เชิ้ตฮาวายสีแดงลายพร้อยเก็บชายในกางเกงยีนส์ลีวายส์ ผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งบรรจงผูกรอบคออย่างโก้เก๋ ชายหนุ่มผมหยักศกมีรอยยิ้มน้อยๆ ที่มุมปากเมื่อก้าวเข้ามาในออฟฟิศเดอะคลาวด์ ฉันยังจำชั่วขณะที่พบนักเขียนหนุ่ม อาร์ม-กรกฎ อุ่นพาณิชย์ ครั้งแรกได้ดี

คราวนั้นรีบเลื่อนเก้าอี้ไปสะกิดเพื่อนสาวที่นั่งพิมพ์ต้นฉบับอยู่ใกล้กัน แล้วเอ่ยว่า

‘เฮ้ย คู่แข่งมาแล้วว่ะ’

เพื่อนพยักหน้า มองตาก็เข้าใจ ไม่เพียงลีลาการเขียนที่เก่งกาจ มีเสน่ห์ยุคเก่าเสมือนเติบโตมากับการอ่านหนังสือยุค 80 ทั้งหลาย เขายังแต่งตัวดีจัด จนเราต่างรู้สึกว่าชุดที่สวมอยู่หมองหม่นอย่างไรพิกล อยากจะกลับไปรีดชุดงามๆ ให้กลีบโง้งแล้วแต่งมาประชัน กลบความรู้สึกชื่มชมแกมอิจฉาที่พลุ่งพล่านขึ้นในใจ 

Americano Taste แชนแนล Menswear ของนักเขียนหนุ่มที่รักการตัดเสื้อ วินเทจ และความเป็นมนุษย์
Americano Taste แชนแนล Menswear ของนักเขียนหนุ่มที่รักการตัดเสื้อ วินเทจ และความเป็นมนุษย์

Fast Forward มาปัจจุบัน กรกฎเป็นเจ้าของแชนแนล Americano Taste ที่บอกเล่าเรื่องราวไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะการแต่งตัวของผู้ชายที่สนุกและแฝงเสน่ห์วินเทจเท่ล้ำลึก 

หลังหน้าจอที่เราพูดคุยกัน อาร์มแต่งกายชุดทำงานอยู่บ้าน คือใส่เสื้อเชิ้ต French Cuff แบบโอเวอร์ไซส์สีเขียวอ่อนๆ สันนิษฐานว่ามาจากยุค 60 เจ้าตัวได้มาจากร้าน Area51 เชียงใหม่ เก็บชายเข้ากางเกงยีนส์เรียบร้อย แหวนแต่งงานเกลี้ยงเกลากลมกลืนกับชุดที่สวมอยู่ เจ้าตัวบอกว่าไม่ได้แต่งกายเป็นพิเศษเพื่อการสนทนา แต่พิถีพิถันเลือกเสื้อผ้ามาสวมทุกเช้าเป็นปกติ เพราะการแต่งตัวคือพิธีกรรมเตรียมใจเข้าสู่การทำงาน และทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเองเมื่อเริ่มวัน

“เสื้อผ้ามันเหมือนบันทึกหรือพงศาวดาร ว่าแต่ละช่วงเวลาเราเป็นยังไง ช่วงยี่สิบห้าถึงสามสิบ กรกฎ อุ่นพาณิชย์ คิดแบบนี้ เลยสะท้อนการแต่งตัวออกมาแบบนี้ การแต่งตัวสำคัญมาก เพราะเราจะรู้จักคนคนหนึ่งผ่านการแต่งตัวได้” อาร์มเอ่ยอย่างหนักแน่น และนี่คือการเดินทางผ่านการแต่งกายของเขา ที่เรารู้ว่าคุณจะสนุกและเรียนรู้ไปได้ด้วยกัน

Late Bloomer

‘ไว้ผมปิดหน้าปิดตาแบบเกาหลียุคสองพันต้นๆ ใส่เสื้อยืดและกางเกงยีนส์ขาเดฟ ชุดนิสิตก็ต้องกางเกงสแล็กเดฟ’ กรกฎนิยามชุดเก่งขณะเรียนดุริยางคศิลป์ตะวันตก ชีวิตทุ่มเทกับการฝึกซ้อม ท่ามกลางเพื่อนๆ ที่เก่งฉกาจฉกรรจ์กว่าตัวเขามากมายนัก

“ตอนมหาลัย เราไม่ลงทุนกับเสื้อผ้าเลย รู้สึกว่าเสื้อผ้าเป็นของนอกกาย แต่งตัวแบบที่เด็กผู้ชายจากต่างจังหวัดคนหนึ่งจะแต่งตัว เสื้อเชิ้ตไม่สนใจฟิตติ้ง กางเกงจะยาวหรือสั้นก็ไม่สนใจ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะขอแก้กางเกงนิสิตเป็นขากระบอกตรงสีเรียบๆ ลงทุนกับรองเท้าสีดำดีๆ สักคู่หนึ่ง และเสื้อเชิ้ต ถ้ามันเหลืองขนาดนั้นแล้ว ก็จะบอกตัวเองให้ซื้อตัวใหม่เถอะ” 

สไตล์ของเด็กหนุ่มผันเปลี่ยนเมื่อก้าวเท้าเข้าสู่โลกแห่งการทำงานแรก ในฐานะนักเขียนจูเนียร์ที่นิตยสาร ELLE MEN ประเทศไทย เรียนรู้การทำงานและการแต่งตัวจาก Fashion Editor แพ็ธ-ณภัทร สุทธิธน ที่เท่เหลือหลาย และให้โอกาสทำงาน จนทำให้มุมมองเรื่องแฟชั่นของอาร์มเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ 

“การแต่งตัวเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่มีอะไรดีไม่ดีกว่ากัน คนช่างแต่งตัวคือคนที่มีความพิถีพิถัน และรู้ตัวว่าจะแสดงออกยังไง หรือถึงไม่รู้ก็กล้าทดลอง เพื่อจะได้รู้ว่าผลลัพธ์เหมาะกับเขารึเปล่า ตอนทำนิตยสารแฟชั่น สิ่งที่พวกเราพยายามนำเสนอคือเบ้าหลอมแฟชั่นหลายแนว ไม่มียูนิฟอร์มตายตัว Sartorial ไอวี่ลีก วินเทจ ทหาร เราต้องหลอมรวมสไตล์เหล่านั้น แล้วใช้มันเสริมบุคลิกของเรา”

ชีวิตนักเขียนกลายเป็นการทดลองและวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ จุดเปลี่ยนคือการเริ่มเอากางเกงยีนส์ขาวมาใส่ 

“ออกจากบ้านดูกระจกแล้วดูกระจกอีก เดินผ่านรถก็เหลือบตามองเงาตัวเอง ใช่กูเปล่าวะ ไม่รู้ แต่กูอยากใส่กางเกงยีนส์สีขาว ใส่ไปนานๆ ก็เริ่มรู้ว่าทรงไหนที่ใช่เรา ช่วงแรกๆ ใส่ Uniqlo ก่อน สักพักรู้สึกไม่ใช่ ขามันเล็กไป เปลี่ยนเป็น Greyhound สักพักเปลี่ยนเป็น Levi’s ตอนนี้รู้สึกว่าเนี่ยแหละ คือทรงที่เราควรจะใส่มาตั้งนานแล้ว”

อาร์มหยิบยีนส์ขาวลีวายส์วินเทจ 501 ตัดขารุ่ย Made in USA มาให้ดู 

Americano Taste แชนแนล Menswear ของนักเขียนหนุ่มที่รักการตัดเสื้อ วินเทจ และความเป็นมนุษย์
Americano Taste แชนแนล Menswear ของนักเขียนหนุ่มที่รักการตัดเสื้อ วินเทจ และความเป็นมนุษย์
ภาพ : 17.57

“ตัวนี้เป็นไอเท็มแฟชั่นชิ้นบุกเบิกที่ทำลายกรอบทัศนคติที่มีต่อการแต่งตัว เราโดนคนบอกว่าดูสาวจนชิน แต่การแต่งตัวมันไม่มีเพศ ซึ่งเปิดโลกเรามาก เห็นจากพี่แพ็ธใส่ สไตล์ไอคอนที่ใส่ขารุ่ยๆ ขบถแบบนี้คือนักแต่งเพลงฝรั่งเศส Serge Gainsbourg เท่มาก แล้วกางเกงนี้ก็ราคาไม่แพง ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ซื้อ”

อาการพิพักพิพ่วนจางหาย ก็ตามมาด้วยเสื้อฮาวายลายมังกรกับกางเกงขาว รองเท้าหนังสีดำ ได้กลิ่นอายหนุ่มเจ้าสำอาง หลังจากนั้นก็เริ่มใส่แจ็กเก็ต แม้เมืองร้อนใส่หลายเลเยอร์ไม่ไหว แค่ใส่อันเดอร์เชิ้ตก็ร้อนตับแล่บ นักเขียนหนุ่มเริ่มหัดห่มแจ็กเก็ต French Workwear สีน้ำเงินม่วงไปทุกที่ ของขวัญมือสองที่รุ่นพี่ซื้อมาฝากจากสเปน ทำให้เขาทดลองความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการแต่งตัว

Vintage World

“ช่วงแรกๆ เราก็ซื้อพวกของคลาสสิก ประเภทเสื้อยืดสีขาว เสื้อเชิ้ตสีขาว แต่สเต็ปสำคัญคือการใส่เสื้อผ้าวินเทจ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะใส่เสื้อผ้ามือสอง แต่การทำ ELLE MEN ทำให้เราได้เจอนักเลงวินเทจ พ่อค้าของมือสอง คนที่ความรู้เยอะๆ บางทีเราจะติดภาพว่าคนเล่นของวินเทจต้องวินเทจทั้งตัว เหมือนหลุดออกมาจากแคตตาล็อกยุคสามศูนย์ แต่พี่แพ็ธเอามาเบลนด์กับชุดยุคปัจจุบันได้ ไม่เหมือนแต่งคอสตูมไปถ่ายหนังย้อนยุค คือนุ่งไปทำงานแล้วออกไปกินก๋วยเตี๋ยว แล้วพ่อค้าไม่ทักน่ะ

“ไม่ใช่ของมือสองทุกตัวเป็นวินเทจ บางอย่างก็เป็นของมือสอง ไม่ใช่ของวินเทจทุกตัวจะราคาถูก ของที่เราซื้อ คนที่ได้ยินราคาแล้วคงตกใจ นี่ของเก่าเหรอ แล้วงบเท่านี้ ทำไมไม่ซื้อของใหม่ แต่เราซื้อเพราะรู้ว่ามันคือของคุณภาพจริงๆ”

Americano Taste แชนแนล Menswear ของนักเขียนหนุ่มที่รักการตัดเสื้อ วินเทจ และความเป็นมนุษย์
ภาพ : Jindaporn Jayangkura

ตัวแทนของใช้วินเทจที่เขารักมากคือ Vintage Longines 1970, ref.7686 นาฬิกาไขลานทรงเหลี่ยมเรือนนี้เป็นของขวัญแต่งงานจาก พี่พล-ทศพล จักรพันธุ์ ณ อยุธยา กูรูนาฬิกาสะสมแห่ง Dunaliga โมเดลยุค 70 สายโลหะเป็นของขวัญวันแต่งงานที่ทั้งอาร์มและภรรยา ปิ๋ม-จินดาภรณ์ ชยางกูร ใส่ได้ร่วมกัน ของที่มีคุณค่าทางใจ ใส่เมื่อไหร่ก็เตือนใจถึงมิตรภาพที่ดี 

จากเล่นของวินเทจ สไตลิ่งของอาร์มก้าวขึ้นไปอีกขั้นเมื่อเข้าสู่โลกแห่งการตัดสูท 

Tailored Life

พอเข้าสู่วงการการตัดเสื้อใหม่ๆ คนเราจะมีความคิดหนึ่งว่า อยากได้สูทหนึ่งตัวที่ไปได้ทุกงาน งานแต่งยันงานศพ ซึ่งอยากจะบอกว่าสูทที่ใส่ง่าย ดูแลง่าย ไม่ยับ ไปได้ทุกงาน ไม่มีครับ (หัวเราะ)”

จากสูทตัดตัวแรกที่วัดตัวตัดแบบง่ายๆ ราคาครึ่งหมื่นกลับมาพร้อมสูทอัดกาวผ้าผสมสีเทากลางๆ ไม่ใช่สูทหางม้า ไม่ใช่สูทที่ทำอย่างพิถีพิถัน จ่ายตามราคาแล้วก็ได้เท่านี้ ใช้ได้ไม่นาน ชายหนุ่มถึงได้เรียนรู้ว่าคุณภาพมาพร้อมราคา แต่ราคาสูงไม่จำเป็นต้องมาพร้อมคุณภาพเสมอไป 

3 ปีถัดมา เขากำเงินเก็บก้อนใหม่ราว 20,000 กว่าบาท ไปตัดสูท Pinstripe ใช้ผ้าลินิน วูล และไหม ทำหางม้าครึ่งตัว เป็นสูทที่ดีมาก แต่เมื่อหันหลังกลับไปมองก็รู้สึกว่าช่างเป็นชุดที่ ‘เสียงดัง’ เหลือเกิน ไม่ทางการเท่าไหร่ ซ้ำกางเกงเอวสูงแบบยุค 30 ยังรั้งลำตัวจนปวดหลัง 

“ขนาดเสื้อผ้าสั่งตัดยังผิดได้ ทำให้ Posture เปลี่ยนไปด้วย มองย้อนกลับไปเราอาจไม่เลือกแบบนั้น อยากลงทุนกับคุณภาพมากขึ้น ทำชุดแบบ Full Canvas ไปเลย แต่วันนั้นความรู้เรายังไม่ถึง รสนิยมเราปรับเปลี่ยน ผสมปนเปตลอด จากสูทเก้าศูนย์ สามศูนย์ แปดศูนย์ ต้องดูให้ดีว่าเราเหมาะกับอะไร 

“แก่ลงแล้วคิดได้ว่า สิ่งที่สำคัญกว่าเสื้อผ้าคือความคิด การงาน บุคลิกนิสัย เราไม่ตื่นเต้นแล้วเวลาเห็นสูทที่โชว์ออฟ แต่จะตื่นเต้นถ้าเห็นคนใส่สูทสี Navy หรือ Charcoal ทรงสวยคมๆ เนกไทเรียบๆ ได้สัดส่วน รองเท้าหนังสีดำ แต่งตัวแบบคุมโทนมาเลย แล้วท่าทางการพูดให้เกียรติคน เป็นผู้ฟังที่ดี วิธีออกความเห็นไม่ดูถูกสไตล์ของใคร ความคิดและการปฏิบัติต่อผู้อื่นที่เขาแสดงออกมาต่างหาก ที่จะทำให้สง่างามจริงๆ คนแบบนี้ต่อให้ใส่สูท Pinstripe ก็ทำให้กลืนไปกับตัวเอง เราใส่สูทตัวนั้นแล้วรู้สึกว่ามันเรียกร้องให้คนมองเสื้อ แล้วมองข้ามเราไปเลย เราเอาเสื้อผ้าไม่อยู่ คิดว่าใส่แล้วเท่อย่างกับมาเฟียอิตาลี คนนิวยอร์กยุค The Wolf of Wall Street แต่จริงๆ มึงก็แค่นักเขียนคนหนึ่งที่อยากใช้ชีวิตสงบๆ”

Americano Taste แชนแนล Menswear ของนักเขียนหนุ่มที่รักการตัดเสื้อ วินเทจ และความเป็นมนุษย์
Americano Taste แชนแนล Menswear ของนักเขียนหนุ่มที่รักการตัดเสื้อ วินเทจ และความเป็นมนุษย์
Americano Taste แชนแนล Menswear ของนักเขียนหนุ่มที่รักการตัดเสื้อ วินเทจ และความเป็นมนุษย์
ภาพ : Akkapon Kumpusan

ปัจจุบันชุดที่อาร์มแฮปปี้มากๆ และใส่บ่อยๆ คือเบลเซอร์กระดุมทองสีกรมท่า ผ้า Dormeuil วูลผสมไหม ตัดแบบฟูลแคนวาสโดยห้องเสื้อบรม โดยเขาร่วมออกแบบด้วย คลาสสิกเบลเซอร์นี้เป็นมรดกของทหารเรืออังกฤษ ไปงานทางการหรือลำลองก็ได้ ใส่กับยีนส์ก็ไม่เขิน

“ถ้าถูกบังคับว่ามีชุดเดียวในตู้เสื้อผ้าจะเลือกตัวนี้ เราใส่ตัวนี้ในวันทำบุญก่อนแต่งงาน ใส่กับเสื้อเชิ้ตอ็อกซ์ฟอร์ดสีม่วงๆ เนกไทสีเขียว แล้วก็กางเกงสแล็ก รองเท้าหนัง แต่จะใส่มันกับกางเกงยีนส์ขาดๆ กับเสื้อยืดก็ได้ เสื้อตัวนี้มีคุณค่าทางใจมากเพราะ พี่ต้า เดชานุภาพ ทำให้ เราถือว่าเขาเป็นอาจารย์ เพราะเขาให้คำแนะนำเรื่องการตัดเสื้อเยอะมากๆ ปกติช่างไม่ค่อยให้คำแนะนำกันหรอก พอใส่ของที่ผู้มีพระคุณทำให้ เป็นความรู้สึกที่ดี”

Substance Over Style

“ตอนนี้สิ่งที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ความคิด บุคลิก และการแสดงออก แค่นั้นเลย เราเชื่อเรื่อง Personal Style จริงๆ ใส่กางเกงขาสั้นเสื้อยืดก็เอาอยู่ บางทีเห็นคนใส่สูทเต็มยศแล้วแทบจะส่ายหัว มันน่าจะมีอะไรมากมายหลากหลายกว่าการแต่งตัวแบบเดียว และเอาตรงๆ มันก็แค่เสื้อผ้า ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ยิ่งเวลาบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยคงที่ เราไม่อาจบอกได้ว่ามันจำเป็นที่สุด ยังมีสิ่งสำคัญกว่าคือความเป็นมนุษย์”

นักเขียนหนุ่มเอ่ยได้เต็มปาก ส่วนหนึ่งเพราะเขาได้เรียนรู้วิชาสูทและทำความเข้าใจผู้คนอย่างเต็มอิ่ม จากการเป็น Shop Guy ที่ The Somchai อยู่ 3 ปีถ้วน ตั้งแต่ ค.ศ. 2018 – 2021 หน้าที่ช่วยให้คำแนะนำเรื่องการตัดสูท ค่อยๆ กะเทาะเปลือกคนออกมาว่า ทำงานอะไร ใช้ชีวิตยังไง เป็นใครในองค์กร งานที่จะใส่สูทไปเป็นแบบไหน ควบคู่กับการทำ Americano Taste ไปด้วย จนในที่สุดก็ตัดสินใจออกมาทำสื่อของตัวเองและทำงานอิสระเต็มตัว 

“Americano Taste เป็นจุดร่วมที่เราสองคนชอบ ถ้าเป็นเพจแต่งตัวแต่แรกอาจจะชื่อ สไตล์บายอาร์ม (หัวเราะ) Americano Taste เป็นเรื่อง The taste of style, simplicity and story รสชาติกาแฟดำผสมน้ำเปล่าเป็นรสชาติที่เรียบง่ายที่สุด กินได้ทุกวัน”

จากเพจกับอินสตาแกรมที่ภรรยาของอาร์มทำก่อน แล้วชวนอาร์มมาทำด้วยกัน ความตั้งใจแรกเป็นเพจ Travel & Lifestyle ที่สอนปรัชญาเกี่ยวกับการแต่งกายผ่านการท่องเที่ยว แต่จุดเปลี่ยนคือคลิปของวินเทจ การไปเยี่ยมร้าน Wooden Submarine ทำให้คนสนใจเสื้อผ้าเข้ามาเยอะ ยิ่งทำเรื่องนาฬิกา ยิ่งตอกย้ำประเด็น Menswear เข้าไปอีก จึงทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจเปลี่ยนมาเล่าเรื่องเสื้อผ้าการแต่งกายของผู้ชายแบบเต็มตัว โดยปิ๋มคอยช่วยดู Art Direction อยู่เบื้องหลัง

“Americano Taste เล่าเรื่องเสื้อผ้าโดยมีเนื้อหาหนัก มีความเห็นชัดเจน มีปรัชญาเกี่ยวกับการทำเสื้อผ้า ถ้าเราไปสัมภาษณ์คน เราจะถามเขาว่าปรัชญาในการทำงานของพี่คืออะไร อะไรคือความงาม พี่เชื่อในอะไร

“เราไม่ได้มองว่าคนอื่นไม่รู้เรื่องการแต่งตัว แต่อยากจะแชร์ความคิดเห็นที่เรามีเกี่ยวกับเรื่องสไตล์ อยากให้คนใช้สิ่งนี้ในการเรียนรู้ตัวเองว่าเหมาะกับอะไร และอยากสร้างค่านิยมของการเปิดกว้าง ไม่ตัดสินกัน โดยตระหนักว่ากาลเทศะก็เป็นเรื่องสำคัญ

“คนเรามีทั้ง Style และ Substance มีเนื้อหาก่อนแล้วสไตล์จะดี คนที่เราชอบสไตล์มากคือ Mordechai Rubinstein ชื่ออินสตาแกรมคือ mistermort นี่คือนิยามของคนที่แต่งตัวสนุก มีสไตล์ของตัวเอง และทำให้การแต่งตัวเสริมบุคลิกจริงๆ 

“หรืออย่าง Fran Lebowitz การแต่งตัวของนักเขียนคนนี้ไม่ป่าวประกาศ เขาใส่เสื้อเชิ้ต French Cuff สีขาวธรรมดา กางเกงยีนส์ลีวายส์ 501 รองเท้าคาวบอยบูต แล้วใส่แจ็กเก็ตตัดโดยห้องเสื้อ Anderson & Sheppard ที่ Savile Row, London ที่เลือกลงทุนกับสิ่งนี้เพราะเขาใส่แบบนี้จริงๆ มีรสนิยมแล้วเอาความพิถีพิถันมาแต่งตัว เพื่อแสดงออกตัวตนที่เขาเป็น ไม่ใช่การแต่งตัวเพื่อบดบัง”

Writer/Tailor

จากเป็นนักเขียน สู่นักเล่าเรื่อง อาร์มขยับขยายทักษะตัวเองสู่การเรียนรู้เป็นช่างตัดเสื้อ เพื่อทำความเข้าใจคุณค่าของ Craftmanship ในอีกมุม เขาหยิบ ‘สูทกรกฎ’ มาอวดอย่างภูมิใจ แจ็กเก็ต Green Prince of Wales นี้เขาตัดผ้าเอง ร่างแบบเอง เรียนรู้กระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ

คุยกับ อาร์ม-กรกฎ อุ่นพาณิชย์ แชนแนลเล่าเรื่อง Menswear ที่แนะนำการค้นหาตัวตน สไตล์ ไปจนถึงวิถี Craftmanship
คุยกับ อาร์ม-กรกฎ อุ่นพาณิชย์ แชนแนลเล่าเรื่อง Menswear ที่แนะนำการค้นหาตัวตน สไตล์ ไปจนถึงวิถี Craftmanship
คุยกับ อาร์ม-กรกฎ อุ่นพาณิชย์ แชนแนลเล่าเรื่อง Menswear ที่แนะนำการค้นหาตัวตน สไตล์ ไปจนถึงวิถี Craftmanship
ภาพ : Jindaporn Jayangkura

“งานนี้ตั้งใจทำเอง เรียนแบบครูพักลักจำ ทำให้เราก้าวข้ามจากคนสื่อสารเรื่อง Menswear เป็นคนทำชุด ได้เข้าใจหัวอกของช่าง เลยคิดว่าเราต้องทรีตช่างให้ดี ตั้งใจทำให้ประณีต ซึ่งมันยากมาก เป็นความใฝ่สูงที่ไม่ดูสารรูปตัวเองอย่างที่สุด เราตัดให้ภรรยาเป็นของขวัญวันเกิดเขา แต่ทำไม่ทันปีก่อน เพราะต้องไปทำมาหากินก่อน จิตใจสงบแล้วค่อยมาทำ น่าจะเสร็จปีนี้ ทำทุกอย่างเป็นเกรดเทเลอร์จริงๆ” 

“อนาคตเราอยากทำแบรนด์ที่เราทำได้เองทั้งหมด และอยากสนับสนุนให้คนเคารพช่างว่าเป็น Artist เราเดินไปหาช่างตัดสูทคนนี้ เพราะเราเลือกเขาแล้ว ไม่ใช่ให้เงินแล้วจบ ต้องเคารพกันด้วย อีกอย่างเราไม่ตื่นเต้นแล้วกับการทำสไตลิ่ง เพราะรู้สึกว่าจะใส่อะไรก็ได้ ไม่อยากหยุดตัวเองอยู่แค่นี้ เคยพูดกับแฟนว่าถ้าอายุน้อยกว่านี้ คงบินไปเรียนตัดสูทที่อิตาลีหรือญี่ปุ่น แต่แฟนก็บอกว่าถ้าคิดแบบนี้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ถึงตัวนี้จะออกมาเละ ก็ยังรู้สึกว่าคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป เพราะมันทำลายกรอบการท้าทายตัวเอง พาเราไปอีกขั้นหนึ่ง และดีใจมากที่ได้เลือกทำสิ่งนี้ให้ภรรยา มันเป็นแจ็กเก็ตตัวแรก และจะได้อยู่ในชีวิตคนที่สำคัญที่สุดของเรา”

นักเขียนอาชีพผู้กำลังเรียนรู้วิถีเทเลอร์ตบท้ายด้วยรอยยิ้มละไม 

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง