25 มิถุนายน 2020
34 K

ทันทีที่ประตูลิฟต์เปิดออก เสียงเด็กๆ หัวเราะเล่นกันอย่างสนุกสนานดังแว่วมา และเมื่อเดินไปตามทางเดินที่ประดับประดาไปด้วยชิ้นงานศิลปะทรงคุณค่า เราก็พบเด็กน้อยสองคนยืนยิ้มร่าต้อนรับอยู่อย่างอารมณ์ดี ที่นี่คือทำเนียบเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร

Pride Month ประจำปีนี้ The Cloud ได้รับเกียรตินั่งลงพูดคุยกับท่านทูต ไบรอัน เดวิดสัน (Brian Davidson) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร​ประจำประเทศไทย และ สก็อตต์ ชาง (Scott Chang) สามีชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ถึงเรื่องราวแสนเรียบง่ายของชายสองคน ที่ตกหลุมรัก แต่งงาน และร่วมกันก่อร่างสร้างครอบครัว รวมถึงบทบาทการเป็นคุณพ่อของลูกๆ 3 คน ที่ถูกเลี้ยงดูขึ้นมาท่ามกลางวัฒนธรรมไทย 

ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง

ท่านทูตไบรอันและคุณสก็อตต์เข้าพิธีแต่งงานและจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ณ สถานกงสุลใหญ่แห่งเมืองเซี่ยงไฮ้​ ประเทศจีน เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก่อนที่ทั้งคู่จะตัดสินใจมีลูกผ่านการอุ้มบุญ และย้ายมาทำงานที่ประเทศไทย คุณสก็อตต์ทำงานภาคประชาสังคมอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด โดยตอนนี้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม หรือ FREC Bangkok 

ในโลกที่ความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศกำลังเบ่งบาน แม้ครอบครัวเล็กๆ ที่อบอุ่นครอบครัวนี้จะไม่ใช่ครอบครัวของคู่รักเกย์คู่แรกที่ตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ด้วยบทบาทในการทำงานของทั้งคู่ ทำให้ชีวิตครอบครัวของท่านทูตไบรอันและคุณสก็อตต์ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วไป

ตลอดเวลา 4 ปีในฐานะเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ท่านทูตไบรอันสนับสนุนและตั้งใจหยิบยกประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ที่สะท้อนถึงสิทธิและความเท่าเทียมของผู้คน ควบคู่ไปกับงานทางการทูตด้านอื่นๆ อยู่เสมอ และครอบครัวของท่านเองก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชน LGBTQI​ ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง

และนี่คือบทสนทนาเรื่องแนวคิด LGBTQI ชีวิตคู่และครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน ท่ามกลางเสียงหัวเราะครื้นเครงของลูกๆ วัยกำลังซน ที่วิ่งเล่นอย่างมีความสุขไปทั่วทำเนียบแห่งนี้

ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง

ชีวิตวัยเด็กของคุณที่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเป็นอย่างไร

คุณสก็อตต์ : ตั้งแต่เด็ก ผมใช้ชีวิตในหลากหลากพื้นที่ วันก่อนผมยังนั่งคิดเล่นๆ อยู่เลยว่า ผมไม่เคยอยู่ที่ไหนในโลกเกินหกปีเลย (ยิ้ม) ผมเกิดที่ประเทศไต้หวัน จากนั้นย้ายมายังประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐแคนซัส ตอนกลางของทวีปอเมริกาเหนือ พอโตขึ้นมาหน่อยก็ย้ายมาที่รัฐแคลิฟอร์เนีย 

ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่เบิร์กลีย์ หลังเรียนจบผมเข้าทำงานที่องค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGO) แห่งหนึ่งที่เมืองซานฟรานซิสโก เราทำงานกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ร่วมกับหน่วยงานใหญ่ๆ ตอนนั้นไอเดียเรื่อง CSR ยังเป็นสิ่งที่ใหม่มาก และผมเห็นด้วยว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งมีเงินทุนและอำนาจ ที่จะต้องสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคม ตอนนั้นงานของผมโฟกัสไปที่ประเด็นสิทธิแรงงานที่สื่อเรียกกันว่าโรงงานนรก (Sweatshops) ซึ่งแรงงานถูกขูดรีดเอาเปรียบ ทำงานหามรุ่งหามค่ำแต่ได้ค่าแรงต่ำเตี้ย

แทนที่จะประท้วงการกระทำของเหล่าโรงงานนรก เราเข้าไปทำงานกับบริษัทและแบรนด์ใหญ่ๆ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างโรงงานเหล่านั้นในการผลิตอีกที โดยเรียกร้องให้พวกเขาสร้างข้อกำหนดในการว่าจ้างผลิต เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่แรงงานที่ทำงานในโรงงาน

ตอนนั้นตอนใต้ของจีนคือแหล่งผลิตแห่งใหญ่ของโลก องค์กรของผมได้รับเงินทุนในการไปสร้างศูนย์ทำงานที่เมืองกวางโจว ปรากฏว่าในบุคลากรกว่าห้าสิบคน ผมเป็นคนเดียวที่พูดภาษาจีนกลางได้บ้าง ผมจึงอาสาเดินทางไปทำงานที่ประเทศจีน เรียกได้ว่าเป็นคนบุกเบิกเลย ตอนแรกคิดว่าจะอยู่ประมาณหกสัปดาห์ ทำไปทำมา ผมทำงานเรื่องสิทธิแรงงานที่นั่นอยู่ถึงสิบสองปี จากนั้นย้ายไปทำงานที่กรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ 

และนั่นคือตอนที่ผมได้พบไบรอัน

ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง

ท่านทูตไบรอัน : ชีวิตวัยเด็กของผมแตกต่างจากสก็อตต์อย่างสิ้นเชิงเลยครับ ผมโตมาทางตอนเหนือของไอร์แลนด์ เป็นเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรอยู่แค่หมื่นกว่าคน ที่นั่นมีความอนุรักษ์นิยมมาก ผมอยู่บ้านหลังเดิม เรียนโรงเรียนเดิมจนอายุสิบแปดปี ทุกวันนี้ผมยังสนิทกับเพื่อนสมัยประถมอยู่เลย (หัวเราะ)

ผมทำงานกับกระทรวงต่างประเทศทันทีที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และจากนั้นผมก็ไม่เคยหยุดเดินทางอีกเลย แม้จะเรียนจบมาด้านกฎหมาย แต่ผมสนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผมได้รู้จักนักการทูตหลายๆ คนที่เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ ได้ศึกษาความสัมพันธ์ทางการทูตรูปแบบต่างๆ ผมคิดว่ามันน่าสนใจมาก เลยตัดสินใจทำงานนี้

ในฐานะนักการทูต ที่ผ่านมา ผมทำงานในทวีปเอเชียเป็นส่วนใหญ่ ผมถูกส่งไปทำงานที่ประเทศจีนหลายครั้ง จากนั้นได้ไปทำงานที่ประเทศออสเตรเลียและลิทัวเนีย ก่อนจะกลับมาเป็นกงสุลประจำนครกวางโจวในปี 2006 เอาจริงๆ ระยะเวลาที่ผมทำงานในจีนนั้น ยาวนานกว่าระยะเวลาที่ผมทำงานในประเทศบ้านเกิดผมเสียอีก 

ที่จีนผมได้พบสก็อตต์ เราเดตกันอยู่หลายปี จากนั้นจึงแต่งงานกัน และช่วงที่เราตัดสินใจจะมีลูกคนแรกกันนั้น ผมก็ได้รับการเสนอให้มาเป็นเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย 

ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง

ในช่วงที่เติบโตขึ้นมา สังคมรอบตัวคุณมีการพูดถึงความหลากหลายทางเพศอย่างกว้างขวางหรือยัง

คุณสก็อตต์: สหรัฐอเมริกาช่วงปลายยุค 80 ถึงต้นยุค 90 นั้นเริ่มเปิดกว้างและหลากหลาย ผมเติบโตมากับการเห็นฮิปปี้ (Hippie) นักกิจกรรม (Activist) รวมถึงกลุ่มผู้ชุมชนประท้วง (Protestor) ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้าน ถกเถียงและต่อสู้เพื่อประเด็นต่างๆ มานานแล้ว เพื่อนผมคนหนึ่งเคยพยายามขังตัวเองใส่กรง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้สัตว์ที่โดนทรมานด้วยฝีมือมนุษย์ และ LGBTQI ก็เป็นหนึ่งในประเด็นเหล่านั้น 

ที่เมืองซานฟรานซิสโก โดยเฉพาะบริเวณ Bay Area เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและมีความหลากหลายทางเพศมากหากเทียบกับที่อื่นๆ LGBTQI ที่นี่ใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยและไม่ใช่เรื่อง Big Deal เลย

แต่ก็ไม่ใช่ทุกที่นะครับที่จะเปิดกว้างแบบนี้ อย่างเมืองเล็กๆ ที่ผมเติบโตมาในวัยเด็ก แม้จะอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียเหมือนกัน แต่ที่นั่นมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมกว่ามาก การย้ายมาที่ซานฟรานซิสโกสร้างสีสันให้ชีวิตและทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรมากมาย ไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่เป็นเรื่องการใช้ชีวิตด้วย

ท่านทูตไบรอัน : สมัยที่ผมยังเด็ก ทั้งตอนเหนือและใต้ของไอร์แลนด์ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ทุกวันนี้อะไรๆ เปลี่ยนไปเยอะ ทางใต้มีแนวคิดความเป็นเสรีนิยมขึ้นมาก ในขณะที่ทางเหนือยังมีประเด็นทางสังคมอีกหลายๆ ประเด็น ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ไม่ใช่แค่ LGBTQI แต่ยังมีประเด็นศาสนาไปจนถึงการทำแท้ง ที่ไม่ใช่ประเด็นร้อนในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของสหราชอาณาจักรมานานพอสมควรแล้ว

ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง

คุณพบรักกันที่ประเทศจีน พวกคุณถือเป็นคู่รักเกย์คู่แรกๆ ในแวดวงการทำงานนี้ที่แต่งงานกันหรือเปล่า

ท่านทูตไบรอัน : ถ้าเป็นในวงการนักการทูต เราก็ถือเป็นคู่รักเกย์คู่แรกๆ เลยครับที่แต่งงานกันถูกต้องตามกฎหมายอังกฤษ โดยเราเข้าพิธีสมรสกันที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตอังกฤษในกรุงปักกิ่งตอนปี 2014 ทุกวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแล้วครับ ทั่วโลกมีนักการทูตมากมายที่เป็น LGBTQI 

คุณสก็อตต์ : เราเจอกันครั้งแรกตั้งแต่ปี 2005 คบหาดูใจกัน โดยตั้งใจรอจนกว่าการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย 

ท่านทูตไบรอัน : การสมรสของคนเพศเดียวกันผ่านร่างกฎหมายประมาณปลายปี 2013 แต่เราต้องรออีกหกเดือนจึงจะเข้าพิธีสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายในสถานทูตอังกฤษ ณ ประเทศต่างๆ ภายใต้การได้รับอนุญาตจากรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ

ตอนที่คุณเข้าพิธีแต่งงานกัน ประเด็น LGBTQI ในประเทศจีนน่าจะยังไม่ถูกพูดถึงในวงกว้างนัก ตอนนั้นปฏิกิริยาของสังคมโดยรอบเป็นอย่างไร

ท่านทูตไบรอัน : ตอนนั้นเราเชิญเพื่อนๆ ชาวจีนกลุ่มใหญ่มาร่วมพิธีแต่งงานของพวกเราด้วย เราไม่อยากปิดบังเหมือนต้องการเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ เพราะภายใต้บริบทของสหราชอาณาจักร สิ่งที่เราทำนั้นไม่ใช่เรื่องผิดแปลก เราก็แค่คู่รักที่พร้อมเริ่มต้นชีวิตด้วยกันคู่หนึ่ง 

ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง

และคิดว่าเพื่อนชาวจีนกลุ่มนี้แหละที่จะนำเรื่องราวของเราออกไปบอกชาว LGBTQI ว่า ตอนนี้โลกกำลังค่อยๆ เปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนมีชีวิตอย่างที่ต้องการ แต่งงานได้อย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใดก็ตาม หลังพิธีแต่งงาน พวกเขาก็มาบอกว่า เราควรเขียนเรื่องงานวันนี้ลงโซเชียลเน็ตเวิร์กนะ ผมเลยโพสต์รูปงานแต่งงานของผมและสก็อตต์ลงบน Weibo หนึ่งรูปว่า ผมภูมิใจในกฎหมายสหราชอาณาจักรที่ให้ความเคารพต่อทุกคน 

ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง

ปรากฏว่ารูปรูปนั้นถูกแชร์ออกไปเป็นสิบล้านครั้ง คอมเมนต์มากกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของชาวจีนต่างให้การสนับสนุนและเป็นไปในทางบวก 

หลังแต่งงานไม่นาน คุณไบรอันก็มารับตำแหน่งที่ประเทศไทย เรียกได้ว่าฉีกทุกภาพจำของเอกอัครราชทูตเลยไหม

ท่านทูตไบรอัน : คงเป็นการท้าทายภาพจำแบบเดิมในหลายๆ มิติ การเป็นเกย์อย่างเปิดเผย แต่งงานและมีลูก ผมมองว่านี่คือเรื่องปกติ นี่คือครอบครัวที่ผมกับสามีกำลังร่วมกันสร้างขึ้น มากไปกว่าแค่ว่ามุมมองต่อเอกอัครราชทูตควรเป็นอย่างไร จะต้องรวมไปถึงว่าครอบครัวของทูตคนนั้นเป็นอย่างไรด้วย เพราะนี่เป็นการสะท้อนแนวคิดของสหราชอาณาจักร ในเรื่องการเปิดโอกาสอย่างเสรี ค่านิยม และทัศนคติ ที่เป็นอิสระของผู้คน

ก่อนหน้าที่คุณสองคนจะได้มาพบและรักกัน คุณเคยคิดถึงการได้แต่งงานกับใครสักคนไหม

ท่านทูตไบรอัน : เราโชคดีที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ย้อนกลับไปแค่ไม่กี่สิบปีที่แล้ว การใช้ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกันนั้นเป็นเรื่องยากมาก การแต่งงานเป็นคู่สมรสหรือแม้แต่มีลูกกันนั้นไม่ต้องแม้แต่จะฝันถึง

คุณสก็อต : สมัยยังวัยรุ่น ตอนที่ผมตระหนักว่าตัวเองเป็นเกย์ ไอเดียของการได้แต่งงานมีครอบครัว สำหรับผมตอนนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณเป็นคู่รักต่างเพศ (Heterosexual Relationship) แน่นอนว่าพอถึงจุดหนึ่งคุณจะพูดเรื่องแต่งงาน มีลูกขึ้นมา แต่สำหรับคู่รักเพศเดียวกัน (Homosexual Relationship) ย้อนกลับไปตอนนั้น เราไม่มีทางเลือก ไม่มีอะไรให้คิดไปถึงได้เลย

จนต่อมามีกฎหมายคู่ชีวิต (Civil Partnership) ออกมาสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน สิ่งนี้เหมือนจะดี แต่การเป็นคู่ชีวิต ก็ยังไม่เหมือนการเป็นคู่สมรสที่แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่ดี 

พิธีแต่งงานมีความหมายในเชิงจิตใจอย่างมาก เพราะการที่คุณได้นำสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนพ้องมาพร้อมหน้ากัน เพื่อบอกพวกเขาว่า ชายคนนี้ตรงหน้าพวกคุณคือคนสำคัญที่ฉันรัก โปรดอวยพรให้ความรักของพวกเรา คือสิ่งที่ทำให้พิธีแต่งงานนั้นทรงพลังและน่าอิ่มเอมใจ

เมื่อเวลาผ่านไป ความเท่าเทียมทางเพศก็เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นๆ จนถึงวันนี้ 

ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง
ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง

การเป็นคู่รักเพศเดียวกันที่สนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่ม LGBTQI ในประเทศไทย เป็นหนึ่งในภารกิจทางการทูตของคุณหรือเปล่า

ท่านทูตไบรอัน : ภาพจำของคนไทยส่วนใหญ่หรือแม้แต่คนทั่วโลกต่อสหราชอาณาจักร มักเป็นภาพดั้งเดิม ราชวงศ์เก่าแก่ วัฒนธรรมแบบอังกฤษ ไปจนถึงธรรมเนียมปฏิบัติอันเข้มงวด แต่นอกเหนือจากภาพจำเหล่านั้น ความจริงก็คือ เราเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมทันสมัย เราโอบรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และพยายามผลักดันเรื่องความเท่าเทียม อย่างการยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนแนวคิดของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในเรื่องนี้ 

และแน่นอนครับว่าผมอยากทำงานเพื่อสนับสนุนชุมชน LGBTQI ในประเทศไทย เพราะภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตนั้นครอบคลุมหลากหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจและสังคม และงานภาคประชาสังคม รวมถึง LGBTQI ก็เป็นหนึ่งในนั้น เราต้องการสนับสนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ LGBTQI ในสังคมได้รับสิทธิต่างๆ อย่างเท่าเทียม 

เรายินดีทำงานกับหน่วยงานในประเทศไทยเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ กว่าที่สหราชอาณาจักรจะมาถึงทุกวันนี้ เราพัฒนากฎหมายคู่สมรสของคนเพศเดียวกันอย่างไร และตอนนี้เรากำลังปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเพศสภาพ เพื่อให้ครอบคลุมถึงประเด็น LGBTQI อื่นๆ อย่างคนข้ามเพศ (Transgender) จุดยืนของเราคือการสนับสนุนผู้ที่กำลังผลักดันวาระนี้ 

มันคือสิทธิตามกฎหมายที่ควรได้รับ อย่างการเป็นคู่สมรส ในฐานะคนที่แต่งงานกันไม่ว่าจะต่างเพศหรือเพศเดียวกันก็ตาม เช่น สิทธิในการตัดสินใจแทนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเมื่ออยู่ในคราววิกฤต เป็นต้น นี่คือกระบวนการทำให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมที่ควรได้รับการสนับสนุน 

ซึ่งจริงๆ ในประเด็นเรื่องความหลากหลาย ประเทศไทยมีความล้ำหน้ากว่าหลายๆ ประเทศทั่วโลก เราก็เรียนรู้อะไรมากมายจากชุมชน LGBTQI ที่นี่เช่นกัน มันคือการแบ่งปันวัฒนธรรม องค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี ซึ่งเป็นภารกิจทางการทูตอยู่แล้ว

จริงๆ ผมกับสก็อตต์ตั้งใจใช้ชีวิตครอบครัวอย่างเรียบง่ายที่สุด แต่การที่ผมออกมาบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัว การเดินทางของครอบครัวเรามาจนถึงทุกวันนี้ ก็เพื่อให้ผู้คนตระหนักว่านี่คือเรื่องธรรมดา และนี่คือหนทางข้างหน้า

มองให้แคบลงจากนโยบายระดับประเทศ ในระดับองค์กรหรือบุคคล คุณคิดว่า คนคนหนึ่งจะสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างไรบ้าง

ความหลากหลายและความเท่าเทียมจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าขาดการยอมรับอย่างเต็มใจและเข้าใจ มนุษย์ทุกคนแตกต่างกัน ศาสนา วัฒนธรรม พื้นเพความเป็นมา ไปจนถึงเพศวิถี ทุกคนล้วนมีทักษะเฉพาะด้านของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือ LGBTQI 

ถ้าเรามองว่าความแตกต่างด้านไหนที่จะส่งเสริมความแตกต่างอีกด้านของอีกคนได้ ให้ทุกคนดึงศักยภาพที่ตัวเองมี นำความแตกต่างที่แต่ละคนมี มาสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ เราน่าจะสร้างองค์กรที่มีประสิทธิภาพ ทุกคนมีความคิดเห็นที่หลากหลาย จากมุมมองที่แตกต่างกันและทุกคนจะมีความสุขมากขึ้น ทุกองค์กรควรตรวจสอบการบริหารงานเชิงทรัพยากรบุคคลของตัวเองว่า ได้ลดศักยภาพใครบางคนในองค์กรด้วยการขีดกั้นเขาออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจหรือเปล่า 

ในองค์กร ทุกคนควรได้รับสิทธิทุกอย่างๆ เท่าเทียมกัน อย่างผมเองแม้จะเป็นลูกจากการอุ้มบุญ แต่เมื่อเขาลืมตาดูโลกผมก็ต้องดูแลอย่างเต็มที่ในฐานะพ่อ ป้อนนม เปลี่ยนผ้าอ้อม ผมจึงได้วันลาคลอดตามกฎหมายสามเดือนเช่นกัน

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณคิดว่าพร้อมแล้วสำหรับการมีลูก

ท่านทูตไบรอัน : ถ้าคุณตั้งใจมีลูกเมื่อพร้อม คุณจะไม่มีวันพร้อม (หัวเราะ) ก่อนแต่งงานกันเราสองคนคุยเรื่องมีลูกกันบ้าง แต่ก็ไม่เคยอยู่ในจุดเดียวกันสักที พอคนหนึ่งบอกว่ามีลูกกันเถอะ อีกคนก็จะแย้งว่าเราจะรับมือเด็กๆ ไหวไหม ไปจนถึงเราแก่กันเกินไปหรือเปล่า สลับกันแบบนี้อยู่พักใหญ่ จนถึงจุดหนึ่งเราก็ตกลงกันได้ว่า ถ้าเราอยากจะมีลูกจริงๆ ก็เลิกกังวลว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แล้วเริ่มต้นกันเลย 

หลังพิธีแต่งงาน เราไปฮันนีมูนที่ตลอดทั้งทริปขะมักเขม้นอยู่กับการหาข้อมูลเรื่องการมีลูก โดยเราพาเพื่อนสนิทซึ่งเป็นผู้บริจาคไข่ไปทริปด้วย ตอนแรกเราตั้งใจจะเก็บไข่ไว้ก่อน แล้วค่อยทำการปฏิสนธิไข่เมื่อหาผู้อุ้มบุญได้ แต่ด้วยโชคชะตาบางอย่าง มีคนแนะนำเอเจนซี่ที่น่ารักมาก ซึ่งช่วยหาผู้อุ้มบุญซึ่งเหมือนเป็น Perfect Match ของเรา

ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง

การอุ้มบุญใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะสำเร็จ

คุณสก็อตต์ : ตอนแรกเอเจนซี่บอกเราว่าน่าจะใช้เวลาสามถึงหกเดือน ในการหาหญิงสาวสักคนที่พร้อมจะมาอุ้มบุญให้ และจะนานกว่านั้นถ้าเราต้องการคนที่เล่นโยคะหรือเป็นมังสวิรัติ (ยิ้ม) แต่ปรากฏว่าเราได้พบผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบเล่นโยคะและเป็นมังสวิรัติจริงๆ จากลิสต์รายชื่อของเอเจนซี่ โดยเธอมีตัวเลือกคู่รักที่อยากให้เธออุ้มบุญให้ถึงสามสี่คู่ แต่สุดท้ายเธอก็เลือกที่จะอุ้มบุญเอเลียต (Elliot) ลูกชายคนแรกของเรา 

ท่านทูตไบรอัน : ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก จากที่ยังไม่มีแผนอะไร ภายในสามอาทิตย์ทุกอย่างก็จัดการเรียบร้อย แม้จะเป็นชาวอเมริกัน แต่ผู้อุ้มบุญของเราเกิดที่ประเทศจาเมกา ซึ่งเป็นที่ที่ผมเกิดเช่นกัน และน่าทึ่งไปกว่านั้นคือเราเกิดที่โรงพยาบาลเดียวกันด้วย

คุณสก็อตต์ : หลังเอเลียตเกิด ผมก็เพิ่งค้นพบว่า แม่ของผมเคยทำงานที่โรงพยาบาลในประเทศจาเมกาแห่งนั้นด้วย ทั้งหมดนี้คือโชคชะตาจริงๆ

ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง

ในทางกฎหมาย เมื่อการอุ้มบุญเสร็จสิ้น คุณถือเป็นผู้ปกครองเด็กโดยสมบูรณ์เลยใช่ไหม

ท่านทูตไบรอัน : กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิการเป็นผู้ปกครองเด็ก (Parental Rights) ของสหราชอาณาจักรยังค่อนข้างคลุมเครือในจุดนี้ คือผู้อุ้มบุญจะยังถือเป็นผู้ปกครอง (Guardian) ของเด็กอยู่ แม้จะไม่มีความสัมพันธ์ทางชีวภาพกับเด็กที่อุ้มบุญมาก็ตาม ดังนั้น เมื่อลูกๆ ของเราถือกำเนิดขึ้นจากการอุ้มบุญ เราจึงต้องแจ้งเกิดและทำเรื่องสิทธิ์การเป็นผู้ปกครองให้ถูกต้องตามกระบวนการศาล 

คุณสก็อตต์ : เราต้องเตรียมเอกสารเพื่อนำไปยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้ปกครองของเด็กจริงๆ กระบวนการคล้ายๆ กับขั้นตอนการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม

จากคนที่หนึ่ง​ ต่อมาที่คนที่สอง​ และสาม ​ตอนนี้คุณมีลูกๆ ที่น่ารักและอยู่ในวัยกำลังซนถึง 3 คน 

ท่านทูตไบรอัน : แม้ว่าเราจะหาผู้อุ้มบุญเอเลียตได้ไว แต่เราไม่คิดว่าลูกคนที่สอง เราจะโชคดีอย่างนั้น ขั้นตอนการหาผู้อุ้มบุญอาจต้องใช้เวลานับปีกว่าจะเจอคนที่เราเลือกเขาและเขาเลือกเรา ดังนั้น ถ้าเราอยากให้ลูกๆ อายุห่างกันไม่เกินสองปี เราต้องเริ่มหาผู้อุ้มบุญให้เร็วที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม โชคชะตาเข้าข้างเราอีกครั้ง เราหาผู้อุ้มบุญได้แทบจะทันที

เอเลียตและเอสเม (Esmae) ลูกสาวคนที่สองของเราจึงอายุห่างกันประมาณสิบห้าเดือน สำหรับลูกชายคนสุดท้องเอริค (Eric) ค่อนข้างท้าทาย เพราะสก็อตต์ลังเลที่จะมีลูกคนที่สาม ผมใช้เวลาหว่านล้อมเขาถึงหกเดือน กว่าเขาจะยอมใจอ่อนและดูสิ ตอนนี้เรามีลูกๆ ที่น่ารักสามคนเติบโตไปพร้อมกับเรา

คุณสก็อตต์ : คุณเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Sound of Music ไหม ไบรอันอยากมีลูกเจ็ดคนแบบในภาพยนตร์ และให้ลูกๆ ร้องเพลง (หัวเราะ)

ท่านทูตไบรอัน : เราจะไม่มีลูกถึงเจ็ดคนแน่นอน (หัวเราะ) ตอนนี้ผมว่าสามคนกำลังเหมาะ ความท้าทายที่สุดคงเป็นตอนที่เราจะมีลูกคนแรกนั่นแหละครับ เพราะชีวิตแทบจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย พอคนที่สอง คนที่สาม เรารู้แล้วว่าจะต้องรับมือกับพวกเขายังไง เราเก็บเสื้อผ้าและของเล่นของลูกคนโตไว้และได้ใช้กับลูกคนต่อๆ มา

ใครคือบอสของบ้านนี้

คุณสก็อตต์ : เอสเมคนนี้เลย (มองไปที่ลูกสาว)

ท่านทูตไบรอัน : เราเป็นคู่รักเพศเดียวกัน ก็เลยไม่มี Stereotype ว่าใครควรทำอะไร มันขึ้นอยู่กับว่าเราแต่ละคนทำอะไรอยู่ ใครยุ่งกว่ากัน ลูกๆ ชอบใครมากกว่าในสัปดาห์นี้ ซึ่งเปลี่ยนตลอด อย่างช่วงก่อน COVID-19 งานของสก็อตต์ส่วนใหญ่ทำจากที่บ้านได้ ในขณะที่ผมจะอยู่ที่ออฟฟิศ

แต่พอมาช่วง COVID-19 ผมกลับมาทำงานที่บ้านแทน ในขณะที่สก็อตต์ต้องออกไปทำโปรเจกต์ COVID Relief เขาออกจากบ้านตอนแปดโมงเช้า กลับบ้านมาประมาณหนึ่งทุ่ม มาอาบน้ำให้ลูก อ่านนิทาน ดูการ์ตูนเป็นเพื่อนก่อนนอน อย่างน้อยคือต้องเราคนใดคนหนึ่งต้องอยู่กับลูก แปลว่าถ้าต้องไปทริปไกลๆ เราจะเลือกไม่ไปพร้อมกัน

ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง

การเลี้ยงลูกๆ ยากและท้าทายสำหรับคุณแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อเด็กๆ ต้องเรียนรู้ถึง 4 วัฒนธรรม คืออเมริกัน อังกฤษ จีน และไทย

ท่านทูตไบรอัน : เรามีพี่เลี้ยงชาวไทยมาช่วยดูแลเด็กๆ พวกเขาจึงเรียนรู้ที่จะพูดภาษาไทยไปพร้อมๆ กับภาษาอังกฤษ อีกอย่างพี่ชายของผมแต่งงานกับคนไทย และผมมีหลานๆ ลูกครึ่งไทย-อังกฤษสามคนที่อาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ดังนั้น แทบทุกสุดสัปดาห์เราจะให้เด็กๆ ได้มาเจอกันเสมอ แต่จริงๆ ในแง่การเลี้ยงเด็ก แม้จะมีหลากหลายวัฒนธรรมผสมผสานกันอยู่รอบตัว แต่มันไม่ได้ยากเลยครับที่เด็กๆ จะปรับตัว เรียนรู้ และใช้ชีวิตได้อย่างลื่นไหล

คุณสก็อตต์ : เด็กๆ เป็นที่รักใคร่ที่นี่ คือเวลาเราพาลูกๆ ไปร้านอาหารในสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักร ผมรู้สึกเหมือนตัวเองทำอะไรผิดอยู่ตลอดเวลา (หัวเราะ) แม้เด็กๆ จะไม่ได้ร้องไห้โยเย แต่อารมณ์ของคนในร้านมักไม่สู้ดีนักเมื่อเห็นเด็กน้อย เหมือนเขาอยากจะพูดว่า “ที่นี่ไม่ใช่ที่ของเด็ก พวกคุณพาเด็กเสียงดังน่ารำคาญมาทำไม”

แต่ในไทย ทุกครั้งที่เราไปร้านอาหาร แม้แต่ตอนที่ลูกๆ ยังแบเบาะ บริกรในร้านจะเข้ามาทักทายและเล่นกับเด็กๆ อย่างเป็นมิตรมาก สำหรับเราสองคน เมืองไทยเลยเป็นที่ที่ง่ายต่อการเลี้ยงเด็กจริงๆ

ท่านทูตไบรอัน : แต่เคยมีเหตุการณ์ประทับใจในร้านอาหารที่สหราชอาณาจักรครั้งหนึ่งเหมือนกัน เพราะแม้แต่ที่ยุโรป การเห็นคู่รักเพศเดียวกันกับลูกๆ ก็ไม่ใช่ภาพที่พบเห็นได้บ่อย วันนั้นหลังอาหารมื้อค่ำ ใครบางคนในร้านอาหารเดินมาหาแล้วพูดว่า “มันน่ารักแค่ไหนที่ได้เห็นเรากับเด็กๆ” 

ประโยคสั้นๆ เสมือนการเบ่งบานของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง นี่คือสิ่งที่ผู้คนที่เราพบโดยบังเอิญตั้งใจกระทำ เพื่อแสดงออกแม้จะในมุมที่เล็กที่สุดว่าพวกเราสนับสนุน LGBTQI 

คุณสก็อตต์ : ผมคิดว่าการมีลูกมีส่วนทำให้มุมมองของผู้คนต่อ LGBTQI เปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย ภาพคู่รักเกย์สองคนเดินจับมือและจูบกันบนท้องถนน กับภาพเกย์สองคนที่พยายามเล่นสนุกหยอกล้อกับลูกๆ ทั้งสาม อย่างหลังน่าจะทำให้ผู้คนรู้สึกเชื่อมโยงและยอมรับได้ง่ายกว่า

คุณอาจจะเคยได้ยินวลี ‘คนไทยรักเด็ก’ 

ท่านทูตไบรอัน : (ยิ้ม) ผมคิดว่าคนไทยเปิดใจและใจกว้างกับเด็กๆ ด้วยรูปแบบวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยความเคารพซึ่งกันและกันและสุภาพอ่อนน้อม 

ลูกๆ ของเรา แม้ว่าจะอยู่ในวัยกำลังซนมาก อยากรู้อยากเห็นและวิ่งเล่นตลอดเวลา แต่เขาเรียนรู้ที่จะยกมือไหว้ แสดงความเคารพผู้ที่อาวุโสกว่าอย่างสตาฟในสถานทูตที่แก่กว่าพวกเขา นี่เป็นสภาพแวดล้อมที่น่ารักมาก หรือในที่สาธารณะอย่างที่สก็อตต์เล่าไป คนที่นี่ใจกว้างกับเด็กๆ กว่าที่สหราชอาณาจักรหรือสหรัฐอเมริกามากครับ

พ่อแม่บางคนมักรู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอในแง่การเลี้ยงลูก คุณเคยมีความรู้สึกแบบนั้นบ้างไหม 

ท่านทูตไบรอัน : สำหรับผมมันคือความวิตกกังวล เมื่อเลี้ยงดูลูกไปเรื่อยๆ คุณจะเริ่มมีความกังวลว่า นี่ฉันทำอะไรผิดพลาดไปไหม หรือลูกๆ มีความสุขกันอยู่หรือเปล่า และใช่ครับ สิ่งที่เรากังวลมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องเวลาจริงๆ เราทั้งคู่ทำงานเต็มเวลา และเราก็เหมือนคู่รักธรรมดาทั่วๆ ไปที่พยายามจัดสรรเวลาให้ลงตัวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระหว่างงานและครอบครัว 

โชคดีที่เรามีคนช่วยดูแลเด็กๆ ช่วงวันธรรมดา แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงสุดสัปดาห์เราต้องดูแลพวกเขาเองร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเสาร์-อาทิตย์คือวันของครอบครัว ดังนั้น สตาฟของสถานทูตก็ต้องไปอยู่กับครอบครัวด้วยเช่นกัน ช่วงนี้อาจจะท้าทายกว่าปกติ เพราะสก็อตต้องดูแลโปรเจกต์ COVID Relief ทำให้ต้องทำงานวันเสาร์ตลอดทั้งวัน ผมจึงต้องรับมือกับลูกๆ วัยกำลังซนทั้งสามคนด้วยตัวเอง

ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง
ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง

ในฐานะคุณพ่อของลูกๆ ที่ทำงานเต็มเวลาแถมยุ่งสุดๆ คุณจัดสรรเวลาให้การทำงานและครอบครัวอย่างไร

ท่านทูตไบรอัน : สมัยที่เรายังทำงานที่ประเทศจีน เดตกัน และยังไม่มีลูก ทุกอย่างมันง่ายกว่านี้เยอะเลยครับ (หัวเราะ) พอมีลูกคุณจะตระหนักได้ว่าตัวเองมีเวลาว่างมากมายแค่ไหนก่อนหน้านี้ เมื่อสิบห้าปีที่แล้วตอนที่เริ่มออกเดตกัน เราทำงานกันคนละเมือง ผมอยู่เมืองกวางโจว ในขณะที่สก็อตต์อยู่กรุงปักกิ่ง แม้จะยุ่งแค่ไหน แต่เราก็พยายามจัดสรรเวลาเพื่อมาเจอกันทุกสองสามอาทิตย์

สก็อตต์ทำงานภาคประชาสังคมที่งานหนักและเข้มข้น ในขณะที่ผมเองในฐานะนักการทูต งานและชีวิตส่วนตัวนั้นหลอมรวมเข้าไว้ด้วยกันในฐานะผู้แทนประเทศ ออฟฟิศเลิกเวลาหกโมงเย็นก็จริง แต่งานของเราไม่เคยจบในออฟฟิศ เรามีกิจกรรมต่างช่วงค่ำเสมอ อย่างวันนี้หลังจบการสัมภาษณ์กับ The Cloud เราก็มีเลี้ยงรับรองอาหารค่ำ เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ทางการทูต

นอกจากเวลาให้ลูกๆ แล้ว เราก็ต้องหาเวลาสำหรับกันและกันด้วย

คุณสก็อตต์ : อย่างเมื่อวานเป็นวันเกิดผม ผมทำงานทั้งวันเพราะต้องแพ็กถุงยังชีพไปแจกจ่ายให้เพียงพอในชุมชน หลังงานเสร็จผมคิดว่า โอเค เดี๋ยวเราจะกินมื้อค่ำดีๆ เป็นช่วงเวลาดีๆ ของครอบครัวกัน แต่พอกลับถึงบ้าน ปรากฏว่าลูกชายคนโตไข้ขึ้นสูงและปวดท้องมาก เราจึงต้องพาลูกชายไปโรงพยาบาล กว่าจะกลับมาถึงบ้านอีกครั้งก็เกือบสี่ทุ่มแล้ว

หลังส่งลูกชายคนโตเข้านอน ผมและไบรอันนั่งลงดื่มจิน กินพิซซ่าแช่แข็งเป็นอาหารค่ำ มีลูกอีกสองคนวิ่งอยู่รอบๆ และนั่นคือช่วงเวลาแห่งความสุขเล็กๆ ที่มีคุณค่าเพียงพอแล้ว

ท่านทูตไบรอัน : หลายส่วนในงานของผมนั้นแสนแฟนซี ทั้งดินเนอร์หรูหราและอาหารราคาแพง เมื่องานเลี้ยงและการทำงานสิ้นสุดลง สิ่งที่ผมจะทำคือล้มตัวลงบนโซฟาแล้วดูรายการทีวีตลกๆ สักรายการหนึ่งกับครอบครัว มีลูกๆ นอนพาดแขนพาดขาอยู่ข้างๆ (ยิ้ม)

ครอบครัว​ LGBTI​ ของเอกอัครราชทูต​อังกฤษ​ ไบรอัน​ เดวิดสัน กับสก็อตต์​ ชาง

Writers

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล