6 มีนาคม 2018
2 K

หนึ่งในข่าวใหญ่เมื่อเดือนที่ผ่านมาก็คือ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยตัดสินใจขายอาคารและพื้นที่ทั้งหมดในย่านเพลินจิตให้กับฮ่องกงแลนด์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง จาร์ดีน แมธทีสัน กับ กลุ่มเซ็นทรัล

บางคนสนใจเพราะตัวเลข 420 ล้านปอนด์ หรือ 1.86 หมื่นล้านบาท คือมูลค่าการซื้อขายที่ดินที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

ส่วนบางคนสนใจเพราะพื้นที่ผืนนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ซ้อนทับกันหลายมิติและหลายสมัย

ในขณะที่หลายคนนึกภาพไม่ออกเลยว่า ภายในพื้นที่ 23 ไร่ นี้มีอะไรอยู่ข้างในบ้าง

ก่อนที่พื้นที่ผืนนี้จะเปลี่ยนแปลงไปช่วงกลางปีหน้า เราอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ และบันทึกความทรงจำเก็บไว้ร่วมกัน

สถานกงสุลแห่งแรก

Mr.Charles Batten Hillier กงสุลอังกฤษ (Consul) คนแรก เช่าที่ดินตั้งสำนักงานอยู่ที่ย่านบางคอแหลม หลังจากนั้น Mr.Gingell กงสุลคนต่อมา ได้เริ่มมองหาที่ตั้งถาวร เขาชอบที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ติดกับสถานกงสุลโปรตุเกส ขณะนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอญและพม่า ซึ่งถูกกวาดต้อนมาตั้งรกรากที่นี่หลังสงคราม ปัจจุบันคือพื้นที่ของอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก

สถานกงสุลอังกฤษ

บรรยากาศริมน้ำของสถานกงสุลอังกฤษที่เจริญกรุง

รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ซื้อที่ดินจากชาวมอญและพม่าในราคาตารางวาละ 1 บาท แล้วพระราชทานให้ตั้งเป็นสถานกงสุลอังกฤษ (Consulate) ซึ่งช่วยลดความตึงเครียดจากความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะดีนักระหว่างวังหลวงกับสถานกงสุลอังกฤษในช่วงนั้นลงได้

นอกจากนี้รัชกาลที่ 4 ยังให้ยืมเงิน 16,000 บาท เพื่อใช้สร้างอาคาร ในระหว่างที่รอเงินจาก Foreign Office ที่ลอนดอน และพระราชทานเสาธงไม้ให้สถานกงสุลด้วย เสาธงนี้ใช้งานจนถูกพายุพัดหักโค่นลงในปี 1892

สถานกงสุลอังกฤษสั่งเสาธงเหล็กจากฮ่องกงมาใช้แทน ในราคาที่สูงถึง 500 ปอนด์ Foreign Office และ Ministry of Work ของอังกฤษ ถึงกับตำหนิผู้รับผิดชอบโครงการนี้ว่าใช้จ่ายเงินจำนวนมากโดยไม่จำเป็น เข้าใจว่าส่วนหนึ่งของค่าเสาธงนี้จ่ายโดย Secret Service Fund

เมื่อสถานกงสุลอังกฤษย้ายมาอยู่ที่เพลินจิต ก็นำเสาธงนี้มาด้วย และยังคงใช้งานจนถึงปัจจุบัน ในขณะนั้นเสาธงต้นนี้ถือเป็นเจ้าของสถิติเสาธงซึ่งปักลงในพื้นเฉยๆ ที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ

สถานทูตอังกฤษ

เสาธงในปัจจุบัน

สถานกงสุลอังกฤษสร้างเสร็จราวปี 1876 จากนั้นก็สร้างส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น บ้านพักของเจ้าหน้าที่ คุก ศาล และบ้านผู้ช่วยกงสุล

ในปี 1895 สถานกงสุลอังกฤษก็ยกระดับเป็นสถานอัครราชทูตอังกฤษ (Legation)

สถานทูตอังกฤษคิดจะย้าย

ช่วงที่สร้างสถานกงสุลอังกฤษ การคมนาคมขนส่งในกรุงเทพฯ ใช้ทางน้ำเป็นหลัก ทำเนียบทูต หรือ บ้านพักของอัครราชทูต (Minister) จึงหันหน้าไปทางแม่น้ำ แบบเดียวกับทำเนียบเอกอัครราชทูตของฝรั่งเศสและโปรตุเกสในปัจจุบัน แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 1900 มีการตัดถนนเจริญกรุง เปลี่ยนจากทางดินเฉอะแฉะกลายมาเป็นถนนสภาพดี ประชาชนจึงเดินทางด้วยถนนมากขึ้น ด้านหน้าของสถานอัครราชทูตจึงกลายมาอยู่ฝั่งถนนเจริญกรุง นั่นหมายความว่า จุดแรกที่แขกของสถานทูตต้องเดินผ่านคือ อาคารที่่น่าดูน้อยที่สุดอย่างบ้านพักเจ้าหน้าที่และคุก

สถานกงสุลอังกฤษ

สถานกงสุลอังกฤษฝั่งถนนเจริญกรุง

สถานกงสุลอังกฤษ

พระบรมรูปสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ด้านหน้าสถานกงสุล

เมื่อ Sir Ralph Paget มารับตำแหน่งอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม (Minister Plenipotentiary) ที่กรุงเทพฯ ในปี 1902 เขาพบว่าที่น่ีเสียงดังและเต็มไปด้วยมลพิษ ในแม่น้ำแออัดไปด้วยเรือมากมายหลายประเภท รวมทั้งเรือกลไฟที่เปิดหวูดเสียงดังทั้งกลางวันและกลางคืน ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามสถานทูตมีโรงสีข้าว 2 โรง และกำลังสร้างอีก 1 โรง โรงสีข้าวส่งเสียงดังตลอด และเมื่อลมพัดจากทิศตะวันออกมาเมื่อไหร่ ในสถานอัครราชทูตก็จะเต็มไปด้วยเศษขี้เถ้าจากโรงสี

ในปี 1905 เมื่อรถรางเปิดให้บริการบนถนนเจริญกรุง ก็ได้ยินเสียงกระดิ่งจากรถรางทั้งวันทัั้งคืน

ฝั่งถนนเจริญกรุง มีหญิงชาวอิตาลีคนหนึ่งชื่อมาดาม Staro เปิดบาร์อยู่ตรงข้ามสถานอัครราชทูต มีการเล่นเปียโนและเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ดึงดูดให้ลูกค้าแวะเวียนมาจนล้นหลาม

ส่วนวัดที่อยู่ข้างสถานอัครราชทูตซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นของศาสนาไหน จะตีระฆังชวนคนเข้าวัดตอนตี 5 ของทุกวัน

Sir Ralph เลยทำเรื่องเสนอไปยัง Foreign Office และ Ministry of Work ในลอนดอนว่า ควรย้ายสถานอัครราชทูตไปที่อื่น เขาอยากจะย้ายไปอยู่ใกล้ๆ Royal Bangkok Sports Club แต่ทางลอนดอนไม่เห็นด้วย และไม่สนับสนุนด้านงบประมาณ

สุดท้าย Sir Ralph ก็มีงานสำคัญให้ทำมากมาย โดยเฉพาะการเจรจาเรื่องการยกเลิกการให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต และปัญหาชายแดน จนเขาแทบจะไม่เหลือเวลามากังวลกับเสียงจากแม่น้ำ ขี้เถ้า หรือกิจกรรมของหญิงสาวเพื่อนบ้าน

ฝั่งรัฐบาลไทยอยากให้อังกฤษย้ายสถานอัครราชทูต เพราะต้องการนำที่ดินแปลงนี้ไปสร้างไปรษณีย์กลางของกรุงเทพฯ ในปี 1919 รัฐบาลไทยเสนอสถานที่ใหม่แลกกับพื้นที่ของสถานอัครราชทูตอังกฤษ ทีแรก Sir Robert (Hyde) Greg อัครราชทูตที่มาประจำการในปี 1921 ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะเขาและภรรยาชอบงานศิลปะ ชอบอาคารเก่า ชอบบรรยากาศริมแม่น้ำ และกลัวที่จะต้องอยู่ในทำเนียบทูตที่ออกแบบโดยสถาปนิกจาก Ministry of Work ซึ่งขึ้นชื่อว่าออกแบบบ้านได้เลวร้ายมาก

แต่เขาก็เปลี่ยนใจ เพราะ Mr. W A R Wood รองกงสุล (Vice-Consul) ได้กลับไปที่อังกฤษในปี 1922 และช่วยออกแบบทำเนียบทูตหลังใหม่ เขามีประสบการณ์เป็นผู้รับผิดชอบตั้งแต่ร่างแรกของสถานกงสุลอังกฤษที่สงขลาและเชียงใหม่ ซึ่งออกมาอย่างสวยงาม Sir Robert ชอบผลงานของ Wood มาก ก็เลยเริ่มเห็นด้วยกับการย้ายสถานทูต

ย้ายมาอยู่ในสวน

พระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ นายเลิศ มีพื้นที่ขนาด 60 ไร่ ระหว่างเพลินจิตกับคลองแสนแสบ เขาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งชาวบ้านยุคนั้นเรียกกันว่า ปาร์คนายเลิศ เอาไว้เป็นที่่พักตากอากาศ สร้างเสร็จเมื่อปี 1911 นายเลิศเสนอขายพื้นที่ทั้งหมดให้สถานอัครราชทูตอังกฤษ แต่รัฐบาลอังกฤษซื้อเพียงครึ่งเดียว คือฝั่งที่ติดกับถนนสุขุมวิท พื้นที่ส่วนที่เหลือปัจจุบันเป็นของทายาทนายเลิศ ซึ่งในปี 2016 ได้ขายพื้นที่ 15 ไร่ ในส่วนของโรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ ให้บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ

สถานกงสุลอังกฤษ สถานทูตอังกฤษ

สถานอัครราชทูตมองจากถนนสุขุมวิท

ย่านเพลินจิตในยุคนั้นถือว่าอยู่นอกเมืองกรุงเทพฯ เลยสถานอัครราชทูตอังกฤษไปอีกประมาณกิโลเมตรเดียวก็สุดถนนแล้ว ไม่มีรถรางหรือรถเมล์ผ่าน แล้วก็เป็นสถานที่ซึ่งนักธุรกิจชาวอังกฤษทั้งหลายไม่คุ้นเคย ผู้คนจำนวนมากก็เลยไม่ค่อยพอใจกับการย้ายสถานทูต เช่น กัปตันเรืออังกฤษที่ต้องเสียเวลาเดินทางมาจัดการเอกสารที่สถานทูต ถึงกับมีการเสนอให้ตั้งสถานกงสุลและสำนักงานที่ดูแลเรื่องการขนส่งสินค้าไว้ใกล้ๆ สถานอัครราชทูตเดิมย่านเจริญกรุง แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะที่ดินบริเวณนั้นมีราคาแพงมาก

สถานอัครราชทูตอังกฤษขายที่ดินและอาคารที่เจริญกรุงได้เงิน 110,000 ปอนด์ หรือ 1,800,000 บาท เป็นจำนวนเงินที่เพียงพอสำหรับซื้อที่ดินจากนายเลิศ และสร้างอาคารสถานอัครราชทูตใหม่ได้ทั้งหมด

ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร

ทำเนียบเอกอัครราชทูต

อาคารเดิมของสถานอัครราชทูตอังกฤษที่เจริญกรุงนำไปใช้เป็นสำนักงานของสำนักงานไปรษณีย์โทรเลขกลาง ต่อมาเมื่อทรุดโทรมและคับแคบ จึงรื้ออาคารทิ้งทั้งหมด แล้วสร้างอาคารใหม่ เป็นอาคารไปรษณีย์กลางบางรักอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

นอกจากเสาธงแล้ว พระบรมรูปสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่เดิมอยู่หน้าสถานอัครราชทูตบนถนนเจริญกรุง ก็ถูกย้ายมาอยู่ที่เพลินจิตด้วย พระบรมรูปนี้สร้างเมื่อปี 1903 ตรงฐานมีข้อความสลักว่า ‘Erected in loving memory by her Subjects in Siam 1903’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการตอกไม้คลุมพระบรมรูปไว้อย่างมิดชิด เพื่อป้องกันความเสียหายจากสงคราม แต่ทหารญี่ปุ่นก็เจาะรูเล็กๆ เอาไว้ ซึ่งฝั่งอังกฤษมองในแง่ดีว่า อย่างน้อยก็ทำให้พระราชินีได้ทอดพระเนตรเห็นเรื่องราวภายนอกบ้าง

แล้วนักเรียนไทยก็นิยมมาขอพรให้สอบได้จากพระบรมรูปนี้ด้วย

สถานที่สำคัญอีกแห่งในสถานอัครราชทูตก็คือ อนุสรณ์สงคราม (War Memorial) ระลึกถึงชาวอังกฤษที่อาศัยในประเทศไทยซึ่งเสียชีวิตในช่วงสงครามโลก ซึ่งถือเป็นสิ่งก่อสร้างแรกของสถานอัครราชทูตใหม่แห่งนี้ เดิมอยู่ด้านหน้าประตูฝั่งถนนสุขุมวิท

ถนนวิทยุ

เสากระจายสัญญาณวิทยุของสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ที่มาของชื่อถนนวิทยุ อยู่ใกล้ๆ กับสถานทูต

ทำเนียบทูต

ภายในพื้นที่ทั้งหมดมีอาคารอยู่หลายหลัง เช่น ทำเนียบทูต อาคารสำนักงาน และบ้านพักเจ้าหน้าที่ อาคารส่วนใหญ่สร้างเสร็จในปี 1926 โดยสถาปนิกของ Ministry of Work ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสถาปนิกท้องถิ่นในกรุงเทพฯ อย่าง Mr.Healey ผู้ออกแบบอนุสรณ์สงคราม

สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย

ในปี 1947 ที่นี่ได้รับการยกระดับเป็นสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย (Embassy)

ในปัจจุบันอาคารทำเนียบทูตมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก หลักๆ คือการติดระบบปรับอากาศในปี 1974 เท่านั้น

พื้นที่ชั้นล่างใช้เป็นที่รับแขก ส่วนชั้นบนเป็นที่พักของเอกอัครราชทูตและครอบครัว และที่พักรับรองของแขก ที่ผ่านมามีราชวงศ์อังกฤษหลายพระองค์เสด็จฯ มาเยี่ยมที่นี่ เช่น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1972 เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ในปี 1968 และ 1972 และทั้งสองพระองค์เสด็จฯ เยือนครั้งล่าสุดเมื่อปี 1996

สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย

Main Hall

ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย

โถงกลางอาคารเป็นพื้นที่เปิดโล่งสู่สวนและพระบรมรูปสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เชื่อมไปยังห้องอาหารและห้องรับรองที่อยู่ทางฝั่งซ้ายและขวาของอาคารได้

Dining Room

ห้องอาหาร พัดโบราณ

ห้องนี้เคยเป็นห้องบิลเลียดมาก่อน ปัจจุบันเป็นห้องอาหารที่จัดโต๊ะรับรองแขกได้ 24 คน จุดเด่นของห้องนี้คือ บนเพดานมีพัดแบบโบราณ (Punkah) ซึ่งย้ายมาจากสถานอัครราชทูตที่ถนนเจริญกรุง ปลายเชือกขึงให้ทะลุกำแพงเข้าไปในห้องครัว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดึงเชือกให้พัดโบกจากในครัว

Drawing Room

ห้องรับรองแขก ห้องรับรองแขก

ห้องนี้ใช้เป็นห้องรับรองแขก มีการติดกระจกและเครื่องปรับอากาศในปี 1972 ช่วงสงครามโลกมีการย้ายเฟอร์นิเจอร์ของสถานทูตทั้งหมดไปเก็บไว้ที่สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อป้องกันความเสียหาย จนสงครามจบถึงนำกลับมาติดตั้งดังเดิม

Garden Room

ห้องรับรอง

ห้องนี้ใช้เป็นห้องรับรอง มองผ่านหน้าต่างออกไปจะเห็นสวนด้านนอก ภายในห้องมีเปียโนไว้เล่นระหว่างงานจัดเลี้ยงด้วย

Green Room

ห้องรับรองบุคคลสำคัญ

ห้องสีเขียวใช้เป็นห้องรับรองบุคคลสำคัญและแขกต่างๆ ของสถานทูต

โถงทางเดิน โถงทางเดิน

ทางเดินเชื่อมระหว่างห้องต่างๆ ที่ชั้นล่าง

ชั้นสอง

พื้นที่ชั้นสองเป็นที่พักส่วนตัวของเอกอัครราชทูตและครอบครัว

ทำเนียบทูต ทำเนียบทูต หน้าต่าง

บันไดขึ้นชั้นสอง

มุมพักผ่อน

สถานทูตอังกฤษ
โถงกลางที่มองออกไปจะเห็นสวนและพระบรมรูปสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

ห้องพักแขก

สถานทูตอังกฤษ

ที่นี่เคยรับรองแขกพิเศษอย่าง Princess Anne และพระสวามี Captain Mark Philips เมื่อปี 1979 และแขกสำคัญอีกหลายคน

การขายพื้นที่ฝั่งถนนเพลินจิต

ปี 2006 สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรขายที่ดินจำนวน 9 ไร่ ส่วนที่ติดกับถนนเพลินจิต ผู้ที่ชนะการประมูลคือ กลุ่มเซ็นทรัล ได้พัฒนาพื้นที่นี้เป็นศูนย์การค้า Central Embassy และโรงแรม ก่อนการก่อสร้าง มีการย้ายพระบรมรูปสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและอนุสรณ์สงครามมาตั้งข้างๆ ทำเนียบทูตแทน

สถานทูตอังกฤษ

ครึ่งล่างของภาพคือพื้นที่่่ส่วนที่กลายเป็น Central Embassy ในปัจจุบัน

พระบรมรูปสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย อนุสรณ์สงคราม

การขายพื้นที่สถานเอกอัครราชทูตส่วนที่เหลือ

ปี 2017 สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรมีนโยบายขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 23 ไร่ ทั้งหมดที่เหลือของสถานเอกอัครราชทูต ผู้ที่ชนะการประมูลคือ ฮ่องกงแลนด์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง จาร์ดีน แมธทีสัน กับ กลุ่มเซ็นทรัล ประมูลไปในราคา 420 ล้านปอนด์ หรือ 1.86 หมื่นล้านบาท หรือตารางวาละ 2 ล้านบาท ถือเป็นการขายที่ดินที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และเป็นการขายที่ดินครั้งใหญ่ที่สุดของกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้พัฒนาสถานเอกอัครราชทูต 30 – 40 แห่งทั่วโลก

สถานทูตอังกฤษ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป

สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรจะย้ายออกจากพื้นที่ในช่วงกลางปี 2019 โดยจะเช่าพื้นที่ของอาคาร เอไอเอ สาทร ทาวเวอร์ บนถนนสาทร เพื่อใช้เป็นที่ทำการ ผู้ชนะการประมูลจะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด พระบรมรูปสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียจะมีการเคลื่อนย้าย แต่ยังอยู่ในพื้นที่เดิมต่อไป อนุสรณ์สงครามจะถูกย้ายออกไปตั้งในสถานที่ที่เหมาะสม ส่วนทำเนียบทูตจะถูกรื้อ แต่ยังไม่มีแผนที่แน่ชัดว่าจะเป็นการรื้อออก หรือย้ายทั้งหลัง หรือรื้อแล้วนำบางส่วนกลับมาสร้างใหม่ในรูปแบบอื่น คงต้องติดตามกันต่อไป

สถานทูตอังกฤษ สถานทูตอังกฤษ

ภาพ:  สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan