The Cloud x TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง
เครื่องลงจอดบนรันเวย์ของสนามบินประจำจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคอีสาน อุบลราชธานีตรงหน้าถูกปกคลุมด้วยเมฆฝน แต่สดใสขึ้นเมื่อเราได้เจอคนอุบลฯ 14 คนนี้
“คนอุบลฯ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และแม้จะเป็นเมืองใหญ่ก็ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีแบบเดิมอยู่” ถามใครกี่คนก็นิยามเมืองอุบลฯ ไว้แบบนั้น เมืองที่เศรษฐกิจเริ่มขยายทำให้คนรุ่นใหม่เลือกที่จะอยู่บ้านและสร้างธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมา อุบลฯ ในวันนี้จึงสดใส คึกคัก และเต็มไปด้วยกิจการใหม่ๆ ที่มีทั้งคนอุบลฯ โดยกำเนิด และคนอุบลฯ จากการเลือกมาใช้ชีวิตที่นี่
ถ้าไม่นับสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติอย่างสามพันโบก ผาแต้ม แม่น้ำสองสี และภูมิศาสตร์ที่เห็นพระอาทิตย์ขึ้นเป็นที่แรกในประเทศ อุบลราชธานีคงเป็นเมืองแห่งมิตรภาพที่นำพาเพื่อนใหม่มาเจอกัน เป็นครอบครัวที่ชวนกันกลับบ้าน เป็นความรักในบางคนหรือบางอย่างจนสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้
นี่คือเรื่องราวชีวิตของคนอุบลฯ ทั้ง 14 คน เล่าผ่าน 12 กิจการของพวกเขาที่เต็มไปด้วยความรักและความภาคภูมิใจในเมืองดอกบัวงามแห่งนี้ ผู้ที่ทำให้การเดินทางมาอุบลฯ ครั้งนี้พิเศษ สนุก หรือแบบที่คนอีสานพูดกันว่า ‘ม่วนล้ายหลาย’
01
ร้านกาแฟของหนุ่มปกาเกอะญอ ที่ย้ายมาอุบลเพราะตกหลุมฮัก
Anna Coffee Micro Roasters

ใจกลางเมืองท่ามกลางร้านอาหารขึ้นชื่อของดีเมืองอุบลอย่างกวยจั๊บ มีร้านกาแฟขนาดหนึ่งคูหาสีขาวบรรยากาศสะอาดตาตั้งอยู่ Anna Coffee Micro Roasters คือร้านกาแฟของ เทน-อุเทน สมบูรณ์ค้ำชู และ แอน-มานิตา จารุกขมูล หนุ่มปกาเกอะญอจากเชียงใหม่และภรรยาของเขา เทนเรียนจบสาขาการออกแบบสื่อมัลติมีเดีย และทำอาชีพฟรีแลนซ์ทันทีที่จบการศึกษา ด้วยธรรมชาติของงานทำให้สุขภาพย่ำแย่ เขาจึงนึกถึงไร่กาแฟที่บ้านว่าพอจะทำเป็นอาชีพได้บ้างหรือไม่

ไร่ของเขาคือ Lica Coffee Estate ที่บ้านแม่แดด กัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกาแฟที่ปลูกเป็นพืชสวนครัวหลังบ้าน ไม่ได้ทำจริงจังเป็นสัดเป็นส่วน และมีจำนวนไม่มาก จากที่ขายกาแฟเมล็ดเชอร์รี่ได้ 5 – 6 บาทต่อกิโลกรัม เทนกลับไปทำโดยรับซื้อในราคาที่สูงขึ้น เพื่อให้เกษตรกรที่บ้านเห็นความสำคัญกับกาแฟว่าทำเป็นอาชีพได้ ปัจจุบันไร่ของเขาส่งกาแฟให้โรงคั่วดังๆ ในประเทศอย่าง School Coffee, Roots และกระทรวงการคั่ว
เขาพบกับแอน และตัดสินใจย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นี่เพื่อพัฒนาร้านกาแฟของแอนที่มีอยู่ก่อนแล้ว เป็น Anna Coffee Micro Roasters ร้านกาแฟ Specialty แห่งแรกๆ ในเมืองอุบลฯ ที่ใช้เมล็ดทั้งหมดจากไร่ที่เชียงใหม่ โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะแบ่งเอาไว้เป็นค่าอาหารกลางวันให้เด็กในชุมชนบ้านแม่แดดน้อย


3 ปีที่แล้วเขาเปิดร้าน คนอุบลฯ ยังไม่คุ้นเคยกับกาแฟ Specialty มากนัก จนปัจจุบันมีลูกค้าขาประจำเข้าออกตลอดวัน โดยเทนและแอนปรับเปลี่ยนเมนูตามผลตอบรับของลูกค้า และมักมีเมนูจากผลผลิตตามฤดูกาล เช่น Cold Brew มังคุด และกาแฟที่ใช้น้ำผึ้งป่าเป็นส่วนผสม
“ผมมาอุบลฯ เพราะชอบสาวอุบลฯ” เทนตอบด้วยเสียงหัวเราะ พร้อมบอกว่าคนอุบลฯ ชอบอะไรแปลกใหม่ Anna Coffee Micro Roasters เลยเปลี่ยนหน้าร้านทุกๆ สองปี นั่นแปลว่าถ้าไปปีหน้า ร้านอาจจะไม่ได้หน้าตาแบบนี้แล้วก็ได้
ที่อยู่ : 85/7 ถนนพิชิตรังสรรค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี 34000 (แผนที่)
วัน-เวลา : ทุกวัน 7.00-17.00 น.
โทร : 08 2686 4909
Facebook : Anna Coffee Micro Roasters
02
คาเฟ่และฮ้านค้าที่อยากให้เกษตรท้องถิ่นมีชีวิตดีขึ้น
แสนสุขโฮมคาเฟ่


ย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อน เจ-วิภาดา จาฏุพจน์ เจ้าของแสนสุขโฮมคาเฟ่เริ่มสนใจเรื่องอาหารออร์แกนิก เธอพบว่าคนที่ทำงานในโรงสีของครอบครัวส่วนใหญ่มีที่นาเป็นของตัวเอง เลยชักชวนให้เปลี่ยนเป็นนาออร์แกนิก ตอนนั้นคนยังไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับมันมากนัก ตลาดยังไม่ใหญ่ เธอจึงเริ่มจากการรับซื้อผลผลิตมาก่อน แล้วจึงเปิดแสนสุขโฮมคาเฟ่ ร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตไว้ระบายพืชผลที่มี

การเปลี่ยนจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ทำให้ผลผลิตไม่เยอะและสม่ำเสมอเท่าเดิม โมเดลที่เธอทำคือการรวมกลุ่มเกษตรกรโดยใช้ระบบจ่ายเงินไม่ว่าเขาจะมีผลผลิตส่งให้หรือไม่ และผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งนำไปขายในซูเปอร์มาร์เก็ตของร้าน มีทั้งผัก อาหารแปรรูป และเมล็ดพันธุ์ อีกส่วนหนึ่งนำมาปรุงเป็นอาหารและเครื่องดื่มในแสนสุขโฮมคาเฟ่
เมนูแนะนำของที่นี่คือ แสนสุขโรล มีลักษณะคล้ายเมี่ยงสด แต่สอดไส้ด้วยหมูยอ ซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของอุบล และข้าวยำแสนสุข ที่ใช้น้ำราดสูตรพิเศษจากสมุนไพรที่มีในสวนแทนน้ำบูดูซึ่งเป็นสูตรจากภาคใต้ หากฤดูไหนมีผลผลิตพิเศษก็จะนำมาเพิ่มในเมนูด้วย

สิ่งที่ยากที่สุดของการทำแสนสุขโฮมคาเฟ่ คือช่วงแรกคนยังไม่เข้าใจเรื่องอาหารออร์แกนิก เพราะการกินอาหารออร์แกนิกวันนี้ไม่เห็นผลทันทีในวันพรุ่งนี้ เลยเป็นหน้าที่ของเธอที่ต้องทำให้เกษตรกรและลูกค้าเข้าใจถึงข้อดีข้อเสีย
“คนชอบมองว่าทำไมผักผลไม้ออร์แกนิกไม่ใช่ปุ๋ยเคมีแต่ราคาแพง ยกตัวอย่างแบบนี้ สมมติเราทำนาหนึ่งแปลง ใช้คนหนึ่งคนกับยาฆ่าหญ้าก็พ่นได้หมดแล้ว คนเดียวอยู่ แต่พอเป็นออร์แกนิก หญ้าต้องถูกถอนด้วยมือ หนึ่งคนไม่จบในหนึ่งวัน เราพยายามทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าใจเรื่องนี้มาตลอด และหวังว่ามันจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น”
ที่อยู่ : 215 ถนนสถลมาร์ค ตำบลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี 34190 (แผนที่)
วัน-เวลา : ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) 9.00-17.00 น.
โทร : 08 2686 4909
Facebook : แสนสุขโฮมคาเฟ่
03
โรงแรมข้างบ้าน ของผู้บ่าวสถาปนิกที่อยากกลับมาอยู่กับพ่อแม่
de Lit Hotel

โรงแรมแห่งนี้เป็นของคนอุบลฯ โดยกำเนิดที่ใช้ชีวิตในเมืองหลวงมาถึง 20 ปี อรรถ-สุรชาติ ชาววัง เป็นสถาปนิกที่ตัดสินใจกลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิดเพราะเหตุผลเดียวคือพ่อแม่ จากความตั้งใจแรกว่าอยากทำอพาร์ตเมนต์ กลายเป็นโรงแรมขนาดเล็ก ที่เขากะแวะเวียนกลับมาดูบ้านเป็นครั้งคราว แต่ก็พบว่าการบริหารโรงแรมขนาดเล็กซับซ้อนกว่านั้น
“อาชีพสถาปนิกไม่ได้ต้องการออฟฟิศที่หรูหราใหญ่โต เราทำงานที่ไหนก็ได้ สุดท้ายเลยตัดสินใจกลับมาอยู่อุบลฯ แล้วสร้างโรงแรมข้างๆ บ้านพ่อแม่”

อรรถเริ่มออกแบบโรงแรมจากสไตล์ที่แปลก ไม่มีในจังหวัดอุบลราชธานี และอาจจะมีไม่กี่ที่ในประเทศไทย มาจบที่สไตล์เมดิเตอเรเนียนสีขาวฟ้าที่มีความดิบ เป็นการเอาความไม่เรียบร้อยมาจัดระเบียบ เหมือนกับลายเซ็นของเขาในการทำงานสถาปัตยกรรม


เรามาถึง de Lit คืนแรกตอน 4 ทุ่มกว่าเพื่อพบกับบรรยากาศอบอุ่น บริเวณร้านอาหารหน้าล็อบบี้ที่กลายเป็นบาร์ในเวลากลางคืน เพลงเพราะเปิดคลอพร้อมการต้อนรับของพนักงานไม่กี่คนในกะดึกที่เป็นกันเองเหมือนครอบครัว และเมื่อมื้อเช้ามาถึง เมนูไม่ใช่ American Breakfast แต่เป็นอาหารพื้นเมืองรสชาติดีที่มีให้เลือกหลายเมนูด้วยกัน ตั้งแต่ไข่กระทะ กวยจั๊บญวณ จนถึงเนื้อย่างกับข้าวจี่
“จริงๆ ไม่ได้ชอบอุบลฯ เลยนะ” อรรถตอบทันทีเมื่อเราถามถึงเหตุผลที่ชอบอุบลฯ
“เรารู้สึกชอบกรุงเทพฯ มากกว่าด้วยซ้ำ แต่การไปอยู่กรุงเทพฯ มายี่สิบปีมันอิ่มแล้ว ขับรถไปทำงานสิบสี่กิโลใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง แต่พอกลับมาจริงๆ อุบลฯ มันดีนะ มันกำลังโต ในขณะเดียวกันก็ไม่ยุ่งยาก สบาย ขับรถไปไหนมาไหนก็แค่สิบถึงสิบห้านาที และที่สำคัญอาหารอร่อยและถูก” เขาทิ้งท้ายด้วยเสียงหัวเราะ
ที่อยู่ : 51 ถนนชยางกูร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี 34000 (แผนที่)
โทร : 09 8279 9476
Facebook : de Lit
04
ฟาร์มสเตย์ของสถาปนิกที่อยากนำเสนอวิถีชีวิตคนอุบลฯ
The Goose Farm Stay & Cafe

บิ๊ก-อภิศักดิ์ ชิณกะธรร คือสถาปนิกที่ไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ทันทีที่เรียนจบ เขาใช้ชีวิตที่โน่นประมาณ 2 ปี ก่อนตัดสินใจกลับมาด้วย 2 เหตุผลหลักๆ คือ หนึ่ง รู้สึกว่าอายุยังน้อย อยากลองอะไรใหม่ๆ สอง ไม่ได้แสดงศักยภาพที่แท้จริงด้วยอุปสรรคหลายๆ อย่าง ด้วยความที่เป็นคนชอบคิด ชอบทำ เขาจึงกลับอุบลฯ มาเพื่อทำบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมของตัวเอง พร้อมกับกิจการที่พักขนาดเล็กบนที่ดินของครอบครัว

บิ๊กเติบโตมาที่บ้านสวนในอำเภอเขมราฐ ทำให้เขาเข้าใจความเป็นอีสานเป็นอย่างดี โจทย์แรกๆ ของการทำธุรกิจของเขาคือต้องทำให้คนอุบลฯ ภูมิใจในความเป็นอีสานของตัวเองด้วย เริ่มจาก The Goose Farm Stay & Cafe เขาเปิด The Goose Cafe and Hostel ในตัวเมืองก่อน โดยได้ไอเดียจากการเดินทางหลังลาออกจากงานประจำ ได้เห็นรูตการเดินทางของชาวต่างชาติจากลาวเหนือมาลาวใต้ ที่แวะมาอุบลราชธานีเพื่อขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ
“หกปีที่แล้วอุบลยังไม่ค่อยมีโฮสเทล แล้วก็ยังไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวขนาดนั้น เราพยายามใส่รายละเอียดของศิลปวัฒนธรรมอีสานเข้าไปในการออกแบบ พอทำโฮสเทลไปสักพักก็รู้สึกว่า คนยังไม่ได้เห็นวิถีชีวิตแบบที่เราตั้งใจตั้งแต่ทีแรก ก็ตัดสินใจเปิดฟาร์มสเตย์ที่บ้านสวนของพ่อ”


ฟาร์มสเตย์ตั้งอยู่ที่อำเภอเขมราฐท่ามกลางป่าธรรมชาติและความเงียบสงบ บ้านไม้ยกสูงได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นที่พักขนาดสามห้องนอน มีโถงใหญ่เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ในบริเวณเดียวกันมีทั้งร้านอาหารและคาเฟ่ ไปจนถึงฟาร์มสัตว์ ทั้งวัว ควาย ไก่ และแน่นอนว่าต้องมีห่านให้สมกับชื่อที่ตั้งไว้
“สำหรับเรา อุบลฯ มันมีเสน่ห์กว่าจังหวัดอื่นๆ ของภาค ในแง่ที่ยังมีความเป็นอีสานแทรกอยู่ในเมือง ทั้งๆ ที่หัวเมืองก็เจริญและขยายแล้ว แต่ยังมีวัฒนธรรมบางอย่างที่ชัดเจน ส่วนคนอุบลฯ ก็ใจดี มีความสนิทสนมชิดเชื้อโดยอัตโนมัติ เหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน”
ที่อยู่ : 100/12 บ้านนาอาลอน ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล อุบลราชธานี 34170 (แผนที่)
โทร : 09 4029 0382
Facebook : The Goose Farm Stay & Cafe’
05
ร้านอาหารญวนที่เมนูกวยจั๊บไม่เหมือนที่อื่น
อากาเว่


บริเวณรอบพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติประจำจังหวัด นอกจากวัดวาอารามที่อยู่ทุกหัวมุมถนน มีกิจการขนาด 2 คูหาตกแต่งด้วยต้นไม้พันธุ์เก๋อย่างเฟิร์นและมอนสเตอร่าขนาดใหญ่ ที่ถ้ามองแค่ด้านหน้าอาจไม่รู้เลยว่าเป็นร้านอาหาร ภายในร้านเต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์มือสองที่เจ้าของร้านกระซิบมาว่าส่วนใหญ่ซื้อที่ร้านแม่เตอร์ (ไม่มีอยู่ในลิสต์ แต่คนชอบของเก่าควรต้องไป)

อากาเว่ เป็นร้านอาหารเวียดนามของ นิว-นิตินันท์ มังคลา บัณฑิตที่เรียนจบทางด้านการทำอาหาร ผู้เคยไปใช้ชีวิตในครัวที่ประเทศออสเตรเลีย เขาตั้งใจกลับมาใช้ชีวิตที่อุบลฯ มาโดยตลอด เขาเกิดที่นี่ โตที่นี่ อุบลฯ จึงเป็นเมืองใหญ่ที่เข้าถึงง่ายและไม่วุ่นวายในความคิดของเขา เขาเริ่มเส้นทางเจ้าของกิจการจากร้านอาหารอิตาเลียนซึ่งใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ก่อนจะถูกกลืนไปกับระบบทุนนิยมและผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ๆ จนลืมความตั้งใจที่มีมาตั้งแต่แรก หนึ่งสัปดาห์หลังจากวันที่ตัดสินใจไม่ทำร้านต่อทันทีที่สัญญาเช่าพื้นที่หมด อาคารพาณิชย์ที่เขาขับรถผ่านทุกวันประกาศให้เช่า ก็เลยกลายเป็นร้านอากาเว่ในปัจจุบัน

“ตั้งแต่เปิดขายวันแรกหน้าตาอาหารก็ไม่เหมือนเดิมนะ จำได้เลยว่าช่วงแรกๆ มีกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนเวียดนามเดินมาบอกว่า เมนูนี้ต้องเป็นแบบนี้ เมนูนี้ต้องใส่กุ้งแห้งเพิ่มนะ เมนูนี้ต้องลดลง”
เมนูจะเปลี่ยนทุกๆ 3 – 6 เดือน แล้วแต่ว่านิวจะไปเจอวัตถุดิบหรือไอเดียอะไรใหม่ๆ อย่างข้าวจี่ที่เสิร์ฟในรูปแบบของวาฟเฟิล หรือเมนูกวยจั๊บญวนที่นิวดื้อไม่ยอมใส่ในเมนูอยู่ 2 ปี
“มันเป็นเมนูที่ทุกโต๊ะเข้ามาต้องถาม เราไม่ยอมทำเพราะไม่รู้ว่าจะทำยังไงถึงจะพิเศษกว่าร้านอื่น ซึ่งเรามีทอดมันปลากราย เราเลยเอาเนื้อปลามาทำเส้นกวยจั๊บเป็นกวยจั๊บเส้นปลา ชิมแล้วอร่อยแตกต่างกับที่อื่น สุดท้ายเลยมีเมนูนี้แล้วในร้าน”
ที่อยู่ : 153 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี 34000 (แผนที่)
วัน-เวลา : ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) 11.00-20:30 น.
โทร : 0 4590 0241
Facebook : อากาเว่ / vietnamese cuisine & café
06
ร้านกาแฟที่ชงกาแฟด้วยความฮัก และบริหารด้วยวิธีคิดแบบหมอ
Life Roasters

Life Roasters คือร้านกาแฟประจำของหมอและพยาบาลโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโลเคชันที่ห่างออกไปไม่กี่นาที อีกส่วนเป็นเพราะเมนูขึ้นชื่ออย่างกาแฟมะพร้าวเผา และสุดท้ายคงเป็นเพราะเจ้าของและบาริสต้าร้านนี้เป็นหมอ
นัท-ณัฐพล คำรินทร์ หรือที่คนอุบลฯ เรียกกันว่าหมอนัท คือบาริสต้าฟูลไทม์และหมอพาร์ตไทม์ที่เพิ่งหลงใหลในการดื่มกาแฟหลังเรียนจบ ก่อนหน้านั้นเขาแทบไม่สนใจมันเลย สิ่งเดียวที่รู้เกี่ยวกับกาแฟคือคุณปู่เป็นเจ้าของไร่อยู่ที่ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ภาพจำของหมอนัทในตอนนั้นคือ คุณหมอหนุ่มที่มีเครื่องชงกาแฟ ชุดดริปกาแฟ และเครื่องบดเมล็ด แอบไว้อยู่หลังห้องตรวจ ทุกครั้งที่พักจากการตรวจ เขาจะเข้าห้องน้ำ ชงเอสเพรสโซ่หนึ่งชอต แล้วกลับไปทำงานต่อ


ชื่อ Life มาจากมุมมองการใช้ชีวิตของเขาว่าในชีวิตหนึ่งคนเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรอย่างเดียว มีหลายคนเคยถามเขาว่าทำไมต้องลาออกจากการเป็นหมอเพื่อมาทำร้านกาแฟ เขาบอกว่าถ้าอยากเข้าใจทุกอย่าง ตัวเองต้องมาอยู่ที่ร้าน มาอยู่หน้าบาร์ คุยกับลูกค้า จะได้รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน จะว่าไปแล้วก็เหมือนกับการออกตรวจคนไข้ หมอนัทจึงบริหารร้านนี้ด้วยวิธีการคิดแบบหมอ
“มันคือการคิดอย่างเป็นระบบ (Systems Thinking) เวลาเจอคนไข้จริงๆ การท่องจำตำราอย่างเดียวมันใช้ไม่ได้ เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนไข้สองคนมาด้วยอาการเดียวกันอาจจะเป็นคนละโรคก็ได้ หมอจะคิดกว้างไว้ก่อนแล้วค่อยสโคปเข้ามา แล้วแก้ไขที่สาเหตุไปทีละปัญหา วิธีนี้นำมาใช้กับการทำธุรกิจได้ หรือการแก้ปัญในการชงกาแฟ รสชาติออกมาเป็นยังไง แล้วสาเหตุที่ทำให้รสชาติเป็นแบบนี้คืออะไร”

ความรู้สึกทางจิตใจของคนเป็นหมอที่หาไม่ได้จากอาชีพอื่นในมุมมองของหมอนัท คือการที่คุณยายอายุ 80 ปีเดินมายกมือไหว้ จับมือ กอด ขอบคุณที่รักษาเขาให้หาย ขณะเดียวกัน การเปิดร้านกาแฟก็สอนบางอย่างที่สำคัญมากให้กับเขา
“อัตตาเราลดลง ปีแรกๆ ลูกค้าจะกลัวผมมาก ไม่กล้าคุย ไม่กล้าสั่งอะไรที่ผิดไปจากเมนู แต่ก่อนเวลาลูกค้าถามว่าอันนี้ได้ไหม เราจะบอกทันทีว่าไม่ได้ หลังจากนั้นเราก็ปรับตัว เหมือนเราเข้าใจมากขึ้นว่าคนเราชอบไม่เหมือนกัน ผมชอบแบบนี้ไม่ได้แปลว่าคนอื่นต้องชอบเหมือนผมก็ได้”
ที่อยู่ : 202/3 ถนนสุริยาตร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี 34000 (แผนที่)
วัน-เวลา : วันธรรมดา 7.00-17.00 น., เสาร์อาทิตย์ 8.00-17.00 น.
โทร : 09 5515 5929
07
พิพิธภัณฑ์การทอผ้าที่เซื่อว่าสิ่งที่ดีจะไม่มีวันตกยุค
Khampun Museum Café

“เราไม่ได้สร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อกำไร แต่เราสร้างไว้ให้คนรุ่นหลัง เห็นด้วยไหมครับ” นี่คือสิ่งที่ อ.เถ่า-มีชัย แต้สุจริยา ถามผู้ร่วมลงทุนก่อนเริ่มทำ Khampun Museum Café เมื่อหลายปีก่อน เขาอยากทำพิพิธภัณฑ์มาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มกลับมาพัฒนาบ้านคำปุณ โรงงานทอผ้าแห่งแรกและแห่งเดียวในอุบลราชธานีที่ออกแบบ ‘ผ้ากาบบัว’ ที่โด่งดังไปทั่วโลก และหลายคนต้องรอเป็นสิบๆ ปีกว่าจะได้ซื้อผ้าจากเขา

กลิ่นปลาร้าสับหอมฟุ้งของ อ.เถ่า ต้อนรับเราเข้าสู่สถานที่แห่งนี้ เขาเคยเป็นสจ๊วตสายการบินไทยถึง 7 ปี ระหว่างนั้นก็ศึกษาเรื่องผ้าไปด้วยจากการได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ จนตัดสินใจลาออกเพราะอยากทำงานที่สร้างบางอย่างให้คนอื่นๆ ได้
“พี่อยากทำมิวเซียมมานานแล้ว แม้จะรู้ว่ายังไงก็ขาดทุนในเรื่องของการลงทุน แต่เราจะได้กำไรในเรื่องของความสุข พี่ศึกษาพระพุทธศาสนาทำให้เห็นความไม่ยั่งยืนของชีวิต เลยเกิดคำถามว่าแล้วเราจะสืบสานความรู้ที่เราทำมาตลอดชีวิตให้คนรุ่นหลังได้อย่างไร”

Khampun Museum นำเสนอเรื่องการทอผ้าตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมเส้นใย การขึ้นกี่ และการออกแบบผ้าให้ออกมาเป็นผืน เพื่อให้คนเข้าใจประวัติความเป็นมาไปจนถึงกระบวนต่างๆ ของหัตถกรรมชนิดนี้ ทั้งยังมีหอพระธาตุให้สักการะและเป็นสถานที่จัดกิจกรรมแสดงธรรมะคอร์สสั้นๆ ให้ผู้ที่สนใจอีกด้วย
“หลายคนอาจคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของโบราณ คร่ำครึ แต่เราต้องมีทุนในการที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่อไป ยกตัวอย่างเช่น คอร์เซ็ตที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ของฝรั่งเศส ตอนนี้ก็ยังอยู่ในเทรนด์ที่ทำออกมาเมื่อไหร่ก็เข้ายุคสมัย อยู่ที่ว่าเราจะนำมาพัฒนาต่ออย่างไรมากกว่า”

ส่วนคาเฟ่ข้างๆ อ.เถ่า ถือว่าเป็นห้องรับแขกของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ เสิร์ฟอาหารท้องถิ่นที่นำเสนอในรูปแบบใหม่ เช่น เมนูของว่างจากเค็มบัก หมี่กะทิอุบลฯ และเบเกอรี่หน้าตาสะสวยดีกรี Le Cordon Bleu
“ใครที่มาที่นี่ถือว่าท่านได้ช่วยต่อลมหายใจให้ภูมิปัญญาไทย” อ.เถ่า บอกเราแบบนั้น “มันนิยมได้ ก็หมดความนิยมได้ แต่สิ่งที่ดีจะทวนกระแส และจะเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ถ้าคนรุ่นใหม่ปล่อยให้มรดกที่ได้รับมาจมน้ำหายวับไปกับตา”
ที่อยู่ : หมู่ 9 เลขที่ 131 ถนนเทศบาล 81 ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี 34190 (แผนที่)
วัน-เวลา : ทุกวัน 9.00-17.00 น.
โทร : 09 3131 0331
Facebook : Khampun Museum Cafe
08
ร้านอาหารอีสานที่เมนูขึ้นอยู่กับของสดที่หาได้จากตลาดเช้าท้องถิ่น
Zao ซาว

‘ร้านอาหารอีสานที่เซ่บที่สุดในจังหวัดอุบลฯ เพราะเจ้าของเรียนจบแฟชั่น’ อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ ให้คำนิยามร้านอาหาร Zao ซาว ของตัวเองไว้แบบนั้น
เธอทำงานเป็นดีไซเนอร์แบรนด์เสื้อผ้าและอาจารย์พิเศษอยู่ที่กรุงเทพฯ หลายปี ก่อนจะไปเรียนต่อสาขาแฟชั่นที่ประเทศอังกฤษ จนเรียนจบ แม่ยื่นคำขาดให้กลับมาอยู่อุบลฯ หลายปีผ่านไป เธอได้รู้จักกับเพื่อนเชฟคนหนึ่งผู้ทำให้เธอเริ่มไปเดินตลาดสดตอนเช้า ได้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ของอาหารอีสาน เลิกกินข้าวนอกบ้าน และหันมากินข้าวยายที่บ้านมากขึ้น สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจเปิดร้านอาหารซาวข้างๆ โชว์รูมรถเกี่ยวข้าวของครอบครัว โดยเมนูอาหารเป็นสูตรของยายจุย แม่นมของอีฟ ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นผสมผสานกับเทคนิคการทำอาหารแบบตะวันตก
“เราอยากทำอาหารที่ตัวเองกิน ไม่ปลอม เรากินแบบไหน เราทำแบบนั้น”

ยกตัวอย่างเช่น ตำแตงโม ที่มาจากวัฒนธรรมกินง่ายอยู่ง่ายของคนอีสาน เวลาไปนาหรือทำกิจวัตรประจำวัน เขาจะใช้ช้อนขูดเนื้อแตงโมแล้วนำน้ำปลาราด ใส่ข้าวคั่ว พริกป่น แล้วก็กินได้เลย ซาวเอามาปรับเปลี่ยนและนำเสนอในรูปแบบใหม่ เป็นต้น
วัตถุดิบทุกอย่างของซาวได้มาจากในท้องที่ตั้งแต่ผักสดไปจนถึงเกลือ ทุกเช้าอีฟจะไปตลาดสดที่คนท้องถิ่นแต่ละอำเภอเอาพืชผลมาขาย ปลูกอะไรก็ขายอย่างนั้น แต่การไปตลาดของเธอไม่ใช่แค่การไปหาซื้อของเพื่อมาเปิดร้าน แต่เหมือนเป็นห้องเรียนแลกเปลี่ยนความรู้


“‘อันนี้บ่มี๊ เอาอันนี่แทนบ่ เอาไปลวกหือเอาไปผัดกะได้’ ใครจะไปรู้ว่าผักนี่เอาไปผัดได้ วัตถุดิบของเราเปลี่ยนไปรายวัน วันไหนไม่มีก็คือไม่มี แต่เรามองว่ามันเป็นข้อดี เพราะลูกค้าจะได้กินของสดใหม่ตามฤดูกาลทุกวัน ถ้าลูกค้าอยากกินเมนูไหนเป็นพิเศษให้บอกไว้ก่อน ถ้าที่ตลาดวันนั้นไม่มี เราจะหาของทดแทนให้ แต่เมนูยืนพื้นเรามีทุกวันอยู่แล้ว”
บทสนทนาและมื้ออาหารยังไม่ทันจบลงดี ยายจุยเจ้าของสูตรอาหารในร้านนี้ก็เดินมาในชุดผ้าพื้นเมืองสีกรมท่าแพตเทิร์นสวย เตรียมตัวถ่ายรูปคู่กับหลานสาวหน้าร้านอาหารสุดแซ่บของพวกเขา
ที่อยู่ : 56/1 ซอยโชคอนันต์ ตำบลแจระแม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี 34000 (แผนที่)
วัน-เวลา : ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) 9.00-19.00 น.
โทร : 06 3246 9545
Facebook : Zao ซาว
09
กลุ่มดีไซเนอร์ที่อยากต่อยอดงานฝีมือท้องถิ่นให้ไปไกลกว่าแค่อาชีพช่วงว่างนา
Foundisan

ถัดจากร้าน Zao ซาว ในบริเวณเดียวกัน อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ มีสตูดิโอของแบรนด์ชื่อว่า Foundisan จะว่าเป็นแบรนด์ก็อาจไม่ถูกนัก เรียกว่าเป็นการรวมกลุ่มของคนที่มีความตั้งใจอยากพัฒนางานฝีมือของคนอีสานน่าจะตรงกว่า เธอกับ ตั้ว-พุฒิพงษ์ พิจิตร์ ดีไซเนอร์จากกรุงเทพฯ และ พลัง-วรพัฒน์ ดวงศร ลูกศิษย์ของเธอ สร้าง Foundisan ขึ้นมาเพราะอยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ในจังหวัดอุบลราชธานี หันมาให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาที่มีอยู่
“เราเคยทำงานกับชุมชนในอีสาน บางอำเภอที่ไปอยู่ใต้ตีนเขา ขับรถฝ่าหมอกไปเจอเทคนิคการทอแบบที่ไม่เคยรู้เห็นมาก่อน ไปกี่ทีมันจะมีอารมณ์แบบ ‘เฮ้ย เฮ้ย เฮ้ย’ ตลอด มันคือการได้ไปเจอ ไปรู้จักอีสานในแบบที่ไม่เคยรู้จักจริงๆ”


Foundisan บอกว่าการไปเยี่ยมชุมชนเพื่อซื้อผ้าไม่ใช่การช่วยชาวบ้าน ชุมชนต้องการการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากกว่านั้น พวกเขาจึงนำงานฝีมือของคนในท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัย ให้ไปไกลกว่าอาชีพที่ทำในช่วงที่ไม่ใช่หน้านา ให้เด็กเรียนแฟชั่นที่อุบลฯ มีตัวเลือกที่จะกลับไปพัฒนาของดีที่บ้านแทนที่จะไปกรุงเทพฯ
อย่างโปรเจกต์หนึ่งได้ทำงานร่วมกับลูกศิษย์จากชุมชนที่ทอเสื่อขาย ไปสอนให้เขาผสมผสานเทคนิคเก็บขิดที่ใช้ในการทอผ้าเข้ากับการทอเสื่อ ช่วยตัดทอนและออกแบบลวดลายเดิมให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น และนำมาพัฒนาให้เป็นสินค้าอย่างกระเป๋าถือผู้หญิง ส่วนโหลแก้วใส่สีธรรมชาติและผ้าสกรีนลายที่แขวนในสตูดิโอคือโปรเจกต์ถัดไป พวกเขาตั้งใจจะทำเสื้อผ้าแฟชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยพยายามไม่ให้มีอะไรเหลือทิ้งเลยแม้แต่น้อย

และเพราะสินค้าที่ได้จากฝีมือท้องถิ่นยังมีจำนวนน้อยมาก Foundisan จึงยังไม่มีหน้าร้านและไม่ได้ขายบนอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจัง หากใครสนใจสามารถทักไปที่เพจเฟซบุ๊ก หรือไปชมสินค้าที่ร้าน Zao ซาว ได้ เราการันตีตรงนี้เลยว่าสวยแซ่บสดใสไม่แพ้กัน
ที่อยู่ : 56/1 ซอยโชคอนันต์ ตำบลแจระแม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี 34000 (แผนที่)
วัน-เวลา : ทุกวัน 9.00-19.00 น.
โทร : 06 3246 9545
Facebook : Foundisan
10
ทุ่งออร์แกนิกขายเมล็ดพันธุ์ของอดีตคนทำงาน NGO
Mekong Nomad Organic Farm

หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เน้ตติ้ง-จารุวรรณ สุพลไร่ ย้ายถิ่นฐานไปทำงานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมที่กรุงเทพมหานคร 7 ปีให้หลัง เธอลาออกจากงานมูลนิธิและตัดสินใจกลับบ้านมาพร้อมสร้าง Mekong Nomad Organic Farm ฟาร์มอินทรีย์ขายเมล็ดพันธุ์แห่งนี้
การเดินทางตลอดที่เป็น NGO ทำให้เธอได้เรียนรู้ถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ความเชื่อ รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์ จากเด็กที่เติบโตมากับวิถีเกษตรกรในครอบครัวใหญ่ แบบที่เวลาทำกับข้าวต้องเดินออกไปเก็บผักมาเป็นวัตถุดิบ สู่คนวัยทำงานในเมืองใหญ่ที่มีการปลูกผักเป็นกิจกรรมเยียวยาความเหนื่อยล้าของตัวเอง

“ตอนกลับมาอยู่บ้านใหม่ๆ เราบอกให้แม่หยุดใช้ปุ๋ยเคมี ถ้าแม่ยังใช้อยู่แข่งกันเลยว่าแปลงใครจะสวยกว่ากัน”
เน้ตติ้งรวมกลุ่มกับเกษตรกรและเจ้าของสวนอีกห้าราย คนหนึ่งเป็นบัณฑิตจากคณะเกษตร ที่เหลือเป็นครู ช่างภาพ ดีเจ ไปจนถึงเด็กนักเรียน Home School ที่อยู่คนละจังหวัด ตอนแรกเริ่มจากการขายผักอินทรีย์ ก่อนจะมาเป็นฟาร์มขายเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เหมือนทุกวันนี้
“การขายผักในชุมชนตอนนั้นยังเป็นเรื่องยาก แต่การทำให้คนเข้าใจว่าทำไมต้องกินผักอินทรีย์เป็นเรื่องยากกว่า จำได้อยู่เลยว่าปีนั้นได้เงินห้าพันกว่าบาท พอขายผักไปสักพักคนก็เริ่มขอเมล็ด อยากเอาไปปลูกบ้าง เราก็แจกไปปีสองปี แล้วก็มีเพื่อนแนะนำให้ขายเมล็ด ก็เลยลองขาย ปรากฏเดือนเดียวได้ห้าพันบาท” เธอเล่าให้ฟังด้วยเสียงหัวเราะ


ในวันนี้ตลาดผักอินทรีย์โตขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีแรกที่เน้ตติ้งสร้างทุกอย่าง กลุ่มของเน้ตติ้งก็เชี่ยวชาญและเข้าใจเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์มากขึ้น โดยมีฟาร์มเธอเป็นศูนย์กระจายสินค้า ใครมีอะไร ใครถนัดเก็บเมล็ดพันธุ์ไหน ก็เอามารวมกันแล้ววางขายบนเฟซบุ๊ก ปัจจุบันมีเมล็ดพันธุ์กว่าร้อยชนิด ทั้งไม้ดอก ไม้ผล ผัก และผลไม้ เวลาใครเดินทางไปต่างประเทศก็จะหยิบเอาเมล็ดกลับมา “อย่างปีก่อนไปเกาหลี เขาเลี้ยงมะเขือเทศ เราก็เก็บเมล็ดกลับมา ตอนนี้ก็ยังปลูกอยู่ มีขายเมล็ดพันธุ์ด้วยนะ”
แน่นอนว่า เราขอซื้อเมล็ดมะเขือเทศที่เน้ตติ้งเล่าถึงกลับมาด้วย
ที่อยู่ : 6 หมู่ 2 ตำบลนาคำ อำเภอศรีเมืองใหม่ อุบลราชธานี 34250 (แผนที่)
โทร : 08 1072 2714
Facebook : Mekong Nomad Organic Farm
11
Chef’s Table อาหารไทยที่ได้แฮงบันดาลใจมาจากชีวิตแม่และน้องสาว
หมก

เมื่อประมาณหนึ่งปีที่แล้ว ฝ้าย-ศิโรรัตน์ เถาว์โท หรือป้าเชฟ ตามติดชีวิตแม่และน้องสาวของตัวเองเพื่อหาเมนูและรูปแบบร้านอาหารที่อยากทำมากที่สุด ออกมาเป็น ‘หมก’ ร้านอาหารในบ้านเกิดที่ให้บรรยากาศเหมือนอยู่บ้านเพื่อน เธอเติบโตมากับคุณยายที่เป็นครูวิชาการเรือน การทำอาหารจึงเป็นสิ่งที่เธอซึมซับมาตลอดชีวิตวัยเด็ก
ป้าเชฟเลือกเรียนสาขาการจัดการครัวและภัตตาคารที่สอนตั้งแต่การทำอาหารไปจนถึงการบริหารครัว เธอผ่านงานตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับอาหารมามากมายเริ่มจากเชฟห้องอาหารโรงแรมหลายแห่ง ผู้จัดการร้านอาหาร มาผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการอาหารสด และลาออกจากตำแหน่งใหญ่เพราะอยากตามหา Work-life Balance ของตัวเอง

“จุดหักเหของชีวิตคือเจอว่าตัวเองเป็นไทรอยด์ คืนหนึ่งตื่นขึ้นมาร้องไห้ว่าเรามาทำอะไรอยู่ตรงนี้ เลยคุยกับแฟนและตัดสินใจกลับมาอยู่อุบลฯ และเริ่มติดตามชีวิตแม่กับน้องสาวว่าเขาทำอะไร เขากินอะไร เขาอยากกินอาหารบ้านๆ แต่ไปซื้อข้างนอกจะมั่นใจได้ยังไงว่าสะอาด เลยตัดสินใจทำอาหารไทยนี่แหละแต่ให้มันพิเศษหน่อย และด้วยความที่เป็นเชฟเราก็ใฝ่ฝันอยากทำ Chef’s Table”
ป้าเชฟอยากให้หมกเป็นเหมือนร้านอาหารคู่บ้านเมืองอุบลฯ โดยใช้วัตถุดิบและเรื่องราวของจังหวัดเล่าผ่านจานอาหาร อย่างต้นมะกรูดในบ้านที่เราเดินผ่านตอนเข้ามา เธอนำมาทำเป็นมะม่วงหวานมะกรูดซ่าและเมนูไอศกรีมเชอร์เบ็ตมะกรูด หรือเมนู Chef’s Table ชื่อหาดวัดใต้ที่สร้างขึ้นจากความทรงจำวัยเด็กของป้าเชฟ ความสนุกสนาน เสียงหัวเราะ ที่ได้ไปเกาะกลางแม่น้ำมูล นอกจากนี้ หมกยังมีสำรับอาหารไทยที่มีครบทุกรสให้เป็นตัวเลือก


“ตอนแรกแม่กับน้องสาวงงว่าเราจะเอาอาหารไทยอีสานมาเป็น Fine Dining ได้ยังไง ใครจะมากินของเธอ ตอนแรกเราก็กังวลนะ แต่พอเราเลือกวัตถุดิบที่ดี ใส่ใจในรายละเอียดการทำ อาหารของเราก็คุ้มค่า”
วันนี้ป้าเชฟมีร้านอาหารที่เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกวัยอย่างที่ตั้งใจแล้ว เธออยากให้ทุกคนมองร้านหมกเหมือนเป็นบ้านเพื่อน ที่อาจไม่ได้มีเมนูให้เลือกมากมาย แต่เพื่อนจะเตรียมสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้
ที่อยู่ : 115 ถนนพรหมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี 34000 (แผนที่)
วัน-เวลา : ทุกวัน 11.00-22.00 น.
โทร : 09 6054 2796
Facebook : ห ม ก
12
ฮ้านหนังสืออิสระของนักเขียนที่อยากสร้างทั้งคนอ่าน และคนซื้อหนังสือ
ฟิลาเดลเฟีย ร้านหนังสือในสวนดอกไม้

“มีคนมาซื้อหนังสือคนจมน้ำตายที่รูปหล่อที่สุดในโลก ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ปกสวยชิบเป๋ง สาวพยาบาลเห็นแล้วกรี๊ดก็เลยซื้อไป เวลาผ่านไปกลับมาบอกว่า ‘เจี๊ยบ เราอ่านไม่เข้าใจว่ะ’ งั้นมา ถ้าคุณอ่านแล้วไม่ชอบ มาขายคืนผมได้”
ฟิลาเดลเฟีย ร้านหนังสือในสวนดอกไม้ คือร้านหนังสืออิสระที่มีบุคลิกเหมือน เจี๊ยบ-วิทยากร โสวัตร เจ้าของร้านไม่มีผิด ตรงไปตรงมา ห่ามๆ นิดๆ แต่ก็เป็นกันเอง เขาเสิร์ฟชาที่ได้เป็นของฝากจากประเทศต่างๆ ให้เรา และรีฟิลตลอดบทสนทนาในเย็นวันนั้น


เจี๊ยบกับจังหวัดอุบลฯ เดินทางมาบรรจบกันตอนเรียนปริญญาตรี เขาเลือกมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นอันดับหนึ่งเพราะเป็นจังหวัดที่พ่อเกิด ผู้หญิงอุบลฯ สวย และอุบลฯ มักเป็นฉากหลังของเพลงอีสานอยู่เสมอ หลังเรียนจบเขาทำงานเป็นกองบรรณาธิการนิตยสารทางเลือกเล่มหนึ่งที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งมีลูกคนแรกเลยย้ายกลับมาอยู่ที่อุบลฯ กับคนรักชาวอุบลฯ ของเขา (ใช่ เขาเรียกภรรยาว่า คนรัก) ด้วยความที่เป็นคนปากจัดที่มีหนังสือเป็นพันๆ เล่ม แต่คนรักเขาอยากมีร้านหนังสือ เจี๊ยบเลยอาสาจะดูแลให้โดยพูดเท่ๆ ว่า “ผมจะมาดูแลความฝันหญิงสาวของผม”
ร้านหนังสือของเขามีทั้งหนังสือมือหนึ่งและมือสอง มีทั้งหนังสือภาพเด็กไปจนถึงหนังสือปรัชญาเข้าใจยาก ส่วนหน้าร้านทำให้นึกถึงบ้านเรือนในชนบทอิตาลีที่มักปรากฏบนโปสการ์ดในร้านขายของที่ระลึก จุดมุ่งหมายของเขาคืออยากให้หนังสือไปถึงมือคน โดยไม่คำนึงว่าจะต้องทำกำไรมากมาย การที่เขาอ่านแล้วไม่เข้าใจอย่างน้อยหนังสือก็ไปถึงเขาแล้ว

“คนที่กล้าซื้อหนังสือ เขาคงจะมีความรักบางอย่างอยู่พอสมควร เขาถึงกล้าซื้อ หนังสือมันไม่เหมือนขนม ไม่เหมือนเหล้าเบียร์ มันเรียกร้องคนสูง คุณต้องใช้เวลากับมัน”
เจี๊ยบเป็นนักเขียนที่ดูแลร้านหนังสืออิสระในเวลาทำการ เป้าหมายของเขาเลยไม่ได้แค่ต้องการสร้างคนอ่าน แต่สร้างคนซื้อหนังสือไปด้วยพร้อมกัน เพราะหนังสือช่วยเปิดโลกให้กว้างขึ้น เหมือนที่นาซิสซัสกับโกมุนด์ (Narcissus and Goldmund) ของแฮร์มัน เฮ็สเซอ (Hermann Hesse) เคยเปิดโลกเณรบวชเรียนอย่างเขาเมื่อหลายสิบปีก่อน
ที่อยู่ : 397 หมู่ 3 ซอยหนองเตย ถนนสถลมาร์ค กม. 12 ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี 34190 (แผนที่)
วัน-เวลา : จันทร์-เสาร์ 9.00-23.30 น., อาทิตย์ 9.00-16.00 น.
โทร : 09 9474 2626
Facebook : ฟิลาเดลเฟีย ร้านหนังสือในสวนดอกไม้
