ตัวอักษรไทยลายฝีแปรงพู่กันจีนถูกประดับเหนือรั้วกรงเหล็กของร้านค้าเก่าขนาบ ‘ถนนตัดใหม่’ ที่ตอนนี้กลายเป็นถนนสายเก่าในย่าน ‘ย่านเจริญกรุง’ ถนนที่นำพาแสงสีและชาวต่างชาติเข้ามาจนเกิดวิถีชาวกรุงที่ไม่เคยหลับใหล แต่เวลาผ่านไปแสงสีถูกพัดพาไปยังถนนสายอื่น ความอู้ฟู่ของเจริญกรุงจึงถูกแทนที่ด้วยความเงียบเหงา
แต่ความซบเซานั้นแทรกซึมได้ไม่นาน กลิ่นอายของสีสันก็ได้พัดพากลุ่มคนหวนคืนสู่เจริญกรุงอีกครั้ง ถนนสายนี้จึงเต็มไปด้วยร้านคาเฟ่และแหล่งรวมศิลปะ
“เราไปคุยกันตรงไหนดีคะ งั้นไปนั่งคุยที่ร้านคุณเอ้ดีไหม”
ยิ้ม-กุลยา กาศสกุล ผู้จัดการโครงการ Charoen43 Art & Eatery ทักทายด้วยท่าทีสบาย ๆ ก่อนเดินนำพวกเราผ่านร้าน Madi Café เพื่อเข้าสู่ร้าน Chutie is baking ของเอ้ที่อยู่ด้านหลัง
โครงการ Charoen43 Art & Eatery พื้นที่พลังสร้างสรรค์แห่งใหม่ตั้งบนถนนเจริญกรุง ปากซอย 43 เป็นกลุ่มอาคารที่ โด่ง-ปรกฤษฏ์ สุดสัตย์ ได้รับมรดกตกทอดจากครอบครัว
“พี่โด่งที่เป็นเจ้าของเวิ้งนี้คิดว่าจะทำอะไรกับพื้นที่นี้ดีโดยไม่ต้องขาย เพราะที่นี่คุณป้าที่รักเขาได้มอบให้ เขาต้องดูแลให้ถึงที่สุด ก็เลยให้ยิ้มมาช่วยดูโครงการ เราจึงเริ่มเลือกทำอะไรที่เป็นเรา”
จากไอเดียแรก ๆ คือการเปิดให้แบรนด์ดัง ๆ มาเช่าทำคาเฟ่ หรือทำโฮสเทล ในที่สุดสิ่งที่ PR ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าของร้านเสื้อผ้าดีไซเนอร์เลือก คือการทำพื้นที่นี้เป็นพื้นที่แห่งพลังงานการสร้างสรรค์และความมีชีวิตชีวา เริ่มต้นจากการปรับปรุงตึกที่เคยมีทั้งหมด 10 คูหาซ้อนกัน ครึ่งหนึ่งอยู่ด้านหน้าริมถนน อีกครึ่งอยู่ด้านหลัง ยุบรวมเป็น 8 คูหาแล้วเปิดให้เช่าในราคายืดหยุ่นจับต้องได้


“อยากให้ตรงนี้เป็น Art Space มีอะไรใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มเติมสิ่งที่ยังมีไม่มาก เพราะที่นี่ 6 โมงเย็นก็เงียบแล้ว เราเลยมีบาร์เข้ามา มีพื้นที่สร้างสรรค์อย่างแกลเลอรี่ อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ถนนนี้คึกคัก”
ร้านที่เข้าร่วมโครงการในปัจจุบันมีอยู่ 6 ร้าน และอีก 2 ร้านกำลังจะเปิดในเร็ว ๆ นี้ แต่ละร้านมีสไตล์และความฝันแตกต่างกัน เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนจากหลากหลายที่มาและมุมมอง การพัดพาผู้คนที่หลากหลายเหล่านี้มาอยู่รวมกันภายใต้โครงการ Charoen43 นี้ จะสร้างกลิ่นอายและมวลความสร้างสรรค์ให้เจริญกรุงแบบไหนบ้าง The Cloud อยากให้มารู้จักกับพวกเขาไปพร้อมกัน
Chutie is baking
ความสงบของคนอบขนม

เรานั่งคุยกับยิ้มที่ร้าน Chutie is baking ของ เอ้-ชุติมา บวรรัตนโชติ เจ้าของเดียวกันกับร้าน Sweet Pista ในโครงการ Warehouse 30 ห้องนิรภัยเดิมที่ผนังเต็มไปด้วยโครงเหล็ก ถูกปรับแต่งให้เป็นร้านอบขนมเล็ก ๆ หลังจากคุยกับยิ้ม เราก็ได้มีโอกาสคุยกับเจ้าของร้านอบขนมเล็ก ๆ แห่งใหม่นี้
“เราขยายร้านเพราะอยากให้มีพื้นที่ใหญ่ขึ้น ทำให้รับพนักงานได้มากขึ้นและได้ทำอะไรหลากหลาย อย่างการขยายไลน์เค้ก พอย้ายครัวมาที่นี่เราทำเค้กได้เยอะ เราได้คิดไลน์เค้กใหม่ให้ร้านนี้ด้วย ซึ่งเราไม่เน้นการค้าขาย ขายได้ก็ดีแหละ แต่สำคัญที่สุดคืออยากให้ร้านนี้เป็นพื้นที่ของตัวเอง แค่อยากมีที่สงบ ๆ ให้คิดอะไรได้มากขึ้น”
นอกจากการคิดลายใหม่ให้กับร้าน Chutie is baking เอ้เองยังใช้ครัวอบขนมที่นี่ทำขนมส่งไปยังร้าน Sweet Pista ด้วย นี่จึงเป็นพื้นที่ที่มอบโอกาสให้เอ้ได้แต่งแต้มไอเดียการทำขนมผ่านบรรยากาศแสนสงบ


แต่ความสงบอาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่เอ้ได้รับจากที่นี่
“ละแวกนี้เราอยู่กันเป็นเพื่อน เราแชร์กันมากกว่าเป็นคู่แข่ง เราแค่ต้องการสนุกกับสิ่งที่ทำมากขึ้น ชั้น 2 ของเราปล่อยว่าง เอาไว้เป็นพื้นที่จัดแสดงงานนิทรรศการ ไม่ได้คิดว่าจะเอาไว้เพื่อนั่งกินขนม อย่างน้ำ เรามีแค่ Soft Drink น้ำอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องชง เพราะลูกค้าจะได้เดินไปสั่งร้าน Madi Café อย่างเมื่อเช้าลูกค้าก็เดินวนไปมา 2 ร้าน สนุกมาก ดีกว่าที่จะต้องมาแข่งกันหรือแย่งลูกค้ากัน”
ก่อนเดินสำรวจรอบ ๆ ร้าน เอ้แนะนำเมนูน่าลองให้เรา 2 – 3 เมนู

“ซีรีส์ Cake Parfait จริง ๆ ต้องใส่ไอติมด้วย แต่เราใส่ถ้วยแล้วออกมาเป็นเลเยอร์ต่าง ๆ ตอนนี้มี 4 รสชาติ คือกล้วย เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ และสตรอว์เบอร์รี่ ถ้าเป็นซีรีส์ทาร์ต มีแอลมอนทาร์ตเป็นส้มกับเชอร์รี่ และมีเลม่อนที่กำลังทำเพิ่ม กำลังค่อย ๆ เติมผลไม้อื่นตามฤดูกาล”
เราเดินขึ้นไปสำรวจชั้น 2 ของร้าน กลางห้องโถงมีโซฟาเนื้อกำมะหยี่สีแดงหรูหราตั้งอยู่ ข้าง ๆ กันเป็นกระจกบานใหญ่ มองทอดออกไปทางระเบียงจะเห็นร้านด้านหน้าเป็นชั้น 2 ของร้าน Madi Café ทำให้เรารู้สึกถึงมวลความอบอุ่นของการเป็นเพื่อนบ้าน และเชื่อว่านี่คือพื้นที่แห่งความสงบและความสบายใจของเอ้ได้จริง ๆ
Chutie is baking
วัน-เวลาทำการ : วันอังคาร-อาทิตย์ 10.00 – 18.00 น.
Instagram : Chutie is baking
Bangkok MOJO
ความทรงจำของคนรักดนตรีคลาสสิก

ประตูไม้สีเขียวถูกเปิดต้อนรับเราโดย ซี-ภูรี หมวดเมือง เจ้าของร้าน Bangkok MOJO ที่มองเห็นร้านได้จากทางเข้าซอยด้านหลังตึกของโครงการ Charoen43 เราทราบมาว่าที่นี่จะทำเป็นบาร์ แต่ก็ดูไม่ใช่บาร์แบบปัจจุบันที่แห่งอื่นเป็น
“ร้านเริ่มจากดนตรีเป็นหลัก ผมทำวงและเล่นดนตรีแต่แนวที่เล่นอยู่มันหาพื้นที่เล่นได้ยาก และเราไม่อยากเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ประกอบกับอยากมีบาร์เป็นของตัวเองมานาน เราเลยหาพื้นที่สักพักจนมาเจอที่นี่ เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้วงการผับ บาร์กลางคืน และดนตรีมีทางเลือกใหม่ เราอยากให้พื้นที่นี้เป็น Music Community”
ภายในร้านตกแต่งด้วยแก้วชากาแฟ แม้ขึ้นชื่อว่าเป็นบาร์ แต่ทางร้านยังขายเครื่องดื่มอื่นด้วย
“เราไม่เป็นผับกลางคืน 100 เปอร์เซ็นต์ขนาดนั้น กลางวันเราจะทำให้พื้นที่นี้เป็น Music Community อย่างผมเรียนดนตรีคลาสสิกมา วงคลาสสิกหาที่เล่นยาก อย่างวงแชมเบอร์มิวสิกที่เขาอยากเล่น เขาจะได้มาเล่นที่นี่ช่วงเวลากลางวันได้ เล่นไปดื่มกาแฟไป ไวน์ก็ได้ เพราะเราไม่อยาก Stereotype ว่า ถ้าอยากฟังเพลงต้องไปบาร์ตอนกลางคืนหรือต้องเมาไปด้วย เพราะบางวงเขาอาจจะแฮปปี้ที่ได้เล่นตอนบ่ายหรือตอนเย็นก็ได้


อย่างผมเป็นครูสอนไวโอลิน ผมก็จะบอกพ่อแม่เขาได้ว่า ให้เอาลูกมาเล่นไวโอลินที่นี่ได้เลยตอนกลางวัน จะได้รู้ว่าที่เราสอนไปแล้วเขาเล่นเป็นยังไงบ้าง หรือเอาอาจารย์ของผมมาดูลูกศิษย์ของผมอีกทีหนึ่งก็ยังได้ ดังนั้นเราจึงอยากให้ร้านเป็น Music Bar and Community”
หันไปเห็นพรมสี่เหลี่ยมสีแดงปูพื้นอยู่ที่พื้น ตรงนั้นซีเล่าว่าอยากให้วงดนตรีมาตั้งและเล่นกันตรงนี้ อยากให้เป็นสถานที่ที่วงคลาสสิกวงไหน ๆ ก็มาเล่นได้ แนวเพลงที่เล่นในร้านอาจจะแตกต่างกันไป อย่างวันอาทิตย์ เพลงก็จะเป็นแนวบลูส์ หรือสุดสัปดาห์ วันพฤหัสบดี-วันเสาร์ อาจเป็นแนวดนตรีอเมริกัน ซึ่งแนวที่คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น
“เราก็ต้องบริหารจัดการว่าจะลงเครื่องดนตรียังไงให้มันพอดีกับพื้นที่ เพราะผมจะไม่ถอยหลังไปทำวงเล็ก ๆ หรือแค่อะคูสติกส์ดูโอ เพราะมันหาที่ไหนก็ได้”
นอกจากพื้นที่ที่ต้องการจัดให้สำหรับนักดนตรีแล้ว ซียังคำนึงถึงพื้นใช้สอยสำหรับลูกค้าที่มาใช้งานอย่างดีด้วย

“ผมขี้บ่น เวลาไปบาร์ผมจะบ่นว่าเก้าอี้มันสูงไปทำให้เมื่อย บาร์ทำไมต้องครึ่งนั่งครึ่งยืนด้วย บาร์ส่วนใหญ่เขาทำที่นั่งแบบนั้นเพราะลูกค้าจะได้ Turnover กันเร็ว ๆ แต่เรื่องนั้นผมไม่ชอบ ผมยอมเสี่ยง ผมเลยลดระดับเก้าอี้ลงมา ทำให้บาร์กว้างขึ้น คนจะได้สอดขาเข้าไปใต้บาร์ได้ ลูกค้าจะนั่งนานแค่ไหนก็นั่งไป”
ร้านของซีดูไม่ทันสมัยเหมือนบาร์ร้านอื่น แต่ที่นี่ถือเป็นการนำพาบรรยากาศแห่งความทรงจำของคน Generation X ที่หลงใหลในเพลงคลาสสิก เพลงในยุค 70 – 90 รวมถึงกลิ่นอายของความเป็นบาร์สไตล์ Adhere 13th blues bar
“เรามาจากย่านพระอาทิตย์ บางลำพู bar ผมเคยเล่นที่ Adhere 13th blues คนคิดว่าเป็นร้านผม พี่ยิ้มก็เคยไปดูแต่ตอนนั้นเราไม่รู้จักกัน ผมก็อยากให้ร้านเป็นสไตล์นั้น เพราะบาร์แบบนี้มีน้อย และกำลังจะสูญพันธุ์แล้ว พอได้คอนเซ็ปต์ตรงนี้มา เราก็หาพื้นที่ เรามาได้โครงการนี้เพราะกราฟิกที่ทำงานกับพี่ยิ้มเป็นเพื่อนผม โลกมันกลมนะ สุดท้ายก็เลยได้มาคุยกันและได้อยู่ตรงนี้”
Bangkok MOJO
วัน-เวลาทำการ : วันอังคาร-อาทิตย์ 17.00 เป็นต้นไป
Website : bangkokmojo.com
Small Dinner Club
ความสากลของคนติดกระจกหลังให้อาหาร

ระหว่างที่นั่งคุยกับซีที่ร้าน Bangkok MOJO เราแอบได้ยินเสียงเคาะทุบและการปีนบันไดเป็นระยะ เสียงนั้นเป็นเสียงร้าน Small Dinner Club ที่อยู่ในช่วงตกแต่งร้านโค้งสุดท้าย ก่อนเปิดให้บริการในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ หลังคุยกับซีเสร็จ ไม่นานนัก ศรีล โรจนเมธินทร์ เจ้าของร้านอาหารไทยสไตล์ใหม่เดินเข้ามานั่งพูดคุยกับเราด้วยอาการหอบเล็กน้อย คาดว่าการแต่งเติมร้านคงทำให้เขาเหนื่อยเอาการ
“เราย้ายร้านมาจากออสเตรเลีย เราปิดที่นั่นเพราะอยากย้ายมาสร้างอิมแพคให้เกิดในวงการอาหารไทย ให้เกิดแรงบันดาลใจส่งต่อรุ่นต่อ ๆ ไป ตอนที่อยู่ออสเตรเลียมันก็ดี แต่เรื่องการเข้าถึงและเรื่องวัตถุดิบมันยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ คอนเซ็ปต์ของเราก็เลยมองอาหารเป็นทั้ง Space Philosophy Identity”
เราและศรีลเงียบกันสักพักเพื่อทำความเข้าใจกับความลึกซึ้งที่เขาอยากสื่อสารลงไปผ่านอาหารไทย

“อาหารที่ร้านเป็นอาหารไทย แต่ไม่ใช่ไทยแบบเราคุ้นชิน ผมขอยกตัวอย่างวงชื่อ Paradise Bangkok เป็นวงหมอลำระดับสากล เขาเอาหมอลำผสมกับแนว Dub, Funk, Jazz, Rock and Roll อยู่ตรงนั้นคนไม่รู้ว่าเป็นหมอลำ แต่มันถูกสร้างสรรค์ใหม่ เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัยทุกชาติด้วยเป้าหมายเดียวกันคือความสนุก ผมก็เห็นฝรั่งเซิ้งกัน ซึ่งเราก็อยากเป็นแบบนั้น อยากให้อาหารเป็น Full Experience ทั้ง Size, Sound, Taste, Smell”
การให้อาหารไทยเข้าถึงทุกเพศทุกวัย ยังคงไม่ใช่เป้าหมายหลักของศรีล เขามองว่าอาหารไทยเข้าถึงง่ายทุกเพศวัยและทุกชาติอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ศรีลสนใจคือการทำให้อาหารไทยมีความใหม่ แต่ยังคงกลิ่นอายไทยดั้งเดิมไว้ได้ และเป็นอาหารที่พร้อมเสิร์ฟต่อไปได้ในอนาคตอีกด้วย
“การที่เราจะคงวัฒนธรรมและความดั้งเดิมให้คงอยู่ได้ ถ้าทำแบบเดิม ๆ มันหายไปแน่นอน แต่ถ้าเพิ่มการนำเสนอแบบใหม่เข้าไป อาจทำให้อาหารไทยคงอยู่ในปัจจุบันจนไปถึงอนาคตได้ ซึ่งอาหารเราคือการเดินทางไปข้างหน้า โดยมีกระจกหลังคอยมองถึงรากฐานที่มา”
Small Dinner Club จัดเมนูอาหารเป็นคอร์ส มีทั้งหมด 16 คอร์ส โดยแต่ละเมนูมักเกิดจากการได้รับแรงบันดาลใจผ่านประสบการณ์และสิ่งที่เห็นในมุมกว้างของสังคมปัจจุบัน
“อาหารจานเดียวผมสามารถส่งสารที่อยากสื่อได้ แต่ต่อให้คนไม่ได้อ่านถึงความหมายของอาหารจานนี้ อย่างน้อยก็มีความอร่อย มีคุณประโยชน์แน่ ๆ แต่ถ้าเขาอ่านก็จะเกิดการสื่อสาร เหมือนคุณเดินไปแกลเลอรี่ คุณจะเดินผ่าน ๆ หรือจะอ่านคำอธิบายก็ได้ เราทรีตอาหารแบบนั้นเหมือนกัน ทุกอย่างมีเรื่องราว มีชื่อ คุณจะอ่านหรือไม่อ่านก็ได้ กินอย่างเดียวก็ได้ แล้วแต่คุณจะเสพ”
นอกจากอาหารที่มีความเฉพาะตัว การตกแต่งที่ศรีลได้มีส่วนร่วมคิดกับนักออกแบบตกแต่งภายในก็สำคัญไม่แพ้กัน การตีความในความเป็นไทยที่ไม่จำเป็นใช้หวายหรือไม้ไผ่ของศรีล จะพาผู้เข้าไปเยือนพบประสบการณ์ใหม่แบบเต็มที่ไม่เหมือนใคร หากอยากทราบว่าภายในร้านมีกลิ่นอายความเป็นไทยสมัยใหม่อย่างไร สามารถเข้าไปจับจองโต๊ะอาหารเพื่อสัมผัสเส้นทางใหม่ของอาหารไทยผ่านเว็บไซต์ Small Dinner Club ได้เลย
Small Dinner Club
เปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565
Instagram : sdc.bkk
Website : www.smalldinnerclub.com
Madi Café
ความสุขของคนติดเพื่อน


แสงแดดลอดผ่านบานกระจกเคล้ากับเสียงเพลงสากลที่เปิดคลอในร้าน ร้าน Madi Café (มาดิ) ด้านหน้าเราคือ จี๊พ-สาธิยา ศิริพจนากร ที่กำลังกล่าวทักทายและขอบคุณลูกค้าก่อนจะหันมาพูดคุยกับเรา
“เราและคุณเมย์ (เมธิกานต์ ขวัญเมือง) เคยเป็นคนทำงานประจำทั้งคู่ เราอยากทำร้านที่มีพื้นที่แสดงงานด้วย เราชอบอะไรคล้ายกันและเป็นคนติดเพื่อนทั้งสองคน คอนเซ็ปต์ก็เลยเป็น The Circle of Friends”
ร้าน Madi เป็นคาเฟ่สไตล์ Minimal Nordic ด้วยพลังงานเริ่มแรกที่เกิดจากความติดเพื่อน ทำให้อินทีเรียที่มาช่วยสร้างสรรค์ร้านนี้ให้ก็เป็นเพื่อนรุ่นพี่ที่เคยเรียนออกแบบที่ญี่ปุ่นของจี๊พ ร้านนี้จึงเกิดจากการช่วยแหลือกันจากกลุ่มเพื่อนในหลาย ๆ เรื่อง

“เพื่อนจี๊พตั้งแต่เรียนมหาลัยชื่อป๊อก เขาช่วยแนะนำเรื่องกาแฟด้วย เราเลยมองว่าคอนเซ็ปต์เพื่อนมันเป็นตัวเรามากที่สุด อย่างบรรยากาศในร้าน เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกว่าเหมือนมาบ้านเพื่อน อย่างชื่อร้าน มาดิ ก็เหมือนชวนสบาย ๆ ว่ามาเลยสิ มาดิ มาหากัน”
แม้ว่าคาเฟ่มินิมอลสไตล์ญี่ปุ่นกำลังเป็นที่ยอดนิยมสำหรับการเที่ยวคาเฟ่เพื่อถ่ายภาพสวย ๆ แต่จี๊พยังยึดมั่นในมวลพลังงานของความเป็นเพื่อนมากกว่า
“เราไม่ได้คิดด้วยว่าความเป็น Nordic เป็นจุดขายของร้าน แต่ความเป็นเราคือจุดขายมากกว่า ตอนเปิดร้านไม่ได้คิดว่าร้านต้องสวยแล้วคนต้องมาอย่างเราเปิดร้านได้หนึ่งเดือนแล้วมีลูกค้าหิ้วหอยจ๊อมาฝาก เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราตั้งใจให้เป็นมันถูกแล้ว ปีใหม่ก็ส่งของขวัญปีใหม่มาให้ ลูกค้าเบื่อประชุมกับที่ทำงานแล้วขอช่วยพับกล่องก็มี เขาบอกว่าหาอะไรมาให้ทำหน่อยสิ จี๊พเลยให้เขาพับกล่อง”
เสียงหัวเราะระหว่างการพูดคุยเกิดขึ้นเป็นระยะ เราเห็นแสงแดดเริ่มลอดเข้ามาถึงบริเวณที่นั่งคุยกัน การออกแบบร้านมาดิในแบบของจี๊พและเมย์จึงมองถึงการรับแสงแดดธรรมชาติ และให้ความรู้สึกสบายเหมือนการได้อยู่บ้านจริง ๆ


“จี๊พไม่ได้คิดว่าต้องทำร้านสวยเพื่อให้คนมาถ่ายรูป ไม่ได้จะจัดมุมถ่ายภาพอะไรทั้งนั้น เรามองว่าร้านคือบ้านที่เราต้องอยู่ทุกวัน กาแฟและขนมต้องดีและเราต้องชอบ เพราะถ้าไม่อร่อยหรือเราไม่ชอบก็เหมือนโกงและโกหกคนอื่น มีหลายคนถามว่าทำไมไม่มีเมนูปั่น คำตอบจี๊พกับเมย์คือไม่ชอบเครื่องปั่นที่เสียงดัง อะไรที่ไม่ชอบเราจะไม่ใส่ลงไป อย่างมีบางเมนูที่กินวันแรกแล้วอร่อย แต่พอกินต่อวันที่สองมันไม่อร่อยแล้ว เราก็เอาออกเลย ถ้าเราโกงตัวเองก็เหมือนโกงคนอื่น”
เราเดินขึ้นไปสำรวจชั้น 2 ของร้านที่จัดแสดงผลงานศิลปะ และกำลังจะมีนิทรรศการของบางกอกดีไซน์วีกมาจัดแสดงด้วย
“ชั้น 2 เราไม่อยากเรียกว่าเป็นแกลเลอรี่ แต่อยากให้เป็น Player Hub อยากให้มันเป็นอะไรก็ได้ อย่างสุดสัปดาห์ก็มี เวิร์กชอปสีน้ำ จัดดอกไม้ เพราะคนเรามีความชอบหลากหลายกันไป เลยอยากให้ชั้นบนเป็นพื้นที่ใช้งานที่ตอบโจทย์ความชอบของผู้คนได้”
พูดคุยกันเสร็จก็ดื่มกาแฟกันเล็กน้อย เมนูแนะนำสำหรับคอกาแฟ คือ มาดิคัลเจอร์คอฟฟี่ กาแฟนมที่หวานมันกว่าลาเต้ แต่ไม่หวานเท่าเอสเพรสโซ่เย็น หวานมันนวล ๆ แต่ถ้าไม่ใช่สายกาแฟนม แนะนำเมนูยูสุอเมริกาโน่ ช่วงเปิดร้านใหม่ ๆ คนเอาไปรีวิวเยอะจนกลายเป็นเมนูขายดีที่สุด คนไม่ดื่มกาแฟนมหรือกาแฟดำก็แนะนำเมนูนี้เลย
Madi Café (มาดิ)
วัน-เวลาทำการ : เปิดทุกวัน 10.00 – 17.00 น.
Instagram : madi_bkk
Facebook : Madi Bkk
Bicycle Boys Clubhouse
ความหวังของคนคอจักรยาน

ถัดจากร้านมาดิคาเฟ่เป็นร้านอาหารที่กำลังจะเป็นความหวังและจุดนัดพบใหม่ของคอนักปั่นจักรยานในไม่ช้า เรานั่งบนลังไม้อัดสีอ่อนที่เพนต์ด้วยอักษรภาษาจีนของ กล้อง-ตุลลวัต เทศะแพทย์
เจ้าของร้าน Bicycle Boys Clubhouse เบาเสียงเพลงก่อนจะนั่งพูดคุยกับเรา
“ผมชอบปั่นจักรยานแล้วก็ปั่นในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ปั่นไปทำงาน ปั่นไปนอนอ่านหนังสือที่สวนสาธารณะ ผมเลยอยากให้มีจุดศูนย์กลางของคอมมูนิตี้จักรยาน ให้มีจุดศูนย์รวมความเป็นจักรยาน ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ เพลง เครื่องดื่ม ร้านจักรยาน ซึ่งในอนาคตผมก็อยากมีแบรนด์ที่เป็นไลฟ์สไตล์จักรยาน อย่างตอนนี้ในร้านก็มีอาหารอย่างเนื้อย่าง ในอนาคตก็อาจจะมีอาหารอื่น ๆ ด้วย อย่างแซนด์วิช ฮอตดอก เมนูเนื้อ เนื้อแกะ ส่วนชั้นสองแผนแรกจะทำร้านจักรยาน แต่ช่วงนี้ยังเป็นพื้นที่ว่าง ผมเลยทำนิทรรศการไปก่อน”
นิทรรศการจักรยานที่จัดแสดงภายในร้านดึงสายตาเราอยู่หลายครั้ง กล้องเล่าว่าจักรยานที่เตรียมจัดแสดงอยู่เป็นจักรยานสำหรับนิทรรศการ Bangkok Design week ระหว่างวันที่ 5 – 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ถูกโชว์อยู่เป็นจักรยาน Pursuit จักรยานวินเทจที่นักกีฬาโอลิมปิกปั่นทำลายสถิติโลก ใช้แข่งขันที่อิตาลี ช่วงปี 1960 – 1980 บางคันเป็นรุ่นลิมิเต็ด เพราะจำกัดจำนวนผลิตเฉพาะนักกีฬาโอลิมปิกเท่านั้น ดังนั้นในวันงานร้านนี้จะเต็มไปด้วยจักรยานสุดพิเศษเต็มบริเวณชั้น 2
การจัดนิทรรศการขึ้นมา แปลว่ายังมีคนสนใจในวงการจักรยานอยู่


“ชุมชนจักรยานยังแข็งแรงนะ คนรักก็รักเลย ถึงไม่ได้ปั่นแล้วก็ยังเสพอยู่ ยังซื้อและมีจักรยานติดบ้าน คนมักพูดว่ากรุงเทพฯ ไม่เหมาะกับการปั่นจักรยาน สำหรับผมมันปั่นได้นะ ปกติผมปั่นรอบเจริญกรุง ย่านนี้ถนนค่อนข้างดี ผังเมืองสวย ปั่นจักรยานก็ทำให้เราไปหาของกินได้ไกลกว่าด้วย”
จุดศูนย์ของคนคอจักรยานเริ่มน้อยและห่างหายกันไป กล้องจึงฟื้นบรรยากาศที่ชวนคิดถึงของวงการจักรยานให้กลับมามีชีวิตชีวาด้วยกันใหม่
“เพื่อนต่างชาติของผมเวลามาไทย เขาก็จะถามว่าใครพานำเที่ยวได้บ้าง มีศูนย์รวมคนคอจักรยานไหม พอเขาไปร้านจักรยาน กลับต้องเจอการขายจักรยาน เขาไม่ได้อยากถูกขาย เขาแค่อยากมีที่ที่ไปเจอคอมมูนิตี้จักรยาน ผมเลยอยากสร้างวัฒนธรรมตรงนี้ อยากให้เป็นที่โชว์จักรยานหลาย ๆ แบบได้ เป็นพื้นที่ของกลุ่มคนได้ และเป็นศิลปะได้ด้วย
“ทริปจักรยานก็อาจจะมีในอนาคต เพราะบรรยากาศมันเริ่มหายไป ผมอยากให้มีจักรยานทุกประเภท อย่างวันอังคาร-พฤหัสบดี อาจจะชวนปั่นเสือหมอบ วันศุกร์อาจจะปั่นรถล้อเล็ก ส่วนวันเสาร์จะจัดงานให้มา อยากให้มีที่ที่ไปคนเดียวแล้วเจอคนคอเดียวกัน ได้เจอเพื่อนใหม่ ได้แชร์เรื่องจักรยานเหมือนกัน”

Bicycle BOYS Clubhouse จึงอยากมอบความหวังและมอบพื้นที่ที่เป็นหมุดหมายของคนคอจักรยาน ให้เรียกบรรยากาศเดิมกับเหล่าเพื่อนนักปั่นบนถนนเจริญกรุง
Bicycle Boys Clubhouse
วัน-เวลทำการ : เปิดทุกวัน 08.00 – 20.00 น.
Facebook : Bicycle BOYS
Instagram : bicycleboys_clubhouse
Website : www.bicycleboys.club
C43 : Fashion and Inspiration Space
ความยูนีกของของคนที่ใจเต้นกับแฟชั่นวินเทจ

เจ้าของชุดเบลเซอร์เดรสที่ปักเย็บด้วยผ้าลายวินเทจต้อนรับเราเข้าร้านสวยความสดใส ไม่ใช่ใครที่ไหน ยิ้ม-กุลยา กาศสกุล เจ้าของร้าน C43 : Fashion and Inspiration Space (เจ้าของร่วมกับ สมัชชา อภัยสุวรรณ) มานั่งพูดคุยกับเราเป็นร้านสุดท้ายของโครงการ Charoen43 นี้
ภายในร้านมี 3 ส่วน ส่วนที่เป็นเสื้อผ้าและแฟชั่นอยู่ที่ชั้น 1 โซนแรงบันดาลใจ คือด้านหน้าของชั้น 2 เป็นพื้นที่สำหรับจัดเวิร์กชอป จัดนิทรรศการ และโซนด้านหลังของชั้น 2 เป็นสินค้าวินเทจ เสื้อผ้ามือสอง รวมถึงถ้วยชาและภาพวาดที่สะสมที่ยิ้มชื่นชอบ
“เราชอบของวินเทจมาก อย่างไปเดินจตุจักรวังหลังก็ชอบไปซื้อของวินเทจมาใช้ เราเคยเปิดร้านวินเทจอยู่ถนนพระอาทิตย์ เปิดที่หอศิลปกรุงเทพฯ ด้วย เลยเอาความชอบในเสื้อผ้าวินเทจหรือแนวเก่า ๆ มาทำเป็นแบบใหม่ที่เราลองใส่เองแล้วชอบ”


นอกจากการทำเสื้อผ้าออกมาเป็นแนวของตัวเองแล้ว ทางร้านได้รวมเสื้อผ้าและเครื่องประดับจากจาก Thai Designer ที่มีความหลากหลายเฉพาะตัวด้วย ได้แก่ Good Mixer, Ek Thongprasert, Marsi, g.a.s, Deck Me, Heart Habits, Wishulada, The one and only, Sarran และเซรามิกสำหรับแต่งบ้าน Ceramic Selected By Ekarin Y.
“เราว่าสิ่งที่เติมเต็มเจริญกรุงคือการที่แถวนี้ไม่มีค่อยมีร้านเสื้อผ้า โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่ไม่แมสหรือค่อนข้างยูนีก เราพยายามเลือกแบรนด์ที่ไม่แมสและเหมาะกับทุกคน ไม่เล็กมากหรือไม่โป๊ไป ราคาจับต้องได้”
เสื้อผ้าที่ไม่แมสสำหรับยิ้ม ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มลูกค้าหรือคนที่สนใจแฟชั่นวินเทจนั้นมีน้อย
“กลุ่มลูกค้ามีเยอะ เพราะคนเราไม่ได้ตัวเล็กผมยาวตามพิมพ์นิยมเสียหมด คนที่ชอบงาน One and Only ก็เยอะ อย่างเราที่ใช้กระเป๋าเก่า เพราะเราเลือกจากความรู้สึกที่เมื่อเจอลายผ้าหัวใจจะเต้นแรง แค่เจอของที่ใช่มันก็คือใช่เลย”

คุยเรื่องใจเต้นแรงก็ทำให้เราและยิ้มนึกถึง คุณป้าไอริส แอปเฟล (Iris Apfel) แฟชั่นไอคอนของโลกที่อายุก็ทำอะไรเธอไม่ได้ เธอชัดเจนในความชื่นชอบเรื่องแฟชั่น ไม่ได้สนใจว่าสิ่งนั้นต้องแพงหรือเป็นของแบรนด์ชั้นนำ แต่แฟชั่นคือการสวมใส่ด้วยความรู้สึกต่างหากเป็นสำคัญที่สุด
ชื่นชมเสื้อผ้าที่ชั้นแรกกันจนพอใจก่อนจะเดินขึ้นไปยังชั้น 2 ถัดจากบันไดเป็นตู้ไม้สีเขียวลายวินเทจที่ตกแต่งด้วยกระเป๋าทรงน่ารัก ด้านหน้าตู้มีโซฟาตัวยาวที่มีความเข้าคู่กับตู้กระจกอย่างดี เราหันไปเห็นราวเสื้อผ้าวินเทจของยิ้มก็อดใจไม่ไหว ต้องขอเข้าไปหยิบจับเสียหน่อย
“ตรงนี้เราจัดไว้ให้เป็นเป็นตู้มุมน่ารัก ๆ อาจจะเป็นที่ให้นั่งรื้อคนชอบเสื้อผ้าวินเทจ มาลองเสื้อผ้าและเลือกซื้อกัน น่าสนุกดี เป็นพื้นที่สำหรับคนชอบวินเทจจริง ๆ”
C43 : Fashion and Inspiration Space
วัน-เวลาทำการ : วันอังคาร-อาทิตย์ 12.00 -19.00 น.
Facebook : www.facebook.com/charoen43
การรวมตัวของร้านทั้ง 6 กลายเป็นก้อนพลังงานใหม่อันหลากหลายที่กำลังแต่งแต้มสีสันให้กับย่านเจริญกรุง ระหว่างที่ร้านแผ่นเสียงและร้านขนมเบเกอรี่อีกแห่งใกล้จะเปิดตัว แสงไฟดวงน้อยของที่นี่จะค่อย ๆ เติบโตเป็นแสงไฟดวงใหญ่ นำพาคนหลากหลายประเภทมาอยู่ร่วมกัน และสร้างความคึกคักให้กับถนนเส้นนี้อีกครั้ง Charoen43 Art & Eatery สถานที่นัดพบแห่งใหม่ย่านเจริญกรุงกำลังรอคอยทุกคน ไปแต่งเติมความสนุกและความคึกคักให้กับย่านเก่านี้ไปด้วยกัน
Charoen43 Art & Eatery สถานที่นัดพบแห่งใหม่ย่านเจริญกรุง พร้อมพาทุกคนไปแต่งเติมความสนุกให้กับย่านเก่านี้ไปด้วยกันในงาน Bangkok Design Week 2022 นำโดยร้าน C43 : Fashion and Inspiration Space ที่เปิดพื้นที่ชั้น 2 ให้กับนิทรรศการผลงานการออกแบบของคุณเอก ทองประเสริฐ ตามด้วยร้าน Chutie is Baking กับนิทรรศการ “What’s The Hex” 6 ผลงานครีเอทีฟอาร์ตของนักศึกษาหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต ศิลปากร และร้านสุดท้ายที่ร่วมสนุกกับเทศกาลนี้คือร้าน Madi BKK ที่เปิดชั้น 2 ให้กับนิทรรศการ TRANSLUCENT คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มตั้งแต่ 5 – 13 กุมภาพันธ์นี้