9 กุมภาพันธ์ 2024
1 K

จะมองจากท่าน้ำฝั่งตลาดน้อยหรือจากเรือที่ลอยลำอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาก็ตามแต่ ภาพหนึ่งที่ทุกคนต้องได้เห็นเมื่อเหลียวแลไปทางพื้นที่เขตคลองสาน ฝั่งธนบุรี คือเจดีย์จีนสูงตระหง่านอยู่ริมท่า นำสายตาผู้คนสู่หมู่อาคารน้อยใหญ่ที่อวดโฉมอยู่ด้านหลังต่อไป

หลายคนอาจคิดว่าที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของ ‘บ้านหวั่งหลี’ หรือศูนย์การค้า ล้ง 1919 ที่อยู่ติดกัน บ้างก็เข้าใจไปว่าที่นี่เป็นวัดจีนหรือแม้แต่วัดญี่ปุ่น ทั้งที่ในความเป็นจริง ที่นี่เป็นทั้งศาสนสถานและที่ทำการของสมาคมเผยแผ่คุณธรรม ‘เต็กก่า’ จีจินเกาะ ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในแวดวงคนไทยเชื้อสายจีน ตลอดจนผู้นิยมการไหว้พระไหว้เจ้าตามความเชื่อแบบจีนทั้งหลาย

ผู้เขียนบทความนี้รู้จักจีจินเกาะดีประมาณหนึ่ง ค่าที่มีอากู๋ (ลุง) เป็นสมาชิกสมาคมที่เข้ามาช่วยกิจการงานต่าง ๆ ของที่นี่สม่ำเสมอ เคยติดสอยห้อยตามอากู๋มาร่วมสวดมนต์และรับประทานอาหารเจในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ไม่ได้มีพื้นความรู้เกี่ยวกับที่นี่มากไปกว่าขาจรส่วนใหญ่ที่พอทราบว่าที่นี่เป็น ‘ศาลเจ้า’ แห่งหนึ่งของลูกหลานจีนโพ้นทะเลเท่านั้น

จวบจนกระทั่งตรุษจีนปีมังกรเวียนมาบรรจบ ผู้เขียนได้พูดคุยกับ อาเจ็กสมชัย กวางทองพานิชย์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นย่านเยาวราชและกูรูด้านวัฒนธรรมจีนที่ร่วมงานกับ The Cloud บ่อยครั้ง จึงได้ทราบว่าอาเจ็กสมชัยเป็นสมาชิกที่เหนียวแน่นท่านหนึ่งของจีจินเกาะ อาเจ็กฝังตัวช่วยงานต่าง ๆ ของสมาคมนี้มานานกว่า 30 ปี เก็บเกี่ยวความรู้จากผู้หลักผู้ใหญ่ที่นี่จนเป็นผู้รู้คนหนึ่งของวงการ ดังคำกล่าวของเจ้าตัวที่ได้ให้ไว้ขณะเริ่มสนทนากันว่า

“ถ้าคุณมองว่าผมมีความรู้เรื่องวัฒนธรรมจีน ความรู้ของผมกำเนิดมาจากที่นี่ ค่อย ๆ ศึกษาทีละส่วน แม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เก็บเล็กเก็บน้อยมาจากที่จีจินเกาะนี่แหละ”

Heritage House ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 นี้ ชวนตามหลังอาเจ็กสมชัยไปทำความรู้จักศาลเจ้าที่อาจไม่ได้เก่าแก่เท่าอาคารสถานที่อื่น ๆ ที่เคยลงในคอลัมน์นี้ แต่ครบเครื่องไปด้วยเกร็ดน่ารู้และคุณค่าทางสถาปัตยกรรมไม่ต่างจากที่ไหน ๆ อย่างแน่นอน

3 ศาสนารวมเป็น 1

ถ้าถามว่าคนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอะไร หลายคนก็นิยามตัวเองลำบาก เพราะนอกจากจะไหว้พระเหมือนคนไทยทั่วไป ยังนับถือเทพเจ้า บรรพบุรุษ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ผสมปนเปกัน ระบุไม่ได้ว่าสิ่งนั้นคือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเหมือนกับศาสนาที่มีพระเจ้าองค์เดียว

“อาเจ็กอาแปะสมัยก่อนเขาไม่แยกหรอกครับว่าอะไรคือพุทธ อะไรคือเต๋า อะไรคือขงจื๊อ เขาไหว้รวมกันไปหมด เรียกว่า ซำก่า (三教) แปลว่า 3 ศาสนา ซึ่งในความเป็นซำก่า เราไม่ได้แยกว่าอะไรคือก่า 1 ก่า 2 ก่า 3 แต่สิ่งที่เราทำอยู่เป็นส่วนผสมของทั้ง 3 ก่า” อาเจ็กสมชัยปูพื้นความรู้ให้เข้าใจเบื้องต้น

ซำก่า หรือ 3 ศาสนาที่เป็นกระแสธารความเชื่อหลักของชาวจีน เริ่มต้นจากความเชื่อพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการเคารพสรรพสิ่งในธรรมชาติและอำนาจลี้ลับ ซึ่งภายหลังได้รับการยกสถานะเป็นเทพเจ้าที่มีชื่อเรียก มีลำดับขั้น และขอบเขตการดูแลชัดเจน ในยุคที่มีศาสนา

ศาสนาที่ 1 คือศาสนาเต๋า ว่าด้วยการใช้ชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติ และเชื่อในพลังเหล่าเทพเทวะ ซึ่งบำเพ็ญตบะจนสำเร็จ

ศาสนาที่ 2 คือศาสนาขงจื๊อ (หยู) สอนเรื่องคุณธรรมการใช้ชีวิตในสังคม ความกตัญญู การใฝ่รู้ การทำงานร่วมกันเป็นหมู่ คณะเพื่อจรรโลงสังคมให้ดีขึ้น

และศาสนาที่ 3 คือพระพุทธศาสนานิกายมหายานจากอินเดีย ซึ่งเข้ามาเติมเต็มความเชื่อดั้งเดิมของจีนที่ยังจำกัดการพูดถึงชีวิตในโลกหน้า การเวียนว่ายตายเกิด ตลอดจนบุญกรรมที่กระทำมา

นานนับพันปีที่ซำก่าร่วมกันรังสรรค์อารยธรรมจีนให้เจริญงอกงาม ภายหลังยังมีลัทธิความเชื่อต่าง ๆ ที่แตกแขนงแยกย่อยออกมาจากซำก่าอีกมากมายเหลือคณานับ

‘เต็กก่า’ ก็เป็นกลุ่มความเชื่อหนึ่งซึ่งเกิดจากการตีความซำก่าใหม่ โดยน้อมนำคำสอนแห่งคุณธรรมของลัทธิความเชื่อเหล่านี้มาควบรวมกัน ไม่เท่านั้น ยังรับเอาคำสอนที่สอดคล้องกันจากศาสนาสากลอย่างคริสต์และอิสลามเข้ามาประยุกต์ใช้ กลายเป็นองค์การสาธารณกุศล ซึ่งรวบรวมคุณธรรมที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน สมชื่อ เต็กก่า (德教) อันมีความหมายว่า คำสอนแห่งคุณธรรม

เต็กก่าเมืองไทย

“ต้นกำเนิดของเต็กก่าไม่ค่อยชัดเจนเท่าไรนัก” อาเจ็กสมชัยเกริ่นเบา ๆ ก่อนเข้าเรื่อง

หลักฐานรุ่นแรก ๆ ของกลุ่มเต็กก่าพบการบูชาที่อำเภอเตี่ยเอี๊ย (เฉาหยาง) ในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 ตรงกับประมาณ พ.ศ. 2482 เป็นศาลเจ้าซึ่ง เอี่ยว สุ่ยเต็ก และพรรคพวกได้เริ่มสร้างศาสนสถานขึ้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ชาวบ้านที่เสียขวัญจากการรุกรานของกองทัพข้าศึก

ศาลเจ้าของเต็กก่าแห่งนั้นใช้ชื่อว่า ‘จีเฮียงเกาะ’

ประมาณ 1 ปีให้หลัง ศาสนิกชาวอำเภอเตี่ยเอี๊ยอีก 2 คน คือ แบ กุ้ยเต็ก และ หลี ฮ่วยเต็ก ก็ร่วมกันตั้งศาสนสถานเพิ่มในตัวอำเภอ ชื่อว่า ‘จีเช็งเกาะ’

สาวกเต็กก่านิยมตั้งชื่อใหม่ให้ตนเองโดยนำคำว่า เต็ก (คุณธรรม) ไว้ในชื่อ ส่วนศาสนสถานจะมีวิธีการตั้งชื่อเหมือนกันทุกแห่ง คือมี 3 พยางค์ ขึ้นต้นด้วย จี้ (紫) และลงท้ายด้วย เกาะ (閣) เสมอ มีแค่พยางค์กลางชื่อที่แปรผันกันไป โดยเลือกใช้คำมงคลที่แตกต่างกัน

บรรดาเทพาจารย์ที่ให้กำเนิดความเชื่อแบบเต็กก่า

ตั้งแต่นั้นมา กลุ่มความเชื่อเต็กก่าก็แพร่กระจายออกไปตามท้องที่ต่าง ๆ ในถิ่นจีนแต้จิ๋ว ก่อนจะแพร่ขยายไปสู่ดินแดนโพ้นทะเลประเทศต่าง ๆ ในปีสิ้นสุดสงคราม ซึ่งอาจเป็นผลจากการทำนายที่แม่นยำของกลุ่มเต็กก่าที่เปิดเผยออกมาในยามบ้านเมืองระส่ำระสาย เชื่อกันว่าเทพเจ้าได้ประทานคำทำนายนี้มาจากการทรง ‘กี’ คือไม้ 2 ขาที่ใช้คนทรงคู่กัน 2 คน เขียนคำทำนายเป็นตัวอักษรด้วยปลายไม้กีนั้น

“ตอนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคำทำนายว่า ไก่ขันเมื่อไหร่ก็จะเกิดสันติภาพเมื่อนั้น ปรากฏว่าพอถึงปีระกา (ไก่) ญี่ปุ่นก็ถูกทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูกจนต้องประกาศยอมแพ้สงคราม”

นับจาก พ.ศ. 2490 คำสอนและความเชื่อแบบเต็กก่าได้เริ่มทยอยเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปสู่ต่างแดนทีละแห่ง มีการตั้งเต็กก่าสาขาฮ่องกงชื่อ ‘จีอ่วงเกาะ’ ในปีดังกล่าว ต่อมาใน พ.ศ. 2495 มีการสร้างเต็กก่าสาขาสิงคโปร์ชื่อ ‘จีซินเกาะ’ พอล่วงมาถึง พ.ศ. 2497 ก็ขยายไปที่มาเลเซีย มี 3 แห่ง ได้แก่ ‘จีเชียงเกาะ’ เมืองมะละกา ‘จีเอ็งเกาะ’ เมืองยะโฮร์บาห์รู และ ‘จีหุ่งเกาะ’ ที่ปีนัง

สัญลักษณ์ เต็ก (คุณธรรม) ประจำเครือเต็กก่า

“สำหรับในประเทศไทย เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว เราไปสืบค้นว่า ลิ้ม ซูหงอ เป็นคนนำเต็กก่าเข้ามา แกมาจากเมืองจีน มาอยู่แถวทรงวาด ว่ากันว่าอาจารย์ของเขาเคยมอบของให้มา 3 ซอง บอกว่าถ้าเกิดปัญหาเมื่อไหร่ค่อยแกะซองเหล่านั้นดู ที่บ้านของลิ้ม ซูหงอ จะกลายเป็นแหล่งให้สาวกเต็กก่ามารวมตัวกัน มีการเข้าทรงกีกันตามความเชื่อ

“แต่เผอิญว่าน้องชายของเขาไปอยู่กับพวกคอมมิวนิสต์ อาคารบ้านของเขามี 2 ส่วน แบ่งเป็นปีกซ้าย-ปีกขวา เวลาเข้าไปในบ้าน เดินเข้าปีกหนึ่งจะเป็นที่ทรงกี อีกปีกเป็นที่ประชุมของพวกคอมมิวนิสต์ พอรัฐบาลเริ่มไล่จับคอมมิวนิสต์ เขาก็ทิ้งซองจากอาจารย์ทั้ง 3 ซองไป กว่าเต็กก่าจะมาเป็นรูปเป็นร่างจริง ๆ ลิ้ม ซูหงอ ก็ย้ายไปที่วัดญวนสะพานขาว (วัดสมณานัมบริหาร)”

ระยะแรกที่เต็กก่ามาถึงแผ่นดินสยาม ความเชื่อของพวกเขาเผยแผ่กันในวงแคบ ด้วยอิทธิพลสงครามเย็นที่แบ่งโลกออกเป็น 2 ขั้ว ฝ่ายโลกเสรีกับฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ รัฐบาลไทยเลือกยืนข้างฝ่ายโลกเสรีที่เป็นปรปักษ์โดยตรงกับจีนแดง ทำให้คนจีนอพยพพลอยติดร่างแหแห่งการเพ่งเล็งโดยภาครัฐ การจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนก็มักถูกตราหน้าว่าเป็นการซ่องสุมกำลังของพวกคอมมิวนิสต์อยู่เสมอ จนกระทั่งปัญหาสงครามเย็นคลี่คลายลง สมาชิกถึงรวมตัวกันจดทะเบียนจัดตั้ง ‘สมาคมสหพันธ์การกุศล “เต็กก่า” แห่งประเทศไทย’ ขึ้นใน พ.ศ. 2522 ถือเป็นศูนย์กลางแรกของเต็กก่าประเทศไทย

สมาคมสหพันธ์การกุศล “เต็กก่า” แห่งประเทศไทย
ภาพ : Thai Tekka

ปัจจุบันสมาคมสาธารณกุศลของเต็กก่าขยายสาขาไปทั่วทุกภูมิภาคในสยามประเทศ รวมเป็นจำนวน 70 – 80 แห่ง บางสมาคมยังดำเนินการอยู่ บางสมาคมอาจล้มเลิกไปแล้ว แต่ที่ไหนใช้ชื่อ จี…เกาะ ก็พึงรู้ได้ทันทีว่า อย่างน้อยที่สุดครั้งหนึ่งสถานที่แห่งนั้นต้องเคยสังกัดเครือเต็กก่ามาก่อน

“ที่สมาคมสหพันธ์การกุศลฯ นั้น เราเรียกว่า ‘เต็กจ้ง’ ตั้งอยู่ที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นศูนย์กลางจริง ๆ ของเต็กก่าในไทย ที่นั่นมีอาคารเดียว หลังใหญ่มาก

“ส่วนสมาคมเผยแผ่คุณธรรม ‘เต็กก่า’ จีจินเกาะ แห่งนี้ก็ถือเป็นสาขาเก่าแก่สาขาหนึ่งของเต็กก่า แม้จะไม่ได้เก่าแก่ที่สุดก็ตาม” สมาชิกเต็กก่าบอกพลางออกเดินนำชมอาคารทีละหลัง

อาคารมังกร

เทววิหารหลังแรกของจีจินเกาะ

เบื้องหน้าอาเจ็กสมชัยคืออาคารทรงจีนหลังใหญ่ หลังคามุงกระเบื้องเขียวเข้มอย่างที่นิยมใช้ตามศาสนสถานและวัดจีน ปลายหลังคาแหลมโค้งงอนชี้ขึ้นฟ้า ดูไปดูมาก็เหมือนเกล็ดสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในตำนานจีนอย่างพญามังกรที่พบได้ตามภาพเขียนและงานปั้น

“ที่จีจินเกาะเรามีอาคารทั้งหมด 4 อาคาร ผมเรียกอาคารหลังนี้ว่า ‘อาคารมังกร’ ครับ” อาเจ็กบอกพลางชี้ชวนจินตนาการตาม “หลังคาสีเขียวนี้ มองดี ๆ จะมีรูปทรงเหมือนหัวมังกร”

ผู้เขียนลองมองดูอีกทีก็พบว่าองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมสอดแทรกอยู่บนอาคารหลายจุด เป็นต้นว่าตามปลายยอดหลังคา หลายจุดมักประดับรูป เหง่าฮื้อ (鳌鱼) คือปลาที่มีหัวเป็นมังกร ตามตำนานว่าปลาสีเงิน-ทอง 1 คู่ได้กลืนมุกมังกรเข้าไป ทำให้กลายร่างเป็นครึ่งปลาครึ่งมังกร ชอบกินไฟเป็นอาหาร ชาวจีนจึงนิยมนำมาประดับปลายหลังคาเป็นเคล็ดให้กันอัคคีภัย

ตัวอาคารหลังนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2531 เพื่อเป็นเทววิหาร รูปแบบศิลปะเป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นจีน ทิเบต และไทย ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 5 ปี สิ้นทุนทรัพย์ไปกว่า 50 ล้านบาทซึ่งเป็นเงินมหาศาลในสมัยนั้น โดยอาเจ็กยังจดจำเหตุการณ์ช่วงที่สร้างอาคารนี้ได้เป็นอย่างดี

“อาคารนี้มาเป็นอาคารแรกสุดเลย ผมตามพ่อเข้ามาที่นี่ครั้งแรกตอนแต่งงาน อายุ 27 ปี เห็นอาคารมังกรมาตั้งแต่เพิ่งตั้งเสา ย้ายพระมาไว้ที่นี่ ผมอยู่ในเหตุการณ์ตอนนั้นด้วย”

ศิลปะบนอาคารเน้นการใช้หินขัด (Terrazzo) บนราวระเบียง พื้น และผนัง ขัดเป็นรูปวาดเหมือนกับศาลเจ้าจีนส่วนใหญ่ในไทย จุดน่าสังเกตจุดแรกของอาคารหลังนี้คือบริเวณห้องด้านหน้าบนชั้น 2 ซึ่งเป็นวิหารฝ่ายเต๋า มีป้ายชื่อหน้าประตูทางเข้าว่า ‘เจ็กคุงง้วง’ หรือการกำเนิดโลกตามความเชื่อของจีน

ภายในตกแต่งบรรยากาศคล้ายกับถ้ำหินหรือชะง่อนผาอันเป็นที่สงบเงียบ เหมาะสำหรับผู้ฝึกบำเพ็ญตนที่ต้องการปลีกวิเวกเข้าไปทำสมาธิในที่ลับตาคน มีรูปเคารพของบรรดาเทพาจารย์ที่เต็กก่าเคารพนั่งเรียงรันกันอยู่ในถ้ำจำลองแห่งนี้

แถวหน้าสุดประกอบด้วย เทพาจารย์เอี่ย อุ่งซ้ง เทพาจารย์หลิว ชุนฮวง

แถวกลางประกอบด้วยเทพาจารย์โง้ว หมั่งอู้ หลวงปู่ไต่ฮงกง และเทพาจารย์เตียว เหี่ยงท้ง

แถวบนสุดมีองค์เดียวคือ ไท้เสียงเล่ากุง หรือ เหลาจื๊อ ผู้เป็นศาสดาแห่งศาสนาเต๋า

“คนจีนเราเชื่อว่าโลกเกิดจากการที่ของเบากับของหนักแยกจากกัน โลกกำเนิดได้เพราะธาตุหนักและธาตุเบาแยกตัวกัน เดิมมีสภาพเหมือนถ้ำที่มืดมิด ขณะเดียวกันอาจารย์เหล่านี้คือผู้ให้แนวทางก่อกำเนิดเต็กก่าของพวกเรา ห้องนี้เลยเป็นการซ้อนกันทั้งกำเนิดโลกและกำเนิดเต็กก่าครับ”

ถัดไปด้านหลัง มีวิหารทางพระพุทธศาสนาซึ่งมีกวางตัวผู้ตัวเมีย 1 คู่นั่งหมอบอยู่ เป็นสัญลักษณ์แทนป่าอิสิปตนมฤคทายวันที่ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา เขียนป้ายด้านหน้าไว้ว่า ‘พระศากยมหามุนีวิสุทธิคุณ’ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อน ทรงเป็นผู้ประทานนามให้พระประธานในวิหารนี้ด้วยพระองค์เอง

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วิหารนี้ประกอบด้วยรูปหล่อสัมฤทธิ์ 3 องค์ ของพระพุทธศากยมหามุนีวิสุทธิคุณ (พระพุทธเจ้า) เจ้าแม่กวนอิม (พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) และพระอรหันต์จี้กง อาจกล่าวได้ว่าเป็นศูนย์รวมของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้และหลุดพ้นจากสังสารวัฏ พระโพธิสัตว์ผู้สะสมบารมีรอเวลาตรัสรู้ และพระอรหันต์ผู้บรรลุธรรมห่างไกลจากกิเลส ตามความเชื่อของพุทธศาสนานิกายมหายานแบบจีน

หากขึ้นบันไดไปชั้น 3 ก็จะพบกับห้องที่มีบรรยากาศคล้ายท้องพระโรงจีน มีเทวรูปสัมฤทธิ์ประทับอยู่บนบัลลังก์กลางห้อง คือจักรพรรดิแห่งสวรรค์ที่คนไทยรู้จักในนาม เง็กเซียนฮ่องเต้ โดยบรรยากาศในวิหารนี้เป็นการจำลองพระที่นั่งในพระราชวังสูงสุดบนสวรรค์ อันเป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการของจักรพรรดิแห่งเหล่าทวยเทพทั้งหลาย

เมื่ออ้อมไปทางวิหารหลังของอาคารนี้จะพบกับหอสถิตป้ายวิญญาณบรรพชน ‘ซือเต็กตึ๊ง’ ซึ่งภายในเป็นที่ตั้งป้ายวิญญาณ (แกซิ้ง) ของเหล่าบุพการีผู้ล่วงลับ ซึ่งทางสมาคมมีการจัดพิธีเซ่นไหว้ปีละ 2 ครั้ง ทุกเทศกาลบวงสรวงประจำฤดูใบไม้ผลิ (ชุงฮุง) และฤดูใบไม้ร่วง (ชิวฮุง) โดยผนังทั้ง 2 ฝั่งของหอนี้ยังวาดรูป 24 ยอดกตัญญูตามความเชื่อจีน นัยว่าให้ลูกหลานมีความกตัญญูเฉกเช่นบุคคลเหล่านั้น

อาคารเสือขาว

ห้องประชุมสะท้อนแนวคิดขงจื๊อ

ชมเทววิหารฝั่งหลังคาสีเขียวเสร็จแล้ว อาเจ็กสมชัยนำทางผู้เขียนมายังอาคารที่อยู่ติดกัน ซึ่งได้รับฉายาว่า ‘อาคารเสือขาว’ ราวจงใจให้อยู่คู่มังกร เนื่องจากคติจักรวาลจีนถือว่าทุกทิศมีสัตว์มงคลประจำทิศนั้นอยู่เสมอ ทิศตะวันออกคือมังกรเขียว ตะวันตกคือเสือขาว

“อาคารมังกรมีหลังคาสีเขียว แต่เพราะหลังคาขาวไม่มีในสถาปัตยกรรมจีน ที่นี่เลยใช้หลังคาสีเหลืองแทน แต่ถึงอย่างนั้น ถ้ามองดูจะเห็นรูปทรงอาคารนี้เหมือนกับหลังเสือนะครับ และเพื่อให้ดูเป็นเสือขาวชัด ๆ หน้าประตูทางเข้าอาคารตรงชั้นล่างเลยตั้งรูปปั้นเสือขาว 1 คู่ไว้เลย”

ชื่ออาคารนี้คือ ‘จีลิ้มเต็กทง’ ซึ่งตั้งตามชื่อผู้บริจาคออกทุนทรัพย์ในการสร้าง ฝั่งหน้ายังคงเป็นเทววิหาร ทางเข้ามีป้ายทองคำลงลายพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นอักษร 4 ตัวตามชื่อตึก ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประทานไว้เมื่อครั้งพระองค์เสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายเทววิหารนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2536

ด้านหน้าเป็นเทววิหารทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ไม่ต่างจากอาคารมังกร แต่สิ่งที่น่าเยี่ยมชมสำหรับตึกนี้คือส่วนหลังซึ่งทำเป็นห้องหนังสือ เก็บรวบรวมตำรับตำราของเต็กก่า ในขณะที่ชั้นบนทำเป็นห้องประชุมทรงแปดเหลี่ยม เคยใช้เป็นที่ประชุมหลักของจีจินเกาะมาก่อน

“สิ่งนี้สะท้อนถึงแนวคิดแบบขงจื๊อ เพราะขงจื๊อให้ความสำคัญกับการศึกษา การใฝ่หาความรู้ ความสามัคคี และการทำงานเป็นหมู่คณะครับ”

อาคารเต่าดำ

เทววิหาร พิพิธภัณฑ์ ห้องสวดมนต์ ในตึกใหญ่ตึกเดียว

หากมังกรเขียวคือทิศตะวันออก และเสือขาวคือทิศตะวันตก เต่าดำก็คือสัตว์ประจำทิศเหนือ ซึ่งแทนด้วยตึกสูง 4 ชั้น มุงหลังคาสีน้ำเงินดำ ยืนตระมื่นเป็นพื้นหลังให้กับอาคารทุกหลังในจีจินเกาะ

พลันที่ประตูบานใหญ่เปิดออก สิ่งแรกที่ผู้มาเยือนจะได้พบคือโถงอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับจัดงานกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคม

กดลิฟต์ขึ้นไปยังชั้น 4 จะพบกับพื้นที่พิพิธภัณฑ์อันกว้างขวาง เป็นที่เก็บสะสมศิลปวัตถุเก่าแก่และงดงามทรงคุณค่าที่สมาชิกสมาคมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รวบรวมมาและนำมารวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์นี้

ศิลปวัตถุส่วนใหญ่เป็นรูปเคารพของพระอรหันต์จี้กงที่ชาวเต็กก่าให้ความเคารพศรัทธา ประติมานขององค์ท่านดูได้ง่าย คือเป็นพระภิกษุเรือนร่างผอมผ่าย สวมหมวกทรงแหลม บ้างไว้หนวดเครา สวมเสื้อผ้าหลุดลุ่ยสกปรก ถือพัดหรือน้ำเต้า มักมีท่าทางอารมณ์ดีคล้ายเมามายตลอดเวลา เพราะท่านนิยมฉันสุราเมรัยอยู่เป็นนิจ ดูขัดแย้งกับจิตใจอันสะอาดบริสุทธิ์ ชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากที่ท่านมี

ขยับลงมาที่ชั้น 3 ณ ห้องที่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดในอาคารเต่าดำแห่งนี้ คือบริเวณหอสวดมนต์ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปล้ำค่าอย่าง ‘พระพุทธมหาไวโรจนธรรโมภาส’ ซึ่ง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ปัจจุบันทรงพระเมตตา ประทานนามนี้ดังปรากฏบนป้ายแขวนเพดานห้อง

พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปแทนองค์พระไวโรจนพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์สำคัญในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ชาวจีนเคารพนับถือ ทรงเป็นพระพุทธเจ้าศูนย์กลางใน 5 ธยานิพุทธะ คือบรรดาพระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นจากฌานขั้นสูง มีสถานะคล้ายเทพเจ้าในศาสนาอื่น ไม่ได้เสด็จลงมาประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เสวยชาติเป็นมนุษย์เฉกเช่นพระพุทธเจ้าตามคตินิกายเถรวาท

วิหารนี้คือตัวแทนของซำก่าที่เห็นชัดจัดเจนที่สุดในจีจินเกาะเลยก็ว่าได้ เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นประธานของวิหารนี้มิได้มีเพียงพระไวโรจนพุทธเจ้าเท่านั้น หากยังมีขงจื๊อและเหลาจื๊อ ผู้เป็นศาสดาของขงจื๊อและเต๋าประทับขนาบข้างพระพุทธตามลำดับ จึงกล่าวได้ว่าที่นี่คือศูนย์รวมของความเชื่อทั้ง 3 สายที่กลายมาเป็นกระแสความเชื่อหลักของอารยธรรมจีน

อาเจ็กกล่าวกับผู้เขียนว่าความเป็นซำก่าไม่ได้มีแค่รูปเคารพเบื้องหน้าเท่านั้น แต่ยังสะท้อนผ่านงานไม้แกะสลักรอบอาณาบริเวณ ผนังตรงกลางข้างเทพประธานเป็นรูปแกะสลักทางพุทธศาสนา ผนังฝั่งซ้ายแกะสลักเป็นรูปทางขงจื๊อ (หยู) และผนังฝั่งขวาเป็นรูปทางเต๋าอีกด้วย

อาคารหงส์แดง

เจดีย์ 8 ชั้นริมน้ำ

ทิศสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ในบรรดา 4 อาคารคือทิศใต้ ถ้าสังเกตแผนผังของจีจินเกาะด้วยสายตาพินิจพิเคราะห์จะพบว่าอาคารทั้ง 4 จัดเรียงตำแหน่งแห่งที่ให้มองเห็นตาม 4 ทิศ หากมองมาจากตึกตัวแทนของหงส์แดง สัตว์ประจำทิศใต้ในความเชื่อแบบจีน

อาคารหลังนั้นคือสิ่งปลูกสร้างแรก ๆ ที่ทุกคนต้องเห็นเมื่อมองมาจากแม่น้ำหรือฝั่งพระนคร ผู้เขียนก็ได้เกริ่นถึงสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นนี้มาตั้งแต่ย่อหน้าแรกของบทความแล้ว นั่นคือเจดีย์จีนซึ่งมีนามเต็มอันสละสลวยว่า ‘พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมธาตรีไทยจีนเฉลิม’

“เจดีย์นี้ถ้าคุณมองลงมาจากชั้นบน จะเห็นเหมือนขนหงส์น่ะครับ”

ผู้เขียนลองใช้จินตภาพตามที่สมาชิกจีจินเกาะบอก ก็เห็นจริงตามนั้น ด้วยหลังคาสีเหลืองอมส้มทรงที่โค้งงอน ปลายชี้ขึ้นของเจดีย์องค์นี้ ดูช่างละม้ายแม้นแพขนของสัตว์ปีกเช่นพญาหงส์ที่กำลังโผนทะยานจากพื้นดินสู่ห้วงเวหาของกรุงเทพมหานครเสียไม่มี

พระมหาธาตุเจดีย์นี้สร้างขึ้นในรูปแบบสถาปัตยกรรมเจดีย์จีนที่คนไทยเรียกว่า ถะ สมาคมเผยแผ่คุณธรรมฯ ได้สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวาระมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ นั่นยังเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทางสมาคมได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระญาณสังวร ประทานนามแก่พระเจดีย์นี้ หนำซ้ำยังเสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 และได้ทรงปลูกต้นสาละเป็นที่ระลึกเนื่องในวโรกาสที่เสด็จมาเยือนจีจินเกาะด้วย

ด้านในเจดีย์แต่ละชั้นจะประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตกต่างกันไปในความเชื่อแบบซำก่า นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่แล้วได้เสด็จมาเป็นประธานในพิธีบรรจุ ทุกชั้นก็จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต่างกันไป เช่น พระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระอรหันต์จี้กง เทพเจ้าเหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ หรือ ตั่วเหล่าเอี๊ย เทพเจ้าแห่งดาวเหนือผู้คุมดวงชะตาชีวิตคนซึ่งมักเรียกว่า ‘เจ้าพ่อเสือ’

ทุกชั้นจะมีระเบียงรอบที่มองเห็นทัศนีภาพของกรุงเทพฯ จากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ไกลสุดลูกหูลูกตา หากมองไปใกล้หน่อยก็จะได้เห็นภาพมุมสูงของ บ้านหวั่งหลี เคหาสน์สถานส่วนตัวคหบดีจีนยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ Heritage House เคยเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้

ศาลเจ้าสมัยใหม่ที่ยินดีเปิดให้ทุกคนเข้ามา

เต็กก่าไม่ใช่ศาสนา ไม่ใช่ลัทธิที่แยกตัวเป็นเอกเทศ แต่เป็นองค์การเพื่อสาธารณกุศลที่ตั้งใจมอบประโยชน์อันดีงามเพื่อตอบแทนสังคมตามคุณธรรมคำสั่งสอนจากบูรพาจารย์ที่สมาชิกยึดถือเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากกิจกรรมการกุศลของสมาคมต่าง ๆ ในเครือที่ทำอย่างสม่ำเสมอ

“แม้บางคนจะมองเป็นสมาคมหรือเป็นลัทธิ สาระสำคัญของเราคือการช่วยเหลือคน เราพยายามรักษาวัฒนธรรมเดิมของเรา ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคมตามความเหมาะสมของยุคสมัย”

และถ้าถามว่า ‘เต็กก่า’ คืออะไรในสายตาของ สมชัย กวางทองพานิชย์ เขาตอบได้ทันทีว่าคือ “ศาลเจ้าสมัยใหม่” ที่ปรับเปลี่ยนสภาพไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม

“ศาลเจ้าแต่เดิมคือศูนย์กลางของชุมชนจีน แต่ปัจจุบันคำว่า ชุมชน มันไม่ได้เป็นหมู่บ้านที่คนมาอยู่รวมกันเหมือนก่อนแล้ว แต่กลายเป็นชุมชนรูปแบบใหม่ที่คนมารู้จักกัน รวมกลุ่มกันจากพื้นที่ไกล ๆ แล้วขยายสาขาการรู้จักกันออกไป ส่วนใหญ่สมาชิกสมาคมอื่นในเครือเต็กก่าก็เป็นคนที่เคยมาอยู่กับเราแล้วไปเปิดสาขา ทำแบบเดียวกับสมาคมของเราที่บ้านของเขาครับ”

ชายวัยกลางคนจากสำเพ็งที่เข้ามามีส่วนร่วมกับจีจินเกาะตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น ยกตัวอย่างว่า หากเป็นศาลเจ้ายุคเก่า ที่นั่นมักเต็มไปด้วยกระถางธูปเทียนเยอะเป็นพะเรอเกวียน จุดธูปเผากระดาษแต่ละทีก็ส่งควันโขมงโฉงเฉง เป็นภัยต่อสภาพอากาศของสังคมเมืองยุคปัจจุบัน ส่วนจีจินเกาะนั้นลดปริมาณการจุดธูปบูชาเทพเจ้าเยอะจุดให้เหลือเพียงไม่กี่กระถางที่สำคัญ เปลี่ยนจากการจุดธูปใหญ่มาใช้ธูปหลอดไฟ รวมทั้งงดการเผากระดาษไหว้เจ้าในช่วงที่กรุงเทพฯ ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการรัฐในเวลานั้น

สมาคมจะมุ่งไปให้ความสำคัญกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้านอื่น เช่น สร้างโรงเรียน แจกทุนการศึกษา จัดตั้งและบริหารหน่วยบรรเทาสาธารณภัย ทำพิธีล้างป่าช้า รวมไปถึงแจกผ้าห่มช่วยผู้ประสบภัยหนาว นี่คือบางส่วนของกิจกรรมที่สมาคมเผยแผ่คุณธรรม “เต็กก่า” จีจินเกาะ และอีกหลายสมาคมในเครือเต็กก่าได้กระทำตลอดมาตั้งแต่หยั่งรากบนแผ่นดินไทย

ตลอดเวลาหลายชั่วโมงที่ผู้เขียนเดินชมพื้นที่จีจินเกาะกับอาเจ็กสมชัย มีผู้คนเดินเข้าออกอยู่เป็นพัก ๆ มีทั้งชาวต่างชาติที่ขี่จักรยานสีเหลืองแล่นตามกันเข้ามาเป็นหมู่คณะ โดยหลายคนขลุกอยู่ในนี้เพื่อบันทึกภาพและเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมโดยไม่มีผู้ใดตั้งแง่รังเกียจหรือทำท่าจะขับไล่ แม้จะรู้อยู่แก่ใจดีว่าคนเหล่านั้นอาจไม่ได้มาที่นี่เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อแบบจีน

“เราตั้งใจเป็นศาลเจ้าสมัยใหม่ที่ใคร ๆ ก็เข้ามาดู มาศึกษาก็ได้ เจดีย์เหมือนเป็นตัวเชิญคนเข้ามา สุดท้ายอะไรคือเมสเซจสำคัญที่จีจินเกาะอยากจะบอกเล่า คำตอบคือความเป็นเต็กก่า ความเป็น 3 ศาสนาหรือซำก่าผสมกัน มาแล้วก็จะได้เห็นทั้งความเป็นพุทธ ความเป็นเต๋า และความเป็นขงจื๊อครับ”

จะเป็นตรุษจีนนี้หรือเทศกาลไหน ๆ สมาคมเผยแผ่คุณธรรม “เต็กก่า” จีจินเกาะแห่งนี้ ก็ยินดีต้อนรับผู้ศรัทธาและผู้สนใจมาเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีของชาวจีนต่อไป… และตลอดไป

ขอขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์
  • อาเจ็กสมชัย กวางทองพานิชย์ สมาชิกสมาคมเผยแผ่คุณธรรม “เต็กก่า” จีจินเกาะ
  • พลพัธน์ ภูรีสถิตย์ ผู้สนใจศึกษาด้านวัฒนธรรมจีน

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์