10 พฤศจิกายน 2021
3 K

เคยสงสัยกันมั้ยครับว่า ทำไมนโยบายสาธารณะบางอย่างไม่สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชน บางนโยบายก่อความขัดแย้ง บ้างทำแล้วไม่สัมฤทธิ์ผล หรือแม้แต่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง

เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ’ คือ แฟนเพจเฟซบุ๊กโดยกลุ่มนักคิดนักสร้างสรรค์เชียงใหม่ ที่มองเห็นว่าช่องว่างของปัญหาดังกล่าวนั้นเติมเต็มได้ หากเชื่อมโยงความเข้าใจระหว่างภาคประชาสังคมกับประชาคม

พวกเขาหยิบจับโซเชียลมีเดียมาเป็นเครื่องมือ สำหรับพัฒนากลไกที่จะทำให้เกิดขับเคลื่อนเมืองอย่างมีส่วนร่วมด้วยข้อมูลจากประชาชน ผ่านการปั้นประเด็นเมืองหลายหลากให้เป็นเรื่องสนุก เข้าถึงง่าย พร้อมชวนคิด ชวนคุย หาทางออกเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสะท้อนเสียงให้ผู้กำหนดนโยบายสาธารณะได้รับฟังเรื่องที่เป็นความต้องการของคนหมู่มาก และวางหลักไมล์นำสู่การออกแบบแผนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) และผังออกแบบเชิงแนวคิด (Conceptual Design Plan) ซึ่งบางประเด็นกลายเป็นไวรัลที่มีจำนวนผู้สนใจหลักแสน ยอดแชร์หลักพัน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังช่วยจุดประกายให้เมืองอื่นๆ ตื่นตัว สร้างการรับรู้ข้อมูลเมือง รวมถึงเป็นพื้นที่แสดงออกของคนที่อยากเห็นเมืองดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

เรานัดหมายกันที่ศูนย์ฟื้นบ้าน ย่าน เวียงเชียงใหม่ เพื่อคุยมุมมองความคิด วิธีการทำงานขับเคลื่อนและสร้างกลไกเมืองด้วยสื่อสมัยใหม่ กับ ตา-สุวารี วงศ์กองแก้ว, ภูวา-ผศ.ดร.จิรันธนิน กิติกา, หมูใหญ่-คมสัน ไชยวงศ์, ดรีม-ธนกร เจริญเชื่อมสกุล และ แป้ง-อาคิรา ศิริวัฒนานุกุล ทีมผู้อยู่เบื้องหลังเพจที่เชื่อว่า เชียงใหม่เป็นของทุกคนที่แคร์

เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ เพจเล่าเรื่องเมือง ชวนขับเคลื่อนเชียงใหม่ด้วยข้อมูลจากประชาชน
ซ้ายไปขวา : แป้ง-อาคิรา ศิริวัฒนานุกุล ภูวา-ผศ.ดร.จิรันธนิน กิติกา ดรีม-ธนกร เจริญเชื่อมสกุล ตา-สุวารี วงศ์กองแก้ว และ หมูใหญ่-คมสัน ไชยวงศ์

ข้อมูลเคลื่อนเมือง

เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ เป็นส่วนหนึ่งของโครงงานวิจัย ‘การพัฒนากระบวนการเพื่อขับเคลื่อนประชาคมเมืองเชียงใหม่’ แผนงานคนไทย 4.0 ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการสังเกตพัฒนาการเติบโตของประชาสังคมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเอื้อความเป็นไปได้ในการขยับวงจรการทำเรื่องนโยบายสาธารณะของรัฐ ให้ประชาชนมีโอกาสออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของตัวเองมากขึ้น ด้วยแนวคิดรวมประชาสังคมกับประชาชนให้ใกล้ชิดและเข้าใจกัน เพื่อสร้างพลังเสียงที่เข้มแข็ง โดยใช้โซเชียลมีเดีย

 “สมัยก่อนถ้ารัฐหรือหน่วยงานเรียกประชุมระดมความคิดเห็น ทุกคนจะสละงานแล้วมาประชุมกัน แต่ปัจจุบันเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนที่มีศักยภาพ แต่ก็มีภาระหน้าที่มาก จนทำให้การประชุมรูปแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ ดังนั้น เราจึงแสวงหาช่องทางใหม่สำหรับรวบรวมความคิดของพวกเขา และรองรับผู้คนที่อยากเห็นเมืองดีขึ้นเหมือนกัน โดยเป็นช่องทางที่ไม่ได้รบกวนกันทุกวัน ให้ข้อมูลไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เติบโตแลกเปลี่ยนความเห็น สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญของการขับเคลื่อนเป้าหมายตรงนี้ เลยกลายเป็นที่มาของการก่อตั้งเพจเชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ” ตา หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาเมือง หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และหนึ่งในคณะนักวิจัย ขยายไอเดียการเลือกโซเชียลมีเดียมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเมือง

ขณะเดียวกัน ภูวา อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวเรือใหญ่ของทีมเสริมว่า โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่เชื่อมโยงโลกเสมือนกับโลกจริง ช่วยสร้างการรับรู้และแสดงออกที่น่าสนใจ ทำให้ผู้คนยุคใหม่เข้าถึงมิติความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ หรือชุมชน ได้อย่างฉับไว แถมเปิดกว้างสำหรับการแบ่งปันข้อมูล

“ผมรู้สึกว่าการทำงานเชิงกายภาพแบบเดิม เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์แข็งทื่อและยุทธศาสตร์ที่ล่าช้า แต่ปัจจุบันเรามี Digital Disruption ที่ลื่นไหลมาก ซึ่งคนรุ่นใหม่เห็นช่องว่างและการใช้พื้นที่แบบนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อพวกเขาเห็นแล้วว่า ระบบและโครงสร้างเป็นแบบนี้ แล้วก็ใช้วิธีของโซเชียลมีเดีย ตอบสนองความต้องการใช้ชีวิต แก้ไขปัญหา นำเสนอ หรือเรียกร้องพัฒนาสิ่งที่ดีกว่า 

“แต่จะทำยังไงให้พื้นที่เหล่านี้ที่เป็นพื้นที่เสมือนและกำลังจริงขึ้นเรื่อยๆ ไปอยู่ในวิธีคิดของรัฐได้ ฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจกลไกและวิธีคิดแบบนี้ ส่วนรัฐก็จะต้องรู้ทันและเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่คนละมิติ เพราะที่ผ่านมากับดักของ Urban Development คือมันไม่เคยรู้ทัน Urban Gentrification รัฐออกแบบพื้นที่แล้วใช้คำว่า พัฒนา แต่เป็นการพัฒนาแบบทำลายคน ทั้งที่ความสำเร็จของเมืองเชียงใหม่เกิดขึ้นจากผู้คนตลอดมา

“ผมว่าสิ่งนี้คือความท้าทายของเมือง ว่าเมืองของความจริงเชิงกายภาพกับเมืองของโลกเสมือน มันจะบรรจบและหลอมรวมกันได้อย่างไร”

เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ เพจเล่าเรื่องเมือง ชวนขับเคลื่อนเชียงใหม่ด้วยข้อมูลจากประชาชน
เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ เพจเล่าเรื่องเมือง ชวนขับเคลื่อนเชียงใหม่ด้วยข้อมูลจากประชาชน

ภูวา เล่าความตั้งใจหลักของพวกเขาต่อว่า คือการขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูลของประชาชน โดยวางแฟนเพจเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่แห่งสังคมใหม่ที่พูดคุย แสดงออก และเชื่อมโยงกัน ผ่านข้อมูลเมืองที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะข้อมูลของฝั่งเห็นด้วย ข้อมูลของฝั่งเห็นแย้ง แล้วร่วมหาทางออกให้กับมัน

“หัวใจสำคัญคือการพยายามผลักดันให้ข้อมูลเหล่านั้นถูกส่งออกและสะท้อนกลับไป เพื่อให้เกิดผลกับเมืองด้วย”

กวาดสัญญาณ

ท่ามกลางประเด็นเมืองมากมายก่ายกอง เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอมีแนวคิดในการนำเสนอเนื้อหาด้วยวิธีการเฉพาะที่พวกเขาเรียกมันว่า ‘กวาดสัญญาณ’ จับคลื่นข้อมูลความสนใจของผู้คน มาต่อยอดสร้างสรรค์ประเด็น ชวนกระตุกต่อมคิดถึงเมืองที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี

“จริงๆ ประเด็นอย่าง ‘ถ้าเชียงใหม่ไม่พึ่งการท่องเที่ยวแล้วควรพึ่งอะไร’ มันก็เริ่มมาจากการที่เราจับสัญญาณได้ว่า พอเกิดวิกฤตโควิด-19 แล้วเศรษฐกิจมันแย่ ทุกคนลำบากกันหมด ซึ่งเชียงใหม่เองก็กระทบหนัก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เราเลยมาช่วยกันตบประเด็น เปิดเป็นคำถามชวนแลกเปลี่ยน เผยตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจและสำรวจศักยภาพด้านอื่นๆ ของเมือง เพื่อเสนอความเป็นไปได้ว่า ถ้าไม่ใช่การท่องเที่ยวแล้ว เชียงใหม่ยังมีจุดแข็งอะไรให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกบ้าง 

“ปรากฏว่าประเด็นนี้เปรี้ยงมาก และกลายเป็นไวรัลที่มีคนพูดถึงหลักแสน แชร์หลักพัน รวมทั้งเมืองที่มีบทเรียนคล้ายกันกับเรา อย่างภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี ก็แชร์ไปถกต่อ ตลอดจนมีหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวนำข้อมูลไปอ้างอิงในกิจกรรมของเขาด้วย” ภูวาเล่าอย่างคล่องแคล่วด้วยความภูมิใจ

ควบคู่กับการคัดสรรประเด็นดึงดูดในมุมมองชวนติดตาม กระบวนท่าอันโดดเด่นของเพจคือการเชื่อมโยงสู่งานข้อมูลเมืองได้อย่างกลมกล่อม ย่อยง่าย โดยฝีมือของหมูใหญ่ที่ถ่ายทอดสาระน่ารู้จากการค้นคว้างานวิจัย ผสานรูปแบบการนำเสนอสนุกๆ ด้วยเครื่องมือสุดสร้างสรรค์

“ตอนทำประเด็น ‘พื้นที่สาธารณะคนเชียงใหม่มีไหน’ เรามีไอเดียว่า พื้นที่สาธารณะจะต้องเป็นพื้นที่ที่คนเข้าไปวิ่ง ปั่นจักรยาน หรือเดินเล่นผ่อนคลาย ประกอบกับตอนนั้นกวาดสัญญาณพบว่า อ่างแก้วของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เป็นอีกแห่งที่คนนิยมไปใช้ทำกิจกรรมทำนองนี้ เลยอยากรู้มีที่ไหนอีกบ้างที่เป็นพื้นที่สาธารณะ นอกเหนือจากสวนหย่อมหรือสวนสุขภาพของเมือง 

“นึกถึงแอปพลิเคชันเก็บข้อมูลออกกำลังกาย Strava ก็นำมันตรวจสอบผ่านแท็ก แล้วเจอกับพื้นที่สาธารณะที่มีคนวิ่งวนๆ ตรงนั้นเยอะมาก แต่เราคาดไม่ถึง เช่น สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่ หรือเทศบาลตำบลหนองจ๊อม ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปใช้ได้หมดเลย” หมูใหญ่ยกตัวอย่าง

ถัดมาประเด็นเดียวกัน จะถูกดันต่อด้วยกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากทั่วโลก เพื่อนำเสนอว่ายังมีความเป็นไปได้อะไรอีกบ้าง ที่จะพอเป็นทางออกของเมือง ซึ่งผู้รังสรรค์เนื้อหาส่วนนี้คือแป้ง ก่อนปลายสัปดาห์ดรีมจะทำหน้าที่เก็บรวบรวมทุกคอมเมนต์ สัมภาษณ์เพิ่มเติมผู้เกี่ยวข้อง สำหรับทำบทสรุปเป็นแนวทางว่า แต่ละประเด็นชาวเชียงใหม่มีความเห็นอยากให้เมืองเดินไปในทิศทางใด

“ทุกวันนี้เสียงที่เราได้รับกระจายวงค่อนข้างกว้าง สมาชิกเพจของเราส่วนมากอยู่ในช่วงอายุสามสิบถึงสี่สิบปี แต่ที่มีการตอบสนองสูงสุดมาจากช่วงวัยมหาวิทยาลัย” ดรีมว่า

“เป้าหมายหลักของเราคือเน้นคนเชียงใหม่” ภูวาเสริม “แต่กลายเป็นว่า คนเชียงใหม่มีเยอะสุดก็จริง ประมาณหกสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ หากรองลงมาคือคนกรุงเทพฯ ตามด้วยจังหวัดปริมณฑลและหัวเมืองใหญ่ๆ เพจของเราจึงไม่ใช่แค่เป็นพื้นที่คุยเรื่องเมืองเชียงใหม่ แต่เป็นพื้นที่ของคนที่แคร์เมือง และ Active Citizen ด้วย”

ความน่าสนใจอีกอย่าง คือพฤติกรรมการเสพข้อมูลของสมาชิกเพจที่ชอบแชร์ แต่ไม่คอมเมนต์

“บางคนเขาชอบแชร์โพสต์ของเราไปลงกลุ่มหรือหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวแล้วไปคุยกันต่อในนั้น เราก็ต้องตามไปเก็บข้อมูล ซึ่งบางความเห็นมันเจ๋งมากๆ เช่น ประเด็น ‘10 ตึกสูงที่สุดในเชียงใหม่ แล้วตึกสูงจำเป็นหรือไม่สำหรับคนเชียงใหม่’ มีคอมเมนต์เปิดโลกเรามาก เขาถามว่าไม่นับตึกของมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลเหรอ” หมูใหญ่หัวเราะร่วน “เราก็ตอบไปว่า นับครับ แค่ไม่ติดท็อป 10 เฉยๆ หรือ แคปเจอร์ข้อมูลเราไปแปะถามในกลุ่ม ‘คนรัก ตึกสูงเชียงใหม่’ ว่าข้อมูลนี้ถูกต้องมั้ยครับ แล้วก็แลกเปลี่ยนกัน กระทั่งแตกประเด็นคุยไปถึงเรื่องของผังเมืองเชียงใหม่นู้นเลย”

“จำได้ว่าสัปดาห์นั้น มีคนหนึ่งคอมเมนต์ประมาณยี่สิบกว่าความคิดเห็น หมายความว่าเขาสนใจในประเด็นนี้มาก มีการยกกรณีศึกษาตัวอย่างและแนวคิดต่างๆ นานา มาลงเพียบเลย” ดรีมเพิ่มเติม

“ใช่ๆ” ภูวาสำทับ ด้วยเสียงตื่นเต้น “อย่างประเด็นของตึกสูง ไม่ท่องเที่ยวจะทำอะไร หรืองานคราฟต์เชียงใหม่ ผมว่าทุกคนมาปล่อยของเลย รู้เยอะกว่าพวกเราอีก

“สำหรับเรื่องตึกสูง ผมว่าเสียงของคนที่อยากได้ตึกน่าสนใจนะ เพราะเป็นเสียงที่คิดว่าภาคประชาสังคมไม่ค่อยได้ยิน เสียงที่พูดถึงความเจริญและการเติบโตของเศรษฐกิจในเมือง ซึ่งบางทีก็ติดกับดักของเมืองอนุรักษ์มากไปหน่อย แต่ว่าอะไรคือจุดสมดุลล่ะ สิ่งนี้ทุกฝ่ายต้องแลกเปลี่ยนและตกผลึกร่วมกัน”

แผนพัฒนาที่เห็นคนและกลไก

ปัจจุบันนอกจากเฟซบุ๊ก เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอยังจับสื่อ Clubhouse มาเสริมพลังขับเคลื่อนเมือง ผ่านการเปิดห้องถอดบทเรียน เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และบ่มเพาะ Active Citizen ในอนาคต โดยประเดิมด้วยการแลกเปลี่ยนถอดบทเรียนกิจกรรมเมือง ‘ราชดำเนินเดินได้เดินดี’ ของกลุ่มวิถีราชดำเนิน ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และ UDDC ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จากกิจกรรมขีดเส้นทางเดิน เลนจักรยาน เลนจอดรถ และถนนใหม่ เพื่อใช้ทางสัญจรทางเดียวตลอดเส้นถนนราชดำเนินในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ภูวารู้สึกว่ากิจกรรมนี้น่านำมาพูดคุยกัน เพราะหลังจากอ่านรายละเอียดของโครงการ พบว่าเขาดำเนินการกันมาเป็น 10 กว่าปี แถมมีเวิร์กชอปเยอะมาก

“แล้วอะไรเป็นจุดอ่อนที่ทำให้มีเสียงคัดค้าน คนไม่รับรู้ ไม่เข้าใจ ก็เลยพยายามตีแผ่และถอดบทเรียนออกมา ซึ่งมันน่าสนใจตรงที่ในวันเปิดห้อง Clubhouse ถกเรื่องนี้ มีคนเข้าร่วมเยอะมาก ทั้งเด็กนักเรียนโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนใช้รถใช้ถนน และเจ้าของบ้านในละแวกนั้น คือ เขารู้สึกว่าทำไมทำแบบนี้ เขาเคยไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย เราจึงถามกลับไปว่าต้องทำยังไงถึงจะรู้เรื่อง เขาเลยบอกกลไกต่างๆ อาทิ ประกาศเสียงตามสาย ทำโปสเตอร์โปรโมตตามร้านค้าและพื้นที่ชุมชน หรือโพสต์ลงกลุ่มกาดมั่ว กลายเป็นว่านี่แหละคือเครื่องมือสำคัญที่คนทำงานเมืองต้องรู้ ไม่ใช่แค่การแปะป้ายฝากเทศบาล แต่เขาต้องแอคทีฟกว่านั้น

“ในทางกลับกัน คนในเมืองก็ต้องรู้ว่าจะติดตามเรื่องเมืองได้จากไหน ต้องแสวงหาและเข้าถึงมันได้ยังไง สำหรับเชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ บทเรียนที่เราได้รับคือการหาช่องทางเชื่อมต่อข้อมูลให้ทั้งนักพัฒนาเมืองและคนในเมืองได้มาเจอกัน เรามองว่าสิ่งนี้คือการพัฒนาเมือง และเราอยากเห็นเมืองที่มีคนเป็นศูนย์กลางของการออกแบบ”

เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ เพจเล่าเรื่องเมือง ชวนขับเคลื่อนเชียงใหม่ด้วยข้อมูลจากประชาชน

กลไกขับเคลื่อนเมืองโดยภาคประชาชาวเน็ต

สำหรับราชดำเนินเดินได้เดินดี เป็น 1 ใน 8 กิจกรรม ที่ทางเพจตั้งใจเพิ่มพื้นที่บอกเล่าเรื่องราว และถอดบทเรียนกิจกรรมดีๆ ช่วยฟื้นฟูพัฒนาเมืองของภาคประชาสังคมเชียงใหม่ พร้อมแนะนำภาคประชาสังคมให้ทุกคนได้รู้จัก เพื่อสานความเข้มแข็งและเติมเต็มความเข้าใจกันระหว่างภาคประชาสังคมกับประชาชน

โดยกิจกรรมล่าสุดที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปคือ ถอดบทเรียน ‘งานพัฒนาภูมิทัศน์ของวัดร้างในเมืองเชียงใหม่’

“ตามข้อมูลของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ระบุว่า ในพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ของเรา มีวัดและโบราณสถานที่สำคัญกว่าร้อยแห่ง ตั้งแต่พระอารามหลวงชั้นเอกไปจนถึงวัดร้าง และบางแห่งยังขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรเรียบร้อย แต่กลับขาดการดูแลรักษา 

“ทาง ‘เขียว สวย หอม’ ภาคประชาสังคมของเมืองเชียงใหม่ที่ทำงานเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียว จึงผุดกิจกรรมสร้างกลไกความร่วมมือของชาวชุมชนวัดกู่เต้า เพื่อจุดประกายการดูแลรักษาวัดร้าง ซึ่งมีทีมนักวิจัยในโครงงานได้ลงไปถอดบทเรียนแล้วพบว่า มีกลไกน่าสนใจในการปรับปรุงรักษาและจัดการด้วยวิธีใหม่ๆ

“ด้านเชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ จึงรับช่วงต่อนำบทเรียนมาถ่ายทอด ถอดออกมาเป็นเชิงของข้อมูล และเสนอกลไก ประกอบกับชวนคนทำงานนี้มาแลกเปลี่ยนกันใน Clubhouse ถึงแม้ว่าประเด็นอาจไม่ได้ใหญ่มาก ทว่ามันเป็นประเด็นที่คนควรรู้และเอาไปคิดต่อ เพราะวัดร้างเป็นสัญลักษณ์ของการคงอยู่อย่างร่วมสมัยของเมืองประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นพลวัติของเมือง ถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์สำคัญที่รอการพลิกฟื้น พร้อมเชื่อมโยงส่งเสริมเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่” ภูวาอธิบาย

ส่วนกิจกรรมครั้งหน้า อย่าง ถอดบทเรียน ‘ครัวงาน เชียงใหม่ : โควิด-19 เศรษฐกิจ การว่างงาน และประชาสังคม’ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ตาขยายรายละเอียดเรื่องนี้ให้ฟังว่า “ครัวงาน เป็นโปรเจกต์ของกลุ่ม ChiangmaiTrust ร่วมกับ เขียว สวย หอม พูดถึงการผสานระหว่างการช่วยบรรเทาความเดือดของคนจนเมือง สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านการจ้างงาน ทั้งสร้างพื้นที่ให้คนตกงานมาหางาน และจ้างงานคนตกงานให้เขามาเป็นแรงงานตามความสามารถ เพื่อสร้างต้นแบบกระบวนการทำงานแบบเกื้อกูลในระดับชุมชน โดยมีชุมชนแจ่งหัวรินเป็นชุมชนนำร่องพัฒนาในการพื้นที่สาธารณะ เช่น ขุดลอกท่อระบายน้ำ และยังมีการฝึกทักษะด้านการปลูกพืชผัก ซึ่งได้ทีมเขียว สวย หอม เข้ามาดูแล

“อันนี้ผมว่าสำคัญนะ เพราะบางทีคนไม่รู้จัก เขียว สวย หอม หรือ ChiangmaiTrust แล้วไปเห็นกิจกรรม คนจะงงว่าทำอะไร ทำทำไม เราก็ต้องถอดบทเรียน บอกเล่าเรื่องราว อีกอย่างมันเป็นการแนะนำภาคประชาสังคมและแนะนำประเด็นเมือง เคยมีบางคนถามผมว่า อะไรคือภาคประชาสังคม แล้วเราจะเป็นได้ไหม อยากทำงานเมืองบ้าง ซึ่งเชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอมันจุดประเด็นเลยว่า ทำงานเมืองมันทำได้ และขับเคลื่อนเมืองได้จริงๆ ด้วย” ภูวาเสริมความหมายของคำว่าภาคประชาสังคมอย่างเห็นภาพ

“ในมุมมองของชาวบ้าน เขารู้สึกว่าเชียงใหม่มีกลุ่มประชาสังคมเยอะมาก แล้วก็เห็นว่ามันทำงานแยกกันเป็นกลุ่มๆ เพราะฉะนั้น เรารู้สึกว่าโปรเจกต์มันดีเนอะที่เขาได้มาทำงานร่วมกัน ค่อยๆ มารวมกัน” แป้งเอ่ยขึ้นก่อนบทสนทนาจะจบลง

“เหล่านี้คือทดลองสร้างกลไกขับเคลื่อนเมืองโดยภาคประชาชนบนอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเรามองว่าทั้งแปดกิจกรรม ทำหน้าที่เป็นตัวยึดโยงของความคิดเรื่องช่องว่าง การถมช่องว่าง และฉายภาพว่าการสร้างนโยบายสาธารณะจากภาคประชาชนขึ้นมา จะเป็นตัวแบบของการพัฒนาเมืองได้อย่างไร กอปรกับเป็นเป้าหมายหนึ่งของงานวิจัยที่เราพยายาม Ground Up ความคิดเห็น ดูว่าแท้จริงผู้คนคิดอย่างไร รวมถึงสกัดข้อมูลระดับชุมชนหรือย่านมาร้อยเรียงกัน เข้าไปเติมในแพลตฟอร์มของข้อมูล เพื่อนำสู่การออกแบบแผนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) และผังออกแบบเชิงแนวคิด (Conceptual Design Plan) จากฐานล่าง ซึ่งมองเห็นคนและกลไกอยู่ร่วมกัน

“แม้ว่าพอทำเสร็จ มันอาจไม่กลายเป็นคำตอบเลยทันที แต่อย่างน้อยๆ จะทำให้ประชาชนมีพื้นที่หรือพูดดังขึ้น จากไม่มีใครรับฟัง ก็จำเป็นต้องฟังแล้วล่ะ” ตากล่าวสรุปทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ

คุยกับกลุ่มนักคิด-นักสร้างสรรค์เชียงใหม่ที่ใช้สื่อขับเคลื่อนเมือง เป็นพื้นที่ให้ประชาชนออกแบบนโยบายรัฐและคุณภาพชีวิตด้วยเสียงของตัวเอง

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ