17 กรกฎาคม 2023
2 K

งานสถาปัตยกัมของเราจะก้าวไปทางไหน 

เป็นประโยคที่ อาจารย์นารถ โพธิประสาท ผู้ก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนไว้เมื่อ พ.ศ. 2484 ในช่วงที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกนโยบายลดความซับซ้อนของการสะกดคำ และเป็นประโยคแรกที่คุณจะได้อ่าน เมื่อเดินขึ้นมาถึงห้องสมุดคณะที่จัดแสดงนิทรรศการ

อยากรู้ว่าก้าวไปทางไหน ก็ต้องผ่านประตูเข้าไปดู

‘สถาปนา/สถาปัตยกัม’ (Establishing Architecture) มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวใน พ.ศ. 2476 – 2484 หรือ 9 ปีแรกของคณะสถาปัตยฯ จุฬาฯ เพราะการก่อตั้งคณะนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของประเทศ จึงไม่เพียงน่าสนใจสำหรับศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบันเท่านั้น แต่คู่ควรกับการเดินทางมาดูสำหรับคนไทยทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่สนใจในศิลปวัฒนธรรมเป็นพิเศษด้วย

90 ปี ความเจ๋งของสถาปัตย์ จุฬาฯ นิทรรศการก่อตั้งคณะ และความตั้งใจแพร่ความรู้สู่สังคม

นิทรรศการนี้จัดขึ้นในวาระครบรอบ 90 ปีของคณะ ซึ่งภายใต้นโยบาย Architecture and Design for (Future) Society ถัดจากนิทรรศการซึ่งเป็นกิจกรรมเปิด ก็จะมีกิจกรรมอุดมสาระตลอดทั้งปีให้ทุกคนลงชื่อเข้าร่วมได้ เหมือนช้อปปิ้งความรู้เข้าสมอง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเด็ก’ถาปัตย์แต่อย่างใด

ก่อนจะไปชมนิทรรศการกันจริง ๆ เรามาฟังอาจารย์ผู้อยู่เบื้องหลัง อย่าง ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดี และ รศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง เล่าถึงแนวคิดของโปรเจกต์ยาว 1 ปีนี้ และวิสัยทัศน์ปัจจุบันของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย ที่นอกจากจะมีพันธกิจในการผลิตนักวิชาชีพที่มีคุณภาพแล้ว ยังมุ่งเน้นให้ความรู้ที่มีประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปด้วย

เปิดศักราชด้วยนิทรรศการแห่งความร่วมมือ

มองย้อนกลับไป คณะไม่เคยจัดนิทรรศการแบบนี้มาก่อน เมื่อครบรอบ 80 ปี ก็ออกมาเพียงบทความกับหนังสือเท่านั้น แต่คราวนี้เป็นฤกษ์งามยามดีที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าถึงเวลาของนิทรรศการการก่อตั้งคณะแล้ว

“สมัยก่อนคณะไม่ได้มีสเปซที่จัดนิทรรศการได้เป็นเรื่องเป็นราว คุณก็คงจำสมัยที่คุณเรียนได้” อาจารย์สรายุทธว่า

หลังจากที่จบทริป ‘ทัสนา/สถาปัตยกัม’ ไปเมื่อตอนเช้า เราในฐานะศิษย์เก่าที่มาชมนิทรรศการ ก็ตามอาจารย์พีรศรีผู้นำทัวร์ไปนั่งคุยกับอาจารย์สรายุทธ คณบดีคนใหม่ล่าสุด ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีของโปรเจกต์ครบรอบ 90 ปีนี้

90 ปี ความเจ๋งของสถาปัตย์ จุฬาฯ นิทรรศการก่อตั้งคณะ และความตั้งใจแพร่ความรู้สู่สังคม

ณ วันเปิดใช้อาคาร พื้นที่จัดนิทรรศการตรงนี้เป็นสตูดิโอของนิสิต ถึงยุคที่เราเข้าเรียนปี 1 ก็กลายเป็นห้องสมุด พอขึ้นปี 5 ใน พ.ศ. 2562 หนังสือก็ถูกย้ายขึ้นไปชั้นบน ๆ ส่วนบริเวณนี้ บริษัท Department of ARCHITECTURE ก็ปรับปรุงครั้งใหญ่ให้เข้าไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ กลายเป็น Co-working Space

ปกตินิสิตจะใช้ที่นี่แฮงก์เอาต์กัน ปั่นงานไปด้วย ปั่นหัวกันเองไปด้วย แต่ถึงเวลาจัดนิทรรศการก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะดีไซเนอร์เตรียมสเปซไว้พร้อม ทั้งโครงสร้างเหล็กที่เอื้อต่อการติดตั้งป้าย และไลติ้งที่เหมาะสม

ข้อมูลคณะและมหาวิทยาลัยนั้นถูกเก็บอย่างกระจัดกระจาย พอรู้ว่าจะจัดนิทรรศการจึงต้องแท็กทีมกันรวบรวมข้อมูล บางส่วนหยิบมาจากหอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางส่วนมาจากคลังมโหฬารของอาจารย์พีรศรี บางส่วนเป็นข้อมูลจากนิสิตปริญญาโทที่ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับสถาปนิกไทยในยุคนั้น อย่าง ภูวดล ภู่ศิริ และ ปฐมฤกษ์ วงศ์แสงขำ ซึ่งทั้งคู่ได้เป็นผู้รับผิดชอบออกแบบเนื้อหานิทรรศการตั้งแต่ยังตั้งไข่จนเป็นรูปเป็นร่าง โดยทำร่วมกับ Exhibition Designer อย่าง 2 นิสิตเก่า ภัทร พงศ์ฑีฆายุ กับ พจน์ ลัดดาพันธ์ ผู้รับหน้าที่ออกแบบให้นิทรรศการนี้สื่อสารและสดสวยไปพร้อมกัน

ทั้งยังมี รมย์รวินท์ พิพัฒน์นัดดา เป็นผู้ออกแบบกราฟิก และ Paraform Studio ทำหน้าที่ติดตั้งโดยได้ รศ. ดร. ม.ล. ปิยลดา ทวีปรังษีพร กำกับภาพรวมของนิทรรศการ

90 ปี ความเจ๋งของสถาปัตย์ จุฬาฯ นิทรรศการก่อตั้งคณะ และความตั้งใจแพร่ความรู้สู่สังคม

ภัทร-พจน์ ออกแบบให้นิทรรศการนี้แบ่งเป็น 3 โซน

โซนแรกที่จะเข้าประตูมาเจอ เรียกว่า ‘สถาปนิก’

โซนนี้เล่าตั้งแต่ช่างฝรั่งรุ่นสุดท้ายที่เข้ามาสรรสร้างสถาปัตยกรรมในไทยช่วงรัชกาลที่ 6 – 7 มาถึงช่วงที่ชนชั้นนำของไทยเริ่มส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมตามมาตรฐานสากลที่ต่างประเทศ แล้วกลับมาเป็น ‘สถาปนิกสยาม’ สร้างผลงานในยุคถัดมา และยังเล่าถึงการฟื้นฟูสถาปัตยกรรมไทย ประเพณีของช่างไทยด้วย

เมื่อ นารถ โพธิประสาท หนึ่งในนักเรียนนอกเดินทางกลับมา กระทรวงธรรมการก็ได้มอบหมายให้เขาวางหลักสูตรวิชาสถาปัตยกรรมขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งคณะสถาปัตยฯ จุฬาฯ และปิดหัวข้อสุดท้ายด้วยการก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามขึ้น ในบริบทของการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475

นอกจากเนื้อหาที่กระชับ อ่านง่ายแล้ว คนมาดูนิทรรศการจะได้เต็มอิ่มกับรูปภาพประกอบซึ่งดีไซเนอร์จัดวางป้ายผ้าไว้ให้อยู่ในระดับสายตาพอดีด้วย

พาชมนิทรรศการ ‘สถาปนา/สถาปัตยกัม’ ฟังอาจารย์เล่าถึงการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน และเป้าหมายการเชื่อมโยงกับสังคมภายนอก

โซนถัดมา คือ ‘สถาปัตยกรรม’ 

ตามชื่อ โซนนี้จะเล่าถึงการออกแบบ อธิบายตั้งแต่ผังมหาวิทยาลัยยุคคณะราษฎร มาจนถึงดีไซน์สถาปัตยกรรมในมหาวิทยาลัย การวางผังอาคารที่เป็นระเบียบ มุข แนวแกน กริดเสา และการออกแบบรูปด้านให้เรียบเกลี้ยง มีแผงผนัง (Parapet) บังไม่ให้เห็นหลังคาจั่ว โดยมีแบบเขียนมือในสมัยนั้นพิมพ์ลงบนผ้าใบผืนใหญ่เบ้อเริ่มไว้ให้ยืนดูอย่างจุใจ

คำถามที่ว่า งานสถาปัตยกัมของเราจะก้าวไปทางไหน ที่อาจารย์นารถตั้งไว้ในยุคนั้น แสดงให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนผ่านของสถาปัตยกรรมในไทยที่ต้องเลือกระหว่างเส้นทางตามแผนโบราณ ตามสากลนิยม หรือ ‘ประดิถขึ้นใหม่ล้วน’ นั่นเอง

พาชมนิทรรศการ ‘สถาปนา/สถาปัตยกัม’ ฟังอาจารย์เล่าถึงการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน และเป้าหมายการเชื่อมโยงกับสังคมภายนอก
พาชมนิทรรศการ ‘สถาปนา/สถาปัตยกัม’ ฟังอาจารย์เล่าถึงการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน และเป้าหมายการเชื่อมโยงกับสังคมภายนอก

โซนสุดท้ายคือ ‘สถาปัตยกรรมศาสตร์’

เล่าเต็ม ๆ ถึงคณะสถาปัตยฯ จุฬาฯ ตั้งแต่ศิลปะทางสถาปัตยกรรมของตึกคณะ ไปจนถึงจัดแสดงหลักฐานเก่า ๆ อย่างหนังสือราชการ รายงานการเปิดตึก ทะเบียนนิสิตเล่มจริง หรือตารางสอนสุดอัดแน่นในยุคนั้น ทั้งยังมีรูปถ่ายบรรยากาศคณะและการทำกิจกรรมของเหล่านิสิต พาให้จินตนาการไปถึงการเรียนในวันวาน

นอกจากนี้ผู้ชมยังจะได้เพลิดเพลินกับโมเดลอาคารและองค์ประกอบอาคารที่จัดทำขึ้นมาใหม่ โดย ธิติวุฒิ วิเชียรนุกูล, ชุณห์ศิริ ไชยเอีย และ LMM Model Maker ด้วย

พาชมนิทรรศการ ‘สถาปนา/สถาปัตยกัม’ ฟังอาจารย์เล่าถึงการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน และเป้าหมายการเชื่อมโยงกับสังคมภายนอก
พาชมนิทรรศการ ‘สถาปนา/สถาปัตยกัม’ ฟังอาจารย์เล่าถึงการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน และเป้าหมายการเชื่อมโยงกับสังคมภายนอก

หลังจากจบนิทรรศการนี้ อาจารย์บอกว่าจะเก็บป้ายผ้าบางส่วนไว้ที่คณะ บางส่วนก็นำไปตัดเย็บเป็นกระเป๋าออกจำหน่าย เพื่อนำรายได้ไปสมทบทุนกับกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ของคณะต่อไป

ฟังจบแล้วลางสังหรณ์ก็มาในทันทีว่าจะต้องเกิดการแย่งชิงครั้งใหญ่ และคนที่ได้กระเป๋าไปคงไม่ใช่เราแน่ ๆ

ว่าด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเรียนรู้ข้ามศาสตร์

แม้จะมาในนโยบาย Architecture and Design for (Future) Society แต่สถาปัตยฯ จุฬาฯ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่เรื่องเทคโนโลยีล้ำยุคเท่านั้น คณบดีมองว่าอดีตก็เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญและมีคุณค่าในโลกสมัยใหม่ เพราะอย่างนั้น นิทรรศการเล่าเรื่องการก่อตั้งหรือกิจกรรมเดินชมตึกเก่าจึงเกิดขึ้น

เราต้องศึกษาอดีต เข้าใจปัจจุบัน จึงจะก้าวไปสู่อนาคตที่ดีได้

“คณะเราเป็นนักออกแบบ ต้องออกแบบสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราจึงต้องเห็นโลกอนาคต” อาจารย์สรายุทธกล่าว 

“คุณออกแบบตึกวันนี้ อีก 3 ปีถึงจะสร้างเสร็จ คุณจะมั่นใจได้ยังไงว่าตึกของคุณจะตอบโจทย์สังคมได้ ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก นักออกแบบก็ต้องการความรู้ความเข้าใจที่มากขึ้น”

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่กำลังจะตามมา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าประจำอย่าง ‘วิ่งสร้างเมือง’ ที่นำรายได้ไปสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะ, Lecture Series ที่มีอาจารย์ในคณะหรือต่างประเทศมาให้ความรู้ หรือทริปพาชมสถาปัตยกรรมในเมืองต่าง ๆ ที่ใครก็สมัครเข้าร่วมได้

สิ่งที่คณาจารย์เชื่อก็คือ ‘Life-long Learning’ การเรียนรู้ตลอดชีวิต

อาจารย์พีรศรีบอกว่า ในหลายครั้ง คนที่สนใจกิจกรรมเหล่านี้คือศิษย์เก่าที่สมัยเป็นนิสิตก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง แต่พอจบมาทำงานก็ต้องการความรู้ขึ้นมา – เราว่าคงเหมือนที่ใคร ๆ ก็อยากฟัง อาจารย์ชัยบูรณ์ ศิริธนะวัฒน์ เล่าถึง ‘มิ-เค-ลัน-เจ-โล’ อีกครั้ง

มันเกิดขึ้นเพราะทุกวันนี้ ‘จังหวะการเรียนรู้’ นั้นอาจไม่ตรงกับ ‘จังหวะชีวิต’ ของคนเหมือนแต่ก่อน ความหลากหลายของการเรียนรู้จึงต้องมีมากขึ้น

พาชมนิทรรศการ ‘สถาปนา/สถาปัตยกัม’ ฟังอาจารย์เล่าถึงการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน และเป้าหมายการเชื่อมโยงกับสังคมภายนอก

สำหรับคนนอกวงการเอง บางทีก็อยากได้ความรู้ด้านนี้เหมือนกัน

“ผมว่านิยามของสถาปัตยกรรมมันกว้างขึ้นในสมัยนี้ โลกเป็นไปในทาง ‘ข้ามศาสตร์’ มากขึ้น คนไทยเองก็สนใจการออกแบบมากขึ้นกว่าเดิม แต่ความรู้ที่อยู่ในคณะยังไม่ออกไปคอนเนกต์กับสังคม” นั่นแหละประเด็นหลัก

เมื่อถามว่า หากคนทั่วไปมีความรู้เรื่องดีไซน์มากขึ้น จะมีประโยชน์อะไรกับชีวิตบ้าง อาจารย์พีรศรีก็พูดถึงสังคมตอนนี้ที่พลเมืองตื่นรู้มากขึ้น ออกความเห็นเกี่ยวกับ Public Space มากขึ้น ทางเท้าห่วยก็ออกมาอาละวาดให้เขตลงไปแก้ไขได้ – ไม่เรียกว่ามีประโยชน์แล้วจะเรียกอะไร เมืองจะดีได้ต้องอาศัยความเข้าใจของประชาชนเสริมกันไปด้วย

ที่ผ่านมาพันธกิจหลักของคณะอยู่ที่การสอนนิสิต ผลิตบุคลากรด้านการออกแบบที่มีคุณภาพ แต่ในปัจจุบันที่ผู้คนสนใจการออกแบบมากขึ้น คณบดีและเหล่าอาจารย์ก็ตั้งใจใช้โอกาสนี้ในการช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจในสถาปัตยกรรมและศิลปะให้กับสังคม

นี่คือเรื่องราวทศวรรษที่ 9 ของสถาปัตยฯ จุฬาฯ

“สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเรียนรู้เรื่องสุนทรียภาพซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของสังคม” อาจารย์สรายุทธกล่าว

องค์ความรู้ในโลกสมัยนี้ล้วนเป็นสหวิทยาการ เราคิดว่าไม่มีอะไรสนุกเท่าการเถียงกับคนที่เรียนมาคนละสายเพื่อเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้แก่กัน และสำคัญมากที่ทุกคนจะได้เรียนรู้เรื่องดีไซน์ ไปเป็นวัตถุดิบมองโลกในอีกมิติ

ถ้าระบบเอื้อให้ลงเรียนวิชาต่างคณะได้มาก ๆ ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยก็คงดี

พาชมนิทรรศการ ‘สถาปนา/สถาปัตยกัม’ ฟังอาจารย์เล่าถึงการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน และเป้าหมายการเชื่อมโยงกับสังคมภายนอก

โลกที่ทุกคนเข้าถึงมหาวิทยาลัยได้

การออกแบบสถาปัตยกรรมนั้นสะท้อนความตั้งใจของเจ้าของพื้นที่ และการปรับปรุงห้องสมุด ทำพื้นที่นิทรรศการอย่างจริงจัง ก็สื่อให้เห็นชัดเจนว่า ต่อไปนี้สถาปัตยฯ จุฬาฯ จะเชื่อมโยงกับสังคมข้างนอกมากขึ้น

นอกเหนือจากห้องสมุดทางกายภาพ ปัจจุบันคณะกำลังร่วมมือกับศิษย์เก่าอย่าง DOF ในการปั้น Virtual Library ซึ่งเป็น Metaverse ขึ้นมาด้วย อีกไม่นานเกินรอ ทุกคนก็จะเดินเข้าไปในห้องสมุด หาหนังสือ ยืมหนังสือได้ โดยไม่ต้องขยับตัวออกจากบ้าน

พาชมนิทรรศการ ‘สถาปนา/สถาปัตยกัม’ ฟังอาจารย์เล่าถึงการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน และเป้าหมายการเชื่อมโยงกับสังคมภายนอก

จากระดับคณะก็มองไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย 

กิจกรรมเดินชมตึกเก่าในจุฬาฯ ในวันนี้ได้เสียงตอบรับดีกว่าที่คณะคาดการณ์ไว้มาก จากที่คิดว่าจะมีสัก 30 กลับแตะเลข 200 และเป็นศิษย์เก่าสถาปัตย์เพียง 1 ใน 3 ที่เหลือเป็นบุคคลทั่วไปหลากหลายวัย อายุตั้งแต่ 14 – 84 ปี

ปีนี้จุฬาฯ ครบรอบ 106 ปีแล้ว และมีหลายตึกที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน อาจารย์พีรศรีก็มองว่ามหาวิทยาลัยก็จัดทัวร์ศึกษาตึกเก่าอย่างเป็นกิจลักษณะได้ โดยไม่เชิงว่าเป็นการเปลี่ยนสถานศึกษาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นการ Sightseeing สำหรับผู้ที่สนใจ

บทสนทนาวันนี้ทำให้เราคิดได้ว่า การเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้ามาสัมผัสศิลปะ-สถาปัตยกรรมนั้นสำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยมีความเป็นมาควบคู่กับประวัติศาสตร์ของประเทศ และองค์ความรู้มากมายของมหาวิทยาลัยก็ช่วยขับเคลื่อนความคิดของผู้คนได้

น่าติดตามว่าจุฬาลงกรณ์จะขยับไปในทิศทางไหนบ้างหลังจากนี้

ภาพ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน