“When I get older losing my hair

Many years from now

Will you still be sending me a Valentine

Birthday greetings bottle of wine…”

เพลง When I’m Sixty-Four ของวง The Beatles ดังจากสองหูฟังไร้สายสู่สองหูผมรอบแล้วรอบเล่ามาตลอดระยะเวลาหลายวันที่ผ่านมา

เพลงนี้อยู่ในด้านบีของอัลบั้มที่ว่ากันว่าเป็นงานเพลงแห่งศตวรรษของวงการเพลงในระดับตลอดกาล จากการแต่งของ Paul McCartney มือเบสและแกนนำของวง ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2510 ที่เพลงนี้เผยแพร่สู่โลกนั้น เขาเพิ่งมีอายุได้เพียง 25 ปีเท่านั้น ขณะที่เนื้อหาของเพลงกลับเป็นการจินตนาการ (หรืออีกนัยคือ มโน) ถึงห้วงเวลาแห่งอนาคตเมื่อล่วงเข้าสู่วัยชรา ว่าสาวคนรักของเขานั้นจะยังคงเหมือนเดิมกับวันแรก ๆ แห่งความสัมพันธ์หรือไม่ อย่างไร หากตัวเขาก้าวสู่วัย 64…

ปั้นคนรุ่นใหม่แบบคนรุ่นใหญ่อย่าง นิค วิเชียร ผู้บุกเบิกแกรมมี่, genie records, WAY-T Creation

สาเหตุที่เลือกเพลงนี้มาฟังในโหมด Repeat มาอย่างต่อเนื่อง อันผิดวิสัยที่ผมมักจะฟังแบบยกอัลบั้มซะมากกว่าประสาคน Gen X ที่ยังคงผูกพันกับการเสพงานดนตรีในรูปแบบนี้ ไม่ว่าจะผ่านซีดี ไฟล์ หรือว่าสตรีมมิงก็ตามที นั่นเป็นผลพวงที่บันดาลใจมาจากผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งผมเพิ่งได้พบเมื่อไม่นานมานี้

เป็นผู้ชายร่างเล็ก หากยิ่งใหญ่มากในหัวใจและความเคารพนับถือของคนจำนวนไม่น้อย ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกอะไรหลาย ๆ อย่างให้กับวงการเพลงไทย ภายใต้รั้วแกรมมี่ เรื่อยมาจนถึงยุคจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ และจวบวันที่มีค่ายหรือบริษัทแยกย่อยภายใต้เครือนี้อีกมากมาย 

วิเชียร ฤกษ์ไพศาล หรือที่คนจำนวนมากกลุ่มเดียวกับในย่อหน้าก่อนจดจำและเรียกขานกันว่า นิค Genie 

โดยวันที่เราได้พบกันนั้น เป็นช่วงวันที่วัยผ่านเลยตัวเลขอายุ 64 มาได้ไม่นาน

“..If I’d been out till quarter to three

Would you lock the door

Will you still need me, will you still feed me

When I’m sixty-four…”

ปั้นคนรุ่นใหม่แบบคนรุ่นใหญ่อย่าง นิค วิเชียร ผู้บุกเบิกแกรมมี่, genie records, WAY-T Creation

‘นิค Genie’ เป็นใคร? 

สำหรับคนรุ่น Gen Z หรือ Gen Alpha ที่เพิ่งหรือยังไม่บรรลุนิติภาวะอาจจะไม่คุ้นตาคุ้นเคยกับชื่อนี้ จึงขออนุญาตใช้พื้นที่ในย่อหน้าถัดไปในการเกริ่นนำถึงเส้นทางชีวิตของ นิค Genie สักเล็กน้อย

นิค บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นิค ผู้ร่วมก่อตั้งคณะละคร ‘มะขามป้อม’ คณะละครเร่ที่มีผลงานเชิงสร้างสรรค์สังคมมายาวนาน

นิค หนึ่งในกลุ่มคนรุ่นบุกเบิกบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนท์เม้นท์ จำกัด

กำกับมิวสิกวิดีโอคนแรกของไทย

นิค ผู้ก่อตั้งบริษัท Aratist อันเป็นส่วน Artist Management ของแกรมมี่ฯ

และ นิค ผู้บริหารผู้ก่อตั้งค่ายเพลง genie records

ฯลฯ

ทว่าเฉกเช่นเดียวกับสำนวนที่ว่า ‘ชีวิตย่อมมีหนทาง’ ภายหลังจากที่ตัดสินใจลาออกจาก genie records และแกรมมี่ฯ เมื่อ พ.ศ. 2562 เส้นทางของคนโตแห่งวงการเพลงไทยคนนี้ก็ยังดำเนินต่อไปในอีกหลากสายหลายทาง จวบมาถึงวันนี้ ซึ่งหนทางที่ ‘พี่นิค’ (ขออนุญาตเรียกสั้น ๆ ด้วยความเคารพแบบนี้ครับ) เลือกก็นำพาให้เรามาพบกัน

ปั้นคนรุ่นใหม่แบบคนรุ่นใหญ่อย่าง นิค วิเชียร ผู้บุกเบิกแกรมมี่, genie records, WAY-T Creation

ณ สถานีชีวิตที่พี่นิคตั้งชื่อให้ว่า ‘WAY-T Creation’

“ชื่อ WAY-T นี่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าผมจงใจให้พ้องเสียงกับคำว่า ‘เวที’ ที่แปลว่า Stage หรือ Platform แล้วเมื่อเราแยกออกเป็นคำ ๆ WAY นั้นก็ตรงตัวเลยว่า ทาง ส่วน T ในที่นี้ของผมนั้นหมายถึง Tee Off คือการเริ่มต้น”

พี่นิคนั่งตอบแบบสบาย ๆ ในออฟฟิศล่าสุดของเขา ที่ตั้งอยู่ชั้นบนสุดของอาคารใจกลางสยามสแควร์ อันเป็นจุดศูนย์กลางของคนรุ่นใหม่หรือวัยรุ่นมาทุกยุคทุกสมัย

“ออฟฟิศของเราอยู่ในส่วน Co-working Space ของที่นี่นะครับ ซึ่งผมแฮปปี้มากเลยที่มานั่งทำงาน เพราะมันอยู่ใจกลางสยามเลย” พี่นิคอธิบาย ก่อนชี้ลงไปยังถนนเบื้องล่าง ถัดไปจากอาคารนี้เล็กน้อย “ตอนบ่าย ๆ เย็น ๆ จะมีกิจกรรมเยอะแยะของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งทำให้เราได้เห็นเทรนด์ต่าง ๆ ตลอดเวลา”

‘คนรุ่นใหม่’ คำนี้ถือเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับการทำงานของพี่นิคเสมอมา นับตั้งแต่วันและวัยที่เขาเป็นคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงวันที่เขาก้าวขึ้นเป็นคนรุ่นใหญ่และได้ร่วมงานไปยันพัฒนาคนรุ่นใหม่ขึ้นมารุ่นแล้วรุ่นเล่า รวมถึงโครงการล่าสุดที่เรียกว่า ‘The Way Artist Intern Camp’ ที่ตั้งใจให้เป็นมากกว่าเพียงงานประกวดอีกงานหนึ่งเท่านั้น

“The Way เป็นโปรเจกต์ที่ผมคิดเอาไว้ตั้งแต่ตอนอยู่แกรมมี่แล้วว่า ธุรกิจเพลงมันไปแบบเดิมไม่ได้ ควรจะมีวิธีใหม่ ๆ” พี่นิคเล่าถึงโครงการนี้ ที่คัดวงดนตรีระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายทั่วประเทศมาร่วมแคมป์ศิลปินอินเทิร์น เพื่อเคี่ยวกรำศักยภาพ ทั้งในด้านการแสดงดนตรีและการทำเพลง ผ่านกระบวนการที่สอดรับกับทั้งเทคโนโลยี ทัศนคติ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่โดยแท้

ปั้นคนรุ่นใหม่แบบคนรุ่นใหญ่อย่าง นิค วิเชียร ผู้บุกเบิกแกรมมี่, genie records, WAY-T Creation
ปั้นคนรุ่นใหม่แบบคนรุ่นใหญ่อย่าง นิค วิเชียร ผู้บุกเบิกแกรมมี่, genie records, WAY-T Creation

“ตัวแคมป์เนี่ยเริ่มต้นจากแนวคิดที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ต่อยอดอะไรหลาย ๆ อย่าง ขณะที่ตัวแคมป์เราก็ดีไซน์ขึ้นมาให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขา คือจะมีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สำหรับส่วนออนไลน์นั้นในอดีตคงไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย เพราะไม่มีเครื่องมือ แต่ปัจจุบันมันมี Zoom มีแอปพลิเคชันเยอะแยะที่จะสร้างการเรียนการสอนขึ้นมาได้ แต่เหนืออื่นใดคือส่วนออฟไลน์ ด้วยเราอยากให้มัน Touching อย่างแท้จริง เราจึงยอมลงทุนทำแคมป์ออฟไลน์ในหลังจากที่เรามีออนไลน์มาเป็นระยะเวลา 6 อาทิตย์

“ซึ่งภายในแคมป์ เราก็จะให้ศิลปินอินเทิร์นพวกนี้ได้เรียนรู้เรื่องที่ศิลปินตัวจริงเขาต้องรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Music Business เทคนิค การแต่งเพลง เรื่อง Performance บนเวที ปิดท้ายด้วยการวัดกันดูว่าเขาจะสร้างเพลงใหม่ขึ้นมาได้ไหม ภายใต้การซัพพอร์ตของแคมป์นี้ นี่คือโปรเจกต์ที่คัดศิลปินอินเทิร์นที่อยากเป็นศิลปินมืออาชีพ เพราะคนเราจะประกวดไปทำไมถ้ามันไม่มีอนาคตถูกไหม เราเองก็อาจจะเป็นหนึ่งในอนาคตให้เขา เพราะฉะนั้น เวทีนี้แตกต่างจากอีกหลายเวทีตรงที่มันจะจริงกว่าเวทีอื่น รวมถึงหลักการ 6 เรื่องที่เราอยากจะถ่ายทอดให้กับพวกเขา”

เมื่อบทสนทนามาถึงจุดนี้ ผมก็นึกย้อนกลับไปถึงหลักการสําคัญ 6 ข้อที่พี่นิคใช้เป็นหลักยึดในการก่อร่างสร้าง WAY-T Creation ขึ้นมา นั่นคือ หนึ่ง Soft Power (คุณค่ามากมูลค่าของศิลปิน) สอง Artist Management (ดูแลส่วนที่ศิลปินดูแลไม่ไหว) สาม Ecosystem (สร้างระบบนิเวศที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนศิลปิน) สี่ Opportunity (สร้างโอกาส) ห้า Professional (พัฒนาศิลปินให้มีคุณภาพระดับมืออาชีพ) และหก Global (ผลักดันสู่ระดับสากล)

ขณะเดียวกัน ขณะที่ภาพความทรงจำในหัวก็พลันผุดเนื้อหาในหนังสือ ร็อก-ฐ-ศาสตร์ ที่พี่นิคเคยเขียนเอาไว้ และกลายเป็นคู่มือชีวิตการทำงานของคนวงการเพลงหลาย ๆ คน 

ปั้นคนรุ่นใหม่แบบคนรุ่นใหญ่อย่าง นิค วิเชียร ผู้บุกเบิกแกรมมี่, genie records, WAY-T Creation

เป็นช่วงตอนที่ระบุถึงแนวคิด ‘เต๋า เต๋อ จิง’ ที่พี่นิคเชื่อถือและยึดมั่นมาตั้งแต่สมัยที่ร่ำเรียนอยู่ในรั้วรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ว่า

“ปั้นดินเหนียวขึ้นเป็นภาชนะ จากความว่างเปล่าของภาชนะนี้เอง คุณประโยชน์ของภาชนะก็เกิดขึ้น…”

อันตีความได้ถึงการสร้างสิ่งใหม่ให้มี ‘คุณประโยชน์’ จาก ‘ความว่างเปล่า’ หรือ ‘ความไม่มี’ ด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ ผสานด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ

ซึ่งเป็นหลักการและรากฐานที่สะท้อนถึงความตั้งใจของพี่นิคอย่างชัดเจนว่า การถือกำเนิดขึ้นของทั้ง WAY-T กับ The Way นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจแบบฉาบฉวย และไม่ใช่โปรเจกต์ระยะสั้นอย่างแน่นอน

“คือต้องบอกว่าสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่เนี่ย ช่วงที่แค่คิด คนทั่วไปเขาอาจจะเรียกว่าเพ้อเจ้อก็ได้” พี่นิคหัวเราะเบา ๆ ให้กับคำที่เพิ่งกล่าวไป “หมายความว่า ถ้าเป็นคนอื่นที่มีประสบการณ์มาก ๆ อย่างผม เขาก็คงเลือกทำค่ายเพลงต่อไป ไม่มีใครมานั่งทำอะไรแบบนี้หรอก ถ้าผมจะหาศิลปิน ผมไม่ลงทุนทำขนาดนี้หรอก เสียเวลา ผมไปช้อปเอาตาม YouTube หรือให้คนอื่นทำไปแล้วเราไปรอสอยเด็กมาจะง่ายกว่า

ปั้นคนรุ่นใหม่แบบคนรุ่นใหญ่อย่าง นิค วิเชียร ผู้บุกเบิกแกรมมี่, genie records, WAY-T Creation

“แต่แนวคิดของผม คือเราอยู่มานานขนาดนี้แล้ว เราทำงานมาขนาดนี้แล้ว ถ้ามันจะจบไปด้วยด้วยผลงานเดิม ๆ จากสิ่งที่เราทำมาเดิม ๆ สำหรับผมมันไม่สนุกอีกต่อไปแล้ว ผมขอก้าวมาทำสิ่งใหม่ ๆ จะดีกว่า The Way เป็นแค่โปรเจกต์แรกที่เราคิดว่าทำได้เลย ไม่ยากมากอะไร แต่ความที่เรามีประสบการณ์ เราก็ทำให้มันแตกต่าง ไม่ได้บอกว่าเราดีกว่า แต่เป็นแค่วิธีคิดของเรา Because this is my way!” พี่นิคกล่าวถึงตรงนี้พร้อมกับหัวเราะเสียงดัง

“…I could be handy, mending a fuse

When your lights have gone

You can knit a sweater by the fireside

Sunday mornings go for a ride

Doing the garden, digging the weeds

Who could ask for more

Will you still need me, will you still feed me

When I’m sixty-four…”

ปั้นคนรุ่นใหม่แบบคนรุ่นใหญ่อย่าง นิค วิเชียร ผู้บุกเบิกแกรมมี่, genie records, WAY-T Creation

เพลง When I’m Sixty-Four ดังวนกลับมาเป็นรอบที่เท่าไหร่ก็เกินจดจำ แต่ยังทำให้ผมฮัมตามได้อยู่เหมือนเช่นเดิม ซึ่งก็คงเป็นอย่างที่เคยมีใครบางคนเคยให้ทัศนะเอาไว้ว่า กาลเวลาย่อมพิสูจน์ซึ่งคุณค่าของสรรพสิ่ง… งานศิลปะหรือเพลงที่ดีย่อมได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เวลาที่ผ่านเลยย่อมไม่ใช่ข้อจำกัดถึงคุณค่าของแต่ละชิ้นงาน

ตัวตนและผลงานก็คงไม่แตกต่างกัน วันเวลาที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ รวมถึงสร้างภาพจำให้เกิดขึ้นในวงกว้าง กรณีของพี่นิคนั้น แม้จะผ่านงานและมีนามสกุลองค์กรหรือหน้าที่การงานห้อยท้ายชื่อหลากหลายนามด้วยกัน แต่ชื่อที่เป็นที่จดจำในวงกว้าง และกลายมาเป็นชื่อเพจของเขาก็ยังคงเป็น ‘นิค Genie’ ในฐานะผู้บริหารค่ายเพลงอยู่ดี 

ดังนั้น คำถามหนึ่งซึ่งน่าจะผุดขึ้นในหัวของหลาย ๆ คนว่าที่สุดแล้ว WAY-T Creation หรือกระทั่ง The Way จะนำไปสู่ปลายทางที่เป็นค่ายเพลงอย่างที่หลายคนคาดกันหรือเปล่านั้น คำตอบที่ได้ กระชับ ชัดเจน ตามสไตล์ของอดีตนายห้างค่ายคนนี้

“ในวันนี้ยังไม่ได้ตั้งตัวหรือคิดว่าเราจะเป็นค่ายเพลง” พี่นิคตอบ “แต่ถ้าผลงานใน The Way ดี Why not? เราก็ส่งเสริมกันต่อ แล้วก็จะเอามาบริหารจัดการในรูปแบบ Artist Management ได้ และเราก็ไม่ปิดโอกาสที่จะทำงานกับศิลปินทั้งวงการหรอก เพราะเราเชื่อว่าศิลปินอินดี้ก็คงดูแลตัวเองไม่ได้ทุกเรื่องหรอก แต่ถามว่าวันหนึ่งเราจะมีค่ายเพลงได้ไหม ในวันหนึ่งข้างหน้ามันก็เป็นไปได้อยู่แล้ว ถ้ามันจำเป็นที่จะต้อง Grooming ในแบบของเราโดยเฉพาะขึ้นมา”

คำตอบนี้ได้พลันทำให้อีกหนึ่งคำถามผุดขึ้นมา ว่าถ้าหากวันนั้นมาถึง ค่ายเพลงของ วิเชียร ฤกษ์ไพศาล จะออกมาเป็นอย่างไร

“ต้องนิยามว่าค่ายเพลงในความหมายของเราน่ะคืออะไร” พี่นิคตอบยิ้ม ๆ “ถ้าในความหมายของผม มันจะค่อนข้างเฉพาะทาง อาจไม่ต้องใหญ่มากก็ได้ แต่น่าจะมีทิศทางการทำงานที่เฉพาะตัว ถามว่าทุกวันนี้ค่ายเพลงยังมีความจำเป็นอยู่ไหม เราเชื่อว่าศิลปินอินดี้ก็คงดูแลตัวเองไม่ได้ทุกเรื่องหรอก ถูกไหม แล้วเราก็พร้อมที่จะทำงานกับคนที่คิดว่าเขาไว้ใจเรา คิดว่าเรามีคุณค่าพอที่จะเดินต่อกับเขาในมุมอื่น ๆ ซึ่งได้อ่านการทดลองทำในจีนี่มาหมดแล้ว”

ทักษะ “ดูให้ออกว่าใครจะดัง ฟังให้ออกว่าเพลงไหนจะฮิต” ของ ‘นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล’ รุ่นใหญ่วัย 64 ผู้บุกเบิกหลายสิ่งให้วงการเพลงไทย

แล้ว นิค วิเชียร ในฐานะผู้บริหารค่าย (ที่อาจเกิดขึ้น) ล่ะ?

“คำว่าหัวหน้า Lebel Director หรือว่าเจ้าของค่ายเพลง มันก็อยู่ที่แต่ละคนนิยามว่าทำงานแค่ไหน ถ้านิยามผม คือทำไงก็ได้ให้เขาประสบความสำเร็จ มีดี มีกิน มีใช้ นี่คือสิ่งที่เราทำแล้วก็ทุ่มเทมาก แล้วก็ต้องไม่ทุ่มทิ้งในหลาย ๆ เรื่อง อะไรที่เราถนัด บางทีเราก็ไม่ทำ เพราะจะทำให้เสียเรื่องใหญ่ เช่น ผมถนัดเรื่องมิวสิกวิดีโอ ผมก็ไม่จำเป็นต้องไปกำกับ เพราะอะไร ถ้าผมมัวไปกำกับ งานบริหารที่เหลืออีกเยอะจะทำยังไงวะ เหมือนกัน ถ้าคุณเป็นหัวหน้าที่แต่งเพลงเก่ง แล้วคนที่เหลือในค่ายมันจะทำไงวะ แล้วคุณแต่งได้ทุกเพลงไหม แล้วความสามารถในการแต่งเพลงของของวงก็ไม่เกิดสิ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ครับ การทำตรงนี้มันจึงต้องใช้ประสบการณ์ที่มีมาแล้วมาเบลนด์กันให้เข้าที่”

แน่นอนว่า เป้าหมายของพี่นิคที่ว่า “ประสบความสำเร็จ มีดี มีกิน มีใช้” นั้น ย่อมเป็นปลายทางที่ทั้งฝั่งค่ายและฝ่ายศิลปินต่างอยากเห็น ปัญหาก็คือมันเป็นเป้าในแบบ Moon Shot ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้เกิดขึ้นได้

ถ้าเช่นนั้น เคล็ดลับหรือเทคนิคของพี่นิคในประเด็นนี้คืออะไรกัน?

“รักเขาก่อนไง” คือคำตอบอันเรียบง่ายของชายวัย 64 “เมื่อเรารักเขา เราจะพยายามทุกวิถีทาง เหมือนคุณมีลูก คุณรักลูกไหมล่ะ พอคุณรักเขา ที่เหลือแม่งไม่มีวิธีแล้ว”

ทักษะ “ดูให้ออกว่าใครจะดัง ฟังให้ออกว่าเพลงไหนจะฮิต” ของ ‘นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล’ รุ่นใหญ่วัย 64 ผู้บุกเบิกหลายสิ่งให้วงการเพลงไทย
ทักษะ “ดูให้ออกว่าใครจะดัง ฟังให้ออกว่าเพลงไหนจะฮิต” ของ ‘นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล’ รุ่นใหญ่วัย 64 ผู้บุกเบิกหลายสิ่งให้วงการเพลงไทย

ถ้าคำตอบในย่อหน้าก่อนทำให้คุณเลิกคิ้วแปลกใจ ถ้อยคำต่อไปนี้ก็น่าจะทำให้คุณยิ่งทึ่ง กับ ‘ความรัก’ ที่นำไปสู่การดูแลและใส่ใจศิลปินในสังกัดของเขาแบบใกล้ชิดราวกับเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน

“มันมี Case Study ที่ผมช่วยดูแลเยอะมากเลยนะครับ เพราะศิลปินของจีนี่มักเป็นศิลปินใหม่ที่ไม่เคยเป็นศิลปินหรือเคยทำมาหากินจากเรื่องนี้ หรือไม่ก็เป็นเด็กที่มาจากวงประกวด นอกจากนั้นยังมีเพื่อนฝูงเยอะมาก โดยเฉพาะเวลาดังก็ยิ่งมีเพื่อนแยะ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำ คือพอเราเป็นห่วงเป็นใยเขา เราก็จะต้องช่วยทำนายให้เขาว่าน่าจะเกิดอะไรบ้าง อย่างเรื่องเงิน เพื่อป้องกันนะ ให้เงินของน้อง ๆ เสถียร เงินที่ออกมาผมจะช่วยเก็บไว้ให้ ไม่ได้เป็นเจ้าของนะ บุ๊กแบงก์ชื่อของคุณ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตัวเล่มอยู่กับผม เงินที่ได้มา คุณจะได้รับแบ่งจ่ายอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนในจำนวนที่คุณพอใช้ แล้วถ้ามีใครอยากจะขอยืมเงิน คุณอย่าปฏิเสธ แต่บอกให้มาคุยกับผม นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องดูแลแบบนี้ เราจะดีไซน์ให้เฉพาะคน”   

แน่นอนว่า ต่อให้จีนี่จะเป็นค่ายที่แตกต่าง และมักจำกัดความตัวเองว่าเป็นค่ายอินดี้ภายใต้ค่ายใหญ่อีกที แต่ถ้าวัดผลประกอบการก็ถือเป็นค่ายระดับตัวท็อปของค่ายหมายเลข 1 ของไทยอย่างแกรมมี่ แนวทางการดูแลศิลปินในลักษณะนี้น่าจะนำไปสู่ความวุ่นวายบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะกับการต้องข้องเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ‘เงิน’ และ ‘คน’ ซึ่งพี่นิคยืนยันว่าเขาไม่มีปัญหากับเรื่องบริหารจัดการ ‘คน’ แม้แต่กลุ่มคนที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ศิลปิน’ ทั้งจากภายนอกเรื่อยไปจนถึงภายใน

“เรื่องบริหารคนนี่จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย” พี่นิคกล่าวสบาย ๆ “ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ด้วย Norm ปกติ คนแม่งเรื่องมากอยู่แล้ว มันมีทฤษฎีในการดูแลคนเยอะ แต่โดยรวมแล้วถ้าเรา Force จะเอาให้ได้ มันยากเสมอ มันต้องฉลาดที่จะ Manage อย่างผมมีลูก ลูกผมดื้อ ก็มีครูแนะนำให้ใช้ทฤษฎี Reverse ถ้าจะให้มันทำอย่างงี้ ต้องบอกอย่างนั้น เป็นทฤษฎีได้จากโรงเรียนทอสี เฮ้ย ลองดูซิ ได้ผลว่ะ”

ทักษะ “ดูให้ออกว่าใครจะดัง ฟังให้ออกว่าเพลงไหนจะฮิต” ของ ‘นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล’ รุ่นใหญ่วัย 64 ผู้บุกเบิกหลายสิ่งให้วงการเพลงไทย

การทดลองของพี่นิคไม่ได้จบลงแค่ ‘ลูก’ ที่บ้าน แต่ยังหมายถึง ‘ลูก ๆ’ ที่ค่ายด้วย

“ถามว่าดูแลคนพวกนี้ผมทำยังไง ผมอ่านเยอะ ทำเยอะ คิดเยอะอยู่แล้ว ผมจะใช้ทฤษฎีจากปรัชญาเต๋า คือผมจะปกครองโดยไม่ปกครอง ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ เคยถามผม แปลว่าอะไรวะ ปกครองโดยไม่ปกครอง ผมก็บอกว่า ผมจะไม่ตีเส้นให้เขาไต่ แต่ผมจะทำถนนใหญ่ ๆ ให้เขาเดิน แต่ปลายทางที่เดียวกัน คุณอยากไต่เส้นหรือคุณอยากเดินในถนนล่ะ ถนนอยู่แล้วใช่ไหม” พี่นิคอธิบาย

“ถัดจากเราต้องรักและห่วงใยเขาแล้ว ยังต้องฟังให้ออกมองให้ขาดว่า ไอ้นี่ท่าทางจะหางานยากว่ะ เพราะงานมักจะเข้ามาหาวงที่ดังมีเพลงที่ดัง ขณะเดียวกันไอ้พวกวงที่ดีมีเพลงที่ดีบางทีก็อาจจะไม่มีงานก็ได้ ซึ่งถ้าไม่มีงานก็หากินลำบาก เราจะทำยังไง สำหรับผมก็จะต้องดีไซน์เป็นเคสไป แก้เป็นเคสไป

“อย่าง The Yers ยังเคยต้องไปเล่นงานบ้าน ๆ เลย ทั้งที่มันเป็นติสต์อ่ะ แต่เราก็ต้องคุยให้ชัดเจน เช่น บอกเฮ้ย อู๋ (ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์ นักร้องนำ The Yers) วงน้องเล่นท่ายาก พี่เข้าใจ แต่ว่ามันจะยากนิดหนึ่ง เพราะพอเพลงไม่เอาใจตลาด ผับก็อาจจะยังไม่จ้างวงคุณนะ ซึ่งแปลว่าคุณจะยังไม่มีรายได้เข้ามา เพราะเทปซีดีก็ขายไม่ได้แล้ว

“ดังนั้น ทางออกที่ทำได้ก็จะเป็นสิ่งที่คุณถนัดคือการเพอร์ฟอร์ม เดี๋ยวเราจะหาเวทีให้ ซึ่งอาจจะไม่ตรงใจคุณนะครับ เพียงแต่มันจะเยียวยาคุณในช่วงที่คุณยังไม่ดัง ยังไม่มีรายได้ แล้วสุดท้ายวงได้ไปเล่นที่ไหนรู้ไหม เล่นงานแฟนทีวีสัญจร ซึ่งเป็นงานลูกทุ่ง สิ่งที่ต้องทำคืออย่าคิดมาก มองว่าเป็นการหาประสบการณ์ ไปเล่นเหมือนเล่นงานวันเกิดเพื่อน ซึ่งงานวันเกิดเพื่อนเนี่ยคุณต้องมี Overture ไหม เวลาคุณจะเปิดตัวคุณต้องมีท่ายากไหม ไม่มี ขึ้นไปเล่นเลย เพลงที่เล่นก็เล่นเพลงอะไรก็ได้ที่มันดัง แต่สิ่งที่คุณจะได้คือประสบการณ์ คุณจะได้ไปเจอโลกใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเจอ สอง มีรายได้ส่วนหนึ่งไว้เลี้ยงตัว สาม คุณอยากทดลองอะไรก็ทดลองได้เลย เราให้อิสระทางความคิดอยู่แล้วแต่มีขอบเขต เพียงแค่ขอบเขตเรากว้างจนเขาไม่รู้สึกอึดอัด ปลายทางก็คือความสำเร็จ อันเดียวกันนั่นแหละ เอาเลยน้อง ไปทางนี้ ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวพี่ไปด้วย เดินไปเรื่อย ๆ จนสำเร็จ นี่คือวิธีการดูแลพวกติสต์แดกทั้งหลาย”

ทักษะ “ดูให้ออกว่าใครจะดัง ฟังให้ออกว่าเพลงไหนจะฮิต” ของ ‘นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล’ รุ่นใหญ่วัย 64 ผู้บุกเบิกหลายสิ่งให้วงการเพลงไทย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนหรือทุกวงที่จะเข้าใจการตีกรอบในลักษณะนี้ หรือไม่ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง ‘เพลงไม่เอาใจตลาด’ ซึ่งพี่นิคยอมรับว่ามีเคสแบบนี้อยู่จริง และกลายเป็น Case Study ของกรณีที่เรียกได้ว่า เอาเงินมาแก้ปัญหา เพียงแต่ไม่ใช่การเอาเงินตีหัวศิลปิน แต่เป็นอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น

“วงเคลียร์ไงครับ เราปูแบงก์พันให้เดินเลยในชุดแรก” พี่นิครำลึกด้วยรอยยิ้ม “ถามว่าดื้อไหม ถ้าคนไม่ชอบใจก็จะบอกว่าดื้อ แต่ถ้าเข้าใจก็จะรู้ว่ามันเป็นนิสัย แล้วสำหรับผม ศิลปินพวกที่บอก ได้เลยครับพี่ ยังไงก็ได้ ไม่มีอีโก้เลยนี่ผมก็ไม่เอานะ พวกนี้คือผมโคตรเหนื่อยเลย คือมึงไม่มีอะไรของมึงเลยเหรอ เราต้องคำนึงเสมอว่า ต้องบาลานซ์ให้ดีว่าเขาก็มีของเขา แล้วเราต้องรู้ว่าจะเก็บบาลานซ์สิ่งนั้นให้มันเกิดผลลัพธ์ที่ดีได้ยังไง

“อย่างเคลียร์ในชุดแรกนี่ พูดอะไรก็จิ๊ ติอะไรก็จ๊ะ แบบทัชชิ่งไม่ได้ ติสต์มาก ติสต์ 2 เด้งด้วย คือเรียนสถาปัตยฯ จุฬาฯ แล้วเป็นศิลปินอีก 2 เด้งเลย ซึ่งเราอ่านเกมแล้ว เราจะไปถือเขาไม่ได้หรอก สำคัญที่สุดคือเราต้องรู้ว่าเขามีศักยภาพ มีคุณภาพ มีความสามารถ เพราะฉะนั้น เราเลยตั้งธงตรงนี้รอไว้เลย เรารอได้ ทุกอย่างมีเวลาของมันเสมอ เราก็ปล่อยให้ชุดแรกเป็นเหมือนเดิมตามที่เขาคิด ทำด้วยวิธีของเขา โดยมีเป้าหมายว่าเขาจะต้องได้บทเรียน ซึ่งในชุดแรกเนี่ย เขาเจอบทเรียนแสนสาหัสเลย บทเรียนของการที่ได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาคิดมันไม่ใช่ ตรงนั้นน่ะใช้เงิน คือยอมขาดทุน ภาษาแกรมมี่คือปูแบงก์พันให้เดิน เอาเลยตามสบาย

“แต่เรารู้ว่าเดี๋ยวเขาก็ต้องเจออย่างนี้นะ เขาจะไป Meet & Greet โดยที่ไม่มีคนมากรี๊ดเลย เขาไปที่ไหนไปร้องก็ไม่มีคนมาเชียร์เลย ความมั่นใจก็ค่อยลดลงมาแล้วเริ่ม Face to the Fact ได้พบกับความจริงว่างี้ ๆๆๆ พอเขาซมซานกลับมา เราก็ค่อยบอกว่าได้เวลาของพี่แล้วนะ It’s my turn! คราวนี้เราก็ค่อยหยิบสิ่งที่จำเป็นใส่ลงไปในชุดที่ 2 ผมจะมีคำประจำอยู่คำหนึ่ง คือเอาเนื้อช้างมาปะเนื้อหนู แปลว่าเจ๊งนิดหนึ่งไม่เป็นไร ยังไงมีเงินก้อนใหญ่ค้ำอยู่ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ต้องขีดเส้นใต้ให้ชัดว่าเราเอาเงินบริษัทมาทำงาน จึงมันมือไม่ได้ แต่ พี่บูลย์ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการแกรมมี่) เขาเชื่อมือเราอยู่แล้ว อาจจะมาจากความไว้ใจปล่อยให้ทำแล้วมัน Success ตั้งแต่ปีแรก ตราบเท่าที่เรา Underline เอาไว้ว่าทั้งระบบต้องไม่เจ๊ง ธุรกิจยังเดินได้ ทุกอย่างคือการลงทุน”

ทักษะ “ดูให้ออกว่าใครจะดัง ฟังให้ออกว่าเพลงไหนจะฮิต” ของ ‘นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล’ รุ่นใหญ่วัย 64 ผู้บุกเบิกหลายสิ่งให้วงการเพลงไทย

ย้อนกลับไปยัง พ.ศ. 2540 พี่นิคได้รับมอบหมายภารกิจ 2 ประการจากผู้เป็นประธานกรรมการบริษัทว่า หนึ่ง ให้ก่อตั้งค่ายเพลงขึ้นมาค่ายหนึ่ง สอง ห้ามเจ๊ง

“ค่ายจีนี่เป็นค่ายที่พี่บูลย์ไม่ค่อยรู้เรื่องมาก ความที่เริ่มจากงง ๆ ตั้งแต่ชุดแรกคือ สุเมธแอนด์เดอะปั๋ง แล้วก็ ไท ธนาวุฒิ ซึ่งเราเห็น ไม่ใช่เห็นแค่มูลค่า แต่เราเห็นคุณค่าว่าเพลงมันดี โอเค มันไม่จำเป็นต้องสำเร็จอย่างนี้ (ยกมือเหนือหัว) แต่สำเร็จอย่างนี้ก็ได้ (ยกมือแค่ระดับสายตา) จีนี่ในวันที่เปิดค่ายยังไม่มีศิลปิน ขณะที่ค่ายอื่นในแกรมมี่มีศิลปิน มีทีมเพลง ยุคนั้นเป็นยุคค่ายไม่ใช่ยุคฟรีแลนซ์ โปรดิวเซอร์ก็ต้องทำงานค่ายตัวเอง หรือแม้แต่โปรโมเตอร์ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอยังต้องอยู่ในค่ายเลย คุณจะไปเป็นสิงห์พเนจรนี่ไม่มี พอคุณไม่มีของคุณเอง แปลว่าอะไรคุณก็ไม่มีแมนพาวเวอร์ สร้างก็ไม่ทัน ค่ายอื่นเขาก็ไม่แบ่งกันเพราะเขามีภารกิจของเขา ดังนั้น ให้ทำแบบเดิมเราก็ไม่สำเร็จ คงสู้เขาไม่ไหว เราก็ต้องคิดและทำให้แตกต่าง”

“คุณมองความสำเร็จของ ไท ธนาวุฒิ หรือ พลพล ในวันนี้อาจจะไม่แปลกใจ เพราะว่ามันดังไปแล้วไง แต่ ณ วันนั้น ไม่มีใครเชื่อว่าจะโดน แต่เราในฐานะหัวหน้าค่าย ต้องเป็นมนุษย์พันธุ์ที่เขาเรียกว่า Artists and Repertoire คนพันธุ์นี้ทำอย่างเดียวคือดูให้ออกว่าใครจะดัง ฟังให้ออกว่าเพลงไหนจะฮิต ซึ่งมันเสือกอยู่ในตัวผมอยู่แล้ว รู้ว่ามันจะโดน ไอ้เนี่ยโอ้โหดำปี๋จะโดนเหรอ เออน่ามันดังอยู่แล้ว ไอ้อ้วน ๆ เนี่ยเหรอจะดัง มันดังได้แล้วกัน”

และผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือบทพิสูจน์ถึงทักษะในการ ‘ดูให้ออกว่าใครจะดัง’ และ ‘ฟังให้ออกว่าเพลงไหนจะฮิต’ ไปจนถึงสารพันกลยุทธ์ที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของพี่นิคแล้ว

ทักษะ “ดูให้ออกว่าใครจะดัง ฟังให้ออกว่าเพลงไหนจะฮิต” ของ ‘นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล’ รุ่นใหญ่วัย 64 ผู้บุกเบิกหลายสิ่งให้วงการเพลงไทย

เมื่อเวลาล่วงเลยมาจนถึงตอนนี้ บทเพลง When I’m Sixty-Four รอบสุดท้ายได้เงียบหายไปแล้ว ขณะที่ผมพักตาจากงานเพื่อมาอัปเดตโลกกว้างผ่านหน้าโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็มีปรากฏข่าวคราวความเคลื่อนไหวของ Paul McCartney ในวันที่ล่วงเลยผ่านวัย 64 ไปนานพอดู ทว่ายังคงแอคทีฟ และมีผลงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอ

ห่างไกลจากประโยคในเพลงเพลงนี้ที่ร่ำร้องจากมุมมองของชายชราที่อ่อนแรงจนต้องขอความกรุณาเอื้อเฟื้อดูแลจากคนรักที่ว่า “Will you still need me, will you still feed me. When I’m sixty-four” อยู่หลายปีแสง

แล้วทันใด บทเพลงใน iTunes ก็ได้ Random มาถึงเพลงหนึ่ง ซึ่งผมไม่ได้ฟังมาเป็นเวลานาน เพลงนั้นมีชื่อว่า Goin’ Back ของ Dusty Springfield

“I think I’m going back

To the thing I learned so well in my youth

I think I’m returning to

All those days when I was young enough to know the truth…”

เป็นเพลงที่เกิดจากปลายปากกาและเสียงเปียโนของ (อดีต) สองสามีภรรยานักแต่งเพลง Gerry Goffin กับ Carole King ซึ่งว่าด้วยเรื่องของการก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่พร้อม ๆ กับสูญเสียความไร้เดียงสาที่เคยมีมา กระทั่งตัวละครในเพลงนี้ต้องพยายามกอบกู้ความบริสุทธิ์ในวัยเยาว์เหล่านั้นกลับคืนมา

ฉับพลัน ผมก็นึกถึงผู้ชายผู้เป็นคนต้นทางของเรื่องที่ดำเนินมาจนถึงบรรทัดนี้ ซึ่งก็จัดอยู่ในหมวดเดียวกันกับ Paul McCartney ที่ไม่ยี่หระกับการจากไปของความไร้เดียงสาเหล่านั้น ซ้ำยังไม่ยินยอมให้ช่วงวัยมาเป็นข้อจำกัดของความฝันและแรงบันดาลใจ ดังเช่นคำพูดตอนหนึ่งที่ว่า

ทักษะ “ดูให้ออกว่าใครจะดัง ฟังให้ออกว่าเพลงไหนจะฮิต” ของ ‘นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล’ รุ่นใหญ่วัย 64 ผู้บุกเบิกหลายสิ่งให้วงการเพลงไทย

“ผมมาเริ่มต้นเส้นทางใหม่ในตอนที่อายุ 64 ย่าง 65 ก็เหมือนกับผมเริ่มต้นชีวิตใหม่ตอน 64 นั่นแหละครับ” พี่นิคกล่าวด้วยรอยยิ้มใจดีที่หลายคนคุ้นเคยมาตลอดระยะเวลาการทำงานอันยาวนาน

“ผมออกจากแกรมมี่ตอน พ.ศ. 2562 แกรมมี่ก็เป็นบ้านหลังหนึ่ง แกรมมี่คือผู้ให้กำเนิดผม ฉะนั้น จึงมีความผูกพันมากนะครับ แต่วันหนึ่งเราก็ต้องออกจากบ้านเราเพื่อมาเติบโต ฉะนั้น ความสัมพันธ์มันไม่ได้สูญหายไป ผมตัดสินใจลาออกในวันที่จีนี่แม่งเบิกบานมากนะ ผมเพิ่งจัดคอนเสิร์ตราชมังฯ 2 รอบ กำลังรุ่งโรจน์มากเลย ผู้ใหญ่เขาก็เตรียมจะให้เป็นรองประธานบริษัท ตำแหน่งตั้งไว้แล้ว เห็นแล้ว แต่ผมไม่เอา มันไม่มันน่ะ แล้วก็อีกอย่าง เรารู้ว่าพี่เขากำลังคิดอะไรอยู่ เขาอยากดูแลคนที่สู้มาด้วยกัน แต่ความที่ หนึ่ง เราไม่ต้องการเป็นภาระ สอง เรามีฝันของเราที่อยากจะทำ และถ้าเราทำสำเร็จพี่ ๆ ก็คงภูมิใจ” พี่นิคพูดถึงตรงนี้ด้วยแววตาที่ยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ก่อนจะกล่าวต่อไปแบบช้า ๆ ทว่าชัดเจนทุกถ้อยคำ

“ผมไม่อยากจบประวัติของผมด้วยอดีต ผมอยากเป็นปัจจุบัน เราไม่อยากให้คนอื่นเสพเรื่องความสำเร็จของเราแค่ยุคใดยุคหนึ่ง หรือกระทั่งยุคจีนี่ เราไม่อยากอยู่แค่นั้น อีกหน่อยเขาอาจจะเรียกว่า เนี่ย นิค WAY-T ก็ได้ แต่สุดท้ายเขาจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ แต่ผมก็ยังเป็นพี่นิคของเขาก็แล้วกัน โดย Underline ว่า ผมอยากหยุดบนความทรงจำของทุกคนด้วยคำว่า Mr.Opportunity ได้ เท่านั้นผมก็พอใจมากที่สุดแล้ว” 

ทักษะ “ดูให้ออกว่าใครจะดัง ฟังให้ออกว่าเพลงไหนจะฮิต” ของ ‘นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล’ รุ่นใหญ่วัย 64 ผู้บุกเบิกหลายสิ่งให้วงการเพลงไทย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีเรื่องราวหรือบทความจำนวนมากกว่ามากที่เมื่อมีการบอกเล่าถึงบุคคลสำคัญในวงการต่าง ๆ ก็มักจะมีสถานการณ์หรือจุดพลิกผันที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ขึ้นมา ก่อนหน้าที่จะสรุปเรื่องราวหลังจากนั้นด้วยสำนวนที่ว่า ‘แล้วที่เหลือก็คือประวัติศาสตร์’

แต่สำหรับบุคคลระดับตำนานหรือกรำประสบการณ์ที่ยังมีลมหายใจแล้ว ปัญหามีประการเดียว ก็คือประวัติศาสตร์นั้นคืออดีต แต่สำหรับคนกลุ่มดังกล่าว จำนวนไม่น้อยกลับเลือกอยู่กับปัจจุบันและอนาคต พร้อมกับดำเนินหรือสร้างตำนานของแต่ละคนต่อไปเรื่อย ๆ

ซึ่งพี่นิคก็ไม่ผิดแผกไปจากนั้น

Writer

Avatar

พีรภัทร โพธิสารัตนะ

คนรักดนตรีที่เริ่มต้นชีวิตนัก(อยาก)เขียนด้วยการเป็นนักวิจารณ์ดนตรีอิสระที่มีผล งานลงในนิตยสาร a day, Hamburger, Esquire และอีกมากมาย รวมถึงเคยถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตคนดังออกมาเป็นตัวหนังสือประเภทอัตชีวประวัติ มาแล้วหลายคน หลายเรื่องในหลายเล่ม ผ่านทั้งชื่อจริงและนามปากกาอย่าง ภัทรภี พุทธวัณณ นิทาน สรรพสิริ และวรวิทย์ เต็มวุฒิการ ก่อนหน้าที่จะผันตัวเองเป็น “บรรณาธิการตัวเล็ก” ให้กับนิตยสาร DDTแล้วนับจากนั้นบรรณาธิการตัวเล็กคนนี้ก็ไม่อาจหลีกหนีไปจากมนต์เสน่ห์ของานหนังสือได้อีกเลย ปัจจุบันทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารให้กับนิตยสารแจกฟรีภาษาจีนที่ชื่อ “Bangkok Youth” และยังคงฟังเพลง เขียนหนังสือ และเสาะหาเรื่องดีๆ มาประดับความคิดอ่านอยู่เสมอ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล