21 กุมภาพันธ์ 2024
2 K

17 กุมภาพันธ์ หลังเทศกาลวันแห่งความรัก 3 วัน The Cloud ชวนสุดยอด 15 เอเจนซี่ไทยมาพูดถึงงานที่ตัวเองรักในเทศกาล ‘Love My Work Awards 2024

เทศกาลโฆษณาใหม่ล่าสุดของประเทศไทยที่ไม่มีกรรมการตัดสิน ไม่มีถ้วยรางวัลใหญ่ แต่อบอวลไปด้วยความรักของคนธรรมดาที่รักทุกการตัดสินใจของตัวเอง จากคำถามง่าย ๆ บนโต๊ะกองบรรณาธิการว่า งานโฆษณาที่คนทำรัก แต่กรรมการไม่ชอบ ลูกค้าไม่ปลื้ม ไม่ใช่งานที่ดีจริงหรือ

บนเวทีอื่น เราอาจเห็นตัวเลขทะลุเป้าหรือความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ แต่บนเวทีนี้ เราเห็นงานที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม และหน้าตาของคนทำงานที่เหนื่อยยากกับงานทุกชิ้น ขณะเดียวกันก็เห็นพลังของความคิดสร้างสรรค์ที่อาจไม่โดดเด่นบนเวทีโลก แต่สร้างคุณประโยชน์ได้มหาศาล

นี่คือ 15 งานโฆษณาแห่งปี 2023 ที่ 15 เอเจนซี่ไทยรักมากที่สุด ท่ามกลางผู้ฟังที่แห่แหนเข้าร่วมจนล้นห้อง บ่งบอกได้ว่าถ้วยรางวัลไม่ใช่เครื่องหมายการันตีงานดีอีกต่อไป

เพราะที่นี่เราตัดสินกันด้วยเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และคราบน้ำตา 

รักงานช่วยแอปฯ ดิลิเวอรีไทยสู้กับแอปฯ ต่างชาติด้วย Quote บ้าน ๆ ของร้านอาหารตามสั่ง 

โดย ปภพ เชาวนปรีชา, Executive Creative Director

ออ-ปภพ เชาวนปรีชา เริ่มเป็นคนแรกด้วยงาน ‘โค้ดส่วนเลิฟ’ จากลูกค้า Robinhood Food 

โจทย์คือช่วยชวนลูกค้าใหม่ ๆ มาดาวน์โหลดและสั่งอาหารจากแอปฯ Robinhood แต่ต้องคำนึงไว้เสมอว่า ต้องสื่อสารด้วยวิธีการแบบ Robinhood 

ออเจออินไซต์ว่ายุคหลังโควิด ราคายังคงเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของลูกค้าใหม่ บางคนเช็กโปรโมชัน 3 – 4 แอปฯ ก่อนสั่งอาหาร แต่จะให้ทำโปรโมชันแข่งกับแอปฯ ต่างชาติคงจะไม่ไหว 

Robinhood เป็นตัวแทนของร้านเล็ก แม้โปรฯ ไม่แซ่บเท่าร้านใหญ่ แต่พวกเขามีเซอร์วิสที่ดี เป็นมิตร จริงใจ เชื่อว่าทุกคนเดินผ่านร้านข้าวเมื่อไร พ่อค้าแม่ขายเป็นต้องร้องทักว่า “กินไรยังจ๊ะสุดหล่อ” “ลองทานไหมลูก” “ไม่สั่งจะเสียใจ”

ออเอาประโยคในชีวิตจริงมาใช้ในออนไลน์จนได้เป็นแคมเปญโค้ดส่วนเลิฟ แคมเปญที่ช่วยเสิร์ฟความจริงใจผ่านโค้ดที่สร้างโดยแม่ค้าบ้าน ๆ พ่อค้าบ้าน ๆ ร้านบ้าน ๆ อย่าง ‘KINRAIJASUDLOR’ ‘LONGTANMAILOOK’ หรือ ‘MAISANGJASIAJAI’ ดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาสั่งอาหารจาก Robinhood ออและผู้กำกับหนังโฆษณาตกลงกันว่าจะไม่แคสต์นักแสดง แต่ใช้ร้านค้าจริง ๆ ด้วยคำพูดที่ใช้จริง ๆ 

ท้ายที่สุดโค้ดส่วนเลิฟนี้สร้างลูกค้าใหม่ได้ถึง 250,000 ยูสเซอร์ จากโค้ดที่ถูกใช้ไป 10,000 ครั้งต่อวัน แต่สิ่งที่น่าชื่นใจกว่านั้นคือเสียงตอบรับจากลูกค้า คอมเมนต์จากคนทำงาน เป็นรางวัลที่ทำให้เห็นว่าวันนี้แบรนด์ไม่ได้อยู่ห่างจากผู้บริโภคอีกต่อไป และคนเบื้องหลังแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ก็คือคนเหมือนกันที่คุยกับพวกเขาอยู่

รักงานคอลแล็บขั้นเทพที่พาแบรนด์ไทยจับมือกับแบรนด์สตรีมมิ่งระดับโลก

โดย ภาคย์ วรรณศิริ, Chief Creative Officer

งานที่ ไผ่-ภาคย์ วรรณศิริ รัก คือ ‘CRYBABY SAUCE’ งานคอลแล็บระหว่างเน็ตฟลิกซ์และโรซ่า ใช้โปรโมตภาพยนตร์ คนหิว เกมกระหาย (HUNGER) ที่เล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านอาหาร สิ่งหนึ่งที่เปรียบได้กับซอฟต์พาวเวอร์คือผัดงอแงที่นางเอกใช้เป็นไม้ตายเอาชนะคู่ต่อสู้ ไผ่ดึงมันออกมาเป็นซอสที่ใช้ได้จริงบนโต๊ะอาหาร

ถามว่าทำไมถึงรักงานนี้ ประการแรก มันเกือบอยู่ในมือเอเจนซี่อื่น เมื่อโอกาสกลับมาอีกครั้ง ไผ่ไม่รีรอที่จะเสนอโรซ่าทันที 

ประการที่ 2 นอกจากโรซ่าจะเป็นแบรนด์ซอสไทยที่ไผ่ถืออยู่แล้ว โรซ่ายังรับเงื่อนไขมหาโหดจากแบรนด์ระดับโลกอย่างเน็ตฟลิกซ์ที่ไม่ได้ร่วมมือกันง่าย ๆ ไผ่ตั้งใจทำสิ่งนี้เป็นของขวัญให้กับลูกค้าของเขา เพราะนี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบรนด์ครั้งยิ่งใหญ่ที่วางแผนกันมาถึง 6 เดือน

ปกติมีลูกค้าเจ้าเดียวก็ยากแล้ว นี่เขามีลูกค้า 2 เจ้า กระบวนการคูณ 2 ทุกอย่าง ความยากของคนกลางจึงเป็นการจูนความต้องการของลูกค้า 2 เจ้าให้มาเจอกัน 

ถัดมา ไผ่เปิดภาพที่เขาไปทดลองซอสถึงบริษัทโรซ่า วันนั้นเขามีคอมเมนต์ว่า อยากได้กลิ่นกระทะแบบเดียวกับนางเอกในหนัง สิ่งที่ตอกย้ำความสู้ยิบตาของโรซ่า คือพวกเขากลับมาพร้อมกลิ่นกระทะได้จริงใน 2 อาทิตย์

ความลับอีกข้อ สินค้านี้เกือบไม่มี ออกแบบ ชุติมณฑน์ อยู่บนขวด เพราะออกแบบเป็นดารา ตามสัญญาไม่ได้ถูกจ้างมาให้ขายซอส แต่ทีมงานทุกคนก็ช่วยกันดันจนสำเร็จ 

ความลับสุดท้ายคือการจัดจำหน่าย ปกติเราจะเห็นงาน Collaboration เพื่อประชาสัมพันธ์ ผลิตแค่ 100 ชิ้น แต่สินค้านี้ทำ 300,000 ชิ้น เป็นครั้งแรกที่เกิด Top-down สินค้า เข้า 7-Eleven ทุกห้างสรรพสินค้าอยากมีซอสนี้ถึงขนาดยอมให้ไผ่ทำเชลฟ์ที่มีไฟลุก 

ประโยคเด็ดจากไผ่ที่ขมวดงานนี้ได้เป็นอย่างดีคือ It’s always impossible until it is ดัน

รักงานโปรโมตซีรีส์ใหม่ด้วยกลยุทธ์โฆษณาบนแผงลอตเตอรี่

โดย สหรัฐ สวัสดิ์อธิคม, Founder / Chairman Creative 

ชาย-สหรัฐ สวัสดิ์อธิคม เริ่มต้นการนำเสนอของเขาด้วยการเล่าความจริงข้อหนึ่งของคนทำงานโฆษณาว่า “เรามักจะทำงานบนมีเดียที่เราสบายใจ แต่น้อยครั้งมากที่เราจะมีพลังงานสร้างมีเดียของตัวเองขึ้นมาใหม่”

เขาโปรโมตภาพยนตร์ ปฏิบัติการกู้หวย จากเนตฟลิกซ์บนบิลบอร์ดที่มีขนาดแค่ใบปิดลอตเตอรี่

งานนี้เริ่มจากการระดมความคิด จนพบว่าคนไทยกว่า 30 ล้านคนซื้อลอตเตอรี่และเสิร์ชกูเกิลเรื่องลอตเตอรี่ติดอันดับ 1 ทุกเดือน ถึงขนาดที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีแผ่นปิดลอตเตอรี่หลากสีสันไว้ล่อตาล่อใจ ที่สำคัญ ใบปิดเล็ก ๆ นี้ไม่เคยถูกใช้เป็นโฆษณา ชายจึงเปลี่ยนมันให้กลายเป็นโปสเตอร์หนังเรื่องนี้ซะเลย พร้อมข้อความ เก็บไว้ให้ดี ระวังหาย นอกจากเป็นใจความสำคัญของเรื่อง ยังเป็นการบอกให้ทุกคนเก็บโฆษณาชิ้นเล็กจิ๋วนี้ใส่กระเป๋าไว้ด้วย 

ทุกครั้งเวลาสร้างมีเดียใหม่ ๆ คำถามที่ชาวเอเจนซี่เจอเหมือนกันหมดคือ Eyeball จะมีกี่คน แต่ชายบอกว่านิยามของการทำโฆษณาสมัยใหม่คือการสร้างสตอรีให้กับชิ้นงาน

CJ WORX ได้ Eyeball ไปทั้งหมด 94 ล้านครั้ง และพาหนังเรื่องนี้ทะยานขึ้นสู่อันดับ 1 ของเน็ตฟลิกซ์ จากการโปรโมตบนแผงลอตเตอรี่ตามหัวเมืองสำคัญในไทย ถ่ายทำวิดีโอเพื่อโปรโมตเรื่องราวนี้ และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ เป็นวิธีที่ประหยัดมาก แต่กระจายสู่ประชาชนทั้งประเทศได้เพียงพริบตา

รักงานโฆษณาที่ใช้ศาสตร์มูคู่ Effectiveness จนยอดขายลูกค้าแซงคู่แข่งครั้งแรกในรอบ 10 ปี

โดย อิฐ สุขธงไชยกูล, Executive Creative Director

อิฐ แนะนำตัวด้วยการบอกว่าตัวเองเป็นครีเอทีฟสาย Hard Sell สินค้าที่ไม่เกิน 20 บาท เขาเก็บเรียบ ของชิ้นแรกที่เขาขายยังเป็นปืนอัดลมสมัยเด็กน้อย

แน่นอน งานที่เขารักมากที่สุดประจำปี 2023 ราคา 12 บาท นั่นคือนมถั่วเหลืองดีน่า สินค้าที่มีคู่แข่งตัวฉกาจราคา 5 บาท เจ้าของเพลงโฆษณาที่กำลังขึ้นอยู่ในหัวคุณตอนนี้

เมื่ออิฐจับสินค้านี้เข้าปีที่ 8 ประเทศไทยก็มาถึงจุดที่ไม่ได้เชื่อความคิดตัวเองอีกต่อไป แต่เชื่อเทพดาฟ้าดิน สีเสื้อ กำไลมงคล อิฐคิดว่านี่อาจทำให้นมถั่วเหลืองร่วมสมัยได้ 

สูตรของเขาคือ มูเตลู + Marketing = Muketing จนได้เป็นแคมเปญ ดื่มดีน่าได้ดีครบแน่

บางคนขอพรเรื่องความรัก บางคนขอพรเรื่องงาน บางคนขอพรเรื่องสุขภาพ แต่การขอพรนั้นไม่รับประกันว่าสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นตอนไหน จึงต้องดูแลตัวเองเพิ่มด้วยสิ่งดี ๆ จากดีน่าที่ดื่มแล้วเกิดผลดีทันตาเห็น 

คนทำโฆษณารู้ดีว่าสินค้าพวกนี้มีความยาก พรีเซนเตอร์ของดีน่าคือ เบลล่า ราณี ที่ถูกใช้ไปแล้วกว่า 10 เจ้าใน 1 ปี อิฐจึงเปลี่ยนเบลล่าให้กลายเป็น ‘ดีน่าเทวี’ เทวีแห่งสุขภาพดีพร้อมมอบสิ่งดี ๆ ให้ทุกคน

ความยากอีกข้อ คือสินค้าของลูกค้ามีเยอะมาก แต่ดีน่าต้องการขายทุกอย่าง อิฐแก้เกมด้วยการดึงเอาอินไซต์ของคนดื่มแต่ละสูตรมาใช้ เช่น สูตรผสมงาดำ ช่วยเรื่องความสวย สูตรผสมจมูกข้าวญี่ปุ่น ช่วยเรื่องการทำงาน ไปจนถึงการชวน หมอช้าง มาช่วยออกแบบวอลล์เปเปอร์สายมูให้กับ Top Spender ของดีน่า เรียกเสียงฮาในงานไปอย่างกึกก้อง

รักงานที่ช่วยชีวิตเกษตรกรจากการใช้ชีวิตร่วมกัน ด้วยวิธีที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

โดย ณัฐพล แย้มกวีตระกูล, Associate Strategic Planning Director

ฟลุ๊ค-ณัฐพล แย้มกวีตะกูล ตกตะกอนได้ว่า งานที่เขารักคืองานที่ช่วยให้ชีวิตคนดีขึ้น เพราะผู้บริโภคทุกคนคือมนุษย์ที่มีความคิด มีความเชื่อ มีความฝัน และกำลังต่อสู้กับอะไรบางอย่างในชีวิต 

ฟลุ๊คคิดถึงลูกค้าที่มีความเชื่อคล้ายกันอย่างคูโบต้า แบรนด์ที่อยู่กับเขามานานถึง 7 ปี 

ทั้งคู่ใช้วิธีลงไปใช้ชีวิตกับเกษตรกรจริง ๆ จนรู้ว่าคนเหล่านั้นเจอปัญหาอะไรอยู่ ซึ่งสิ่งที่เจอก็เปลี่ยนไปทุกปีตามสภาพแวดล้อมหรือเทคโนโลยี ยิ่งแล้วใหญ่ในช่วง 2 – 3 ปีหลังที่ธรรมชาติเริ่มรวน ชีวิตชาวสวนก็รวนตามโลกไปด้วย ในฐานะแพลนเนอร์ ฟลุ๊คเจอข้อมูลที่น่าตกใจว่า 18% ของเกษตรกรต้องจำใจทิ้งที่ดินที่ควบคุมไม่ได้

เขาอยากให้เกษตรกรไทยเปิดใจใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ผ่าน Kubota Incubation Farm สมาร์ตกรีนเฮาส์ของลูกค้าที่ควบคุมสภาพอากาศเองได้ กลายเป็นที่มาของแคมเปญ IMPOSSIBLE GROWTH ที่จะสาธิตให้เห็นเลยว่านวัตกรรมช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตดีขึ้นได้จริง 

วิธีการง่าย ๆ ตรงไปตรงมา คือเอาสมาร์ตกรีนเฮาส์นี้ไปตั้งในพื้นที่รกร้าง แทบจะปลูกอะไรไม่ได้ แล้วเอาพืชที่เปราะบางที่สุดอย่างเมลอนเข้าไปปลูกให้ดู โดยมีลูกเล่นคือให้เกษตรกรส่งรูปหน้าตัวเองเข้ามาเป็นการลงทะเบียน แกะสลักใบหน้าลงบนผลเมลอน ทำให้เห็นว่าทั้งเขาและเมลอนกำลังเติบโตไปพร้อม ๆ กันผ่านทาง Live Brodcast ผลที่ตามมาคือวันนี้มีการส่งเมลอนคืนกลับไปให้เกษตรกรที่ร่วมลงทะเบียนกว่า 60,000 คน และมี 197 ชุมชนเกษตรตัดสินใจเริ่มต้นทดลองใช้ Kubota Incubation Farm เรียบร้อย

นี่คืองานที่ Leo Burnett Group รักที่สุดแห่งปี เพราะเชื่อว่า WHAT HELPS PEOPLE, HELPS BUSINESS.

รักงานช่วยชีวิตคนทั่วโลกจากภัยออนไลน์ด้วยงานที่สร้างด้วย AI

โดย สฤณี สุทธิกุลพานิช, Managing Partner and Head of Strategy

ปิ๋ม-สฤณี สุทธิกุลพานิช รักงานเพื่อเยาวชนไทยที่ทำโดย AI ทั้งหมด 

หลายปีหลังนี้คนหันมาตระหนักรู้เรื่องภัยทางเพศมากขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเยาวชนไทยมักคิดว่าการพูดคุยกับคนในโลกออนไลน์ปลอดภัยกว่าในชีวิตจริง ซึ่งไม่ใช่ กระบวนการบังคับ ข่มขู่ ล่วงละเมิดทางออนไลน์หรือ Sextortion จึงเป็นโจทย์สำคัญจากลูกค้า UNICEF Thailand ที่ปิ๋มต้องหาวิธีแก้

#สงสัยไว้ก่อน คือชื่อแคมเปญนี้ ปิ๋มเปิดเผยว่าเธอเองก็มีประสบการณ์เลวร้ายบนโลกออนไลน์ เป็นแรงผลักดันให้เธอเอาทั้งตัวทั้งใจลงไปทํา เพื่อหวังให้ผลลัพธ์เกิดขึ้นจริงกับเยาวชนไทย 

เริ่มจากการใช้หนังโฆษณาสื่อสารให้เห็นว่ากำแพงของคนบนโลกออนไลน์ไม่ได้หนาอย่างที่คิด กลับบางมากจนเหมือนมีภัยมาประชิดที่หน้าบ้านโดยไม่รู้ตัว 

ถัดมาคือชิ้นงานที่ต้องการสร้างให้เกิดประสบการณ์ร่วม วัดผลได้ แต่จะใช้เด็กจริง ๆ มาแสดงก็สุ่มเสี่ยง พวกเขาจึงเลือกใช้ AI ในการผลิตทั้งหมด ชิ้นงานที่ค่อนข้างเซนสิทีฟจึงออกมาเป็น Videoask Poll ที่บ่งชี้ได้ว่าผู้ใช้งานมีการตระหนักรู้เรื่อง Sextortion มากน้อยแค่ไหน โดยใช้ AI ทั้งหมด 4 ตัวในการสร้าง ประกอบด้วย ChatGPT สำหรับการระดมความคิด Midjourney สำหรับการสร้างภาพประกอบ D-ID Studio สำหรับการสร้างวิดีโอ และ VideoAsk.com สำหรับการสร้างแบบสอบถาม

สเตจแรก เรียกว่า Grooming Question คือมีตัวอย่างคำถามมาให้ตอบว่าประโยคไหนที่ดูไม่ปกติที่สุด สเตจต่อมาคือการสำรวจพฤติกรรมว่าจากประโยคที่เลือกควรจะ ‘ดูทรงไว้ก่อน’ หรือ ‘ชัวร์เลย นี่แหละคนร้าย’ สเตจสุดท้ายคือการสรุปความว่าสิ่งที่เห็นทั้งหมดล้วนน่าตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน

นอกจากผลงานจาก AI ชิ้นนี้จะสร้างให้เกิดประสบการณ์ร่วมแล้ว ยังเป็นการปลุกพลังให้เยาวชนลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง ไม่กลัวที่จะขอความช่วยเหลือ และบอกให้รู้ว่าทุกคนไม่ได้อยู่ลำพัง 

นั่นคือสิ่งที่ปิ๋มรักที่สุด 

รักงานแอปฯ Demo สินค้าผู้ชายที่ทำใน Local แต่ดังจน Global ต้องทำตาม

โดย กนิษฐ์ มิ่งเมือง, Creative Director

งานที่ ปาล์ม-กนิษฐ์ มิ่งเมือง รักที่สุด คือ Gatsby Look ของลูกค้า Gatsby Thailand

ปี 2019 เป็นปีที่แวกซ์ Gatsby ขายดีมาก เพราะชายไทยนิยมเซตผม ปัญหาคือพอเวลาผ่านไป ทรงผมเกาหลีที่ไม่ต้องใช้แวกซ์กลับเป็นนิยมจนยอดขายของ Gatsby ไม่เติบโตเท่าที่ควร ทั้งที่ทรงผมเกาหลีมีอีกหลายทรงที่ใช้แวกซ์ได้ โจทย์ของปาล์มจึงเป็นการทํายังไงก็ได้ให้ผู้บริโภคอยากทําผมได้หลากหลายอีกครั้งหนึ่ง

ปาล์มอยากสร้าง Gatsby Look แพลตฟอร์มที่ให้ผู้คนอัปโหลดรูปตัวเอง เลือกทรงผมที่ชอบ จากนั้น AI จะ Generated ทรงผมให้พอดีกับศีรษะและหน้าตา ถ้าชอบทรงไหนก็เซตผมตามวิดีโอ แล้วสั่งซื้อแวกซ์ไปใช้ต่อที่บ้านได้เลย

Adapter เป็นเอเจนซี่ที่โดดเด่นเรื่องข้อมูล พวกเขามีทีมพัฒนาในบริษัท ความยากแรกของปาล์มคือการสื่อสารกับทีมพัฒนาที่ครีเอทีฟไม่ค่อยคุ้นชินให้เข้าใจ แม้เวอร์ชันแรกจะหูแหว่ง ผมขาด ตาเหล่ แต่ทีมพัฒนาของเขาก็กลับมาพร้อม Gatsby Look ที่ Generated ได้สมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะมีหนวด น้ำหนักเยอะ หรือแม้กระทั่งเป็นผู้หญิง

ความยากต่อมาคือแบรนด์มีโควตาให้ใช้ 1 แสนคนใน 2 เดือน แต่ด้วยการประมวลผลที่แม่นยำทำให้มีคนหลั่งไหลเข้ามาใช้แอปถึง 80,000 คนใน 2 สัปดาห์แรก นั่นแปลว่าอีก 1 เดือนจากนี้จะกลายเป็นแอปที่ไม่มีประโยชน์ ปาล์มตัดสินใจชะลอการยิง Ads และขอซื้อโควตาเพิ่มอีก 1 แสน ด้วยทรงผมหมัดเด็ดอย่างผมทรงแสกกลางตามกระแสหนัง 4Kings และผมทรงรีไวล์จากแอนิเมชัน Attack on Titan

นอกจากนี้ ข้อมูลมหาศาลจากแอปฯ นี้ก็เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าในการสต็อกของ เพราะบอกได้ว่าภูมิภาคไหนนิยมทรงผมอะไร จน Gatsby ประเทศญี่ปุ่นขอนำผลงานของเขาไปพัฒนาต่อ

“เราเจออุปสรรคเยอะมาก แต่ก็ได้ความร่วมมือจากทีมที่เราไม่คุ้นเคย ซึ่งเป็นความช่วยเหลือที่ Marketing ทําไม่ได้ มันพิสูจน์ว่าพวกเราไปได้ไกลกว่าเดิม และวงการเอเจนซี่โฆษณาไม่ได้กําลังจะตายครับ”

รักงานนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยเยียวยาจิตใจคนโฆษณาทั้งประเทศ

โดย ดิศรา อุดมเดช, Founder / Chief Executive Officer 

“ผมเองก็เป็นคนที่รักงานเหมือนกัน แต่ที่ผมอยากทราบ คือทุกท่านรักตัวเองมากน้อยแค่ไหน”

โอม-ดิศรา อุดมเดช เริ่มต้นนำเสนองานที่เขารักด้วยการตั้งคำถาม งานนี้แตกต่างจากอีก 14 เอเจนซี่ เพราะไม่ได้เล่าแคมเปญของลูกค้า แต่เป็นงานที่เขาทําเพื่อคนในธุรกิจโฆษณาและทุกคนที่รักงาน

ตลอด 14 ปีที่ทําบริษัท โอมพบว่าทีมงานของเขาหลายคนมีปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต เขาเปิดเผยว่าเคยขออนุญาตไม่ต่อสัญญากับลูกค้า เพราะพบว่าครึ่งทีมมีปัญหา Mental Breakdown และจากการศึกษาข้อมูลยังพบอีกว่าประเทศไทยทำงานหนักเกินควรเป็นอันดับ 3 ของโลก 

“คนทําธุรกิจย่อมไม่อยากเสียลูกค้า แต่สิ่งสําคัญที่ทําให้องค์กรอยู่รอดได้คือคนของเรา” 

AI-Deate คือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ร่นเวลาการเขียนสตอรีบอร์ดหรือ Key Visual จาก 3 – 4 วันให้เหลือไม่กี่ชั่วโมงได้ โดยการกรอกคีย์เวิร์ดที่ต้องการลงไป AI ตัวนี้จะแปลสารออกมาเป็นภาพที่ต้องการ ทั้งยังเลือกลายเส้น ท่าทาง สีหน้า ภาษา โดยไม่ต้องห่วงว่าจะผิดลิขสิทธิ์ เพราะโอมได้เซ็นสัญญากับนักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่นเพื่อใช้ลายเส้นแล้วเรียบร้อย ที่สำคัญ แพลตฟอร์มนี้ใช้ฟรี

หลังเปิดตัว มี 41 ประเทศใช้งาน AI-Deate นั่นแปลว่าเขาแก้ปัญหาของคนทํางานไปแล้วทั่วโลก 

“สิ่งที่ทําให้ผมเรียนรู้ คือถ้าเรารักอะไรก็อยู่กับมันดี ๆ อย่าให้รักนั้นกลายเป็นความ Toxic ของชีวิตเราครับ”

รักงานแก้ปัญหาให้องค์กรวิทยาศาสตร์ด้วยศิลปะของการแก้บน

โดย วุฒิชัย เชาว์เมธีวุฒิ, Creative Director

ถ้าพูดถึง Dentsu หลายคนคงคิดว่างานที่ วู้ดดี้-วุฒิชัย เชาว์เมธีวุฒิ รักคงเป็นงานสไตล์ญี่ปุ่น แต่งานที่เขาเลือกวันนี้กลับเป็นงานสายมูที่ผนวกทั้งวิทยาศาสตร์ การเกษตร และความเชื่อเข้าด้วยกัน 

BIOTEC ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติในสังกัด สวทช. (สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ร่วมกับ Forest Friends Project (โครงการเพื่อนสวนพฤกษ์) หน่วยงานที่ช่วยพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมในแม่สอด จังหวัดตาก ทั้งสองร่วมมือกันเอาขยะที่ได้จากวัสดุทางการเกษตร เช่น อ้อย เปลือกไม้ มาแปรรูปเป็นวัสดุใหม่ทางชีวภาพที่มีความแข็งแรงแต่ก็เบาจนลอยนํ้า ขึ้นเป็นรูปต่าง ๆ ได้ และย่อยสลายเองตามธรรมชาติ โจทย์ของวู้ดดี้คือการโปรโมตวัสดุใหม่นี้

เขากระโจนลงไปในศาสตร์ใหม่ที่ไม่เคยเรียนรู้ เพราะวู้ดดี้เองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเกษตรกรที่มักใช้วิธีเผาเพื่อกําจัดขยะจนทําให้เกิดมลภาวะ PM 2.5 

ไอเดียของเขามีมากมาย ทั้งบ้านหมา บ้านแมว แพลอยน้ำ แม้กระทั่งเสื้อชูชีพ แต่ไอเดียที่ถูกตาต้องใจเขามากที่สุด คือตุ๊กตาม้าลายถวายแก้บน Zero Pollution Zebra จากเคยทำจากปูนปลาสเตอร์ ปูนซีเมนต์ ก็เปลี่ยนให้เป็นวัสดุชีวภาพมันซะเลย แถมใช้แล้วยังเหมือนได้ทำบุญอีกต่างหาก

เขาขายไอเดียนี้กับ BIOTEC ว่าเราเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนไม่ได้ แต่นําความคิดและนวัตกรรมมาเปลี่ยนแปลงวิธีการได้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมฯตอบตกลงทันที ส่วน Forest Friends Project เองก็เห็นด้วย

ไม่ว่าจะเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจต่างติดต่อเข้ามาเพราะอยากขยายสเกลม้าลายไปในวงกว้างกว่านี้ ปัจจุบันจึงอยู่ในขั้นตอนการผลิต วู้ดดี้ไม่ลืมหยิบม้าลายที่เขาภาคภูมิใจขึ้นมาอวดบนเวทีเป็นการส่งท้าย

รักงานโฆษณาเปิดตัวห้างหรูที่สร้างด้วยลังกระดาษ มีนักแสดงทั้งเรื่องเป็นแมว-หมา

โดย นพรัตน์ เอกสุวรรณเจริญ, Executive Creative Director

ภาพจำของ SOUR คือเอเจนซี่สาวแสบที่สวมรองเท้าบูตเดินขึ้นตึก วันนี้ มิ้นท์-นพรัตน์ เอกสุวรรณเจริญ พูดถึงงานที่พวกเธอถอดบูตเข้าโรงงาน 

ปลายปี 2023 เปรียบได้กับสมรภูมิของการเปิดตัวห้าง ทั้งในเมือง รอบเมือง และต่างจังหวัด ลูกค้าเซ็นทรัลเดินเข้ามาหา SOUR พร้อมกับคำขอที่ว่า “อยากทําแคมเปญเปรี้ยว ๆ ที่เปิดตัวห้าง Central Westville ได้ไม่เหมือนคนอื่น แต่ต้อง Eco และ Sustainability”

มิ้นท์เลือกวิธีการเปิดตัวแบบทาส ๆ โดยมีน้องหมาน้องแมวเป็นผู้บริโภคหรือเรียกว่า Petsumer เพราะจุดขายหนึ่งของห้างนี้คือการเป็น Pet-friendly ของแท้ และทุกคนที่ทำงานนี้เลี้ยงสัตว์ทั้งหมด 

SOUR เปลี่ยนห้าง Central Westville ให้กลายเป็นกล่องลังบ้านหมาแมวไซซ์จิ๋ว ออกแบบเป็นหน้าห้าง ลาน Playground โรงภาพยนตร์ ร้านกาแฟ แม้แต่โซนฟิตเนส ผลิตจากลังของคู่ค้าเซ็นทรัลจำนวนมากที่ใช้สำหรับการเปิดตัวห้าง ด้วยจุดแข็งของ SOUR คือการดีไซน์ พวกเขาจึงทำให้ Human Behavior กลายเป็น Pet Behavior ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งยังมี ยอร์ช-สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ จาก Gluta Story ผู้รักสัตว์เป็นที่สุดมากำกับหนังโฆษณาให้ ซึ่งบ้านหมาแมวเหล่านี้ไม่ได้ใช้ถ่าย TVC แล้วจากไป แต่นำกลับไปใช้ได้จริงทุกชิ้น ตามแกนสําคัญของเคมเปญนี้ นั่นคือ Repurpose Waste into Westville 

“ไม่รู้ว่าจะได้รางวัลในเวทีไหนไหม แต่รางวัลที่ดีที่สุด คือกล่องเหล่านี้มันถูกจริตเรา ถูกใจน้อง ๆ และมีหลาย ๆ บ้านยังเก็บลังโฆษณาของเราไว้”

รักงานที่ให้พ่อแม่ยืมกล้องอินฟลูเอนเซอร์ ชวนลูกกลับบ้านเกิดทาง TikTok

โดย ศุภฤกษ์ ศิลารังษี, Creative Group Head

My Parent is a TikToker จากไก่ย่างห้าดาว คืองานที่ชาว BBDO รัก 

แคมเปญนี้คิดขึ้นโดยแก๊งผู้ชายที่ไม่ได้กลับบ้าน บ้างอยู่ต่างจังหวัด บ้างอยู่กรุงเทพฯ แต่ห่างไกล จนออกมาเป็น ‘The Taste that Bring You Home รสชาติที่พาคุณกลับบ้าน’ โดยมีความตั้งใจว่าอยากทำงานโฆษณาที่พาทุกคนกลับบ้านเป็น Big Idea

อินไซต์ที่ ทีม-ศุภฤกษ์ ศิลารังษี ค้นพบ คือปัญหาของการไม่ได้กลับบ้านไม่ได้มีเพียงธุระปะปังเท่านั้น สิ่งสำคัญกว่านั้นคือความรู้สึกทางใจ เมื่อรู้สึกอยากกลับบ้านแล้ว การเคลียร์ตารางชีวิตให้ว่างจะตามมาเอง

กลุ่มเป้าหมายของพวกเขาคือ Gen Z ที่เล่น TikTok เป็นประจำ แต่คุณพ่อคุณแม่ของพวกเขาไม่ได้อยู่บนแพลตฟอร์มนั้นด้วย ทีมจึงคิดสนุกด้วยการพาพ่อแม่มา Takeover ช่อง TikTok ที่ Gen Z ชื่นชอบ ได้แก่ Pigkaploy, ไจ๋ ซีร่า และ แม่เมือง แล้วชวนกลับมาทานห้าดาวที่บ้านด้วยกัน

ด้วยการที่โปรเจกต์นี้ริเริ่มในช่วงใกล้เทศกาลแห่งการกลับบ้านอย่างสงกรานต์ ความโหดหินของมันจึงอยู่ที่ช่วงโปรดักชันเต็มประตู ตั้งต้นจากคำถามง่าย ๆ ว่า จะเซตถ่ายหรือจะถ่ายจริง แน่นอน ผู้กำกับมือดีอย่าง เอ๋-ธีระพล สุเนต์ตา ตอบทันควันว่าถ่ายจริง เพราะทำงานกับความรู้สึกคนดูได้มากกว่า แต่ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย เอ๋กลับมาด้วยไทม์ไลน์การถ่ายทำเพียง 33 วัน 

พวกเขาต้องแคสติงนักแสดงกว่า 300 คนใน 5 วัน ไปดูโลเคชัน 3 วัน ถึงเชียงใหม่ อยุธยา นครราชสีมา Pre-production 5 วัน เตรียมการถ่ายทำ 3 วัน พา TikToker ไปเจอกับพ่อแม่ถึงที่แล้วแปลงโฉมพวกเขาใน 3 วัน ให้ TikToker ตัดคลิป 5 วัน นำคลิปที่ได้ไปให้ลูกหลานดู 2 วัน และพาลูกกลับบ้านไปทานห้าดาวใน 2 วันสุดท้าย 

นอกจากการลงแรงลงใจของทีมจะทำให้นักแสดงอยากกลับบ้านและได้รับคำชื่นชมมากมาย ทีมปิดจบงานที่เขารักอย่างสวยงามด้วยสิ่งที่มากกว่ายอดขายถล่มทลาย นั่นคือการที่ครีเอทีฟอย่างเขาได้กลับไปทานข้าวที่บ้านกับครอบครัว

รักหนังโฆษณาไซไฟที่บรีฟแรกคือการถ่ายเซเลบร้อยล้านคู่ภาพ Packshot 

โดย ต่อศักดิ์ ชื่นประภา, Co-founder / Chief Creative Officer

พูดถึงชื่อ Wolf เรารู้ได้ทันทีว่างานที่พวกเขาเลือกพูดบนเวทีวันนี้คืออะไร เพราะในปี 2023 มีแคมเปญบ้า ๆ ที่ถ้าไม่ใช่ Wolf ก็คงไม่มีใครกล้าทำอย่าง CP Chicken : Go For Launch #ไก่ไทยจะไปอวกาศ แต่คราวนี้เขามาพร้อมกับเบื้องหลังสุดมันที่ทำให้งานนี้สมควรถูกรักที่สุด

เต้ย-ต่อศักดิ์ ชื่นประภา เล่าว่าโจทย์ของลูกค้าง่ายมาก คือต้องการเพิ่มยอดขายและชนะคู่แข่งด้วยการเป็น Brand of Choice

ฟังดูก็เหมือนจะไม่มีปัญหา แต่ด่านแรกที่พวกเขาต้องเจอคือลูกค้ามีพรีเซนเตอร์เซเลบที่เซ็นสัญญาแล้ว และโฆษณาที่ลูกค้าอยากได้คือพรีเซนเตอร์ยืนคู่กับไก่ดิบ พร้อมบอกว่ามันสะอาดปลอดภัย – Wolf คิดไกลกว่านั้น

ด่านสอง เต้ยหาจนเจอต้นตอว่าทำไมความสะอาดจึงเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เพราะ CP สะอาดเป็นอันดับ 6 ในสายตาผู้บริโภค ในขณะที่คู่แข่งอยู่อันดับ 1 ทั้งที่ CP เองก็ได้รับรองมาตรฐานไก่จาก NSE, GMP, HACCP และ ISO 9001 ครบทั้งหมดด้วยเช่นกัน

ความบ้าเริ่มต้นตรงนี้ เมื่อโจทย์คือเอาชนะคู่แข่งให้ได้ และมาตรฐานไก่ในโลกมีอยู่เท่านี้ เต้ยไม่ทำแค่โฆษณา แต่เขาสร้างประวัติศาสตร์ด้วยวิธีที่ไม่ใช่แค่ชนะในปัจจุบันแต่จะชนะตลอดไป ด้วยการส่งไก่ไทยไปสถานีอวกาศ ISS สถานที่ที่ความปลอดภัยไม่ใช่แค่เรื่องสำคัญ แต่จำเป็นมากที่สุด 

ด่านสาม คือการติดต่อ NASA โชคดีที่ทีมงานไปเจอบริษัทในไทยชื่อ mu Space Corp เป็นตัวแทนของบริษัท Nanoracks ซึ่งเป็นตัวแทนของ Axiom Space ที่ติดต่อกับ NASA ได้อีกที แค่ฟังยังเยอะใจหาย นั่นมาพร้อมกับการประชุมมากกว่า 200 ครั้งในการทำแคมเปญนี้

ด่านสี่ ขอเลื่อนลูกค้าเลื่อนการเปิดตัวไป 1 ปี ฟังไม่ผิด 1 ปี เพราะด่านต่อมาคือ NASA’s Space Safety Standard ที่ตัวแทนจาก NASA ต้องบินมาไทยเพื่อดูว่า CP เลี้ยงไก่ยังไง จนในที่สุดคนไทยก็มีไก่ที่ได้มาตรฐานเดียวกับนักบินอวกาศ

ด่านสุดท้าย ถ้าใครทำอะไรก็ตามที่เอาเข้าปากคนไทยได้ ต้องผ่าน อย. เต้ยไม่เล่ามากมาย แต่บอกว่าด่านนี้ยากกว่า NASA หลายเท่านัก

หลังผ่านไป 6 ด่าน แคมเปญนี้ถูกโปรโมตผ่านทุกช่องทาง #ไก่ไทยจะไปอวกาศ เข้าถึงกว่า 1.3 พันล้านคนทั่วโลกใน 1 เดือนเป็นปรากฏการณ์ ถือเป็นก้าวสำคัญของอาหารไทยในอนาคต โดย CP ทะยานเป็นไก่สะอาดปลอดภัยที่สุดอย่างไร้ข้อกังขา

เมื่อย้อนกลับไปดูบรีฟแรกที่ลูกค้าให้มา ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาพามันไปไกลทะลุโลก

ตามความเชื่อของเต้ยที่ว่า งานดีได้เท่าที่ลูกค้าดี

รักงานแปลสโลแกนแบรนด์ระดับโลกให้อิมแพกต์ถูกใจคนไทยและปลุกทีมงานให้ตื่น

โดย ชนัษฐพล เธียรศรี, Deputy Chief Creative Officer และ วรวินท์ รัตนศุภาวงศ์, Deputy Chief Strategic Office

ฟังแคมเปญที่แลนดิงอย่างสวยงามมาเยอะ มาดูงานที่ไปไม่ถึงฝันแต่รักที่สุดกันบ้าง

เป็ด-ชนัษฐพล เธียรศรี และ วิน-วรวินท์ รัตนศุภาวงศ์ พาเราย้อนไป 9 เดือนที่แล้ว กับลูกค้าที่ทำด้วยกันมานมนานอย่าง NESCAFÉ โจทย์ใหญ่คือลูกค้าเปลี่ยนสโลแกนจาก It all starts with a NESCAFÉ Coffee เป็น Make Your World และต้องการให้ TBWA แปลประโยคนี้เป็นภาษาไทยที่อิมแพกต์ไม่น้อยหน้า หากคุณคิดว่ามันง่าย เราขอให้อ่านต่อ

เงื่อนไขของโจทย์นี้คือต้องเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนและช่วยทำให้โลกนี้ดีขึ้น พวกเขาตีโจทย์แตกในการประชุมแรกด้วยการมองว่าโลกในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโลกทั้งใบ แต่ทุกคนมีโลกของตัวเองที่แตกต่างแต่อยู่ร่วมกันได้ กลายเป็นประโยคสุดแหลมคมที่ว่า โลกของคุณ ปลุกโลกทั้งใบ

พวกเขาขายผ่านทันที แต่ใช้เวลา 9 เดือนจากนี้ในการทำ 

พอเป็นคำว่า โลกของคุณ ปลุกโลกทั้งใบ ในทุกครั้งของการประชุมจึงเป็นการปลุกกันไปเรื่อยไม่มีหยุด ทั้งลูกค้า ทั้งทีมงาน พวกเขายอมรับตามตรงว่าตลอด 9 เดือนนี้มีโอกาสให้ถอดใจง่าย ๆ เต็มไปหมดแต่โชคยังดีที่เกี่ยวก้อยกันไว้อย่างเหนียวแน่น สุดท้ายจบลงที่ด่านหินอย่าง อย. ไม่อนุมัติให้ใช้คำว่า ‘ปลุก’ 

แม้จะไปไม่ถึงฝัน แต่พวกเขาเล่าว่าเป็น 9 เดือนที่เห็นความตั้งใจของทุกคน ทำให้รู้ว่า TBWA ไม่มีแผนก ไม่มีคำว่าตำแหน่ง ไม่มีคำว่าลูกค้า ไม่มีคำว่าโปรดักชันเฮาส์ บนจอฉายภาพผู้กำกับไปนั่งทำงานที่เอเจนซี่ เอเจนซี่ไปนั่งทำงานที่บริษัทลูกค้า 

ประโยคนี้ปลุกให้รู้ว่างานที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องของรางวัล แต่คือทีมที่พร้อมจะทุ่มเททุกอย่าง สโลแกนที่แท้จริงของพวกเขาคือ ‘Make Our World’ ต่างหาก และนั่นคือรางวัล

รักงานพลิกกลยุทธ์สินค้าเด็กด้วยพลังของอินไซต์ ให้สินค้าได้ใจคนทั้งครอบครัว

โดย สมพัฒน์ ทฤษฎิคุณ, Chief Creative Officer

เข้-สมพัฒน์ ทฤษฎิคุณ เชื่อในพลังของอินไซต์มาก นิยามคำนี้ของเข้คือการนำพฤติกรรมผู้คนมาผสานกับแบรนด์อย่างเหมาะสมในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น ผู้หญิงอยากสวยเพื่อให้สามีมาชม ใคร ๆ ก็อยากมีผิวที่อ่อนเยาว์เหมือนผิวเด็ก หรือไม่มีความอ่อนโยนใดเทียบได้กับสัมผัสรักของแม่ ก็ยังเป็นอินไซต์ที่เขาใช้ตั้งแต่เริ่มงานแรกจนถึงวันนี้ 

เข้ทำงานที่ GREYnJ มา 6 เดือน งานที่เขาชื่นชมและชื่นชอบมากมาจากลูกค้า D-nee เพราะสิ่งที่ D-nee ทำคือการทลายกรอบความคิดของสังคม 

D-nee ไม่เชื่อว่าการดูแลลูกเป็นหน้าที่ของแม่อย่างเดียวอีกต่อไป อินไซต์ที่ลูกค้าหยิบยื่นให้เข้จึงกลายเป็น ‘ไม่มีความอ่อนโยนใดเทียบได้กับสัมผัสรักของแม่และพ่อ’ 

งานที่เข้ทำพูดถึงพ่ออย่างเดียว ไอเดียนั้นคือความรักความอ่อนโยนของพ่อก็เป็นในแบบของพ่อ กอปรกับน้องในทีมเจอ #อย่าปล่อยลูกไว้กับพ่อ ที่ใช้กันแพร่หลายในโซเชียล เป็นที่มาของหนังโฆษณาสุดที่รักที่เขาไม่ได้ถ่าย แต่ขอฟุตเทจจากโซเชียลมาตัด ได้เป็นเรื่องราวการปล่อยลูกไว้กับพ่อ เห็นภาพลูกกลายเป็นเครื่องบิน กังหันน้ำ เปาบุ้นจิ้น ตบท้ายด้วยแท็กไลน์ที่ว่า D-nee สนับสนุนการปล่อยลูกไว้กับพ่ออย่างเป็นทางการ #ปล่อยลูกไว้กับพ่อก็ดีนี่

คนเคยดูหนังโฆษณาของ D-nee จะรู้ดีว่าพ่อกับแม่แทบจะออกกันครึ่งต่อครึ่ง เข้บอกว่าการที่แบรนด์เลือกใช้อินไซต์ที่มีพลังเข้ากับยุคสมัยทำให้ D-nee ประสบความสำเร็จจนเป็น Baby Care Product ที่เติบโตเร็วสุดในไทย เขาชื่นชมในความกล้าหาญของแบรนด์เป็นอย่างมาก 

รักงานโฆษณาที่พูดถึงความตาย โดยคนโฆษณาที่ทำเพื่อสังคมมาทั้งชีวิต

โดย ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์, Co-founder / Creative Director

เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ พูดเป็นคนสุดท้าย งานนี้เขาตั้งใจทำให้สำเร็จในวันที่ 17 มกราคมปีที่ผ่านมา แต่มันไม่เกิดขึ้น

เม้งรักงานที่ไม่มีจริง

เขาพาเราย้อนกลับไป 8 – 9 ปีก่อน กลุ่ม Peaceful Death เชื่อว่าทุกคนมีสิทธิ์ตายดีถ้าได้เตรียมตัว สั่งเสีย ทำความเข้าใจกับครอบครัว เดินเข้ามาขอให้ชูใจทำโฆษณาสมุดเบาใจ พินัยกรรมกึ่งสำเร็จรูปของผู้อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต เช่น ฉันต้องการเสียชีวิตที่ไหน บรรยากาศที่อยากอยู่ในช่วงวาระสุดท้ายเป็นอย่างไร ข้อสำคัญที่สุดที่มีผลทางกฎหมาย คือฉันเห็นด้วยกับการยื้อชีวิตหรือไม่

เม้งช่วยทำโฆษณาให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจนมาถึงโปรเจกต์ที่ 3 เขาชวน เอ๋-สราวุทธิ์ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม) มาจัดงานศพให้ตัวเอง เมื่อ พ.ศ.2561 เรียกเล่น ๆ ว่างานศพซ้อมตายแต่จัดขึ้นตามกระบวนการจริงทุกอย่างที่วัดธาตุทอง เว้นเพียงแต่เอ๋ไม่ได้นอนอยู่ในโลง โดยในงานมีสมุดเบาใจเป็นนิทรรศการเล็ก ๆ ที่บอกความต้องการของเอ๋ทั้งหมด 

เม้งให้เอ๋ชวนคนมากล่าวคำไว้อาลัยตัวเองในวันเผา เอ๋เลือกแฟน เพื่อน และพี่ที่สนิทที่สุดมากล่าวให้ เมื่อถึงวันเผา ทั้งคนอ่าน คนฟัง คนร่วมงาน ต่างพากันน้ำตาไหล เอ๋ปรากฏตัวให้เห็นเมื่อคำกล่าวเหล่านั้นสิ้นสุดลงและบอกว่า “โชคดีที่สุดที่ผมสามารถได้ยินสิ่งนี้ในวันที่ผมยังมีชีวิตอยู่” ประโยคนี้เปลี่ยนชีวิตเม้งไปอย่างสิ้นเชิง

เขาอยากจัดงานนี้ให้พ่อที่ป่วยเรื้อรัง ต้องฟอกไตตลอดชีวิต ในวันที่ 17 มกราคม หวังมอบเป็นของขวัญวันเกิดและของขวัญวันตายให้พ่อได้เดินทางไกล 

เวลาผ่านไปหลายปีที่เม้งไม่ได้ทำมัน เขายอมรับอย่างละอายแก่ใจว่าเป็นเพราะเขาวิ่งหนีตัวเอง คิดถึงวันที่พ่อไม่อยู่ไม่ได้ และในฐานะนักเล่าเรื่องที่ทำโฆษณามา 20 ปี เม้งมีทักษะอ่อนด้อยมากเหลือเกินที่จะสื่อสารกับคนในครอบครัว 

พ่อเขาเสียชีวิตเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565

เม้งผิดหวังในตัวเองมากที่สุด เขาเคยนับเล่น ๆ ว่ามีโอกาสเป็น 3,000 ครั้งตั้งแต่พ่อป่วยที่จะสื่อสารเรื่องสมุดเบาใจ แต่การงานที่ทำร่วมกับ Peaceful Death มาเกือบ 10 ปีได้ตอบแทนเขา ก่อนจากไปไม่นาน พ่อเม้งจึงพูดว่า “ถ้าป๊าเป็นอะไร ปล่อยป๊าไปเลย ไม่ต้องยื้อ อย่าให้ป๊ากลับมาด้วยสภาพที่ไม่พร้อม”

งานวันที่ 17 มกราคมไม่มีอีกต่อไป แต่การจัดงานศพ 5 วันนั้น เขาพูดเรื่องการเตรียมตัวตายและการตายดีทุกวัน โดยมีของที่ระลึกคือสมุดเบาใจ พร้อมกล่าวคำไว้อาลัยที่พ่อไม่มีวันได้ยิน

“แม้งานนี้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่พ่อก็ให้ของขวัญกับตัวเองและพวกผม วินาทีที่คุณหมอเอาเอกสารมาให้เซ็นมันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดว่าพ่อได้ออกแบบความตายตัวเองไว้แล้ว พี่ชายผมเลยบอกว่าไม่ยื้อ นี่คือสิ่งที่งานนี้ให้กับผม”

โลกปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารเต็มไปหมด แต่งานนี้ของเม้งทำให้เรารู้ว่า การสื่อสารที่ดีที่สุดจะไม่มีความหมายเลย ถ้าเราไม่ได้พูดกับคนที่มีค่าทันเวลา

นี่คืองานของพ่อที่เม้งรักสุดหัวใจ

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์