“รุ่นนี้ไม่มีอะไหล่แล้วนะ”

ได้ยินทีไรก็จี๊ดใจทุกที! ไม่ใช่เพราะโยงใยไปถึงความสูงวัย (ซึ่งมีอีกนามว่า ‘วัยอิสระ’) แต่เป็นเพราะดิฉันในวัย 53 ยังสนุกกับการวิ่ง ปีน ตะลุยอย่างรู้กำลังและระวังอันตราย ก็ตามประสาคนสูง เอ่อ คนวัยอิสระนั่นล่ะ ประโยคแนว ๆ นั้นจึงมีนัยคล้ายถูกบอกว่า อย่าทำอะไรอย่างที่ชอบทำเสมอนะตัวเธอ

ว่ากันตามตรง ถ้ามัวแต่ห่วงว่า ‘หาอะไหล่ไม่ได้’ ก็คงไม่ได้ทำอะไรหลายอย่าง

ฉะนั้น เราลืมเรื่องอะไหล่ไปก่อน แล้วมาวิ่งเหยาะ ๆ หรือเดินสบาย ๆ แบบ City Run ตามกำลังของตนไปบนทางเท้าของย่านเก่ากรุงเทพฯ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเยือนฝั่งธนบุรีกันดีกว่า

ทางเท้าส่วนใหญ่ในย่านเก่ากรุงเทพฯ เหมาะแก่ City Run เพื่อเดินหรือวิ่งเป็นที่สุด เพราะค่อนข้างกว้างและเรียบ อาจมีแผ่นพื้นโดกเดกบ้าง ก็ถือว่าเป็นการฝึกสติเราไปในตัวแล้วกัน

แทบทุกเช้าวันอาทิตย์ ดิฉันมักวิ่งไปตามเส้นทางในย่านเก่า เพราะแทบไม่มีรถรา การออกไปมองวัดเก่าแก่ อาคารโบราณที่เรียงรายริมถนนว่างโล่งในวันว่างรถ เหมือนได้หวนคืนสู่ช่วงเวลา 30 – 40 ปีก่อน ตอนยังเป็นเด็ก ละแวกเกาะรัตนโกสินทร์และพื้นที่ใกล้เกาะก็สงบงามเช่นนี้แหละ ในระยะทางไม่ถึง 10 กิโลเมตร ยังมีร้านกิน ร้านดื่มที่ข้ามผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานให้แวะเวียนไปย้อนวัยสู่วันเก่าก่อน

ครั้งนี้ The Cloud ชวนทุกท่านลอง City Run เดิน-วิ่ง เยือน 5 ร้านเด็ด กรุงเทพฯ – ฝั่งธนฯ ที่ดำเนินกิจการโดยวัยอิสระที่ยังไม่หมดไฟ มีทั้งร้านฮิตติดใจวัยเก๋าและร้านใหม่สุดเท่ที่คนถิ่นภูเขาทองอย่างเราแนะนำให้คุณลอง

01

เฮี้ยะไถ่กี่

ร้านกาแฟโบราณในตำนานพระนคร

ไม่ว่าจะเป็นเช้าวันธรรมดาหรือเช้าวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ‘เฮี้ยะไถ่กี่’ สภากาแฟเก่าแก่บนถนนประชาธิปไตยก็รายล้อมด้วยผู้คนเสมอ โดยเฉพาะรอบโต๊ะไม้ที่มีท็อปหินอ่อนตัวใหญ่ใกล้เคาน์เตอร์สั่งอาหาร คนวัยอิสระที่ส่วนใหญ่เป็นชายมักจับจองนั่งบนเก้าอี้ไม้หนาหนักรูปร่างคล้ายตัวหมากรุกเสมอ 

เสียงพูดคุยดังขึ้นอย่างสนุกสนาน ถ้าช่วงนั้นมีประเด็นการบ้านการเมืองชวนวิเคราะห์ บรรยากาศของสภากาแฟก็ยิ่งมีชีวิตชีวา รับรองว่าร้านทรงโค้งตรงหัวมุมถนนประชาธิปไตยและวิสุทธิกษัตริย์จะคึกคักกว่าเดิม บางเช้าก็อบอุ่นด้วยบรรยากาศเก่าก่อนที่มีชายสูงวัยจับกลุ่มส่องพระอย่างขะมักเขม้น

ลูกค้ากว่าครึ่งของที่นี่ล้วนเป็นขาประจำที่คุ้นหน้าคุ้นตาและสนิทสนมกับเจ้าของร้าน พวกเขาเรียกว่า พี่ใหญ่ คนแปลกหน้าซึ่งเพิ่งเข้าร้านก็ใช่ว่าจะแปลกแตกต่างจนรู้สึกขัดเขิน เพราะพี่ใหญ่จะดูแลว่าลูกค้าได้อาหารครบหรือยัง แถมชวนคุยอย่างกันเอง และบ่อยครั้งที่เขาเดินมารินชาจีนร้อน ๆ ให้อย่างใส่ใจ

ความเป็นกันเองคือเสน่ห์ที่สืบเนื่องมายาวนาน จากยุคแรกของการตั้งร้านเมื่อ พ.ศ. 2495 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของทายาทรุ่นที่ 3 เฮี้ยะไถ่กี่ยังคงเสิร์ฟอาหารเช้าแบบง่าย ๆ ทั้งข้าวต้ม ข้าวผัด ไส้กรอก ขนมปังปิ้ง สเต๊กแบบคนจีน ไข่กระทะ และยังมีเครื่องดื่มร้อน-เย็นให้เลือกหลากหลาย

แต่ที่ไม่ควรพลาด คือ ‘กาแฟร้อนโบราณ’ ที่เมล็ดผ่านการคั่วมาในระดับกลางค่อนข้างเข้มกำลังดี ได้กลิ่นหอมของกาแฟชัดเจน รสชาติขมอ่อน ไม่ไหม้ขมปี๋จนทำลายรสแท้ของเมล็ดกาแฟ

อิ่มเอมอาหารแล้ว ยังอุ่นไอบรรยากาศเก่า ๆ ในวันจันทร์-ศุกร์มีลูกค้าหลัก ๆ เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพนักงานในละแวกนี้ พอถึงสุดสัปดาห์ก็ปรับเปลี่ยนบรรยากาศเป็นที่ทางของนักท่องเที่ยว นักปั่นจักรยาน และนักวิ่ง แต่ไม่ว่าจะวันไหน โต๊ะใหญ่ใกล้เคาน์เตอร์ รวมถึงโต๊ะเล็ก ๆ บนทางเท้าริมถนน ก็ยังคึกคักด้วยลูกค้าขาประจำที่เป็นดั่งคนเก่าแก่ของร้านนี้ โดยมีพี่ใหญ่รับหน้าที่ดูแลเอง

ดิฉันนั่งจิบกาแฟและมองความเป็นไปในร้าน เห็นการทำงานที่เหมือนไม่ทำงาน เพราะวัยเกษียณของพี่ใหญ่ซึ่งออมเงินมาจนไม่ต้องกังวลใด ๆ แล้ว การเปิดประตูร้านเฮี้ยะไถ่กี่ในทุกเช้าเป็นการเปิดร้านเพื่อพบปะผู้คน รวมทั้งเปิดให้ใครต่อใครได้เข้ามาอิ่มเอมและอุ่นไอบรรยากาศเก่าก่อนไปพร้อม ๆ กัน

  • 78/4 ถนนประชาธิปไตย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
  • เปิดวันจันทร์-เสาร์ เวลา 05.30 – 14.30 น. และวันอาทิตย์ เวลา 05.30 – 12.00 น.
  • 02 629 1297
  • เครื่องดื่มเริ่มต้น 35 บาท อาหารเริ่มต้น 85 บาท

เกร็ดความรู้เพิ่มความสนุก

  • ย่านเก่าแห่งนี้มี ‘เฮี้ยะไถ่กี่’ ถึง 3 ร้าน ร้านหัวมุมถนนประชาธิปไตยและวิสุทธิกษัตริย์เป็นสาขาแรกและเป็นสาขาเดียวที่ไม่มีคำว่า ‘โกปี๊’ นำหน้าชื่อ ส่วนอีก 2 ร้านตั้งอยู่ห่างไปไม่เกิน 3 กิโลเมตร คือ ‘โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ เสาชิงช้า’ ตั้งอยู่ใกล้ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และ ‘โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ สราญรมย์’ อยู่ไม่ไกลจากสวนสราญรมย์ โดยมีคลองคูเมืองเดิมคั่นไว้ ปลาย พ.ศ. 2566 จะมีอีกหนึ่ง โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ เกิดขึ้น ที่ริมถนนประชาธิปไตยด้วย
  • ฝั่งตรงข้ามร้านคือวัดตรีทศเทพวรวิหาร ภายในโบสถ์หินอ่อนมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ เป็นงานประณีตที่ใช้เวลาวาดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2533 จนถึงปัจจุบัน เด่นที่หน้านาง งดงามอ่อนช้อย เห็นลายเส้นแล้วบอกได้ทันทีว่าเป็นภาพสกุลช่างจักรพันธุ์ โปษยกฤต
  • ลองไปยืนบนสะพานวันชาติ ฝั่งเดียวกับร้านเฮี้ยะไถ่กี่ จะเห็นสะพานโค้งเล็ก ๆ ที่ทอดข้ามคลองรอบกรุง (คลองบางลำพู) ด้านหนึ่งมีต้นหางนกยูงแผ่กิ่งก้านกว้างร่มรื่น ถ้าเป็นช่วงดอกสีแดงสดผลิบาน วิวนี้ก็ยิ่งงดงาม

02

พัวกี่

เย็นตาโฟร้านแรกของพระสุเมรุ

ไม่ว่าคุณจะกินเส้นหรือไม่กินเส้น เดิน-วิ่งมาถึง ‘พัวกี่’ แล้วก็ควรแวะ

เพราะนี่คือหนึ่งในร้านอร่อยดั้งเดิมของย่านบางลำพู มอบความอร่อยมายาวนานกว่า 30 ปี โดยมีเมนูเด็ดห้ามพลาด คือเย็นตาโฟ โดดเด่นด้วยซอสปรุงสูตรเฉพาะของ นา-วาสนา บูรณนัติ ภรรยาเจ้าของร้าน ซึ่งรวมซอสแดงเข้ากับน้ำกระเทียมดอง กระเทียม พริกแดง พริกเหลือง เต้าหู้ยี้ปั่นละเอียด และงาขาวเคี้ยวกรุบ ๆ ชนิดว่าครบทุกรสและมีประโยชน์ผสมผสานอยู่ในความอร่อยทุกชาม

ห้องแถวโบราณอายุเกือบ 100 ปีนี้ไม่เคยว่างเว้นจากการค้าขาย ตั้งแต่คุณพ่อของ เฮียเอิ้ง เจ้าของร้านในปัจจุบัน เดินทางจากเมืองจีนมาตั้งรกรากในแผ่นดินไทย ย้อนกลับไปราว 40 – 50 ปี ที่นี่คือร้านเบเกอรีที่ขายข้าวมันไก่ด้วย จนกระทั่งมาถึงรุ่นที่ 2 ซึ่งมีแนวทางของตัวเองในการเปิดร้านเย็นตาโฟเป็นเจ้าแรกของย่านถนนพระสุเมรุ ทำให้โดดเด่นและเป็นหนึ่งเดียวริมถนนสายนี้มากว่า 30 ปี

“ตอนเปิดใหม่ ๆ ไม่คิดว่าจะขายดี แต่กลับขายดี เพราะเด็กธรรมศาสตร์มากินเรื่อย ๆ” นาย้อนความทรงจำช่วงเพิ่งเปิดร้าน “แล้วก็มีข้าราชการในละแวกนี้ เคยมีนายพัน นายพลจองโต๊ะด้วยนะ”

นอกจากเย็นตาโฟและก๋วยเตี๋ยวที่อร่อยถูกปากแล้ว พัวกี่ยังมีของกินเล่น อย่างเกี๊ยวทอดกรอบกร้วมไม่อมน้ำมัน และเกี๊ยวกุ้งเนื้อแน่น อร่อยด้วยความสดของกุ้งที่คลุกเคล้ากับน้ำปลา พริกไทย และน้ำตาล ได้รสเค็มหวานกลมกล่อมกำลังดี

ส่วนการตกแต่งร้านก็เป็นแบบคลาสสิก นับเป็นอีกเสน่ห์ของพัวกี่ แสงไฟนวลตาจากโคมโบราณสาดส่องชุดโต๊ะเก้าอี้รถไฟไม้สักเก่าแก่ให้ดูขรึมขลังน่านั่ง โต๊ะเก้าอี้ไม้รุ่นใหม่ก็ไม่แปลกแยก จัดวางไว้อย่างได้บรรยากาศเป็นกันเอง

City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ
City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ

“พี่ขายก๋วยเตี๋ยวมาตั้งแต่อายุ 30 กว่า ๆ จนตอนนี้อายุ 65 แล้ว แต่ไม่คิดจะเลิกขายเลย” นาบอกเล่าพร้อมยิ้มบาง ๆ ความสุขระยิบอยู่ในดวงตาสวยคู่นั้น “ถึงลูกจะโอนเงินเดือนเข้าบัญชีเราเดือนละเป็นหมื่น ๆ แต่เราก็ยังอยากทำงาน ชอบขายของค่ะ”

เช่นนั้นเอง ลูกค้าจึงได้เห็นได้พบเจ้าของร้านวัยอิสระนั่งประจำอยู่ที่โต๊ะไม้สักตัวใหญ่ทุกวัน นอกเหนือจากการคิดเงินและเก็บเงินแล้ว นายังช่วยลูกน้องปรุงรสก๋วยเตี๋ยวด้วย

“ต้องจำค่ะ ใครไม่ใส่น้ำตาล ไม่ใส่กระเทียม ไม่ถั่ว ไม่พริก” นาเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

“เราก็จำได้นะ ยังไม่หลงไม่ลืม”

คนรักรสชาติเย็นตาโฟและก๋วยเตี๋ยวของพัวกี่ก็เช่นกัน ไม่เคยหลงลืมความอร่อยแบบเฉพาะตน ทั้งเย็นตาโฟรสเด็ดที่มีงาขาวกรุบ ๆ น้ำซุปก๋วยเตี๋ยวกลมกล่อมซดได้ซดดี และวัตถุดิบสดสะอาดที่รวมกันมาในชามก๋วยเตี๋ยวของร้านเก่าแก่กว่า 30 ปีริมถนนพระสุเมรุ

City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ

เกร็ดความรู้เพิ่มความสนุก

  • ออกจากร้านพัวกี่ ข้ามถนนไปก็ถึงพิพิธบางลำพู อดีตโรงพิมพ์คุรุสภาที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวของบางลำพูในอดีต เปิดทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) วันอังคาร-ศุกร์ เวลา 08.30 – 15.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่และชาวต่างชาติ คนละ 30 บาท เด็กอายุ 10 – 18 ปี คนละ 10 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้พิการ และนักบวชในทุกศาสนา เข้าฟรี
  • ในวันจันทร์-ศุกร์ ควรมาร้านพัวกี่ก่อนเที่ยงหรือหลังเที่ยงไปเลย เพราะช่วงพักเที่ยงคนแน่นเต็มร้าน

03

108 Juices

น้ำผลไม้คั้นสดรสชาติแท้

เดิน ๆ วิ่ง ๆ ผ่านถนนพระสุเมรุมาถึงถนนพระอาทิตย์ ย่านเก่าแก่ที่มากมายด้วยของอร่อย เชื่อว่าคนวัย 45+ หลายคนย่อมมีชื่อร้าน 108 ผุดขึ้นมาจากความทรงจำ

108 เป็นร้านอาหารในบ้านไม้เก่าแก่ที่ให้ความรู้สึกของการกินข้าวบ้านเพื่อน ซึ่งบางมื้อเราก็เปิดขวดน้ำสีอำพันแช่เย็นเจี๊ยบชนกันไป คุยกันไป จนนาฬิกาบอกเวลาล่วงเลยเข้าวันใหม่ จึงแยกย้ายกันเซ ๆ ออกจากร้าน ล่วงเลยมาถึงวันนี้ แม้ทางเข้าร้านจะปิดสนิท แต่ประตูไม้กรุกระจกก็ทำให้เห็นเจ้าเหมียวลายพร้อยยืนไถตัวอยู่ตรงด้านล่างสุด และเมื่อเลื่อนสายตาขึ้นไป ตรงบานหน้าต่างกว้างนั้น มีวลี ‘no water’ ‘no sugar’ เขียนด้วยลายมือน่ารักบนกระจกใส ผลไม้ถูกจัดวางเรียงสวยอยู่ด้านหลัง บ่งบอกว่า 108 เปลี่ยนแปลงมาเป็นอะไร

City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ

จากร้านอาหารที่เสิร์ฟความอร่อยและมอบบรรยากาศอบอุ่น ปรับมาเป็น ‘108 Juices’ ร้านน้ำผลไม้คั้นสดที่ซ่อนตัวอยู่หลังพุ่มไม้ใบบังริมถนนพระอาทิตย์ เป็นที่รู้จักในหมู่คนรักสุขภาพและชอบความสดใหม่ไร้การแต่งเติมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546

หลังเที่ยงท่ามกลางแสงแดดร้อนร้าย ยุ-นิชาภา บ้วนนอก กำลังหั่นฝรั่งสดใส่ลงในเครื่องคั้นแยกกากอย่างเงียบ ๆ ในบ้านไม้หลังเดิม ใบหน้านิ่งละมุนดูเพลินกับการงานที่เธอทำมาตั้งแต่วัย 30 กลาง ๆ กระทั่งถึงวันนี้ ในวัยอิสระ 50 ต้น ๆ ยุก็ยังมีความสุขกับงานท่ามกลางความหอมหวนของผลไม้ที่อวลอายอยู่ในร้านเล็ก ๆ ของเธอ

ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2546 ร้านน้ำผลไม้คั้นสด ไม่เติมน้ำและน้ำตาล ตั้งขายในย่านถนนข้าวสารเฉพาะช่วงเย็นย่ำถึงค่ำมืด เป็นร้านแรกและร้านเดียวที่ใช้คำว่า ‘Fresh Fruit Juices’ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ส่วนตอนกลางวันนั้น ยุเปิดมุมหนึ่งของบ้านไม้เก่าแก่ริมถนนพระอาทิตย์เป็นร้านเช่นที่เห็นทุกวันนี้ จนกระทั่งถึงราว ๆ พ.ศ. 2555 จึงลดเวลาทำงานลง มาขายเฉพาะที่ร้านเท่านั้น

City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ

“เลือกขายน้ำผลไม้คั้นสดเพราะพ่อแฟนเลยค่ะ” สาววัยอิสระเล่าพร้อมรอยยิ้มละมุนตา

“ท่านดูแลสุขภาพแนวชีวจิต เราเห็นแล้วก็สนใจ”

ความสนใจนั้นต่อเนื่องยาวนานมาถึงทุกวันนี้ ยุดูแลตัวเองและครอบครัวโดยเน้นไปที่อาหารด้วยการลงมือทำเอง ใช้วัตถุดิบดีจากธรรมชาติและไม่ปรุงรสจัด จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเธอจึงดูอ่อนวัยกว่าอายุจริง

หลังจากเปิดร้านในตอนเที่ยงก็มีลูกค้าต่างชาติทยอยกันเข้ามาเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เลือกจากเมนูภาพวาดลายเส้นน่ารักที่เขียนบอกด้วยว่าแต่ละแก้วมีผลไม้หรือผักชนิดใดเป็นส่วนประกอบ แต่ก็มีหลายคนเลือกผลไม้ชนิดเดียวโดด ๆ ไปเลย

“คนเกาหลีมักสั่งน้ำแตงโมค่ะ ส่วนฝรั่งชอบน้ำผักและผลไม้รวมกัน อย่าง ABC”

ยุหมายถึงเมนู ABC Three Kings ซึ่งคั้นเคล้าแอปเปิล บีตรูต และแคร์รอต เข้าด้วยกันจนได้เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แม้สีอาจจะคล้ำไปสักหน่อย แต่ได้ความหอมของวัตถุดิบสดสะอาดและมีประโยชน์ต่อร่างกายจริง ๆ

City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ

“เรากับแฟนออกไปซื้อผลไม้เองค่ะ อาทิตย์ละครั้ง เราทำร้านกันเอง ไม่มีลูกจ้าง ก็ลดค่าใช้จ่ายตรงนั้นไป รายได้ของร้านจึงอยู่ในระดับที่โอเคสำหรับเรา”

ผักผลไม้หลัก ๆ ที่ประจำอยู่ในเมนูคือผักผลไม้ที่มีทุกฤดูกาล เช่น สับปะรด ฝรั่ง แตงโม แคร์รอต ฯลฯ ในฤดูกาลนี้ มะม่วงสุกหอมหวานยังมีมาก ถูกจัดเข้าเป็นหนึ่งในเมนูเด่นของร้าน นับเป็นการเลือกสรรวัตถุดิบตามช่วงเวลาที่เหมาะสม เวลาเปิด-ปิดร้านก็เช่นกัน ในช่วงฤดูฝนซึ่งลูกค้าน้อยกว่าฤดูกาลอื่น ร้าน 108 Juices จะปรับให้มีวันหยุดมากขึ้น คือวันเสาร์และอาทิตย์ ช่วงเวลาขายก็มีเพียง 6 ชั่วโมงต่อวัน

‘ปรับ เปลี่ยน แปลง’ คือแนวคิดอย่างชอบทำ ซึ่ง 108 นำมาใช้เสมอ กว่า 30 ปีนับจากการเป็นร้านอาหารมาสู่การเป็นร้านน้ำผลไม้คั้นสดร้านแรกในย่านถนนพระอาทิตย์ ทุกวันนี้ยังคงมอบความชื่นตาเมื่อผ่านพบ และชื่นใจทุกครั้งที่แวะก่อนวิ่งหรือเดินต่อไปบนทางเท้าเก่าแก่แห่งพระนคร

  • 108 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
  • เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.00 – 18.00 น. (ปิดวันเสาร์-อาทิตย์)
  • 09 6983 4395
  • น้ำผลไม้คั้นสดเริ่มต้น 50 – 80 บาท

เกร็ดความรู้เพิ่มความสนุก

  • มีเก้าอี้หน้าร้านราว 3 – 4 ตัว หากมาแล้วไม่มีที่นั่ง แนะนำให้ถือแก้วข้ามถนนไปดื่มด่ำในสวนสันติชัยปราการซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้าม
  • อาหารตามสั่งข้างร้าน 108 Juices รสชาติดี ราคาไม่แรง เป็นขวัญใจชาวออฟฟิศในละแวกนี้ ถ้าหิวก็แวะได้เลย
  • มีทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจากสวนสันติชัยปราการยาวไปถึงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า เหมาะแก่การเดินการวิ่งรับลมชมวิวกว้างสบายตา

04

เต้าฮวย เฉาก๊วย เฮียมัก

3 – 4 ชั่วโมงเท่านั้นกับความอร่อยนี้

ความธรรมดา บางคราวก็มีความพิเศษแฝงอยู่

เช่น ร้าน ‘เต้าฮวย เฉาก๊วย เฮียมัก’ นี่ล่ะ

รถเข็นเก่ากึ้กมีโหลแก้วใบใหญ่ใส่ปาท่องโก๋กรอบตัวเล็ก ๆ อัดแน่นวางเคียงถังสเตนเลสขนาดสูสีกัน มีกาต้มน้ำใบเบิ้มตั้งบนเตาถ่านส่งกลิ่นน้ำขิงลอยอวลชวนชื่นจมูก น่าจะเป็นภาพธรรมดาของร้านขายเต้าฮวย แต่ร้านนี้ไม่ธรรมดาหรอก ดูจากจำนวนคนที่ยืนเข้าแถวรอซื้อก็บอกได้แล้วว่าฮอต (จริง) ฮิต (จัง) แค่ไหน

“หยุดวันจันทร์วันเดียวเท่านั้นล่ะ” ลุงมัก-ชยุต ศุภธีรวัตร ในวัย 76 ชะงักมือจากการตักเต้าฮวยแล้วเงยหน้าขึ้นตอบ “ขนาดช่วงโควิดยังมาขายทุกวั้น! ไม่เคยติดโควิดด้วยนะ”

ชายสูงวัยร่างเล็กหลังโก่งเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว ขณะที่มือกำลังสาละวนหยิบจับสิ่งใด เมื่อมีใครถามหรือชวนคุย ลุงมักจะวางมือแล้วหันมาสบตา พูดคุยอย่างจริงจัง จนบ่อยครั้งที่ดิฉันอดเห็นใจคนรอคิวไม่ได้ (รวมถึงตัวเองด้วยแหละ)

City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ

ข้าง ๆ รถเข็นมีโต๊ะตั้งอยู่ 1 ตัว รายรอบด้วยเก้าอี้ราว 7 – 8 ตัว และยังมีเก้าอี้วางใต้ต้นโพเก่าแก่ที่น่าเป็นฉากหนังสยองขวัญอีก 3 – 4 ตัว ใครจะกินที่ร้านก็เลือกที่นั่งกันในบริเวณนี้ ซึ่งถ้ามาตรงกับช่วงพักเที่ยงก็แทบต้องเล่นเก้าอี้ดนตรีกันเลยทีเดียว ส่วนคนรอคิวซื้อกลับไปกินที่บ้านนั้น ไม่มีใครซื้อแค่ถุงสองถุง ส่วนใหญ่มักจัดเต็ม อย่างต่ำ 5 – 6 ถุง บ่อยครั้งที่มีคนสั่งเยอะเป็น 10 – 20 ถุง ทำเอาคนต่อคิวถัด ๆ ไปรู้สึกไม่ค่อยสบายใจขึ้นมาทันทีเลยเชียว

ความโดดเด่นของเต้าฮวยเฮียมักที่ทำให้เกิดการต่อคิวยาวเช่นนี้ คือเนื้อเต้าฮวยนุ่มเนียนลิ้นแบบละลายในปากของแท้ น้ำขิงนั้นก็เผ็ดหอมแบบละมุน ไม่เผ็ดร้อนจนเหงื่อผุดปุด ๆ ลุงมักเลือกใช้ขิงตากแห้งฝานเป็นชิ้นบาง ๆ มาต้มให้ระอุออกกลิ่นรสบนเตาถ่าน ตั้งกาให้ไอร้อนพวยพุ่งส่งกลิ่นหอมและดึงรสขิงออกมาเรื่อย ๆ มี 2 กาวางบนเตา พูดได้ว่าไม่มีของหมดขาดตอนให้ต้องรอนาน (กว่าเดิม)

City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ

ถ้าไม่อยากกินร้อนก็มีเฉาก๊วยให้กินเย็น ๆ เนื้อเฉาก๊วยนิ่มนวลแบบแทบไม่ต้องเคี้ยว หอมหวานน้ำตาลทรายแดงที่โรยปะหน้าเฉาก๊วยในน้ำเชื่อม มีน้ำแข็งกรุบกริบให้ความเย็นดับความร้อนได้เป็นอย่างดี

ก่อนจะมาตั้งรถเข็นเต้าฮวย เฉาก๊วย นายมัก อยู่ริมถนนมหาราช ใกล้ปากซอยท่าข้าม จนกลายเป็นร้านห้ามพลาดบนถนนสายนี้ ลุงมักเคยขายอยู่แถวกระทรวงการต่างประเทศ สมัยที่ที่ทำการยังตั้งอยู่ในพระราชวังสราญรมย์ ถนนมหาไชย ประมาณ 10 กว่าปี จนกระทั่งกระทรวงการต่างประเทศย้ายที่ทำการเมื่อ พ.ศ. 2535 เต้าฮวย เฉาก๊วย นายมัก ก็เคลื่อนย้ายมาอยู่ ณ พื้นที่ปัจจุบัน ด้วยความที่ “ตรงนี้มันกว้างดี” และลูกค้าดั้งเดิมก็ยังตามมากินได้ไม่ยาก เพราะพื้นที่เดิมกับจุดนี้นั้นไม่ห่างกันนัก

City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ
City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ

ทุกสาย (ยกเว้นวันจันทร์) ลุงมักจะออกจากบ้านย่านวัดกัลยาณมิตรมาด้วยรถตุ๊กตุ๊ก โดยมีเพื่อนบ้านคอยช่วยเหลือดูแลตั้งแต่เรื่องการทำเต้าฮวยและเฉาก๊วย จนถึงช่วยยกของหนัก ลูกค้าประจำล้วนรู้ว่าลุงมาขายแบบ ‘เอาสังคม’ เพราะลูกทั้งสามให้เงินเดือนลุงรวมแล้วเดือนละหลายหมื่นทีเดียว ไม่จำเป็นต้องออกมาทำงานอีกแล้วด้วยซ้ำ แต่ลุงมักบอกว่า “อยู่เฉย ๆ ก็เบื่อ ออกมาขายของดีกว่า วันละ 3 – 4 ชั่วโมงเอง”

เมื่อถามอีกครั้งว่าลุงคิดจะหยุดขายของบ้างไหม ชายสูงวัยชะงักมือจากการตักเต้าฮวยลงถ้วย เงยหน้ามาสบตา แล้วตอบว่ายังไม่คิดจะเลิกขายเลย

ร้านเต้าฮวย เฉาก๊วย นายมัก จึงพิเศษด้วยรสชาติและเรื่องราวที่ผ่านกาลและการณ์มากว่า 50 ปีนี่เอง

City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ
  • ปากซอยท่าข้าม ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
  • เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.30 – 14.00 น. (ควรเลี่ยงช่วงเวลา 12.00 น. เพราะคิวยาวมาก)
  • ถ้วยละ 15 บาท

เกร็ดความรู้เพิ่มความสนุก

  • ร้านเต้าฮวย เฉาก๊วย นายมัก อยู่ตรงข้ามกับกำแพงด้านหลังของมิวเซียมสยาม เข้าไปเดินชมนิทรรศการในมิวเซียมสยามได้ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.00 – 18.00 น. ค่าเข้าชม คนละ 100 บาท
  • เดินทางมาร้านนี้ได้ง่าย ๆ ทั้งรถทั้งเรือโดยสาร มีรถเมล์หลายสายผ่านหน้าร้าน ถ้ามาด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก็ขึ้นที่สถานีสนามไชย แล้วเดินมาทางด้านหลังมิวเซียมสยาม และถ้ามาด้วยเรือด่วนเจ้าพระยา ขึ้นที่ท่าราชินี
  • ช่วงเปิดร้านคือ 10.30 น. คนยังไม่เยอะ คิวยังไม่ยาว อยากกินกี่ถ้วยควรสั่งทีเดียว จะได้ไม่ต้องรอนานเกินไป

05

Deep Root Cafe

รากนี้มีทั้งกาแฟและเรื่องเล่า

ด้วยความชอบวิ่งลัดเลาะเข้าซอกซอยอย่างไม่วางแผนแท้ ๆ ที่ทำให้มาพบลานโล่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาแบบที่ต้องร้องว้าว!

ห่างจากอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมาตามซอยเล็ก ๆ แล้วเลี้ยวขวาเข้าซอยโรงเกลือ มีซากตึกเก่าที่หลงเหลือโครงสร้างแนวอิฐเป็นอาคาร 2 ชั้นขนาดย่อม ๆ นอกจากไม้ยืนต้นสูงใหญ่แผ่กิ่งก้านกว้างปกคลุมอาคาร ยังมีหญ้าและไม้พุ่มรกเรื้อห่มคลุมพื้นจนไม่เห็นเนื้อดิน ความสดใสในบริเวณนี้คือสตรีตอาร์ตบนแนวกำแพงเยื้องกับตึกร้าง และที่นั่นคือที่ตั้งของร้านกาแฟที่บอกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นร้านลับ (และลึก) ของแท้

City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ

‘Deep Root Cafe’ วางตัวตนอย่างกลมกลืนอยู่ในบริเวณที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ มีรากไม้ระโยงระยางยาวเฟื้อยห้อยเป็นสายดูดิบและลึกลับ เป็นที่มาของชื่อร้าน และ Root ยังพ้องเสียงกับ รูท ชื่อของชายหนุ่มผู้เป็นเจ้าของร้านอีกด้วย

ร้านของลูก ซึ่งมีแม่ (ปราณีย์ สุริวงศ์) เป็นผู้ช่วยมือหนึ่งอย่างแข็งขัน มีความเท่และอบอุ่นไปพร้อม ๆ กัน ตั้งอยู่หลังศาลเจ้าแม่ทับทิมริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มความยูนีกให้ร้านเข้าไปอีกด้วยความแตกต่าง แต่ไม่แปลกแยก ภาพวาดสีน้ำสวย ๆ ที่วางประดับไว้ตรงนั้นตรงนี้มีทั้งผลงานของเด็ก ๆ ที่มาร่วมกิจกรรมศิลป์ของชุมชน และงานวาดปาดป้ายสีด้วยฝีมือของจิตรกรผู้เป็นเพื่อนกับเจ้าของร้าน โต๊ะ ม้านั่ง ทำจากไม้ ดูดิบ ๆ เข้ากับชื่อร้าน โซฟารูปทรงโบราณ ทั้งหมดทั้งมวลให้อารมณ์ ดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทราย ต้นไม้ใหญ่… เป็นที่สุด

City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ
City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ

การผสมผสานคือเสน่ห์ของร้านนี้ มีกาแฟที่พร้อมเสิร์ฟทั้งแบบชงด้วยเครื่อง อันเป็นเมนูคุ้นเคย อย่างคาปูชิโน่ ลาเต้ อเมริกาโน่ ทั้งกาแฟพิเศษที่ใช้เมล็ดสุกปลั่งในช่วงที่เรียกว่าเชอร์รีไปหมักด้วยสูตรเฉพาะของโรงคั่ว ได้กลิ่นคล้ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 สไตล์มาให้นักดื่มเลือกลองกัน คือ Soju Blueberry Coffee หอมแบบโซจู รสเปรี้ยวอ่อน ๆ Japanese Whisky Coffee ซึ่งรสชาติเข้มขึ้นมาอีกนิด หอมวิสกี้อวลอยู่ในรสเปรี้ยวเบา ๆ และ Caribbean Rum Coffee ชัดด้วยกลิ่นรัม หอมหวานด้วยรสคล้ายรัม น้ำผึ้งป่า และน้ำตาลทรายแดง ผสมผสานกันในกาแฟดริป ซึ่งทั้ง 3 สูตรนี้ไม่มีแอลกอฮอล์ตามชื่อ ดื่มกันได้โดยไม่ต้องเกรงว่าจะผิดศีลข้อที่ 5

City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ

“แม่มาช่วยลูกดูแลร้านช่วงเช้า ๆ ค่ะ” ปราณีย์ในวัย 60 ต้น ๆ เล่าด้วยน้ำเสียงสดใส แม้วัยของผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์จะห่างกันแค่ 10 ปี แต่เธอก็แทนตัวเองว่า ‘แม่’ อย่างเหนียวแน่น

“วันอังคาร-พฤหัสฯ แม่ขายเสื้อผ้าอยู่ฝั่งโน้น” เธอชี้ข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังด้านท่าราชวงศ์ “วันศุกร์-อาทิตย์ก็มาช่วยลูกทำร้านนี้ อยู่เฉย ๆ ก็เบื่อไง”

การนั่งลงจิบกาแฟใต้ต้นไม้ใหญ่ ฟังเสียงนกร้องสลับกับเสียงใบไม้เสียดสีเป็นเพลงธรรมชาติ และพูดคุยกับปราณีย์ นอกจากเพลินใจแล้ว ยังได้รับรู้เรื่องราวของย่านนี้จากคนเก่าคนแก่ เช่น ซากอาคารรกร้างใต้ร่มไม้นั้นน่าจะเป็นคุกมาก่อน และซุ้มประตูสูงใหญ่เยื้องกันคือประตูผี ซึ่งนำศพนักโทษที่ถูกประหารตรงลานที่ตอนนี้มีตึกสีฟ้าตั้งอยู่ออกมาเผาบนลานกว้างริมแม่น้ำ

City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ

นอกจากเรื่องโบราณย้อนยุค ยังมีเรื่องราวของกิจกรรมดี ๆ ที่ Deep Root Cafe ร่วมจัดกับชาวชุมชนโรงเกลือและกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ อย่าง ‘งาน Paint in Soi’ ที่สร้างสีสันสตรีตอาร์ตให้แนวกำแพงข้างร้าน ‘งานฮาลโลวีน’ ซึ่งเด็ก ๆ ในชุมชนมาสนุกกับการแต่งตัวเป็นปีศาจน้อยคอยวิ่งไล่ เล่น Trick or Treat? งานรื่นเริงของชนเผ่า Tribe Carnival ที่มีคนรุ่นใหม่มาล้อมวงทำกิจกรรมศิลปะหลากหลาย เป็นต้น

และแน่นอนว่าแม่ไม่ยอมพลาดกิจกรรมเหล่านั้น เพราะแม้จะอยู่ในวัยอิสระ แต่ก็พร้อมปรับตัวให้สนุกสนานไปกับลูกและคนรุ่นใหม่ได้โดยไม่มีคำว่าแก่เกินไปมาจำกัดการใช้ชีวิต

‘รากลึก’ ของ Deep Root Cafe จึงหมายความรวมถึงคนวัยอิสระที่แวดล้อมร้าน ผู้พร้อมจะบอกเล่าเรื่องราวของวันวานสู่ผู้มาเยือนในวันนี้เพื่อสืบต่ออย่างยาวนาน

City Run : เดิน-วิ่ง แล้วแวะฝากท้องกับ 5 ร้านที่มีเจ้าของเป็นวัยอิสระ ครบทั้งสภากาแฟ ของคาว ของหวาน ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงฝั่งธนฯ
  • 255/2 ซอยโรงเกลือ แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ร้านอยู่หลังศาลเจ้าแม่ทับทิม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (แผนที่)
  • เปิดวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 19.00 น.
  • 09 5448 0598
  • Deep Root Cafe
  • เครื่องดื่มเริ่มต้น 60 – 90 บาท

เกร็ดความรู้เพิ่มความสนุก

  • การเดินทางไปร้าน Deep Root Cafe ไปได้ 2 เส้นทาง คือจากท่าเรือข้ามฟาก ท่าดินแดง เลี้ยวขวาที่ช่องทางซึ่งมีภาพเขียนชื่อร้าน แล้วเดินเลียบแม่น้ำไปจนถึงศาลเจ้าแม่ทับทิม อีกทางหนึ่งคือจากอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เข้าซอยเล็ก ๆ จนถึงสามแยกซึ่งมีร้านขายของชำอยู่ทางขวา แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยโรงเกลือ เดินไปจนสุดทาง จะเห็นซากโบราณสถานทางขวา ส่วนทางซ้ายคือโรงงานและโกดังเกลือ มองหาสตรีตอาร์ตบนกำแพง แล้วก็จะเห็นร้านเท่ ๆ อยู่ข้างสตรีตอาร์ต
  • ร้าน Deep Root Cafe อยู่ใกล้อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นเส้นทางเดิน-วิ่งเที่ยวต่อเนื่องได้อย่างดี ในสวนร่มรื่น พื้นที่ส่วนหนึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  • ช่วงหัวค่ำในฤดูฝน ยุงค่อนข้างชุกชุม ถ้าจะนั่งที่ร้านจนถึงค่ำมืด ควรสวมเสื้อแขนยาว กระโปรงยาว กางเกงขายาว และควรเป็นสีอ่อน

The Cloud Golden Week : Happy Young Old คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ The Cloud จับมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดรับวัยอิสระ อายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ มารวมพลัง ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆเป็นเวลา 1 สัปดาห์ 

ภายใต้ธีม ‘การเตรียมตัวเข้าสู่วัยอิสระ’ และ ‘การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข’ เปรียบเสมือนคู่มือเล่มน้อย ๆ ที่อัดแน่นด้วยคำแนะนำ การรับมือ การใช้ชีวิตก่อน-หลังเกษียณในหลากหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘สุขภาพ’ เราจึงชวนวัยอิสระเล่าเรื่องราวของ เส้นทางวิ่ง-เดินในย่านเก่ากรุงเทพฯ ถึงธนบุรี แวะ 5 ร้านที่มีวัยอิสระเป็นเจ้าของ นอกจากวิ่ง-เดินจะได้สุขภาพแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่ได้สำรวจเมืองว่าเมืองที่อาศัยเป็นมิตรกับคนสูงวัยมากน้อยขนาดไหน พร้อมแรงบันดาลใจจาก 5 เจ้าของร้านวัยอิสระ

Writer

ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์

ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์

เป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวและนักพิสูจน์อักษรมานานเกือบ 30 ปี และยังรักจะทำอาชีพนี้ สลับกับการวิ่งเล่น เดินเล่น ตะลอน ๆ ในย่านเก่า ตามประสาฟรีแลนซ์วัยอิสระ

Photographer

วินัย งามผาติพงศ์

วินัย งามผาติพงศ์

ไม่อยากเรียกตัวเองว่าช่างภาพ แค่เป็นคนชอบถ่ายรูป และมีความสุขที่ได้บันทึกสิ่งที่น่าจดจำ