การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคงจะไม่พ้นการประสบพบเจอด้วยตนเอง อันเป็นประสบการณ์เชิงประจักษ์ ที่จะซึมซับเข้าไปในตัวในตนของผู้เรียนได้ ครูจึงควรให้นักเรียนได้มีประสบการณ์กับเรื่องจริงบนโลกใบนี้ และหากเป็นสถานการณ์ปัจจุบันได้ยิ่งดี ผู้เรียนจะได้เข้าใจความเป็นไปที่เกิดขึ้นอย่างทันเรื่อง ทันรู้ มีหลักฐานและข้อมูลที่ตรวจสอบได้
การลงพื้นที่จริงเป็นเรื่องดีมาก ได้พบสถานการณ์ ผลของสถานการณ์ และผู้คนที่บอกเล่าข้อมูลจริง ผู้เขียนจึงได้พานักเรียนจากกรุงเทพฯ กลุ่มหนึ่งไปเรียนรู้ความเป็นมนุษย์และวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนที่หมู่บ้านตามุย
หมู่บ้านตามุยตั้งอยู่บนที่ราบขนาดเล็กระหว่างแม่น้ำโขงและส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ภูตามุย’ ในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นสถานที่ที่ผู้เขียนพานักเรียนมาทุกปีการศึกษา หมู่บ้านนี้มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ทำมาหากินไปตามสภาพพื้นที่ที่มีและเป็นอยู่ มีวิถีชีวิตเฉพาะตัวตามฉบับบ้านตามุย


นี่จะเป็นครั้งแรกของนักเรียนชาวกรุงที่มาสัมผัส ปรับตัว พักพิง อยู่ร่วม และทำกิจกรรมกับชาวบ้าน เรียนรู้และเคารพในภูมิรู้ของผู้อื่น ฝากตัวเป็นลูกเป็นหลานของชาวบ้าน ชาวบ้านเองก็ต้อนรับพวกเราเหล่าครูและผู้เรียนอย่างเป็นกันเองเสมือนลูกหลานจริงๆ เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่ครูและนักเรียนแล้วว่าจะพากันปรับตัวและเรียนรู้ได้มากน้อยเพียงใด
การเริ่มต้นอาศัยเรียนรู้ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ผู้เรียนหลายคนพร้อมปรับตัวกับการอยู่ในบ้านตามุย ไม่ว่าจะเป็นที่หลับที่นอน แต่ละกลุ่มจะแยกกันไปฝากตัวเป็นลูกเป็นหลานตามแต่ละบ้าน บ้านหลังละ 3 – 4 คน แต่ละหลังมีที่หลับที่นอน ทั้งที่นอน หมอน มุ้ง และพัดลม ไม่สบายเท่าอยู่บ้านสำหรับผู้เรียนเมื่อแรกเห็น แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ชาวบ้านทำให้เราแล้ว
เรื่องอาหารการกิน ผู้เขียนได้ไปขอแต่ละบ้านตั้งแต่ก่อนมาแล้วว่า ชาวบ้านกินแบบไหนก็ควรให้ผู้เรียนได้กินแบบนั้นด้วย เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิถีการกิน แต่ก็ไม่วายมีทั้งแตกต่างจากที่เคยกินและแบบที่คุ้นเคย เพราะชาวบ้านกลัวว่าผู้เรียนเหล่านี้จะกินไม่ได้ เลยทำเผื่อผู้เรียนให้กินได้ด้วย เห็นการดูแลต้อนรับอย่างใจจริงของชาวบ้านตามุยแห่งนี้ ผู้เรียนบางคนก็ยังปรับตัวได้ยาก คงต้องให้เวลาพวกเขาปรับตัวบ้าง


ผู้เขียนในฐานะผู้อำนวยการเรียนรู้ เลยชี้ชวนให้ผู้เรียนลองย้อนพิเคราะห์สิ่งที่รู้สึกในใจ และลองมองภาพเช่นเดียวกันว่าชาวบ้านที่ต้อนรับเรามีใจเช่นไร ผู้เรียนรู้สึกอย่างไรกับใจพวกเขา ก็อาจพอช่วยให้ผู้เรียนได้มีสายตามองผู้อื่น เห็นใจเขาใจเราได้
การเรียนรู้เรื่องในหมู่บ้านเป็นอีกเรื่องที่ครูผู้อำนวยการเรียนรู้ ต้องชี้ชวนมองให้เห็นทั้งพื้นที่ ฤดูกาล อันมีผู้คนในหมู่บ้านไปสัมพันธ์ด้วย โดยทั่วไปแล้วชาวบ้านตามุยไม่มีอาชีพหลักกันสักเท่าใดนัก แต่เป็นอาชีพที่จะคอยปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล




ช่วงหน้าฝนชาวบ้านมักไปเก็บของป่าบนภูตามุย เช่น หน่อไม้และเห็ดนานาชนิดๆ โดยเฉพาะ ‘เห็ดระโงก’ ที่ดูจะเป็นของดีของเด่นของหมู่บ้านนี้ ถึงขนาดขายไปทั่วจังหวัดอุบลฯ และจังหวัดใกล้เคียง มักได้ราคาดี อันเนื่องด้วยดอกเห็ดงามและมีขนาดใหญ่
ฤดูแล้งก็มักหาไข่มดแดง ผักหวาน น้ำผึ้ง บนภูตามุย การปลูกพืชผักริมแม่น้ำโขงมักทำในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่น้ำลด ทำให้ตะกอนแร่ธาตุต่างๆ จะตกลงที่ริมแม่น้ำ เหมาะแก่การปลูกพืชได้ เช่น ข้าวโพด แตงโม ถั่วลิสง โดยเฉพาะฝ้าย ที่ชาวบ้านจะเอาไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากฝ้ายที่ตอนนี้เป็นสินค้าประจำหมู่บ้านไปเสียแล้ว และยังทำประมงในแม่น้ำโขง ซึ่งหาปลาได้ง่ายกว่าฤดูฝนที่เป็นช่วงน้ำหลาก น้ำจะนิ่งมากขึ้น ตะกอนตกลงที่พื้นน้ำทำให้ปลาหากินได้ง่าย โดยเฉพาะตามแก่งหินมักมีสาหร่ายแม่น้ำเกาะอยู่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าไกน้ำ อันเป็นอาหารปลาบางชนิดด้วย




การได้รู้ได้เห็นเรื่องราวเหล่านี้ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจสภาพพื้นที่และฤดูกาล ซึ่งทำให้เกิดพืชพรรณต่างๆ ที่ชาวบ้านนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ว่าพืชหนึ่งๆ จะเกิดได้ทั่วไปและทุกเวลา เหตุปัจจัยมาจากสภาพพื้นที่และอากาศ ชาวบ้านมีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมความเชื่อจากปัจจัยเหล่านี้ด้วย เช่น การตัดเห็ดให้เหลือเชื้อ เพื่อให้เกิดใหม่ในปีหน้าบนที่เดิมการเก็บของป่าที่เก็บอย่างพอดีพอกิน ไม่เก็บล้างผลาญ เคารพในเจ้าป่าเจ้าเขาที่จะปกปักษ์รักษาให้ชาวบ้านไม่มีอันตรายตอนเข้าป่าและหาของป่าเหล่านี้ให้ชาวบ้านมีกิน การไหว้บูชาแม่น้ำโขงเพื่อรำลึกถึงคุณของแม่น้ำ ที่ให้มีปลาเพื่อเลี้ยงปากท้องชาวบ้าน เป็นต้น
ทุกอย่างมีปัจจัยเกื้อหนุนทำให้มีสิ่งต่างๆ และดำเนินต่อไปด้วยความเชื่อ ผู้เรียนได้เรียนรู้จากรูปธรรมไปสู่นามธรรม ครูไม่ใช่ผู้บอกข้อมูลทั้งหมดนี้ ผู้ที่บอกเล่าได้ดีที่สุดคือชาวบ้านบนพื้นที่ ผู้เขียนแค่ทำหน้าที่ถามหรือปะติดปะต่อร้อยเรียงเรื่องราวเป็นเส้นเป็นสาย ให้เห็นความสัมพันธ์ของเรื่องต่างๆ เรื่องไหนยากเกินไปก็ถามนักเรียนไปทีละขั้นๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้คำตอบนั้นด้วยตนเอง ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีสำหรับเขา
หมู่บ้านตามุยมีเรื่องแง่ดีแง่งามของทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาความเชื่อ แต่แท้จริงแล้วก็ไม่ได้อยู่อย่างสวยงาม ยังมีข้อติดขัดและปัญหามากมายถาโถมเข้ามาไม่หยุดไม่หย่อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยทับซ้อนกับเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ปัญหาแม่น้ำโขงแปรเปลี่ยนไป เนื่องมาด้วยการตั้งเขื่อนหลายแห่ง แม่น้ำจึงผิดไปจากฤดูกาลที่ควรเป็น ปัญหาใหญ่ทั้งสองเรื่องนี้ส่งผลต่อปากท้องของคนในหมู่บ้านพอสมควร จากที่ควรอยู่แบบพึ่งพิงตนเองได้ ก็ต้องเปลี่ยนไปตามปัญหาที่เกิดขึ้น


ตัวผู้เรียนไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงมากนัก ณ ที่ตรงนั้น จะรู้ได้แค่ผลกระทบที่ชาวบ้านบอกเล่า และความรู้สึกที่พวกเขาพบเจอกับปัญหานี้ ตัวผู้เรียนเองต้องเข้าใจถึงสภาพที่เกิดขึ้น และต้องนำเรื่องเหล่านั้นกลับมาทำงานต่อที่โรงเรียน เพื่อให้เข้าใจต้นเหตุปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้าน
นักเรียนได้ศึกษาไปจนถึงท้ายที่สุดว่า ตัวนักเรียนเองอาจเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุปัญหา โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้นักเรียนใช้ทุกวันนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราเองก็ยังจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันอยู่ แล้วเราควรทำอย่างไรกับเรื่องนี้ดี
หลายคนคงมีคำตอบในคำถามนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว นักเรียนจะเห็นว่าเป็นเช่นไรก็แล้วแต่ตัวนักเรียน เพราะไม่มีคำตอบสุดท้าย ผู้เขียนได้พานักเรียนมาเรียนรู้ พบเจอประสบการณ์เชิงประจักษ์ เจอความจริงบางอย่างจากหมู่บ้านตามุย จนมาถึงจุดหนึ่งที่นักเรียนต้องเริ่มคิดหรือทำเอง ไม่ใช่คอยบังคับทิศทางพวกเขาอยู่ตลอดเวลา จนผู้เรียนไม่ได้คิดเห็นอะไรได้เป็นตัวของตัวเอง
หากทิศทางครูไม่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง คงเป็นคำตอบที่ก่อประโยชน์ต่อผู้อื่น ไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อนจากความคิดนี้ เป็นคำตอบที่มีความคิด มีแง่งาม มีคุณค่าต่อสังคม อันจะทำให้ผู้เรียนสามารถเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไปในภายภาคหน้า อย่างที่ครูไม่ต้องเป็นห่วงพวกเขาเลย
