ไอติมอิตาเลียน
หน้าร้อนไทยมาถึงก่อนหน้าร้อนอิตาลี เมื่อหน้าร้อนมาถึง หลายคนก็นึกถึงไอศกรีม พอนึกถึงอิตาลีพ่วงไปด้วย หลายคนก็จะนึกถึง Gelato ของอิตาลีไปด้วย ว่าแต่ Gelato คืออะไร ทำไมถึงไม่นิยมใช้ Ice Cream ไปเลยเล่า เป็นที่จริตหรืออะไร

Gelato vs Ice Cream
ดูที่คำศัพท์ก่อนแล้วกัน ภาษาอิตาเลียนเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Gelato’ อันแปลตามศัพท์ได้ว่า เย็นเป็นน้ำแข็ง ไม่ได้แปลว่า ครีม ที่เป็นน้ำแข็ง เหมือนกับคำว่า Ice Cream แค่นี้ก็ต่างกันเสียแล้ว
อย่ากระนั้นเลย เรามาดูความแตกต่างระหว่างเจลาโตกับไอศกรีม กันดีกว่า

ด้วยเหตุดังกล่าว ในตอนนี้จะขอแยกใช้คำว่า ‘ไอศกรีม’ เมื่อพูดถึง Ice Cream และ ‘ไอติม’ เมื่อพูดถึง Gelato แล้วกัน เพราะชอบคำว่า ไอติม เป็นการส่วนตัว เป็นคำน่าเอ็นดู
เวลาสั่งไอติมในอิตาลี
โดยทั่ว ๆ ไป คุณต้องศึกษากติกาของแต่ละร้านก่อนว่าถ้วยมีกี่ขนาด ขนาดละกี่ยูโร แล้วเลือกได้กี่รส หรือจะกินใส่โคน หรือมีอย่างอื่นก็ศึกษาให้ดี เช่น ถ้วยเล็ก เลือกได้รสเดียว ถ้าอยากกินหลายรส เลือกขนาดที่เขาอนุญาต
จากนั้น หรืออาจจะก่อนหน้านั้น ก็ไปส่องดูว่ามีรสอะไรบ้าง ท่องชื่อไว้
ตอนนี้ล่ะที่แต่ละร้านจะไม่ค่อยเหมือนกัน ตามปกติ หากคุณไปในร้านที่คนเยอะ ๆ เขาจะให้คุณไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์ก่อน ตรงนี้บอกแค่ว่าจะใส่อะไร ถ้วยหรือโคนเท่านี้พอ แคชเชียร์ก็จะเก็บตังค์ ออกตั๋วให้เรา
จากนั้นเราก็ไปต่อคิวชุลมุน คนตักจะถามว่าตาใครแล้ว ก็ให้แน่ใจว่าน่าจะเป็นตาเรา ก็กรากเข้าไปที่ตู้กระจกนั้น แล้วควรบอกเขาอย่างรวดเร็วว่าจะเอาอะไรบ้าง จะให้ปลอดภัย บอกก่อนไปเลยว่ากี่รส ทำนิ้วก็ได้ ถ้า 2 เขาก็จะตักรสละครึ่ง ถ้าเราบอกว่า 3 เขาก็จะกะให้เป็นรสละ 1/3 สิ่งที่พลาดที่สุดคือการไม่บอกว่าจะเอากี่รสแต่แรกแล้วเว้นช่วงนาน เช่น จะกิน 3 รส แต่บอกเขาไปแค่ 2 รส แล้วค่อยบอกรสที่ 3 ภายหลัง อย่างนี้ไม่ได้ อีกสิ่งที่ถ้าจะทำ อย่าบอกว่ารู้จักกัน คือไปถึงหน้าตู้แล้วเอานิ้วจิ้มแก้มเอ็นดูตัวเอง แล้วค่อยคิดว่าจะรสอะไรดี ในขณะที่คนตักมีของทุกอย่างพร้อมมือ คิดก่อนหนู คิดก่อน
อนึ่ง อยากลองรสที่มีชื่อแปลก ๆ แต่ไม่แน่ใจในรสชาติ ให้เผื่อใจไว้ก่อนว่า ถ้าถามเขาแล้ว ฟังดูไม่เข้าที (เขาอาจไม่ให้ชิมนะ) จะเอารสอะไรแทน หากตัดสินใจลองรสใหม่ก็จบไป แต่ถ้าฟังแล้วไม่เอา รสในแผนสำรองจะได้ไต่โปเจียมขึ้นมาทันที
การตักไอติม
เนื่องจากเนื้อสัมผัสของไอติมอิตาเลียนมีความหนืดเนียนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จึงตักเป็นก้อนกลมไม่ได้ มิได้เป็นจริตใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้นแล้ว บางร้านยังนิยมตักไอติมมาปาดเข้าปาดออก ปาดขึ้นปาดลงตรงขอบถังไอติม ก่อนจะปาดขึ้นใส่โคนให้เรา ที่เป็นอย่างนั้นเพราะเขาว่า จะทำให้เนื้อไอติมนุ่มเนียนยิ่งขึ้นอีก


ร้านไอติมร้อยรสชาติ
ครั้งหนึ่งในชีวิต เคยไปทางใต้ ไปเมืองชื่อซาแลร์โน (Salerno) อันอยู่ใต้นโปลีลงไปอีก เพื่อนก็ขับรถพาไปกินพิซซ่า ตระเวนดูเมือง แล้วก็จบลงที่เดี๋ยวจะเลี้ยงไอติม จะพาไปร้านไอติมชื่อดัง เมื่อไปถึงจึงได้รู้ว่าดังเรื่องอะไร ร้านไอติมที่ว่ามีรสชาติให้เลือกเยอะมาก จำไม่ได้ว่ากี่รส จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าไม่ต่ำกว่า 40 ซึ่งปัจจุบันคงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกอะไรอีกแล้ว
แต่การที่มีรสชาติมากนั้น ไม่เท่ากับความแปลกของรสชาติ เพราะที่ร้านนั้นมีไอติมรสผักต่าง ๆ รวมทั้ง ‘กระเทียม’ ด้วย ไม่เท่านั้น ยังมีไอติมรสปลา รสกุ้ง รสอะไรต่อมิอะไรด้วย เพื่อนอิตาเลียนยุให้ฉันเลือกกินรสแปลก ๆ แล้วฉันก็เลือกกินรสที่คุ้นเคยตอนสมัยอยู่เมืองไทย คือ รสข้าวโพด แค่นั้นก็ทำให้อิตาเลียนว้าวแล้ว
น่าเสียดายที่กลับไปเสิร์ชหาอีกที ไม่เจอร้านนั้นแล้ว จริง ๆ อย่าว่าแต่ชื่อร้านเลย พิกัดอยู่แถวไหนก็จำไม่ได้ เพราะนั่งรถกันไปตอนกลางคืน แหม ยังกะว่าถ้าไปตอนกลางวันจะจำได้อย่างนั้น อันนี้ขอแซะตัวเองหน่อย
รสอะไรขายดีที่สุด
ขอตอบสั้น ๆ และคงไม่มีใครกล้าเถียงว่า รสช็อกโกแลต
ร้านไอติมเจ้าอร่อย
เรื่องอร่อยหรือไม่อร่อยนั้นเป็นเรื่องความชอบส่วนตัว ไม่บอกแล้วกันว่าร้านไหนอร่อยกว่ากัน เอาเป็นว่า ถ้าเป็นร้านดังที่ใคร ๆ ก็ว่ากันว่าอร่อยนั้น จากการสอบถามลูกศิษย์หลาย ๆ คนแล้ว ชื่อแรกที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันคือ ร้านไอติมจากเมืองตูรินที่มีสาขาไปทั่วอิตาลีและทั่วโลก นั่นคือร้าน ‘GROM’ นั่นเอง

ภาพ : facebook.com/GromOfficial

กระนั้น หลาย ๆ เมืองก็จะมีร้านไอติมอร่อยของเมือง เท่าที่รู้ก็เช่น ฟลอเรนซ์มีร้าน ‘Gelateria La Carraia’ ซึ่งอยู่ตรงเชิงสะพาน Carraia ฟากข้างโน้นของแม่น้ำอาร์โน ฉันยังไม่เคยกินเพราะไม่ชอบต่อแถว เคยกินแต่ร้านที่โด่งดังไม่แพ้กัน คือร้าน ‘Badiani’ อยู่ถนน Mille เปิดขายถึงดึกถึงดื่นเหมือนมนต์ นมสด ในกรุงเทพฯ

ภาพ : facebook.com/Gelaterialacarraia
ใครไปซัน จิมิญญาโน (San Gimignano) ก็อดไม่ได้ที่จะต้องลองไอติมร้านตรงจัตุรัสกลางเมือง ซึ่งมีป้ายติดหราอยู่หน้าร้านว่า เป็นไอติมแชมป์โลก (2 ปี) เชื่อว่าน้อยคนที่จะรู้จักชื่อร้าน จริง ๆ คือชื่อ ‘Dondoli’ อย่างว่า ไม่ต้องจำชื่อร้านก็ไปถูก เพราะอยู่กลางเมืองซะขนาดนั้น


ภาพ : gelateriadondoli.com
มหาวิทยาลัยไอติม
Università del Gelato ไม่ได้พูดเล่น เขามีของเขาจริง ๆ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองโบโลญญา มีหลักสูตรทั้งภาษาอิตาเลียน ภาษาอังกฤษ มีหลักสูตรสำหรับคนที่ไม่เป็นเลย เรียน 5 วันจบ ไปจนถึงเรียนเป็นปี เปิดร้าน คิดสูตร ฯลฯ ได้ เคยมีคนไทยไปเรียนอยู่ไม่น้อย ลูกศิษย์คนหนึ่งไปเรียนมาแล้วกระซิบบอกว่า ครูคะ มันไม่ง่ายค่ะ เคมี ชีวะ และใด ๆ ต้องมาค่ะ อย่างไรก็ตาม จะไปหาข้อมูลมาให้ วันดีคืนดีจะประกาศไปเรียนด้วยกัน ดีไหม

อิตาลีไม่ได้มีแค่ไอติม
นอกจากไอติม อิตาเลียนมีน้ำแข็งไสใส่น้ำหวานเหมือนกัน เรียก ‘กรานีตา’ (Granita) อันเหมือนเป็นบรรพบุรุษของไอติมก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะตำนานไหน ประวัติไหน เมื่อพูดถึงกำเนิดไอติม ก็มักจะบอกว่าเกิดจากการนำผลไม้มาเสิร์ฟกับหิมะ

ไป ๆ มา ๆ เราอาจจะรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมอิตาลีถึงมีอาหารสู้ร้อนไม่น้อยทีเดียว มันควรเป็นเมืองหนาวไม่ใช่เหรอ อย่าลืมว่าอิตาลีเป็นประเทศที่อยู่ใต้เทือกเขาแอลป์ อันเป็นปราการต้านลมหนาวที่สำคัญ จึงทำให้อุ่นกว่าอีกหลาย ๆ ประเทศในยุโรปอยู่แล้ว อีกทั้งภูมิประเทศยังมีความยาว อากาศด้านเหนือกับด้านใต้จึงแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย และทางใต้นี่ล่ะที่จะต้องหาวิธีดับร้อนของตัวเองให้ได้ อันนำมาซึ่งเรื่องราวที่ได้เล่าไปนั่นเอง
อะไรนะ มีข้าวแช่ไหม
แหม… ไม่มีน่ะดีแล้ว มีแล้วเดี๋ยวจะมาถาม มาเข่นกันอีกว่า ของใครผู้ดีกว่ากัน