เรายืนอยู่ในย่านเจริญกรุง ในซอยมีทั้งโรงเรียน โรงแรม โบสถ์ และร้านรวงอีกสารพัด ทว่านี่ยังไม่ใช่จุดหมายปลายทางของเรา เราเดินต่อในซอยเจริญกรุง 38 พบตึกสีขาวหน้าตาลูกครึ่งไทย-ยุโรป แม้ตกแต่งร่วมสมัย แต่ประตูและหน้าต่างไม้กลับทำให้นึกไปถึงบ้านทรงไทยเก่า ๆ ที่เคยผ่านตามาก่อน

เบื้องหน้าเรา คือ ‘Araksa Tea Room’ ร้านชาที่ส่งตรงจากจังหวัดเชียงใหม่

Araksa Tea Room ห้องชา-บาร์ค็อกเทลชาที่เสิร์ฟชาจากไร่ออร์แกนิกในเชียงใหม่สู่เจริญกรุง 38
Araksa Tea Room ห้องชา-บาร์ค็อกเทลชาที่เสิร์ฟชาจากไร่ออร์แกนิกในเชียงใหม่สู่เจริญกรุง 38

เมื่อเปิดประตูเข้าไป ประสาทสัมผัสก็ทำงานทันที เพราะเราได้กลิ่นชาหอม ๆ ของที่นี่

“อรักษ แปลว่า ปกป้อง ดูแล รักษา” แอน-ชนัญญา ภัทรประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งเปรยที่มาของชื่อแบรนด์ชาให้ฟัง นอกจากรสชาติชาอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว Araksa Tea Room ยังเป็นร้านชาที่ตั้งใจดูแลรักษาสุขภาพของผู้มาเยือน รวมถึงช่วยปกป้องรักษาชุมชนที่ทำงานในไร่ชาเช่นเดียวกัน

เมื่อดวงตาเริ่มล้า เราจึงขอพาทุกคนมาจิบชายามบ่าย คลายความง่วงกันสักหน่อย

Spill the Tea

“ก่อนหน้านี้แอนไม่ใช่คนดื่มชา” เธอเปรยว่าก่อนจะมาเปิดร้านชา เธอทำงานด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับชาแต่อย่างใด แถมยังดื่มกาแฟบ่อยกว่าด้วยซ้ำ

นั่นทำให้เราสงสัยว่า ด้วยเหตุอันใดเธอถึงข้ามจังหวัดมาเปิดร้านชาในย่านเจริญกรุง

“เรื่องมีอยู่ว่า แอนอยู่ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มา 30 กว่าปี ทำงานด้านท่องเที่ยว พูดคุยกับชุมชนอยู่เรื่อย ๆ ทุกครั้งที่ไปทำงานจะขับรถผ่านที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ตลอด ที่ดินแปลงนั้นเป็นไร่ชา ขับผ่านทีไรก็อดมองไม่ได้เพราะมันสวย” แอนเล่าไปยิ้มไป 

Araksa Tea Room ห้องชา-บาร์ค็อกเทลชาที่เสิร์ฟชาจากไร่ออร์แกนิกในเชียงใหม่สู่เจริญกรุง 38

เหตุการณ์ตกหลุมรักไร่ชาจึงทำให้เธอตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนั้น แม้จะเป็นที่ดินที่รกร้างมากว่า 15 ปี แถมยังโดนป่าปกคลุม แต่แอนกลับเล็งเห็นถึงเสน่ห์และศักยภาพของที่ดินผืนนั้น เธอจึงเริ่มต้นชุบชีวิตและพัฒนาไร่ชารวมถึงชุมชนตรงนั้น จนกลายมาเป็น Araksa Tea Garden ในปี 2014

“ชาวมูเซอที่ดูแลพื้นที่เขาพาแอนเดินชมไร่ แอนเห็นว่ามีใบชาเยอะแยะ อยากให้เขาลองคั่วชาให้ดู เขาก็คั่วให้ ณ ตรงนั้นเลย พอลองชิมดู รสชาติใช้ได้ เลยตัดสินใจพลิกตัวเองมาทำธุรกิจด้านชา

“ที่ร้านมีชารสแรกที่ชาวมูเซอคั่วให้ขายอยู่ ชื่อว่า Preserve Green tea ซึ่งแอนมีไอเดียแค่ว่าจะทำขายนักท่องเที่ยว และทำทัวร์เก็บใบชาควบคู่กันไปด้วย จะได้สร้างกิจกรรมและประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้พวกเขา แต่สุดท้ายจับพลัดจับผลูทำออกมาเป็นห้องชาเสียได้” 

เมื่อเธอเล่าจุดเริ่มต้นของอรักษจบ เราสอดส่ายสายตาสำรวจห้องชาแห่งนี้ เห็นชั้นวางกระป๋องชาสีสันสดใสเรียงรายอยู่ ในร้านตกแต่งด้วยเสาไม้ ผ้าปัก และงานศิลปะต่าง ๆ ที่ประณีตสวยงาม

Araksa Tea Room ห้องชา-บาร์ค็อกเทลชาที่เสิร์ฟชาจากไร่ออร์แกนิกในเชียงใหม่สู่เจริญกรุง 38
Araksa Tea Room ห้องชา-บาร์ค็อกเทลชาที่เสิร์ฟชาจากไร่ออร์แกนิกในเชียงใหม่สู่เจริญกรุง 38
Araksa Tea Room ห้องชา-บาร์ค็อกเทลชาที่เสิร์ฟชาจากไร่ออร์แกนิกในเชียงใหม่สู่เจริญกรุง 38

“แอนพยายามทำให้ร้านนี้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ถ้าจะอธิบายให้ชัด คงตรงกับคำว่า ‘Inclusive’ ไม่ว่าคุณจะเป็นคอชาหรือไม่ ก็เข้ามาพักพิงที่นี่ได้เสมอ

“ที่ Araksa Tea เราให้ความสำคัญกับความยั่งยืน อย่างทำเลตรงนี้ แอนใช้อาคารเก่ามาทำใหม่ เจริญกรุงเป็นย่านเก่าแก่และมีเสน่ห์ แม้แต่โต๊ะ-เก้าอี้ที่เรานั่งอยู่ ก็ทำจากไม้ล้มในไร่ ตะกร้าที่ตกแต่งในร้านก็เป็นตะกร้าที่ใช้เก็บใบชาจริง ๆ เช่นเดียวกันกับผนังทั้งหมด เป็นผนังดินจากจังหวัดอุตรดิตถ์ แอนตัดสินใจไม่ทาสี เพราะไม่อยากให้มีสารเคมีปะปน จึงใช้วิธีฉาบปูน ซึ่งก็สวยไปอีกแบบนะคะ” 

Tea Room

เรานั่งอ่านเมนูชาไปเรื่อย ๆ จนสังเกตว่าส่วนผสมและชื่อชามีกลิ่นอายความเป็นไทยค่อนข้างชัด เช่น ชา English Breakfast มาในชื่อ ‘ยามเช้า’ หรือ สองชาขาวดูโอ้ มาในชื่อ ‘อรุณ’ (เวลาเช้า) กับ ‘สายัณห์’ (เวลาเย็น)

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Araksa Tea มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือรสชาติที่ผสมผสานความเป็นไทย แอนพยายามสรรหาวัตถุดิบธรรมชาติของไทยที่นำมาผสมกับชาแล้วเกิดรสชาติใหม่ ๆ ได้ เช่น ข้าวดอย ดอกจำปี อัญชัน หรือดอกดาหลา การชูจุดเด่นตรงนี้ก็เหมือนนำความเป็นไทยไปสู่ตลาดสากลด้วย

“ส่วนชื่อชา เราตั้งกันไปเรื่อยเลยค่ะ” เธอหัวเราะ “อย่าง อรุณ มีที่มาจากเราต้องเก็บใบชาชนิดนี้ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หรือ สายัณห์ ก็ตรงกันข้าม ต้องเก็บใบชาหลังพระอาทิตย์ตก ซึ่งชาชนิดที่ 2 โดดแดดทั้งวัน ก็ส่งผลต่อรสชาติด้วย ทำให้รสชาติเข้มข้นกว่าชนิดแรก ดื่มแล้วรู้สึกแตกต่าง”

ถ้าต้องเปรียบ Araksa Tea Room เป็น 1 รสชาติ จะเป็นชารสอะไร – เราถาม

“คงเป็น ‘จอย (Joy)’ ชาดำที่เบลนด์กับดอกจำปี มีกลิ่นหอมและเข้มข้น เหมือนมี 2 ขั้วในตัวเอง อ่อนโยนแต่เข้มขรึม ไทย ๆ แต่ก็สากล ส่วนชื่อชาจอย มีที่มาจากตอนเด็ก ๆ แอนชอบน้ำหอมชื่อ Joy มาก ๆ ยุคนั้นดังเหมือนกับน้ำหอม CHANEL N°5 สมัยนี้เลย ซึ่งเขาใช้ดอกจำปีเป็นส่วนผสมด้วย พอเบลนด์ชารสชาตินี้ ดมกลิ่นแล้วนึกถึงน้ำหอม Joy ขึ้นมาทันที” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงปีติ

บทสนทนายังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ระหว่างนั้นถ้วยชาขนาดกระจิริดจำนวน 4 – 5 ถ้วยก็มาเสิร์ฟพร้อมกับกาน้ำชาเซรามิกสีขาวสะอาดตา ตรงหน้าเรามีชาหลากสีวางเรียงรายกันอยู่

ชาสีฟ้าจากอัญชันตะไคร้ ชาสีชมพูจากดอกดาหลา ชาสีน้ำตาลอ่อนที่นำไปผสมกับนม

จากใจคนชอบดื่มชา (แต่ไม่มีความรู้อะไรเลย) นี่เป็นครั้งแรกที่เราดื่มชาไทยซึ่งไม่ใช่สีส้ม แต่เป็นสีน้ำตาลเข้ม ใส มีกลิ่นหอม และไม่หวานจนถูกแซวว่าต้องตัดขาอย่างที่เคย ทุกครั้งที่จิบชาแต่ละถ้วย เราได้กลิ่นจากธรรมชาติที่แตกต่างกัน เมื่อยกดื่ม ไอร้อนตีขึ้นหน้า ทว่ากลิ่นหอมยังคงติดจมูกเสมอ

“วันนี้น่าจะตาตื่นทั้งวันนะคะ” แอนพูดกับเราพลางหัวเราะไปด้วย

Tea-based Cocktail Bar

‘Tea-based Cocktail’ อ่านไม่ผิดหรอกค่ะ เจ้า Tea-based Cocktail คือค็อกเทลที่ผสมกับชานั่นเอง หากคิดว่าจะเข้ากันได้อย่างไร เราขอการันตีว่ารสชาติที่ว่าเข้ากันอย่างลงตัวมากทีเดียว 

“สำหรับแอน ค็อกเทลเป็นเครื่องดื่มที่มีเรื่องราวตั้งแต่กรรมวิธีการทำ ชาก็เหมือนกัน เลยลองเอามาผสมกัน พอพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านค็อกเทล เขาเสนอว่าจะสร้างเมนูเครื่องดื่มจากจังหวัดที่อยู่ระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ แล้วสกัดรสชาติออกมาเป็น Tea-based Cocktail” เธอเล่าที่มา

ค็อกเทลแก้วตรงหน้าเราชื่อว่า ‘อยุธยา’ มีสีม่วงจากชาดอกอัญชันและตะไคร้ ตัดสลับกับทองสีอร่ามที่แปะอยู่บนแก้ว ซึ่งต้องการสื่อถึงความรุ่งเรืองของวัดวาอารามในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

“อย่างที่แอนบอกไปตอนต้นว่าร้านเราตรงกับคำว่า Inclusive หรือการรวมคนทุกกลุ่มไว้ด้วยกัน ถ้าใครอยากดื่มชาตอนกลางคืน เราก็ไม่จำกัด มาดื่มที่ Tea-based Cocktail Bar ได้เลย”

Slow Food

นอกจากตาตื่นแล้ว ท้องก็ต้องอิ่มด้วย

เพียงครู่ อาหารถูกยกมาเสิร์ฟ ข้าวยำสมุนไพร ข้าวสีฟ้าจากอัญชันตัดสลับกับสีเหลืองของขมิ้น ทานคู่สมุนไพรนานาชนิด ยังมียำใบชาทอดและขนมจีนน้ำยาปูด้วย 

“แอนมีโอกาสทำงานร่วมกับ เชฟเยา-เยาวดี ชูคง เจ้าของร้าน Maadae Slow Fish Kitchen ที่เชียงใหม่ เขาทำคอนเซปต์ Slow Food มานานแล้ว ซึ่งเป็นกระบวนการทำอาหารที่อาศัยระยะเวลา ทั้งเวลาหาวัตถุดิบ ปรุงรส ผลิตทีละน้อย ๆ พูดง่าย ๆ คือตรงข้ามกับ Junk Food ทุกประการ 

“แอนทำงานกับชุมชน สั่งอาหารและวัตถุดิบจากชาวไร่ ชาวประมง ซึ่งอาหารที่เสิร์ฟในร้านคืออาหารไทย มีตั้งแต่เมนูทั่วไปจนถึงเมนูสำหรับคนทานมังสวิรัติ ถ้าต้องการทานอะไรเบา ๆ เราก็มีให้”

ทำไมห้องชา Araksa Tea Room ถึงตัดสินใจเสิร์ฟอาหารด้วยคะ – เราถาม

“ถ้าขายแค่ชา ก็จะมีเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบชาแวะมาดื่ม แต่แอนอยากเปิดกว้างไปถึงคนกลุ่มอื่น ๆ ด้วย หากเขามา เขาจะได้รู้ว่าดื่มชาคู่กับทานอาหารได้ อย่างในเมนู เราเขียนไว้เลยว่าอาหารจานนี้เหมาะกับชาชนิดไหนบ้าง เช่น อาหารมีรสเปรี้ยวนำ ควรดื่มคู่กับชาดำเข้ม ๆ เพื่อให้รสชาติสมดุลกัน” เธอเล่า

คำว่า Inclusive ที่แอนเล่าให้ฟังตอนต้น ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จนเราเชื่อว่า ไม่ว่าคุณจะชอบดื่มชาหรือชอบทานอาหาร ก็แวะเวียนมาเยี่ยมชม Araksa Tea Room ได้เช่นกัน

Araksa Tea

เราอยู่บนชั้น 2 ของร้าน เป็นโซน Retail Store จำหน่ายสินค้า มีขายตั้งแต่นาฬิกาทรายนับเวลาชงชา ไปจนถึงสบู่ที่มีชาเป็นส่วนผสม แอนเล่าว่าสินค้าทุกอย่างที่นำมาขายเป็นฝีมือจากคนในชุมชนที่เธอรู้จักและคุ้นเคย มีทั้งชุมชนม้ง กลุ่มทอผ้าไทลื้อ และศิลปินอิสระในเชียงใหม่

สิ่งสำคัญที่แอนย้ำอยู่เสมอตลอดการสนทนา คือ Araksa เป็นแบรนด์ที่ให้คุณค่ากับธรรมชาติและผู้คนในทุกรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของร้าน ผ่านเรื่องราวและเรี่ยวแรงของคนในชุมชนเสมอ 

“ทุกอย่างอยู่ในที่ที่เราอยู่ ธรรมชาติอยู่ใกล้มือ ผู้สร้างอยู่ใกล้ตัว ไม่ต้องไปสรรหาให้ยากเย็น”

“แอนไม่ได้คาดหวังให้คนที่มาร้านแล้วรู้สึกว้าว ขอแค่รู้สึกว่าชาอร่อย อาหารรสชาติดี และสบายใจที่จะอยู่ในพื้นที่นี้ เท่านี้ก็เพียงพอสำหรับเราแล้ว”

จวนจะจบบทสนทนา เราเพิ่งรู้ตัวว่านอกจากอิ่มท้อง การคุยกับแอนทำให้เราอิ่มใจด้วย 

จากไม่ชอบดื่มชา ตอนนี้คุณชอบดื่มชาหรือยัง – เราถามคำถามสุดท้ายก่อนจากกัน

“ไม่รู้ชอบมั้ย จากคนที่ไม่มีความรู้เรื่องชา ตอนนี้เริ่มรู้เยอะเกินไปแล้ว” เธอหัวเราะน้อย ๆ

“ร้านชาเราพร้อมต้อนรับทุกคนนะคะ ชอบหรือไม่ชอบ มาลองกันก่อนได้”

สุดท้ายนี้ แม้แอนจะตอบตัวเองไม่ได้ว่าเธอชอบชาหรือยัง แต่ที่แน่ ๆ เราเชื่อว่าเรื่องราวที่เธอเล่าและสิ่งที่เธอกับชุมชนช่วยสรรสร้าง คงทำให้ใครหลายคนตกหลุมรักเสน่ห์ของชาไปแล้วล่ะ

Araksa Tea Room
  • 12 ซอยเจริญกรุง 38 แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
  • เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 10.00 – 22.00 น.
  • Araksa Tea Room
  • araksatearoom
  • www.araksatea.com

Writer

วรรณิกา อุดมสินวัฒนา

วรรณิกา อุดมสินวัฒนา

ติดบ้าน ชอบดื่มชา เล่นกีฬาไม่ได้เรื่อง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ