วิกฤตอาหารยังคงเป็นประเด็นน่ากังวลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แม้ในเมืองจะเต็มไปด้วยร้านอาหาร คาเฟ่ สถานประกอบการ แต่การจะได้มาซึ่งอาหารต้องมีปัจจัยอย่างเงินเข้าแลก ด้านโรงแรม ร้านอาหาร ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองกะทันหัน วัตถุดิบหรือของสดที่รอเตรียมวันต่อวันก็ค้างเติ่งบนชั้น รอวันหมดอายุอย่างน่าเสียดาย 

คำถามต่อมาคือ คนจนเมือง แรงงานภาคบริการที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิต จะเป็นอยู่อย่างไรในวันที่ตกงาน ไม่มีงาน ไม่มีเงินซื้ออาหาร ยังไม่รวมมนุษย์ซึ่งรัฐมองไม่เห็น อย่างผู้ไร้รัฐหรือแรงงามข้ามชาติ ต่างเป็นผู้ขับเคลื่อนความเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบเรื่องการเข้าถึงอาหารไม่ต่างกัน 

ChiangmaiTrust : ธนาคารอาหารเชียงใหม่ เปลี่ยนวัตถุดิบส่วนเกินมาบรรเทาความหิวของคนจนเมือง

มะเป้ง-พงษ์ศิลา คำมาก ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนอย่าง สันทรายซิสโก (Sansaicisco) แตะประเด็นเรื่อง Slow Food เชียงใหม่ จับมือกับเพื่อนๆ อย่าง ลี-อายุ จือปา ผู้สรรค์สร้างกาแฟกลิ่มหอมฉุยคุณภาพระดับโลก อาข่า อ่ามา และ โอปอ-ภราดล พรอำนวย เจ้าของบาร์นอร์ทเกต (North Gate Jazz Co-Op) ในวันที่เชียงใหม่ไร้ซึ่งสุ้มเสียงของดนตรี โอปอหันมาสนใจข้าวพันธุ์ไทย จนกลายเป็น YoRice สาเกหวานไร้แอลกอฮอล์ฉบับเอาใจคนรักสุขภาพ 

พวกเขาจับมือกันก่อตั้ง ‘ChiangmaiTrust’ ด้วยความตั้งใจแรกที่อยากชูประเด็นสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดมาถึงเมืองเชียงใหม่ ทิศทางก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เท่าทันวิกฤต 

“ผมว่างานด่วนสำคัญกว่างานใหญ่ เป้าหมายใหญ่เราฝันถึงคุณภาพชีวิตที่ดีท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี บ้านของเรากำลังไฟไหม้ เราต้องช่วยกันดับไฟก่อน อาหารเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับชีวิตคนโดยตรง เพราะว่ามันยังมีกลุ่มคนชายขอบสังคม คนไร้บ้าน คนจนเมือง และกลุ่มภาคแรงงานนอกระบบ ซึ่งเข้าไม่ถึงเรื่องสิทธิหรือการช่วยเหลือด้านอาหาร” โอปอกล่าวถึงความตั้งใจหลักของโครงการ

พวกเขาจึงหันมาชูประเด็น ‘ปากท้องและอาหาร’ ล่าสุดได้จดทะเบียนเป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อขับเคลื่อนธนาคารอาหาร (Chiang Mai Food Bank) และบรรเทาความหิวโหยของกลุ่มคนผู้เปราะบางในเมืองเชียงใหม่ให้ไปต่อด้วยกันได้ 

ChiangmaiTrust : ธนาคารอาหารเชียงใหม่ เปลี่ยนวัตถุดิบส่วนเกินมาบรรเทาความหิวของคนจนเมือง
01 

ระดมความช่วยเหลือ 

“ไม่มีใครรู้เลยว่าสถานการณ์แบบนี้มันจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน เป็นคำถามที่ไม่มีใครให้คำตอบเราได้เหมือนกัน” มะเป้งกล่าวถึงวิกฤตที่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร

บาร์แจ๊สนอร์ทเกตของปอจึงปรับโฉมใหม่ กลายเป็นศูนย์กลางแจกจ่ายข้าวกล่องและอาหาร ระดมความช่วยเหลือจากทุกระดับ ตั้งแต่เพื่อนสนิทมิตรสหายฮอมข้าวกล่องมาแจก บางคนนำวัตถุดิบที่ซื้อกักตุนไว้แล้วกินไม่ทัน อีกอาทิตย์จะหมดอายุมาให้ มาช่วยกันทำอาหารแจกจ่ายผู้คนที่กำลังเดือดร้อน 

“เราหาความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ต้องเป็นภาระที่คนใดคนหนึ่ง เน้นการลดทรัพยากรที่เหลือ เช่น อาหารเหลือจากครอบครัว ครัวเรือนบริโภค มาแบ่งปันให้กับคนที่เดือนร้อน” ลีกล่าว 

การระดมแจกจ่ายอาหารคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ภายใต้จำนวนของผู้คนที่หิวโดยมากขึ้นสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อไม่มีท่าทีจะไต่ระดับลดลง หลังจากระดมแจกจ่ายข้าวกล่องไปสักพัก มะเป้งพบช่องว่างบางอย่างที่นำไปสู่การตั้งคำถาม 

“การที่เราทำข้าวกล่องไปแจก แล้วเขามานั่งต่อคิวยาวเป็นกิโล แต่ละคนก็ได้รับแค่คนละกล่อง มันเกิดเหตุการณ์ที่มีคนมาขอสี่กล่อง เพราะที่บ้านมีคนแก่มาเอาไม่ได้ เลยฉุกคิดว่าเราควรลงไปสำรวจชุมชนที่เปราะบางดีไหม” 

จากคำถามนี้ ChiangmaiTrust จึงจัดทีมอาสาลงสำรวจชุมชนเปราะบางทั่วเชียงใหม่ จนเกิดโมเดล ‘1 ครัวกลาง 1 ชุมชน‘ เพื่อเข้าถึงผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือให้ใกล้ชิดที่สุด

ChiangmaiTrust : ธนาคารอาหารเชียงใหม่ เปลี่ยนวัตถุดิบส่วนเกินมาบรรเทาความหิวของคนจนเมือง
ChiangmaiTrust : ธนาคารอาหารเชียงใหม่ เปลี่ยนวัตถุดิบส่วนเกินมาบรรเทาความหิวของคนจนเมือง
02

1 ชุมชน 1 ครัวกลาง 

“มีชุมชนเปราะบางอาศัยแออัดในเชียงใหม่กว่ายี่สิบชุมชน ความแตกต่างคือความยากจน ทำให้เขาลุกขึ้นมาจัดการ สื่อสารอะไรไม่ได้ สำหรับผมมันเป็นเรื่องน่ากังวลใจ เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยว Top 10 ของโลก หนึ่งในเมืองที่เราภาคภูมิใจ แต่ยังมีผู้คนลำบาก ต้องการความช่วยเหลืออีกจำนวนมาก” ปอเล่าบรรยากาศตอนจัดทีมอาสาลงไปเก็บข้อมูลชุมชนทั่วเชียงใหม่ สิ่งที่เขาพบคือปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำและความยากจน หยั่งรากลึกเป็นปัญหาโครงสร้างระดับใหญ่ แน่นอนว่าคนที่อยู่ข้างล่างย่อมเป็นโดมิโนตัวแรกที่ล้มลง 

“เราเห็นทุกชุมชนมีพื้นกลางอยู่แล้ว เรามีแค่หน้าที่สื่อสาร รับวัตถุดิบจากครัวเรือน แล้วก็เอาไปส่งมอบให้ชุมชน เพื่อที่เขาจะได้ไปทำครัวเอง จัดสรรให้ชุมชนของตัวเอง”  

ก่อนหน้านี้ ChiangmaiTrust ทำงานร่วมกับเครือข่ายและภาคประชาสังคมหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างสิทธิมนุษยชน คนไร้รัฐ ผังเมืองสาธารณะและสิ่งแวดล้อม จึงมีโอกาสลงสำรวจความต้องการชุมชน และได้มีปฏิสัมพันธ์คนในชุมชนมากมาย เครื่องมือเปี่ยมคุณภาพตัวนี้เปิดรับชาวเชียงใหม่หัวอกเดียวกัน ช่วยกัน จัดทีมอาสา ระดมเสบียง อุดหนุนเกษตรรายย่อยที่ผลผลิตส่งขายไม่ได้ วัตถุดิบครัวเรือนเหลือใช้ วัตถุดิบจากสถานประกอบการค้างสต็อก หลั่งไหลเข้ามาช่วยเหลือชุมชนและคนจนเมือง

ChiangmaiTrust : ธนาคารอาหารเชียงใหม่ เปลี่ยนวัตถุดิบส่วนเกินมาบรรเทาความหิวของคนจนเมือง
ChiangmaiTrust : ธนาคารอาหารเชียงใหม่ เปลี่ยนวัตถุดิบส่วนเกินมาบรรเทาความหิวของคนจนเมือง

“เรามองว่าเราเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ก็มีข้อมูลและประสบการณ์พอตัว อย่างเครื่องมือการสื่อสาร การใช้สายสัมพันธ์ของมิตรภาพมาช่วยขับเคลื่อนภาคประชาสังคม เราเห็นพ้องต้องกันว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเชื่อมสัมพันธ์ในเงื่อนไขความสัมพันธ์ของคนในเมือง” ปอกล่าวความรู้สึกของตนที่มีต่อโครงการ

พอชุมชนมีอาหาร วัตถุดิบ ปรุงรสทำครัวเองที่ชุมชน ก็ไม่จำเป็นต้องออกไปต่อคิวรอรับข้าวกล่องแล้ว แถมแต่ละชุมชนยังสามารถจัดสรรปริมาณอาหารให้ตรงความต้องการตามจำนวนคนในชุมชนได้ด้วย เรียกว่าโมเดล ‘1 ชุมชน 1 ครัวกลาง‘ ยิงปืนครั้งเดียวได้นกสองตัวเลยก็ว่าได้

ChiangmaiTrust : ธนาคารอาหารเชียงใหม่ เปลี่ยนวัตถุดิบส่วนเกินมาบรรเทาความหิวของคนจนเมือง

ทว่าไม่ใช่แค่เรื่องขาดแคลนอาหาร แต่เป็นเรื่องเงินคืองาน งานคือเงินด้วย สภาพัฒน์ฯ คาดว่า พ.ศ. 2563 แรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้างมีมากถึง 8.4 ล้านคน 

คนจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ชุมชนเปราะบางของเชียงใหม่ถูกเลิกจ้าง กลายเป็นคนว่างงานอย่างกะทันหัน ไม่ใช่ว่าเลือกงาน เพราะถึงแม้ไม่เลือกงานก็ไม่มีงานทำ 

“พอผ่านมาช่วงที่มันเป็นรอบสอง รอบสาม บางคนว่างงาน ไม่ก็เปลี่ยนอาชีพเพราะรอไม่ได้ ปอเลยเก็บข้อมูลคนว่างงานหรือถูกเลิกจ้างในชุมชน ทำ Resume ประกาศผ่านเพจ ChiangmaiTrust จับคู่ระหว่างคนที่อยากทำงานกับคนจ้างงาน” มะเป้งกล่าวโมเดลครัวงานที่ทำควบคู่ไปกับครัวกลางด้วย 

ChiangmaiTrust ยังคงทำงานเบื้องหลังบรรเทาความหิวโหยของผู้คนอย่างต่อเนื่อง ผ่านระลอกแล้วระลอกเล่า จนยอดผู้ติดเชื้อเบาบางลง และเมืองเริ่มกลับมาฟื้นตัว 

03

Chiang Mai Food Bank 

มะเป้ง ลี ปอ ติดใจไม่อยากให้โมเดลที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงอาหารในเมืองหายไปหลังจากโควิดซา ประกอบกับกำลังใจดีๆ ของชาวเชียงใหม่ที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกว่าในขณะเกิดวิกฤต เราพยายามไปด้วยกันโดยไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ด้านหลัง

โมเดลล่าสุดอย่าง Chiang Mai Food Bank จึงพัฒนาขึ้น โดยลีนำประสบการณ์จาก อาข่า อาม่า มาปรับปรุง ChiangmaiTrust ให้ยั่งยืนสู่โมเดลที่สร้างอาชีพได้ 

“เราสนับสนุนคนที่เป็นฝั่งผลิตอย่างเกษตรกร ถ้า ChiangmaiTrust ทำโปรเจกต์ Food Bank จนกลายเป็น SE (Social Enterprise) ได้ พวกเราหวังว่าจะเป็นหนทางที่ไม่ต้องรอรับการบริจาค แต่เป็นการแอคทีฟ เอาทรัพยากรมนุษย์ที่เรามี ทรัพยากรทางความคิด การทรัพยากรที่มีในเชิงของอาหาร หรือ Waste ต่างๆ มาจัดการให้เกิดมูลค่าและคุณค่า“ ลีเล่าเป้าหมายการปั้นโครงการให้กลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคม 

“ล่าสุดเราคิดโปรเจกต์กับลี ได้ชื่อว่า ‘The Ugly Fruits’ เอาแตงกวาหน้าตาไม่ดีที่ Food Bank ได้รับบริจาคจากการที่เกษตรกรคัดออกสามสิบจากหนึ่งร้อยกิโลกรัม ซึ่งเราคิดว่ามันเยอะมาก แจกตามชุมชนก็คงเบื่อแตงกวากันตาย เลยไปขอให้ เชฟแอนดี้ หยาง ช่วยสอนทำ Pickles (แตงกวาดอง) กับกิมจิแตงกวา เรากำลังพยายามพลิกแพลงทดลองทำสูตรใหม่ แล้วทำไปขาย จากนั้นก็เอาเงินมาต่อยอดให้ Chiang Mai Food Bank กลายเป็น SE เพื่อให้ ChiangmaiTrust ยั่งยืน” มะเป้งเล่าสิ่งที่ตั้งใจจะทำต่อไป

โปรเจกต์ Chiang Mai Food Bank ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนสนิทมิตรสหายที่มองเห็นและเข้าใจถึงปัญหาเดียวกัน รวมถึงมะเป้ง ลี และโอปอ ก็หยิบเอาเครื่องมือ ประสบการณ์ องค์ความรู้ที่ตัวเองบ่มเพาะตลอดระยะเวลาการทำงานมาประยุกต์ใหม่ เน้นเรื่องความยั่งยืนระยะยาว 

ตลอดการพูดคุย แก่นสารและสาระสำคัญที่เราตลกผลึกได้คือ ChiangmaiTrust หมายถึงผู้คนช่วยกัน Give and Take ในจังหวะของตน ประคับประคองให้เมืองเชียงใหม่ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ การปฏิสัมพันธ์ของคนแปลกหน้า รวมถึงจับมือโอบอุ้มช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ อย่างพี่น้องภาคแรงงานข้ามชาติ คนจนเมือง คนตกงาน คนไร้บ้าน 

“ทำไมเราต้องมานั่งเศร้าในยามที่มันวิกฤต” ลีกล่าวประโยคน่าสนใจมากทิ้งทายการสัมภาษณ์ ส่วนความรู้สึกที่ ChiangmaiTrust มอบให้เราโดยไม่ต้องเอ่ยปากคือ ‘ไม่ควรต้องมีใครถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างหิวโหย’ 

ภาพ : ChiangmaiTrust

ข้อมูลอ้างอิง 

www.bbc.com/thai/international-52829935 

ร่วมพูดคุยและสนับสนุน ChiangmaiTrust ผ่าน

Facebook : @ChiangmaiTrust

E-mail : [email protected]

โทรศัพท์ : 09 8156 1519

Writer

Avatar

ปภาวิน พุทธวรรณะ

เพิ่งเรียบจบอยู่ในช่วง Gap Year พยายามจะทดลองใช้ชีวิตคราวละวันทีละวันดำเนินชีวิตปกติสามัญธรรมดา แฟนคลับคนเหงาลุง Haruki Murakami

Photographer

Avatar

ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

โด้เป็นช่างภาพดาวรุ่งจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รักของเพื่อนๆ และสาวๆ ถึงกับมีคนก่อตั้งเพจแฟนคลับให้เขา ชื่อว่า 'ไอ้โด้ FC'