เราเดินทางมาถึงช่างชุ่ยเพื่อพูดคุยกับกลุ่มคนที่คิดการใหญ่

“ดื่มเบียร์ไหมครับ” คือประโยคแรกที่เราได้ยิน เมื่อทรุดตัวลงนั่งต่อหน้า 3 หัวเรือแห่งเทศกาล ‘BEER PEOPLE FESTIVAL 2024’ ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 2 – 3 มีนาคมนี้ที่ช่างชุ่ย

เบนซ์-ธนากร ท้วมเสงี่ยม เป็นผู้ก่อตั้งประชาชนเบียร์

ไอซ์-วรุตม์ วิมลคุณารักษ์ เป็นผู้ก่อตั้งและครีเอทีฟแห่ง STUDIO11206 

เลียว-โอมา ส่งวัฒนา เป็น Managing Director แห่งช่างชุ่ย Creative Park

เทศกาลนี้รวมทุกอย่างเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ โดยมีคราฟต์เบียร์ไทยและเหล้าไทยเป็นแกนหลัก ภายใต้คอนเซปต์ ‘Beer People Country ประเทศดี ๆ ที่ลงตัว’ ชวนคนอพยพสู่ประเทศในอุดมคติที่ตลาดแอลกอฮอล์ไทยเสรี มากกว่า 500 แบรนด์ 1,000 รสชาติจากทุกภูมิภาค พร้อมเวทีเสวนาและกิจกรรมมากมายสำหรับคนชอบดื่ม

พวกเขาพูดต่อว่า ถ้าอยากรู้เบื้องหลังงานใหญ่ขนาด 11 ไร่ก็ต้องนั่งล้อมวงคุยกัน เพราะแผนการอพยพประชาชนครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในห้องประชุมโอ่อ่า

เครื่องดื่มสีเหลืองสว่างถูกรินลงแก้วหลังเราพยักหน้า

และบทสนทนาสุดมันแต่ไม่เมาก็ได้เริ่มต้นขึ้น

แก้วที่ 1 หลงคราฟต์

จิบแรกมาพร้อมกับคำถามที่ว่า 3 คนนี้รวมตัวกันได้ยังไง

“เรามีอุดมการณ์ตรงกัน” คือคำตอบจากไอซ์ที่ทุกคนเห็นด้วย

เบนซ์เท้าความให้ฟังว่า เขาเคยไม่ชอบกินเบียร์มาก่อนเพราะมีรสขมแบบเฝื่อน ๆ และกลิ่นเหม็นอับ จนเมื่อ 10 ปีก่อนมีโอกาสได้ชิม Stout (เบียร์ดำ) ใส่กาแฟแล้วชีวิตเปลี่ยน เขาพบว่าจักรวาลเบียร์กว้างใหญ่กว่าที่เคยรู้จัก จากคนที่ดื่มให้เมาก็กลายเป็นดื่มเพื่อหาความอร่อย จากคนที่ดื่มเพื่อหาความอร่อยก็กลายเป็นคนที่ต้มเบียร์เอง จากคนที่ต้มเบียร์เองก็เริ่มอยากจัดจำหน่าย ติดที่ว่ากฎหมายบ้านเราไม่อนุญาตให้เขาทำสิ่งนั้น จึงเป็นที่มาให้เบนซ์ก่อตั้งกลุ่มประชาชนเบียร์ขึ้นมาเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย 

เขาจัดเทศกาลเบียร์ครั้้งแรกในชื่อ ประชาชนเบียร์ มีคนเข้าร่วม 500 คน ครั้งต่อมาเขาจัดในชื่อ BEER PEOPLE FESTIVAL 2023 ที่จตุจักรเพลย์กราวด์ มีคนเข้าร่วมถึง 5,000 คน 

แม้จะเติบโตขึ้นเป็นสิบเท่า เบนซ์ยอมรับว่างานของเขามีปัญหาไม่น้อย

“ผมคือคนธรรมดา ไม่ใช่นักจัดอีเวนต์ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในหัวเลย ไม่มีคนทํางานในพื้นที่เจ๋ง ๆ ก็เลยอยากหาทีมมาแก้ปัญหา รันทุกอย่างให้โดยที่ผมไม่ต้องดูแลเองทั้งหมด แล้วน้องในทีมผมก็เป็นเพื่อนกับทางแก๊งนี้” เขาผายมือไปทางซ้ายให้ไอซ์รับช่วงต่อ

ไอซ์เป็นเจ้าของสตูดิโอออกแบบประสบการณ์ ผลงานของเขาที่เราจำได้ดี คือละครเรื่อง Finding Teresa ใน Bangkok Design Week 2023 ละครซ้อนละครจาก 6 บทเพลงของ เติ้ง ลี่จวิน ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมเดินทัวร์และทำภารกิจไปพร้อมกับตัวละครในย่านเยาวราช รวมถึง 2046: The Greater Exodus มื้ออาหารผสมละครเวทีที่พาผู้ชมเดินทางไปยูโทเปียบน Na-Oh Bangkok ร้านอาหาร Fine Dining ในเครื่องบินลำใหญ่ที่ช่างชุ่ย

“พอเริ่มมาคุยกัน เริ่มเห็นว่าจุดมุ่งหมายของเราก็คืออยากเห็นประสบการณ์ใหม่ ๆ อยากเห็นงานเบียร์ที่มากกว่าแค่ตลาดเบียร์”

แล้วพื้นที่เจ๋ง ๆ นั้นจะเป็นที่ไหนได้ ถ้าไม่ใช่ช่างชุ่ย เพราะเบนซ์เองก็เคยจัดงาน ชุ่ย เดี่ยว เบียร์ ร่วมกับเลียวและยืนเดี่ยวมาก่อนเมื่อปลายปีที่แล้ว หลังเทศกาลเบียร์ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม 

เลียวเล่าเหตุผลที่ทำให้เขาตกปากรับคำทันทีที่เบนซ์ชวนมาเป็นพาร์ตเนอร์

“ช่างชุ่ยเป็นพื้นที่เปิด มี Pain Point ที่เราอยู่กับมันมานานมากเลยคือ ฝน ถ้าเราอยากรู้ว่างานที่มาจัดที่นี่เจ๋งขนาดไหนให้ดูเวลาฝนตก ถ้าคนยังอยู่ แสดงว่ามันสุด แล้ววันที่เราจัดชุ่ยเดี่ยวเบียร์ ฝนตกหนักมาก แต่ทุกคนยังอยู่ ไม่ได้รีบร้อน แล้วก็สุภาพจนผมรู้สึกทึ่ง งานนั้นเหมือนเป็นการปลุกจิตวิญญาณทีมช่างชุ่ยให้กลับมาลุกโชนอีกครั้งหนึ่ง

“เบนซ์ต่อสู้เพื่ออะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ ไอซ์ก็เข้ามาช่วยเติมเต็มในส่วน Creative Park ได้อย่างลงล็อก นี่คือสิ่งที่ช่างชุ่ยผลักดันตั้งแต่วันแรก เราอยากเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อวันหนึ่งอาจเปลี่ยนแปลงประเทศนี้แบบที่เราเองก็คาดไม่ถึง”

ภาพการประชุมของทั้ง 3 ทีม

แก้วที่ 2 สังเวียน

พูดถึงคอนเซปต์ของเทศกาลกันบ้าง ถ้าแปลคำว่าประชาชนเบียร์เป็นภาษาอังกฤษจริง ๆ ดูจะเป็นคำว่า Beer Citizen มากกว่า Beer People ไอซ์บอกว่ามันทำให้เขาคิดถึงประเทศชาติ

“พี่เบนซ์อยากเห็นประเทศดีขึ้น ช่างชุ่ยอยากเห็นพื้นที่สร้างสรรค์ดีขึ้น งั้นทําไมไม่ทําประเทศในอุดมคติของเราขึ้นมาในช่างชุ่ย แล้วมีเครื่องบินพอดีเลยนี่ เอ้า ย้ายประเทศ กลายเป็น Beer People Country ประเทศดี ๆ ที่ลงตัว” เขาพูดติดตลกจนทุกคนต้องยกแก้วมาชนกันเสียหน่อย 

“เราอยากทําเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะพูดยังไง” เบนซ์ชอบไอเดียนี้ในครั้งแรก “ผมบอกในงานบ่อยมากว่า ขอให้คุณจําโมเมนต์นี้ไว้ นี่คือโลกแห่งอนาคตที่กฎหมายเปลี่ยนแล้ว แม้วันนี้เราจะยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่งานเบียร์จะเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แล้วอีก 10 ปีข้างหน้ามาคุยกันว่าวันนั้นเราทําอะไรกันบ้าง”

งั้นมาดูกันว่าพวกเขาทำอะไรบ้างในงานนี้้

พาสปอร์ต

ด้วยธีมของงานเป็นประเทศและได้นักออกแบบประสบการณ์เป็นผู้คิดไอเดีย งานนี้จึงสนุกตั้งแต่การลงทะเบียนเข้างานด้วยการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) 

เมื่อลงทะเบียนเสร็จทุกคนจะได้รับเบียร์พาสปอร์ต ทำหน้าที่เหมือนเวลาเราไปต่างประเทศแล้วเก็บสแตมป์เป็นคอลเลกชัน แต่คราวนี้พวกเขาเนรมิตกิจกรรมในงานมาให้ทุกคนสะสมเพื่อแลกรับของรางวัล เช่น ตามหาเบนซ์ให้เจอแล้วเซลฟี่กับเขา ร่วมฟังเสวนา หรือลงเวิร์กชอปทำสาโท เป็นต้น

“พาสปอร์ตมีทั้งหมด 10 แบบ ภารกิจแตกต่างกัน อิงจากคาแรกเตอร์”

เราทำหน้าสงสัยว่าคืออะไร ไอซ์ไม่รีรอที่จะอธิบายต่อ

เว็บแอปฯ 

คาแรกเตอร์ที่ว่าได้มาจากการร่วมสนุกในเว็บไซต์www.beerpeoplefest.com เป็นควิซทายใจที่บ่งบอกได้ว่าคุณเป็นประชาชนเบียร์แบบไหน เรารับเรื่องมาแล้วก็รีบเล่นทันที สรุปว่าได้เป็น เมาดีฟ นักปราชญ์ประจำวงที่ชอบผ่อนคลายด้วยการดื่มและพบปะผู้คน (ฮา)

นอกจากเมาดีฟ ยังมีนักปฏิวัติ สำหรับคนมีแพสชัน ดื่มเพื่อต่อสู้, กูรู ผู้ชำนาญการดื่ม, 101 นักดื่มหน้าใหม่ที่ไม่รู้อะไรแต่อยากลอง หรือแม้กระทั่งชาวบ้านท่านหนึ่ง ผู้ร่วมงานที่ไม่ได้นิยมชมชอบเบียร์ แค่แวะมาร่วมกิจกรรมเฉย ๆ เป็น 10 คาแรกเตอร์ที่ปรากฏอยู่ใน Key Visual ทั้งหมดในงาน ออกแบบโดย sourpemi นักวาดภาพประกอบสีสันจัดจ้าน

“คนไม่ได้มีแบบเดียวในประเทศ หลากหลายมาก เราเลยพยายามจัดผู้ร่วมงานของเราให้อยู่ใน 10 คาแรกเตอร์ ซึ่งได้มาจากอินไซต์จริง ๆ ของลูกเพจประชาชนเบียร์และช่างชุ่ย” ไอซ์เล่า

คู่ค้ากว่า 500 แบรนด์

สินค้ากว่า 1,000 รสชาติของเทศกาลนี้มาจากทั่วประเทศ แบ่งเป็นโซนให้เราเดินชิมได้ตามภูมิภาค เบนซ์คัดเลือกด้วยตัวเองผ่านการเดินทางไปหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งการดั้นด้นไปและถูกเชิญไปเป็นแขก เขาบอกว่าแต่ละภูมิภาคมีเครือข่ายแอลกอฮอล์ไทยที่เข้มแข็ง ทำให้เข้าถึงผลผลิตจากชาวบ้านได้อย่างครอบคลุม

“พอมีพื้นที่ให้คนได้ทดลอง เราก็จะมีเบียร์แปลก ๆ ให้ดื่ม เช่น เบียร์ใส่ไก่ย่าง เบียร์ทุเรียน หรือเบียร์ส้มตำปูปลาร้าที่ผมดื่มแล้วมันใช่มาก มีกลิ่นปลาร้า เปรี้ยว แต่เผ็ดร้อน ผมอยากให้ทุกคนได้ลองด้วย มันอาจไม่อร่อยมากหรอก แต่คุณควรรู้ว่ามันทําได้ถ้ามีอิสระ”

เราถามเบนซ์อย่างนึกสงสัยว่าจะควบคุมแบรนด์ชาวบ้านกว่า 500 เจ้าให้มีคุณภาพได้อย่างไร คำตอบของเขาทำให้เรามั่นใจว่าจะได้ของดี

“ส่วนใหญ่คนที่ทําเบียร์ เขาทําเพื่อกินเองก่อนแล้วค่อยแบ่งกับเพืื่อน ถ้าทำให้เพื่อนกินแล้วไม่อร่อย ผมทิ้งเบียร์เลย มันอายเพื่อนนะ”

ตรอกแจ้งเกิด

นอกจากงานนี้จะเปิดให้เข้าฟรีแล้ว ยังมีตรอกแจ้งเกิด เป็นพื้นที่สำหรับโชว์ของโดยไม่คิดค่าบูทสำหรับ Brewers หน้าใหม่ ชวนหอบลูกเต้าเหล้าเบียร์มาแจ้งเกิด พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ประกอบการตัวจริง และนำฟีดแบ็กจากนักชิมกลับไปต่อยอด เพื่อขยับขยายชุมชนแอลกอฮอล์ไทยให้ยิ่งใหญ่ขึ้น

เวทีสภาเบียร์

จุดประสงค์ที่แท้จริงของการจัดงานนี้คือการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย เราจึงได้ฟังวงเสวนาที่มีนักการเมืองมาร่วมพูดคุยกันแบบสด ๆ ที่นี่ โดยหัวข้อของพวกเขาเรียบง่ายมาก นั่นคือ เราจะแก้กฎหมายสุราให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศได้อย่างไร

“เราพยายามเชิญตัวแทนจากรัฐบาลที่ดูแลและมีส่วนเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งด้านการควบคุมและได้ผลประโยชน์ขึ้นเวที เล่าให้ฟังว่าเขากําลังผลักดันอะไร แก้ไขอะไรที่พวกเราอาจจะยังไม่รู้ แล้วก็เชิญ Brewers ผู้ประกอบการรายย่อยทั้งเหล้าและเบียร์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงขึ้นเวทีด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองให้เข้าใจกันและกันมากขึ้น”

พอร่วมวงเสวนาแล้วมีไฟอยากทำกิจกรรมก็มีให้พร้อมสรรพแบบจุก ๆ ทั้งเวิร์กชอปชิมแอลกอฮอล์ การต้มเบียร์ การกลั่นเหล้า การทำสาโท กับวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ความรู้กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง รับรองว่าครบจบในที่เดียวแบบหาที่ไหนไม่ได้

“เราไม่ได้ทำแค่ตลาดเบียร์ แต่มันเป็นการจําลองสิ่งที่เราอยากเห็นใน Eco System ของประเทศนี้ในช่างชุ่ย” เบนซ์กล่าว

การเดินทาง

ทุกคนรู้ดีว่าช่างชุ่ยเดินทางมายากขนาดไหน พวกเขาอยากรณรงค์ให้ไม่ต้องเอารถมา ตอนจัดชุ่ย เดี่ยว เบียร์ มีรถแดงของชาวบ้านไว้รับส่งคนจากรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสิรินธร 4 คัน ประสบความสำเร็จมากจนงานนี้ต้องเพิ่มเป็น 8 คัน และเพิ่มจุดรับส่งที่เส้นปิ่นเกล้าเพิ่ม ทั้งยังมีวินมอเตอร์ไซค์ไว้คอยรับส่งทุกทางออก

มากไปกว่านั้นคือการดีลกับ Grab เพื่อจัดแคมเปญเมาไม่ขับ มีโค้ดส่วนลดสำหรับการเดินทางมาร่วมงาน รวมถึงโปรโมชั่น Grab drive your car อีกด้วย

ส่วนคนที่เอารถมาก็ไม่ต้องกังวลไป พวกเขาทำที่จอดรถสำหรับผู้ร่วมงานและบรรดา Brewers ไว้โดยเฉพาะเรียบร้อย

การจัดการขยะ

อีกปัญหาที่เรียนรู้จากงานครั้งก่อน คือแก้วชิมเบียร์กลายเป็นขยะล้นถัง พวกเขาช่วยกันคิดวิธีแก้ปัญหาจนได้ออกมาเป็น Beer People Cup แก้วชิมเบียร์หน้าตาน่ารักที่ดูคล้ายกับแก้วชิมกาแฟที่เราเห็นบ่อย ๆ ในงาน Thailand Coffee Fest สำหรับใครที่อุดหนุนแก้วใบนี้ นอกจากช่วยลดขยะได้แล้ว ยังซื้อเบียร์ในราคาพิเศษได้ด้วย 

Beer Vote เป็นอีกอย่างที่เราชอบมาก โดยใช้การตั้งคำถามจากประเด็นสังคมแล้วให้ผู้ร่วมงานโหวตผ่านการทิ้งขยะลงถังตามคำตอบที่ตัวเองเลือก ไม่เพียงช่วยแยกขยะอย่างเป็นระบบ ยังได้เห็นประชามติของคนส่วนใหญ่

การขยายพื้นที่

ฟังดูเส้นทางก็ดูจะราบรื่นไปเสียหมด มีอุปสรรคบ้างไหม – เราถามต่อ

“รอบแรกนี้ผมมีประมาณ 100 บูท 200 แบรนด์ รอบนี้้มี 200 บูท 500 แบรนด์ ดับเบิลทุกอย่าง ผมเรียนรู้จากทางช่างชุ่ยที่เขาทํางานแบบมืออาชีพ งานนี้เลยไม่ได้มีปัญหาอะไรขนาดนั้น แต่สิ่งเดียวที่กังวลเล็ก ๆ คือ กลัวคนจะมาเยอะเกิน” ทุกคนพร้อมใจกันหัวเราะ แต่ปัญหานี้นี่แหละที่ทำให้พวกเขาต้องปาดเหงื่อ โดยเฉพาะเจ้าของพื้นที่อย่างช่างชุ่ย

เราไม่อยากให้คนเดินแออัด พยายามบอกลูกบ้านของช่างชุ่ยให้เปิดพื้นที่เล่นกับเทศกาลเหมือนกัน เราเติมโต๊ะไปเต็มทุกอาคาร ทําร้านค้าให้มีพื้นที่นั่งมากขึ้นเพื่อให้คนเข้าไปนั่งพัก ตากแอร์ เพราะงานเริ่มตั้งแต่ 11 โมงถึง 5 ทุ่ม” เลียวเล่าพร้อมการันตีว่างานนี้เดินสะดวกลุกนั่งสบายแน่นอน

แก้วที่ 3 มาม่วน

“เราสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยวัฒนธรรมการดื่มที่ดี” คือประโยคที่เราได้ยินบ่อยที่สุดในการสนทนาวันนี้

เราถามพวกเขาง่าย ๆ ว่า วัฒนธรรมการดื่มที่ดีคืออะไร

“ในช่างชุ่ย ร้านที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ไม่เคยเจ๊งนะครับ” เลียวเผยความจริงหนึ่งข้อ ก่อนอธิบายว่าคนไทยดื่มแอลกอฮอล์เหมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต

“เราอยู่ในสังคมที่ต้องดื่มเยอะ ๆ แล้วมีความสุข ยิ่งเมายิ่งคุ้ม แต่ดื่มแบบนั้นทําให้พังหมด ทั้งร่างกายและสังคม เราอยากให้คนมีความสุขกับการดื่มโดยไม่ทําร้ายใคร มากกว่านั้นคือดื่มแล้วอยากขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง คุณได้เห็นการเสวนา ได้ลงเวิร์กชอป เกิดการเรียนรู้แล้วเอาไปต่อยอดในเรื่องต่าง ๆ” เบนซ์เสริมต่อด้วยความหวังในแววตาไม่ต่างกัน

เราไม่แปลกใจว่าทำไม 3 หัวเรือใหญ่ถึงร่วมหัวจมท้ายเพื่อวางแผนอย่างครบถ้วน ท่ามกลางกระแสตีกลับที่ยังมีคนบางกลุ่มมองว่าเครื่องดื่มเหล่านี้มอมเมาสังคม แต่เราทุกคนเป็นนักดื่มที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้

“งานที่ประชาชนเบียร์เคยจัด ไม่เคยมีคนตีกันเลย” เจ้าของสถานที่อย่างช่างชุ่ยยืนยันด้วยความจริงอีกข้อ

“เทศกาลนี้จะเป็นการเปิดโลกให้เห็นว่าคุณมีทางเลือก ลองเปลี่ยนมาเน้นเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณดูไหม สิ่งที่คุณใช้จ่ายยังเป็นปัจจัยที่ 5 แต่คุณมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ แทนที่จะดื่มเบียร์ยี่ห้อเดียว 3 ขวดเมา แล้วเงินก็ไปอยู่กับคนแค่หนึ่งคน คุณดื่ม 3 แบรนด์แล้วเมาเหมือนเดิม แต่กระจายรายได้ให้กับชาวบ้านได้อีกเยอะ”

เหมือนกับที่เบนซ์เคยเปลี่ยนชีวิตเจ้าของแบรนด์ The Spirit of Chaiyaphum เหล้าจากอ้อยที่ถูกพูดถึงเป็นปรากฏการณ์เมื่อปีก่อน ด้วยการโพสต์แนะนำลงบนเพจตัวเอง จากเคยคิดปิดกิจการกลายเป็นต้องขยายโรงงาน เกิดการจ้างงานในชุมชนได้หลายสิบคน ทั้งช่วยแพ็กของ ช่วยตัดอ้อย ยิ่งตอกย้ำว่างานหลักของเขาคือการช่วยเหลือชุมชน หาใช่การเชิญชวนผู้คนให้มาดื่มเพิ่ม

“แล้วคิดดูว่านี่คือประเทศเล็ก ๆ ที่เราพยายามสร้างขึ้นมา ถ้าเป็นประเทศที่ใหญ่กว่านี้เป็นล้านเท่าจะดีขนาดไหน”

เบนซ์ไม่ได้พูดออกมาว่าประเทศอะไร แต่เราว่าไม่ใกล้ไม่ไกลจากแถวนี้เท่าไหร่หรอก

แก้วที่ 4 บรรเจิดเบียร์

พิจารณาจากงานชุ่ย เดี่ยว เบียร์ มีคนร่วมงานกว่า 20,000 คน เฉลี่ยแล้วใช้จ่ายไปคนละ 1,000 บาท เท่ากับว่ามีเงินสะพัดในงานเบียร์มากถึง 20 ล้าน 

เบนซ์มองว่าแอลกอฮอล์คือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของจริงที่ทําให้เกษตกรฟื้นขึ้นมาได้ ถ้ากฎหมายปลดล็อก คนตัวเล็กแปรรูปนาข้าวออกมาเป็นแอลกอฮอล์ มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่า

ฟากไอซ์ก็พบเรื่องน่าสนใจในขั้นตอนการรีเสิร์ชเช่นเดียวกัน เขาเล่าว่าอัตราการเติบโตของสัดส่วนตลาดคราฟต์เบียร์ในไทยเพียง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เทียบเท่ากับการเติบโตของอเมริกาที่ใช้เวลาเป็น 10 ปีในการสร้างตลาดคราฟต์เบียร์ และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นได้อีก

ประเทศไทยมีรสชาติการกินที่หลากหลาย เรามีแรงก์ความหวาน ตั้งแต่หวานมากสุด ๆ จนถึงหวานน้อย ๆ เรามีความเผ็ดที่โคตรเผ็ดกับเผ็ดธรรมดา เรามีความขมจากสมุนไพรไทย แล้วมีความฝาดกับความเปรี้ยว ขนาดตลาดเบียร์ไทยยังไม่เสรีเต็มที่ เบนซ์ยังเคยดื่มเบียร์พิสดารอย่างส้มตำปูปลาร้ามาแล้ว

“แอลกอฮอล์ไทยต้องไประดับโลกครับ แค่เอเชียไม่ได้” เบนซ์พูดอย่างมั่นใจ เมื่อถามหาอนาคตเบียร์ไทยในอีกหลายปีข้างหน้า

“ผมตั้งเป้าไว้ 10 ปี จะทำให้เหมือน Oktoberfest (เทศกาลเบียร์ใหญ่สุดในโลกสัญชาติเยอรมัน) เพราะ Oktoberfest เป็นแค่เบียร์ของแคว้นเดียวคือบาวาเรีย แต่ของเราคือทั้งประเทศ การเคลื่อนไหวของผมทุกอย่างคือการบอกว่าเรามีเหล้าเบียร์เป็นของดีประจําประเทศได้ และตราบใดที่ยังมีเหล้าเบียร์และยังมีคนถูกกดขี่อยู่ องค์กรเราจะไม่ตาย เพราะการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งเริ่มจากวงแบบนี้”

แค่นั่งฟังแก้วในมือยังสั่น ไม่รู้หรอกว่าฝันนั้นจะกลายเป็นจริงไหม แต่อย่างน้อยประเทศในอุดมคติที่สะท้อนออกมาผ่านการจัดเทศกาลนี้ก็ทำให้เห็นว่าพวกเขามุ่งมั่นมากแค่ไหน 

หากทุกคนในประเทศมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ดูถูกกัน เคารพซึ่งกันและกัน ผู้มีอํานาจเห็นอกเห็นใจประชาชน เหมือนกับที่พวกเขาจัดงานโดยเห็นอกเห็นใจทุกฝ่ายก็คงจะดีไม่น้อย

เห็นที่ต้องรีบตีตั๋วเข้า ตม. อพยพสู่ประเทศแห่งเสรีภาพพร้อมกันกับนักดื่มทุกท่าน อยากรู้เหมือนกันว่าชีวิตดั่งฝันมันเป็นยังไง

เอ้า ชน!

เตรียมอพยพ ย้ายประเทศใน BEER PEOPLE FESTIVAL 2024 วันที่ 2 – 3 มีนาคม 2567 เวลา 11.00 – 23.00 น. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : ช่างชุ่ย ChangChui (แผนที่)

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง