ยากันยุง รองเท้าเดินป่า กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว หมวก เป้ใส่น้ำ กระติก ทิชชูเปียก (ห่อใหญ่) ขนม (มหาศาล) อุปกรณ์กันทากอย่างดี ยาทาแผล ยาทาแมลงกัดต่อย ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ พลาสเตอร์ น้ำเกลือ 

ลองถามพ่อแม่สักคู่ ว่าถ้าต้องพาลูกไป Fjällräven Classic Sweden กิจกรรมเดินป่า 6 วัน 110 กิโลเมตร ต้องพกอะไรไปบ้าง คำตอบคงไม่หนีจากนี้

ครอบครัวบุตรสีทาก็คล้ายกัน แต่พวกเขาคิดว่าสิ่งที่ควรพกเพิ่มไปด้วย คือใจที่อยากเดินทาง

และความเชื่อที่ว่าเรื่องนี้สำคัญกับชีวิต 

1

Fjällräven Classic Sweden เป็นกิจกรรมเดินป่าบนเส้นทางสุดคลาสสิกที่ประเทศสวีเดน ทุกคนต้องวางแผนและเดินทางแบบพึ่งพาตัวเอง

ในกิจกรรมเมื่อปีที่แล้ว นันทนา อังคสิทธิ์ และ บุญส่ง บุตรสีทา พาลูก 3 คน อายุ 14, 12 และ 9 ขวบไปเดินบนเส้นทางนี้ด้วย

คนไทยที่ไปทริปนี้คงจำครอบครัวนี้ได้ และคงรู้ด้วยว่านันทนาป่วยจนเดินต่อไม่ไหว ต้องนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปรอล่วงหน้าที่ปลายทาง (เธอกำชับเด็ก ๆ เดินต่อให้จบ) บุญส่งและลูก 3 คนตัดสินใจเดินทางต่อ ทุลักทุเลแค่ไหน บ้านนี้ก็ไม่ยอมแพ้ 

ใจที่ไม่ยอมแพ้ต่อธรรมชาติกระตุ้นให้คนอื่นในทริปฮึดสู้ วันสุดท้าย อาการป่วยดีขึ้น นันทนาเดินย้อนกลับมาเจอครอบครัวระหว่างทาง และเดินด้วยกันจนถึงจุดหมายด้วยดี

หลายเดือนต่อมา เราขอคุยกับบ้านนี้อีกครั้งผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงรู้ว่า Fjällräven Classic Sweden ไม่ใช่ทริปแรก แต่พวกเขาเดินทางไกลทุกปี ไปทีหนึ่งยาว 2 – 3 เดือน

“ตั้งแต่คนเล็ก 1 ขวบ เราก็เริ่มเดินทางแบบนี้” นันทนาเล่า

ไม่ได้ใจกล้ากว่าใคร ทั้งนันทนาและบุญส่งแค่เชื่อว่าการพาลูกเดินทางที่ไม่ใช่เพียงการท่องเที่ยว แต่คือการรู้จักโลกกว้างในอีกมุมของโลก เป็นเรื่องจำเป็นกับชีวิต 

นันทนาและบุญส่งพื้นฐานทำงานเป็นวิศวกร เคยทำงานประจำ ก่อนจะมาเปิดธุรกิจตัวเองเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ด้วยความชอบเดินทางแต่แรก เห็นคุณค่า ทั้งคู่จึงวางระบบบริษัทแต่แรกให้ทำงานทางไกลเป็นหลัก อยู่ในเซ็กเมนต์ตลาดที่ไม่แข่งขันมาก เน้นทำรายได้ระยะยาว จะได้มีเวลาพาลูกเดินทางไกล 

นันทนาบอกว่าเธอมักเลือกการเดินทางแบบ Home Swap หรือการเดินทางแบบแลกบ้านกับคนต่างชาติ วิธีนี้แตกต่างกับ Airbnb ไม่ได้เป็นกระแสเท่า ข้อดีคือเราจะได้พักในบ้านที่มีความเป็นบ้านจริง ๆ ไม่ปรุงแต่ง และเหมาะกับการเดินทางเป็นครอบครัว เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงว่าแต่ละแห่งที่ไปอยู่เขามีวิถีชีวิตอย่างไร

บุญส่งบอกว่าบ้านนี้มีลูก 4 คน คนโตทำงานเป็นวิศวกรที่สหรัฐอเมริกา ส่วนอีก 3 คนเรียนแบบ Homeschool การเรียนแบบนี้พ่อแม่จะไม่ได้ให้เรียนแต่ในบ้านอย่างเดียว มีช่วงเวลาปิดเทอมเหมือนโรงเรียนปกติ ช่วงเวลานี้เองที่บุญส่งจะพาทุกคนเดินทางไกล

“เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นแบบนี้” นันทนาหัวเราะเมื่อเราถามถึงทริปเดินป่าแห่งปี

บ้านนี้พิเศษอยู่เรื่องหนึ่ง คือการปลูกฝังไม่ให้ลูกบ่นต่อความทุกข์หรือความลำบาก เพราะเชื่อว่าหากยิ่งบ่นในทางลบ ใจจะยิ่งทำให้รู้สึกทุกข์มากกว่าเดิม

“ไม่เคยใช้คำนี้ในครอบครัวค่ะ ความทุกข์หรือความลำบากในบางสถานการณ์เป็นสิ่งที่เรากำหนดมันขึ้นมาเอง ถ้ามันดูโหด ดูยากในช่วงแรก ๆ เราเผชิญมันด้วยกัน คนอื่นรอดได้ เราก็ต้องรอดนะลูก (หัวเราะ)” นันทนาเล่า

“เขา (ลูกสาวคนเล็ก) เป็นคนที่ลำบากที่สุด ก้าวของเขาเล็กกว่าของเราครึ่งหนึ่ง เขาต้องเดินมากกว่าเรา สมมติเราเดินแสนก้าว เขาเดิน 2 แสน เขาต้องแบกน้ำหนักและความหิวมากกว่าผู้ใหญ่ตลอด เขาต้องห่างจากแม่ซึ่งเขาไม่เคยห่างจากเราเลย” 

“แต่สุดท้าย ลูกสาวคนเล็กบอกว่า ปีหน้าหนูอยากกลับไปอีก เราได้อะไรเยอะมากจากสิ่งเหล่านั้น เด็ก ๆ จะได้โดยไม่รู้ตัว” บุญส่งเล่า 

2

Trail หรือทางเดินป่า ไม่ว่าจะที่ไหน ล้วนเป็นทางเล็ก ๆ

แต่กลับสอนบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ให้ผู้คนมากมาย 

“การได้ใช้ชีวิตในเทรล เป็นมาตรฐานในการใช้ชีวิตนอกเทรลด้วย” บุญส่งพูดพลางมองไปข้างหน้า “เราไม่จำเป็นต้องมีอะไรมากมาย เราเห็นความเอื้ออาทรในเทรล ซึ่งไม่ได้มีภาษา ไม่ได้มีเพศ ไม่ได้มีวัย ได้เห็นความเป็นห่วงกันและกันจริง ๆ มันสอนให้เราได้ละอะไรที่เราแบกไว้โดยที่ไม่จำเป็นต้องแบก 

“ปรัชญาที่เราเคยคุยกันในครอบครัวมันไม่ตกผลึก จนเราได้ผ่านเทรลมาแล้ว แทบไม่ต้องพูดอะไรกัน เรารู้ว่าจะต้องไปยังไงต่อ” นันทนาเสริม

ความจริงครอบครัวไม่ได้ตั้งใจจำกัดรูปแบบการเดินทาง ไม่ว่าจะป่าหรือเมือง ล้วนมอบอะไรให้ลูกได้หมด 

“เราจะเห็นความไม่มีเส้นแบ่งของอาหาร อากาศ ที่อยู่อาศัย รวมถึงวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน เราจะอธิบายอะไรให้เขาง่ายขึ้น ไม่ต้องอธิบายเยอะในเรื่องของความเข้าใจ ความแตกต่าง มันก็จะเปิดโลกของเขาให้กว้างขึ้น แล้วเรามีโอกาสได้อยู่กับเขา ใช้เวลาด้วยกันเต็มที่ ได้สอนหรือชี้แนะเขาในวันที่เขาพึงจะได้รับการดูแลใกล้ชิด ก็เป็นเรื่องที่เราพยายามจะไปทุกปี” บุญส่งเล่าว่าการเดินทางสอนอะไรลูก ๆ บ้าง

“เด็กจะได้รับมุมมองที่แตกต่าง เช่น เวลาไปเมืองใหญ่ เสร็จแล้วออกไปชนบท เขาจะเห็นว่าประเทศเดียวกันก็มีมุมที่แตกต่างในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ตอนไปฝรั่งเศสเขาเห็นทุนนิยมสุดขั้วในปารีส และเห็นความสงบในชนบทของฝรั่งเศส จึงเป็นโอกาสที่จะได้เห็นมุมมอง ได้เห็นทางเลือกในชีวิตหลาย ๆ ทางว่าไม่ได้มีทางเดียว”

3

ปีนี้ เด็ก ๆ เลือกแล้วว่าจะไปเดินป่าที่สวีเดนอีกครั้ง และบอกว่าอยากทำให้ดีกว่าปีที่แล้ว 

ไม่ว่าอย่างไร ทั้งพ่อและแม่สังเกตว่าลูกของเขาเปลี่ยนไปแค่ไหนเมื่อได้ออกเดินทาง

“คนเราประกอบด้วยกายและใจ ซึ่งควรโตไปพร้อมกัน กายเราก็ให้ปัจจัย 4 ใจเราก็อยากให้เขาโตไปพร้อมกับกาย อยากให้เขาเห็นโลกกว้าง เห็นความแตกต่างของโลกอย่างที่เป็นจริง ๆ 

“แทนที่เขาจะรับรู้จากการอ่าน ให้เขาได้ไปเจอประสบการณ์จริง แล้วเราก็ได้อยู่ตรงนั้นกับเขา ได้มีประสบการณ์ร่วมกับเขาด้วย

“เขายอมรับความจริงได้ง่ายขึ้น การจะมีหรือไม่มีอะไรก็ยอมรับได้ ไม่ดีใจหรือเสียใจสุดขั้ว เขาอาจจะมีผิดหวังเสียใจก็เรื่องปกติ เพราะว่าการเดินทางเหมือนชีวิตจริง ๆ” คุณพ่อนักเดินทางเล่า 

“การเดินทางก็คล้ายกับการดำเนินชีวิต เราวางแผนได้ เราคาดหวังได้ แต่เมื่อมีสิ่งที่ไม่เป็นไปตามแผน ทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่เราไปเจอระหว่างหลุดออกจากเส้นทาง บางครั้งสวยงามมากกว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้เสียอีก ผมว่าชีวิตคนก็เหมือนกัน”

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล