ป้าหมู-อันยา โพธิวัฒน์ ไม่ได้เป็นเกษตรกร และไม่ใช่คนขายดอกไม้ หากจะเรียกได้ว่าเกินครึ่งของวัย 70 ณ ขณะนี้เลยก็ได้ที่วัตรปฏิบัติของเธอเกี่ยวพันกับดอกไม้ จนกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต 

บ้านของป้าหมูตั้งอยู่ในซอยเล็ก ๆ ริมคูน้ำของตำบลเหมืองง่า ชานเมืองลำพูน เป็นเรือนไม้ 2 ชั้นในสวนที่เต็มไปด้วยไม้ดอกนานาพรรณ เธอและคู่ชีวิต จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินโฟล์กซองคำเมืองผู้ล่วงลับ ร่วมกันตั้งชื่อให้บ้านที่มีอายุเกือบ 30 ปีหลังนี้ว่า ‘บ้านดวงดอกไม้’

หลังย้ายมาอยู่บ้านหลังนี้ไม่นาน พ.ศ. 2541 ป้าหมูกับจรัลร่วมกันเปิดร้านอาหารใกล้ ๆ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ร้านมีชื่อว่า ‘สายหมอกกับดอกไม้’ ร้านอาหารที่ทดลองเสิร์ฟเมนูที่นำดอกไม้ชนิดต่าง ๆ มาปรุงเป็นวัตถุดิบ

และ 13 ปีต่อมา พ.ศ. 2554 ป้าหมูออกหนังสือบันทึกประสบการณ์เกี่ยวกับการทำอาหารจานดอกไม้ ซึ่งเธอรวบรวมขึ้นมาระหว่างทำร้านอาหาร ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ more of life ในเครือบริษัท รักลูกกรุ๊ป หนังสือมีชื่อว่า มหัศจรรย์ดอกไม้กินได้ 

อันยา โพธิวัฒน์ นักเขียนเจ้าตำรับอาหารดอกไม้คนแรกของไทย และคู่ชีวิตของจรัล มโนเพ็ชร

จริงอยู่ เมื่อพูดถึงดอกไม้กินได้ในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เข้าขั้นธรรมดาด้วยซ้ำ แต่เมื่อย้อนกลับไป 20 กว่าปีที่แล้ว การที่แม่ครัวสักคนในร้านสักร้านจะนำดอกไม้มาปรุงเป็นอาหารเสิร์ฟลูกค้า กระทั่งเธอเองที่เป็นเจ้าของตำรับยังมองว่า “บ้า… บ้ามาก ๆ” แต่นั่นล่ะ หลังจากเสิร์ฟเมนูเหล่านี้อยู่ไม่นาน ผลตอบรับกลับเกินคาด เพราะไม่เพียงมีลูกค้าแวะเวียนมาชิมอาหารที่ร้านไม่ขาดสาย หากสื่อต่างประเทศระดับรอยเตอร์ส นิตยสารและหนังสือพิมพ์จากฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ไปจนถึงญี่ปุ่น ต่างก็มาทำข่าวและสารคดีอย่างต่อเนื่อง จนป้าหมูได้รับเชิญไปออกงานเอ็กซ์โปยังต่างประเทศอยู่หลายครั้ง และจากเรื่องที่เธอเคยคิดว่าเป็นการทดลองบ้า ๆ หรือทำไปเพื่อความสนุกส่วนตัว สิ่งนี้ก็ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ ก่อนจะพัฒนามาเป็นอาหารจานสามัญเช่นทุกวันนี้ในที่สุด 

ในวาระที่สำนักพิมพ์ Zombie Books นำต้นฉบับ มหัศจรรย์ดอกไม้กินได้ มาตีพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่ 3 ในเวอร์ชันปกแข็งพร้อมภาษาอังกฤษ โดยร่วมงานกับ ไข่มุก แสงมีอานุภาพ ฟู้ดสไตลิสต์จากเชียงใหม่ เนรมิตเมนูของป้าหมูจนสวยสะพรั่ง ผมถือโอกาสมาเยี่ยมป้าหมูที่บ้านดวงดอกไม้ เพื่อพูดคุยถึงเบื้องหลังหนังสือเล่มดังกล่าว จุดเริ่มต้นของตำรับอาหารจานดอกไม้ และช่วงชีวิตในฐานะคนทำร้านอาหารร่วมกับ จรัล มโนเพ็ชร ซึ่งนั่นยังถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของศิลปินโฟล์กซองคำเมืองระดับตำนานผู้นี้อีกด้วย

ภาพ : สถาพร กองอยู่ และ ไข่มุก แสงมีอานุภาพ

“ป้าและอ้าย (จรัล มโนเพ็ชร) ชอบภูเขาและดอกไม้ อ้ายเขียนเพลงชื่อ เจ้าดวงดอกไม้ และพอเราปลูกบ้านด้วยกันก็ตั้งชื่อนี้ ที่บ้านเรามีกลองบูชาโบราณอยู่หนึ่งใบ อ้ายตั้งชื่อให้ว่า สายน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นชื่อของดอกไม้ ตอนยังหนุ่มสาว หลายครั้งในหน้าหนาว เราสองคนชอบเดินป่าขึ้นดอยด้วยกัน ชอบไปดูหมอกบนยอดดอย จนมาตัดสินใจเปิดร้านอาหารด้วยกัน เราก็เอา 2 สิ่งที่เราชอบมาตั้งชื่อร้านสายหมอกกับดอกไม้ ไม่ได้มีนัยอะไรเป็นพิเศษ แค่ความชอบของเราสองคน” ป้าหมูย้อนความ

ร้านสายหมอกกับดอกไม้เปิดทำการเมื่อ พ.ศ. 2541 เสิร์ฟอาหารพื้นเมือง อาหารไทย และเครื่องดื่ม ในขวบปีแรกร้านยังไม่มีอาหารจานดอกไม้เสิร์ฟสักเมนู ซึ่งนั่นล่ะ ไม่ใช่เพียงป้าหมูไม่คิดถึงการนำดอกไม้มาปรุงเป็นวัตถุดิบแต่เริ่ม หากแต่ไหนแต่ไร เธอก็ไม่เคยคิดจะทำร้านอาหารเสียด้วยซ้ำ โดยสาเหตุที่คนทั้งคู่เลือกเปิดร้านแห่งนี้ขึ้นมา เพราะ จรัล มโนเพ็ชร ประสงค์จะมีพื้นที่สักแห่งในเชียงใหม่สำหรับจัดกิจกรรมขับเคลื่อนด้านศิลปวัฒนธรรมในเชียงใหม่ 

“ตอนนั้นเราคิดว่าไม่มีธุรกิจแบบไหนที่จะรวมผู้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกันให้มาพบปะกันได้มากเท่ากับร้านอาหารกึ่งบาร์แบบนี้” ป้าหมูเล่า 

ผมเริ่มต้นสนทนากับป้าหมูเกี่ยวกับร้านอาหาร เพราะไม่เพียงเป็นที่มาของหนังสือ มหัศจรรย์ดอกไม้กินได้ หากตลอด 10 กว่าปีที่ร้านแห่งนี้เปิดดำเนินการ ยังถือเป็นช่วงเวลาของจุดเริ่มต้นและจุดจบในหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของผู้หญิงที่อยู่ตรงหน้าผมท่านนี้ 

ก่อนเปิดร้านอาหารป้าหมูทำอะไรมาก่อนครับ

หลายอย่างเลยค่ะ ป้าเรียนจบจาก มช. แล้วกลับมาอยู่บ้านที่กรุงเทพฯ เป็นทั้งดีเจคลื่นวิทยุ เป็นนักแปลบทความให้นิตยสารดนตรี และต่อมาก็ไปเป็นเลขาฯ ให้วิศวกร อยู่กรุงเทพฯ หลายปีเลยนะ แต่ป้าก็คิดอยากย้ายมาอยู่เชียงใหม่ตลอด จนมาเจออ้ายจรัลก็เลยชวนกันขึ้นมา ตอนแรกก็จะปลูกบ้านอยู่เชียงใหม่แหละ เพราะเรามีที่ดินอยู่แถวศาลากลาง แต่ต่อมาที่บางส่วนถูกเวนคืน เพราะรัฐเขาเอาไปตัดถนนวงแหวน เราก็คุยกันว่าจะปลูกบ้านริมถนนใหญ่คงไม่เหมาะ พอดีกับที่ญาติของเพื่อนอ้ายจรัลเขาจัดสรรที่ดินในลำพูนขาย เราเลยได้ที่ดินนี้มา จึงมาปลูกบ้านที่นี่แทน 

นั่นก็ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เลยนะ เริ่มจากที่นาโล่ง ๆ เราปลูกเรือน ทำสวนเล็ก ๆ และค่อยขยายไป อ้ายแกเป็นคนชอบตั้งชื่อสิ่งของ รถยนต์แกก็ยังตั้งชื่อให้ พอมีบ้านเลยตั้งชื่อให้บ้านด้วย อย่างที่บอก ส่วนที่ดินที่เชียงใหม่ที่เราจะมาทำบ้านตอนแรก สุดท้ายเลยเปลี่ยนมาทำร้านอาหารแทน 

ตอนขึ้นมาเชียงใหม่นี่ตั้งใจไว้แล้วใช่ไหมว่าจะต้องทำร้านอาหาร

ไม่ค่ะ มาอยู่ก่อน เราแค่ชอบและอยากมาอยู่ ส่วนอ้ายจรัลก็ทำเพลง หลัก ๆ อยู่กรุงเทพฯ และก็ขับรถขึ้นมาเชียงใหม่ช่วงที่ไม่ยุ่ง เป็นแบบนั้นอยู่เกือบ 2 ปี จนอ้ายเขาคิดว่าเราต้องมีฐานทัพที่นี่ด้วย คือแต่ไหนแต่ไรแกก็ทำเพลงของแกไป รวมถึงทำดนตรีประกอบให้ลูกค้า แต่อ้ายแกก็อยากทำอะไรสักอย่างที่ช่วยขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมของเมืองบ้านเกิดได้ อาจไม่ใช่งานที่สร้างรายได้ แต่ก็ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจ เลยคิดถึงการทำร้านอาหารขึ้นมา

อันยา โพธิวัฒน์ นักเขียนเจ้าตำรับอาหารดอกไม้คนแรกของไทย และคู่ชีวิตของจรัล มโนเพ็ชร
อันยา โพธิวัฒน์ นักเขียนเจ้าตำรับอาหารดอกไม้คนแรกของไทย และคู่ชีวิตของจรัล มโนเพ็ชร

ก่อนหน้านี้ทั้งอ้ายจรัลและป้าเคยทำร้านอาหารมาก่อนไหม

อ้ายเคยเปิดร้านอยู่แถวประตูช้างเผือกมาก่อน ตอนนั้นน่าจะราว พ.ศ. 2520 แกเริ่มมีชื่อเสียงแล้ว จากนั้น พ.ศ. 2526 ก็ย้ายไปกรุงเทพฯ และเปิดร้านอาหารที่นั่น ร้านแรกอยู่บนถนนสุโขทัย ก่อนจะย้ายมาอยู่แถวใกล้ ๆ สถานีรถไฟสามเสน ชื่อร้านไม้กลางกรุง อ้ายเลยค่อนข้างมีประสบการณ์การทำร้านอาหาร และคิดว่านอกจากได้เล่นดนตรีสดที่ร้าน เรายังจัดกิจกรรมอื่น ๆ ได้อีก อย่างอ่านบทกวี วงเสวนา หรือเป็นที่ระดมทุนเพื่อทำกิจกรรมอื่น ๆ เพราะก่อนหน้านี้ ถ้าจะระดมทุนจัดกิจกรรมอะไรในเชียงใหม่ ต้องไปขอเล่นดนตรีที่ร้านอาหารคนอื่น เลยคิดว่างั้นทำของเราเองดีกว่า

ป้าหมูทำอาหารไหม

ชอบทำค่ะ แต่ไม่บ่อย อย่างที่บอก ป้าไม่คิดจะทำร้านอาหารแต่แรก แต่พอทำไปแล้วสนุก ได้เจอผู้คนที่คิดคล้าย ๆ เราเยอะดี จนมาสนุกที่สุดตอนได้ทำเมนูอาหารดอกไม้ 

อาหารจานดอกไม้มาได้ยังไงครับ

ป้าเขียนไว้ในหนังสือ (มหัศจรรย์ดอกไม้กินได้) หลังทำร้านได้สักพัก ป้าแวะไปพักผ่อนที่เกสต์เฮาส์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และมีโอกาสได้อ่านนิยายที่ชื่อ Like Water For Chocolate ของ Laura Esquivel นักเขียนเม็กซิกัน เป็นนิยายรัก พูดถึงความสัมพันธ์ของตัวละครที่เร่าร้อนในระดับน้ำที่เดือดพอจะละลายช็อกโกแลต ป้าชอบเล่มนี้มาก แต่พออ่านจบ แทนที่จะอยากกินช็อกโกแลต กลับรู้สึกอยากกินดอกไม้ขึ้นมาแทน ทั้ง ๆ ที่นอกจากซอสดอกกุหลาบ ตัวบทก็ไม่ได้พูดถึงอาหารจานดอกไม้เลย ป้าคิดว่านี่เป็นเสน่ห์หนึ่งของวรรณกรรมที่นอกจากทำให้คนอ่านอย่างป้าจมลงไปกับตัวบท แต่จุดประกายให้อยากเริ่มสิ่งใหม่ ๆ นอกตัวบท

พอกลับมาเชียงใหม่ ป้าเลยไปปรึกษาเพื่อนสนิทที่เป็นอาจารย์ด้านสมุนไพรชื่อ ไชยยง (ผศ.ดร. ไชยยง รุจจนเวท อดีตอาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง) ป้าบอกกับเขาตรง ๆ ว่าอยากกินดอกไม้ และอยากจะลองเอาดอกไม้มาทำเป็นอาหารเสิร์ฟลูกค้าที่ร้านดู ไชยยงก็นึกสนุกด้วย ตอบว่าเอาสิ มาดูกันว่าดอกอะไรกินได้ กินไม่ได้บ้าง เขาอาสาเป็นหนูทดลองให้ จนในที่สุดก็จัดหมวดหมู่ได้ว่าดอกไม้ชนิดไหนเหมาะทำเมนูอะไร และกินมันอย่างไร ซึ่งกว่าจะถึงตรงนั้น ปากของเพื่อนป้าคนนี้ก็บวมเพราะแพ้ดอกไม้อยู่หลายครั้งเลย 

ป้าหมูบอกว่าตอนคิดจะทำเมนูดอกไม้ ยังมองว่าตัวเองบ้ามาก ๆ 

เพื่อนป้าหลายคนก็บอกแบบนั้น (ยิ้ม) มีไชยยงคนเดียวที่สนับสนุนความคิดนี้ ป้าต้องบอกก่อนว่า ที่คิดจะทำเมนูดอกไม้ ไม่ได้คิดถึงความสวยงามอะไรเลยนะ คุณก็รู้ว่ายุคนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีใครเขาถ่ายรูปอาหารหรอก และถึงป้าจะชอบดอกไม้ แต่ก็ไม่คิดถึงการจัดสวนให้หรูหราเหมือนในนิตยสาร อย่างสวนอังกฤษหรือฝรั่งเศส นี่ไม่ใช่รสนิยมของเราเลย อย่างที่เห็นเป็นสวนป่าบ้าน ๆ เสียด้วยซ้ำ 

แต่ที่อยากทำเมนูดอกไม้ ป้าคิดง่าย ๆ ว่าก็เหมือนเอาผักมาทำอาหาร เรากินผักได้ ทำไมจะกินดอกไม้ไม่ได้ล่ะ มันมีสารอาหารและอิ่มท้องด้วย แค่นั้นเลยค่ะ

อันยา โพธิวัฒน์ นักเขียนเจ้าตำรับอาหารดอกไม้คนแรกของไทย และคู่ชีวิตของจรัล มโนเพ็ชร

กินดอกไม้เหมือนกินผัก 

ปกติเราก็ไม่ได้กินผักเปล่า ๆ อยู่แล้วใช่ไหมล่ะ เรากินคะน้าน้ำมันหอย ผัดผักกาดขาว แล้วทำไมจะกินเสี้ยวดอกขาวผัดกุ้งหรือต้มข่าดอกกล้วยไม้ไม่ได้ ผักมีประโยชน์ต่อร่างกายเรายังไง ดอกไม้ก็มี ดอกดาหลาช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ กุหลาบมอญช่วยบำรุงหัวใจ ลดไข้ ขับน้ำดี ชบามีฤทธิ์เย็น ช่วยลดไข้ ขับน้ำย่อย ช่วยให้เจริญอาหาร เบญจมาศแก้ร้อนใน ช่วยชูกำลัง หรืออัญชันมีสารแอนโทไซยานิน ต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยบำรุงดวงตา เป็นต้น 

และอีกอย่างคือเรื่องเศรษฐกิจ สมมติเราไม่ได้ปลูกผักสวนครัว แต่ปลูกดอกไม้ในกระถางเพื่อเพิ่มความงามของบ้าน ดอกไม้ในกระถางอย่างกุหลาบเราก็เด็ดมาทำอาหารได้เหมือนกัน สิ่งสำคัญคือเราจะกินมันยังไงให้ถูก คือถูกส่วน บางสายพันธุ์อาจเป็นกลีบดอกอย่างอัญชัน เบญจมาศ และกุหลาบ บางพันธุ์เป็นกลีบประดับ พวกกระเจียว ขิงแดง หัวปลี หรืออย่างเกสรของบัว หญ้าฝรั่น ชมพู่ม่าเหมี่ยวก็กินได้ และถูกอีกเรื่องคือถูกเวลา ช่วงดอกตูม ดอกบาน อะไรแบบนี้ ทั้งหมดทั้งมวลต้องยกเครดิตให้ไชยยง ถ้าไม่ได้เขา ป้าก็ทำเมนูเหล่านี้ไม่ได้

ที่เขียนหนังสือออกมา ก็เพราะอยากเผยแพร่ความคิดและองค์ความรู้เรื่องนี้ด้วยใช่ไหมครับ

หลาย ๆ อย่างประกอบกัน อยากเล่าประสบการณ์ ตำรับอาหาร และข้อควรรู้ต่าง ๆ เพราะถึงดอกไม้จะกินได้ แต่ก็มีอีกหลายชนิดที่กินแล้วเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างผกากรองที่เห็นสวย ๆ และหลายบ้านปลูกกัน เอาผลเล็ก ๆ ของมันมากินนี่คลื่นไส้อาเจียนเลยนะ ยี่โถและรำเพยก็มีสารพิษอยู่ทุกส่วนทั้งดอก ใบ เมล็ด และผล 

ที่มาของมันก็สำคัญ อย่างเฟื่องฟ้าเราเก็บมากินได้ แต่ถ้าเฟื่องฟ้าปลูกบนเกาะกลางถนน มันก็ต้องเจอท่อไอเสียรถยนต์ทุกวัน ไหนเจ้าหน้าที่เทศบาลเขาฉีดยาฆ่าแมลงอีก หรือดอกไม้ที่ซื้อจากร้าน ส่วนหนึ่งเขาก็ใส่สารเคมีมา จึงเป็นสิ่งที่ต้องระวัง ป้าเขียนย้ำในหนังสือตลอดว่าดอกไม้กินได้ที่ดีที่สุด คือดอกไม้ที่เราปลูกเองรอบบ้านโดยไม่ใช้สารเคมี

การมีหนังสือเล่มนี้ช่วยให้คนที่มีแพสชันกับเรื่องที่จะเอาดอกไม้มารับประทาน จะได้ความรู้ตรงนี้ และมีความมั่นใจ กล้าที่จะเก็บดอกอะไรมากิน และสำหรับป้า มันไม่ใช่แค่เอาดอกสวย ๆ มาประดับเพื่อความเท่ โทษทีนะ… ป้าเอาดอกไม้มาแดกน่ะ 

จำเมนูแรกที่ทำได้ไหมครับ

ครั้งแรกป้าทำมา 10 เมนู ทำเล่มเมนูแยกออกมาจากเมนูปกติเลย จำได้ว่าเมนูที่ขายดีคือ มาลีทอดกรอบ นำดอกกล้วย ชบา ลั่นทม เฟื่องฟ้า อัญชัน เข็ม มาชุบแป้งทอด เคล็ดลับคือทอดยังไงให้ดอกไม้ยังคงรูปร่างได้ เพราะถ้าทอดเละ ๆ ก็ไม่น่ากิน เมนูนี้เป็นเหมือนของกินเล่นก่อนอาหารหลัก อีกเมนูคือ ยำสายหมอกกับดอกไม้ เป็นหัวปลี ชบา กาหลง กุหลาบ มายำกับหมูสับและกุ้ง

ภาพ : สถาพร กองอยู่ และ ไข่มุก แสงมีอานุภาพ

จำวันแรกที่เสิร์ฟเมนูเหล่านี้ให้ลูกค้าได้ไหมครับ

ลุ้นกันทั้งร้านเลยค่ะ ทั้งป้า แม่ครัว และพนักงานเสิร์ฟ (หัวเราะ) วันไหนมีลูกค้าสั่ง เราก็คุยกันว่า เฮ้ย! มาแล้ว โต๊ะนั้นใจกล้าว่ะ ตอนแรกไม่แน่ใจว่าที่ลูกค้ามาชมตอนกินเสร็จนี่เป็นเพราะชอบจริง ๆ หรือทำไปเพราะมารยาท แต่พอหลังจากนั้นเขากลับมา และบอกปากต่อปาก จนมีสื่อเข้ามาทำข่าวด้วย ป้าก็ดีใจ ถึงขนาดมีเชฟจากโรงแรม 5 ดาวมาชิมที่ร้านด้วยนะ เขามาที่ร้านอยู่ 2 ครั้ง แล้วก็หายไป จำได้ว่าหลังจากเช็กบิล สมุดเมนูดอกไม้ของร้านเราหายไปเล่มหนึ่งด้วย หลังจากนั้นก็มีคนมาบอกว่าห้องอาหารของโรงแรมที่เชฟท่านนั้นทำงานอยู่ก็มีเมนูดอกไม้มาเสิร์ฟลูกค้าเหมือนกัน (ยิ้ม)

‘ยำยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง’ เป็นอีกหนึ่งเมนูขายดีของร้านสายหมอกกับดอกไม้ ทำจากกลีบกุหลาบมอญมาปรุงกับน้ำยำ กะหล่ำปลีสีม่วง แคร์รอต ผักกาดแก้ว เห็ดฟาง และกุ้ง โรยหน้าด้วยหอมแดงเจียว ตบท้ายด้วยการโรยกลีบกุหลาบสด ป้าหมูตั้งชื่อเมนูนี้มาจากท่อนหนึ่งของบทละครเรื่อง มัทนะพาธา พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จเพราะมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ท่อนที่เปรียบเปรยความรักเหมือนโคถึก ยิ่งห้ามเท่าไหร่ก็ยิ่งคลั่ง นี่เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ได้รับความนิยมจากลูกค้ามาก ๆ ป้าหมูเขียนแกมอารมณ์ขันไว้ในหนังสือว่า เมื่อมีลูกค้าสั่งเมนูนี้ คนในครัวก็จะตะโกนต่อกันไปว่า ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง ซ้ำ ๆ เป็นภาพจำที่น่ารักดี 

ทั้งนี้ ยำยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง ยังเป็นหนึ่งในเมนูดอกไม้ที่ จรัล มโนเพ็ชร คู่ชีวิตและหุ้นส่วนร้านอาหารของป้าหมู ชื่นชอบที่สุด 

ที่ป้าหมูบอกว่าอยากขึ้นมาอยู่ที่เชียงใหม่นี่เป็นเพราะอ้ายจรัลเป็นหลักหรือเปล่าครับ

เปล่าเลยค่ะ ที่เปิดร้านอาหารนี่เพราะอ้ายจรัล แต่ที่อยากขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ ป้าอยากมาของป้าอยู่แล้ว และอย่างที่บอก ตอนนั้นอ้ายแกก็ทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก ป้าเคยเรียนที่เชียงใหม่ และพบว่าตัวเองมีความเป็นคนที่นี่มากกว่ากรุงเทพฯ ไปแล้ว 

เจออ้ายจรัลได้ยังไง

เราเป็นเพื่อนกันก่อน เจอกันที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านั้นป้ามีแฟนอยู่ ป้ากับแฟนก็คิดกันว่าจะย้ายขึ้นมาหาอะไรทำที่เชียงใหม่ แต่ติดที่แฟนเขามีธุรกิจกงสีของครอบครัวที่ต้องดูแลเลยไม่ได้มาเสียที จนสุดท้ายก็เลิกกันไป แล้วมีอยู่วันหนึ่งเพื่อนป้าที่เป็นศิลปินเขาชวนไปนั่งร้านอาหารของอ้ายจรัลซึ่งเปิดอยู่บนถนนสุโขทัย เพื่อนป้าคนนี้สนิทกับอ้ายจรัล เราเลยมีโอกาสได้คุยกัน 

ตอนนั้นป้าไม่ได้ชื่นชอบอะไรเขาเป็นพิเศษ รู้ว่าเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง แต่ความที่ป้าทำนิตยสารเกี่ยวกับดนตรีและทำรายการวิทยุด้วย ก็มีโอกาสรู้จักศิลปินหลายคน แต่เราไม่มีความเสน่หาศิลปินไทยเลย เรามีอคติกับนักร้องพวกนี้ที่ว่าพวกเขาจะชอบทำตัวโอเวอร์ เหมือนตัวเองดังล้นฟ้า แต่พอได้คุยจริง ๆ ก็กลับไม่รู้เรื่องอะไรเลย รู้แค่ว่าจะเล่นดนตรียังไง หนังสือไม่อ่าน ความรู้รอบตัวไม่มี ไม่มีความสนใจสังคมอะไรแบบนี้ 

แต่พอได้คุยกับอ้ายจรัล ไม่เป็นแบบนั้นเลย อ้ายแกชอบอ่านหนังสือ แกชอบ ต้นส้มแสนรัก ของ โจเซ่ วาสคอนเซลอส เป็นแฟนเพลงของ The Beatles และ Jim Croce เหมือนกัน พอยิ่งดื่มเหล้าด้วยกัน แล้วคุยเรื่องวรรณกรรม เรื่องสังคมการเมืองนู่นนี่นั่น แล้วเราก็พบว่าศิลปินคนนี้มีกึ๋น เลยคุยกันสนุกจนสนิทกัน ตอนนั้นเขาก็รู้แล้วว่าป้าอยากมาอยู่เชียงใหม่ จนมาคบกันจริงจัง เขาก็ช่วยหาลู่ทางอีกแรง จนขึ้นมาปลูกบ้านหลังนี้ด้วยกัน แต่อย่างที่เล่าว่าป้ามาอยู่บ้านนี้คนเดียวเป็นหลักก่อน อ้ายจะขึ้น ๆ ลง ๆ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เพราะมีงานอยู่ที่นั่น กระทั่งทำร้านอาหารก็จะเป็นแบบนั้น กระทั่งพักงานจากกรุงเทพฯ แกก็จะมาอยู่บ้านนี้ยาว ๆ 

สาเหตุที่เปิดร้านสายหมอกกับดอกไม้เป็นเพราะความคิดของอ้ายจรัลที่อยากมีฐานทัพสำหรับทำงานเชิงสังคม ตอนป้าหมูบอกว่าจะเอาเมนูอาหารจานดอกไม้มาเสิร์ฟลูกค้าด้วย อ้ายจรัลมีความเห็นอย่างไร

แกสนับสนุนเต็มที่ เราสองคนค่อนข้างเปิดรับเรื่องใหม่ ๆ อยู่แล้ว บางทีแกก็ยังไปช่วยป้าเก็บดอกไม้เลย ก็เก็บตามจากสวนบ้านเรานี่แหละ บ้างก็ไปขอเพื่อนที่ปลูกดอกไม้ที่เราไม่มี หรือไปขอเก็บจากบ้านคนอื่น อย่างพวงแสดนี่คนเมืองชอบปลูกกัน เราก็ไปขอตัดใส่ตะกร้ามา ตามป่ารกร้างหรือป่าละเมาะนี่ก็เยอะอยู่ ไม่มียาฆ่าแมลงด้วย ได้มาก็เก็บมาทำความสะอาด 

หลังเปิดร้านปีแรก ร้านเราก็พอขายได้นะ มีอ้ายจรัลเป็นแม่เหล็ก ถ้าวันไหนอ้ายมาเล่นดนตรี ก็จะขายดีมาก แต่วันอื่นก็จะทรง ๆ คนไม่ได้เยอะ จนเอาเมนูดอกไม้มาเสิร์ฟ มีคนบอกปากต่อปาก และมีนิตยสาร มีรายการโทรทัศน์มารายงาน เข้าปีที่ 2 เท่านั้นแหละ ร้านขายดีมาก จากที่ลูกค้ามาเพราะอยากฟังเพลงจรัล หลัง ๆ มาเพราะอยากกินดอกไม้แทน อ้ายแกก็ยินดีไปด้วย

นอกจากเล่นดนตรี อ้ายจรัลมีส่วนกับร้านนี้มากแค่ไหน

นอกจากเล่นดนตรีกับจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ร้าน เรื่องอื่นก็ไม่ได้มาก เพราะตอนนั้นอ้ายแกก็ยุ่งกับการทำเพลงที่กรุงเทพฯ แต่มีเรื่องหนึ่งน่ารักดี ป้ารู้จักกับ อ้ายหนอม-ถนอม ไชยวงษ์แก้ว ที่เป็นกวี ตอนนั้นไปเจอกันที่สวนทูนอินของ พี่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ อ้ายหนอมเป็นกวีที่เก่ง แต่ยังเล่นดนตรีไม่ชำนาญนัก ถึงอย่างนั้น พอได้รู้จักกัน ป้าก็ชวนให้เขามาเล่นที่ร้าน เพราะเห็นถึงความตั้งใจ อ้ายหนอมแกชอบเล่นเพลงตลก ๆ เล่าเรื่องเก่ง และเป็นคนโรแมนติก เลยมีแฟนคลับตามมาที่ร้านเราเยอะ จนวันหนึ่งอ้ายจรัลมาอยู่ร้านวันที่อ้ายหนอมเล่นดนตรีพอดี ตอนนั้นอ้ายจรัลยังไม่รู้จัก ก็ถามป้าว่า หมูคิดยังไงถึงเอาคนนี้มาเล่นร้านเรา อ้ายกั๊ดอก ป้าก็ตอบเล่น ๆ ไปว่า หมูอยากได้ของแปลก ซึ่งแกก็เข้าใจ หลังเล่นเสร็จ อ้ายจรัลก็ได้คุยกับอ้ายหนอมแล้วชอบพอ เลยคิดจะฝึกจังหวะดนตรีให้อ้ายหนอมใหม่ เหมือนช่วยปั้นให้เป็นนักดนตรีขึ้นมาด้วย 

อ้ายหนอมแกเป็นคนน่ารักมากเลยนะ เป็นกวีที่อยากเป็นนักดนตรี เหมือนกวีอีกท่านที่ชอบเป่าขลุ่ย แต่อ้ายหนอมน่ารักกว่าเยอะ เขารักประชาธิปไตยและไม่ยอมเป็นขี้ข้าเผด็จการเหมือนกวีท่านนั้น 

และพอมาย้อนคิดตอนนี้ ทั้งพี่ ’รงค์ อ้ายหนอม และอ้ายจรัล นี่พากันจากไปหมดแล้ว เสียดายคนเหล่านี้นะว่าไหม

อ้ายจรัลได้ช่วยป้าคิดเรื่องเมนูดอกไม้มากแค่ไหนครับ 

ไม่นะ เขาก็ให้ป้าคิดเต็มที่ เขาเป็นคนกินและออกความเห็นเรื่องรสชาติเสียมากกว่า อ้ายแกชอบกินยำยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง กินบ่อย น่าจะอารมณ์คนชอบปลูกกุหลาบด้วยน่ะ หลายคนชอบคิดว่าอ้ายเป็นคนเมือง จะต้องชอบเก็ดถะหวา แต่กุหลาบก็เป็นพื้นเมืองเหมือนกัน แล้วอ้ายก็ชอบมาก แกเขียนเพลง กุหลาบดอย ที่บรรยายสีสันของดอกกุหลาบไว้ได้ดีมากเลยนะ 

เอ เดี๋ยวสิ (นิ่งคิด) จริง ๆ อ้ายก็มาช่วยคิดเมนูด้วยนะ เพียงแต่สุดท้ายที่ร้านก็ไม่ได้ทำเสิร์ฟ เป็นเมนู แกงจืดบุปผาสาคู ซึ่งป้าเขียนบันทึกไว้ในหนังสือ อ้ายแกชอบกินสาคูมาก แกเป็นคนเมืองเนอะ แกบอกว่าตอนเด็ก ๆ ยังเคยกินสาคูกับแกง แต่ไม่ได้กินนานแล้ว คือเวลาคนส่วนใหญ่นึกถึงสาคูจะนึกถึงขนม อย่างสาคูน้ำกะทิ แต่อ้ายเสนอว่าเราน่าจะเอาเมนูนี้มาทำเป็นอาหารคาวนะ ป้าก็เห็นด้วย แต่นั่นล่ะ ยังไม่ทันได้พัฒนาสูตร แกก็จากไปเสียก่อน 

‘แกงจืดบุปผาสาคู’ ปรุงจากดอกพวงชมพู ดอกเข็ม และดอกกล้วยไม้ เลือกดอกที่กำลังแบ่งบานมาล้างน้ำ เอาเกสรออก พักไว้ จากนั้นล้างเม็ดสาคูในกระชอน ก่อนจะใส่หมูสับลงต้มในหม้อเดือด ตามด้วยเม็ดสาคู คนไม่ให้เกาะกันเป็นก้อน พอสาคูสุกกำลังดีแล้วค่อยใส่ดอกไม้และปรุง

อย่างที่ป้าหมูบอกว่านี่เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ จรัล มโนเพ็ชร ชื่นชอบและเสนอให้นำมาเสิร์ฟที่ร้าน แต่น่าเสียดายที่ไม่มีลูกค้าคนไหนได้ลิ้มลองเมนูนี้ เพราะหลังจากเปิดร้านสายหมอกกับดอกไม้ได้ 3 ปี ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 จรัลก็มาเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว ในห้องนอนบนชั้น 2 ของบ้านดวงดอกไม้อย่างไม่มีเค้าลางใด ๆ ซึ่งป้าหมูก็ไม่ได้นำเมนูนี้มาใส่ในร้านอีกเลย 

“เขาบ่นปวดไหล่ก่อน ช่วงนั้นกำลังวุ่นกับการจัดงาน 25 ปีโฟล์คซองคำเมือง เป็นคอนเสิร์ตใหญ่ฉลองครบ 25 ปีที่อ้ายจรัลทำเพลงมา โดยจะไปจัดที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ช่วงปลายเดือนตุลาคม แกเตรียมงานไว้พร้อมหมดแล้ว เชิญศิลปินล้านนาทั้งพ่ออุ้ย แม่อุ้ย มาร่วมแสดงครบ แกตั้งใจมาก ๆ ไม่ได้ตั้งใจที่จะได้แสดงคอนเสิร์ตของตัวเอง แต่ตั้งใจอยากเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของล้านนาออกไปด้วยความภูมิใจ แต่นั่นแหละ ทุกคนที่มาร่วมงานล้วนเสียใจมาก ๆ ที่แกไม่ได้อยู่เห็นงานนี้” ป้าหมูเล่า 

ป้าหมูยังเล่าต่ออีกว่า ด้วยความที่แกชอบอ่านหนังสือ แกมีความฝันจะเป็นนักเขียนที่มีหนังสือของตัวเองมาตลอด แต่ไม่เคยมีสักเสี้ยวหนึ่งของความคิดมาก่อนว่าหนังสือเล่มแรกของเธอ รักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร คือหนังสือที่เธอต้องเขียนรำลึกถึงคนรัก… 

ต้องขออภัยด้วยครับ ก่อนมาคุยกัน ผมเข้าใจมาตลอดว่าหนังสือ มหัศจรรย์ดอกไม้กินได้ คือหนังสือเล่มแรกของป้าหมู 

จริง ๆ ก็คิดไว้ว่าจะเป็นแบบนั้นแหละค่ะ เพราะพอเปิดร้านสักพักก็อยากเขียนบันทึกเกี่ยวกับการทำอาหารดอกไม้เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม พร้อมกันนั้นป้าก็คิดอยากเขียนหนังสือเกี่ยวกับอ้ายจรัลด้วย เลยไปบอกเขาว่าหมูขออนุญาตเขียนถึงชีวิตของอ้ายนะ แกก็ยินดี แต่ความที่เรายุ่งนั่นยุ่งนี่เลยเขียนไม่ถึงไหนเสียที จนแกมาถามว่าเรื่องที่เขียนไปถึงไหนแล้ว ป้าก็บอกว่ายังไม่เสร็จ เพราะเรื่องอ้ายนี่โคตรเยอะเลย ไม่รู้จะรวมยังไง เขาตอบป้าว่ายังไงรู้ไหม เขาบอกว่า ชีวิตอ้ายก็อย่างนี้แหละ ถ้าหมูจะรอ หมูอาจต้องรอให้อ้ายตายก่อนนั่นแหละถึงจะเขียนได้ แกพูดประโยคนี้เลย แล้วมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ 

หนังสือตีพิมพ์ครั้งแรกในงาน 25 ปีโฟล์คซองคำเมืองที่อ้ายจรัลจัดใช่ไหมครับ

ใช่ค่ะ ความที่ป้าเขียนต้นฉบับไว้ก่อนหน้าแล้ว พอแกเสีย ก็ฝืนทำใจเขียนให้จบ มีเวลาเดือนกว่า ๆ เท่านั้น กลายเป็นว่าทั้งอีเวนต์ใหญ่ของอ้ายและหนังสือเล่มแรกในชีวิตป้า อ้ายจรัลไม่ได้อยู่ทันดูสักอย่าง

หลังอ้ายจรัลเสียชีวิต ป้าหยุดร้านไปพักหนึ่งและกลับมาเปิดใหม่ ทำต่อไปได้อีกพักใหญ่ แล้วก็พบว่าตัวเองอายุมากเกินจัดการ เหมือนไม่มีใจด้วย เปิด ๆ ปิด ๆ อยู่บ้าง จน พ.ศ. 2558 เป็นปีเดียวกับที่พ่อป้าหมูเสียชีวิต เลยตัดสินใจขายกิจการไป

มหัศจรรย์ดอกไม้กินได้ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2554 ก่อนป้าหมูจะปิดร้านไม่นาน ว่าไปก็ใช้เวลาห่างจากหนังสือเล่มแรกถึง 10 ปี อยู่นะครับ

นานค่ะ ป้าใช้เวลาทำใจอยู่นานมาก และไม่ค่อยมีสมาธิกับการทำร้านด้วย จนช่วงหลัง ๆ เริ่มนิ่งขึ้น ก็ทยอยเขียนต้นฉบับเก็บไว้ เสียดายตรงที่ถึงแม้เราจะได้ชื่อว่าเป็นร้านอาหารแห่งแรกที่เสิร์ฟดอกไม้กินได้ แต่ป้าก็ไม่ใช่นักเขียนคนแรกที่เขียนหนังสือถึงเรื่องนี้ เพราะแม่ครัวของป้ามาชิงเขียนไปเสียก่อน

อย่างการเขียนถึงเมนูแกงจืดบุปผาสาคูในหนังสือ ก็เป็นการบันทึกถึงอ้ายจรัลอีกแบบด้วยใช่ไหมครับ เพราะตอนทำร้านไม่มีเมนูนี้

ใช่ค่ะ หนังสือเล่มนี้พิมพ์หลังอ้ายจรัลเสีย 10 ปีพอดี แต่อย่างที่บอกว่าเป็นบันทึกช่วงที่ป้าทำร้านสายหมอกกับดอกไม้ที่ป้าเริ่มกับอ้ายจรัลมา สังเกตว่ามีหลายบทที่ป้าเขียนถึงอ้าย เพราะเหมือนเราล้มลุกคลุกคลานมาด้วยกัน ขณะเดียวกัน อ้ายจรัลก็สร้างแรงบันดาลใจหลายอย่างให้แก่ป้า มีหลายเมนูในเล่มที่ไม่มีเสิร์ฟในร้าน แต่ป้าคิดขึ้นมาเติมทีหลังให้สมบูรณ์ แกงจืดบุปผาสาคูเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งป้าก็ไม่แน่ใจว่าถึงอ้ายจรัลยังอยู่ ร้านก็อาจไม่ได้ใส่เมนูนี้ไว้ในลิสต์ก็ได้ เพราะคิดว่าฝรั่งที่เป็นลูกค้าส่วนหนึ่งของเราคงไม่ชอบ เพื่อนฝรั่งป้าบอกว่าเห็นสาคูแล้วคิดถึงขี้มูก ไม่ชวนรับประทาน ก็ตลกดี สำหรับป้า เห็นสาคูแล้วนึกถึงอ้ายจรัล

ป้าหมูแบ่งเนื้อหาในหนังสือ มหัศจรรย์ดอกไม้กินได้ เป็น 3 ส่วนหลัก คือหนึ่ง ความเรียงเกี่ยวกับแรงบันดาลใจเรื่องอาหารดอกไม้ สอง ตำรับอาหารดอกไม้ที่แยกย่อยในระดับ ยำ ต้ม ผัด กินเล่น ของหวาน และเครื่องดื่ม และสาม บทความที่เล่าถึงพิษจากดอกไม้ที่กินไม่ได้ โดยได้เพื่อนรักของแก อาจารย์ไชยยง รุจจนเวท มาช่วยเขียน ก่อนจะปิดเล่มด้วยวิธีการเมาดอกไม้ผ่านบ้องกัญชา 

เนื้อหาตลอดเล่มไม่เพียงพูดถึงแรงบันดาลใจในการรับประทานดอกไม้ สูตรอาหาร สรรพคุณจากดอกไม้ และความทรงจำถึง จรัล มโนเพ็ชร อีกเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ คืออารมณ์ขันแบบหน้าตายของป้าหมูที่แฝงไว้ในตัวบทอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นการแซวถึงวัฒนธรรมการโรยผักชีบนอาหาร ความจำต้องเก็บดอกไม้จากเมืองไทยเพื่อไปสาธิตการทำอาหารที่สิงคโปร์ (ป้าหมูคิดว่าจะไปเด็ดดอกไม้ที่สิงคโปร์เองแต่กลัวโดนจับ จึงยอมขัดความเชื่อตัวเองที่ว่าดอกไม้ที่ดีที่สุดในการทำอาหารคือดอกไม้ที่เราหาได้ใกล้ตัว) แต่เรื่องที่ชอบที่สุด คือการเขียนถึงอุปกรณ์สำหรับทำ ‘ชากลิ่นดอกบัว’ ที่ป้าหมูระบุลงไปว่า ควรมีเรือสักลำสำหรับพายไปเก็บดอกบัวกลางสระ (พร้อมวิธีการและเวลาในการคัดสรรดอกบัวที่ดีที่สุดเพื่อทำชาอีกด้วย) 

ว่าไปแล้ว ไม่เพียงตัวหนังสือ ตลอด 2 ชั่วโมงที่ผมสนทนากับเธอ ผมก็พบอารมณ์ขันดังกล่าวปรากฏมาอยู่เนือง ๆ ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักเขียนวัย 70 ปี ผู้ใช้ชีวิตเพียงลำพังมาหลายทศวรรษ รักการดื่มและสูบบุหรี่จัด หากก็มีสุขภาพแข็งแรง มีความคิดที่เฉียบคมแบบคนหนุ่มสาว และยังคงสนุกสนานกับชีวิต 

ทุกวันนี้ยังเขียนหนังสืออยู่ไหมครับ

เขียนอยู่ เป็นบทบันทึกตามเคย จริง ๆ ก่อนหน้านี้ก็พยายามเขียนวรรณกรรมอยู่ แต่สำหรับป้าเป็นเรื่องยาก ที่ผ่านมาก็เป็นบันทึกหมดเลย บางเล่มไม่ได้ริเริ่มเอง อย่างงานเขียนเกี่ยวกับจรัล ส่วนใหญ่ก็มีสำนักพิมพ์ขอมา ป้าชอบอ่านวรรณกรรม ก็อยากเขียนแบบนั้นได้บ้าง มีอยู่เล่มที่พิมพ์กับมติชน ชื่อ ตามรอยฝัน… จรัล มโนเพ็ชร เล่มนั้นได้ พี่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนคำนำให้ เป็นบทนำสั้น ๆ แต่พี่ ’รงค์ เขียนสละสลวยเหมือนวรรณกรรมเลย อ่านแล้วเหมือนได้ยินเสียง หรือคำที่แกคิดใหม่อย่าง เขบ็ตขบวนดนตรี อย่างนี้ อ่านแล้วก็รู้สึกว่าเขียนวรรณกรรมนี่เรื่องยาก

ถ้าป้าไม่เอา ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นมาตรฐาน ก็น่าจะง่ายลงเยอะนะครับ 

นั่นสิ ทุกวันนี้ก็พยายามอยู่ ป้าคิดว่าเราเริ่มทำอะไรใหม่ได้เสมอ งั้นขอโฆษณาตรงนี้ก่อนเลยว่า กำลังจะออกนิยายสั้นที่เล่าถึงชีวิตของป้าและอ้ายจรัล เกริ่นไว้ก่อนว่าเล่มนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเท่าไหร่นัก 

การต้องเขียนถึงแต่เรื่องของอ้ายจรัลเสียเป็นส่วนใหญ่ สิ่งนี้มีผลต่อความรู้สึกเหมือนไม่หลุดพ้นจากอดีตของป้าไหมนะครับ

ป้าไม่ได้คิดแบบนั้น ความทรงจำกับอ้ายจรัลเป็นความทรงจำที่ดี ป้าเลยไม่เห็นความจำเป็นว่าเราต้องลืมเรื่องนี้ไป คนเราจะเขียนถึงอะไร ก็ควรจะรู้จักและเข้าใจสิ่งที่เราจะเขียน สำหรับป้า อ้ายจรัลเป็นทั้งคนรักและเพื่อนที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด ป้าน่าจะเป็นคนที่เก็บความทรงจำเกี่ยวกับอ้ายจรัลไว้มากที่สุดแล้ว 

หลังจากที่อ้ายจรัลเสีย ทั้งญาติและเพื่อนป้าก็ชวนให้กลับมาอยู่กรุงเทพฯ นะ แต่ป้าบอกว่าไม่เป็นไร ป้ารักที่นี่ อย่างที่เล่าไปว่าป้าตั้งใจจะมาอยู่ที่นี่ ถึงอ้ายจรัลจะไม่ย้ายมาอยู่ ป้าก็จะอยู่ อาจเพราะเราโตมาแบบลูกคนเดียวด้วยมั้ง พออ้ายจรัลจากไป ป้าก็เสียใจมาก แต่นั่นล่ะ พอทำใจได้ เราก็โอเคที่จะอยู่ที่นี่คนเดียว ป้ามีอะไรต้องทำอีกเยอะแยะ ต้นไม้ที่ต้องดูแล หนังสือที่รอให้ป้าอ่าน ต้นฉบับที่อยากเขียน ตอนนี้มีหมา 2 ตัวที่ต้องเลี้ยงด้วย 

ทุกวันนี้ยังฟังเพลงจรัลอยู่ไหม

ไม่แล้ว แบบที่ตั้งใจเปิดฟังเนี่ยไม่มีเลย

ไม่คิดถึงแล้ว

คิดถึงสิ คิดถึงทุกวันจนชินแล้ว ช่วงแรก ๆ ฝันถึงบ่อยมาก แต่หลายปีหลังไม่ค่อยฝัน คนเราพออายุมากขึ้น ความฝันจะลดลง แต่ 2 – 3 วันที่ผ่านมาเพิ่งฝันถึง ฝันว่าอยู่ด้วยกัน จะกินอะไรกันดี จะกินก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวราดแกง ป้าบอกร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ทางซ้าย ข้าวราดแกงอยู่ทางขวา แกบอกกินข้าวราดแกง เราเลยไปนั่งร้านนั้นกัน ตื่นเช้ามาโคตรดีใจ ได้ฝันสักทีฉัน ป้าเลยบันทึกเอาไว้ กลัวจะลืม แปลกเหมือนกันนะคนเรา พอเวลาผ่านไป เราก็ต่างลืมความฝันได้ง่ายจัง

หนังสือ มหัศจรรย์ดอกไม้กินได้ โดย อันยา โพธิวัฒน์ วางจำหน่ายผ่านทางสำนักพิมพ์ Zombie Books รวมถึงในมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ที่บูท Q07 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ภาพอาหาร : สถาพร กองอยู่ และ ไข่มุก แสงมีอานุภาพ

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ