พระอาทิตย์ยามบ่ายกำลังส่องแสงเจิดจ้า ใต้ร่มเงาของอาคารโรงงาน ‘บางกอกแสงไทย’ เรายืนอยู่กับทายาทรุ่นที่ 2 และ 3 ที่กำลังยิ้มแฉ่งให้กล้องอย่างสดใสไม่แพ้แสงอาทิตย์ เสียงชัตเตอร์ของช่างภาพกำลังทำงาน ท่ามกลางอิฐทนไฟนับร้อยที่ถูกเซตเป็นฉากประกอบ

อย่างที่คุณเดาออก บางกอกแสงไทย คือแบรนด์อิฐทนไฟที่อยู่คู่กับลูกค้าคนไทยและต่างชาติมานาน 49 ปี ก่อตั้งโดย อากงฉั่งสุน แซ่เบ๊ ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของทายาท 2 รุ่นที่ทำงานร่วมกัน ทั้ง คุณพ่ออยุทธ์ วิสิฐนรภัทร หุ้นส่วนผู้จัดการ คุณแม่ประภา วิสิฐนรภัทร ผู้จัดการทั่วไป รวมถึงทายาทรุ่นสาม พจนา วิสิฐนรภัทร ผู้จัดการฝ่ายผลิต และ นรฤทธิ์ วิสิฐนรภัทร ผู้ไม่ได้รับช่วงต่อโดยตรง แต่แตกไลน์ธุรกิจออกมาเป็น ‘loqa’ แบรนด์วัสดุตกแต่งสีสวยที่เขาก่อตั้งร่วมกับภรรยา มนัสลิล มนุญพร 

จากธุรกิจเก่าแก่ของอากง อิฐทนไฟของบางกอกแสงไทยผ่านร้อนผ่านหนาวและการเปลี่ยนแปลงนับครั้งไม่ถ้วน เคล็ดลับการทำธุรกิจมาได้อย่างยืนยาวและเป็นที่รักของลูกค้านั้นเป็นประเด็นที่เราสนใจอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราสนใจกว่านั้น คือการทำงานร่วมกันระหว่างคน 2 รุ่นและก้าวต่อไปของบางกอกแสงไทยและ loqa

พระอาทิตย์ยามบ่ายกำลังส่องแสงเจิดจ้า แต่เสียงชัตเตอร์หยุดลงแล้ว เราขอใช้โอกาสนี้พาคุณไปฟังคำตอบจากปากพวกเขาไปพร้อมกันเลย

ธุรกิจ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด บางกอกแสงไทย

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2518

ประเภท : ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุทนไฟ

ผู้ก่อตั้ง : ฉั่งสุน แซ่เบ๊

ทายาทรุ่นสอง : อยุทธ์ วิสิฐนรภัทร และ ประภา วิสิฐนรภัทร

ทายาทรุ่นสาม : พจนา วิสิฐนรภัทร และ นรฤทธิ์ วิสิฐนรภัทร

อิฐของอากง

ก่อนบางกอกแสงไทยจะทำอิฐทนไฟก้อนแรกขึ้นมา โรงงานที่เรายืนอยู่นี้เคยเป็นโรงงานผลิตนุ่นมาก่อน

อากงฉั่งสุนเคยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตนุ่นรายใหญ่ที่สุดในเมืองไทย เคยทำนุ่นขายทั้งในประเทศและส่งออกในยุคที่นุ่นเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ลูกค้าหลายคนเคยใช้นุ่นทำหมอนและฟูกนอน จนกระทั่งการมาถึงของสินค้าทดแทนอย่างฟองน้ำ ใยมะพร้าว และขนเป็ด ตลาดนุ่นจึงซบเซา โรงนุ่นบางกอกแสงไทยจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บางกอกแสงไทย’ และผลิตอิฐทนไฟนับแต่นั้น

จุดเริ่มต้นคืออากงฉั่งสุนไปเที่ยวไต้หวัน และได้เห็นธุรกิจอิฐทนไฟซึ่งกำลังได้รับความนิยมที่นั่น อากงจึงปิ๊งไอเดียทำของตัวเองบ้าง สมัยนั้นโรงงานผลิตอิฐทนไฟในไทยยังมีไม่มาก ในขณะที่โรงเหล็กซึ่งต้องใช้อิฐทนไฟมีหลายแห่ง อิฐทนไฟแบบ Runner Brick ถือเป็นวัสดุที่ตลาดต้องการ อากงฉั่งสุนจึงมองเห็นโอกาส

แม้ความรู้เรื่องนี้จะเป็นศูนย์ แต่อากงก็ตัดสินใจเรียนรู้ศาสตร์ของการทำอิฐทนไฟ และเปิดแบรนด์ของตัวเองในที่สุด 

“คุณพ่อของผมเป็นคนที่ชอบทำเรื่องยาก ทำอะไรต้องเป็น Number One ตลอด เขาเขียน A-Z ยังไม่เป็นเลย แต่พอเห็นว่ามันน่าทำก็มีความมุ่งมั่นจะทำ” คุณพ่ออยุทธ์ย้อนความให้ฟัง

อิฐของทายาท

บนประตูห้องทำงานของอากงฉั่งสุน เคียงข้างรูปวาดมังกรและลวดลายสไตล์จีน มีคำ 4 คำเขียนแปะไว้อยู่

เป็น 4 คำที่อากงฉั่งสุนเดินเข้าห้องแล้วจะมองเห็นทุกครั้ง เพื่อเตือนตัวเองในฐานะเจ้าของธุรกิจ

คำ 4 คำนั้น คือ มุ่งมั่น อดทน ขยัน และ ซื่อสัตย์

เป็น 4 คำนี้อีกเช่นกันที่คุณพ่ออยุทธ์และคุณแม่ประภาเห็นมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น และเป็นคติพจน์ประจำใจที่พวกเขายึดถือเมื่อได้มารับช่วงต่อธุรกิจ

พ.ศ. 2532 คือเลขปีที่ได้รับมารับช่วงต่อเต็มตัว และวิวัฒนาการของอิฐทนไฟก็ขยับเปลี่ยนแปลงจากรุ่นของอากงไปมากโข เพราะโรงเหล็กหลายแห่งปิดตัวลง มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเหล็กซึ่งไม่ได้ใช้อิฐทนไฟอีกแล้ว บางกอกแสงไทยจึงขยายตลาดมาสู่โรงซีเมนต์ โรงไฟฟ้า โรงบอยเลอร์ ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็พัฒนาไลน์สินค้าใหม่ ๆ อย่างคอนกรีตทนไฟและวัสดุทนไฟอื่น ๆ ออกมาขาย

ทายาทรุ่นสองยอมรับกับเราว่า โจทย์ยากที่ต้องเจอคือการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงและการอัปเดตความรู้ใหม่เสมอ

“สิ่งที่หนักใจในช่วงนั้นคือการพัฒนาความรู้ เราต้องหานักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องวัสดุทนไฟมาเป็นที่ปรึกษา มีการจ้างมาจากต่างประเทศ เพราะตอนนั้นในเมืองไทยไม่มีใครสอนศาสตร์นี้ ยูทูบก็ไม่มี ความรู้จะอยู่ต่างประเทศหมดเลย” คุณแม่ประภาเล่า จนถึงตอนนี้ที่มั่นใจว่ามีความรู้ติดตัวแล้ว คุณแม่ก็ออกปากว่าเส้นทางการพัฒนาไม่มีวันหยุด พวกเขายังต้องเรียนรู้ศาสตร์เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง 

เราถามว่า อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้บางกอกแสงไฟเป็นแบรนด์ที่อยู่กับตลาดวัสดุทนไฟมาได้อย่างยาวนาน คุณพ่อยิ้มแล้วตอบว่า ความขยัน ความอดทนในการแก้ปัญหา การคงคุณภาพสินค้าให้สม่ำเสมอ การรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้า และการดูแลลูกน้องให้สุขสบาย

“ส่วนมากเจ้าหน้าที่ที่อยู่กับเราจะทำงานกับเราจนเขาจากไปนะ เรามีบ้านพักให้พนักงาน บอกเขาว่ามีปัญหาอะไรก็มาขอความช่วยเหลือได้ง่าย ดูแลให้ทุกคนมีกินมีใช้ตลอดเหมือนเรากับเขาเป็นครอบครัวเดียวกัน นี่คือความผูกพันที่เรารักษาไว้ในองค์กร” 

และนี่แหละคือดีเอ็นเอของบางกอกแสงไทยที่ส่งต่อมาถึงรุ่นปัจจุบัน 

อิฐของทายาท (ภาคต่อ)

การวิ่งเล่นในโรงงานและบทสนทนาของพ่อแม่ที่มักพูดศัพท์ที่ลูก ๆ ไม่รู้ความ คือความทรงจำที่ติดตัวนรฤทธิ์และพจนามาตั้งแต่เด็ก

“ในสายตาผม คุณพ่อกับคุณแม่เป็นคนทำงานหนัก สม่ำเสมอและจริงจัง แม้กระทั่งในวันหยุดหรือตอนขับรถ พวกเขาจะพูดเรื่องวัตถุดิบ ความร้อน ลูกค้า และกระบวนการทำงานอย่างละเอียดอ่อนและแม่นยำ ตอนเด็ก ๆ ผมไม่เข้าใจหรอก แต่มันติดอยู่ในหัว” นรฤทธิ์เผย

แม้จะไม่เข้าใจ แต่สองพี่น้องก็รู้ตัวว่าวันหนึ่งจะต้องมารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว ถึงอย่างนั้น พ่อแม่ของพวกเขาก็ใจดีพอที่จะไม่บังคับกะเกณฑ์ หลังจากเรียนจบนรฤทธิ์และพจนาจึงออกไปทำงานกับบริษัทอื่น ๆ เพื่อเก็บประสบการณ์อยู่ช่วงใหญ่ 

“นาทำงานกับที่อื่นได้ราว 7 ปี จุดเปลี่ยนคือเราเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่อายุเยอะแล้ว จึงอยากกลับมาช่วยงานพวกเขา” เหตุผลเรียบง่ายเพียงเท่านั้น แล้วหญิงสาวก็กลับมาดูแลธุรกิจวัสดุทนไฟ แม้ในช่วงแรกจะติดขัดไปบ้างเพราะเธอไม่ได้เรียนจบด้านวัสดุศาสตร์ แต่ด้วยการสอนของพ่อแม่และพี่ ๆ ที่โรงงาน รวมทั้งการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ และการหาความรู้ด้วยตัวเอง ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองทำงานที่นี่ได้อย่างลื่นไหล

หน้าตาธุรกิจของบางกอกแสงไทยภายใต้การบริหารของรุ่นที่ 3 ยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือพวกเขาเป็น One Stop Service มากขึ้น พูดง่าย ๆ คือนอกจากจะผลิตวัสดุทนไฟแล้ว บางกอกแสงไทยยังมีบริการออกแบบ ติดตั้ง และดูแลหลังการขาย เพื่อประสบการณ์ของลูกค้าที่ดีขึ้นกว่าเดิม

คุณค่าในการทำธุรกิจ 4 คำของอากงฉั่งสุนยังถูกยึดไว้เป็นหลัก เพียงแต่ในรุ่นนี้ นรฤทธิ์บอกว่ามีคำที่ 5 ที่เพิ่มขึ้นมาคือ ‘ความคิดสร้างสรรค์’

“ในยุคนี้ ผมขอเพิ่มคำว่าความคิดสร้างสรรค์ ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ เพราะเราปล่อยให้ตัวเองได้ลองผิดลองถูกมากขึ้น ไม่มีกรอบกำหนดไว้เพื่อที่จะให้ตัวเองได้ลองสิ่งใหม่ ๆ” ทายาทหนุ่มบอก

อิฐของนักออกแบบ

สิ่งใหม่ ๆ ที่นรฤทธิ์พูดถึง คือแบรนด์วัสดุก่อสร้างและของแต่งบ้านสีสันสดใสชื่อ ‘loqa’

ในขณะที่ฝั่งพจนารับช่วงต่อธุรกิจเดิม นรฤทธิ์เลือกสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาโดยใช้ทีมงานและโรงงานของบางกอกแสงไทยในการผลิต 

ก่อนหน้านี้นรฤทธิ์ทำงานในแวดวงการลงทุนอยู่ช่วงใหญ่ และมีธุรกิจร้านดอกไม้อายุ 10 ปีชื่อ Plant House ที่ทำร่วมกับ มนัสลิล ผู้เป็นภรรยา กระทั่งโควิดมาถึง หน้าร้านดอกไม้ปิดลงชั่วคราว เขาจึงได้มีเวลาครุ่นคิดถึงโอกาสใหม่ ๆ 

“ผมกลับมาดูธุรกิจที่บ้าน ไปดูห้องแล็บ ไปโรงงาน มีครั้งหนึ่งไปเจออิฐทนไฟที่ตกสเป็ก แต่รู้สึกว่าสีสวยดี นั่นคือตอนที่ได้ไอเดียของ loqa”

ประกอบกับในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายคนได้รับการสื่อสารเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและความยั่งยืนมากขึ้น นรฤทธิ์ก็เป็นอีกคนที่มองเห็นว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญ เขากับภรรยาค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้กรีนมากขึ้น ความมุ่งมั่นที่จะทำแบรนด์อิฐตกแต่งที่รักษ์โลกจึงยิ่งเข้มข้น

“ผมเห็นว่าที่โรงงานมีทรัพยากร เครื่องไม้เครื่องมือ และมีทีมงานที่เข้าใจเรื่องอิฐอยู่แล้ว จึงคิดว่าเราหาวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นสินค้าใหม่ได้ไหม ความชอบส่วนตัวและธุรกิจครอบครัวจะรวมกันได้หรือเปล่า” เขาตั้งคำถาม

“ตอนแรกที่เล่าให้พ่อแม่ฟัง เขาก็ยังงง ๆ เพราะในยุคของเขาไม่มีใครมองวัสดุเหลือใช้ว่านำมาทำเป็นสิ่งของตกแต่งที่สวยงามได้ เขามองภาพไม่ออก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติมากสำหรับทายาททุกคนที่มีไอเดียใหม่จะต้องเจอ”

สิ่งที่นรฤทธิ์ต้องการเป็นแค่เวทีในการโชว์สิ่งที่อยากทำให้พ่อแม่เห็น เขาใช้ห้องแล็บของบางกอกแสงไทยในการทดลอง พัฒนาสินค้า และปรึกษานักวิจัย จนสุดท้ายอิฐตกแต่งชิ้นแรกของ loqa ก็เกิดขึ้นจากการผสมผสานของเซรามิกเหลือใช้ เศษแก้ว เถ้าจากการเผาไหม้ และดิน

สินค้าของ loqa เน้นผลิตแบบ Small Batch และ Made to Order โดยแบ่งเป็นวัสดุปิดผิวและอิฐก้อน เพื่อตอบโจทย์นักออกแบบ สถาปนิก เจ้าของร้านค้า เจ้าของบ้าน และใครก็ตามที่ต้องการอิฐที่มีสีสนุก หลากหลาย และดีไซน์สวย 

“เทรนด์ของตึกในยุคหลังเน้นสีโมโนโทน ขาว เทา ดำ แต่ดีไซเนอร์จำนวนหนึ่งก็อยากได้สีสันมากกว่านั้น ผมอยากให้ตึกและสถาปัตยกรรมในไทยมีตัวเลือกมากขึ้น อยากให้นักออกแบบเห็นว่างานออกแบบก็สนุก มีสีสัน มีเอกลักษณ์ และเล่าเรื่องราวผ่านอิฐได้”

‘เลโก้สำหรับสถาปนิก’ ความฝันของชายหนุ่มกับภรรยากำหนดไว้อย่างนั้น แน่นอนว่าหลังจากเปิดมาได้กว่า 1 ปี พวกเขาทำให้พ่อ แม่ พี่สาว เห็นว่าธุรกิจอิฐตกแต่งนี้ขายได้ มีตลาดรองรับ ไม่เพียงเท่านั้น ในมุมของการรักษ์โลก อิฐของ loqa ยังช่วยลดเซรามิกเหลือใช้ไปได้กว่า 100,000 กิโลกรัม ถ้าเทียบกับรถบรรทุกที่มีความจุเป็นตัน ก็คงจอดต่อกันได้ 10 คันเป็นอย่างต่ำ

ในอนาคต loqa ยังมีโปรเจกต์สนุก ๆ ที่นรฤทธิ์และภรรยาอยากทำสินค้าไลฟ์สไตล์ เพื่อตอบโจทย์คนรักงานดีไซน์และเพิ่มสีสันให้กับบ้านอีกด้วย แต่จะเป็นอะไรนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป

อิฐของครอบครัว

เช่นเดียวกับธุรกิจครอบครัวหลายแห่ง โจทย์ยากในการรับช่วงต่อที่บ้านวิสิฐนรภัทรต้องเจอ คือมุมมองที่แตกต่างระหว่างคน 2 วัย

“ผู้บริหารรุ่นหนึ่งมีประสบการณ์ของเขา มีวิธีการจัดการปัญหาในรูปแบบหนึ่ง มุมมองของเราอาจจะเป็นมองกันคนละมุม การปรับตัวและการสื่อสารกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ” พจนาบอก

“แน่นอนว่าต้องมีเรื่องที่เราเห็นไม่ตรงกัน โจทย์คือเราจะประนีประนอมกันยังไง” นรฤทธิ์สมทบ “ผมมองว่าผู้บริหารทุกรุ่นมีความตั้งใจที่ดีเหมือนกัน แต่วิธีการของเราอาจจะแตกต่างกัน ต้องเตือนตัวเองเสมอว่าเรากำลังยืนอยู่บนเรือลำเดียวกันอยู่”

เคล็ดลับในการประนีประนอมที่พวกเขาใช้ คือการแปลงผลทุกอย่างออกมาเป็นตัวเลขและสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา 

“บางทีเราคิดว่าเราทำแบบนี้ได้ แต่ผู้ใหญ่อาจมองว่าทำไม่ได้ หากเราคุยกันโดยไม่มีการวัดผล เราก็จะคุยกันไม่จบ เราเลยปรับเข้าหากันด้วยการวัดผลทุกอย่างเป็นตัวเลขให้เข้าใจง่าย และยังตัดเรื่องอารมณ์และความรู้สึกออกไปได้เหมือนกัน เช่น เรื่องประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน เรามองเห็นว่ามีทรัพยากรเหลือและพนักงานยังว่างงานอยู่ จึงคำนวณเวลาทำงานของพนักงานออกมาแล้วไปชี้แจงกับผู้ใหญ่และหัวหน้างานให้เขาเห็นภาพ”

คุณพ่ออยุทธ์ยิ้ม แล้วเสริมต่อว่า “ผมว่าบางครั้งเราก็ประเมินเด็กรุ่นใหม่ต่ำไป หลายครั้งเขาก็ทำให้เรารู้ว่าวิธีการทำงานมีหลายรูปแบบ เขาทำให้เราเห็นว่าเขาเก่ง เขาทำได้ เราต้องยอมรับเขา ในการธุรกิจอาจมีเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน แต่สุดท้ายเราก็เป็นครอบครัวเดียวกัน”

“แม่ภูมิใจนะที่ลูก ๆ ตั้งใจกลับมาดูแลธุรกิจเดิมของเราและขยับขยายธุรกิจใหม่ขึ้นมา” คุณแม่ประภากล่าวเสริม ดวงตาเปี่ยมยิ้ม “ดีใจที่พวกเขาทำได้ดี มีความสุขกับการทำงาน และดีใจที่ให้โอกาสพวกเขาได้ทดลองค่ะ”

ส่วนฝั่งลูก ๆ เมื่อเราถามว่าการทำธุรกิจบางกอกแสงไทยและ loqa สอนอะไรพวกเขาบ้าง นรฤทธิ์ขอยกมือตอบเป็นคนแรกว่า

“การได้มารับช่วงต่อและทำธุรกิจ loqa ทำให้ผมเห็นว่าสิ่งที่เราทำสร้างอิมแพกต์กับคนอื่น ๆ ได้มากมาย จากที่เรากับแฟนมีไลฟ์สไตล์ที่ตั้งใจว่าจะช่วยโลกแค่ 2 คน แต่พอทำธุรกิจนี้ เราลดของเหลือใช้ได้ 100 ตันในระยะเวลาปีกว่า ผมดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลกระทบเชิงบวกกับสิ่งแวดล้อม”

ประโยคสุดท้ายในวงสนทนาเป็นของพี่สาว 

“สำหรับนา ตอนเข้ามาใหม่ ๆ เราไม่ได้มีความพิศวาสธุรกิจอิฐทนไฟเลย ตอนแรกมีความขัดแย้งในตัวเองเยอะเหมือนกันว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่พออยู่ไปสักพัก เราก็เรียนรู้ที่จะต้องอยู่กับมัน ได้เรียนรู้ว่าเราต้องรักในสิ่งที่ทำให้ได้ สมมติว่างานที่เราทำไม่ได้เป็นสิ่งที่เรารัก แต่เราก็เรียนรู้ที่จะรักมันให้ได้มากที่สุด”

คำแนะนำจากทายาทที่จะรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว
จากทายาทบางกอกแสงไทย

“อย่าไปคิดว่าธุรกิจที่บ้านไม่มีเสน่ห์หรือน่าสนใจ ผมเชื่อว่าหากธุรกิจหนึ่งอยู่ได้มาเกิน 20 – 30 ปี ธุรกิจนี้มีคุณค่าอยู่ในนั้น ถ้าเราผสานสิ่งที่ชอบกับทรัพยากรที่เรามี หาจุดกึ่งกลางและมองหามุมที่เข้ากันได้ เราก็จะทำได้” นรฤทธิ์บอก

“สิ่งที่ควรเราทำทุกวันคือการปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น สุดท้ายมันจะส่งผลกับคุณภาพของสินค้า” พจนาสมทบ ก่อนที่จะนรฤทธิ์จะเสริมต่อ

“ความคิดเห็นที่ต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา ผมก็อาจจะเห็นไม่ตรงกับลูกของผมเหมือนกัน แต่ลองเปิดกว้าง ให้อิสระกับเขาในการทำงาน ยอมให้เขาเจ็บน้อยดีกว่าเจ็บนาน”

Facebook : loqa

Writer

พัฒนา ค้าขาย

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนชาวเชียงใหม่ผู้รักทะเลและหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์