เทศกาลโฆษณาและความคิดสร้างสรรค์อย่าง Adman Awards & Symposium 2022 มีการแจกรางวัลให้งานโฆษณาไอเดียคมฝีมือของนักสร้างสรรค์ในวงการโฆษณาดังเช่นทุกปี ซึ่งติดตามผลรางวัลได้ที่นี่ โดยปีนี้ยังคงมีรางวัลในหมวดพิเศษที่เรียกว่า Creative for Sharing มอบให้กับงานสร้างสรรค์โดยคนนอกวงการโฆษณาที่ไอเดียคมเหลือหลาย รางวัลนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2018 และมอบต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ 

ปีนี้มีการมอบรางวัล Creative for Sharing ทั้งหมด 10 รางวัล โดยแบ่งหมวดหมู่แบบเดียวกับงานโฆษณา และมอบรางวัลพร้อมกัน เป็นงานที่แสดงให้เห็นว่า พลังสร้างสรรค์นั้นเกิดขึ้นได้ในทุกวงการจริง ๆ

01

Craft Communication Design

งาน : โรงเรียนอัสสัมชัญ สอนตรีโกณมิติผ่านคดีฆาตกรรม สืบเลือดปริศนา

ครีเอเตอร์ : วิตรานันท์ นันทผาสุข 

แบรนด์ : โรงเรียนอัสสัมชัญ

10 ไอเดียเปลี่ยนโลกโดยพระ ครู และนักออกแบบไทย จากงาน Adman 2022

ใคร ๆ ก็ว่าการศึกษาในโรงเรียนของไทยน่าเบื่อ โดยเฉพาะวิชาที่ไม่รู้ว่าเรียนแล้วจะเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้ยังไง อาจารย์วิตรานันท์ นันทผาสุข อาจารย์ประจำโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์การสอนตรีโกณมิติแบบนอกกรอบ ด้วยการเปลี่ยนจากการเรียนบนกระดานและกระดาษ มาเป็นการจัดห้องเรียนใหม่ให้กลายเป็นที่เกิดเหตุฆาตกรรม แล้วให้นักเรียนสวมบทเป็นนักสืบแกะรอยหาตัวคนร้าย โดยการดูร่องรอยแล้วใช้ทฤษฎีตรีโกณมิติ วัดค่าออกมาให้ได้ว่าทิศทางของอาวุธมาจากทางไหน และใครเป็นคนฆ่า เป็นการสอนแบบที่ทั้งสนุกและเห็นการนำไปใช้จริงที่สร้างสรรรค์ต้องลุกขึ้นยืนปรบมือให้

02

Print

งาน : ABC Human Rights

ครีเอเตอร์ : วศิน ปฐมหยก ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

แบรนด์ : ABC Human Rights

10 ไอเดียเปลี่ยนโลกโดยพระ ครู และนักออกแบบไทย จากงาน Adman 2022

เรื่องนี้เริ่มจากคุณแม่กราฟิกดีไซเนอร์คนหนึ่งอยากสอนลูกให้เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน การเคารพสิทธิผู้อื่น การรักษาสิทธิของตัวเอง และยอมรับในความหลากหลายมนุษย์ เธอยังไม่เห็นว่ามีสื่อไหนที่มีเนื้อหาครอบคลุมและเหมาะสมก็เลยลงมือทำขึ้นมาเองแบบง่าย ๆ และเพื่อความถูกต้องของข้อมูลจึงปรึกษาสามีที่ทำงานกับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง Amnesty จนออกมาเป็นแผนภาพหัดอ่าน A B C ที่สอนคำศัพท์และความหมายให้ลูกได้ซึมซับตั้งแต่เด็กอย่างเช่น L = LGBTQIA+ N = Non-discrimination R = Racism ซึ่งทำออกมาได้น่าสนใจจน Amnesty ขอนำไปพิมพ์แล้วแจกจ่ายให้ครอบครัวอื่น ๆ ที่สนใจด้วย

03

Out of Home

จรจัดสรร ที่พักพิงเพื่อสุนัขจรในชุมชน

ครีเอเตอร์ : ดร.ยศพร จันทองจีน

แบรนด์ : จรจัดสรร

10 ไอเดียเปลี่ยนโลกโดยพระ ครู และนักออกแบบไทย จากงาน Adman 2022

ถือได้ว่าเป็นสื่อ Out of Home ที่ทำหน้าที่เป็น Home ไปในตัว งานนี้เป็นงานวิจัยระดับปริญญาเอก หลักสูตรศิลปะการออกแบบเชิงวัฒนธรรม คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ไม่ต้องการให้หมาจรจัดถูกกำจัดออกจากพื้นที่ จึงลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน และศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้งานอย่างน้องหมาจรจัด จากนั้นก็แก้ปัญหานี้ด้วยการทำที่พักให้สุนัขจรจัดอยู่แบบเป็นที่เป็นทาง ไม่เกะกะชุมชน และถูกใจผู้ใช้งาน รวมไปถึงการออกแบบความร่วมมือกับชุมชนในการช่วยกันดูแลหมาจรจัดเหล่านี้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาหมาจรจัดอย่างมีมนุษยธรรม

04

Public relation plan

วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ

ครีเอเตอร์ : มูลนิธิกระจกเงา และ Otteri

แบรนด์ : วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ

10 ไอเดียเปลี่ยนโลกโดยพระ ครู และนักออกแบบไทย จากงาน Adman 2022

ถ้าจะนับกันประสาคนทำโฆษณา ก็น่าจะถือว่างานนี้เป็นกิจกรรมส่งเสริมประชาสัมพันธ์ หรืออีเวนต์ที่เราพบเห็นกันทั่วไป แต่ความน่าสนใจคือ อีเวนต์นี้ไม่ได้เป็นการแถลงข่าวหรือพิธีเปิดเก๋ ๆ แต่กิจกรรมของงานนี้เองทั้งสร้างการรับรู้และแก้ปัญหาไปในตัว เรื่องของเรื่องก็คือ เหตุผลหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มีอคติกับคนไร้บ้านก็คือพวกเขามีเนื้อตัวมอมแมมและสวมใส่เสื้อผ้าที่สกปรก มูลนิธิกระจกเงาก็เลยชวนผู้ให้บริการซักผ้าอย่าง OTERI มาทำกิจกรรมวันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ นำรถอาบน้ำและรถซักผ้าไปให้บริการกับคนไร้บ้านถึงที่ ซึ่งนอกจากอีเวนต์นี้จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจคนไร้บ้านมากขึ้นแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องความสะอาดให้คนไร้บ้านด้วย

05

Socail & Influencer

ตักบาตร เท-วน

ครีเอเตอร์ : พระมหาวิเชียร ชินวํโส 

แบรนด์ : วัดวังหิน

เราเห็นความพยายามในการลดขยะกันในหลายวงการ วงการสงฆ์ก็เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่ตระหนักในปัญหานี้ ขยะส่วนใหญ่ของวัดวังหิน จังหวัดพิษณุโลก มาจากถุงพลาสติกซึ่งญาติโยมตักบาตรมาทุกเข้า ยิ่งผู้คนมีศรัทธามากแค่ไหน ขยะก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น พระมหาวิเชียร เจ้าอาวาสวัด จึงลุกขึ้นมาสร้างระบบการตักบาตรใหม่ก็คือ ใช้ปิ่นโตแทนถุงพลาสติก โดยการจัดหาปิ่นโตจำนวนมากมา แล้วนำไปมอบให้กับบ้านที่ตักบาตรทุกวัน ทุกเช้าแต่ละบ้านจึงเปลี่ยนจากการตัดบาตรด้วยถุงแกงเป็นประเคนปิ่นโตแทน หลังจากนั้นเด็กวัดก็จะนำปิ่นโตเถาใหม่ที่ทำความสะอาดแล้ว มามอบให้สำหรับใช้ตักบาตรครั้งต่อไป เป็นระบบการหมุนเวียนปิ่นโตที่ต้องอาศัยการจัดการ และการทำความเข้าใจกับญาติโยม ซึ่งสุดท้ายก็ทำจนสำเร็จ และกลายเป็นต้นแบบขยายผลไปยังวัดใกล้เคียงด้วย

06

Expirience & Activation

วิ่งด้วยกัน Run2Gether ปีที่ 5

ครีเอเตอร์ : กลุ่มวิ่งด้วยกัน มูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม และบริษัท กล่องดินสอ จำกัด,

แบรนด์ : กลุ่มวิ่งด้วยกัน

10 ไอเดียเปลี่ยนโลกโดยพระ ครู และนักออกแบบไทย จากงาน Adman 2022

ในยุคที่การวิ่งและงานวิ่งได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ มีคนกลุ่มหนึ่งใช้การวิ่งและงานวิ่งเป็นเครื่องมือเพื่อเชื่อมคนพิการกับคนปกติเข้าด้วยกัน ก่อนอื่นต้องยอมรับกันก่อนว่า คนพิการในประเทศไทยนั้นแทบจะถูกตัดออกจากสังคม ต้องอยู่แต่บ้านเพราะเดินทางออกจากบ้านด้วยตัวเองยากเหลือเกิน คนพิการที่ได้ออกมาทำงานและพบเจอผู้คนนั้นมีจำนวนน้อยมาก นั่นจึงทำให้คนทั่วไปแทบไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการเลยว่า เขาคิดอะไร รู้สึกอะไร และปัญหาจริง ๆ ของพวกเขาที่มากไปกว่าความพิการคืออะไร 

งานวิ่งด้วยกัน หรือ Run2Gether จึงเกิดขึ้นโดยชวนคนพิการทุกประเภทมาวิ่งร่วมกับคนปกติ ซึ่งก่อนจะวิ่งได้ก็ต้องมีการซ้อมวิ่ง จึงเกิดการซ้อมวิ่งร่วมกันระหว่างอาสาสมัครคนปกติกับคนพิการประเภทต่าง ๆ ในรูปแบบของบัดดี้ นอกจากได้ฟิตซ้อมร่างกายแล้ว ยังเปิดโอกาสให้คนปกติกับคนพิการได้พูดคุยกันในเรื่องต่าง ๆ อันนำมาซึ่งความเข้าใจกันที่มากขึ้น นี่จึงเป็นงานที่ทุกคนมาวิ่งด้วยกัน เดินด้วยกัน เพื่อที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน

07

Design

แผนที่ลายผ้า

ครีเอเตอร์ : อาภากรณ์ พุ่มมณีกร 

แบรนด์ : แพรอาภา ห้องผ้าไหม ผ้าเก่า ผ้าโบราณ

10 ไอเดียเปลี่ยนโลกโดยพระ ครู และนักออกแบบไทย จากงาน Adman 2022

คนที่ชอบไปเดินตามงานคราฟต์น่าจะพอคุ้นเคยกับร้านแพรอาภากันอยู่บ้าง ร้านนี้คัดสรรผ้าท้องถิ่นทั้งเก่าและใหม่จากทั่วไทยมาขาย ด้วยความหลากหลายของผ้าจึงต้องมีการสื่อสารด้วยวิธีที่เรียบง่ายที่สุดให้ลูกค้าเข้าใจ จึงเกิดเป็นแผนที่ลายผ้า ซึ่งมาจากการค้นคว้างานวิจัยเรื่องผ้าจากหลายสำนัก แล้วประมวลออกมาเป็นลายผ้าเด็ดประจำจังหวัด จากนั้นก็วางลงบนพื้นที่ของแต่ละจังหวัดในประเทศไทย แผนที่ลายผ้านี้จึงทำหน้าที่ทั้งให้ข้อมูลและเป็นเหมือนแคตตาล็อกให้คนเลือกลายผ้าไปในตัว ทำให้การเลือกซื้อผ้างานและสนุกขึ้น ทั้งออฟไลน์และออนไลน์

08

Design

“พระสติ” พระเครื่องจากวัสดุรีไซเคิล

ครีเอเตอร์ : Qualy และ Dots Design Studio

แบรนด์ : “พระสติ” พระเครื่องจากวัสดุรีไซเคิล

10 ไอเดียเปลี่ยนโลกโดยพระ ครู และนักออกแบบไทย จากงาน Adman 2022

รางวัลชิ้นที่สองในหมวดดีไซน์เป็นของ ‘พระสติ’ พระเครื่องที่ทำจากเศษขยะพลาสติก บริษัทผู้ผลิตพลาสติกอย่าง Qualy ออกผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิลสนุก ๆ ให้เราได้ตื่นเต้นกันมาหลายชิ้นแล้ว ชิ้นนี้ดูจะยกระดับความว้าวขึ้นไปอีก เมื่อชวน Dots Design Studio (ซึ่งทำงานสนุกเช่นกัน) มาออกแบบพลาสติกรีไซเคิลให้กลายเป็นพระเครื่องที่แสนจะโมเดิร์น ซึ่งสื่อสารความหมายได้มากมายเหลือเกิน ทั้งเรื่องการให้พลาสติกได้เวียนว่ายตายแล้วกลับมาเกิดอีกครั้ง ไปจนถึงการเตือนสติให้เราบริโภคและสร้างขยะอย่างมีสติ

09

Ad that works

กรุงเทพกลางแปลง

ครีเอเตอร์ : สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) สมาคมหนังกลางแปลง และ กรุงเทพมหานคร

แบรนด์ : กรุงเทพกลางแปลง

หลังจากที่พวกเรากักตัวอยู่กับบ้านกันมาอย่างยาวนาน ก็มีโครงการที่แสนเรียบง่ายมาชวนให้พวกเขาออกมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในเมืองท่ามกลางพื้นที่สาธารณะกันอีกครั้ง โครงการนี้กรุงเทพมหานครเปลี่ยนวิธีคิดในการทำโครงการจากการใช้งบประมาณ มาเป็นใช้ความร่วมมือแทน โดยอาสาเป็นเจ้าภาพจัดเทศกาลหนังกลางแปลง เปิดพื้นที่สาธารณะจุดต่าง ๆ ให้ใช้ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และสมาคมหนังกลางแปลง ก็ร่วมกันคัดเลือกหนังดี ๆ มาฉาย และมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดงาน งานนี้จึงชวนให้คนกลับมาดูหนังไทยบนจอใหญ่อีกครั้ง 

10 ไอเดียเปลี่ยนโลกโดยพระ ครู และนักออกแบบไทย จากงาน Adman 2022

ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการดูหนังร่วมกับเพื่อนที่ไปด้วยกัน และเพื่อนร่วมเมือง ในพื้นที่สาธารณะ ทำให้ชาวเมืองได้ใช้ประโยชน์และได้เห็นคุณค่าของพื้นที่สาธารณะ ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะจัดกลางฤดูฝน แต่ก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม มีผู้ชม เจ้าของหนัง นักแสดง ผู้กำกับ มาร่วมงานกันมากมาย รวมไปถึงพ่อค้าแม่ขายจำนวนมากที่มาเปิดร้านให้คอหนังได้ถืออาหารและเครื่องดื่มไปกินแกล้มหนัง เป็นงานที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกมีความหวังกับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 อีกครั้ง

10 ไอเดียเปลี่ยนโลกโดยพระ ครู และนักออกแบบไทย จากงาน Adman 2022
10

Brand that shifts

Traffy Fondue

ครีเอเตอร์ : ห้องปฏิบัติการระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

แบรนด์ : Traffy Fondue

10 ไอเดียเปลี่ยนโลกโดยพระ ครู และนักออกแบบไทย จากงาน Adman 2022

ในอดีตการการดำเนินการเรื่องร้องเรียนกับกทม. กว่าจะสำเร็จอาจจะต้องผ่านขั้นตอนการเซ็นอนุมัติของเจ้าหน้าที่ถึง 13 คน เรื่องต่าง ๆ จึงคั่งค้าง ไม่เดินหน้า ตกหล่น หรือต้องใช้เส้นสายจึงจะได้ผล ทำให้ประชาชนไม่สนใจจะมีส่วนร่วม แต่ Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาโดยนักวิจัยไทยของ NECTEC ทำให้การร้องเรียนเรื่องต่าง ๆ ทำได้ง่ายดายผ่านการใช้ Line แล้วส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีคนใช้บริการนับหมื่นทันทีที่เปิดใช้ แล้วก็เห็นการแก้ปัญหาเหล่านั้น ร่วมถึงการแจ้งผลตอบรับกลับที่รวดเร็วทันใจอย่างไม่น่าเชื่อ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของหน่วยงานภาครัฐ อย่างที่เรียกได้ว่าเป็น Brand that shifts อย่างแท้จริง

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป