงบันดาลใจ มีการเห็นพ้องที่จะเปลี่ยนแปลง มันโคตรฟิน เพราะเป็นสาระที่สุดของการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ดีไซน์ที่ดีที่สุด แต่เป็นเจตนาที่อยากจะอยู่บนโลกนี้อย่างงดงามที่สุด ถ้ามีเจตนานี้ มีความเข้าใจนี้ ในการออกแบบมันจะทรงพลังมาก

“จริงอยู่ เข้าไปก็ได้เจอเรื่องน่าหดหู่ใจอยู่บ้าง เจอคนเสพยาเสพติด เจอคนมาขอเงิน รู้สึกน่าเสียดายที่คนหนุ่มสาวไม่เห็นศักยภาพตัวเอง แต่ในอีกด้าน เราก็เห็นคนไม่จำยอม ในสลัมเป็นที่ทรัพยากรน้อย เป็นที่ที่ตกต่ำสุดในสายตาคนนอก แต่เราเห็นคนที่ไม่ยอมจำนน พยายามสร้างสิ่งสวยงาม พยายามทำเพื่อเด็กๆ ในชุมชน แต่มันไม่ถูกเห็นไง ไม่ถูกรับรู้ เราก็พยายามตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้สิ่งดีๆ เหล่านี้เข้าสู่การพูดคุยและเป็นขุมพลังในการสร้างชุมชนของเขา

เห็นอะไรบ้างในการแก้ปัญหาเรื่องสลัมของบ้านเรา

“การแก้ปัญหาสลัมไม่ใช่แค่ไปเอาแนวคิดจากปารีส เนเธอร์แลนด์ มายัดใส่ที่นี่ ที่ปัญหาสลัมแก้ไม่ได้เพราะรัฐมองว่าคนเหล่านี้เป็นปัญหา มันเข้ามายึดที่ดิน แล้วก็แก้ไขด้วยการไปสร้างที่อยู่อาศัยที่เหมือนจะดีในพื้นที่ที่เขาไม่ต้องการ ย้ายเขาไปอยู่ไกลแหล่งงาน ไกลจากที่ลูกเขาเรียน เขาไปแล้วก็ต้องจ่ายมากขึ้นจนอยู่ไม่ไหว ในที่สุดเขาก็กลับมายึดที่ใกล้ๆ อีก เป็นวงจรแบบนี้อีก

“เราต้องตั้งคำถามว่า ที่อยู่อาศัยทำหน้าที่อะไรให้เมือง แต่เราไปเริ่มด้วยคำตอบว่า ที่อยู่อาศัยคือนั่นคือนี่ มันก็ผิดแล้ว ถ้าเราคุยกันแล้วพบว่ามันคือที่พักราคาถูกให้กับแรงงานของเมือง เมืองต้องการแรงงานราคาถูก เมืองต้องการคนในภาคบริการในจำนวนมาก แต่เราตระเตรียมที่พักอาศัยให้พวกเขาแค่ไหน รัฐไม่เคยทำสิ่งนี้ไว้เพียงพอ คนก็เลยต้องหาทางกันตามยถากรรม

“ถ้ากรุงเทพฯ ไม่มีแรงงานเหล่านี้ เศรษฐกิจอยู่ไม่ได้หรอก ถ้ามองแบบแฟร์ๆ สลัมก็เหมือนสตาร์ทอัพของคนที่จะพยายามจะดำรงอยู่ในเมือง ทางแก้คือการตั้งคำถามว่าจะปรับปรุงให้ดีขึ้นกันได้อย่างไร”

เท่าที่ฟังดู การทำงานชุมชนของคุณไม่ได้ถูกขับดันด้วยความสงสาร

“ใช่ เราไม่ได้เข้ามาสู่งานนี้ด้วยความรู้สึกแบบนั้น เราไม่สงสารใครง่ายๆ ความรู้สึกสงสารก็มีนะ แต่ไม่ใช่ตัวขับดัน เรามองเป็นความท้าทายมากกว่า ที่จะได้ทำตามคำมั่นของตัวเองที่จะลองทุ่มไปให้สุดทางโดยไม่ถอย แล้วการเข้ามาทำงานให้ชุมชนก็มีสาระบางอย่างที่เราสนใจ มีความรู้ในการจัดการกับทรัพยการที่น้อยมาก เขาเผชิญกับปัญหาโดยไม่สูญเสียความรักความหวัง มันโคตรดึงดูดเลย ถ้าเข้าใจอันนี้ได้ มันเป็นขุมพลังที่อยู่ที่นั่น ปัญหาก็จะไม่น่ากลัว เพราะมันจะแก้ได้ จัดการได้”

จากนั้นการทำงานภายใต้มูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเซีย (Asian Coalition for Housing Rights) ที่เขาสังกัด ชวณัฏฐ์ได้ย้ายฐานไปทำงานในหลายๆ ประเทศในเอเชีย ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวด้านสถาปนิกชุมชน ซึ่งหลายประเทศในเอเชียช่วงนั้นเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนา

และที่ไหนเปิดต่อกลุ่มทุน การไล่รื้อก็มักจะเกิดขึ้น…

ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชียด้วยการออกแบบ และการฟังความฝัน
ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าประเทศต่างๆ ที่คุณเข้าไปทำงานชุมชนในตอนนั้นมีอะไรน่าสนใจบ้าง

“เราชอบเดินทาง เวลาออกไปยิ่งทำให้เห็นตัวเรา กับประเทศนี้ชัดขึ้น สิบกว่าปีหลังมานี้เราไปทั่วเอเชีย ทุกประเทศที่ไปก็ต้องเข้าไปในสลัม ก็ยิ่งยืนยันความมั่นใจว่า ถ้าเราเข้าใจสลัม ทุกเมืองมีความหวัง เพราะปัญญานอกระบบในนั้นมีพลังมาก เป็นแนวหน้าของการเปลี่ยนแปลงในโลกใหม่ที่เราจำเป็นต้องเข้าใจ ในพื้นที่ที่ทรัพยากรน้อย แต่มีความหลากหลาย และมีความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมือง คนอยู่ร่วมกันได้อย่างไรโดยไม่สูญเสียความหวัง ความไว้วางใจ

“ไม่ใช่แค่คนในสลัมจะมีทรัพยากรน้อยอย่างเดียว แต่ยังถูกกดทับ มีการดูถูก ราวกับคนเหล่านี้คือปัญหา เหมือนเชื้อโรคร้าย แต่เราเข้าไปแล้วพบว่าเขาก็คือคนที่พยายามดิ้นรนเพื่อให้ดำรงอยู่ได้ มันเป็นพลังซื่อๆ ที่รับรู้ได้ มีทางออกหลายอย่างอยู่ตรงนั้น เราก็ไปฟัง ไปถาม ไปคุย ไปทำให้เขาเริ่มตั้งคำถาม ไปสร้างพื้นที่ของการเรียนรู้ หลายปัญหาก็ค่อยๆ แก้ไป

“เราจึงจะเห็นว่าคนไม่ใช่ปัญหา แต่มันอยู่ที่ระบบที่ทำให้สังคมมองไม่เห็นในสิ่งนี้ ปัญหามันอยู่ในระบบที่เชื่อว่าเมืองต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เมืองต้องเป็นแบบเซี่ยงไฮ้ นิวยอร์ก ไม่เคยเห็นเมืองในแบบที่จะเป็นจริงๆ เมืองที่โตจากปัญญานอกระบบ ร่วมไปกับส่วนอื่นของเมืองที่ผู้คนอยากปกปักรักษา เมืองต้องโตในแบบเฉพาะของมัน

“มันจะเป็นเฟิร์สคลาสซิตี้ทั้งหมดได้ไง มันเป็นภาพลวงตา ผู้คนในเมืองแบบนั้นต้องมีเงินมากมาย ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล คนน้อยมากที่จะเอนจอยไลฟ์แบบนั้นได้ หลายเมืองในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยนักลงทุน เลยลืมรากเหง้า ลืมจุดมุ่งหมายที่คนเรามาอยู่ร่วมกัน

“ช่วงแรกที่เราทำงานกับชุมชน เขายังใช้วิธีการเผาไล่สลัม ไล่กันเหมือนหมูหมา เอาตำรวจมาล้อม เหมือนเป็นโจรขโมย วันแรกที่เราไปกัมพูชาเพื่อไปช่วยปรับปรุงชุมชน ปรากฏว่าถึงสนามบินที่นั่น ชุมชนที่เราจะไปโดนเผาไปเรียบร้อย เราก็ต้องรีบไปช่วยชาวบ้านขนย้ายของ ความรู้สึกตอนนั้นคือทำไมต้องทำลายชีวิตกันด้วย มันเจ็บปวดนะ

“ที่กัมพูชาตอนนั้นไม่มีสถาปนิกที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน แล้วเขามีประวัติศาสตร์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเอง เขามีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน รวมกันไม่ได้ แบบที่เราทำในเมืองไทย เราได้เรียนรู้ว่าการไม่ไว้วางใจกันมันทำลายทุกอย่าง ตราบใดที่เราไม่เจอช่องทางในการทำให้คนมารับฟังกันและกัน ไว้วางใจกัน มันไม่มีความหวังเลย เราเลยต้องหาตลอดว่า อยู่กันมา 10 ปี เขามีประเพณีอะไร คนเขารวมตัวกันผ่านอะไร อะไรที่ทำให้เขาอยู่รวมกัน ถ้าเราเจอก็เป็นประตูที่จะร้อยเรียงกระบวนการที่เหลือ

“ตอนเราไปทำงานกับเพื่อนที่พม่า ช่วงปี 2010 พม่ายังปิด ชาวบ้านบางชุมชนโดนทหารไล่รื้อมาตลอดชีวิต ไม่เคยมีบ้านของตัวเอง มันน่าสะเทือนใจมาก กระบวนการออกแบบตอนนั้นแอบไปทำในชุมชน รัฐบาลทหารไม่อนุญาตให้คนลงไปในสลัม ก็ต้องแอบเสี่ยงเข้าไป รีบทำให้ทุกอย่างจบในสามสี่วัน ให้ชาวบ้านล้อมวง เวลาเขาเล่าถึงความเจ็บปวดนั้นเขามีน้ำตา แต่ขณะเดียวกันก็มีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ มีความกล้าหาญที่จะยืนหยัดในการมีชีวิตต่อไป เรามอบกระดาษและสีจากมือเราให้เขา แล้วมาร่วมกันวาดบ้านในฝันและชุมชนในฝันของทุกคนว่าเป็นอย่างไร เราเห็นแววตาที่เขารับสีเราไป วาดไประบายสีและคุยกันไป ตอนแรกก็เขียนกันเงียบๆ เขียนไปๆ เริ่มคุยกันออกรสเลยว่าต้องมีก๊อกน้ำตรงนั้น มีคอกเลี้ยงหมูตรงนี้

“เป็นช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่ามันมีพลัง เวลาที่ปากกาหรือสีถูกส่งจากมือของสถาปนิกไปสู่มือของคนที่เป็นเจ้าของความฝัน คนต้องได้รับพื้นที่ที่จะกำหนดชีวิตตัวเอง มันเป็นสิ่งล้ำค่าที่สุดในชีวิตที่เราได้ค้นพบ เรากำลังคราฟต์สิ่งนี้ในชีวิต เหมือนได้รับการเติมเต็ม แทบจะร้องไห้เลยนะโมเมนต์นั้น เพราะมันไม่ใช่แค่ตาเราที่เห็น แต่เราได้สัมผัสถึงความเบิกบานของคนที่ถูกกดทับ โดนไล่รื้อ โดนดูถูกเหยียดหยาม แล้ววันหนึ่งเขาได้ฝัน ได้มีสิทธิกำหนดชีวิตตัวเอง แม้จะเป็นเพียงภาพฝัน แต่มันมีพลัง

“ที่อินโดนีเซีย เขามีวัฒนธรรมชุมชนที่เข้มแข็ง มีเอ็นจีโอพร้อมลุยแตกหักกับทางการ สมัยนั้นยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมของความต้องการชาวบ้าน แต่ถ้าไปดูในระดับชุมชน เขาสร้างสรรค์มาก บ้านในสลัมนี่เอารางวัลสถาปัตยกรรมไปเลยดีกว่า คนของเขาเก่งมาก คราฟต์อยู่ในชีวิต เต็มไปด้วยศิลปะ เราหลงใหลอินโดนีเซียในเรื่องนี้มาก

“ทำให้ย้อนกลับมามองที่บ้านเรา เรารู้สึกว่าความเจริญได้ทำลายคราฟต์ในการอยู่อาศัยไปเยอะ ความเจริญทำให้คนเลิกทำงานคราฟต์ เพราะไม่มีเวลาทำ งานช่างไม้ ช่างแกะสลักเก่งๆ เดี๋ยวนี้ก็หายากแล้ว เพราะผู้คนไม่เห็นคุณค่า ไม่มีนโยบายสนับสนุนให้งานคราฟต์เหล่านี้ยังคงอยู่ แต่งานช่างต่างๆ ของอินโดฯ ยังอยู่ในชีวิตประจำวัน”

มันมีข้อเสียอะไรบ้างสำหรับเมืองที่สูญเสียงานคราฟต์ของตัวเองไป

“สูญเสียความภูมิใจในตัวเอง คราฟต์เป็นรากเหง้ายาวนานส่งต่อรุ่นสู่รุ่น มีเรื่องราว บางชิ้นงานซ่อนสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณ อย่างรูปแกะ ลายผ้าในอดีต มันเป็นเรื่องราวในธรรมชาติ มีความผูกพันของชุมชน ถ้าคราฟต์หาย เรื่องราวที่ซ่อนก็หาย คราฟต์สามารถวิวัฒน์ตัวเองให้ขายได้ในยุคสมัยนะ ถ้ามีการสนับสนุน

“ที่แย่กว่านั้นคือ มันทำลายความหลากหลายในการแสดงออกศิลปะ ความหลายหลายในการพึ่งตัวเอง เวลาคนคราฟต์ เขาเอาตัวเองไปสัมพันธ์กับวัสดุท้องถิ่นปัจจุบัน มันมีพลัง ถ้าได้ทำอะไรด้วยมือเพื่อส่งต่อให้ผู้อื่น มันคือการยืนบนศักยภาพของเรา ถ้าได้แสดงออกถึงความหลากหลายของความเชื่อความคิด ปั้นถ้วยเอง ใช้ดินแบบนี้ สื่อสารแบบนี้ มันมีค่ากว่าซื้อจากสินค้าในระบบอุตสาหกรรม ความหลากหลายมันรุ่มรวย เหมือนสิ่งที่อยู่ในระบบธรรมชาติ ซึ่งพอขาดไป ก็ขาดการดื่มด่ำชื่นชม ทุกอย่างในชีวิตต้องซื้อหา ต้องเดินตามคนอื่น ความหมายของเราก็ไปขึ้นอยู่กับคนอื่น

“คราฟต์ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง เราไม่ได้หมายถึงแค่งานหัตถกรรม แต่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ในชีวิต อย่างแค่การทำกับข้าวที่แม่ทำให้เรากิน เขารู้จักเรา เขารู้ว่าเราชอบอะไร ซึ่งมันเป็นสิ่งที่พิเศษ”

ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชียด้วยการออกแบบ และการฟังความฝัน
ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชียด้วยการออกแบบ และการฟังความฝัน

ร่างกายจิตใจพังทลาย และการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่

ดูเหมือนงานที่ชวณัฏฐ์ทำอยู่จะไปได้ดี มีเรื่องน่าตื่นเต้นเกิดขึ้นกับชีวิตไม่หยุดหย่อน เขาเริ่มประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก มีประสบการณ์แปลกใหม่ แต่ในวันหนึ่งจุดเปลี่ยนก็มาถึง เขาก็ตื่นมาแล้วเคลื่อนไหวแขนขวาไม่ได้ ร่างกายเกร็งแข็ง ปวดร้าวไปหมด

มันเกิดอะไรขึ้นตอนนั้น

“มีความเครียดหลายอย่างในการทำงาน มีความผิดหวังกับการทำงาน เพราะเราลงแรงไปเยอะ แต่สุดท้ายชาวชุมชนก็ขายบ้านบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ออฟฟิศที่เราทำกับเพื่อนก็เกิดปัญหา ทำให้รู้สึกหมดศรัทธากับตัวเอง หมดศรัทธาในตัวมนุษย์ เครียด จิตตก เมื่อบวกกับการทำงานหนักสะสมมาเป็นเวลานาน ความเจ็บป่วยก็สะท้อนออกมาทางร่างกาย จับปากกาเขียนอะไรยังไม่ได้เลย พยายามจะเคลื่อนตัวก็ร้าวไปหมด ทรมานมาก ต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัดอยู่ครึ่งปี

“ช่วงนั้นทุกข์มาก เก็บตัวอยู่บ้าน ไม่อยากพบเจอใคร อยู่กับความคิดวนเวียนว่าเรามาถูกทางไหม เราเคยได้ยินคำพูดของการแพทย์แผนจีนบอกไว้ว่า ความโกรธทำลายตับ ความเศร้าทำลายปอด มันเป็นจริงแบบนั้นเลย กายกับใจไม่ได้แยกจากกัน การเยียวยาไม่ใช่กินยาแล้วหาย อาจหายแป๊บนึง แต่เหตุที่แท้จริงคือ รูปแบบความคิด พฤติกรรมมันทำให้เราป่วย”

คุณได้อะไรจากการเจ็บป่วยครั้งนั้น

“ได้คำว่า ช่างแม่ง (หัวเราะ) จากโฟกัสที่เคยมีแต่ความสำเร็จ ทุ่มชีวิตให้งาน คิดหาหนทางจนเหนื่อย จิตใจสับสนไปหมด ก็กลับมาอยู่ที่เอาให้ร่างกายนี้เป็นปกติก่อน ความสำเร็จต่างๆ มันไม่มีความหมายเลย ถ้าเจ็บป่วยแบบนี้ เราไม่สามารถทำงานอะไรได้ ไม่สามารถรับรู้ความงามในโลกได้ ถ้าละเลยร่างกาย ทุกครั้งที่ไปทำกายภาพบำบัด หมอจะพูดถึงโยคะ พอไปศึกษาและทำดู ก็เป็นครั้งแรกที่ได้รู้สึกถึงความมหัศจรรย์ของการทำงานร่วมกันของกายและใจที่ประสานกันกับลมหายใจ

“ช่วงที่ร่างกายจิตใจผุพังเป็นช่วงที่ได้ช้าลง เราพบว่าที่ผ่านมาเราให้ค่ากับความล้มเหลวมากมากเกินไป แทนที่จะมองชีวิตว่ามันเป็นกระบวนการของการเรียนรู้ การเจอความเจ็บป่วยตอนนั้นก็ดี ทำให้เราหักเหกลับมาสู่ด้านใน ค้นพบมิติที่เราลืมไป เรารับรู้ได้ว่าร่างกายมีพลังเยียวยาตัวเอง เราใช้การรักษาแบบกายภาพบำบัด ไม่ได้ใช้ยาหรือเคมีใดๆ แค่ใช้การฝึกกายใจ พักผ่อนให้เพียงพอ มีชีวิตง่ายๆ บริโภคน้อย คิดน้อย เราตระหนักว่านี่แหละที่หายไป เราลืมข้างในไป ถ้าเข้าใจ รับรู้ถึงธรรมชาติของร่างกายและใช้ชีวิตไปตามนั้น สุขภาพจะดีเอง ร่างกายถูกออกแบบมาให้สุขภาพดีเมื่อเราอยู่กับปัจจุบันขณะ แต่หากใช้ชีวิตผิดจากธรรมชาตินั้น โรคภัยก็เกิด แค่เรารับรู้ว่าความโกรธ ความเครียดมันเป็นรูปแบบความคิดที่ละวางได้ ไม่ใช่ความจริง พลังเยียวยาก็จะเกิดขึ้น”

ตั้งแต่วันนั้นชวณัฏฐ์ก็สัญญากับตัวเองใหม่ จะกลับมารักตัวเอง เขาดูแลร่างกายอย่างมีวินัย ตื่นเช้า ฝึกโยคะ นั่งสมาธิ เป็นช่วงเวลาที่เขาได้รู้สึกขอบคุณชีวิต จิตใจ ได้สร้างจังหวะชีวิตใหม่ของตัวเองขึ้นมา

และวันหนึ่งเมื่อเขาพร้อม เขาก็ตัดสินใจเรียนโยคะอย่างจริงจัง

ที่เมืองไทยก็มีคลาสโยคะตั้งมากมาย ทำไมต้องไปเรียนถึงอินเดีย

“ตอนแรกซื้อหนังสือมาศึกษาเองด้วยซ้ำ ฝึกๆ ไปเริ่มรู้สึกว่าโยคะส่งผลกับชีวิตเรา โคตรอยากแนะนำให้เพื่อนที่ปวดเข่าปวดขา นอนไม่หลับ ให้มาฝึก แต่แนะนำไปแล้ว กูแนะนำถูกไหมวะเนี่ย (หัวเราะ) เราพบว่าโยคะมันไม่ใช่แค่การทำท่าทาง มันเป็นการรู้จักตัวเอง รู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของกายกับจิต อยากเข้าใจมันอย่างแท้จริง ก็เลยอยากเรียนจริงจัง ไม่ได้อยากเรียนเพื่อจะเป็นครู แค่อยากรู้ว่าโยคะจริงๆ มันคืออะไร ร่างกายจิตใจทำงานยังไง อ่านหนังสือก็เข้าใจระดับหนึ่ง แต่ยังกระหายอยากรู้จริงๆ เลยเป็นเหตุให้ไปเรียน และที่ไปเรียนที่อินเดียเพราะค่าเรียนที่ไทยมันแพง (หัวเราะ)

“ไปดูแล้วพบว่าไปเรียนที่อินเดีย ที่เมืองฤษีเกศ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของโยคะ ค่าเรียนรวมค่าตั๋วเครื่องบินแล้วยังถูกกว่าเลย ยิ่งพอเข้าไปดูในเว็บ ไปเจอโรงเรียนหนึ่งซึ่งเป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่รับแค่ 12 คน มีเจตนาที่สร้างครูโยะคะด้วยศาสตร์ร่วมสมัย ภาพแรกที่เห็นในเว็บคือ วิวบนดาดฟ้าของโรงเรียนนี้ อิมแพคมาก เห็นวิวนั้นก็แทบจะโอนค่าเรียนไปทันทีเลย (หัวเราะ) หลายๆ ครั้งในชีวิตเราก็ตัดสินใจจากสัญญาณอะไรแบบนี้ และพบว่าไม่ค่อยผิด”

ความคิด ความคราฟต์ ความฝัน ความงาม ของชาวชุมชนแออัด กับงานของ ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกชุมชนผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชีย

นอกจากวิชาโยคะแล้ว เมืองฤษีเกศสอนอะไรคุณอีกบ้าง?

(คิดนาน) “การได้ไปปลีกวิเวก ทำให้เราพบความสุข ความสงบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียบง่าย เราได้อินกับช่วงเวลาที่เราปรารถนามาตลอด อยู่กับครูกับเพื่อนที่รักที่จะค้นหาว่าชีวิตคืออะไร จะหลุดพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร ล้ำค่ามาก และการได้อยู่ในเมืองหลวงของโยคะก็วิเศษสุดๆ เป็นเมืองเล็กๆ ที่ต้องข้ามสะพานแขวนเข้าไป มีแม่น้ำคงคาไหลผ่าน ในเมืองมีโรงเรียนโยคะถึง 300 โรงเรียน หลากหลายรูปแบบแนวทาง เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ที่มีอายุเป็นพันปี มีโยคี มีพลังงานบางอย่าง

“เรารู้สึกดื่มด่ำกับความสุขในการอยู่กับบรรยากาศแบบนั้น โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ซึ่งโรงเรียนหยุดให้เราพักผ่อน ให้ไปทบทวนตำรา เราได้เห็นผู้คนแฮงเอาต์ตามคาเฟ่ซึ่งก็มีไม่อยู่กี่แห่ง ได้เจอนักเรียนจากโรงเรียนอื่น เป็นหนุ่มสาวจากทั่วโลก เป็นครูโยคะรุ่นใหม่ บางคนเป็นฤาษี คุยกันเรื่องชีวิตและจิตวิญญาณ มันมาก เจอคนที่เต็มไปด้วยความรัก ความเมตตา เราได้รับพลังเมื่ออยู่ตรงนั้น เรารู้สึกเฮ้ย แม่ง เราไม่เคยสัมผัสบรรยากาศแบบนี้ในไทย เราเจอคนไทยที่ฝึกตัวเองอยู่มากมาย แต่ส่วนใหญ่กลัวที่จะพูดเรื่องอะไรแบบนี้ เพราะกลัวถูกหาว่าเพี้ยน หนีโลก

“พอไปที่นั่น เราพบว่านี่แหละพื้นที่ที่มันขาดหายไปในโลกปัจจุบัน พื้นที่ของการสำรวจ ฝึกตัวเอง แลกเปลี่ยน ชื่นชม การไปที่นั่นทำให้เราเชื่อมั่นว่ายุคนี้เป็นยุคของงานก่อสร้าง แต่เป็นการสร้างจากภายใน งานสถาปัตย์ของเรา สนใจเรื่องภายนอก ซึ่งการศึกษาด้านในทำให้เราพบว่า เราเป็นถาปนิกที่สนใจการสร้างพื้นที่ภายใน มันต้องการการสำรวจ ต้องสร้างจากภายในออกมา ค้นพบตัวเราจากตรงนั้น แล้วเราจึงจะออกไปทำงานให้โลกได้อย่างมีพลัง”

การพักรักษาร่างกายจิตใจด้วยโยคะผสานกับการฝึกวิปัสสนาช่วยให้เขาสุขภาพดีขึ้น นับจากวันที่เจ็บป่วยครั้งใหญ่เป็นต้นมาเขาไม่เคยเข้าโรงพยาบาล และไม่เคยกินยาสมัยใหม่อีกเลย

ช่วงหนึ่งระหว่างการพักรักษาตัวมีความรู้สึกหนึ่งหวนกลับมา เขาอยากไปเนปาล ทั้งที่ไม่เคยไปมาก่อน และอยากไปมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำงานชุมชนมา เขาอาจได้ไปทำงานที่ต่างประเทศหลายประเทศ แต่ก็ไม่เคยได้สัมผัสเนปาลมาตลอด เขายังเคยถามติดตลกกับเจ้านายเลย ที่นั่นไม่มีปัญหาบ้างเหรอ อยากส่งตัวเองไป

และในช่วงที่ร่างกายเขาเพิ่งหายดี เขาสำรวจเงินเก็บตัวเอง เหลืออยู่ 20,000 เขาก็ใช้เงินนั้นซื้อตั๋วไปเนปาล ไปแบบไม่รู้จุดหมาย เหมือนอยากหนีไปไกลๆ อยากไปเดินเขา ไปอยู่เงียบ และเมื่อเจ้านายเก่ารู้ว่าเขาจะไปเนปาล ก็ยังแนะนำให้เขา “แวะไปหน่อย” ไปหา NGO ที่นั่นที่กำลังทำเรื่องที่อยู่อาศัย ทางนั้นอาจต้องการความช่วยเหลือ เมื่อไปเนปาลชวณัฏฐ์ก็แวะไปจริงๆ ซึ่งการแวะไปหน่อยครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มให้เขาได้ทำงานที่เนปาลต่อมาอีกกว่า 10 ปี

“ตอนนั้นเป็นช่วงต้นปี 2008 มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองขนานใหญ่ในเนปาล กำลังมีการไล่รื้อชุมชนอยู่เลย เราก็ไปร่วมขบวนมูฟเมนต์กับเขาด้วย องค์กรที่นั่นยังไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำมากนัก เพราะเป็นสิ่งใหม่ แต่ก็เห็นว่าเราทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ เลยจ้างให้เราทำงานต่อ ก็ทำเรื่อยมา สิ่งที่ทำคือ ไปทำงานกับ 40 ชุมชนในกาฐมาณฑุที่จะโดนไล่รื้อ เขาอยู่กันมานานแล้ว ความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะคนไม่ฟังกัน ยืนอยู่บนความคิดจุดยืนของตัวเอง ชาวบ้านจะอยู่ รัฐจะให้ย้าย มันก็ขัดแย้ง แต่คนเรามักลืมไปว่าเราทำความเข้าใจกันได้ พวกเราก็เข้าไปช่วยคุยกับคนในชุมชน คุยกับรัฐด้วยคำถามว่า คุณจะเอาที่ดินกลับไปทำอะไร เพราะอะไร กลับไปสู่รากของมัน แล้วมีทางออกอื่นไหมที่จะยืนบนเหตุนี้ ซึ่งมันมีตั้งหลายทาง การต่อรองอยู่บนเหตุผลมากขึ้น

“คุยจนได้ไอเดียว่า แบ่งปันกันได้ไหม คืนที่ดินส่วนใหญ่ให้รัฐ ที่เหลือขอไว้บริหารจัดการ สถาปนิกเหมือนนักเล่นแร่แปรธาตุ รับรู้ ทำความเข้าใจ มีที่ดินเท่านี้ คนเท่านี้ คืนให้รัฐเอาไปทำประโยชน์ เงินที่รัฐได้มา อาจทำให้คนจนได้มีที่อยู่อาศัย เป็นอพาร์ตเมนต์เตี้ยๆ ที่มีพื้นที่ร้านค้าให้ชาวบ้านขายของ พอเป็นแบบนี้รัฐก็โอเค ชาวบ้านก็โอเค เพราะมันคือคำตอบที่เขาอยากได้ แต่ไม่ได้ยืนบนรูปแบบที่เขาต้องการตอนแรก ถ้าเราคุยไปเรื่อย จะได้คำตอบ สถาปนิกก็จะแปรเอาปัจจัยและข้อจำกัดออกมาเป็นทางออกหลายๆ แบบว่าแบบนี้ก็ได้นะ

“กระบวนการสร้างสรรค์ต้องมีความกล้าหาญกว่านี้ในโลกที่ยืนอยู่บนความเชื่อที่หลากหลาย หลากหลายไม่ใช่ความขัดแย้ง ถ้าเราแค่ไม่ยึด ลองสำรวจความเป็นไปได้บนพื้นฐานความจริง ทุกที่ที่ไปเราจะเริ่มจากการลงพื้นที่ เราจะไม่เริ่มงานโดยไม่เคยไปคุยกับชุมชน ไปสัมผัสกับคนเลย

“เราเติบโตจากการขับเคลื่อนในเมืองไทย ซึ่งเจ้านายเรา คุณสมสุข บุญญะบัญชา ถางทางไว้ ท่านสอนว่า เราจะต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับระบบที่ทำให้มุนษย์ไม่มีเสรีภาพนั้นได้ แต่ถ้าเขาถามกลับมาว่าคุณต้องการอะไร คุณก็ต้องแสดงออกถึงจุดยืนที่มีความหวังได้ด้วย อยากพัฒนาตรงนี้ไปสู่อะไร ความเป็นมนุษย์และอนาคตของตรงนี้คืออะไร เพราะสุดท้ายเราก็ยังต้องอยู่ร่วมกัน

“งานที่เนปาลทำให้เรากลับมามีพลัง เรารู้สึกว่าเส้นทางการเติบโตที่ผ่านมาของเรามันโดดเดี่ยว ถ้ามีเพื่อนคุย รับฟัง ทำงานร่วมกับคนอื่นน่าจะดี และคิดว่าถึงเวลาแล้วต้องมีเครือข่าย จากที่เคยต่างคนต่างทำ น่าจะรวมกับเพื่อรวบรวมความรู้และทำให้ความรู้เหล่านี้ได้รับการส่งต่อไปกว้างขึ้น และมีรูปธรรมชัดเจน เรากับเพื่อนก็เริ่มทำกลุ่ม C A N (Community Architects Network) ให้เป็นพื้นที่สำหรับสถาปนิกชุมชนและคนที่ทำงานสนับสนุนความเข้งแข็งกับชุมชนในรูปแบบต่างๆ ให้มาเจอมารู้จักมาแลกเปลี่ยน

“เราไม่เคยทำเครือข่ายมาก่อน แล้วมันก็เกิดเวิร์กช็อป การฝึกอบรม เกิดกลุ่มที่อยากทำงานกับชุมชน ได้เดินทางไปทำงานทั่วเอเชีย ไปทำงานร่วมกับสถาปนิกในประเทศต่างๆ รวมถึงในช่วงปี 2015 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่เนปาล กลุ่มเครือข่ายที่เราเคยตั้งไว้เป็นฐานที่ทำให้ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ใหญ่ในครั้งนั้น เราได้ช่วยระดมทุน ช่วยจัดการงานบางงาน ช่วยรับเงินบริจาคไปช่วยเครือข่ายชาวบ้านที่เคยทำงานด้วยกัน ไปช่วยกันดูว่าจะตั้งหลักในการฟื้นฟูนี้อย่างไรให้มีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่ให้รัฐเข้ามาชี้นำและอาจทำลายสิ่งดีๆ ไป เงินที่หามาได้ก้อนหนึ่ง ก็ถูกนำไปจัดการฝึกอบรมเรื่องการสร้างด้วยวัสดุบนวัฒนธรรมของเขาแบบมีส่วนร่วม”

ความคิด ความคราฟต์ ความฝัน ความงาม ของชาวชุมชนแออัด กับงานของ ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกชุมชนผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชีย

จากนี้ไป Co-creation คือ Keyword

จากการอุทิศตัวทำงานชุมชนในระดับเอเชียมาหลายปี ในวันหนึ่งก็มีคนเห็นคุณค่านั้น ชวณัฏฐ์ได้รับรางวัลอโชก้า เฟลโลส์ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับคนทำงานเพื่อสังคมตัวจริงที่สร้างการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่ดีที่สุดที่ได้รับจากรางวัลนั้นคืออะไร

“ปกติเราไม่ค่อยสนใจรางวัล เลยไม่เคยคาดหวัง แต่รางวัลนี้เขาให้คุณค่าในสิ่งที่เราทำ และยังสนับสนุนด้านการเงินให้ได้ทำงาน ก็รู้สึกขอบคุณมาก สิ่งที่ดีของรางวัลคือการเปิดโอกาสให้เราได้ไปเจอคนคล้ายๆ กันทั่วโลก ไปเจอกับคนที่มีหัวใจกล้าหาญ บางประเทศคนทำงานก็น้อย เงินก็ค่อยไม่มี งานก็เสี่ยงตาย แต่ก็ทำงานกันแบบไม่บุ่มบ่ามมุทะลุ เป็นลีลาใหม่ๆ ของคนยุคเราที่พิเศษมาก เขาไม่ได้สู้กับระบบด้วยการฆ่ากันให้ตาย เราเห็นแล้วว่าวิธีแบบนั้นมันมีแต่สร้างความเกลียดชัง เราอยากหาวิถีทางใหม่ แสดงจุดยืนแบบสร้างสรรค์ และเราได้เห็นในคนเหล่านั้นว่าเขาทำได้ มันมีพลังมาก ก็ยิ่งกระตุ้นเรา อยากให้เราสร้างพื้นที่การเรียนรู้

“เราได้รับเชิญไปญี่ปุ่น เวียนนา ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นโอกาสที่ล้ำค่ามาก เวลาไปแลกเปลี่ยนเราก็ต้องเตรียมว่าเรารู้อะไร เราค้นพบอะไร แล้วแชร์กับคนที่ผ่านอะไรมาเยอะๆ ในสาขาต่างๆ ไม่ใช่แค่เรื่องที่อยู่อาศัย แต่คือการกลับมาเชื่อในจิตวิญญาณ ศักยภาพ ของเรา ทำให้เราเห็นหลายวิถีในการทำงาน และเชื่อมั่นในเส้นทาง และอันนี้มันล้ำค่ามาก และทำให้เราได้รู้สึกถึงการเป็นพลเมืองของโลกที่เราได้เดินทางไปแลกเปลี่ยน ทำให้เรารูสึก เราไม่ลิมิตแค่ไทย เรายังอยากเดินทางต่อไป โดยเฉพาะในเอเชีย”

หลงใหลอะไรในความเป็นเอเชีย

“เอเชียยังเหลือความเคารพรักต่อธรรมชาติเยอะ พึ่งพาอาศัยกัน อย่างช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ มันไม่ถึงกับเลวร้ายที่สุด เพราะมีครอบครัว มีชุมชน ที่ยังพอโอบอุ้มผู้คน ธุรกิจหลายธุรกิจก็อาจจะล้มไป เพราะโตขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยว โฟกัสกันอยู่ที่เงิน แต่คนเล็กคนน้อยที่ตกงานก็ยังกลับบ้านได้ ยังมีพ่อแม่ มีที่ดิน นั่นแหละคือต้นทุนที่เราเพิ่งตระหนักว่า ที่เราโตขึ้นมา เรามีวัฒนธรรม มีชุมชน มีการให้คุณค่ากับมนุษย์ กับธรรมชาติ และมันมีอยู่มากในเอเชียที่เราท่องเที่ยวเดินทางไป

“เรามีความฝัน อยากเดินทางไปทั่วเอเชีย ไปพบผู้คนในที่ต่างๆ เราจึงทำเครือข่าย สร้างพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนความรู้ ความไว้เนื้อเชื่อใจ เติบโตไปด้วยกัน เผชิญความทุกข์สุขไปด้วยกัน ไม่อยากให้เติบโตไปอย่างโดดเดี่ยวในงานแบบนี้ มันไม่น่าจะต้องยากขนาดนั้น มันน่ามีพี่เลี้ยง มีความรู้ที่แชร์กันได้ มันไม่ใช่การค้นพบของเรา เราพบเพราะเรามีทีม มีชาวบ้าน มีความรู้ที่เบิกทางให้เรา เราอยากใช้ชีวิตช่วงที่ได้ทุนอโชก้า เฟลโล่วส์ ขอบคุณเส้นทางในอดีตที่ผ่านมา เป็นการใช้พลังในวัยหนุ่ม เพื่อไปสนับสนุนคนทำงาน เพราะหากอายุมากกว่านี้แล้ว ชีวิตคงไปลุยอะไรเยอะๆ แบบที่ผ่านมาไม่ไหว”

ตอนนี้กลับมาอยู่ที่เมืองไทยแล้ว ตั้งใจจะทำอะไรต่อไป

“ตอนหลังเราสนใจเรื่องการสร้างพื้นที่การขับเคลื่อนในไทย มีหลายกลุ่มนะที่พยายามจะทำให้เมืองตัวเองดีขึ้น แต่เหมือนกับขาดการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือขาดการทำงานร่วมกัน มันคืองานเดียวกับที่เราทำกับเพื่อนในเครือข่าย C A N ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ตอนนี้เราต้องการเครือข่ายที่ใหญ่กว่านั้นไม่ใช่แค่กลุ่มสถาปนิก อาจต้องการการขับเคลื่อนจริงๆ ที่เกิดขึ้น แต่ละเมืองมีคนที่อยากดูแลเมืองของตัวเอง แต่บ้านเรารวมศูนย์อำนาจมาก เห็นปัญหาตรงหน้า แต่ไร้เรียวแรงที่จะแก้มัน

“เราเคยทำโคครีเอชันที่ชุมแสง ชาวบ้านพบปัญหาการจราจรในเมือง เราถามว่าจะทำยังไง ปรากฏว่าเขาคิดได้หมด มีกลุ่มจักรยาน กลุ่มแม่บ้าน อยู่ตรงนั้น เขาก็เห็นทางออกอยู่ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นถนนหลวง มันต้องส่งเรื่องมากรมทางหลวง คิดดูสิ มันทำให้คนรู้สึกไร้พลังที่จะเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ทางแก้ปัญหามันอยู่ตรงนั้น รวบอำนาจมาอยู่ตรงกลางหมด จนไม่รู้ว่าปัญหาทางแก้อยู่ตรงไหน

“10 ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ทำอะไรในเมืองไทยเลย ทุกเดือนต้องบินไปโน่นนี่ ไปทำเทรนนิ่ง แต่ก็ติดตามความเป็นไปในไทยตลอด ก็รู้สึกอยากกลับมาทำอะไร เพราะเราได้เดินทางไปหลายที่ เห็นรูปแบบและรู้จักคนทำงานระดับโลกหลายคน รู้สึกว่ามีพลังสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่เราน่าจะเรียนรู้ ที่จะไม่จำกัดแค่ขอบเขตประเทศ และจากที่เห็นความเปลี่ยนแปลงเยอะในไทย เห็นว่าอำนาจแบบบนลงล่างแบบไทย มันทำลายความคิดสร้างสรรค์ ทำลายการมีส่วนร่วม ก็ปีนี้แหละที่น่าจะได้เริ่มเข้าไปร่วมด้วย”

ความคิด ความคราฟต์ ความฝัน ความงาม ของชาวชุมชนแออัด กับงานของ ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกชุมชนผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชีย
ความคิด ความคราฟต์ ความฝัน ความงาม ของชาวชุมชนแออัด กับงานของ ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกชุมชนผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชีย

รอยสักที่แขนคุณมีความหมายว่าอย่างไร

“เราสักมันในวันเกิดปีที่ 34 ได้แรงบันดาลใจจากความทรงจำสมัยอยู่เนปาล ตอนพักในเกสต์เฮาส์ของครอบครัวชาวทิเบต เราเห็นคุณยายเจ้าของบ้านสวดมนต์บทหนึ่ง สวดตลอดเลย เราถามว่าสวดทำไม เขาบอกว่า คนทิเบตสวดให้กับทุกคน ทุกสรรพสิ่งมีความสุข ปราศจากความทุกข์ แล้วเขาชี้ให้เห็นคำนี้ ซึ่งเป็นบทสวดที่เป็นหัวใจของคำสอนพุทธแบบทิเบต ครั้งแรกที่เห็นรู้สึกขนลุก เราเคยตั้งจิตแบบนี้ให้ตัวเองบ้างไหมวะ เราทำงานก็ทำแต่เพื่อตัวเอง เพื่อความสำเร็จ เราเคยเชื่อจริงๆ ไหมว่าเราจะมีชีวิตอย่างในบทสวดนั้นได้ ทำให้สนใจศึกษาพุทธแบบทิเบต และเรื่องนี้ก็อยู่ในใจเรื่อยมา

“จนมาถึงช่วงใกล้วันเกิดตอนอายุ 34 จัดบ้านแล้วเจอสมุดบันทึกเก่าที่ตัวเองเคยตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่สมัยเรียน ลืมไปแล้วนะ ตอนนั้นเขียนไว้ว่า ก่อนอายุ 30 ต้องมีบ้านของตัวเอง มีความรัก ดูแลความสัมพันธ์ให้ดี ต้องเจอวิถีที่เติมเต็มตัวเรา ว่าเราเกิดมาทำไม แล้วก็เขียนไว้ว่าอายุ 40 จะเกษียณ ซึ่งก็ไม่ได้เขียนนะว่าเกษียณแล้วจะไปทำอะไรวะ (หัวเราะ) อ่านแล้วรู้สึกว่า เออ เราก็ทำตามที่ตั้งใจไว้ได้เกือบทุกอย่างแล้ว ยกเว้นอย่างเดียวคือ เรายังไม่ถูกเติมเต็มเลย

“ก็เลยสักไว้เพื่อเตือนตัวเอง 2 อย่าง หนึ่งคือ เราควรกลับมารักตัวเอง เมตตาตัวเอง ถ้าเราทำแบบนี้ได้ ความรักนั้นก็จะเผื่อแผ่ไปสู่โลก กับสอง เตือนถึงเป้าหมายในชีวิตว่า วันนี้เราพูดได้เต็มปากแล้วว่าเราเกิดมาบนโลกนี้เพื่อพ้นจากความทุกข์ และเราอยากเดินบนเส้นทางนี้ให้หนักแน่นขึ้น เราจะทำให้ดีที่สุดทั้งงานสถาปัตย์ งานโยคะ งานเวิร์กช็อป เราเจอเครื่องมือหลายระดับที่ทำงานกับตัวเองกับผู้คน เป็นโคครีเอชันในความหมายที่กว้างขวาง ที่ไม่ใช่แค่ตกแต่งเพียงภายนอก แต่จะเข้าไปคราฟต์ที่จิตวิญญาณภายใน เพื่อเข้าถึงความคิดสร้างสรรค์และความสุข นั่นจึงจะเป็นการเติมเต็มที่มีความหมายอย่างแท้จริง

หลังจากผ่านอะไรๆ มามากมาย ทุกวันนี้รู้สึกอย่างไรกับชีวิต

“ทุกวันนี้ก็พึงพอใจในชีวิตนะ ความสุขเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่ใช้คำว่าพึงพอใจจะเหมาะกว่า รู้สึกว่าถ้าเย็นนี้เราตาย เราตายได้นะ ไม่เสียดายเลย เราใช้ชีวิตมาคุ้มแล้ว เราทำมันอย่างดีที่สุดแล้ว จากนี้เรามองเห็นเส้นทางที่จะไป อาจจะมีความท้าทายมากมายที่เรายังพยายามจะอยู่กับมัน แต่เราได้ใช้ชีวิตเต็มที่แล้ว เราพึงพอใจ”

ความคิด ความคราฟต์ ความฝัน ความงาม ของชาวชุมชนแออัด กับงานของ ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกชุมชนผู้เปลี่ยนชีวิตชาวสลัมทั่วเอเชีย

Writer

Avatar

ภาณุมาศ ทองธนากุล

เจ้าของผลงานเขียน การลาออกครั้งสุดท้าย อาชีพหลักคือพ่อบ้าน อาชีพรองคือการทำงานเขียน สนใจเรื่องการทำให้ความสบายใจเป็นเป้าหมายชีวิต

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ