แก่นแท้ของสถาปัตยกรรมและการออกแบบทุกแขนงไม่ใช่เรื่องของความสวยงามอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของ ‘การแก้ปัญหา’ งานกราฟิกดีไซน์แก้ปัญหาเรื่องการสื่อสาร การออกแบบผลิตภัณฑ์แก้ปัญหาการใช้งานให้ใช้งานได้ดีขึ้น สะดวกขึ้น การออกแบบผังเมืองก็ช่วยให้คนในเมืองอยู่ได้สบายขึ้น
ส่วนสถาปัตยกรรมคือการแก้ปัญหาของผู้อยู่อาศัยให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และการมีชีวิตที่ดีขึ้นก็ไม่ควรจำกัดอยู่แค่คนบางอาชีพ บางฐานะ หรือบางสถานภาพเท่านั้น
ที่จั่วหัวขึ้นมาแบบนี้เพราะมีสถาปนิกบางคนเชื่อว่า แม้แต่พระหรือเณรก็ควรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยสถาปัตยกรรม โดยไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่สิ้นเปลืองหรือไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของนักบวช นั่นจึงเป็นที่มาของการบูรณะอาคารร้างให้กลายมาเป็นหอพักเณรที่วัดพุทธนิมิตร อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี
รูปบรรยากาศของหอพักเณรที่ดูสะอาดตา มีแสงสว่างส่องเข้ามาในอาคารอย่างพอเหมาะ ช่วยให้ประหยัดพลังงาน และมีประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย ยิ่งไปกว่านั้น ยังดูดีและสวยงามคล้ายโชว์รูมแบรนด์สินค้าญี่ปุ่นชื่อดังบางแบรนด์ด้วย
งานทั้งหมดนี้ถูกคิด ออกแบบ และก่อสร้าง ภายใต้งบประมาณที่จำกัด หรือสิ่งนี้คือหน้าที่และความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีต่อผู้อยู่อาศัยอย่างที่ควรจะเป็นจริงๆ
ผมนัดกับคุณโป้ง-สการ จัยวัฒน์ สถาปนิกผู้รับผิดชอบการบูรณะหอพักเณรของวัดพุทธนิมิตร ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง เพื่อพูดคุยถึงที่มาและเบื้องหลังของการปรับปรุงครั้งนี้
หลังจากกาแฟเข้มข้นแก้วน้อยตรงหน้าหมดลง เราก็บทสนทนาของเราก็ดำเนินต่อ เข้มข้นไม่แพ้กาแฟในแก้วน้อยตรงหน้าเลย
ขนแปลนเข้าวัด
ใครๆ ก็คงอยากจะรู้ว่า สถาปนิกที่ทำงานในบริษัททั่วไปเข้ามามีส่วนในการออกแบบหอพักเณรได้อย่างไร
“ก่อนหน้านี้ผมทำงานที่บริษัทสถาปนิกชื่อ A49 คุณย่าผมให้ทุนการศึกษาพระรูปหนึ่ง พอเรียนจบปริญญาเอกพระรูปนั้นก็กลับมาเป็นครูใหญ่ประจำวัดพุทธนิมิตรที่จังหวัดอุดรธานี เป็นวัดป่าที่อยู่ห่างจากชุมชนประมาณครึ่งชั่วโมงจากอำเภอเมืองฯ วัดนี้เป็นศูนย์รวมของชุมชนทั้งด้านจิตใจและการศึกษา เป็นโรงเรียนที่สอนเณร เวลาชาวบ้านมีลูกหลาน แต่ส่งไปเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ จะให้ลูกหลานมาบวชเณรและเรียนที่นี่ ซึ่งฟรี” โป้งอธิบายสิ่งที่เป็นที่มาของคำว่าบวชเรียน
“ระยะหลังเณรที่มาบวชเรียนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนหอพักเณรที่มีอยู่แล้วไม่พอ ครูใหญ่อยากสร้างหอพักเพิ่ม ท่านได้แบบก่อสร้างมาแล้วจากผู้รับเหมา เป็นอาคารปูนสองชั้นทั่วไป เลยมาหาคุณย่าผมเพื่อขอรับบริจาค คุณย่าก็บริจาคเงินให้ทั้งหมดเลย เวลาที่คุณย่าบริจาคเงินคุณพ่อผมจะไปตรวจสอบดูให้ก่อนเสมอ ทางวัดเตรียมสร้างหอพักตรงป่าในเขตวัดที่ไม่มีใครใช้ประโยชน์ คุณพ่อผมเสียดายพื้นที่ป่า เพราะต้องตัดต้นไม้ออกหมด
“บังเอิญไปเจอตึกร้างที่เคยป็นอาคารเรียนเก่า ซึ่งไม่มีคนใช้งานแล้ว เป็นที่เก็บของ เวลาชาวบ้านมีของจะทิ้งเขาจะเอามาบริจาคให้วัด ซึ่งวัดก็ไม่ได้ใช้เลย เอามาเก็บไว้รอทิ้งที่อาคารนี้ พ่อผมเห็นว่าถ้าเราไม่สร้างตึกใหม่ แต่บูรณะตึกร้างนี้แทนพื้นที่ป่าก็ไม่เสียหาย ประหยัดงบได้มาก เลยมาถามผมว่าสนใจที่จะทำโครงการนี้ไหม พ่อผมคงอยากให้ทำเป็นงานสนุกๆ นอกเวลางานประจำ” โป้งเล่าที่มาของการเข้าร่วมโครงการนี้ให้ผมฟัง
ทำไมถึงสนใจทำงานเพิ่มเติมอีกในยุคที่งานประจำกินเรี่ยวแรงเรามากเหลือเกิน ผมถามต่อ
“พอได้ยินโจทย์ว่าเป็นตึกเก่าและต้องรีโนเวตให้เณรก็อยากทำแล้ว มันน่าสนใจและน่าสนุกมาก เพราะเณรมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนผู้ใช้คนอื่นๆ พอได้รับโจทย์ก็คิดถึงเพื่อนอีก 2 คนที่น่าจะมาช่วยเราทำงานนี้ได้
“คนแรกคือ เมือง-วิธี วิสุทธิอัมพร เพื่อนสนิทตั้งแต่ที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัย (ซึ่งได้ทำการออกแบบโรงพยาบาลที่ให้ทุกคนในโรงพยาบาลนั้นได้มีส่วนร่วมในการออกแบบมาแล้ว อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่) เราทำงานเจอแต่ลูกค้า ไม่เคยทำงานให้เณรมาก่อน เมืองเป็นคนที่หากระบวนการมาถามความต้องการจากผู้ใช้งานอย่างเณรได้ เพราะทำงานเรื่องกระบวนการมาเยอะ คุยกับคนอื่นเก่ง หาข้อมูลเชิงลึกจากผู้ใช้งานอย่างเณรหรือพระได้
“อีกคนเป็นชาวญี่ปุ่นชื่อ รินะ ชินโด เป็นสถาปนิกแลกเปลี่ยนที่ A49 เขาทำวิทยานิพนธ์เรื่อง Community Space เคยมาดูงานที่แฟลตดินแดงและชุมชนอื่นๆ เลยชวนมาร่วมทีมอีกคน”
งานออกแบบที่เราคุ้นเคยกันดูเป็นของฟุ่มเฟือย การหยิบเอาการออกแบบมาใส่เข้าไปในวัดแบบนี้จะขัดกับสถานะของความเป็นพระหรือเณรที่ต้องอยู่ความสมถะหรือเปล่า
“ของที่ดีจำเป็นที่จะต้องแพงไหม” โป้งตั้งคำถามกลับมา ก่อนจะอธิบายต่อ
“ผมเคยคิดตั้งแต่เด็กแล้วว่า สถาปัตยกรรมที่ดีควรรับใช้คนทุกรูปแบบ หัวใจของสถาปัตยกรรมที่ดีคืออะไร ก็คือพื้นที่ แสง ลม อากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่เราต้องกักเก็บไว้ในสถาปัตยกรรมของเราให้ได้ ไม่ว่าจะใช้วัสดุราคาแพงหรือราคาถูก
“โอเค คนรวยมีเงินก็ใช้งานได้ ถ้าเราใช้ชุดความรู้ชุดเดียวกันก็น่าจะทำให้คนที่มีเงินไม่มากได้เช่นเดียวกัน งานนี้จึงน่าสนุกและช่วยเราในการทำงานปกติด้วย น่าจะส่งเสริมกันและกัน”
โยมนิเวอร์แซลดีไซน์
ผมถามต่อถึงขั้นตอนการออกแบบในโครงการนี้ว่าหลังจากได้ฟอร์มทีมครบแล้ว มีขั้นตอนการทำงานยังไงบ้าง
“เราไปสำรวจตัวโครงสร้างของตึกก่อน มันคืออาคารที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างให้วัด สร้างกันเองแบบไม่มีช่างค่อยๆ สร้างค่อยๆ ต่อเติมกันเองตามเงินที่มีในแต่ละปี เสาและคานมีขนาดใหญ่โตมาก และไม่มีเหล็กหรือปูนที่ถูกต้องตามหลักการก่อสร้างเท่าไหร่ แต่ยังแข็งแรงและใช้งานได้
“ครั้งแรกที่มาบรรยากาศด้านในไม่น่าใช้งานเลย เพราะทั้งมืดและอับ อาคารใกล้ๆ ตึกที่จะรีโนเวตเป็นที่เก็บหนังสือการเรียนการสอนของทางโรงเรียนทั้งหมด ทั้งมืดและอับไม่น่าใช้งานเช่นเดียวกัน เราเลยคำนวณดูว่าค่าโครงสร้างที่ประหยัดไปได้จากการรีโนเวตหอพักพอจะเอามาสร้างห้องสมุดใหม่แทนอันเดิมได้ไหม ซึ่งก็ดูลงตัวมากในด้านการใช้งาน เลยสรุปงานทั้งหมดเป็นการรีโนเวตหอพักเณรเพื่อรองรับเณรจำนวนประมาณ 40 รูป ห้องอาบน้ำ รวมไปถึงอาคารห้องสมุด”
การออกแบบที่พักอาศัยให้เณรแตกต่างจากที่พักคนปกติยังไง ผมถามคำถามที่สงสัยที่สุดออกไป
“เราลงพื้นที่ตอนที่เณรอยู่กันเยอะๆ เพื่อไปสังเกตดูพฤติกรรมว่าเณรใช้ชีวิตกันยังไง เวลาพักชอบอยู่ในพื้นที่แบบไหน เณรก็เหมือนเด็กที่มีความซน ความเฮี้ยว เหมือนวัยรุ่นทั่วไป เขาชอบหลบไปอยู่ในพื้นที่ไกลๆ หรืออยู่ตรงที่พระผู้ใหญ่มองไม่เห็น
“แล้วก็คุยกับเจ้าอาวาสเรื่องข้อจำกัดของพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ อากาศที่อุดรธานีกลางวันร้อนมาก ตอนกลางคืนก็หนาวมาก ฝนก็ตกหนัก ปลวกเยอะจนไม่ควรจะใช้ไม้จริงในการก่อสร้าง ไปจนถึงเรื่องของจำนวนเณรที่พักอาศัยในห้องแต่ละห้องซึ่งไม่ควรจะเยอะเกินไปจนดูแลไม่ทั่วถึง
“หลังจากได้ข้อมูลก็เริ่มวางแปลนทำแบบคร่าวๆ เอาไปคุยกับเจ้าอาวาสแล้วเอากลับมาแก้ไข ก่อนเอาไปคุยกันอีกรอบ ทำโมเดลเล็กๆ ไปให้เณรลองปรับดูว่าอยากจะนอนแบบไหน ทำอยู่หลายเดือนกว่าจะได้ข้อสรุป บางทีคุณย่าหรือคุณพ่อก็ถามเหมือนกันว่าต้องจริงจังขนาดนี้เลยเหรอ” สถาปนิกหนุ่มหัวเราะ
จำวัดแทบไม่ได้ แต่เป็นวัดที่จำวัดได้ดี
ผลลัพธ์ของความจริงจังในการออกแบบ ได้หน้าตาอาคารออกมาเป็นยังไง
“วัดนี้เป็นเหมือนศูนย์กลางชุมชน เวลามีงานบุญบรรดาแขกเหรื่อที่มาจะกางเต็นท์นอนพักค้างคืนตรงลานกลางวัด ซึ่งอยู่หน้าโรงเรียน นี่คือจุดที่สำคัญที่สุดในการออกแบบโครงการนี้” โป้งเริ่มต้นอธิบายสิ่งที่เขาออกแบบมา
“สิ่งแรกที่เราคิดเกี่ยวกับอาคารหอพักเณรก็คือ ต้องทำให้เณรอยู่ในหอพักโดยไม่รู้สึกว่าถูกมองเห็นได้ชัดจากทุกคนตรงลานกลางวัด ไม่งั้นเณรก็จะไปอยู่กันแบบซ่อนๆ ที่อื่น เราเลยคิดว่าควรมีกำแพงที่เอาไว้บังสายตา จึงเป็นที่มาของการใช้บล็อกช่องลมทำเป็นแนวกำแพง
“การก่อก็บิดองศาของบล็อกเล็กน้อยเพื่อให้ช่วยพรางตา เราอยากให้แนวกำแพงนี้ดูสะอาดตาจึงใช้บล็อกช่องลมอย่างเดียวมาต่อเป็นกำแพง โดยไม่มีเสาและคานปูนมารบกวนสายตา เลยคิดหาเทคนิคที่จะทำให้กำแพงบล็อกนี้แข็งแรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง ก็คือเอาเสาเหล็กมาช่วยยึดแนวกำแพงให้แข็งแรงขึ้นทุกๆ 4 เมตร โดยซ่อนไปกับแนวบล็อกที่ก่อขึ้นอย่างแนบเนียน
“ด้านหลังของกำแพงบล็อกเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เณรใช้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างทำการบ้าน นั่งเล่น ส่วนด้านหลังของอาคารเป็นห้องพัก แบ่งแยกพื้นที่ออกจากกันชัดเจน ในส่วนของห้องพักก็มีโจทย์ใหญ่ถัดมา คือเราจะทำยังไงให้คนอยู่สบายด้วยงบที่จำกัด
“สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ที่สถาปัตยกรรมจะให้ได้คืออะไร แสงที่ดี ลมที่ดี พื้นที่ที่ดี ที่อยู่สบาย เพราะฉะนั้นพื้นที่ส่วนกลางและห้องพักต้องโปร่ง ลมไหลผ่านได้ดี มีแสงเข้ามาอย่างพอเหมาะ
“ตัวอาคารเดิมนี้เราเก็บเอาไว้แค่เสากับคาน เอาผนังออกเพื่อใส่หน้าต่างเข้ามาแทนทั้งสองฝั่ง ทุบเพดานเดิมออกแล้วทำหลังคาใหม่ที่สูงกว่าเดิม เปลี่ยนหลังคาเดิมออกบางส่วนและใส่หลังคาใสหรือสกายไลต์ลงไปแทน เพื่อให้มีแสงสว่างเข้าไปด้านในอาคารมากขึ้น
“พื้นที่ส่วนกลางก็ใช้หลังคาใสเยอะหน่อย ห้องนอนก็ใช้เป็นบางจุด ทำให้ไม่ต้องเปิดไฟตอนกลางวัน แม้จะมีแสงแดดเข้ามาแต่อากาศไม่ร้อน เพราะหลังคาที่สูงและทิศทางการพัดของลม รวมกับหน้าต่างที่มีทั้งสองฝั่งของอาคารทำให้มีลมพัดระบายความร้อนออกไปจากห้องได้ ตอนกลางคืนก็ไม่ต้องใช้แอร์ พอมีแสงสว่างอย่างพอเหมาะในอาคาร ก็มีส่วนช่วยควบคุมพฤติกรรมของเณรไปด้วย เหมือนพื้นที่และแสงไม่เอื้อให้เณรทำอะไรที่ไม่เหมาะสมในทางอ้อม”
โป้งเล่าเบื้องหลังให้ฟังอีกว่า ไม่ใช่แค่ออกแบบตามหลักการเท่านั้น แต่เขายังใช้เครื่องมือสำหรับวัดแสง มาใช้วัดในพื้นที่จริงด้วย จะได้คำนวณแสงที่พอเหมาะกับการอยู่อาศัยประกอบการตัดสินใจ ช่วงก่อสร้างจึงทดลองวางหลังคาใสหลายๆ รูปแบบ เพื่อให้ใช้อยู่อาศัยได้สบายจริงๆ
สรงน้ำคอมมูนิตี้สเปซ
เมื่อมีการอยู่อาศัยก็ต้องมีห้องน้ำ โป้งเลือกย้ายห้องน้ำและห้องอาบน้ำออกมาสร้างเป็นโรงเรือนอีกหลังอยู่ข้างหอพัก
“พระจากกุฏิอื่นๆ หรือเณรจากหอพักหลังอื่นๆ จะได้มาใช้งานร่วมกันได้ เป็นเหมือนที่พบปะของพระและเณรและการสร้างรวมกันไว้ที่เดียวก็ช่วยประหยัดงบมากกว่าด้วย
“ส่วนเรื่องการใช้งาน เราวางรูปแบบที่เรียบง่ายมาก คือแยกส่วนเปียกส่วนแห้ง ห้องส้วมอยู่ด้านหลัง วางห้องอาบน้ำไว้ตรงกลาง มีห้องอาบน้ำที่เป็นฝักบัวแยกเป็นห้องๆ อยู่ด้านข้างเพื่อให้พระผู้ใหญ่ได้ใช้งานสะดวกขึ้น ข้อมูลทั้งหมดได้มาจากตอนที่คุยกับทั้งพระและเณรในทีแรก
“ในอาคารห้องน้ำนี้ก็ใช้หลังคาสกายไลต์แบบเดียวกับหอพัก พื้นที่ส่วนที่อยู่ด้านในไม่ถูกแสงเราก็เปิดให้แสงเข้ามาเยอะหน่อย ส่วนที่อยู่ริมๆ มีแสงอยู่บ้างเราก็ใช้สกายไลต์น้อยกว่าเพื่อให้แสงลงมาเสมอกันทั้งหมด การทำให้มีแสงลงแบบนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงามนะครับ แต่เป็นเรื่องของความสะอาดของห้องน้ำด้วย”
สิ่งที่ผมชอบที่สุดของห้องน้ำนี้คือ ส่วนของลานตากผ้าที่ติดกับด้านหน้าของห้องอาบน้ำ เนื่องจากห้องน้ำอยู่ใกล้ถนนสาธารณะ สถาปนิกเลยเลือกใช้พื้นที่ส่วนนั้นเป็นที่ตากผ้า ผ้าที่แขวนจะทำหน้าที่เป็นม่านพรางตาให้เณรที่อาบน้ำอยู่ด้านใน เป็นการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องสร้างอะไรใหม่เลย
ส่วนสุดท้ายห้องสมุด โป้งใช้เทคนิคในการออกแบบที่ไม่น้อยหน้าอาคารส่วนอื่นๆ
“เราใช้เทคนิคการออกแบบที่ค่อนข้างจะพิเศษ ตอนแรกสุดอาคารห้องสมุดอยู่ติดกับหอพัก แต่เราอยากให้พระหรือเณรมาใช้งานได้สะดวกขึ้น เราจึงสร้างอาคารเล็กๆ โดยยกพื้นขึ้นมาให้เสมอและเชื่อมต่อกับตัวอาคารเรียน ถ้าพระหรือเณรเรียนอยู่ก็เดินจากอาคารเรียนเข้าไปได้เลย ผลพลอยได้ของการยกพื้นขึ้นมานี้ นอกจากจะเชื่อมพื้นที่เข้าด้วยกันแล้ว ยังป้องกันปลวกและระบายอากาศใต้อาคารด้วย
“ด้านในของห้องสมุด เราก็คิดถึงการให้แสงเข้ามาอย่างเหมาะสม มีแสงเพียงพอให้อ่านหนังสือได้สบายตา แต่ไม่โดนหนังสือตรงๆ จนทำให้หนังสือเสื่อมสภาพเร็ว พอตำแหน่งห้องสมุดเชื่อมกับตัวอาคารเรียนแล้ว จึงมีผนังของอาคารเรียนด้านหนึ่งที่ขนานทางลึกกับห้องสมุด ผนังนี้ทำหน้าที่สะท้อนแสงผ่านช่องเปิดเข้ามาในห้องสมุด แสงที่ได้จะเป็นแสงนวลตา แต่ก็สว่างมากพอและไม่โดนตัวหนังสือเลย ช่วยยืดอายุของหนังสือในห้องสมุดได้
“ชั้นหนังสือเป็นชั้นเหล็กฉากทั่วๆ ไปที่แข็งแรง ติดตั้งได้ง่าย ราคาถูก ประตูทางเข้าก็เป็นประตูบานหมุนขนาดใหญ่ 2 บาน เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างวิวป่าจากภายนอกกับพื้นที่ภายในห้องสมุด ที่นั่งก็ออกแบบไว้รองรับความหลากหลายในการใช้งาน พระผู้ใหญ่จะมานั่งคุยกันก็ได้ เณรจะนั่งอ่านหนังสือกับพื้นหรือกับโต๊ะก็ได้เหมือนกัน” โป้งอธิบายถึงเทคนิคที่คิดขึ้นมาได้ในการออกแบบห้องสมุด
อุปสรรคของการบูรณะ
หลังจากฟังวิธีและขั้นตอนในการออกแบบมาอย่างสนุกแล้ว ผมก็ถามถึงปัญหาหรืออุปสรรคในการบูรณะโครงการนี้บ้าง
“ไม่เชิงว่าเป็นอุปสรรคนะครับ ช่างที่ก่อสร้างก็เป็นช่างทั่วไป เราเลยต้องใช้วัสดุที่หาได้ทั่วไปในท้องตลาด เพราะผู้รับเหมาทำงานง่ายและมีราคาถูก อีกเรื่องหนึ่งคือ งบประมาณที่จำกัด ส่วนไหนของอาคารที่เราอยากให้ดูดีก็ใช้วัสดุแพงหน่อย ทำให้เราต้องไปลดทอนวัสดุของพื้นที่อื่นแทน เพื่อให้ยังอยู่ในงบ เป็นเทคนิคที่เราได้มาจากการทำงานจริงกับลูกค้า เอาวิธีคิดในการทำงานมาดัดแปลงกับงานแบบนี้ ก็สนุกดีครับ”
หลังจากก่อสร้างเสร็จและใช้งานจริงแล้ว ผมเลยสงสัยว่าเสียงตอบรับออกมาตามที่เราคิดหรือเปล่า
“เท่าที่ไปดูและคุยกับพระที่วัด ก็เหมือนว่าเวลาว่างบรรดาเณรจะมานั่งที่ห้องสมุดแห่งใหม่นี้ แทนที่จะไปนั่งไกลหูไกลตาที่อื่นแทน” เจ้าตัวตอบด้วยรอยยิ้ม
ได้อะไรจากการทำโปรเจกต์แบบนี้บ้าง ผมถามโป้งทิ้งท้าย
“หลักๆ เลย คือตอบคำถามที่เราสงสัยมาตลอดว่า สถาปัตยกรรมที่ดีต้องแพงใช่ไหม ถ้าถูกจะดีได้แค่ไหน เหมือนการรีโนเวตนี้อยู่ในเส้นทางที่เราค้นหา ก็ตอบคำถามในใจได้ระดับหนึ่ง ทำให้เราชื่นใจ มีกำลังใจอยากทำงานต่อไปเรื่อยๆ” โป้งทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
หอพักและห้องสมุดสามเณร วัดพุทธนิมิต
ที่อยู่ 250/9 วัดพุทธนิมิต ตำบลเมืองเพีย อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี 4815
ก่อสร้างเสร็จปี 2017
สถาปนิก : สการ จัยวัฒน์, รินะ ชินโด, วิธี วิสุทธิอัมพร
ภาพถ่าย : เชาวฤทธิ์ พูนผล
ติดต่อสถาปนิกได้ที่ [email protected]