เพื่อประโยชน์ 

เพื่อความสุข

แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย

ตลอดกาลนานเทอญ

สำหรับชาวพุทธ เราเอ่ยประโยคนี้ทุกครั้งที่ต้องถวายสังฆทาน 

แต่กับผู้ปกครองที่ส่งลูกเข้า ‘โรงเรียนทอสี’ จะจดจำถ้อยคำนี้ขึ้นใจมากเป็นพิเศษ

โรงเรียนแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องการนำธรรมะในพุทธศาสนามาใช้ในการสอนอย่างแยบยล ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือการแสดงละครในงานโรงเรียนช่วงปลายปี

โรงเรียนปกติ การแสดงแบบนี้จะให้เด็กเป็นคนเล่น มีผู้ปกครองมารอถ่ายรูปลูกในชุดสวยเด่น 

เมื่อแรกเข้าโรงเรียนทอสี จะมีละครที่ตัวละครหลักไม่ใช่นักเรียน แต่เป็นคุณครูของโรงเรียน เนื้อหาของละครพูดถึงการตามหาความหมายของชีวิต การทำให้ชีวิตมีคุณค่าและความหมายว่าเรา ‘เกิดมาทำไม’ 

หากส่งลูกเข้าโรงเรียนนี้จนจบอนุบาล เราจะได้ดูละครทุกปี ถึงแม้ทุกเรื่องจะมีตอนจบแตกต่างกัน แต่ตอนท้ายจะให้ข้อคิดเรื่องประโยชน์และความสุข ของตนและผู้อื่น 

ตามความหมายของประโยคที่เราต้องเอ่ยทุกครั้งเมื่อกล่าวคำถวายสังฆทาน 

ประโยคที่เรารู้จัก แต่ไม่ได้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของมันเลย

โรงเรียนทอสีมีกัลยาณมิตรและปราชญ์ผู้ให้คำปรึกษาและสนับสนุนเบื้องหลังหลายท่าน

หนึ่งในนั้นคือ พระอาจารย์ชยสาโร

หลายคนอาจเคยเห็นท่าน เรียกสั้น ๆ มันปากว่า ‘พระฝรั่ง’ ชื่อเดิมของท่านคือ ฌอน ไมเคิล ชิเวอร์ตัน เกิดที่ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันพระอาจารย์บวชมาแล้ว ๔๔ พรรษา สมณศักดิ์ปัจจุบันของท่านคือ พระธรรมพัชรญาณมุนี และได้รับพระราชทานสัญชาติไทยใน พ.ศ. ๒๕๖๓

งาน หน้าที่ ความรับผิดชอบ และเป้าหมายของพระอาจารย์ชยสาโรตอนนี้ คือการมุ่งทำงานด้านการศึกษา ทั้งกับโรงเรียนทอสี โรงเรียนปัญญาประทีป และมูลนิธิปัญญาประทีปที่ถ่ายทอดคำสอนของท่านในรูปแบบที่เป็นมิตรกับผู้คนในยุคปัจจุบัน

พระอาจารย์ชยสาโรอุปสมบทกับ หลวงพ่อชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร) หนึ่งในพระสงฆ์รูปสำคัญของไทย คนที่สนใจแวดวงสงฆ์จะรู้ว่าพระสงฆ์สายที่เน้นปฏิบัติน้อยรูปจะมาทำงานด้านการสอนและเผยแผ่ เพราะใช้ทั้งแรง ปัญญา และเวลามหาศาล

ตลอด ๔๔ พรรษาของการอุปสมบท พระอาจารย์ชยสาโรมีหน้าที่และบทบาทที่หลากหลาย สาเหตุที่ตอนนี้ท่านมุ่งทำงานด้านการศึกษา เพราะมองว่านี่คือสิ่งที่ประเทศไทยขาดมากที่สุด 

แม้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ ศาสนาที่เน้นสอนเรื่องการดับทุกข์ แต่ความสุขกลับมีให้เห็นน้อยลง

มีสถาบันและองค์กรไม่น้อยนำธรรมะมาใช้ในการทำงานว่าเป็นแบบ ‘วิถีพุทธ’ 

พระอาจารย์ใช้คำใหม่ เรียกการนำแก่นคำสอนของพุทธองค์มาแก้ไขปัญหาว่า ‘พุทธปัญญา’ มาใช้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

นั่นเป็นสิ่งที่คนไทยมองไม่เห็น และอาจเป็นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด หากต้องการชีวิตใหม่ ในปีใหม่ที่มาเยือนไม่กี่วันที่ผ่านมา

เคยมั้ย เมื่อใครสักคนเดินเข้ามาในพื้นที่หนึ่ง บรรยากาศมวลรวมเปลี่ยนแปลงในฉับพลัน 

เรารู้สึกแบบนั้นเมื่อพระอาจารย์มาถึง 

นกร้องเป็นจังหวะ ร่มเย็น แวดล้อมด้วยเงาไม้ใหญ่ แต้มสีสันจากแสงอาทิตย์ยามเย็น 

กับคนใฝ่ธรรมะ เห็นบรรยากาศวันนี้อาจรู้สึกปลื้มปีติ บางคนอาจคิดไกลไปถึงว่าเป็นเพราะบารมีของพระอาจารย์ 

ไม่ผิด เข้าใจได้ แต่สิ่งที่พุทธองค์สอน คืออย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่ตาเห็น อาจมีเหตุผลอื่นที่ทำให้ฟ้าฝนเป็นใจ พึงตรวจสอบให้ดีก่อน 

เช่นเดียวกับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต มีเหตุและปัจจัยมากมาย หากรีบด่วนตัดสิน อาจไม่พบความจริงว่าที่แท้เป็นเช่นไร 

นั่นคือความรู้เสี้ยวหนึ่งที่พระอาจารย์ชยสาโรพยายามชี้ให้เห็น ว่าธรรมะจะกลมกลืนกับวิถีชีวิตอย่างไร

วิถีธรรมของ พระอาจารย์ชยสาโร พระฝรั่งศิษย์หลวงพ่อชา นำธรรมะสอนเด็กอนุบาล ชวนผู้ปกครองปฏิบัติธรรม ทำหน้าที่พระให้คนเห็นคุณค่าของพุทธธรรม

ปลายปีที่แล้ว ผมมารอสัมภาษณ์พระอาจารย์ชยสาโร ไม่ไกลจากโรงเรียนทอสี 

วันนั้นพระอาจารย์มีวาระถ่ายวิดีโอ พรปีใหม่ ๒๕๖๗ วิดีโอสั้นที่ท่านตั้งใจให้พรในช่วงปีใหม่แก่ศิษย์ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ดูแลการผลิตโดยคณะลูกศิษย์และมูลนิธิปัญญาประทีป

ในพรปีใหม่ ผมสะดุดกับคำพูดของท่านช่วงหนึ่งว่า ปีนี้อยากขอให้ทุกคนให้โอกาสพระพุทธศาสนามากขึ้น

เมื่อถ่ายทำจบ ได้นั่งลงและเริ่มบทสนทนา ผมชวนท่านพูดถึงบทบาทของพุทธศาสนาในปัจจุบัน เริ่มจากถามท่านว่าทำไมถึงขอแบบนั้น

“อาตมารู้สึกว่าชนชั้นกลางปัจจุบันนิยมให้ลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น ระบบครอบครัวก็เปลี่ยนแปลงไป บวกกับอิทธิพลของโซเชียลมีเดียก็ทำให้คนรู้สึกห่างเหิน แตกแยกกับศาสนาพุทธ 

“ความจริงเหตุการณ์แบบนี้ก็มีกันมานานแล้ว แต่อาตมารู้สึกว่าคนมีอคติต่อพุทธศาสนามากขึ้น ไม่ใช่อคติต่อพุทธศาสนาที่อาตมารู้จัก เป็นอคติต่อศาสนาในสมองของเขา ซึ่งคิดขึ้นมาเองมากกว่า น่าเสียดายว่าเราถ่ายทอดให้คนเข้าใจไม่ได้ว่าจริง ๆ แล้วพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร ถ้าคนฟังถูกต้อง ตรงตามหลักคำสอนแล้วปฏิเสธ ก็เป็นสิทธิมนุษยชน แต่สิ่งที่คนปฏิเสธและอคติทุกวันนี้ไม่ใช่แบบนั้น”

ถ้าติดตามเนื้อหาของพระอาจารย์จะรู้ว่าท่านพูดประเด็นนี้บ่อย คนไทยมักมองพุทธศาสนาผ่านแนวคิดและสายตาของตะวันตกโดยไม่รู้ตัวจนไม่เข้าใจ

“ศาสนาของตะวันตกกับศาสนาพุทธมันคนละตระกูลกัน หากมองพุทธผ่านรูปแบบหรือ Template ของตะวันตก เราจะเข้าไม่ถึงหลักพระพุทธศาสนา

“ศาสนาพุทธเป็นวิชาดับความทุกข์ของมนุษย์ ซึ่งถ้าจะปฏิเสธคำสอนของพระพุทธเจ้า คนก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธเต็มที่ แต่ต้องให้เหตุผลว่าเพราะอะไรจึงปฏิเสธว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้นไม่ได้ ระงับทุกข์ไม่ได้ ด้วยเหตุผลอะไร เรื่องนี้น่าคุยนะ แต่ถ้าเป็นแค่การปฏิเสธพุทธศาสนาเพราะไม่เชื่อหรอก เรื่องเวียนว่ายตายเกิด สวรรค์ นรก ไม่เชื่อหรอก …จบ อย่างนี้ไม่เป็นเหตุเป็นผล อาตมาคิดว่าทุกวันนี้ความคิดของคนเป็นแบบ Copy-Paste ตัดออกมาจากตรงนั้น เอามาแปะตรงนี้โดยไม่ดูบริบทและความเหมาะสมเท่าไหร่” 

เรื่องหนึ่งที่เรายกตัวอย่างกันมาถกเถียง คือกระแสการดูแลจิตใจที่เรียกว่า Mindfulness ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในต่างประเทศ มีหลายองค์กรและสถาบันให้ความสนใจ

ต้นทางของรูปแบบ Mindfulness ที่แพร่หลายในต่างประเทศ มีที่มาจากชาวตะวันตกที่สนใจศาสนาพุทธซึ่งบูมมากเมื่อหลายสิบปีก่อน พวกเขาเดินทางมาศึกษาในประเทศฝั่งตะวันออก และกลับไปถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ในประเทศของตัวเอง เน้นเรื่องเทคนิค แต่ไม่ได้นำแนวคิดที่เชื่อมโยงกับศาสนามาด้วย

พระอาจารย์มองว่า Mindfulness ที่เราพบเห็นทุกวันนี้ แนวคิดยังไม่ชัดเจนนัก ส่วนใหญ่เป็นการแปลความจากศาสตร์ที่เรียกว่า Secular Mindfulness เป็นการสอนวิธีดูแลจิตใจ โดยไม่กล่าวถึงหรือเชื่อมโยงกับศาสนา 

ด้วยเหตุนี้ Mindfulness จึงมีโอกาสที่จะผิดเพี้ยนจากต้นทาง เช่น เรื่องการมีสติ หากเราพูดถึงสติโดยไม่เชื่อมโยงกับบริบท ก็ไม่ใช่สติในความหมายของพุทธจริง ๆ

“สติในความหมายของพุทธ จะต้องมี Value หรือคุณค่าเบื้องหลัง สติมีหน้าที่ระงับกระแสความปรุงแต่ง พฤติกรรมเคยชิน สัญชาตญาณ คล้ายการตื่นจากหลับ ตื่นขึ้นมาเพื่อพิจารณาว่าอะไรเหมาะสม ไม่เหมาะสม อะไรถูกต้อง ไม่ถูกต้อง เรียกว่าบาป บุญ คุณ โทษ 

“เราเอาสติและปัญญามาเชื่อมกัน เรียกรวมว่า สติปัญญา เพราะสติเป็นเงื่อนไขของการใช้ปัญญา ปัญญาคือการรู้ว่าสิ่งใดเป็นบาป บุญ คุณ โทษ ฉะนั้น เราก็ต้องมีหลักว่าบุญคืออะไร บาปคืออะไร ดีคืออะไร ชั่วคืออะไร ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะมาเองตามธรรมชาติ เพียงเพราะเราหยุดความคิดได้ หรืออยู่กับปัจจุบันได้ ความสำคัญระหว่างสติกับหิริโอตตัปปะ (ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป) เป็นเรื่องที่ Secular Mindfulness พูดไม่ได้ 

ปัญหาหนึ่งของการไม่พูดถึงบริบท คือจะทำให้ Mindfulness เป็นกระแสทุนนิยม เหมือนที่โยคะกลายร่างเป็นธุรกิจ ต้องมีโยคะหลายรูปแบบที่สดใหม่ดึงความสนใจจากลูกค้า

เราสัมผัสได้ว่าสิ่งที่พระอาจารย์พูด หาใช่การเหมารวม แต่เตือนอย่างหวังดี ชวนให้เรารู้ความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังยึดถือ

ความยากของการสอนเรื่องพุทธศาสนาวันนี้ คือต้องพูดถึงบริบทและความเหมาะสม หาจุดที่เชื่อมโยงกับปัญหาของคนในยุคสมัย

นั่นคืองานที่ยากและท้าทายของพระอาจารย์ในวันนี้

วิถีธรรมของ พระอาจารย์ชยสาโร พระฝรั่งศิษย์หลวงพ่อชา นำธรรมะสอนเด็กอนุบาล ชวนผู้ปกครองปฏิบัติธรรม ทำหน้าที่พระให้คนเห็นคุณค่าของพุทธธรรม

“๕๐ ปีที่ผ่านมา เรามีนักวิชาการด้านพุทธศาสนาที่เป็นระดับโลกกี่รูปกี่คน” พระอาจารย์ถาม 

แน่นอน เราตอบไม่ได้ 

๑ รูป คือคำตอบ 

พระอาจารย์ชยสาโรยกย่อง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ให้เป็นพระนักวิชาการรูปสำคัญ แต่หากมองว่าไทยเป็นเมืองพุทธที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากร ๗๐ กว่าล้านคน มีสถาบันสงฆ์ ๓ แสนกว่ารูป กลับสร้างนักวิชาการพุทธศาสนาแค่รูปเดียว – สิ่งนี้ถือเป็นความล้มเหลว

มันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนมีอคติกับธรรมะ สิ่งที่พุทธศาสนามอบให้ คือการบอกว่าสิ่งใดคือคุณค่าที่ควรรักษาไว้ในชีวิต และสิ่งใดที่ควรหลีกเลี่ยง

ตั้งแต่ไทยเริ่มค้าขายกับตะวันตก อิทธิพลทางวัฒนธรรมแพร่หลายเข้ามา เมื่อเราขาดนักวิชาการทางพุทธศาสนาที่จะกำหนดว่าคุณค่าที่ควรรักษาคืออะไร ก็เหมือนเราขาดตัวกรองทางวัฒนธรรม รับอิทธิพลทุกอย่าง แยกแยะได้ยากว่าสิ่งที่ดีและไม่ดีคืออะไร

“ทุกวันนี้ยิ่งไปกันใหญ่ ถ้าถามคนทั่วไปว่า คุณค่าในพุทธศาสนาคืออะไร อาตมาถามเด็กไม่รู้เท่าไหร่ก็จะได้คำตอบว่า ท่านสอนให้เราเป็นคนดีค่ะ แล้วถ้าถามต่อว่า ดีคืออะไร ใครตัดสินว่าอะไรดี อะไรไม่ดี เด็กตอบไม่ได้ นี่คือปัญหาในการถ่ายทอดหลักพุทธธรรม” 

ยังไม่นับเรื่องวินัยของพระสงฆ์ที่ผิดเพี้ยน อย่างที่เราเห็นเป็นข่าวกันจนชินชา ถ้าจะแก้ไขก็ต้องเริ่มที่จุดนี้

“พระพุทธองค์สอนพระธรรมวินัย พระธรรมก็คือการพัฒนาทางจิตใจ แต่วินัยเป็นเรื่องภายนอก สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม นั่นคือวินัยที่อุดมสมบูรณ์ เป็นวินัยสงฆ์ พระพุทธองค์สร้างวิถีชีวิตให้มีอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมน้อยที่สุด มีสิ่งสนับสนุนมากที่สุด ที่ทำได้เพราะสมาชิกในสถาบันสงฆ์สมัครใจ 

วิถีธรรมของ พระอาจารย์ชยสาโร พระฝรั่งศิษย์หลวงพ่อชา นำธรรมะสอนเด็กอนุบาล ชวนผู้ปกครองปฏิบัติธรรม ทำหน้าที่พระให้คนเห็นคุณค่าของพุทธธรรม
วิถีธรรมของ พระอาจารย์ชยสาโร พระฝรั่งศิษย์หลวงพ่อชา นำธรรมะสอนเด็กอนุบาล ชวนผู้ปกครองปฏิบัติธรรม ทำหน้าที่พระให้คนเห็นคุณค่าของพุทธธรรม

“แต่ในสังคมไม่ใช่ว่าทุกคนจะสมัครใจกันหมด เราจะบังคับคนที่ไม่สมัครใจไม่ได้ เพราะศีล สมาธิ ปัญญา ต้องเกิดจากความสมัครใจถึงจะได้ผล การที่จะบังคับให้คนถือศีล ๕ เราก็ไม่ทำ เพราะถึงจะควบคุมพฤติกรรมของคนได้ แต่จะไม่เกิดศีลภายในจิตใจ ซึ่งเป็นความหมายของพระพุทธศาสนา 

“วินัยมี ๒ ประเด็น คือวินัยส่วนตัว เช่น การถือศีล ๕ การให้ทาน สร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม ก็เป็นส่วนหนึ่งของวินัย แต่อีกข้อที่เรามักจะมองข้าม คือวินัยระดับองค์กร เราต้องมีกฎหมาย กติกา ธรรมเนียม ประเพณี หรือข้อตกลงที่สอดคล้องกับหลักธรรม 

“ในด้านสังคมทั่วไป พระพุทธองค์ก็ตรัสไว้ว่าหน้าที่ของรัฐบาลที่เป็นหลักตายตัวก็คือปัจจัย ๔ จะต้องจัดสรรความเป็นอยู่ของคนในสังคมให้พ้นจากทุกข์เกี่ยวกับอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ซึ่งทุกวันนี้แม้แต่ในประเทศเจริญแล้วในความหมายทั่วไปก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เรื่องของปัจจัยข้อที่ ๔ ล้มเหลวมาก”

หากมองในระดับบุคคล หลายคนเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนเรื่อง ‘ทุกอย่างอยู่ที่ใจ’ เราจึงได้เห็นคนคิดว่า หากทำจิตใจให้สงบ ทุกอย่างจะดีไปเอง 

“พระพุทธองค์ไม่เคยสอนว่าทุกอย่างอยู่ที่ใจ หรือเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเจริญในชีวิต ใจเป็นที่ ๑ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปัจจัยอื่นไม่มีความหมาย การลำดับความสำคัญของเหตุปัจจัยจะนำไปสู่ความสุข 

“สมมติว่าคนในสังคม ๑๐% ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เขาก็จะดีจนได้ อีก ๑๐% สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เขาก็จะชั่วให้ได้ แต่อีก ๗๐ – ๘๐% อยู่ตรงกลาง ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็ง พวกเขาก็จะเป็นผู้ลอยตามกระแส เพราะฉะนั้น ถ้าเราปล่อยให้กระแสสังคมไปในทางที่ไม่ดี จะทำให้การปฏิบัติธรรมของแต่ละคนยากขึ้น 

“สิ่งที่ศาสนาพุทธมอบให้ ที่เราขาดไปก็คือคุณค่าทางพุทธที่เป็นระบบ เมื่อเราขาดก็ไม่แปลกใจที่ความคิดผิด การมองผิด อคติต่าง ๆ ต่อพุทธศาสนาจะแพร่หลายมากที่สุด” 

แดดร่มลมตก พระอาจารย์บีบมะนาวใส่น้ำเปล่า พักจิบน้ำหลังสนทนาไปพักใหญ่

เดือนพฤศจิกายน ท่านป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ต้องละเว้นกิจนิมนต์และการถ่ายทอดธรรมะที่ทำเป็นประจำ ร่างกายเพิ่งจะหายดีไม่นานนัก

แม้งานด้านการสอนจะหนัก แต่ก็ไม่มากเท่าสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน “ถ้าเทียบสมัยเป็นเจ้าอาวาส ตอนนี้รู้สึกเหมือนเป็น Holiday เลย” ท่านเล่าพลางยิ้ม เป็นใบหน้าที่ลูกศิษย์คุ้นเคยดี

พระอาจารย์ชยสาโร ทุ่มเวลาให้กับการศึกษา ตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส 

แต่การศึกษาที่นี้ไม่ใช่การร่ำเรียนในระบบ เป็นการค้นหาความหมายของคำว่า ชีวิตที่ดี

ฌอน ไมเคิล ชิเวอร์ตัน เป็นภูมิแพ้ตั้งแต่เด็ก ออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านไม่ได้บ่อยนัก ขาดเรียนบ่อย เหตุนี้ทำให้เขาชอบอ่านหนังสือ คิด พิจารณา ตั้งคำถามกับคน สังคม และโลกตั้งแต่เด็ก

วัยหนุ่ม เขาได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา กระตุ้นให้ออกเดินทางในโลกตะวันออก โชคชะตานำพาให้เขาได้รู้จักและฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อชา ได้อุปสมบท และได้ทำงานในวัดป่านานาชาติจนถึง พ.ศ. ๒๕๔๕

พระอาจารย์ชอบอ่าน ชอบเขียน ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ผลงาน ๒ เล่มสำคัญคือ อุปลมณี หนังสือชีวประวัติของหลวงพ่อชาที่ครบถ้วนที่สุด อีกเล่มคือ Stillness Flowing ชีวประวัติและรวมคำสอนของหลวงพ่อชาเป็นภาษาอังกฤษ

สมัยบวชพรรษาที่ ๕ – ๖ พระอาจารย์เริ่มอ่านหนังสือ พุทธธรรม ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นั่นเป็นครั้งแรกที่ท่านได้เห็นภาพรวมว่า พุทธศาสนาเนื้อแท้แล้วคือระบบการศึกษาหรือ Education System เพื่อดับทุกข์ หาใช่ศาสนาที่ยึดมั่นในความเชื่อหรือ Belief System เหมือนศาสนาในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ความเชื่อนี้มีผลต่อการทำงานในช่วงหลังของพระอาจารย์ เมื่อท่านมีโอกาสให้การอบรมสั่งสอนคณะผู้บริหารและครูของโรงเรียนทอสีเรื่องการศึกษาที่ใช้คำสอนของพระพุทธศาสนามาเป็นแกนหลักได้

“งานด้านนี้เกิดจากความตกใจและเสียใจเมื่ออาตมาเห็นว่าปรัชญาและธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้มีอิทธิพลต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจเลย น่าเป็นห่วงว่าในอนาคต อิทธิพลต่อระบบการศึกษาก็แทบจะไม่เหลือ 

“ตอนมาเมืองไทยใหม่ ๆ อาตมาเห็นว่าไทยเป็นเมืองพุทธ แต่ก็สงสัยว่าเป็นเมืองพุทธตรงไหน ออกจากเขตวัดก็ไม่รู้แล้ว สำหรับอาตมา พุทธไม่ใช่แค่การทำวัตร สวดมนต์ หรือใส่บาตร มันอยู่ที่การพัฒนาชีวิต การใช้ปัญญาเพื่อสร้างครอบครัว ชุมชน และสังคมที่ดี” 

ในต่างประเทศ ระบบการศึกษาจะไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งพระอาจารย์เห็นด้วย เพราะศาสนาที่คนตะวันตกนับถือส่วนมากเป็นแบบ Belief System ยึดโยงกับความเชื่อ เด็กในโรงเรียนนับถือศาสนาหลายสิบนิกาย หากนำหลักศาสนาแบบนี้เข้าไปจะเกิดความแตกแยกทันที

ถ้าจะนำธรรมะเข้าสู่โรงเรียน หัวใจของมันคือการมองพุทธศาสนาเป็นระบบการศึกษาองค์รวม พัฒนาทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาไปพร้อมกัน 

นั่นคือสิ่งที่โรงเรียนทอสีริเริ่มขึ้น กิจกรรมภายในโรงเรียนจะนำหลักการบางข้อใน พระไตรปิฎก มาใช้ โดยปรับให้เข้ากับเด็กชั้นประถมและอนุบาล

หลักที่ว่าไม่ใช่การจับเด็กมาทำวัตร-สวดมนต์ แต่นำคำสอนด้านการพัฒนาตัวเองมาใช้ในโรงเรียน

“เราต้องมีปัญญาและมุมมองเบื้องหลังระบบการศึกษา ทำไมเราเอาระบบการสอนของ Montessori (หลักสูตรรูปแบบหนึ่งในโรงเรียนทางเลือก) มาได้ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ ด้วยเหตุผลอะไร พระพุทธองค์ก็สอนแต่เรื่องความเจริญและความเสื่อมของมนุษย์ นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้น เป็นไปได้มั้ยที่เราจะมีระบบการศึกษาทั่ว ๆ ไป ภายใต้กรอบของกระทรวงศึกษาธิการ แต่มีโครงสร้างหลักเป็นพระพุทธศาสนาเสริมในส่วนที่ระบบการศึกษาทั่วไปขาดไป” 

วิถีธรรมของ พระอาจารย์ชยสาโร พระฝรั่งศิษย์หลวงพ่อชา นำธรรมะสอนเด็กอนุบาล ชวนผู้ปกครองปฏิบัติธรรม ทำหน้าที่พระให้คนเห็นคุณค่าของพุทธธรรม
วิถีธรรมของ พระอาจารย์ชยสาโร พระฝรั่งศิษย์หลวงพ่อชา นำธรรมะสอนเด็กอนุบาล ชวนผู้ปกครองปฏิบัติธรรม ทำหน้าที่พระให้คนเห็นคุณค่าของพุทธธรรม

ช่วงแรก โรงเรียนทอสีถูกมองว่าเป็นโรงเรียนทางเลือก ด้วยวิธีการสอนที่ไม่เหมือนใคร พระอาจารย์เมตตาแนะนำอบรมผู้บริหาร คณะครู ผู้ปกครอง และนักเรียนอย่างต่อเนื่อง จนคนเริ่มเข้าใจมากขึ้น

“ช่วงแรกผู้ปกครองเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง คำถามคือโรงเรียนสอนให้เด็กดี แต่เขาจะอยู่ในโลกความเป็นจริงอย่างไร ฟังเรื่องนี้แล้ว อาตมาถามว่าแล้วโลกความเป็นจริงคืออะไร อีกทั้งพุทธปัญญาสอนให้เด็กรู้จักแหล่งดลบันดาลใจของตัวเอง เป็นผู้อดทน ใจสู้ ไม่ยอมแพ้ เป็นผู้มีสติ รู้ตัว บริหารอารมณ์ตัวเองได้ ตรงไหนจะเป็นอุปสรรคในการเอาตัวรอดในโลกความเป็นจริง เขาก็ตอบไม่ได้ เพราะเคยฟังคนอื่นพูดมาจึงพูดตาม

“นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ ทำความเข้าใจ ไม่ได้อยู่ที่หลักสูตรอย่างเดียว อยู่ที่ความสัมพันธ์ของครู นักเรียน และผู้ปกครองด้วย เราพยายามสร้างชุมชนกัลยาณมิตร ครูต้องเป็นตัวอย่างที่ดีกับเด็ก ต้องทำงานมากกว่าครูทั่วไป ซึ่งมันก็หนัก ผู้ปกครองก็ต้องมีส่วนร่วม คือถ้าโรงเรียนสอนอย่างหนึ่ง ที่บ้านสอนอีกอย่างหนึ่ง เด็กก็จะสับสน ต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน”

ความกังวลของผู้ปกครองล่าสุด คือกลัวเด็กไม่ได้ภาษาที่ ๒ และ ๓ 

“อาตมายืนยันว่าต้องใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ภาษาไม่ใช่สิ่งที่เป็นกลาง เราใช้ภาษาไหนจะทำให้เราคิดและรับมุมมองอื่นจากภาษาโดยที่เราไม่รู้ตัว ตอนให้พรปีใหม่ อาตมาวิจารณ์คำว่า ไม่ดีพอ หรือ Not Good Enough อันนี้เป็นเรื่องของตะวันตก อาตมาฟังเรื่องนี้มาหลายปี ตอนนี้คนไทยก็ติดเชื้อแล้ว เช่นเดียวกับคำว่า Guilty เมื่อก่อนอาตมามาเมืองไทยใหม่ ๆ ไม่มีใครกล่าวคำนี้นะ อันนี้ก็คืออิทธิพลจากตะวันตกซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราจะจับต้องได้เป็นตัวเลข วัตถุ วิถีชีวิต แต่เป็นแนวความคิด เพราะฉะนั้นคนที่คิดว่าตัวเองเป็นพุทธ แต่กรอบความคิดไม่ใช่พุทธ โดยที่เขาไม่รู้ตัว”

หลังจากที่ท่านได้ช่วยพัฒนาหลักสูตรการศึกษาพุทธปัญญาระดับอนุบาลและระดับประถมจนเป็นที่เข้าใจและเห็นผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น คุณยายทอสี สวัสดิ์-ชูโต คุณแม่ครูอ้อน ซึ่งศรัทธามากในพระพุทธศาสนา จึงอยากนำหลักสูตรพุทธปัญญามาต่อยอดในระดับมัธยม คุณยายจึงขอให้พระอาจารย์สนับสนุนการจัดตั้งโรงเรียนประจำระดับมัธยมที่ปากช่อง โดยคุณยายบริจาคที่ดินและปัจจัยเพื่อการปลูกสร้างอาคารต่าง ๆ ที่จำเป็น ซึ่งพระอาจารย์ได้เมตตารับเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาของมูลนิธิปัญญาประทีปและโรงเรียนปัญญาประทีป ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงเรียนใน พ.ศ. ๒๕๕๒

ปัญญาประทีป เป็นโรงเรียนประจำระดับมัธยม นักเรียนมีปัญหาที่ซับซ้อนกว่าระดับประถมและอนุบาล เชื่อมโยงกับปัญหาสังคมและความเหลื่อมล้ำ ส่วนมากมีเหตุปัจจัยมาจากความสัมพันธ์นอกห้องเรียน ยังไม่นับความคาดหวังของครอบครัวด้านวิชาการ เพราะต้องสอบเข้าในรั้วมหาวิทยาลัย

เทอมแรก มีเด็กทั้งโรงเรียน ๗ คน ส่วนมากถูกแปะป้ายว่าเป็นเด็กมีปัญหาหรือเด็กพิเศษ ครอบครัวส่งเข้าเรียนด้วยความศรัทธาในพระอาจารย์ เป็นเหมือนที่พึ่งสุดท้ายในชีวิต

นอกจากการสอนปกติ พระอาจารย์ใช้เวลาทุกวันพุธพูดคุยกับเด็ก เริ่มจากการขอศีล แสดงธรรมประมาณครึ่งชั่วโมง ไม่ก็ให้เด็กถามตอบกับพระอาจารย์ 

คำถามนั้นมีร้อยแปด ตั้งแต่เรื่องวิธีชนะความขี้เกียจ แนะนำเพื่อนอย่างไรไม่ให้โกรธกัน พูดกับพ่อแม่ที่คาดหวังกับอนาคต ไปจนถึง Multiverse กับพุทธศาสนา

หลายปีผ่านไป นักเรียนปัญญาประทีปสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เป็นเรื่องปกติ ความทุ่มเทของคุณครู ทีมงาน และพระอาจารย์ผลิดอกออกผล 

แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งโรงเรียนปัญญาประทีปและทอสีก็ยังได้รับคำวิจารณ์ว่ายังไม่เปิดกว้างพอ ทำเพื่อคนรวยส่งเด็กมาเรียนอย่างเดียว

พระอาจารย์ยอมรับ แม้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ แต่เพราะโมเดลการสอนแบบนี้เรียกร้องความร่วมมือระหว่างเด็ก ครู และผู้ปกครองสูงมาก ถ้าจะทำให้สมบูรณ์ ต้องทำกับโรงเรียนเอกชน ยังปรับใช้ได้ยากกับโรงเรียนแบบอื่น

เพื่อแก้ปัญหานี้ ๒ – ๓ ปีที่ผ่านมาพระอาจารย์และทีมงานจึงเริ่มพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๓ รูปแบบ

หนึ่ง หลักสูตรพัฒนาทักษะความคิด (Thinking Skill) สอนเรื่องการคิดวิเคราะห์ ใช้ความรู้และประสบการณ์การทำโรงเรียนร่วม ๓ ทศวรรษเป็นฐาน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.๖ 

เป้าหมายคือการสอนให้เด็กคิดเป็น และเป็นหลักสูตรที่เมื่อสมบูรณ์จะเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการใช้กับทุกโรงเรียนทั่วไทย

สอง พุทธธรรมประยุกต์ (Practical Buddhism) สอนพุทธศาสนาวิธีใหม่โดยแบ่งเป็นธีม นำประเด็นที่เด็กสนใจ ความทุกข์และปัญหาในโลกเทคโนโลยีมาตั้ง แล้วนำพุทธธรรมที่เป็นข้อคิดมาตอบคำถาม ชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนามองเรื่องนี้อย่างไร 

ด้วยเหตุที่เราเรียนพุทธศาสนา ตามหลักศาสนาตระกูลฝั่งตะวันตก การสอนเน้นพุทธประวัติที่เป็นอดีตมากเกินไป วิธีคิดใหม่นี้จะทำให้พุทธธรรมอยู่ในโลกปัจจุบันได้ คงน่าสนุกดีถ้าเราจะมองปัญหาใหญ่อย่าง Climate Change ผ่านมุมมองพุทธบ้าง

หลักสูตรสุดท้าย คือเสาเข็มชีวิต เป็นธรรมนูญครอบครัวซึ่งไม่ได้ทำเพื่อแก้ปัญหาทางธุรกิจ บริหารสินทรัพย์ตามแบบครอบครัวใหญ่ แต่คำนึงถึงการแก้ปัญหาเด็กและครอบครัว ถ้าทุกครอบครัวมีความสงบสุข มีสัมพันธภาพที่ดี สังคมก็จะร่มเย็นไปด้วย 

พระอาจารย์มองว่าปัญหาชีวิตของนักเรียนส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกโรงเรียน และมักจะเกิดจากความคาดหวังของพ่อแม่ ความตั้งใจของเสาเข็มชีวิตคือการออกแบบหลักการข้อตกลงในครอบครัว ให้ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงอย่างเท่าเทียมว่าควรทำและไม่ทำอะไรในบ้าน

งานข้อสุดท้ายดูจะเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุด ครูอ้อนเล่าว่างานนี้ยังอยู่ในช่วงศึกษาหลักการเบื้องต้น หากทำสำเร็จก็จะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยให้ความทุกข์ของเด็กลดลง ยกระดับการศึกษาไทยให้ดีขึ้น ไม่จมอยู่กับที่เหมือนที่เป็นมา

ทอสีและปัญญาประทีปเป็นเพียงโรงเรียนขนาดเล็ก พระอาจารย์ยอมรับว่าสิ่งที่ทำผลลัพธ์อาจยังไม่ใหญ่โตนัก 

แต่ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า หากมองพุทธว่าไม่ใช่ ‘ความเชื่อ’ แต่คือ ‘ความรู้’ 

ก็ยังมีโอกาสอีกมากที่พุทธศาสนาจะเข้าไปอยู่ในใจคน

วิถีธรรมของ พระอาจารย์ชยสาโร พระฝรั่งศิษย์หลวงพ่อชา นำธรรมะสอนเด็กอนุบาล ชวนผู้ปกครองปฏิบัติธรรม ทำหน้าที่พระให้คนเห็นคุณค่าของพุทธธรรม

ในละคร ๓ เรื่องของโรงเรียนทอสี ทิ้งท้ายด้วยการพูดถึงความหมายของชีวิต 

ผมถามพระอาจารย์ว่า การทำเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ แท้จริงแล้วหมายความว่าอะไร สำคัญกับชีวิตอย่างไร

“เมื่อมีคนอยากให้สรุปคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจง่าย หรือถามว่า เราควรใช้ชีวิตอย่างไร เพื่ออะไร อาตมาจะบอกแบบนี้

“คำถามว่า What is the meaning of life? ความหมายของชีวิตคืออะไร เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ เป็นคำถามที่ตั้งไว้ผิด คำถามที่ถูกต้องก็คือ How can I give meaning to life? เราจะทำให้ชีวิตมีความหมายได้อย่างไร

“ถ้าถามว่า ความหมายของชีวิตคืออะไร เหมือน ‘ชีวิต’ คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมีคุณลักษณะที่เรากำหนดได้ อันนี้คิดเห็นอย่างไรก็ไม่ได้คำตอบ สิ่งที่เราสังเกตได้ คือมนุษย์เราเข้าใจชีวิตเป็นเรื่องราว หรือ Narrative แล้วเราต้องการให้เรื่องราวของชีวิตมีความหมาย 

“ถ้าคนรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย ไม่รู้จะอยู่ทำไม สุขภาพจิตจะแย่ลง นำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด ถามว่าใช้ชีวิตอย่างไรเราถึงจะรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าและมีความหมาย ประเด็นนี้อาตมาว่าเอาสิ่งที่อยู่ในบทสวดถวายสังฆทาน ถวายของตามพิธีกรรมมาใช้ ทุกบทมีประโยคนี้ เรามักจะมองข้าม แต่มันลึกซึ้งมาก  

เพื่อประโยชน์ มันทำให้เราต้องสนใจว่าประโยชน์ของสิ่งที่กำลังทำคืออะไร อะไรถือว่าเป็นประโยชน์ เป็นเพราะอะไร อย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร 

เพื่อความสุข ก็เหมือนกัน ความสุขคืออะไร ในการแสวงหาความสุขของคนเราทุกวันนี้ ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน 

แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ก็ไม่ใช่ข้าพเจ้าคนเดียว ข้าพเจ้าทั้งหลาย หมายถึงของเราด้วย ของคนอื่นด้วย

ตลอดกาลนาน ก็คือความยั่งยืน Sustainable ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว 

“ต้องการให้สร้างความสุข สร้างประโยชน์ ในความหมายของพุทธธรรม ทั้งกับตัวเอง ครอบครัว สังคมที่ยั่งยืน มันเป็นประโยคง่าย ๆ ที่ทุกคนรู้จัก แต่อธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ทั้งหมด” 

ยุคหนึ่ง คนศึกษาธรรมะเพื่อพาชีวิตไปสู่นิพพาน

ยุคนี้ คนศึกษาหลักการและเหตุผล ค้นหาหนทางไปสู่ชีวิตที่ดี 

Nirvana ไม่น่าค้นหาเท่า Good Life ทิศทางของโลกเป็นแบบนี้ 

หากวันนี้เรามีคำถามว่าศาสนาพุทธมีไว้ทำไม ศึกษาไปเพื่ออะไร

หากเราสงสัย การศึกษาพุทธธรรมจะนำไปสู่ชีวิตที่ดี มีความหมายได้อย่างไร 

ขอให้กลับไปดูประโยคแรกของบทความนี้อีกครั้ง

พระอาจารย์ชยสาโร พระผู้สอนให้เด็กรักพุทธธรรมตั้งแต่อนุบาล สร้างหนทางไปสู่ชีวิตที่ดี
ข้อมูลอ้างอิง
  • ธรรมะ โดย พระอาจารย์ชยสาโร
  • โรงเรียนทอสี
  • โรงเรียนปัญญาประทีป
  • พรปีใหม่ ๒๕๖๗
  • การดำเนินชีวิตที่ดีที่สุดเป็นอย่างไร ? | พระธรรมพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร) | วาทะ พระ ทอล์ก

Writers

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Avatar

วินัย สัตตะรุจาวงษ์

ผู้กำกับรายการและโฆษณาที่ช่วงนี้หันมาสนใจงานแนวสารคดี จึงเน้นทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาคือ รายการ human ride และ เป็น อยู่ คือ

Photographer

สรรค์ภพ จิรวรรณธร

สรรค์ภพ จิรวรรณธร

แพ้ทางสีเขียวและน้ำตาล ชอบเดินทางพอ ๆ กับชอบนอนอยู่บ้าน