….กูนั่งอยู่ดี ๆ เสือกมาไล่กูทำไม

กูเต้นกำลังมัน เสือกมาไล่กูทำไม

จีบหญิงกำลังเพลิน เสือกมาไล่กูทำไม

กูไม่อยากกลับบ้าน เสือกมาไล่กูทำไม…

ย้อนกลับไป พ.ศ. 2544 ยุคสมัยที่เมืองไทยมีนโยบาย ‘จัดระเบียบสังคม’ อันลือลั่น คุมเข้มให้สถานบันเทิงทั่วประเทศต้องปิดทำการภายในเวลาตี 2

ดีเจหลายคนมักหยิบเพลง เสือกทำไม มาเปิดทิ้งท้ายในช่วงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ โดยมีบรรดานักท่องราตรีตะโกนร้องกันประหนึ่งเป็นเพลงชาติ

คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ว่าศิลปินเจ้าของเพลงเป็นใคร จนกระทั่งต่อมามีข่าวว่าเขาถูกทางการจับกุม และนั่นเองที่ทำให้ชื่อของ DAJIM และอัลบัม Hip Hop Above the Law ดังเป็นพลุแตกไปทั่วประเทศ

เวลานั้นเพลงฮิปฮอปไม่ได้เป็นกระแสหลัก ศิลปินแนวเดียวกันคนอื่น ๆ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรักและเรื่องราวทั่วไป แต่เพลงของ DAJIM กลับแหวกกรอบ ทั้งใช้คำหยาบ มีเนื้อหากวนอวัยวะเบื้องล่าง เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ขณะเดียวกันก็ท้าทายศีลธรรม และกล้าสะท้อนเรื่องราวในสังคม ชนิดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ผลจากการถูกจับทำให้เขาโดนสั่งแบน ไม่ให้ขายเทป ไม่ให้ทำเพลงแบบที่เคยทำมาตลอด กลายเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้นักร้องใต้ดินผู้นี้ถูกผลักขึ้นมาอยู่บนดิน ในสังกัดค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของประเทศ ออกผลงานเพลงฮิปฮอปเล่าเรื่องที่ไร้คำหยาบมาอีก 3 ชุด และกลายเป็นตำนานแรปไทยที่มีอิทธิพลต่อคนฟังและศิลปินรุ่นน้องอย่างมาก

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ถือโอกาสดี ชักชวน ตั้ม-สุวิชชา สุภาวีระ หรือที่ทุกคนรู้จักกันดีในนาม DAJIM แรปเปอร์รุ่นบุกเบิก มาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวในชีวิตกับเส้นทางที่คาดไม่ถึงว่าผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นในวัย 24 ปีจะเป็นปรากฏการณ์ข้ามกาลเวลา รวมถึงความฝันและความมุ่งมั่นที่ไม่เคยสิ้นสุด ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ

ความฝันหนึ่งในวัยเยาว์ของ DAJIM คืออยากเข้าวงการบันเทิง

เขาเคยใช้เวลาช่วงหนึ่งของชีวิตวัยรุ่นอยู่แถวสยามสแควร์ โดยคิดว่าหาก พชร์ อานนท์ แมวมองและบรรณาธิการนิตยสารชื่อดัง มาเห็นก็จะชักชวนให้ไปถ่ายแบบ เล่นหนัง หรือแสดงละคร

จุดเริ่มต้นของความฝันนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ เจ-เจตริน วรรธนะสิน ออกอัลบัม จ-เ ะ-บ เมื่อ พ.ศ. 2534 ในเวลานั้นนอกจากเพลง ฝากเลี้ยง เจ็บไปเจ็บมา หรือ กองไว้ ที่โด่งดังแล้ว ยังมี 4 แดนเซอร์ มอร์ริส เคชาลี-กร พุ่มดอกมะลิ, แฮม และ ต๊อก ศุภกรณ์ ที่โดดเด่นและเป็นไอดอลของใครหลาย ๆ คน 

เด็กชายตั้มเป็นอีกคนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพี่ ๆ กลุ่มนี้ โดยช่วงเรียน ม.3 ที่โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ เขาเคยรวมก๊วนเพื่อน ๆ ในห้อง 4 คน ประกวดเต้นในงานโรงเรียน ผลปรากฏว่าได้แชมป์ และกลายเป็นตัวแทนไปแสดงในงานวันเด็กแห่งชาติที่สนามศุภชลาศัย     

ต่อมาเมื่อมีการแข่งขัน Siam Center Contest เขาก็จับมือกับ บิว เพื่อนคนหนึ่งในทีมลงประกวด สุดท้ายทั้งคู่คว้าตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 มาครอง

ความสำเร็จครั้งนั้นกลายเป็นก้าวแรกที่ทำให้ตั้มได้ทดลองชิมลางในวงการบันเทิง

“พอได้ตำแหน่งก็มีคนมาติดต่อให้ไปอยู่ในโมเดลลิ่ง ไปเต้นเป็นตัวประกอบตามงานต่าง ๆ เราก็ต้องแต่งตัวเป็นต้นไม้ แล้วก็เต้นเข้าเพลง ได้เงิน 400 – 500 บาท ก็ถือเป็นจ๊อบพิเศษ แต่ไม่ได้มีบ่อย หลัก ๆ ก็จะเป็นวันเสาร์-อาทิตย์”

ชีวิตที่คลุกคลีกับการเต้นโชว์ ไปเดินสยาม จนแทบเป็นกิจวัตร ทำให้ตั้มมีโอกาสแวะเวียนเข้าไปในร้านขายเทปซีดีชื่อดังสัญชาติอเมริกัน Tower Records ซึ่งมาเปิดสาขาแรกในเมืองไทยที่ Siam Center เมื่อ พ.ศ. 2539 และพอปีถัดมาจึงขยายมาที่ World Trade Center 

ความเจ๋งอย่างแรกของ Tower Records คือมีเพลงใหม่ ๆ หลากหลายแนวให้ทดลองฟังอยู่ตลอด แต่อีกเรื่องที่โดนใจเด็กหนุ่มเป็นพิเศษ คือยูนิฟอร์มของพนักงานที่ไม่เหมือนใคร ทุกคนแต่งตัวได้อย่างอิสระ เพียงแค่สวมเอี๊ยมตัวหนึ่งทับลงไปก็ทำงานได้แล้ว ทำให้ตั้มเริ่มหวังอยากแทรกซึมตัวเป็นส่วนหนึ่งของร้านเทปแห่งนี้ กระทั่งโอกาสของเขาก็มาถึง

“ผมไปบ่อยจนซี้กับพนักงานที่ World Trade เลยไปถามคนที่ดูแลเซ็กชัน Thai Pop ชื่อว่า ไอ้ติ่ง ว่าที่นี่เขายังรับพนักงานอยู่หรือเปล่า เขาก็บอกว่าต้องรอจังหวะที่มีคนลาออก แล้วแต่ละเซ็กชันก็ไม่เหมือนกันด้วยนะ อย่าง Thai Pop ไม่ต้องอะไรมาก เพราะเพลงไทยมันง่าย แต่ถ้าอยากทำ Jazz หรือ Classical คุณต้องสอบข้อเขียน เพราะถ้าไม่มีความรู้จะตอบลูกค้าได้ยังไง 

“แต่ผมไม่ได้ทำข้อเขียน เพราะตอนนั้นพนักงานเพลงไทยกำลังจะออก ไอ้ติ่งเลยพาไปคุยกับ เฮียโด่ง ผู้จัดการร้าน พอไปถึง เฮียก็ถามคำแรกเลยว่า มึงมีความรู้อะไรเรื่องเพลงวะ ผมเลยบอกว่าเพลงไทยผมก็ฟัง แต่ที่บ้านเป็นร้านวิดีโออยู่ที่ซอยประสานมิตร สุขุมวิท 23 เพราะฉะนั้น พวก Soundtrack ต่าง ๆ รู้จัดหมด เดชบุญ Tower Records มีเซ็กชันวิดีโอพอดี ซึ่งไม่มีคนทำ เฮียเลยบอกว่า มึงมาทำส่วนนี้แล้วกัน ทีนี้จะเริ่มเมื่อไหร่ ผมเลยบอกว่าวันนี้เลยก็ได้ เฮียเลยบอกว่าใจเย็น ๆ มึงเขียนใบสมัครไว้ แล้วพรุ่งนี้ค่อยเริ่มงาน”

การเข้ามาอยู่ใน Tower Records ทำให้พัฒนาการฟังเพลงของตั้มก้าวกระโดด โดยเฉพาะเพลงแรปและเพลงฮิปฮอป ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของคนทั่วโลก โดยศิลปินที่ดึงดูดเขาเป็นพิเศษคือ EMINƎM ซึ่งเพิ่งออกอัลบัม The Slim Shady LP ที่มีเพลงดังอย่าง My Name Is

แต่ที่ยิ่งกว่าคือการได้สัมผัสและใกล้ชิดกับผู้คนในแวดวงดนตรีที่แวะเวียนมาเยี่ยมชมเลือกซื้อไม่ขาดสาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ต้อง-อธิป ไกรฤทธิ์ หรือที่ทุกคนรู้จักกันชื่อ DJ Dig-it-all 

ต้องเป็นมือกีตาร์รุ่นใหม่ เคยมีผลงานในยุคอัลเทอร์เนทีฟรุ่งเรือง ชื่อ Babysister และมีความฝันที่จะพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นโปรดิวเซอร์และซาวนด์เอนจิเนียร์มืออาชีพ

“เราอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน แล้วก็คุยกันถูกคอ ตอนหลังก็เริ่มชวนไปเที่ยวกัน ซึ่งสมัยก่อนทีวีเมืองไทยจะไม่เปิดเพลงสากล ใครอยากฟังเพลงแรปต้องไปเที่ยวกลางคืน เขาจะเปิดมิวสิกวิดีโออย่าง Vanilla Ice, MC Hammer เราก็จะไปบ่อยเลย สัปดาห์ละ 3 – 5 วัน แล้วมีวันหนึ่งทางร้านเขาก็เปิดเพลง Jump Around ของ House of Pain ก็มีบีตแรปมา ตอนนั้นผมก็มึน ๆ หน่อย ผมเลยแรปใส่บีตบีตนั้น เพื่อน ๆ ที่ยืนฟังกันอยู่ เฮ้ย! มึงแรปได้นี่หว่า ทีนี้ต้องเลยชักชวนไปอัดเสียงที่บ้าน ผมก็ไปช่วยอัด แล้วต้องก็ถามว่าทำอัลบัมกันไหม ทำอัลบัมแรป ผมก็ตอบตกลง”

ความตั้งใจของตั้มและต้องในเวลานั้น คืออยากทำอัลบัมตามใจตัวเองล้วน ๆ ไม่อยากทำตามใจตลาด บวกกับได้แรงบันดาลใจจาก EMINƎM ที่เนื้อหาค่อนข้างรุนแรง เพราะฉะนั้น แทนที่จะหาสังกัด ต้องจึงเลือกที่จะตั้งค่ายชื่อ N.Y.U.Club ย่อมาจาก New York Underground เพื่อผลิตผลงานชุดนี้โดยเฉพาะ 

“ผมอยากให้อัลบัมนี้เป็นของที่ระลึกให้กับตัวเอง เราคิดอะไรได้ก็ใส่ไป ไม่ใช่ทำเพื่อ Commercial เพราะที่ผ่านมาผมฟังเพลงแรป เพลงฮิปฮอปเยอะมาก ซึ่งแต่ละอัลบัมล้วนหยาบคาย ด่าพ่อล่อแม่สุด ๆ โดยตอนนั้นผมไปนอนบ้านต้องอาทิตย์ละวัน พอเลิกงาน 3 ทุ่ม ต้องจะขับรถมารับ เราก็ใช้เวลาช่วงนั้นเขียนเพลง อัดเสียง อัดกันแบบไมค์ตัวหนึ่งในห้องเล็ก ๆ แล้วต้องก็ไปสั่งซื้อแผ่น Sample แล้วก็จะมีบีตให้เลือก เราก็ทำกันแบบงู ๆ ปลา ๆ ไม่ได้รีบอะไร”

ส่วนชื่อของศิลปินนั้น ตั้มเลือกใช้คำว่า DAJIM โดยคำว่า DA มาจากศิลปินฮิปฮอปในเมืองนอกหลายคนมักใช้ฉายา หรือ AKA คำว่า DA นำหน้า หมายถึง The ส่วน JIM ก็มาจาก Jim Carrey นักแสดงตลกชื่อดังที่ตั้มชื่นชอบเป็นการส่วนตัว และยังเป็นอีกชื่อของเขาที่เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่ Tower Records ใช้เรียกเป็นประจำ

ตั้มกับต้องช่วยกันทำอัลบัม Hip Hop Underworld ถึง 2 ปีเต็มจึงแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2543 

แม้จะตั้งใจให้เป็นอัลบัมของขวัญที่ไม่ได้หวังจะโด่งดังหรือมีชื่อเสียง แต่ผลงานชิ้นนี้ก็ถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่ช่วยให้ตั้มสานต่อความฝันในวัยเยาว์อีกครั้งหนึ่ง

เส้นทางการเป็นศิลปินของ DAJIM ต้องแลกด้วยการเสียสละหลาย ๆ อย่าง

หนึ่งในนั้นคืองานประจำที่ Tower Records ซึ่งทำมานานถึง 3 ปีเต็ม

“ผมเป็นพนักงานประจำอยู่ที่ World Trade พอมาบอกผู้จัดการว่าทำอัลบัมเสร็จแล้ว อยากขอเปลี่ยนมาทำพาร์ตไทม์ได้ไหม ผู้จัดการบอกว่าไม่ได้ ถ้าคุณคิดจะไปเป็นศิลปิน ไปเดินขายเทป ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาไม่ให้ผมจับปลาสองมือ ผมก็คิดว่าเอายังไงดี สุดท้ายจึงตัดสินใจไปเป็นศิลปิน”

ในเวลานั้น ทั้งศิลปินและโปรดิวเซอร์ต่างต้องช่วยกันตระเวนไปฝากขายเทปตามร้านต่าง ๆ ทั้ง น้องท่าพระจันทร์, DJ Siam, JU พันธุ์ทิพย์, Jedi Music รวมถึง Tower Records 

อีกข้อจำกัดที่ต้องเผชิญ คือพอเป็นศิลปินใต้ดินแล้ว ช่องทางในการเผยแพร่งานนั้นมีจำกัดมาก เพราะรายการโทรทัศน์หรือรายการวิทยุก็ออกอากาศไม่ได้ ขณะที่สื่อออนไลน์แบบ YouTube หรือระบบสตรีมมิงทั้งหลายก็ยังไม่เกิด สิ่งที่ทำได้คือวานให้ดีเจตามสถานบันเทิงต่าง ๆ ช่วยเปิดให้ ซึ่งก็ไม่รับประกันได้ว่าสุดท้ายเขาจะเปิดหรือเปล่า

สำหรับ Hip Hop Underworld ถือเป็นเพลงสไตล์ Old School Hip Hop ที่น่าจับตา แหวกกรอบจากเพลงแรปที่เคยมีมา โดยเฉพาะเนื้อร้องที่เน้นความสนุกสนานปนความหยาบคายบ้าง ซึ่งเพลงที่ดังสุดคงต้องยกให้ มันอยู่ใต้พรม หากแต่มองในแง่ความสำเร็จแล้วต้องยอมรับว่าอัลบัมนี้อาจไม่ได้เป็นกระแสเท่าใดนัก ขายได้ประมาณ 1,000 ตลับ

เวลานั้นตั้มคิดว่าชีวิตการเป็นศิลปินในนาม DAJIM ก็คงสิ้นสุดลงแล้ว บวกกับก่อนหน้านั้นเขาได้ย้ายจากบ้านพ่อที่สุขุมวิทไปอยู่บ้านของตาแถวบางขุนพรหม จึงออกเที่ยวที่ถนนข้าวสารเป็นประจำทุกคืน กระทั่งมาได้งานเป็นดีเจเปิดเพลงที่ร้าน Susie Pub แต่ทำได้เพียง 2 เดือนก็มีจดหมายฉบับหนึ่งส่งเข้ามาที่ N.Y.U.Club เพื่อสนับสนุนให้เขาทำอัลบัมถัดมา นี่เองที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนทุกอย่างของชีวิต

“เขาเขียนมาบอกว่าให้เราใส่แบบสุด ๆ ไม่ต้องกั๊ก เพราะจังหวะนั้น EMINƎM ก็ออกชุดใหม่ ซึ่งโหดกว่าเก่า และทำให้คนทั้งโลกรู้จัก EMINƎM ผมเองก็ได้ฟังด้วย แล้วต้องเองก็เห็นด้วยว่าควรทำ เพราะตอนนั้นฝีมือในการโปรดิวซ์ การทำซาวนด์ก็เก่งฉกาจขึ้น ตอนนั้นผมก็เขียนเพลงอยู่ในบูทดีเจที่ Susie นั่นแหละ เขียนแบบฟรีสไตล์ ไม่มีกั๊ก ไม่ต้องแคร์ กูตกงานอยู่แล้ว ก็เต็มที่เลย ทั้ง ห.ว.ย. เสือกทำไม 4 เดือนเขียนไปทั้งหมด 14 เพลง จนครบอัลบัม”

เพลงส่วนใหญ่มาจากเรื่องเล่าที่ได้ยินมา บางเรื่องก็เป็นประสบการณ์ตรงที่สัมผัสด้วยตัวเอง

อย่างเพลง ห.ว.ย. ก็มาจากการเห็นผู้คนรอบบ้านนิยมเล่นหวยปิงปองหรือหวยเถื่อน ส่วน สลึงVs.สลวย ก็มาจากเรื่องเล่าในวงเหล้าว่ามีผู้ชาย 2 คนกับผู้หญิงอีก 1 คนเป็นเพื่อนกัน แล้ววันหนึ่งผู้ชายคนแรกก็ไปเป็นแฟนกับผู้หญิง แล้วผู้ชายคนที่ 2 เกิดหึงหวงจึงไปกระทืบผู้ชายคนแรก แต่สุดท้ายเรื่องราวก็มากระจ่าง เพราะความจริงแล้วผู้ชายคนที่ 2 เป็นเกย์คิงและแอบชอบผู้ชายคนแรก

“เรื่องแบบนี้ไม่มีใครเคยนำเสนอ แต่เป็นประเด็นที่มีอยู่จริงในสังคมไทย แต่ชื่อสลึง สลวย ต้องบอกก่อนนะว่าเป็นการใส่ไข่ ผมพูดให้มันเข้าปากเท่านั้นเอง แต่ผู้หญิงชื่อ นุ่มฤดี จริง ๆ

“อย่าง เสือกทำไม ก็เหมือนกัน ในช่วงนั้นบ้านเรามีนโยบายการจัดระเบียบสังคม ท่านรัฐมนตรีมาไล่ปิดผับ ซึ่งปกติ Susie เขาปิด 6 โมงเช้า ช่วงตี 1 คนเพิ่งเข้ามาเปิดเหล้า พอตี 2 มิกเซอร์ยังเหลือเต็มโต๊ะ ลูกค้าก็โวยวาย แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะเดี๋ยวตำรวจจับ ก็ต้องปิดเพลง เราก็เห็นอากัปกิริยาของคนที่ไม่พอใจ คนนี้กำลังจีบสาวอยู่เลย คนนี้กำลังเต้น กินเหล้ากำลังเพลิน เราก็เอามาเขียนเพลง กูนั่งอยู่ดี ๆ เสือกมาไล่กูทำไม เขียนอยู่ 2 ชั่วโมง พรั่งพรูจนเสร็จ แถมเนื้อยังยาวด้วย”

เมื่ออัลบัม Hip Hop Above the Law วางแผงเมื่อ พ.ศ. 2544 วงจรชีวิตของตั้มกับต้องก็กลับมาเหมือนเดิม ตั้มตัดสินใจลาออกจากงานมาเดินสายขายเทปเต็มตัว

แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเก่า คือความโด่งดังของผลงานชุดนี้ที่ไปไกลถึง 90,000 ม้วน รวมถึงมีการปั๊มซีดีแพ็กคู่มาจำหน่าย ซึ่งก็หมดเกลี้ยงภายในระยะเวลารวดเร็ว

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลงานชุดนี้ดังระเบิด ส่วนหนึ่งก็คงมาจากความกล้าที่จะใช้ภาษาที่หนักหน่วงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับแรปเปอร์ทั่วไป จนบางคนถึงขั้นบอกว่างานของ DAJIM เต็มไปด้วยความดิบ เถื่อน และหยาบคาย แต่ที่มากกว่านั้นคือเพลง เสือกทำไม ซึ่งกลายเป็นที่นิยมของดีเจยามราตรี ซึ่งมักนำเพลงนี้ไปปิดท้ายก่อนที่ผับจะเลิกตอนตี 2

“เหตุการณ์หนึ่งที่พีกสุด น่าจะเป็นที่ Dance Fever รัชดาซอย 6 ซึ่งเป็นดิสโกเทกขนาดใหญ่สุดในประเทศแล้ว คราวนี้ มท.1 ก็จัดกำลังตำรวจ 300 นาย ไปบุกให้ปิดตามเวลา แล้ววันนั้นผมเองก็ไปเที่ยวด้วย แต่ไม่มีใครรู้จัก ภาพที่เห็นหลังจากตำรวจเข้ามาคือ พี่นุ ดีเจของผับแม่งเปิดเพลงเสือกทำไมแล้วก็มีคนเป็นพันร้องตาม ตำรวจหันมาเลยว่า ด่าใครวะ ด่ากูนี่หว่า จากนั้นดีเจนุก็โดนล็อกตัว มึงเปิดเพลงเหี้ยอะไรของมึง”

กระทั่งเดือนกันยายนของปีเดียวกัน ชื่อของ DAJIM ก็โด่งดังไปทั่วประเทศ เมื่อตำรวจนำกำลังไปบุกบ้านของต้องที่ซอยเย็นอากาศ ซึ่งเป็นออฟฟิศของ N.Y.U.Club 

“วันนั้นผมก็จะเข้ามาเอาเทปไปฝากขายเหมือนเดิม แต่พอไปถึงคนเต็มบ้านเลย มีกล้องด้วย แสดงว่ากูดังแล้ว ปรากฏว่าดังจริง ๆ เพราะพอไปถึง ไอ้ต้องกับแม่บ้านก็ชี้เลย นี่แหละคนร้องคนแต่ง ตำรวจก็มาถ่ายรูป แล้วก็บอกว่ามีคนแจ้งความมา อ้าวโดนจับเหรอ พอถึงไปถึงโรงพัก ตำรวจก็เล่าว่า มึงรู้ไหมผู้ใหญ่เขาให้กูมาจับ กูต้องใช้เวลาตั้งอาทิตย์หนึ่งถึงจะเขียนสำนวนมาจับมึงได้ เพราะไม่รู้จะจับข้อหาอะไร เทปผีซีดีเถื่อนก็ไม่ใช่ เพราะมึงเขียนเองแต่งเอง

“สุดท้ายก็ลงเอยที่ผลิตแถบเสียงที่มีคำลามกอนาจาร เช่น ควย หี เย็ด ไว้เผยแพร่กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในที่สาธารณะ ซึ่งเหตุที่ต้องระบุว่าแถบเสียง เพราะเมื่อก่อนเทปวิดีโอเขาเรียกว่าแถบภาพ เวลาจะไปจับหนังโป๊ก็เขียนว่าผลิตแถบภาพที่มีภาพลามกอนาจาร แต่อันนี้เป็นผลิตแถบเสียง ซึ่งก็โอเค มันมีคำหยาบ แต่ก็คงมีเรื่องหมั่นไส้ที่ไปด่าตำรวจด้วยแหละ เพราะตอนนั้นเพลงใต้ดินอื่น ๆ ก็มีคำหยาบเหมือนกัน เพียงแต่เขาหยาบไม่ได้เท่านี้ อีกอย่างคือเพลง DAJIM แม่งฟังชัดถ้อยชัดคำด้วย ค่อนข้างโจ่งแจ้ง วันนั้นอยู่ในคุก 4 ชั่วโมง แล้วพ่อต้องก็มาประกันตัว เสียค่าปรับ 3 คน คนละ 6,000 บาท เพราะแม่บ้านคนทำอาหารโดนด้วย ถือเป็นคนในออฟฟิศ เขาตีความว่า N.Y.U.Club เป็นแหล่งผลิตไง”

เพลงที่ตั้งใจสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองไทยจึงถูกตีความว่าเป็นตัวบ่อนทำลายและสร้างปัญหาให้กับสังคมโดยปริยาย ที่สำคัญยังเปรียบเสมือนการกระชากให้ DAJIM ขึ้นมาอยู่บนดิน เพราะเขากลายเป็นที่รู้จักของผู้คนในวงกว้าง หลายคนอยากขวนขวายหาอัลบัม Hip Hop Above the Law มาฟัง ทำให้ยอดขายจากเดิมราว 40,000 – 50,000 ตลับ พุ่งขึ้นเกือบเท่าตัว

ไม่เพียงแค่นั้น ยังนำไปสู่ปรากฏการณ์เทปผีซีดีเถื่อน เนื่องจาก N.Y.U.Club ผลิตสินค้าเพิ่มไม่ได้ ร้านเทปบางเจ้าจึงใช้โอกาสนี้ปั๊มของเลียนแบบขึ้นมาขายแทน แถมยังกระจายไปไกลในต่างจังหวัด ทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น โดยที่เจ้าของผลงานไม่ได้รับส่วนแบ่งหรือค่าตอบแทนเลย

แต่ในมุมหนึ่ง Hip Hop Above the Law ก็ขึ้นแท่นอัลบัมในตำนานที่พลิกโฉมวงการเพลงใต้ดินและเพลงฮิปฮอปของเมืองไทยอย่างแท้จริง รวมทั้งยังเป็นอิฐก้อนแรก ๆ ที่ทำให้ใครหลายคนกล้าที่จะลุกขึ้นมาสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองโดยปราศจากกรอบใด ๆ

วิกฤตจากอัลบัม Hip Hop Above the Law ส่งผลให้เส้นทางการทำงานของ DAJIM ถูกจับตาโดยผู้ถือกฎหมายอย่างใกล้ชิด แต่เมื่อทุกอย่างเดินหน้าแล้ว ตั้มกับต้องก็ไม่เคยคิดที่จะถอยหลัง

พอดีในเวลานั้นต้องมีโอกาสทำงานร่วมกับ หมี-เทียนชัย เกียรติปรุงเวช โปรดิวเซอร์หลักของค่าย genie records ในเครือ GMM Grammy จึงได้เล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง หมีจึงนำเรื่องราวไปถ่ายทอดต่อให้กับ นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้บริหารค่ายในเวลานั้น

อาจเป็นเพราะ genie records ถูกวางบทบาทให้เป็นค่ายเพลงทางเลือกในค่ายใหญ่ และมีศิลปินจากยุคอัลเทอร์เนทีฟรุ่งเรืองมาร่วมงานหลายคน อาทิ PARADOX นิคจึงเห็นว่า เมื่อ DAJIM ทำงานเพลงใต้ดินไม่ได้แล้ว จึงน่าจะมาออกอัลบัมที่นี่แทน

“ตอนนั้นคิดอย่างเดียวเลยคือ The show must go on. อย่างน้อยครั้งหนึ่งได้เป็นศิลปินแกรมมี่ก็โอเค บวกกับพ่อแม่บอกว่า เมื่อเขาชวนแล้วก็ไปสิ เลยตัดสินใจเซ็นสัญญา 5 ปี เราก็ไฟแรงมาก ใช้เวลาทำงาน 3 เดือนก็ออกอัลบัมที่ 3 อัลบัมแรปไทย ทีนี้ทุกคนก็ได้เห็นหน้าผมหมดแล้ว เพราะมึงอยู่ genie records มึงเปิดทุกช่องทาง ทั้งเอ็มวี สัมภาษณ์วิทยุ ออกทีวี ทุกสื่อเลย”

แต่เป็นธรรมดาของศิลปินที่เปลี่ยนจากอิสระมาสู่การมีสังกัด ย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าผลงานที่ออกมานั้นไม่เหมือนเดิม DAJIM เองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่สำหรับตั้มแล้วกลับมองว่าการทำงานไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เนื่องจากคนที่อยู่เบื้องหลังก็ยังคงเป็นเขากับ DJ Dig-it-all หากจะมีบ้างคือข้อจำกัดเรื่องคำหยาบคายที่ใส่ลงไปไม่ได้แล้ว แต่ในแง่ความเข้มข้นของเนื้อหาเพลงก็ยังเปี่ยมล้น

“เรารู้เงื่อนไขตั้งแต่ก่อนทำแล้ว เพราะผมไม่ได้ฟังเพลงอย่างเดียว แต่เราเป็นพนักงานขายมาก่อน เรารู้จักเพลง รู้ว่าเมื่ออยู่บนค่ายต้องทำยังไง เราก็แค่ใช้คำว่า กู มึง เหี้ย สัส ไม่ได้เท่านั้นเอง เหมือนเพลง ปิดได้ไหม ถ้าจะเขียนให้หยาบก็ทำได้ จะเข้าโรงหนังปิดเครื่องได้ไหมวะ จะมาดูหนังปิดเครื่องได้ไหมสัด นึกออกปะ แต่เขาเป็นค่ายมหาชนไง เราจะไปพูดกูมึงแบบนั้นไม่ได้ ซึ่งถ้าไปย้อนฟัง ทุกอัลบัมที่อยู่แกรมมี่ก็มีเพลงเกี่ยวกับสังคมตลอด เช่น พี่ครับช่วยที ก็ยังแขวะตำรวจอยู่เลย พี่ครับช่วยมาจับที มีคนขายยาบ้าอยู่แถวบ้านผม

แต่ถึงจะถูกวิจารณ์มากเพียงใด ตั้มก็ไม่ได้เอามาใส่ใจ เพราะคิดเสมอว่าชีวิตนี้ถือว่าได้กำไรแล้ว เนื่องจากเขาเริ่มต้นทุกอย่างมาจากศูนย์

“เมื่อก่อนเคยมีศิลปินคนหนึ่งพูดว่า ไอ้ตั้มมาได้ขนาดนี้ กูว่ามันไกลเกินไปแล้ว ซึ่งคำว่า ‘ไกลเกินไป’ ความจริงคือการด่านะ แต่ต้องไม่ลืมว่าตอนที่ผมทำอัลบัม Hip Hop Underworld เราตั้งใจให้เป็นแค่ของที่ระลึกให้ตัวเอง ไม่ได้คิดว่าจะมาไกลถึงวันนี้ พอรู้ตัวอีกทีเป็นนักร้องอาชีพ ได้ไปออกรายการ Twilight Show มีบ้าน มีรถ มีกินมีใช้เรื่อยมา

“แต่ในมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าความดังก็ทำให้เราหลงระเริงเหมือนกัน อย่างที่ พี่โน้ส-อุดม แต้พานิช เคยพูดว่า พอความดังเข้ามาแบบออโตแล้ว ก็ทำให้ตัวเราหลงไปแบบออโตเหมือนกัน จากที่เคยกินก๋วยเตี๋ยวข้างทาง ก็เริ่มไม่กินแล้ว ต้องกินร้านหรูเท่านั้น หรือการวางตัว การพูดจาที่ไม่ดี กระทั่งเพื่อนรุ่นเดียวกันเริ่มไม่คบ ไม่ชอบ ซึ่งเราก็ไม่แคร์ เพราะหากเพื่อนตรงนี้ไม่ชอบ เราก็มีเพื่อนใหม่ได้ตลอดไง จนสุดท้ายก็เจอคนไม่จริงใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันก็จะกลับมาได้เอง”

DAJIM มีผลงานกับสังกัดใหญ่แห่งนี้ 3 อัลบัม คือ แร็พไทย, Twilight Zone และ กิ๊กทั่วไทย มีคอนเสิร์ตใหญ่หลายครั้ง มีเพลงฮิตเต็มไปหมด ทั้ง ดาจิมแร็พไทย ปิดได้ไหม และ 704 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเพลงผียอดนิยมที่ข้ามกาลเวลาถึงปัจจุบัน

แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพราะอุตสาหกรรมเพลงกำลังอยู่ในช่วงซวนเซ จากวิกฤตเทปผีซีดีเถื่อนที่ปราบปรามไม่สำเร็จ ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า การสนับสนุนของบริษัทก็ทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากมีศิลปินที่ต้องดูแลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเวลานั้นมีแฟนเพลงกลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้ DAJIM กลับมาทำอัลบัมใต้ดินอีกครั้ง เขากับ DJ Dig-it-all จึงตัดสินใจโบกมือลาค่ายใหญ่ กลับไปสู่วิถีชีวิตเดิม ๆ ที่คุ้นเคย

อัลบัมชุดที่ 6 Independence Day เมื่อ พ.ศ. 2552 ถือเป็นจุดพลิกผันสำคัญในชีวิตของ DAJIM 

ส่วนหนึ่งมาจากการวางแผนการตลาดที่ผิดพลาด จำกัดการขายแผ่นเฉพาะ 2 ร้านใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศเท่านั้น แถมราคาก็ยังสูงกว่าแผ่นทั่วไปในเวลานั้น คือ 249 บาท ซึ่งหลังจากวางแผงได้ไม่ถึงสัปดาห์ อัลบัมนี้ก็ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นประเทือง แผ่น Vampire ในตลาดมืด ทำให้ผู้ฟังส่วนใหญ่ไม่ซื้อสินค้า และพอขายไม่ได้ ร้านใหญ่ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะวางไว้ให้เปลืองพื้นที่อีกต่อไป จึงตีคืนกลับมาที่ N.Y.U.Club สรุปแล้วอัลบัมนี้จึงขายได้เพียง 800 แผ่น จากยอดผลิต 5,000 แผ่น

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ DAJIM ไม่ได้เป็นศิลปินที่มีความสดใหม่อีกแล้ว มีวงดนตรีฮิปฮอปรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาเจาะตลาดเพลงไทยเต็มไปหมด แถมการบริหารจัดการก็สู้ช่วงที่อยู่ในสังกัดค่ายใหญ่ไม่ได้ ส่งผลให้งานโชว์ตัวลดลงต่อเนื่องและกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งรายได้ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือแม้แต่ไฟในการทำเพลง จนเขาเกือบยุติเส้นทางบนสายดนตรีไปเลย

“กว่าที่เราจะแต่งเพลงสังคมออกมาได้ เราต้องคิดเรื่อย ๆ ซึ่งอัลบัมนี้มันหมดตัวเลย เราใส่ไอเดียที่มีจนหมด ผมมีเอฟซีคนหนึ่งชื่อ พี่จอม บอ.บู๋ (บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร) ไปเจอที่ร้านเหล้าโดยบังเอิญ ก็นั่งคุยกัน เขาบอกว่า มึงรู้หรือเปล่า พี่เป็นเอฟซีตัวจริงเลยนะ แล้วก็ควักแผ่นนี้มาให้ดู แกบอกว่าอัลบัม Independence Day เป็นอัลบัมที่ดีที่สุดของมึง ไม่ใช่ Hip Hop Above the Law

“แต่ต้องยอมรับว่าพอมันเฟล เราก็ไม่อยากทำต่อ แล้วก็คิดอย่างควาย ๆ ว่าที่มีเพลงอยู่ 6 อัลบัมก็เพียงพอแล้ว กูไม่ต้องดิ้นรนอะไรเลย แค่นี้ผมก็ร้องไม่หมดแล้ว คิดแค่นั้น ไม่เคยคิดสร้างกระแสให้ตัวเองเพื่อสู้กับวงใหม่ ๆ ที่เข้ามาเลย สุดท้ายชื่อเราก็ค่อย ๆ ดรอปลงไปเรื่อยจนหาย แม้ช่วงที่ผ่านมาศิลปินแรปจะกลายเป็นกระแสหลักไปแล้วก็ตาม”

หลังจากความผิดหวังในวงการเพลง ตั้มก็แทบไม่ได้สร้างสรรค์งานเพลงต่อ แต่หันไปช่วยเพื่อนทำร้านเหล้าบ้าง หรือบางช่วงของชีวิตก็ไปอาศัยอยู่ตามเกาะ 

หากแต่บุคคลหนึ่งที่ช่วยจุดไฟที่มอดดับไปแล้วให้กลับมาสว่าง คือ แก๊ป-เจษฎา ธีระภินันท์ แห่งวง T-Bone

“พี่แก๊ปชวนทำเพลง ไม่รู้ว่าแกเอาเบอร์ผมมาจากไหน แต่พอเขาถามว่ามาทำกันไหม ด้วยความที่เราชื่นชอบ T-Bone อยู่แล้ว ก็ไปนอนขลุกอยู่ที่บ้านแกที่ศรีราชาเลย จนออกมาเป็นซิงเกิลเพลง TAXI BKK เมื่อ พ.ศ. 2559 พอได้เพลงหนึ่งก็เลยไปฟีเจอริงกับคนนั้นคนนี้เรื่อย ไปทำเพลงกับ B-King แล้วก็มาทำกับวงร็อกเต็มไปหมดเลย” 

พออีก 2 ปีถัดมาโปรดิวเซอร์ Show Me The Money Thailand รายการประกวดร้องเพลง ซึ่งมีต้นแบบมาจากเกาหลีใต้ ได้ชักชวนตั้มให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในฐานะโปรดิวเซอร์ประจำทีม ทำให้ชื่อและเรื่องราวของ DAJIM ถูกกลับมาพูดถึงในวงกว้าง

โอกาสที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องเปรียบเสมือนการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ตั้มได้ทดลองทำงานกับศิลปินที่หลากหลาย ซึ่งแต่ละคนก็มีสไตล์ที่แตกต่างกัน ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น

“การอยู่กับคนรุ่นใหม่ อย่างแรกเลย เราต้องฟังเขาให้มาก มากกว่าไปสอนเขา เพราะเขามีความคิดเป็นของตัวเองอยู่แล้ว เขาชอบให้ฟังเขาแล้วก็เป็นเพื่อนเขาได้ อีกอย่างคือการทำงานกับคนรุ่นใหม่ ไม่เหมือนกับแรปเปอร์รุ่นเก่า เพราะคนรุ่นใหม่มีความหลากหลายมากกว่า อย่างแรปสไตล์ผม เขาเรียกว่า Rapping แบบพูดสัมผัสกลอนท้าย แต่ว่าวิธีการแรปของเด็กรุ่นใหม่ เขาเรียกว่า Flip เขาเล่นคำพลิกไปพลิกมา ซึ่งเราก็นำวิธีการเหล่านี้มาปรับใช้เข้ากับตัวเองได้

“อย่างล่าสุด RAP IS NOW เขาทำรายการ CYPHERLOGY ผมก็ได้ร่วมงานกับเด็กอายุ 16 ปี ชื่อ GORGUY โอ้โห แรปโคตรเก่ง ซาวนด์เจ๋งมาก แล้วก็ไปแรปกับ MC-KING แรปกับ GUYGEEGEE ที่มีเพลงดังอย่าง เพลง ทน ทำให้คนอื่นเห็นว่าเราก็ทำได้เหมือนกัน ตอนนั้นก็มีคอมเมนต์เข้ามาเยอะเลยว่าคิดไม่ถึงเลยว่า DAJIM จะรับกับบีตแบบนี้ได้ แต่ดูท่าทางพี่เขาจะไม่ถนัดนะ ซึ่งก็ยังดีที่เขาคอมเมนต์ เพราะถ้าเขาไม่พูดถึงก็แสดงว่าเขาไม่ให้ค่า แล้วยังเป็นกำลังใจให้เราพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น”

อีกเรื่องที่ DAJIM หันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง คือโซเชียลมีเดีย หลังจากที่เคยปฏิเสธมาตลอด เพราะมองว่าศิลปินยุคเทปไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงโลกออนไลน์ แค่ร้องเพลง เล่นคอนเสิร์ตก็เพียงพอแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็เรียนรู้ว่าประโยชน์ของเทคโนโลยีไม่ใช่การปล่อยเพลงเท่านั้น แต่เป็นการรักษาตัวตน และช่วยยืนยันว่าเขาไม่ได้หายไปไหน

ปัจจุบัน DAJIM มีช่องทางเผยแพร่งานหลักอยู่ที่ Facebook : DAJIM ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 110,000 ราย และช่อง YouTube : Dajim Official ซึ่งมีผู้ติดตามประมาณ 45,000 คน โดยมีการรวบรวมผลงานเก่า ๆ ทั้งหมดของตัวเองมาจัดเป็นเพลย์ลิสต์ รวมถึงเริ่มฟอร์มวงใหม่ และทำ Live Session อีกด้วย โดยความฝันที่ตั้มอยากไปให้ถึง คือการได้เห็นผลงานใหม่ ๆ ของเขาสักเพลงมียอดรับชมเกิน 1,000,000 ครั้ง

“หากถามว่า DAJIM ยังขายได้ไหม ก็ยังขายได้ เพราะแฟนเพลงเราก็โตหมดแล้ว และตอนนี้ก็มีเด็กรุ่นใหม่ที่ชวนมาทำงาน ให้เกียรติเรา เช่น พีท YOUNGGU เขาจะจัดงานครบ 1 ปีของร้านที่เอกมัย-ทองหล่อ ก็ชวนไปเล่นคอนเสิร์ต เพราะฉะนั้นการที่เราไปนอยด์ คิดว่าคนเขาไม่เอาเราแล้ว เราคิดไปเองทั้งนั้น การที่เราไม่ทำอะไรเลยต่างหาก เขาเลยไม่จ้าง เพราะคิดว่ามึงเลิกแล้วไง

“ตอนนี้เลยปรับความคิดใหม่ อย่างเมื่อก่อนฮิปฮอปถือเป็นชนกลุ่มน้อย แต่ปัจจุบันเด็กทั่วบ้านทั่วเมืองเขาแรปกันหมดแล้ว มีโปรแกรมทำง่ายขึ้นด้วย คือคุณทำเพลง ถ่าย MV เอง แล้วปล่อยลง YouTube คุณก็เป็นศิลปินแล้ว ตอนแรกคิดว่ามันเกร่อ ไม่เวิร์กหรอก แต่ไป ๆ มา ๆ ทำไมเราไม่ลองคิดอีกแบบหนึ่งล่ะ ในเมื่อพวกคุณเป็นคนบุกเบิกฮิปฮอปมา แล้วคนฟังเยอะขนาดนี้ คุณจะมาเลิกเหรอ เราควรมาช่วยกันรันวงการ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีว่าพี่เขาแรปมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ผ่านมาจน พ.ศ. 2566 เขาก็ยังแรปอยู่ เหมือน พี่โจ้ (โจอี้ บอย) หรือ พี่ขัน (ขันเงิน เนื้อนวล) ที่เขาก็ยังแรปต่อไป หรือแม้แต่ศิลปินเมืองนอกอย่าง Snoop Dogg หรือ Dr.Dre เขาอายุเท่าไหร่แล้ว ก็ไม่ได้หยุดแรป”

ตลอด 2 ทศวรรษบนเส้นทางสายดนตรี ตั้มยังคงทำงานอย่างมีความสุข เพราะเพลงฮิปฮอปไม่ใช่เพียงความชอบหรือความสนใจ แต่เป็นชีวิตและตัวตนที่เข้าไปอยู่ในสายเลือด 

“ผมผ่านมาหมดแล้ว ทั้งช่วงท้อแท้ ช่วงไม่สู้ หรือช่วง The show must go on. แต่ตอนนี้เรามีเป้าหมายว่าอยากทำอะไร ซึ่งความสุขของเราคือการกลับมาที่จุดเดิม มีอิสระเหมือนเดิม คิดนอกกรอบได้ กล้าที่จะทลายกรอบต่าง ๆ และทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ เพราะตราบใดที่เราไม่หยุดเดิน ชีวิตก็ไม่มีคำว่าสายไป”

ขอบคุณภาพประกอบเพิ่มเติมจาก DAJIM

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์