อย่างที่รู้กันว่าประเทศไทยมี 3 ฤดู คือฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก และฤดูร้อนมาก ๆ

ต้องชื่นชมพระอาทิตย์ดวงโตซึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ ทั้งปล่อยไอร้อน ๆ จนเราแสบผิว บางทีเผลอสบตาเจ้าสุริยา ไม่ทันไรก็ต้องหยีตาหน้ามู่ทู่ ได้แต่บ่นร้อนระอุอยู่ภายใน

เราพาตัวเองมาที่ท่าพระอาทิตย์ ย่านที่เต็มไปด้วยภาษาไม่คุ้นหู เพราะมีชาวต่างชาติจากหลายประเทศทั่วโลกเดินกันขวักไขว่และพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน รู้ตัวอีกทีเราก็มาหยุดอยู่ตรงหน้าร้านไอศกรีมแห่งหนึ่ง อากาศร้อนขนาดนี้ จะหยุดทานไอศกรีมสักหน่อยคงจะไม่เป็นไร 

ตรงหน้าเราคือ ‘Coconut Culture’ ร้านไอศกรีมไทยร่วมสมัยที่ใช้ ‘มะพร้าว’ แทนนม

ก่อนจะก้าวเข้าไปในร้าน เราเจอ วิทย์-เอกวิทย์ เชพานุเคราะห์ และ มะนาว-ศศิ เทอดธีระกุล คู่รักซึ่งเป็นเจ้าของร้าน กำลังนั่งกินก๋วยเตี๋ยวเนื้ออยู่ข้างร้านไอศกรีมของเขาและเธออย่างเอร็ดอร่อย

“เราเปิดร้านที่ท่าพระอาทิตย์ได้ก็เพราะมากินก๋วยเตี๋ยวเนื้อแล้วเผอิญเห็นตึกนี้แหละค่ะ” มะนาวเปิดบทสนทนา หลังมื้อเที่ยงในร้านโปรด หนุ่มสาวคู่นี้ก็พาเราเข้าสู่โลกของมะพร้าวเต็มรูปแบบ

Coconut

ต้องเท้าความก่อนว่าเขาและเธอเริ่มต้นจากการเปิดคาเฟ่ย่านบางขุนเทียน เราว่าคุณต้องรู้จัก PULSE Bangkok กันมาบ้าง เมื่อกิจการมั่นคง ทั้งสองจึงไม่หยุดไอเดียเปิดร้านขนมไว้เพียงเท่านั้น

“ผมชอบดู ชอบสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอยู่แล้ว จนมาเจอไอศกรีมมะพร้าวที่เราเรียกกันว่าไอศกรีมกะทินั่นแหละ ผมเห็นมันอยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ปัจจุบันมีคนหยิบจับไปทำนู่นทำนี่ตลอด แต่ผมว่าไอศกรีมมะพร้าวยังพัฒนาต่อได้อีก นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Coconut Culture ครับ” วิทย์เล่า

“พอเราตระเวนกินไอติมกะทิหลาย ๆ ร้าน เราก็เจอคาแรกเตอร์ของไอศกรีมประเภทนี้ ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันเลย บางร้านกินแล้วรู้สึกสดชื่น บางร้านกินแล้วได้รสหวานมัน” มะนาวเสริม

“สุดท้ายเลยเข้าคอร์สเรียนทำ หลังจากนั้นก็สนุกเลย” ฝ่ายชายเล่าไปยิ้มไป

ความสนุกนั้นหมายถึงเขาลองผิดลองถูกในการทำไอศกรีม ทั้งคู่เล่าเพิ่มว่า ไอศกรีมมีหลายประเภท ทั้งโบราณแบบไทย ๆ ที่ใช้น้ำแข็งมาทำให้คงรูป หรือเจลาโต้ของอิตาลี

“ตอนซื้อเครื่องมาลองทำไอศกรีม เราลองทำเจลาโต้เป็นหลัก ซึ่งเจลาโต้ต้องใช้นม เราอยากลองลูกเล่นอื่น ๆ เลยเปลี่ยนมาใช้กะทิเป็นเบสหลัก พอลองทำปุ๊บ เฮ้ย อร่อยเลยนี่หว่า เหมือนเราได้เจอทิศทางใหม่ ๆ ของไอศกรีมมะพร้าว นอกเหนือจากเสน่ห์เรื่องรสชาติ และเหตุผลสำคัญอีกข้อที่เราทำไอศกรีมเบสมะพร้าว เพราะพี่วิทย์แพ้นมค่ะ มันเลยตอบโจทย์เราทั้งคู่ด้วย” มะนาวอธิบายด้วยรอยยิ้ม

Culture

ระหว่างรอไอศกรีมมาเสิร์ฟ เรามองไปรอบ ๆ ร้านก็เห็นลูกมะพร้าว (ของจริง!) วางอยู่ตามชั้นวาง ชวนนึกถึงบ้านทรงไทยเก่า ๆ รวมถึงรูปภาพกราฟิกลายผ้าขาวม้าที่แขวนเด่นเป็นสง่า ทว่าสีสันภายในร้านกลับร่วมสมัย ทำให้เรารู้สึกถึงทั้งความแปลกใหม่และกลิ่นอายความเป็นไทยในเวลาเดียวกัน

“ตอนคิดไอเดียทำร้าน เราอยากได้ความรู้สึกไทย ๆ หน่อย และปรับให้ร่วมสมัยมากขึ้น เพราะย่านนี้ชาวต่างชาติเยอะ ถ้าเอา 2 วัฒนธรรมมาเบลนด์เข้าหากันน่าจะดี” พอได้ยินวิทย์อธิบาย เราก็ไม่แปลกใจแต่อย่างใด เราเห็นคนไทย คนจีน รวมถึงคนหลากหลายเชื้อชาติแวะเวียนมาอย่างต่อเนื่อง 

“พอเริ่มลงรายละเอียดของแบรนดิ้ง เราอยากให้เข้าถึงง่าย เลยทำป้ายร้านให้เหมือนป้ายคัตเอาต์ร้านยาสมัยก่อน เพราะรู้สึกว่าเสน่ห์แบบไทย ๆ น่ารักดี หรือลายผ้าขาวม้า ผ้าถุง ก็เอามาเป็นธีมหลักในการออกแบบ ส่วนสีสันมาจากสีของมะพร้าว คือสีเขียวกับสีน้ำตาล และเราเลือกเพิ่มสีน้ำเงินลงไป เสริมความป๊อป ความสดใส ทำให้ร้านดูโมเดิร์นขึ้น และสุดท้ายเราก็ได้สโลแกนของร้านว่า ‘Thai Contemporary Coconut Ice Cream’ หรือ ไอศกรีมมะพร้าวไทยร่วมสมัย จนได้” มะนาวเล่า

Shade of Coconut

เมื่อไอศกรีมมาเสิร์ฟตรงหน้า กลิ่นหอมของมะพร้าวก็ลอยขึ้นมาเตะจมูก

“สำหรับเมนูนี้มีไอศกรีม 2 รส คือ Classic Coconut หวานและสดชื่น ส่วน Rich Coconut หวานมันกะทิ ท็อปด้วยข้าวโพด ผมได้ไอเดียมาจากงานวัดสมัยเด็กที่มีข้าวโพดปิ้งขาย” นอกจากข้าวโพดปิ้งเกรียม ๆ ยังมีวาฟเฟิลทองม้วน คุกกี้ไข่เค็ม เนื้อมะพร้าวขูดละเอียดที่ผสมคาราเมลมาแล้ว 

“เด็ก ๆ นี่คือเมื่อนานมากแล้วนะคะ” มะนาวแซวจนทั้งคู่หัวเราะออกมา

หลังจากเราชิมไอศกรีมทั้ง 2 รส ก็พบเสน่ห์ที่แตกต่างกัน รสคลาสสิกให้ความหวานแบบสดชื่นอย่างที่เขาว่า ขณะที่ Rich Coconut เป็นรสชาติที่พาเราหวนกลับไปนึกถึงร้านไอศกรีมรถเข็นที่เคยกินตอนเด็ก ส่วนท็อปปิ้งก็เสริมให้ถ้วยนี้กลมกล่อม ตัดกับรสหวานของไอศกรีมได้อย่างลงตัว

“ไอศกรีมมะพร้าวยังมีอีกรสหนึ่งนะครับ คือรส ‘มะพร้าวเผา’ เป็นไอศกรีมมะพร้าวที่หวานน้อยที่สุด สัมผัสร่วน ๆ กินแล้วสดชื่น เหตุผลที่เรามีไอศกรีมมะพร้าวหลายแบบ เพราะเราเห็นคาแรกเตอร์ของมะพร้าว เลยเอามาไล่เฉดรสชาติดู ถ้านึกภาพไม่ออก ลองนึกถึงไอศกรีมชาเขียวที่มีหลายระดับรสชาติ ตั้งแต่เข้มน้อยจนถึงเข้มมาก ซึ่งเราอยากทำให้คนรู้ว่าวัตถุดิบไทยก็ทำแบบนั้นได้” วิทย์อธิบาย

นอกจากรสมะพร้าว Coconut Culture ยังมีรสชาติไอศกรีมอีกหลากหลายรสให้ลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็นรสไทย ๆ อย่างบ้าบิ่นหรือมังคุด และรสสไตล์ตะวันตกอย่างพิสตาชิโอหรือพีนัตบัตเตอร์

“วิธีคิดรสชาติไอศกรีมก็เหมือนวิธีออกแบบร้าน เราอยากให้ร่วมสมัย เลยมีทั้งไอศกรีมกะทิไทย ๆ มีรสชาติฝรั่ง ๆ อย่างคาราเมลหรือพิสตาชิโอ และมีรสชาติของญี่ปุ่นอย่างโฮจิฉะ” มะนาวเล่า 

หลังจากซัดไอศกรีมจนหมดถ้วย ทั้งสองก็เล่าถึงที่มาของมะพร้าวให้เราฟัง 

“เราใช้มะพร้าวบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ตอนนั้นมีโอกาสได้ลองชิมจากหลายพื้นที่ แต่ก็พบว่ามะพร้าวบ้านแพ้วนี่แหละอร่อยที่สุด หวานและหอม อีกอย่างคือธุรกิจมะพร้าวที่บ้านแพ้วค่อนข้างเก่าแก่ ทำให้เขามีผลผลิตตลอดทั้งปี รสชาติอร่อย ค้าขายสะดวก” วิทย์อธิบาย ก่อนมะนาวเสริมต่อว่า “เราเชื่อว่าวัตถุดิบไทยมีเสน่ห์ ถ้าจะทำไอศกรีมมะพร้าวทั้งที ก็ต้องใช้มะพร้าวคนไทยนี่แหละ” 

Coffee Scenery Music

เมื่ออิ่มอร่อยกับเรื่องราวของไอศกรีมมะพร้าวเรียบร้อย วิทย์และมะนาวก็พาเราทัวร์อาคารหลังนี้ เพราะนอกจาก Coconut Culture ที่ตั้งอยู่ชั้นล่างสุดของตึก ยังมีพื้นที่ให้เราเยี่ยมชมอีก 4 ชั้น

โดยสถานีต่อไปคือชั้นที่ 2 ที่เป็นที่ตั้งของคาเฟ่ PULSE Bangkok นั่นเอง

“ก่อนหน้านี้เราเปิดคาเฟ่ที่บางขุนเทียน แต่เรื่องราวของสาขานี้เริ่มมาจากที่เราตระเวนหาสถานที่ แล้วเจอตึกนี้ ซึ่งอยู่ข้างร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่เราชอบ ตอนแรกเป็นแค่ห้องพักคนงาน แต่เราเห็นแล้วรู้สึกว่าไปต่อได้ เป็นย่านที่นักท่องเที่ยวเยอะ พอตัดสินใจเช่า เขากลับบอกว่าขอปล่อยเช่าทั้งตึก

“พอเราลองชั่งน้ำหนักดู ถ้าจะทำแค่ร้านไอศกรีมอย่างเดียวคงเสียดายแย่ เลยลองเข้ามาสำรวจตัวตึก แล้วพบว่าวิวทิวทัศน์สวยมาก ๆ ต้นไม้เอย สะพานพระราม 8 เอย หลังจากเห็นทิวทัศน์ปุ๊บ ทำให้เรานึกถึงคอนเซปต์ของ PULSE เลย นั่นคือ Coffee Scenery Music กลายเป็นว่าย่านท่าพระอาทิตย์พาเราไปเจอ Scenery ดี ๆ ได้ เลยตัดสินใจเปิดอีกสักสาขาแล้วกัน” ทั้งสองผลัดกันเล่า

เมื่อเทียบกับเสน่ห์ไทย ๆ อันร่วมสมัยของ Coconut Culture แล้ว คาเฟ่ PULSE กลับให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป บรรยากาศอบอุ่น มีเพลงแจ๊สคลอเบา ๆ ระหว่างนั่งจิบกาแฟและพักผ่อน

แล้ว PULSE บางขุนเทียนกับ PULSE ท่าพระอาทิตย์ต่างกันยังไง – เราถาม

“ทั้ง 2 สถานที่มีการตกแต่งต่างกันครับ ผมอยากเล่นกับคำว่า ‘พระอาทิตย์’ ที่แสดงถึงความสดชื่น มีชีวิตชีวา เลยหยอดสีแดง สีส้มลงไป ต่างจากบางขุนเทียนที่มีสีน้ำตาล สีครีม และเมนูซิกเนเจอร์ของที่นี่ใช้ชื่อว่า Sunbeam และ Sundown เป็นการเล่นคำเล็ก ๆ ครับ” วิทย์เล่าไปยิ้มไป 

Tha Phra Arthit

ติ๊ง! สถานีต่อไป ชั้น 3 เรามองลอดผ่านกระจกใส เห็นเก้าอี้โรงละครสีแดงวางรายเรียงกัน หน้าต่างบานใหญ่ทำให้แสงส่องถึง เราเห็นวิวสีเขียวสบายตา ทั้งสองเล่าว่าชั้นนี้ทำเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ผู้คนมาแสดงความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะมาจัดนิทรรศการ มานั่งคิดงาน หรือจะมาจัดมินิคอนเสิร์ตก็ยังได้

“ตอนแรกก็คิดว่าจะทำอะไรดี แต่เราเห็นว่าชั้น 2 มีที่นั่งไม่เยอะมาก เลยจัดให้ชั้น 3 เป็นเหมือนสเปซหรือพื้นที่ว่างให้คนมาเช่าไปทำอะไรก็ได้ นั่งประชุม จัดเวิร์กช็อป ได้หมดเลย” มะนาวเล่า

ชั้น 4 และชั้น 5 ทั้งสองเลือกทำห้องพัก Airbnb ให้ผู้คนมาพักผ่อน กินลมชมวิวกับบรรยากาศท่าพระอาทิตย์ จัดวางเฟอร์นิเจอร์ในห้องพักอย่างลงตัว เราเห็นแล้วอยากทิ้งตัวลงนอนเสียตรงนั้น

“พวกเราอยากทำธุรกิจที่พักมานานแล้วครับ ตอนแรกไม่รู้จะเริ่มยังไง แต่พอมาเจอพื้นที่ตรงนี้ก็รู้สึกว่าเหมาะเจาะ เห็นประสิทธิภาพว่าน่าจะต่อยอดได้ เลยใช้ประโยชน์ทั้งตึกไปเลย” วิทย์เล่า

การเข้ามาเป็นน้องใหม่ในย่านต้องปรับอะไรบ้างไหมคะ – เราถามด้วยความสงสัย

“ในเมื่อเราจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่และย่าน เราตั้งใจออกแบบให้ร้านกลมกลืนกับตึกรามบ้านช่องแถบนี้ ไม่อยากให้แตกต่างจนกระโดดออกมา เพราะเดิมทีย่านนี้มีเสน่ห์อยู่แล้ว เราไม่อยากเปลี่ยนบริบทของย่าน จึงรักษาอาคารด้านนอกไว้เหมือนเดิม แล้วมาสนุกกับพื้นที่ด้านในแทน

“สมัยก่อนเราทั้งคู่ชอบมาเที่ยวแถวท่าพระอาทิตย์ จำได้ว่าคึกคักมาก แทบจะเป็นถนนศิลปะ มีทั้งบาร์แจ๊ส คาเฟ่ แต่หลัง ๆ เสน่ห์ค่อย ๆ หายไป เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ย่านกลับมามีชีวิตชีวา

“ถ้ามาเที่ยวแถวนี้อยากให้ลองเดินชมเสน่ห์ของย่านก่อน แวะกินอาหารร้านต่าง ๆ ทั้งก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ มีให้เลือกเยอะเลย แล้วค่อยมาปิดท้ายไอศกรีมที่ร้านเรา” ทั้งสองเล่าพร้อมรอยยิ้ม

แม้ทั้งสองอาจยังการันตีไม่ได้ว่าจะชุบชีวิตย่านท่าพระอาทิตย์ที่พวกเขาหลงรักได้หรือไม่ แต่ถ้าหากจุดประสงค์คือการทำให้เรารับรู้ถึงเสน่ห์ของย่านนี้ ถือว่าเขาและเธอทำสำเร็จแล้ว

Coconut Culture
  • 100/6 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
  • เปิดบริการทุกวัน เวลา 11.00 – 21.00 น.
  • 06 3623 9545
  • coconutculture.bkk

Writer

วรรณิกา อุดมสินวัฒนา

วรรณิกา อุดมสินวัฒนา

ติดบ้าน ชอบดื่มชา เล่นกีฬาไม่ได้เรื่อง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล