23 มิถุนายน 2023
6 K

บิ๊ก-บริรักษ์ อภิขันติกุล เรียกต้นกาแฟว่า ‘คุณแม่’

บิ๊กเรียกเกษตรกรบนดอยว่า ‘กาแฟกร’ เพราะอยากทำงานกับเพื่อนที่บังเอิญเป็นชาวสวนกาแฟ

บิ๊กตั้งชื่อลูกว่า ดิน ชื่อจริงคือ วนรักษ์ เพราะอยากให้ลูกมีคุณค่าเหมือนดินและรู้จักดูแลป่าไม้

น้อยคนจะรู้ว่าในอดีต บิ๊กประกอบอาชีพเป็นวิศวกรการบิน เขาตัดสินใจทิ้งความคาดหวังของสังคม เพื่อออกมาเป็นคนกาแฟที่ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะประสบความสำเร็จ หลังดื่มกาแฟเพียงแก้วเดียวจากผลผลิตของ วัลลภ ปัสนานนท์ อดีตนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย

กำไรเดือนแรกของการเปิดร้านขนาด 2 x 2 เมตรอยู่ที่ประมาณ 700 บาท บิ๊กตื่นมาทุกเช้าด้วยคำถามว่า เขาเลือกทางผิดหรือไม่

สิ่งที่ยังยืนยันให้เขาเดินบนถนนลูกรังนี้ต่อไป คือถนนเส้นนี้นำพาเขาไปพบกับเกษตรกรสวนกาแฟที่ทำกาแฟด้วยสัญชาตญาณและความรู้ตกทอดบนดอยสูง รอคอยใครสักคนมาคั่วเมล็ดของพวกเขาถึงที่และบอกว่ามันมีดีอย่างไร

เป็นเวลากว่า 10 ปีที่บิ๊กศึกษากาแฟอย่างจริงจังลึกซึ้ง ขยับขยายร้าน School Coffee ให้เติบโต ก่อนจะลงหลักปักฐานที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อใกล้ชิดกาแฟให้มากขึ้น และเปิดร้านกาแฟสุขพอดี Simply Happy เป็นความสุขที่เขาใฝ่หา

นี่คือการถอดบทเรียนชีวิตที่บิ๊กได้จากกาแฟ

เรียบง่าย กลมกล่อม ไม่หวานจนเลี่ยน ไม่เปรี้ยวจนเกินไป 

ทิ้งท้าย Aftertaste ได้น่าประทับใจ และดีงามในแบบที่กาแฟ 1 แก้วควรจะเป็น 

วิกฤตกาแฟไทยในสายตา ‘บิ๊ก บริรักษ์’ ผู้เชื่อว่ากาแฟให้ชีวิตและดูแลตั้งแต่ดินยันดอย

School Coffee

ถ้าให้แนะนำตัว คุณจะเรียกตัวเองว่าอะไรในวงการกาแฟ

เราเป็นคนกาแฟคนหนึ่งในสังคมไทยที่ยังคงเรียบง่าย สนุก และยังมีความสุขอยู่กับการเรียนรู้เรื่องกาแฟ ได้ตื่นมากินกาแฟดี ๆ ได้ทำตัวเองให้เป็นประโยชน์กับจุดใดจุดหนึ่งของสายพานการผลิตกาแฟไทยในบ้านเรา แล้วก็ยังรู้สึกภูมิใจที่ได้ขับเคลื่อนให้กาแฟไทยพัฒนาไปเรื่อย ๆ ไม่ได้มีนิยามอะไรชัดเจนว่าเป็นใคร อะไร อย่างไร

บิ๊ก บริรักษ์ ถูกกาแฟตีหัวเข้าวงการได้ยังไง

เริ่มต้นจากเราดื่มกาแฟเพื่อให้ตื่น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนั่งสอบ หรือเป็นคนทำงานออฟฟิศ Energy Drink สมัยเรามีตัวเลือกไม่เยอะ เรากินพวกกาแฟปั่น อะไรหวาน ๆ ที่ทำให้มีพลัง แล้วเราก็ค่อย ๆ ถลำลึกไปเรื่อย ๆ นะ

แรก ๆ เรากินมันเพื่อตื่น หลัง ๆ มานี้เราตื่นเพื่อกินมัน

คุณเริ่มกินกาแฟที่มีคุณภาพดีขึ้นตอนไหน

เราจบวิศวกรรมการบิน ทำงานประจำเป็นวิศวกรออกแบบชิ้นส่วนเครื่องบิน ทั้งในเชิงดีไซน์และเชิงการผลิต สมัยนั้นมีการตรวจร่างกายทุกปี คำแนะนำที่เราเจอทุกปีเลยคือ คุณหมอบอกว่าให้ลดกาแฟที่มีคอเลสเตอรอลสูง พอเริ่มลดปุ๊บ มันก็ต้องวิ่งเข้าสู่กาแฟดำ 

เราไม่รู้จักหรอกว่าคั่วกลาง คั่วเข้ม คั่วอ่อน คืออะไร กินแล้วขมมาก วันดีคืนดีมีโอกาสได้ไปกินกาแฟของ พี่วัลลภ ปัสนานนท์ แล้วเราก็งงว่า ทำไมกาแฟพี่วัลไม่เหมือนคนอื่น มันมาจากไหนวะเนี่ย เลยไปศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากพี่วัลเอง จากการอ่านหนังสือ เราก็เริ่มเข้าใจว่ากาแฟดี ๆ อาจไม่ใช่เรื่องของการคั่วเข้ม ๆ แต่ว่าด้วยธรรมชาติความอร่อยจริง ๆ ที่เกิดจากสารกาแฟเอง 

เราเริ่มตามหากาแฟที่เป็น Single Origin เริ่มไปกินกาแฟเมืองนอกต่าง ๆ เอธิโอเปีย เคนยา โคลอมเบีย แล้วก็ย้อนกลับมากินกาแฟไทยเราอยู่เรื่อย ๆ 

กาแฟแก้วนั้นของพี่วัลเปลี่ยนชีวิตยังไง

โอ้โห เรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญมาก ๆ ของชีวิต 

มันคือจุดเริ่มต้นของการศึกษาโลกกาแฟอย่างจริงจัง แล้วสุดท้ายก็ทำให้เราลาออกจากงาน 

เพราะอะไร 

พอเราขึ้นไปหาพี่วัล เราเห็นว่าการได้มาซึ่งกาแฟที่ดี ๆ มีขั้นตอน ไม่ใช่การปล่อยธรรมชาติปลูก ปล่อยเทวดาปลูก มันเต็มไปด้วยความพยายามของมนุษย์คนหนึ่งที่จะดูแลต้นกาแฟและพื้นที่ในการปลูก

ทริปกาแฟต่อมาที่เราเดินทางไปคือ Coffee Journey ของ ลี (อายุ จือปา) ตอนกินเราก็รู้แหละว่ายังไม่อร่อยเท่าพี่วัลแน่ ๆ แล้วเราก็เห็นว่าเหตุผลของความไม่อร่อยเท่าพี่วัลแน่ ๆ เกิดจากอะไรบ้าง เช่น สภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลูกไม่ได้สมบูรณ์อย่างพี่วัล การโพรเซสกาแฟ Facility ทุกอย่าง ไม่ได้ตอบสนองให้เกิดการเกษตรที่มีคุณภาพ ก็เลยคิดกับลีว่า เราเอาชุดความรู้เหล่านี้ รวมไปถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่พี่วัลใช้มาลองใช้ที่บ้านเรากันบ้างไหม 

ประกอบกับทำงานการบินมาเป็นปีที่ 7 เราไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ต้องประชุมทั้งวัน อยากไปเที่ยวไหนก็ไม่ได้ไป แล้วเราก็ตั้งคำถามว่า ในฐานะคนไทย เราทำอะไรให้ประเทศชาติได้บ้าง พอมาเจอพี่วัล เจอลี เลยรู้สึกว่านี่อาจจะเป็นหน้าที่ของเรา แล้วเราก็เริ่มทำร้านกาแฟเล็ก ๆ

คุณให้เหตุผลกับบริษัทว่าอะไรในการลาออกครั้งนั้น

เรามีหัวหน้าที่เป็นหัวหน้าในอุดมคติเลย ทุกวันนี้ผมก็ยังใช้แกเป็นต้นแบบในการดูแลร้าน

แน่นอน ในฐานะหัวหน้าเขาก็จะตะล่อมทุกอย่างเพื่อให้เราทำงานต่อถูกไหม แต่สุดท้ายเราก็คุยกัน ตรง ๆ ว่า ออกไปเนี่ย ผมน่าจะได้เงินหลักร้อย คำนวณจริง ๆ ตกเดือนหนึ่งประมาณ 700 – 800 เองพี่ แต่ก็ออกไปด้วยความตั้งใจจริง ๆ ไม่มีเหตุผลอื่นหรือว่าความอยากมีอยากได้แต่อย่างใดเลย แกก็โอเค ไม่ถามอะไรต่อ แล้วก็ไปเซ็นใบลาออกให้ 

ร้านแรกของ School Coffee เคยเห็นซุ้มโค้กไหม ขนาดแค่ 2 x 2 เมตร เรากับหุ้นส่วนเริ่มต้นธุรกิจกาแฟกัน 4 คน พยายามสร้างธุรกิจเชิงบวก อยากสร้างความสุขให้กับทุก ๆ คนที่อยู่ในสายพานการผลิต ทั้งเกษตรกร ธรรมชาติ คนแปรรูป คนคั่ว คนชง และลูกค้า

ไปเปิดกันอยู่ใต้หอนวชน เป็นหอของเด็ก ม.เกษตรศาสตร์ อยู่ในซอยลึก ๆ พูดง่าย ๆ คือเราตั้งใจจะไปเก็บตัว เหมือนนักฟุตบอลเก็บตัวก่อนไปเตะชิงแชมป์ ไปเรียนรู้ว่าทำกาแฟยังไงให้ดีก่อน ส่วนเป้าหมายปลายทางคือการพัฒนาสวนให้ดี แล้วก็ตั้งคอนเซปต์ง่าย ๆ ว่า รายได้ทุกแก้วคือการจ้างเราเรียน ไม่เสียเวลาหรอก 

รายได้ปีแรกก็อย่างที่คาดการณ์เอาไว้ คือเดือนหนึ่ง หักค่าหอพัก ค่ากิน ค่าอยู่ เหลือประมาณ 700 – 800 แต่ก็เป็นชีวิตที่สนุกดี จากเคยมีอาชีพการงานมั่นคง ก็หล่นลงมาถึงจุดที่การเงินต่ำสุดเท่าที่เราจะเคยต่ำแล้ว แต่สิ่งที่เลี้ยงเราอยู่ได้คือความสุขที่ได้ทำ

วิกฤตกาแฟไทยในสายตา ‘บิ๊ก บริรักษ์’ ผู้เชื่อว่ากาแฟให้ชีวิตและดูแลตั้งแต่ดินยันดอย

จากเคยได้เงินเดือนเยอะมาก กลายเป็น 700 บาท มีสักแวบหนึ่งไหมที่คิดว่าตัดสินใจถูกรึเปล่า 

มีหลายแวบเลยน้องเอ้ย 

เรามีความสุขกับการตื่นเช้ามาเปิดร้านกาแฟมาก แต่ไม่มีคนหรอกตอนเช้า ๆ น้อง ๆ นักศึกษาก็รีบออกไปเรียน แทบจะทุกเช้าที่เราถามตัวเองเสมอเลยว่า เราทำอะไรอยู่ตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่ที่ลงทุนให้เราไปเรียนแพง ๆ เขาจะว่าอะไรเปล่าวะ ถึงเขาจะให้เราทำ แต่เขาจะคิดอะไรไหม มันมีคนเตะตัดขาเราตลอด แม้กระทั่งตัวเราเอง มีอุปสรรคในการหยุดยั้งความคิดเยอะมาก

ต้องมีกำลังใจจากคนที่เราให้ความสำคัญ อย่างไอ้เพื่อน ๆ ที่หุ้นกัน คุณพ่อ คุณแม่ หรือแฟน ณ เวลานั้น นั่นคือความสุขในจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรายังวางตัวเองอยู่ในเส้นทางนี้อยู่

เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มตั้งตัวได้แล้ว 

ปีที่ 5 ในการทำ School Coffee ครับ เป็นตึกแถว 2 ห้อง ไม่ใช่ตู้โค้กแล้ว

ปีที่ 1 – 4 ว่ากันด้วยการเติบโตในเชิงความคิด การเรียนรู้ทั้งหมดต้องมีการลงทุน ซื้อเครื่องคั่วมาลองคั่วให้อร่อย ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพื่อน ๆ ไม่เคยถามเลยว่าซื้อมาทำไม ซื้อแล้วได้อะไร เกิดประโยชน์ยังไง ตราบใดก็ตามที่เพื่อนมึงยังมีความสุขกับการทำ มันก็พร้อมสนับสนุน

วิกฤตกาแฟไทยในสายตา ‘บิ๊ก บริรักษ์’ ผู้เชื่อว่ากาแฟให้ชีวิตและดูแลตั้งแต่ดินยันดอย

ตอนที่เริ่มขยับขยายจากตู้โค้กเป็นตึกแถวให้ความรู้สึกแบบไหน

สนุกมากเลยครับ เริ่มต้นจากปั่นจักรยานคุยกับเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนชื่อ ไอ้แก็ป บอกแก็ปว่า กูว่าเราพร้อมแล้วที่จะนำเสนอตัวเองให้คนอื่นรู้จักบ้าง เริ่มมั่นใจแล้วว่าทำกาแฟยังไงให้อร่อย บริหารจัดการสต็อกหลังบ้านได้เนี้ยบแล้ว พอคุยกันแล้วก็เริ่มออกมาหาสถานที่ เพราะเราต้องการฐานทัพในการสร้างสังคมที่เราอยากมี

พอปั่นจักรยานไปเจอตึกหนึ่งเขาติดป้ายให้เช่า เราก็ต้อง Pitching ขอเช่าตึก เพราะว่าตึกนี้ฮอตมาก เราทำเป็น Proposal เล็ก ๆ ไปให้เขาดู นำเสนอว่าจะทำอะไรกับตึกนี้บ้าง เล่าให้เขาฟังว่าไอ้สิ่งที่เราทำมีคุณประโยชน์กับคนบนดอยยังไง สุดท้ายเขาก็เลือกเรา 

ตอนนั้น School Coffee ขายกาแฟพิเศษหรือยัง

เริ่มมีครับ กาแฟพิเศษสำหรับเราอาจไม่ใช่เรื่องกระบวนการการชงหรืออุปกรณ์ราคาแพง ๆ มันคือคะแนนของสารกาแฟที่ตัวเราเองในฐานะกรรมการของการตัดสิน บอกได้ว่ามากกว่า 80 คะแนน ตอนนั้นก็ต้องบอกตรง ๆ ว่าเรามีกาแฟทั้งที่เป็น Commercial Grade และ Specialty Grade ซึ่งคอนเซปต์ที่เราไม่เคยทิ้งเลย คืออยากให้กาแฟเป็น Daily Coffee ทุก ๆ คนควรมีสิทธิ์ที่จะได้ดื่ม เราอยากให้คนได้ดื่มกาแฟคุณภาพดีในราคาที่เอื้อมถึงได้ทุกวัน 

มีพี่ท่านหนึ่งเคยบอกว่า ร้านมึงเนี่ยดีว่ะ คนแม่งไม่ต้องปีนกระไดกิน เราดีใจกับคำพูดนี้มากและยึดถือมาตลอดจนถึงทุกวันนี้

เรื่องกาแฟพิเศษค่อนข้างเฉพาะกลุ่มมากเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน คุณคุยกับใครบ้าง

สังคมกาแฟมีหลายทิศทาง แต่ทิศทางที่เราบ้าก็รวมตัวกันเรียกว่า ‘สหายกาแฟ’ ครับ คนที่เราคุยด้วยหลัก ๆ หรือคนที่เราเรียกว่าเป็นอาจารย์ ก็ไม่พ้นพี่วัล ไอ้ลี พี่ปิ (ปิยชาติ ไตรถาวร) พี่เอ (ณัฎฐ์ฐิติ อำไพวรรณ) เรามีโปรเจกต์เยอะมากที่ขึ้นไปทำที่แม่จันใต้ 

โปรเจกต์ที่เราจำไม่เคยลืมชื่อโปรเจกต์ ‘ลอง’ ลอง ที่แปลว่า ยาว กับ ลอง ที่แปลว่า ทดลอง เนี่ยแหละครับ เราไปอยู่บนไร่บนดอยกันเป็นอาทิตย์ ไปเป็นเกษตรกรคนหนึ่งให้เข้าใจก่อนว่าเกษตรกรรมของกาแฟต้องทำอะไรบ้าง มีปัจจัยอะไรอีกที่เราพัฒนา แก้ไข หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อสร้างรสชาติที่ดีให้กับกาแฟ

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลคือการลองผิดลองถูก ไม่มีหรอกตั้งสมมติฐานไปแล้วแม่งต้องถูกต้องเสมอ แต่สำคัญมาก ๆ คือมันสอนเรา

กาแฟกร

จำความรู้สึกของวันแรกที่ขึ้นดอยไปเจอเกษตรกรไร่กาแฟได้ไหม

โห โคตรมีความสุข เราในเวลานั้นวุ่นวายกับชีวิตวิศวกรมาก ๆ เราพยายามแยกตัวเองจากงานให้ได้มากที่สุด การไปอยู่บนดอยทำให้เกิดความสงบ เรานั่งโง่ ๆ ใต้ต้นกาแฟ อยู่บนยอดภูเขาได้เป็นชั่วโมง นั่งฟังเสียงใบไม้ชนกัน เสียงลมปลิวไปปลิวมา ก้อนเมฆเคลื่อนที่ไปเคลื่อนที่มาโดยไม่ต้องคิดอะไรเลย พอเรามีสติ มีสมาธิ ก็มักจะสร้างปัญญาให้เราเสมอ ไม่ว่าจะปัญญาต่อสายอาชีพหรือปัญญาต่อตัวเอง เราก็รู้สึกว่าโอเค นี่อาจจะเป็นโลกที่เราตามหาอยู่ อาจจะเป็นปลายทางของความสุขที่แท้จริงของตัวเรา

เกษตรกรหลาย ๆ คนที่แม่จันใต้เขาปลูกกันตามมีตามเกิด รัฐบาลก็หาทางเลือกให้กับชาวบ้านที่จะสร้างรายได้โดยที่ไม่ปลูกฝิ่น ปลูกกัญชา ผลก็คือกาแฟหรือผลไม้เมืองหนาวทั้งหมดเลย

แต่การปลูกไม่ได้มีใครเข้าไปช่วย เขาจะมาโยนไว้ให้แล้วไปทำกันเอง เพราะฉะนั้น ปัญหาที่เราเห็นเทียบกับของพี่วัลมีเยอะมาก แต่จากวันนั้นจนวันนี้ ผ่านมา 5 – 6 ปี ชาวบ้านบนแม่จันใต้คั่วกาแฟกินเองแล้วนะ ไปรวมกันที่บ้านหลังหนึ่งแล้วก็เอากาแฟของแต่ละคนมานั่งคุยกัน 

ผมเรียกว่าจุดไฟติด เครื่องสตาร์ตติด ผมไม่ต้องทำอะไรแล้ว รอดูว่ารถคันนี้จะวิ่งไปทางไหน เรามีหน้าที่แค่ไปช่วยเขาเช็กเครื่อง เช็กน้ำ ดูซิว่ามันจะร้อนเกินไปไหม ที่ปัดน้ำฝนเปลี่ยนหรือยัง

วิกฤตกาแฟไทยในสายตา ‘บิ๊ก บริรักษ์’ ผู้เชื่อว่ากาแฟให้ชีวิตและดูแลตั้งแต่ดินยันดอย

คนเมืองอย่างคุณเข้าไปผูกมิตร ก่อฟืน ก่อไฟ ก่อนจะจุดไฟติดได้ยังไง 

ที่แม่จันใต้ง่ายเพราะเรามีลีเป็นตัวกลาง แต่ถ้าเป็นสวนที่อยู่ดี ๆ เราขับรถเข้าไปหา แล้วคุยกับชาวบ้านว่า ผมเป็นคนทำกาแฟนะ ผมมีโรงคั่วเล็ก ๆ ผมอยากได้กาแฟพวกพี่มากเลย ส่งให้ผมหน่อยได้ไหม แล้วเดี๋ยวเราช่วยกันทำให้มันดีขึ้น จะมีสักกี่คนเชื่อคำพูดผม เพราะว่าเขาเองก็โดนหลอกมาเยอะ มันเป็นเรื่องของคู่บุญวาสนาแล้ว

เราเชื่อว่าคนที่มีศีลเสมอกัน เราเข้าไปคุยและพิสูจน์อะไรบางอย่างให้เขาเห็น เขายอมเปิดใจรับความช่วยเหลือ มันก็ปล่อยไปตามครรลอง ปล่อยตามธรรมชาติไป ถ้าสุดท้ายแล้วเขาไม่เห็นด้วยหรือไม่ชอบสิ่งที่เราทำ ก็ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวไว้เจอกันใหม่ ซึ่ง ณ เวลานั้นมันก็ยาก เราไปหาสัก 10 แหล่ง จะได้มาคุยสักครึ่งแหล่ง ยังไม่ถึง 1 เลยนะ เราหาสัก 20 แหล่ง จะได้สัก 1 แหล่ง 

สื่อสารกับเกษตรกรบนดอยยังไงให้เข้าใจ

เขามีหลายชนเผ่ามากครับ แต่ละชนเผ่ามีคาแรกเตอร์วัฒนธรรมในการครองชีพของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่พูดภาษาไทย ถ้าพูดก็จะค่อยไม่ชัด แต่เราก็ต้องยอมรับ จะไปสอนเขาพูด บังคับให้เขาเรียนภาษาไทยก็คงเป็นไปไม่ได้

แสดงว่านอกจากคุยเรื่องกาแฟ ยังต้องสอนองค์ความรู้อื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย

แน่นอน เราเรียกทุก ๆ คนว่า บัดดี้ 

โจทย์แรกคือการที่คุณต้องเปิดใจกับการพัฒนา คือเราไม่ได้คาดหวังหรอกว่าแหล่งที่คุณมีคะแนนเต็ม 10 คุณจะได้ 9 ครึ่ง สิ่งที่เราคาดหวัง คือคุณพร้อมที่จะพัฒนาจาก 4 ไป 5 ไป 6 ไป 7 พร้อม ๆ กันกับเราไหม

ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ แสนชัย เขาเป็นเจ้าของสวนกาแฟคนหนึ่งที่เติบโตมาจากแทบจะไม่มีอะไรเลย คุณภาพสวนกาแฟค่อนข้างย่ำแย่ เราเข้าไปช่วยกันจัดการเรื่องดิน เลือกเพื่อนบ้านหรือต้นไม้ข้าง ๆ ที่เป็นสายพันธุ์อื่น ๆ ตอนนี้ปีล่าสุดเขาประกวดเมล็ดกาแฟได้ที่ 4 ด้วยสายพันธุ์บ้าน ๆ ที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ พิสูจน์ให้เห็นว่ากาแฟดีขึ้นได้นะถ้าเราเข้าใจว่ามันต้องการอะไร 

วิกฤตกาแฟไทยในสายตา ‘บิ๊ก บริรักษ์’ ผู้เชื่อว่ากาแฟให้ชีวิตและดูแลตั้งแต่ดินยันดอย
วิกฤตกาแฟไทยในสายตา ‘บิ๊ก บริรักษ์’ ผู้เชื่อว่ากาแฟให้ชีวิตและดูแลตั้งแต่ดินยันดอย

ในเมื่ออุปสรรคคือเกษตรกรไม่ใช้ภาษาไทย แล้วโน้มน้าวยังไงให้เขาเห็นภาพความหวังเดียวกันกับคุณ 

อันดับแรกคือให้กินกาแฟพี่วัลก่อนครับ (หัวเราะ) 

เรามักจะพกกาแฟพี่วัลไปด้วย บอกเขาว่า พี่ มาลองกินกัน กาแฟดี ๆ รสชาติแบบนี้นะ ส่วนใหญ่เขาก็จะว้าว แล้วเราค่อยอธิบายว่าจริง ๆ แล้วการได้มาซึ่งรสชาติประมาณนี้ควรทำอะไรบ้าง มันเข้าถึงง่ายเพราะเขาได้สัมผัสด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่คำพูดที่เราสร้างภาพสวยงามให้เขาฟัง 

ที่สำคัญมากคือการสร้างสัมพันธ์ส่วนบุคคลในฐานะมนุษย์กับมนุษย์ แสดงความจริงใจที่มีให้กับแหล่งปลูกนั้น ๆ เหมือนกันกับการสร้างเพื่อน เพราะเราไม่อยากทำงานกับชาวสวน เราอยากทำงานกับเพื่อนที่บังเอิญเป็นชาวสวน

เรามีโปรเจกต์เล็ก ๆ ชื่อว่า ‘School Bus’ พาคนที่สนใจกาแฟขึ้นไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ 3 วัน 2 คืน สิ่งหนึ่งที่เราก็เพิ่งมาเข้าใจว่าเราสร้างคุณประโยชน์มาก ๆ จากกิจกรรมนี้ คือกำลังใจที่ชาวบ้านในแต่ละท้องที่ที่ได้รับ โดยเฉพาะชนเผ่าปกาเกอะญอ เขาเป็นคนสุภาพจนขี้เกรงใจ กลัวแม้กระทั่งจะมาพูดคุยกับเรา แต่หลัง ๆ เราจับได้ว่าทุกครั้งที่มีลูกทริปขึ้นมาบนหมู่บ้าน เราจะเห็นความภาคภูมิใจของเขาที่อยากทำกาแฟให้ดีต่อไป เพราะมีคนรอกินกาแฟเขาอยู่

ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาว่า เวลาขึ้นไปบนดอย ชาวบ้านจะรีบเอากาแฟมาให้คุณชิม

ใช่ เขาคงคิดว่าเราชอบกินกาแฟมาก 

ชาวบ้านมี 2 ลักษณะ กลุ่มแรกคือมีการคั่วกาแฟอย่างบ้านแม่จันใต้ ถ้าไปทีคุณต้องเตรียมท้องไปดี ๆ เพราะจะมีเด็กรุ่นใหม่อายุ 20 ต้น ๆ ที่กลับมาหมู่บ้านแล้วอยากทำกาแฟให้พวกเราชิม 20 – 30 ตัวอย่าง หนักพอ ๆ กับการประกวดเลย

อีกกลุ่มคือไม่ได้มีเครื่องคั่ว ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับกาแฟมาก แต่เขาแค่อยากถือถุงพลาสติกธรรมดาใส่สารกาแฟมาให้เรา ซึ่งเขาก็ไม่รู้หรอกว่าเราต้องการเท่าไหร่ เวลาขึ้นดอยเราก็จะเอาเครื่องคั่วเป็นตะแกรงกับเตาแก๊สเล็ก ๆ ไปด้วย เพื่อที่จะคั่วกินกับเขา อธิบายว่ากาแฟของเขาดีไหม ต้องทำยังไงให้ดีขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้นะว่าตอนนี้กาแฟกลายเป็นพืชที่เลี้ยงชีพพวกเขาได้โดยไม่ต้องลงแรงอะไรมาก เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวโพด สตรอว์เบอร์รี หรือผักต่าง ๆ 

ที่สำคัญคือกาแฟเป็นพืชไม่กี่ชนิดหรอกที่อยู่กับป่าได้อย่างสมบูรณ์ ฉะนั้น กลุ่มปกาเกอะญอที่เขานับถือผี นับถือวัฒนธรรมเก่า ๆ อย่างการบวชลูกไว้กับต้นไม้ 1 ต้น เป็นกุศโลบายให้เด็กคนหนึ่งดูแลต้นไม้ เขาก็จะทำทุกทางเพื่อรักษาป่าต้นน้ำเอาไว้และเลือกปลูกกาแฟมากขึ้นเรื่อย ๆ 

รู้สึกยังไงที่คุณเหมือนกลายเป็นหมุดหมายของชาวบ้าน ตั้งใจทำสวนตัวเองให้ดีเพื่อนำมาให้คุณชิม

ภูมิใจมาก เรารู้สึกเป็นเกียรติมากที่จะได้ชิมกาแฟของทุกท่าน 

แต่ขออย่างเดียวนะครับ เราขอน้ำพริกอร่อย ๆ ซึ่งชาวบ้านเขาจะรู้กัน เมื่อไหร่ที่ขึ้นไปเขาก็จะเตรียมชุดใหญ่ไว้ให้ (หัวเราะ)

ต้องเผยแพร่ความรู้ไปจนถึงระดับไหนถึงรู้สึกว่าพอได้แล้ว

อันดับแรก เราเชื่อว่ากาแฟไม่เคยหยุดนิ่ง การที่สักคนหนึ่งจะบอกว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกาแฟ พูดแค่นี้มันก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแล้วไหม เราต้องศึกษาไปตลอดไม่ว่าจะมากจะน้อย การอยู่จุดที่ทุกคนรออะไรบางอย่างจากเรา ถ้าหยุดอยู่กับที่ก็เท่ากับเราเดินถอยหลัง เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา 

เป็นเหตุผลมาก ๆ ที่เราตั้งชื่อร้านว่า School Coffee เราเชื่อว่ามนุษย์ต่างจากสัตว์โลกชนิดอื่น ๆ ตรงที่เราส่งต่อความดีงาม ทั้งวัฒนธรรม ความรู้ มารยาท และอีกมากมายที่จรรโลงโลกใบนี้ให้สวยงาม ซึ่งเวลานี้มันคือองค์ความรู้การทำกาแฟให้ดี ไม่ว่าคุณจะอยู่บทบาทไหนของสายพานการผลิตก็ตาม 

มันเป็นเป้าหมายในชีวิตเราที่จะต้องส่งต่อความรู้เหล่านี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทำไม่ไหวแล้ว จนกว่าเราจะไม่มีแรงปีนดอยไปบู๊ ๆ กับน้อง ๆ จนกว่าเราจะไม่มีแรงยกถ้วยกาแฟ ยกช้อนชิมกาแฟ แล้วอธิบายใครว่ากาแฟตัวนี้เป็นยังไง จนกว่าวันหนึ่งเราจะมีน้อง ๆ ที่รู้สึกว่าเขาบ้าไปกับเราได้ขนาดที่เราเคยเป็น ถ้ายังไม่ถึงจุดนั้น เราจะไปต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไม่ไหว 

มองไม่เห็นภาพตัวเองหยุดทำกาแฟเลยเหรอ 

เออ ไม่เลยนะ 

แต่มีภาพหนึ่งที่เคยคุยกับภรรยาไว้ว่า ถ้าลูกโตแล้ว ถ้าเราวางใจเรื่องกาแฟให้กับน้อง ๆ ได้ เราอยากไปอยู่สงบ ๆ บนป่า บนเขา ไม่มีปัจจัยทางโลกมาเกี่ยวข้องอะไรมาก แต่ถ้าถามว่ามีอาชีพอื่นไหม ผมนึกไม่ออกเลยจริง ๆ 

วิกฤตกาแฟไทยในสายตา ‘บิ๊ก บริรักษ์’ ผู้เชื่อว่ากาแฟให้ชีวิตและดูแลตั้งแต่ดินยันดอย
วิกฤตกาแฟไทยในสายตา ‘บิ๊ก บริรักษ์’ ผู้เชื่อว่ากาแฟให้ชีวิตและดูแลตั้งแต่ดินยันดอย

ทำไมถึงตั้งชื่อลูกชายว่า น้องดิน 

มันประกอบกันหลายอย่าง แต่ปัจจัยสำคัญคือเรื่องกาแฟกับหนังสือเล่มหนึ่ง 

ภรรยาผมชอบอ่านหนังสือมากครับ ตอนตั้งท้องก็ตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุก ๆ วัน ผมอ่านหนังสือแล้วหลับ เลยต้องนอนฟังภรรยาอ่าน มันชื่อว่า ดิน-วิญญาณ-สังคม : Soil-Soul-Society

หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจว่า ดินเป็นจุดเริ่มต้นของแทบทุกอย่างบนโลกใบนี้ และเป็นจุดย่อยสลายของแทบทุกอย่างบนโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน เราอยากให้ลูกเกิดมามีคุณค่าแบบนั้น 

ส่วนชื่อจริงชื่อ วนรักษ์ วน ที่แปลว่า ป่า รักษ์ ที่แปลว่า รักษา เราอยากให้ดินดูแลป่าเขาต่อไป ด้วยการเลี้ยงดูของเราก็พยายามพาเข้าสวน เข้าป่าอยู่ตลอด ดินมีความสุขกับการอยู่กับธรรมชาติ นั่นคือสิ่งที่เรารู้ ส่วนตอนนี้ไปช่วยแม่ปลูกผักอยู่หน้าบ้าน (หัวเราะ)

Good Coffee for Everyone

ในฐานะที่อยู่ในวงการกาแฟไทยมานับสิบปี มองเห็นพัฒนาการอะไรบ้าง

จริง ๆ มีทั้งสิ่งที่พัฒนาและหยุดนิ่ง

สิ่งที่พัฒนาเป็นภาพใหญ่ที่เติบโตมาก ตั้งแต่เรื่องเกษตรกรรม เทคนิคการแปรรูป การคั่วกาแฟด้วยรูปแบบใหม่ ๆ ที่สำคัญคือลูกค้าผู้ดื่ม คือทั้งหมดจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ถ้าลูกค้าไม่ได้ให้ความสำคัญกับการยอมจ่ายเงินแพง ๆ ซึ่งการที่ลูกค้ามีมากขึ้นและเก่งขึ้น ทำให้ทั้งสายพานการผลิตมีมากขึ้นเช่นเดียวกัน

แต่ก่อนเราจะได้ยินคำว่า ‘ปล่อยเทวดาปลูก’ เยอะมาก นาทีนี้ต้องไม่ใช่แค่นั้นแล้ว มันคือการใช้ความพยายามของมนุษย์ทั้งแรงกาย แรงเงิน และแรงใจ เข้าไปทำให้สภาวะธรรมชาติกลับมาพร้อม เพื่อให้ต้นกาแฟเติบโตและสร้างผลผลิตที่ดี ๆ ในจำนวนมาก ๆ 

ส่วนสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยตั้งแต่ 10 ปีที่ผมทำกาแฟมา ผมเรียกกาแฟว่า ‘Social Lubricant’ หรือ ตัวกลางที่ทำให้สังคมยังขับเคลื่อนไปต่อ กาแฟทำให้คนมาเจอกัน สร้างงาน สร้างธุรกิจ สร้างความสัมพันธ์ สร้างความรัก และมันก็ยังทำหน้าที่ของมันอยู่จนทุกวันนี้นะครับ 

บิ๊ก บริรักษ์ อดีตวิศวกรผู้เริ่มต้นด้วยกำไร 700 บาทจากพื้นดิน ถึงวันที่ช่วยพัฒนากาแฟชาวบ้านบนดอยนาน 10 ปี
บิ๊ก บริรักษ์ อดีตวิศวกรผู้เริ่มต้นด้วยกำไร 700 บาทจากพื้นดิน ถึงวันที่ช่วยพัฒนากาแฟชาวบ้านบนดอยนาน 10 ปี

แต่สถานการณ์ปัจจุบันของวงการกาแฟกำลังเข้าขั้นวิกฤต

เป็นวิกฤตในฝั่งของการเกษตรกรรมครับ คือจำนวนกาแฟลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสาเหตุมีอยู่ 3 อย่าง 

อย่างแรก คือเรื่องของธรรมชาติ ประกอบไปด้วย ดิน อากาศ น้ำ ฯลฯ Climate Change เปลี่ยนแปลงทั้งฤดูกาล อุณหภูมิความร้อน ความหนาว ทำให้ต้นกาแฟที่เคยแข็งแรงในสภาวะที่มันเคยอยู่ ป่วยได้ 

เราเก็บเกี่ยวกาแฟ 1 ครั้งต่อปี แต่ขุนช่างเคี่ยนปีนี้เก็บครั้งที่ 2 

โดยธรรมชาติ พอกาแฟได้น้ำก็จะผลิตยอดผลิตใบขึ้นมา เข้าสู่ช่วงฤดูหนาวก็็จะเริ่มแห้งแล้ง เริ่มสร้างดอก สร้างผล แล้วกลายเป็นลูกเชอร์รี แต่คราวนี้ฤดูกาลมันสั้นลง ไม่ได้ทิ้งช่วงเหมือนทุก ๆ ปี เกิดฝน เกิดแล้ง เกิดหนาว 2 ครั้งแล้วใน 1 ปี ซึ่งจะส่งผลยังไงก็ยังไม่รู้ ต้องลองไปชิมกัน

เรื่องน้ำ เราเจอฝนตกระหว่างฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้นบ่อย แทนที่เชอร์รีจะต้องสุกสมบูรณ์ กลายเป็นสุกแค่ 80% คุณภาพก็ลดลงแล้ว การลำเลียงน้ำของต้นแม่ก็ทำให้เชอร์รีบางส่วนแตก คือลูก ๆ ได้กินแต่น้ำ บวมน้ำ จนมันเต่งแล้วก็แตก ลดจำนวนของเมล็ดกาแฟที่เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวได้

อย่างที่ 2 คือสิ่งมีชีวิตที่เราเรียกว่าศัตรูพืช มันเติบโตแข็งแรงมากขึ้นเหมือนไวรัสที่แปลงตัวเองเป็นโควิด-19 เชื้อจุลินทรีย์ แบคทีเรีย ตัวแมลงก็มีผลโดยตรงกับลูกเชอร์รี มอดเจาะผลกาแฟ สร้างลูกสร้างไข่กันในนั้น ทำให้กาแฟแต่ละสวนสูญเสียไป 10% จนถึง 70% ผลิตกาแฟมาตันหนึ่ง ขายได้แค่ 300 โล บวกกับฝนตกยาวนานมากขึ้น ความชื้นเป็นปัจจัยให้แบคทีเรียและเชื้อราเติบโตได้ดี ทำให้ต้นไม้ตาย 

อย่างที่ 3 คือมนุษย์ด้วยกันเอง พอกาแฟเชอร์รีติดน้อย ต้นกาแฟตายไปเยอะ ก็จะมีการขโมยเชอร์รีกัน ไม่ได้เป็นการเด็ดแล้วเอาขึ้นกระสอบนะ แต่เป็นการตัดทั้งต้นเพื่อโยนขึ้นรถกระบะแล้วก็ขับรถไปที่ลานโพรเซสตัวเองเพื่อไม่ให้รู้ว่าเป็นกาแฟใครเลย ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ตอนแรกก็ได้ยินบาง ๆ แต่ปีที่ผ่านมานี้ได้ยินหนาหูขึ้น ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลครับ 

หนึ่ง เกษตรกรผู้เป็นเจ้าของสวนกาแฟจะต้องเก็บเชอร์รีทันทีถึงแม้จะสุกไม่สุก เพราะกลัวโดนขโมย สอง กลุ่มคนที่อยากทำกาแฟดี ๆ ที่ปล่อยให้เชอร์รีสุกสมบูรณ์ก็ค่อย ๆ ลดหายตายจากกันไป สาม คุณภาพกาแฟที่ได้จากการเก็บเชอร์รีประเภทนี้จะด้อยลง แต่ราคาดันสูงขึ้น เพราะผลผลิตมีน้อย คนดื่มก็จะเริ่มรู้สึกห่อเหี่ยวว่านี่หรือกาแฟไทยที่แพง ๆ 

อีกอย่างคือกลุ่มคนที่หาผลประโยชน์จากผลผลิตของกาแฟได้ สมมติว่ามีนายทุนกลุ่มหนึ่งกว้านซื้อกาแฟลาว เมียนมา ในราคากิโลละ 100 บาท จำนวน 1,000 ตัน แล้วกลับมาบ้านเราเพื่อปั่นราคากาแฟไทยให้แพง ส่งลิ่วล้อเข้าไปซื้อกาแฟเชอร์รีในพื้นที่ต่าง ๆ ในราคาสูงโดยไม่มีใครแข่งด้วยนะ อาทิตย์นี้เปิดราคาให้ 35 บาทต่อกิโลกรัม อาทิตย์หน้าให้ 40 ชาวบ้านก็ต้องขาย พอราคาเชอร์รีมันสูง ก็ต้องทำกาแฟราคาแพงไว้เช่นเดียวกัน พอกาแฟไทยราคาสูงมาก ๆ ไปแตะถึงหลัก 300 เทียบกับกาแฟที่เขาเคยซื้อมาเก็บไว้แค่กิโลละร้อยเดียว เขาก็เอากาแฟเหล่านี้มาขึ้นราคาเป็น 200 แล้วเอามาปล่อยในพื้นที่บ้านเรา 

เป็นเพราะว่าช่วงปีหลัง ๆ นี้วงการกาแฟไทยเริ่มพัฒนาและได้รับความน่าสนใจขึ้นมากด้วยไหม

ใช่ครับ ถ้ามองในมุมนักธุรกิจ เขาจะรู้ดีว่าสินค้าประเภทหนึ่งที่ไม่เคยราคาตกและมีคนต้องการซื้อเสมอก็คือกาแฟ เลยเป็นการลงทุนที่แทบจะปลอดภัยแน่นอน

ทางออกของปัญหาเหล่านี้คืออะไร 

การลดลงของผลผลิตก็พอมีแสงปลายทางบ้างครับ คือในขณะที่กาแฟไทยมีจำนวนลดลงมาก แต่ก็มีบางส่วนที่ยังคงปริมาณการผลิตและคุณภาพทั้ง 2 อย่างได้ปกติ ยังปลูกกาแฟอยู่เป็นที่เดิม ๆ หรือบางท่านจะเรียกว่า Microclimate 

การสร้างสภาวะ Microclimate จะทำให้ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมภายนอก อากาศ น้ำ หรืออุณหภูมิภายนอกมากระทบอะไรเขามากไม่ได้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่เราในการไปศึกษาว่าสวนเหล่านี้ทำยังไง ทำไมเขาถึงยังคงคุณภาพและปริมาณการผลิตได้ 

ส่วนเรื่องศัตรูพืช ไม่ยากเกินทำครับ มีนักวิจัยบ้านเราเก่ง ๆ ที่ผลิตการกำจัดศัตรูพืชด้วยการใช้เชื้อราอีกชนิดหนึ่งไปต่อสู้กับเชื้อราที่เป็นศัตรูพืชกาแฟ โดยไม่ส่งผลใด ๆ กับรสชาติของกาแฟ รวมไปถึงคุณภาพของต้นไม้ด้วย แล้วที่สำคัญ มันเลี้ยงเองง่ายมากจนแทบจะไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย หน้าที่พวกเราคือการเผยแพร่ ช่วยกันเอาขึ้นดอยไปให้ชาวบ้าน 

อันสุดท้ายที่ยากสุดก็คือมนุษย์ อื้อหือ ไม่รู้จะทำยังไงกันเลย เราคนเดียวหรือแม้กระทั่งพี่หลาย ๆ คน รวม ๆ กันก็ยังจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ 

พอจะมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เหมือนวิกฤตอื่น ๆ บ้างไหม

โห เรื่องนั้นต้องขอพลังรัฐบาลใหม่ช่วยแก้ไขเรื่องการศึกษาก่อนครับ แล้วก็เรื่องมุมมองต่อโลกใบนี้ที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เรามีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเยอะ ในขณะที่คุณค่าทางจิตใจของมนุษย์กลับค่อย ๆ จางลง สวนทางกับความเร็วที่เกิดขึ้น เอื้อให้เกิดสังคมที่ว่ากันด้วยผลประโยชน์มากกว่าความสุขแท้จริงที่มนุษย์พึงมี

รู้สึกยังไงที่คนนอกวงการหรือผู้บริโภคไม่ได้รับรู้ว่ากาแฟที่หากินได้ทุกวัน ๆ มีวิกฤตขนาดนี้ซ่อนอยู่

ระดับโลกเขาคุยกันมานานแล้วนะว่าวันหนึ่งจะไม่มีกาแฟกิน ปีล่าสุดบนโต๊ะของการประชุมใหญ่องค์กรกาแฟระดับโลกก็เสิร์ฟกาแฟปกติ พอจบงานเขาเฉลยว่ากาแฟที่ทุกคนกินเรียกว่า ‘Beanless Coffee’ คือไม่มีเมล็ดกาแฟอยู่เลย พูดง่าย ๆ คือเป็นการสังเคราะห์เคมีล้วน ๆ 

มันเป็นตลกร้ายในความคิดเรานะ อยากให้คนเหล่านั้นเห็นค่าของการดูแลต้นกาแฟก่อน ก่อนจะมานั่งประชุมกันว่าเทคโนโลยีอะไรที่ทำให้กาแฟดีขึ้น

เราในฐานะปลายน้ำเหมือนกับผู้ดื่มทุก ๆ คน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีโอกาสในการซื้อกาแฟทุก ๆ วันการที่ทุกท่านตัดสินใจซื้อกาแฟในแต่ละแก้ว เชื่อไหมว่ามีผลกระทบไปถึงกลุ่มเกษตรกร 

เราจ่ายเงิน 50 – 60 บาทให้ร้านหรือโรงคัั่วที่เขาให้ความสำคัญกับการย้อนกลับไปดูแลป่า เงิน 50 – 60 บาทเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ ถูกแบ่งสรรปันส่วน ทยอยกลับไปสู่ต้นน้ำซึ่งก็คือเกษตรกร แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเห็นว่าคนเมืองหรือลูกค้าให้คุณค่าและให้มูลค่ากับการดูแลป่าที่เขาทำอยู่ เขาก็จะมีกำลังใจมาก ๆ ในการดูแลป่าต่อ แล้วเราก็จะได้กินกาแฟที่มีคุณภาพดีไปเรื่อย ๆ 

ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่มีเม็ดเงินมาช่วยเหลือกลุ่มร้านค้าหรือโรงคั่วเหล่านี้ เกษตรกรก็อาจจะไม่มีทางเลือก อาจต้องตัดป่าตัดต้นไม้เพื่อปลูกพืชชนิดอื่น เมื่อไหร่ก็ตามที่ถึงจุดนั้น เราอาจจะกลับตัวไม่ทัน และพูดว่า ต่อไปจะไม่มีกาแฟกิน ได้อย่างเต็มปากมากขึ้นเรื่อย ๆ 

บิ๊ก บริรักษ์ อดีตวิศวกรผู้เริ่มต้นด้วยกำไร 700 บาทจากพื้นดิน ถึงวันที่ช่วยพัฒนากาแฟชาวบ้านบนดอยนาน 10 ปี
บิ๊ก บริรักษ์ อดีตวิศวกรผู้เริ่มต้นด้วยกำไร 700 บาทจากพื้นดิน ถึงวันที่ช่วยพัฒนากาแฟชาวบ้านบนดอยนาน 10 ปี

ถ้าโลกนี้ไม่มีกาแฟอีกแล้วจะเป็นยังไง

ขอนึกภาพว่าเกิดขึ้น ณ เวลานี้เลยได้ไหม เรานิยามว่ากาแฟให้ชีวิตเรามาก ๆ 

อันดับแรก คือต้องเกิดความโกลาหลในสายงานที่เกี่ยวข้องกับกาแฟทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้แปรรูป โรงคั่ว หรือธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ เครื่องทำกาแฟ แพ็กเกจจิ้ง ธุรกิจผลิตแก้วกาแฟ ฯลฯ กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะไม่ได้รายได้ใด ๆ 

แม้กระทั่งตัวเราเองก็จบเลย เพราะอย่างที่เล่าให้ฟังว่าเราไม่คิดจะทำอย่างอื่นแล้วนะครับ ไม่รู้จะเอาอะไรไปเลี้ยงลูกแล้ว 

อย่างต่อมา ถ้าคนไม่มีกาแฟกินกัน Social Lubricant ที่ว่าก็จะหายไป ผมจะต้องไปหาตัวอื่นมาทดแทน ถ้ามองในแบบแย่ ๆ เลยคืออาจไม่มีการขับเคลื่อนทางสังคมมากเหมือนที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

และที่สำคัญมาก คือป่าไม้จะค่อย ๆ หายไป มีแค่ไม่กี่พืชผลที่สร้างอาชีพโดยปลูกกับป่าได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนใหญ่แล้วพืชเศรษฐกิจทั้งหลาย ข้าวโพด ถั่ว มักต้องการแสงแดดโดยตรง เกษตรกรก็ไม่มีทางเลือก สุดท้ายต้องไปตัดต้นไม้ใหญ่กัน ซึ่งพอต้นไม้ใหญ่หาย ระบบนิเวศพัง สิ่งมีชีวิต จุลินทรีย์ต่าง ๆ ล้มหายตายจากกันไป ก็จะวิ่งสู่ความแห้งแล้งและทะเลทรายในที่สุด

การมีอยู่ของกาแฟอาจจะเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ที่มีความจำเป็นต่อโลกใบนี้พอสมควร

จะชักชวนคนที่มีกำแพงกับกาแฟหรือไม่เคยดื่มให้เข้าวงการได้ยังไง 

ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบความสวยงามของธรรมชาติ ตั้งแต่ต้นทาง การเพาะปลูก การแปรรูป การคั่ว การชง จนมาถึงการดื่ม ถ้าคุณชอบเสน่ห์ของสิ่งเหล่านี้ กาแฟน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีขั้นตอนกว่าจะมาถึงแก้วที่คุณกำลังยกกินอยู่ตอนนี้มากที่สุดในโลกแล้ว และการรักษาซึ่งความดีงามของมันจนมาถึงมือนี่แม่งโคตรยาก 

เขยิบมาแคบลง ถ้าปราศจากกาแฟแก้วนั้นของพี่วัล ชีวิตคุณตอนนี้จะเป็นยังไง 

เราก็คงวิ่งวนอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องบิน อาจจะเป็นหัวหน้าโรงผลิตหรือเป็นผู้บริหาร วิ่งวนอยู่ในครรลองของสังคมที่คนส่วนใหญ่สร้างไว้ให้ ยังคงทำงานอยู่ในสายงานที่ไม่รู้ว่าเรามีความสุขกับการทำงานไหม สำหรับเรามันคือความผิดมหันต์ต่อตัวเอง แม้กระทั่งตัวเรายังตอบไม่ได้ว่าที่เราทำอยู่มีความสุขหรือเปล่า ซึ่งไม่ใช่วิถีชีวิตที่เราอยากเป็นแน่ ๆ 

โลกของกาแฟที่เป็นอยู่ตอนนี้ทำให้เราสงบขึ้น เงียบลง ไม่อยากมีชื่อเสียง ไม่อยากเด่นดัง มีสปอตไลต์มาส่อง ซึ่งถ้าไม่มีกาแฟ เราก็คงไม่ได้สัมผัสความรู้สึกพวกนี้

บิ๊ก บริรักษ์ อดีตวิศวกรผู้เริ่มต้นด้วยกำไร 700 บาทจากพื้นดิน ถึงวันที่ช่วยพัฒนากาแฟชาวบ้านบนดอยนาน 10 ปี

ถ้าเปรียบชีวิตของ บิ๊ก บริรักษ์ เป็นกาแฟ 1 แก้ว คิดว่าจะมีรสชาติแบบไหน

เอาจริง ๆ แอบคิดว่ามันเรียบง่ายนะ 

ตอนที่เราตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อนเคยบอกเราว่า การที่มึงจะประสบความสำเร็จได้ มึงต้องลงไปจุดที่ต่ำที่สุดในชีวิตก่อนแล้วถึงจะเข้าใจว่าสิ่งที่ดีขึ้นคืออะไร

เราก็มานั่งหาว่า แล้วจุดต่ำสุดในชีวิตกูคืออะไรวะ

คำตอบคืออาจจะเป็นจังหวะชีวิตที่มีเงิน 700 – 800 ต่อเดือนเข้ามาแหละ แต่เชื่อไหมว่าตลอดเวลาที่เราทำงานกาแฟมา เรายังมีสิ่งที่เรียกว่าแพสชัน ไม่ใช่แค่ชอบที่จะทำมัน แต่เราภูมิใจที่จะตื่นมาทำในทุก ๆ วัน เราภูมิใจในการทำกาแฟ มีความสุขกับมัน ไม่ว่าสุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะได้กลับมาแค่ไหน ขนาดว่านั่นคือจุดต่ำที่สุดของเราแล้ว เรายังไม่คิดว่ามันสร้างความโกลาหลหรือความลำบากให้กับชีวิตเราเลย 

กาแฟแก้วนี้คงเรียบง่ายแต่ว่าทรงคุณค่า คือมีความดีงามในแบบที่กาแฟควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นความสะอาด รสชาติที่อยู่ด้วยกันกำลังดี ไม่เปรี้ยวมากไป ไม่หวานจนเลี่ยนคอ และทิ้งท้าย Aftertaste ที่น่าประทับใจไว้ เป็นกาแฟที่จะชวนคุณกลับมาดื่มเสมอ

ในหลาย ๆ ครั้ง เรามักเห็นคุณเรียกต้นกาแฟว่า ‘คุณแม่’ จากการเรียนรู้เรื่องกาแฟมาค่อนชีวิต ขอ 1 บทเรียนจากกาแฟที่คุณจะเอาไปใช้สอนลูก

You get what you give. คือ 1 บทเรียนที่ดีเสมอครับ 

เราเชื่อว่าการกลับไปดูแลธรรมชาติ เดี๋ยวสักวันธรรมชาติก็จะให้อะไรเรากลับมา ระยะเวลา 10 ปีที่เราทำอยู่ มันตอบประโยคนี้ได้อย่างไม่มีข้อสงสัยอะไรเลย 

กาแฟสร้างครอบครัวที่เรามีความสุขมาก เรามีดิน มี จอม (ภรรยา) เราเจอจอมบนสวนกาแฟ 

กาแฟสร้างธุรกิจที่เราตื่นเช้ามาแล้วอยากไปร้านทุก ๆ วัน อยากเข้าไปดู เข้าไปชิม เข้าไปทดสอบ แล้วก็สนุกกับน้อง ๆ ในร้าน 

กาแฟสร้างเป้าหมายปลายทาง รวมถึงความคิดในวันที่เราเริ่มแก่ขึ้นเรื่อย ๆ เห็นชัดมากขึ้นว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่ต้องการในชีวิตคือคำว่าความสุขและความสงบ มากกว่าฐานะเงินทอง มากกว่าเกียรติยศที่เราเคยหลงใหลมาในสมัยวัยรุ่น 

นั่นคือสิ่งที่กาแฟให้มาทั้งหมดจากการที่เราแค่เข้าไปดูแลเขาให้ดี

สุดท้ายนี้มีอะไรจะฝากไหม

อยากฝากให้ติดตามการประกวดสารกาแฟไทย ‘Thai Specialty Coffee Awards’ และไปหาชิมกาแฟคุณภาพระดับประเทศเหล่านี้ได้ตามงานต่าง ๆ ถ้าชิมแล้วท่านไหนสนใจ ยังเข้าร่วมประมูลสารกาแฟที่ได้รับรางวัลทั้งหมดได้ด้วย เพื่อให้มูลค่าการประมูลเป็นรางวัลและกำลังใจให้กับความทุ่มเทตลอด 1 ปีของกาแฟกรกันครับ รายละเอียดต่าง ๆ ติดตามได้จากเพจ สมาคมกาแฟพิเศษไทย ได้เลยครับฝากอีกงานสำคัญประจำปีคือ Thailand Coffee Fest 2023 : Good Coffee for Everyone เทศกาลเพื่อคนรักกาแฟที่ปีนี้จะชวนไปย้อนดูเส้นทางการสร้างสรรค์กาแฟดีจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ และสร้างการตระหนักรู้ต่อผลกระทบที่โลกกาแฟกำลังเผชิญอยู่ แล้วเจอกันนะครับ

วิกฤตกาแฟไทยในสายตา ‘บิ๊ก บริรักษ์’ ผู้เชื่อว่ากาแฟให้ชีวิตและดูแลตั้งแต่ดินยันดอย

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographers

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล