บทความนี้จะพาคุณไปเที่ยวกรุงเทพมหานคร
ใจเย็นๆ ก่อน แม้คุณอาจคุ้นเคยกับเมืองหลวงนี้เป็นอย่างดี แต่อย่าพึ่งรีบปิดหน้าเว็บหนีกันไป เราไม่ได้พาไปเที่ยวกรุงเทพฯ ในแบบปกติ
แต่เราจะปั่นจักรยานเที่ยวกรุงเทพฯ แล้วมองที่นี่จากมุมมองบนยานพาหนะสองล้อ
ถีบกันไปช้าๆ แล้วทำความรู้จักมุมอบอุ่นของเมืองหลวงที่วันนี้ดูไม่เย็นชาเหมือนเคย
ในโลกที่พลเมืองโซเชียลต่างอวดการเดินทางของตัวเอง ไม่ว่าในหรือนอกประเทศอย่างน่าอิจฉา ฉันไม่มีความปรารถนาอยากเดินทางมากนัก ฉันพอใจในชีวิตที่อยู่นิ่งเฉยในห้อง หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือร้านอาหารตามสั่งเจ้าประจำ การเดินทางที่ฉันพอใจมากที่สุดเห็นทีจะเป็นห้างสรรพสินค้าย่านชานเมือง หรืออิเกีย บางนา (ที่พักของฉันอยู่แบริ่งน่ะคุณ)
หัวใจของฉันไม่ได้โหยหาการเดินทางขนาดนั้น
วันแรกของการเป็นนักศึกษาฝึกงานที่นี่ ฉันได้รับมอบหมายให้ติดต่อเอเจนซี่แห่งหนึ่งที่จัดการท่องเที่ยวโดยใช้ ‘จักรยาน’ เป็นยานพาหนะหลักสำหรับเที่ยวชมกรุงเทพมหานคร ชื่อว่า Co van Kessel Bangkok Tour เพื่อขอติดตามการเดินทาง
ถ้าคุณอ่านประวัติผู้เขียนในส่วนสุดท้ายของบทความจะระบุไว้ว่า
‘อยากปั่นจักรยาน แต่แม่ไม่ยอมให้ปั่น’
แน่อยู่แล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยในการปั่นจักรยานต่ำมาก ต่อให้
เทรนด์การปั่นจักรยานจะเป็นที่นิยมขนาดไหน แต่ถนนร้อยละ 70 ของประเทศนี้กลับไม่เอื้อให้เราได้ปั่นจักรยานเป็นยานพาหนะหลักสักเท่าไหร่
ถ้าแม่เป็นห่วงขนาดนี้ แล้วจะนับประสาอะไรกับการปั่นจักรยานท่องเที่ยว
คำถามต่อมาที่ฉันคิดเพิ่มอีกคือ แล้วการปั่นจักรยานเที่ยวกรุงเทพฯ จะน่าสนใจจริงๆ เหรอ
ฉันเชื่อในหลักการวิทยาศาสตร์ที่ว่า ไม่เชื่อต้องพิสูจน์
ดังนั้น ฉันจึงอาสาที่จะแอบแม่ไปปั่นจักรยานเที่ยวกรุงเทพฯ

06.30 น.
เช้านี้ฉันขึ้นรถไฟฟ้าเร็วกว่าปกติ จนมาถึงสำนักงานของ Co van Kessel Bangkok Tour ในอาคาร The River City ซอยเจริญกรุง 24 ก่อนเวลานัดหมายครึ่งชั่วโมง
ระหว่างที่ฉันกำลังรอเพื่อนร่วมทาง ฉันได้ฟังเรื่องเล่าการเริ่มต้นธุรกิจนี้จากคุณน้อง-จันทร์มณี พลภักดี ผู้ร่วมก่อตั้ง Co van Kessel Bangkok Tour คุณน้องเล่าว่าเดิมทีคุณน้องขายแพ็กเกจท่องเที่ยวอยู่ที่ถนนข้าวสาร ก่อนจะได้พบกับ Mr.Co van Kessel หรือลุงโก้ เพื่อนจากเนเธอร์แลนด์ ดินแดนของนักปั่นจักรยาน เขาชักชวนให้เธอร่วมสร้างการท่องเที่ยวด้วยจักรยานจากเส้นทางที่เขาออกแบบด้วยตนเอง คุณน้องตอบปฏิเสธอยู่หลายครั้ง จนได้ลองปั่นจักรยานไปตามเส้นทางดังกล่าว คุณน้องเกิดความสนใจด้วยวิธีการนำเสนอการเดินทางที่เล่า ‘วิถีการดำรงชีวิตของคนไทย’ ทั้งไชน่าทาวน์ บางกรวย ตลิ่งชัน เป็นต้น เธอตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ กับลุงโก้ และจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2548
07.00 น.
ฉันและเพื่อนนักเดินทางชาวเนเธอร์แลนด์ 8 คนเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทาง พี่อิ๋ม หัวหน้าไกด์ และพี่ป๊อปปี้ ผู้ช่วยไกด์ ให้พวกเราเลือกจักรยานตามชอบใจ โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลการเลือกจักรยานของเราให้เหมาะสมกับการปั่นเพื่อท่องเที่ยวในวันนี้ ด้วยส่วนสูง 170 เซนติเมตรตามมาตรฐานชายไทย ฉันเลือกจักรยานที่ขนาดเล็กหน่อย เพื่อให้การเดินทางคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
‘Safety is our first priority’ หรือความปลอดภัยคือหัวใจสำคัญ นั่นเป็นสิ่งแรกที่พี่อิ๋มพูดกับเพื่อนร่วมทริปทุกคน การทัวร์จักรยานวันนี้จึงมีเงื่อนไขสามข้อ ประการที่หนึ่ง ปั่นจักรยานเป็นแถวตอนเรียงหนึ่งตลอดเส้นทาง ประการที่สอง เชื่อฟังคำสั่งของไกด์อย่างเคร่งครัด และประการสุดท้ายคือ หากต้องการความช่วยเหลืออะไรให้เรียกไกด์ได้ทันที
การผจญภัยในกรุงเทพมหานครที่ฉันไม่ได้รู้เส้นทางได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
07.30 น.
ล้อหมุนที่เวลา 7 โมงครึ่ง
ไม่ใช่ล้อที่หมุนด้วยการสันดาปน้ำมันกับเครื่องยนต์ แต่เป็นการหมุนด้วยแรงถีบของเราเอง
เจริญกรุงถือเป็นส่วนหนึ่งของไชน่าทาวน์ในกรุงเทพฯ เราปั่นเข้าสู่ย่านตลาดน้อยจนมาถึงจุดหมายแรกคือ ศาลเจ้าโจวซือกงซึ่งเป็นศาลเจ้าขนาดไม่ใหญ่มากหลบซ่อนอยู่ลึกพอสมควร ศาลเจ้าแห่งนี้อาจเป็นที่รู้จักของชาวไทยเชื้อสายจีนหรือประชาชนทั่วไปด้านการขอพรให้มีสุขภาพที่แข็งแรงและมีลูกง่าย แต่สำหรับฉันแล้ว มันคือ Hidden Place ที่แรกซึ่งเป็นการเริ่มต้นการเดินทางที่น่าสนใจทีเดียว
เราเคลื่อนขบวนไปที่ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า เป็นศาลเจ้าที่มีขนาดเล็กลงมา ผู้คนต่างมาขอพรให้ประสบพบแต่โชคดี
ในย่านนี้มีศาสนสถานมากมายทั้งวัดไทยและวัดจีนขนาดเล็กใหญ่ปนกัน เราสามารถจำแนกความแตกต่างได้จากสี ลวดลาย และงานประกอบที่ตกแต่งเอาไว้ในศาสนสถานนั้นๆ
เรามาถึงเยาวราช ไม่ต้องอธิบายให้มากความถึงความนิยมของย่านนี้ เยาวราชแบ่งได้เป็นหลายโซน เราผ่านมาในโซนตลาดเก่า มีทั้งร้านขายรองเท้าแตะ อาหารแห้ง เครื่องเทศ ของใช้จุกจิก และร้านอาหารอยู่ในซอกซอยต่างๆ ที่ฉันไม่คาดคิดเลยว่าจะมีร้านรวงเหล่านี้ตั้งอยู่ในซอยด้วย
การปั่นจักรยานผ่านซอยแคบในย่านตลาดเก่า ทำให้ฉันรู้สึกตื่นตาตื่นใจอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าไกด์จะอนุญาตให้เราถ่ายภาพได้อย่างเต็มที่ แต่ฉันเลือกซึมซับและบันทึกภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ด้วยสองตาของฉันเอง
ภาพของอากงอาม่านั่งพูดคุยกันหน้าบ้านในตอนเช้า ชาวบ้านที่ยืนดูพวกเราขับจักรยานผ่านไป คุณพ่อคุณแม่ส่งลูกไปโรงเรียน ผู้คนมากมายในตลาดตอนเช้า เป็นอีกความรู้สึกที่ฉันไม่มีโอกาสเห็นเลยเมื่อมาเยาวราช
เราผ่านโรงเรียนวัดปทุมคงคาในช่วงเช้าที่นักเรียนกำลังทยอยมาโรงเรียน มีเด็กประถมสองสามคนมายืนหน้าประตูและขอตีมือพวกเรา
น่ารักไม่ใช่เล่น
08.00 น.
เราปั่นจักรยานมาหยุดที่ท่าเรือราชวงศ์ พวกเราทุกคนช่วยกันขนจักรยานขึ้นไปไว้บนเรือ ผูกเชือกมัดให้ปลอดภัย และข้ามฟากจากฝั่งพระนครมาฝั่งธนฯ ด้วยเวลาไม่นาน
ก่อนที่เราจะออกตัวไปยังจุดหมายต่อไป ไกด์ชวนเราดื่มกาแฟจากรถเข็นกาแฟที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพื่อนร่วมทริปของฉันสั่งกาแฟหวานน้อยทุกคน
เมื่อได้ดื่มกาแฟที่ชงสดจากบาริสต้าไทยในผ้ากันเปื้อนสีชมพูหวานแหววแล้ว ทุกคนบอกว่ามันหวานเกินไป เพราะคนไทยใช้นมข้นหวานในการชงเครื่องดื่ม จึงทำให้กาแฟแบบไทยๆ มีรสชาติหวานมันกว่าการใช้น้ำเชื่อมชงแบบฝรั่ง
ฉันบอกกับเพื่อนใหม่ว่า ‘หวานน้อย is the new หวานปกติ’ (Low sugar is the normal sweet level for Thai people.)
โชคดีที่ทุกคนหัวเราะกับมุกตลกของฉัน
จุดต่อไปที่ไกด์พามาจอดคือ ตลาดสด
ไม่ต้องตกใจ มันคือตลาดสดที่เราแวะซื้อของก่อนกลับบ้านนั่นแหละ
ฉันตกใจมากว่าทำไมถึงต้องมาตลาดสด แต่เมื่อเราตามไกด์มาดู ไกด์พาเรามาชิมขนมสอดไส้และขนมครกจากร้านในตลาดที่อร่อยไม่หยอก พร้อมกับการเดินสำรวจตลาดแบบไทยๆ ที่ทำให้เพื่อนร่วมทริปของฉันตื่นตาตื่นใจ ทั้งการบดมะพร้าวด้วยเครื่องจักรเพื่อคั้นออกมาเป็นน้ำกะทิ หรือไข่เยี่ยวม้าที่คนไทยคุ้นเคย เพื่อนร่วมทริปของฉันตื่นเต้นกับไข่เป็ดสีชมพูที่ตอกออกมาแล้วจะได้พบกับไข่เนื้อเยลลี่ ที่รสชาติอาจจะแปลกประหลาดสำหรับชาวต่างชาติไปสักหน่อย
พักดื่มน้ำดื่มท่าเรียบร้อยแล้ว เราทุกคนจึงเดินทางต่อ
เส้นทางการปั่นจักรยานนั้นค่อนข้างลดเลี้ยวเคี้ยวคดด้วยความแคบ ฉันนึกชมทีมสำรวจอยู่ในใจถึงการหาเส้นทางที่ทำให้เราทุกคนสนุกกับการปั่นจักรยานได้ขนาดนี้
เราลัดเลาะย่านกุฎีจีนจนมาจอดไหว้พระกันที่วัดกัลยานมิตรวรมหาวิหาร เราได้ซึมซับถึงพุทธศาสนาผ่านความเงียบสงบภายในวิหารอันเป็นสถานที่ประดับสถานของหลวงพ่อโต (พระพุทธไตรรัตนนายก) เราใช้เวลาสั้นๆ ก่อนออกจากวัดและเดินทางไปยังจุดหมายต่อไป
09.30 น.
เรายกจักรยานขึ้นเรือหางยาว ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงจึงข้ามฟากมาถึงย่านตลิ่งชัน โดยปกติจะมีตลาดน้ำตลิ่งชันทุกวันเสาร์-อาทิตย์ แต่เราเดินวันจันทร์จึงเห็นแต่แผงขายของที่ไม่มีสินค้าและผู้คน
พี่อิ๋มให้พวกเราหยุดพักสักครู่เพื่อให้เพื่อนร่วมทริปของฉันได้ชิมเงาะโรงเรียน หนึ่งในผลไม้ประจำฤดูฝนของไทย พี่อิ๋มเล่าว่าผลไม้ไทยนั้นมีราคาถูกมาก เงาะโรงเรียนน้ำหนัก 1 กิโลกรัมที่เธอซื้อมาให้พวกเราทุกคนได้ชิม ราคาเพียงกิโลกรัมละ 40 บาทเท่านั้น
เงาะหมดถุง การเดินทางจึงดำเนินต่อ
การปั่นจักรยานในครั้งนี้เราซอกซอนชอนไชด้วยความยากลำบากไปอีกหนึ่งระดับ ไกด์ได้พาเราเข้าสู่หมู่บ้านที่ถนนนั้นแคบมากเสียจนจะเป็นชุมชนแออัด เราได้รับคำเตือนให้ปั่นจักรยานด้วยความระมัดระวัง เพราะนอกจากทางที่แคบแล้ว ยังไม่มีอะไรกั้นขอบถนน ซึ่งอาจจะทำให้เราตกลงไปในคูคลอง

10.00 น.
เราผ่านเส้นทางอันหฤโหดมาได้ รางวัลที่ได้รับคืออาหารมื้อใหญ่ประจำวันนี้
ไกด์พาพวกเราทุกคนแวะทานอาหารที่น่าจะเรียกว่า ‘บรันช์’ หรือมื้อควบเช้า-กลางวันตามวิถีฝรั่ง ที่ร้านคุณแก ร้านอาหารท้องถิ่นในย่านบางกรวย
ทางร้านจัดอาหารไทยง่ายๆ แต่แสดงออกถึงความเป็นไทยได้อย่างครบเครื่องทั้งหมด 4 เมนู ได้แก่ ต้มจืดเต้าหู้ไข่หมูสับ พะแนงไก่รสเข้มข้น ไข่เจียวหมูสับ และผัดผักรวม
ฉันเห็นเพื่อนร่วมทริปเหงื่อตกกับรสชาติเผ็ดร้อนของพะแนงก็แอบสงสารเขานิดหน่อย เพราะฝรั่งทานเผ็ดมากไม่ได้ แต่การที่เพื่อนใหม่ของฉันได้สัมผัสกับอาหารไทยรสชาติถึงเครื่องน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีไม่น้อย
เมื่อสังเกตดีๆ ตลอดทั้งโปรแกรมการปั่นจักรยานไม่มีการแวะตามร้านอาหารดังหรือร้านขนมที่มีชื่อเสียงเลย พี่อิ๋มเลือกร้านที่อยู่ในพื้นที่ท้องถิ่น เพราะพันธกิจอย่างหนึ่งของ Co van Kessel Bangkok Tour คือการสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่น ไม่มีการผูกขาดร้านค้าเพื่อแบ่งเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นการอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือร้านค้าภายในพื้นที่ให้มีรายได้
11.00 น.
ทิ้งท้ายเส้นทางวันนี้ด้วยการปั่นจักรยานลัดเลาะกลับเข้ามาที่ย่านบางขุนนนท์มาที่วัดสุวรรณนาราม เพื่อขนจักรยานขึ้นเรือหางยาวกลับไปยังจุดเริ่มต้นของเรา สำนักงานของ Co van Kessel Bangkok Tour
การนั่งเรือกลับในครั้งนี้เป็นการเดินทางกลับโดยผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา คนเรือเตือนให้พวกเราทุกคนสวมใส่เสื้อชูชีพเพื่อความปลอดภัย ฉันทำตามอย่างว่าง่าย แล้วก็เข้าใจว่าทุกอย่างย่อมมีเหตุผลของมัน
เพราะการนั่งเรือกลับไปที่สำนักงานนั้นหฤโหดเอาเรื่องด้วยความเร็วของเรือทำให้น้ำกระเซ็นเข้าหน้า และมีน้ำหนักการเหวี่ยงที่ค่อนข้างแรง ฉันพูดกับพี่อิ๋มเล่นๆ ว่าเหมือนกำลังเล่นบานาน่าโบ๊ตที่พัทยาเลย
การขึ้นเรือครั้งนี้เกินความคาดหมายของฉันมาก ก่อนขึ้นเรือฉันพูดคุยกับพี่อิ๋มถึงการออกแบบเส้นทาง และการเตรียมงานในแต่ละทริป ถึงได้รู้ว่า Co van Kessel Bangkok Tour มีโปรแกรมการเดินทางที่หลากหลาย ทั้งแบบครึ่งวัน เต็มวัน ทั้งกลางวันและกลางคืน มีการปล่อยตัวนักท่องเที่ยวหลายกลุ่มในช่วงเวลาเดียวกัน ทุกกลุ่มจะมีเส้นทางในการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนกัน โดยจะมีการสำรวจเส้นทางซึ่งใช้ทีมงานหลายคน แล้วนำเส้นทางที่ได้มาประชุมเพื่อวางแผนการเดินทางให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปทุกครั้ง (มีนักท่องเที่ยวเคยมาใช้บริการซ้ำมากที่สุด 28 ครั้งเลยนะ!)
11.30 น.
พวกเราเข็นจักรยานกลับมาที่ห้องจักรยานพร้อมรับผ้าเย็นจากเจ้าหน้าที่
เช็ดหน้าเช็ดตาจนชื่นใจ ฉันยื่นนามบัตรของ The Cloud ให้กับเพื่อนใหม่ของฉัน พวกเขารอคอยที่จะดูภาพประกอบบทความนี้อย่างใจจดใจจ่อ (เพราะเขาอ่านภาษาไทยไม่ได้) สมควรแก่เวลา เพื่อนใหม่จึงบอกลาฉันพร้อมอวยพรให้โชคดีในการฝึกงาน ซึ่งเป็นเวลาประจวบเดียวที่ฉันได้พบคุณน้องอีกครั้งเพื่อถามไถ่เกี่ยวกับการเดินทาง
“มันคือการจ่ายเงินมาเหนื่อย” คุณน้องเปิดบทสนทนากับฉันด้วยประโยคนี้ในห้องทำงานของเธอ ซึ่งทำให้ฉันอดหัวเราะไม่ได้
“พี่ทำธุรกิจนี้ด้วยวงกลม 4 วง ที่มีตรงกลางเรียกว่าความสุข ประการแรก เราทำงานกับคนที่อยากทำงานจริงๆ และมีความสุขกับการทำงาน ประการที่สอง ลูกค้าต้องมีความสุขกับสิ่งที่เราให้ ประการต่อมา เวลาที่เราไปตามชุมชน ชาวบ้านต้องได้กับเขาด้วย และประการสุดท้าย พี่มองหาความยั่งยืน เมื่อองค์กรอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ ไกด์อยู่ได้ ทั้งหมดจะขับเคลื่อนให้กลายเป็น Niche Market ที่มีคุณภาพ ลูกค้าอยากจะมาร่วมทัวร์ในเชิงสร้างสรรค์ ทัวร์ที่ไม่มีการสร้างภาพ ทำในสิ่งที่มีความรู้สึกว่าลูกค้าได้ให้อะไรกลับไปยังชุมชนด้วย ให้เป็นการเติบโตอย่างยั่งยืนมากเสียกว่าที่จะยัดเยียดไปตามเส้นทาง”
เสียงตอบรับที่ดีมากจากลูกค้าผู้มาใช้บริการ รางวัลและรีวิวมากมายจากเว็บไซต์ชื่อดัง คุณน้องมองภาพการพัฒนาของ Co van Kessel Bangkok Tour ให้เป็นแฟรนไชส์ที่จะขยายไปตัวไปในหลายจังหวัด หลายประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งต่อการเดินทางที่ไม่เหมือนใครในแบบฉบับเดียวกันให้ผู้คนได้สัมผัสมากกว่าเดิม
ชักอยากเห็นแล้วสิ
13.00 น.
ฉันร่ำลาทุกคนที่ออฟฟิศของลุงโก้หลังจากทุกอย่างเสร็จสิ้น รวมถึงตึ๊ดต๋อ สุนัขประจำออฟฟิศซึ่งมีสติกเกอร์ไลน์เป็นของตัวเอง
เป็นวันที่ฉันสนุก สุข จนแทบอยากจะเข้าไปจองทัวร์โปรแกรมต่อไปในทันที
ฝากบอกแม่ฉันทีว่าไม่ต้องห่วงนะ ฉันปั่นจักรยานเที่ยวกรุงเทพฯ ได้แล้ว
ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’
ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ