‘วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง’ อาจฟังดูเหมือนคำถามทักทายที่บางครั้งเราก็ไม่ได้สนใจคำตอบ

แต่สำหรับเด็กหลายคน ‘วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง’ คือคำถามสำคัญที่มาพร้อมคำตอบสะท้อนประเด็นปัญหามากเกินกว่าคุณจะจินตนาการจากการมองเพียงภายนอก

เฟรนด์-ชัยวิญญ์ สุทธิบุญ หรือ ครูเฟรนด์ จากโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ Teach For Thailand มองเห็นปัญหาที่สะสมอยู่ภายในตัวนักเรียนของเขาที่โรงเรียนวังเหนือวิทยา จังหวัดลำปาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน ความรัก หรือปัญหาอันดับ 1 อย่าง ‘ครอบครัว’ เขาจึงตั้งใจเปลี่ยนห้องพักครูที่ว่างเปล่าเป็นห้องให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาซึ่งจำเป็นและ ‘ควรมีในทุกโรงเรียน’

เฟรนด์-ชัยวิญญ์ สุทธิบุญ

การให้คำปรึกษาแต่ละครั้งใช้เวลาเฉลี่ย 45 นาที 

1 วัน มีเด็กใช้บริการได้ประมาณ 4 – 5 คน 

ปัจจุบันห้องแห่งนี้เปิดให้บริการมาแล้ว 1 ปีครึ่ง มีจำนวนนักเรียนใช้บริการกว่า 200 ครั้ง 

แม้จะมีนักเรียนที่เสร็จสิ้นการให้คำปรึกษาไปหลายเคส และมีนักเรียนอีก 2 คนที่ได้แรงบันดาลใจจนเลือกเรียนต่อด้านจิตวิทยาในระดับอุดมศึกษา แต่ตัวเลขเหล่านี้ก็สะท้อนว่าปัญหาสุขภาพจิตในเด็กมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้เสมอทั้งในและนอกโรงเรียน

จะทำอย่างไรให้เกิดการให้คำปรึกษาอย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องพึ่งนักจิตวิทยาอย่างครูเฟรนด์ตลอด

“เด็ก ๆ ควรเรียนรู้หลักการพื้นฐานเพื่อฟังและคุยกับเพื่อน ๆ กันเองได้” เขาคิด

ครูเฟรนด์จึงจัดโปรแกรมถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนถึงหลักการเบื้องต้น เพื่อให้เพื่อนพูดคุยกับเพื่อน รุ่นพี่คุยกับรุ่นน้องได้

Hi, I’m Friend.

ครูเฟรนด์คือครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง จากโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 8 ของมูลนิธิ Teach For Thailand องค์กรการกุศลที่มีพันธกิจในการพัฒนาความเป็นผู้นำ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และสร้างโอกาสให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม 

เขาปฏิบัติหน้าที่ครูวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และครูประจำห้องให้คำปรึกษาทางจิตวิทยามาแล้ว 2 ปี ครบกำหนดที่ต้องกลับบ้าน แม้เด็ก ๆ จะอ้อนให้อยู่ต่อ

อีกฝ่ายเล่าให้เราฟังท่ามกลางเสียงแว่วของลูกศิษย์ที่กำลังพักกลางวัน เดิมทีเขาเรียนสายวิทย์-คณิต เพื่อเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่เมื่อค้นพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบเรื่องการออกแบบขนาดนั้น เขาจึงเบนเข็มไปที่การเป็นนักศิลปะบำบัดแทน ครูเฟรนด์เรียนปริญญาตรี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 ปี จากนั้นจึงเรียนต่อเฉพาะทางศิลปะบำบัดอีก 5 ปี จบมาเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาและนักศิลปะบำบัดตามเป้าหมาย แถมด้วยปริญญาโทด้านจิตวิทยาการศึกษาอีกใบ งานหลักของเขาจึงอยู่ในโรงพยาบาลมากกว่า

“ผมรักเด็กมาก งานแรกก็ไปเป็นนักพัฒนาการเด็ก ถนัดทำงานกับเด็กและวัยรุ่น อายุต่ำกว่า 21 ปี เพราะผมเป็นนักจิตวิทยาการศึกษาคนหนึ่งที่เข้าใจพัฒนาการตามช่วงวัยได้ดีมาก แถมยังถนัดการใช้ศิลปะ เลยไม่เคยมีปัญหาในการพูดคุยสักครั้ง

“แต่ผู้ใหญ่ส่วนมากไม่ได้ใช้พัฒนาการวัด เขาใช้วัยเด็กของตัวเองวัดว่าใครดื้อหรือไม่ดื้อ อีกฝ่ายเลยเกิดการต่อต้าน พอผมดูตามพัฒนาการ นักเรียนในโรงเรียนเลยไม่ดื้อในสายตาผม” เขาบอกว่าศิลปะบำบัดใช้คู่กับพัฒนาการเสมอ เขาจึงปรับพัฒนาการคนไข้ได้ตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงมัธยม

“จากที่ผมทำงานกับเด็กมาตลอด พอเห็น Teach For Thailand เปิดรับสมัครเป็นวันสุดท้ายเลยลองสมัครดู เพราะก่อนหน้านั้นตอนที่ให้คำปรึกษาและบำบัดที่ศูนย์ ผมเจอเด็กที่ปลายน้ำแล้ว ปัญหาของเขาคาราคาซังมานาน แต่การสมัครครั้งนี้จะทำให้เราได้ไปที่ต้นน้ำ เราอยากรู้ว่าปัญหาเยอะจริงไหม เป็นเหมือนที่เคยคิดหรือเปล่า

“ซึ่งพอมาถึงก็รู้ว่าเป็นแบบนั้นจริง”

Counselling Room

ในโรงเรียนมีระบบดูแลช่วยเหลือแบ่งเป็น 3 ส่วน คือด้านทุนการศึกษา วินัย และปัญหาในเด็ก ซึ่งอย่างหลังเป็นสิ่งที่ครูเฟรนด์เสนอการจัดการขึ้นมาใหม่ เมื่อทุกฝ่ายเห็นว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ ครูเฟรนด์ พร้อมด้วยครูแนะแนว ครูสังคม และผู้อำนวยการจึงจัดการเปลี่ยนห้องพักครูที่เป็นเพียงห้องเปล่า ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ให้เป็นห้องให้คำปรึกษาจิตวิทยาแห่งโรงเรียนวังเหนือวิทยาใน พ.ศ. 2565

“ผมนำหลักสากลจากที่เรียนและประสบการณ์การทำงานด้านนี้มาใช้ พอบอก ผอ. ว่าต้องการห้อง ต้องการโซฟา โต๊ะ กล้องที่ไม่อัดเสียง แต่เก็บภาพได้เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย ท่ายก็จัดให้เลยเพราะอยากให้พื้นที่นักเรียน”

การให้คำปรึกษาไม่ได้มีทุกวัน แต่ทุกครั้งที่ครูเฟรนด์มีคาบว่าง เขาจะมาประจำการที่ห้องตั้งแต่เวลา 13.00 – 17.00 น. 

ตามมาตรฐานการให้คำปรึกษาจะใช้เวลาอยู่ที่ 45 นาที แต่ในครั้งแรกที่พบกันจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง นักเรียนจึงต้องลงคิวมาก่อน โดยครูเฟรนด์จะเป็นผู้จัดตารางเวรและกระจายเคสหนัก-เบาให้กับผู้ให้คำปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นครูหรือนักเรียนแกนนำเพื่อนที่ปรึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไปแข่งโครงการ Youth Counselor เพื่อนใจวัยทีน ในการแข่งขันศิลปหัตถกรรม

“ตอนนี้ก็กำลังเทรนพวกเขาอยู่เลย สอนตั้งแต่ธรรมชาติของปัญหา บทบาทของเรา ธรรมชาติของปัญหาคือการที่ความจริงและความต้องการไม่ตรงกันจึงเกิดอารมณ์เชิงลบ พวกเขาก็จะต้องทำให้ความเป็นจริงและความต้องการเบลนด์เข้าหากันมากที่สุด นอกจากนั้นก็สอน 5 ขั้นตอนของหลักสากล พร้อมทักษะอื่น ๆ เช่น การใส่ใจ การฟัง การถาม การสะท้อนความรู้สึก ซึ่งการฝึกคือให้เพื่อนในห้องจับคู่กันแล้วสะท้อนกันและกันออกมา หลังจากนั้นจึงไปเจอเคสจริง ๆ ในห้อง”

เขาบอกว่าส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้เข้าให้คำปรึกษา เนื่องจากน้อง ๆ มัธยมต้นยังไม่มีประสบการณ์และวุฒิภาวะที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การเทรนที่ผ่านมาผลิตนักเรียนที่ให้คำปรึกษามาแล้วปีละ 10 คน จากนั้นพี่ ม.ปลาย จะลงไปช่วยเทรนน้อง ม.ต้น แล้วน้อง ม.ต้น ที่ขึ้นมาเป็นพี่ ม.ปลาย ก็รับหน้าที่ส่งต่อความรู้ให้น้องต่อไปอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ครูเฟรนด์ยังอบรมตัวแทนห้องเรียนแต่ละห้องเพื่อให้มีเพื่อนที่ปรึกษาช่วยคัดกรองเคส ในกรณีที่เป็นเคสหนัก ครูเฟรนด์จะสแตนด์บายรอรับช่วงต่อ

“เรามีทั้งนักเรียนที่ทักมาขอคำปรึกษาทางเพจของโรงเรียน บางคนทักมาทางเพจ YC เพื่อนที่ปรึกษา หรืออาจมาจากครูที่ปรึกษา ซึ่งประเมินสุขภาพจิต SDQ ทุกปี หากพบว่าเด็กมีแนวโน้มไม่อยากมีชีวิต พวกเขาจะเข้ามาในห้องนี้”

ตามหลักสากล 5 ขั้นตอน สิ่งแรกที่เฟรนด์ทำคือการสร้างสัมพันธภาพ สำรวจปัญหา ทำความเข้าใจปัญหา หาแนวทางแก้ปัญหา และยุติปัญหาตามกระบวนการให้คำปรึกษาทั่วไป แต่บางเคสที่รุนแรง เช่น มีพฤติกรรมนำเชือกมาผูกคอบ่อยครั้งโดยไม่รู้ตัว ครูเฟรนด์จะทำการส่งไปหาแพทย์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับโรงพยาบาล หลังจากนั้นโรงเรียนจะทำหน้าที่ติดตามผลต่อ โดยเฉพาะเคสป่วยซึมเศร้าและต้องรับยาซึ่งมีปริมาณเยอะจนน่าตกใจและมีแนวโน้มจะมากขึ้นอีกในอนาคต

“3 อันดับที่เด็กมาปรึกษามากที่สุด คือหนึ่ง ครอบครัว ครอบครัวมีปัญหา คุณพ่อคุณแม่แต่งงานใหม่ พ่อเลี้ยงก็ไม่ค่อยน่ารักสำหรับเขาเท่าไหร่ เรื่องแบบนี้ก็มี

“ต่อมาคือความรัก เรื่องยอดฮิตที่ค่อนข้างยาวและคาบเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว เช่น ท้องในวัยเรียน อยากมีแฟน 3 คน ดีลยังไงดี ค่อนข้างกว้างเลยครับ และสุดท้ายคือการเรียน ความคาดหวัง เป้าหมายชีวิต”

นอกจากการระบายปัญหา ห้องแห่งนี้ยังทำหน้าที่ลดระยะห่างระหว่างครูและนักเรียนได้เป็นอย่างดี เพราะแต่เดิม นักเรียนเองก็ไม่รู้สึกไว้ใจครูในโรงเรียนเช่นกัน

“เขาไม่กล้าเล่าปัญหาให้ครูฟัง เพราะครูอาจจะเอาเรื่องของเขาไปเล่าให้ครูคนอื่น ๆ ฟังต่อ ซึ่งก็มีทั้งครูที่เข้าใจและครูที่เข้ามาแสดงพฤติกรรมไม่ดีหรือพูดจาประชดประชันนักเรียน” ดังนั้น ความเป็นส่วนตัวของผู้ขอคำปรึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ห้ามละเลยเป็นอันขาด

“สิ่งที่ผมจะไม่ทำคือการตัดสิน หากนักเรียนบอกว่าเขาเกลียดพ่อตัวเอง สิ่งที่ต้องทำคือฟังและถามว่าทำไม เวลานักเรียนพูด ครูมักสวนกลับไปก่อน ทำให้เด็กไม่อยากคุยด้วย ผมจะบอกว่าต่อให้เป็นนักโทษ เมื่อมาอยู่ต่อหน้านักจิตวิทยา พวกเขาล้วนเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ต่างจากเรา ในห้องเราจะไม่มีตัวตน เราเป็นเพียงกระจกที่สะท้อนให้เขาเห็นตัวเอง ซึ่งจริง ๆ มนุษย์ต้องการแค่นั้น” เขาบอก

Friend on Duty

อีกสิ่งสำคัญของการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาคือการขุดให้เจอรากของปัญหา บางคนอาจมีจิ๊กซอว์ที่หายไป ขณะที่บางคนมีจิ๊กซอว์วางซ้ำตรงจุดเดิม ครูเฟรนด์จึงกลายเป็นผู้หาสิ่งที่หายและเป็นผู้ช่วยให้เด็กนำจิ๊กซอว์ที่เกินนั้นออกด้วยตัวเอง

เคสที่เขาเล่าให้ฟัง คือนักเรียนมัธยมคนหนึ่ง มีนิสัยรักความสมบูรณ์แบบมาก ผลการเรียนไม่เคยตก แต่เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ครูเฟรนด์ใช้เวลากว่า 1 ปีในการไล่พัฒนาใหม่ จนพบว่านักเรียนคนนี้มีปัญหาด้านการสื่อสารอารมณ์ จึงใช้เป็นแค่อารมณ์โกรธและเสียใจ

“ในความเป็นจริง อายุเท่านี้ควรจะอ้อนเป็น ขอร้องเป็น ตื่นเต้นเป็น แต่เขากลับเก็บอารมณ์เอาไว้ ไม่แสดงออก มนุษยสัมพันธ์จึงไม่ดี เราฝึกกันอยู่เป็นปี จนปัจจุบันเขาเข้ากับเพื่อนได้ และความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ดีขึ้นด้วย” แต่ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากอะไร – เราถาม

“ที่บ้านของเขาเข้มงวดมาก ร้องไห้ไม่ได้ ห้ามทำหลายอย่าง กลายเป็นการผลักลูกให้อยู่ในกรอบ เขาไม่กล้าอ้อนแม่ เพราะอ้อนแล้วแม่ก็สะบัดหนีตลอด จริง ๆ แม่เขาอาจเขินอาย แต่เด็กไม่ได้รับรู้แบบนั้น”

หากไม่มีห้องแห่งนี้ ปัญหาหลายอย่างคงคาราคาซังไม่ได้รับการแก้ไข จากปัญหาด้านความสัมพันธ์ก็อาจพัฒนาไปถึงปัญหาสังคม

ครูเฟรนด์เสริมว่านักเรียนที่มีไอคิวสูงอาจกลับไปพูดคุยกับครอบครัวได้เอง แต่สำหรับคนที่ไอคิวต่ำ ‘ผู้ปกครอง’ คือส่วนสำคัญที่ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ครูเฟรนด์จึงเรียกพบครอบครัวเพื่อทำกิจกรรมครอบครัวบำบัดในห้องนี้ด้วย

“บางครั้งพ่อแม่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลูกตัวเองเป็นซึมเศร้าและรับยาที่โรงพยาบาล พอเขารู้ถึงค่อยมาถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูก หลังจากนั้นเราเลยต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องทำอะไรบ้าง มันจะซับซ้อนและยุ่งขึ้นเมื่อมีทั้งส่วนของผู้ปกครองและของเด็ก แต่ยังไงก็ควรปรับพฤติกรรมทางบ้าน”

อีกฝ่ายไม่ได้บอกโดยตรงว่าการให้คำปรึกษาจะจบลงเมื่อไหร่ เนื่องจากเขาพิจารณาจากการใช้ชีวิตที่สมดุลขึ้นของนักเรียน

“ตอนที่เจอกันครั้งแรก บางคนพูดแต่เหตุผล ไม่สนใจอารมณ์ บางคนใช้แต่อารมณ์ ไม่สนเหตุผล สิ่งที่เราทำคือการดึงเขากลับมาอยู่ตรงกลางแล้วลองไปใช้ชีวิต ถ้าเขาอยู่ได้ก็โอเค แต่ถ้าไม่ดีขึ้น เราค่อยกลับมาคุยกันใหม่”

เราถามเขาว่านอกจากฝั่งผู้ปกครองและนักเรียน มีบ้างไหมที่เป็นครูและนักเรียน 

“ส่วนใหญ่ครูเป็นปลายเหตุ พอสังเกตเชิงลึกจริง ๆ รากฐานของปัญหามาจากครอบครัว เพราะครูคนเดิม นิสัยแบบเดิม ไปสอนในห้องที่มีนักเรียนจากครอบครัวที่แข็งแรงและครอบครัวที่ไม่แข็งแรง ผลลัพธ์ต่างกัน เพราะฉะนั้น ครูเลยเป็นปัจจัยแทรกซ้อนมากกว่า”

Age Gap ในครอบครัวเป็นปัญหาสำคัญ เช่นเดียวกับ Age Gap ระหว่างครูและลูกศิษย์ ครูเฟรนด์บอกว่าอย่างน้อยครูรุ่นใหม่อาจฟังเพลงเดียวกับที่นักเรียนฟังจึงเกิดบทสนทนาได้ง่าย ขณะที่ครูผู้ใหญ่ไม่มีความสนใจที่ตรงกัน นักเรียนหลายคนจึงคิดว่าครูไม่มีทางเข้าใจหรือให้คำปรึกษาพวกเขาได้ดี ไหนจะเรื่องการแทรกแซงด้านเทคโนโลยีที่ทำให้การเจอตัวเป็นเรื่องแปลกในยุคที่ทำอะไรผ่านออนไลน์ได้ทั้งหมด

“จริง ๆ นอกจากเด็ก ครูเองก็ต้องการห้องให้คำปรึกษาเหมือนกัน แค่พวกเขาไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองต้องการ” เขาเสริม ตามหลักสูตร ครูต้องเรียนจิตวิทยาทั่วไปและจิตวิทยาการศึกษา ซึ่งช่วยในการออกแบบการเรียนรู้ แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ได้เรียนกันทุกคนคือพัฒนาการตามช่วงวัย ซึ่งช่วยในการเข้าใจและแก้ปัญหาได้มาก

“ในอนาคต ผมอยากให้ห้องนี้มีอยู่ทุกโรงเรียน เพราะเป็นพื้นที่ลดระยะห่างของนักเรียนและครู สิ่งที่ผมทำไม่ได้เป็นโมเดลใหม่เลย แค่ใหม่สำหรับโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชนมีแล้ว แต่หากมีในโรงเรียนรัฐก็จะช่วยแก้ปัญหาใต้พรมเหล่านี้ได้ด้วย”

เขาปิดท้ายด้วยการบอกว่า “คนใจไม่ดี ทำอะไรไม่ได้” เพราะพวกเขามักสร้างกำแพงทางใจไว้สูงทุกด้าน ในปัจจุบัน อนาคตอันใกล้ อนาคตข้างหน้า การทำงานในโรงเรียนอย่างเดียวไม่เพียงพอ เขาหวังว่า 1 โรงเรียน 1 ชุมชน 1 โรงพยาบาล 1 โรงพัก จะหันมามาทำงานร่วมกันเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างยั่งยืนในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ไม่ตัดสินไปก่อน และไม่พูดทำร้ายจิตใจจนสิ่งที่นักจิตวิทยาในโรงเรียนพยายามทำมาสูญเปล่า

“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เด็กที่เกิดจากครอบครัวที่ไม่พร้อม เขามีลูก 3 คน กับเด็กที่เกิดในครอบครัวที่พร้อม เขามีลูก 1 คนในวัยที่พร้อมทุกอย่าง การผลิตคนคุณภาพ 1 คนเพื่อมาดูแลคนไม่มีคุณภาพ 3 คน เป็นสิ่งที่เหนื่อย แต่การมีห้องให้คำปรึกษาจะทำให้คน 3 คนนั้นลดจำนวนเหลือ 1 หรือ 0 แล้วได้คนคุณภาพเพิ่มขึ้น นี่คือสิ่งที่ประเทศชาติจะได้ในวันหน้า

“ผมอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของจิตวิทยาและสุขภาพจิต เริ่มง่าย ๆ ที่ 1 คน แล้วในอนาคตเด็กเหล่านี้จะเติบโตมาแทนที่เราอย่างมีคุณภาพ เขาจะเห็นความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ต่อไป”

เพจ Kunst kids : ครุ่นคิดส์

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ