สายฝนโปรยปราย สองเท้าของเราก้าวย่ำด้วยความเร็ว เพียงอึดใจก็ถึงแพร่งภูธร เบื้องหน้ามีอาคารเก่าสีขาวนวลสูง 2 ชั้น แบบโคโลเนียล เรียงรายล้อมรอบกันเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างผังเมืองต่างประเทศ หาชมได้ยากในกรุงเทพฯ

ตามเวลานัดหมาย สับปะรดแนน-ณัฐกฤตา พงษ์ธนานิกร ดีเจสาวประจำคลื่น Cat Radio เดินออกมาต้อนรับเราหน้า 1905 Heritage Corner ลักซูรีเกสต์เฮาส์ขนาดกะทัดรัดที่เธอทำร่วมกับ มาร์ค แซล์มอน ชายหนุ่มคนรู้ใจ

จากความบังเอิญหาตึกเก่าทำสำนักงาน กลายเป็นความตั้งใจรีโนเวตตึกเก่าเป็นลักซูรีเกสต์เฮาส์ขนาด 3 ห้อง นับจากวันแรกเป็นเวลากว่า 4 ปี 1905 Heritage Corner จึงพร้อมเปิดรับแขกผู้มาเยือน หลังจากคุยกับสับปะรดแนน เราเชื่อว่าความดีงามของที่นี่ไม่ได้มีเพียงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอาคาร แต่ยังมีความพิถีพิถันของเขาและเธอรวมอยู่ด้วย
01
อดีตโรงน้ำชาและโรงงานทำฟันปลอม
1905 Heritage Corner เป็นอาคารหัวมุมในชุมชนแพร่งภูธร 1 ใน 3 แพร่งเก่าแก่ของรัตนโกสินทร์ บรรดาตึกเก่าอายุมากกว่า 100 ปี สร้างขึ้นราว ค.ศ. 1904 – 1906 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะ 1905 เป็นเลขที่เจ้าของโรงแรมชื่นชอบ เกสต์เฮาส์ขนาดย่อมจึงได้เลขนี้มาครอง มากไปกว่านั้น เธอยังสืบประวัติลงลึกไปถึงอดีตของย่านและอาคารเก่า จนได้เรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง
ย่านแพร่งภูธรเคยเป็น Shophouse ตึกแถวที่เป็นทั้งบ้านและร้านขายของ มีหมอ ทนายความ และข้าราชการอาศัยอยู่ ส่วนแพร่งนรา คาดว่าเคยเป็นคอกม้า เพราะตึกมีรูปทรงเตี้ยและแคบกว่าอีก 2 แพร่ง แถมยังเป็นที่ตั้งของโรงละครแนวเชกสเปียร์แห่งแรกของไทย ส่วนแพร่งสรรพศาสตร์เป็นแหล่งอาศัยของช่างเงินและช่างทองมากฝีมือ

ในบรรดา 3 แพร่งแห่งประวัติศาสตร์ มีเพียงแพร่งภูธรแพร่งเดียวที่สร้างผังชุมชนเป็นสี่เหลี่ยมอย่างต่างประเทศ เนื่องจากเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระองค์เคยเสด็จประพาสยุโรป จึงทรงอยากทดลองสร้างชุมชนที่มีบ้านเรือนล้อมรอบกันเป็นสี่เหลี่ยมและมีสวนสาธารณะอยู่ตรงกลางแบบยุโรป
สับปะรดแนนชวนเราย้อนไปชมร่องรอยของ 30 ปีก่อน อาคารเก่าเคยเป็นโรงงานทำฟันปลอมแห่งแรกของประเทศไทย เธอชี้ให้ดูรอยถลอกบนผนัง พร้อมเฉลยว่าเป็นรอยจากตู้เหล็กสีเหลืองเคยสดใส ก่อนถูกยกออกและทิ้งร่องรอยเลือนราง
ใช่! เธอยังคงเก็บรอยถลอกนั้นเอาไว้

ดีเจสาวคุยเก่งออกรส ชวนเราถอยกลับไปมากกว่า 100 ปีก่อน ลักซูรีเกสต์เฮาส์หัวมุมเคยเป็น ‘โรงน้ำชา’ พื้นที่สาธารณะและแหล่งพบปะสังสรรค์เคล้าน้ำชาของคนในชุมชน
ใช่! เธอยังเก็บบรรยากาศของโรงน้ำชาเอาไว้ ผ่านแนวคิดหลักของ 1905 Heritage Corner
02
ฟื้นชีพเป็นเกสต์เฮาส์เคล้าโรงน้ำชา
เมื่อแรกพบตึกเก่า เธอคิดทำเกสต์เฮาส์โดยมีความรู้วิชาการโรงแรมเท่ากับศูนย์ ดีเจสาวต้องกลายเป็นสถาปนิกจำเป็น ไม่เพียงต้องฟื้นตึกสุดแคบอายุ 100 กว่าปีให้กลับมาสดใส เธอต้องอนุรักษ์ตึกให้เป็นไปตามกฎของราชการ กว่าจะลงมือรีโนเวตได้ต้องขออนุญาตทั้งสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และกรมศิลปากร
แม้ไม่เป็นตึกอนุรักษ์ เธอก็ตั้งใจอนุรักษ์ตึกแต่แรก ขนาดกระซิบบอกสถาปนิกว่า ถ้าเคาะโครงสร้างตึกแล้วเจอชิ้นส่วนเก่าเธอขอเก็บเอาไว้ บางส่วนก็เอาไปใช้ อย่างโครงประตูโค้ง แผ่นบันไดไม้สัก และผนังเดิมบางส่วน

ด้วยขนาดพื้นที่จำกัด ของทุกชิ้นและห้องทุกห้องไม่เพียงสวย แต่ต้องใช้ประโยชน์ได้ แม้แนวคิดหลักจะเป็นร้านน้ำชาเก่าแก่ แต่ใช่ว่าทุกอณูของพื้นที่จะเป็นจีนไปเสียหมด เธอซ่อนกลิ่นแบบจีนผ่านเฟอร์นิเจอร์สไตล์ฝรั่งและไทย โดยเฟอร์นิเจอร์ไม้ส่วนใหญ่เมดอินเมียนมา สวย เรียบง่าย มีเอกลักษณ์ ขอชื่นชมฝีไม้ของช่างฝีมือ!

เมื่อเปิดประตูกรอบไม้เข้าไป เธอต้อนรับเราด้วยกลิ่นชาหอมฟุ้งลอยฟ่อง เราเดินเลี้ยวตามเจ้าของบ้านไปทางขวา เจอกับล็อบบี้ไม้สีเข้มขนาดเล็กประดับด้วยกระป๋องสีเงินสำหรับใส่ชานับ 10 กระป๋อง และตาชั่งจีนโบราณมีรอยกระดำกระด่างบอกอายุ ส่วนด้านหน้าล็อบบี้เป็นโต๊ะทานข้าว มีอักษรจีนสลักบนเก้าอี้ไม้ความสูงพอเหมาะ ถัดไปหน่อยเป็นห้องสมุดขนาดย่อมพร้อมโซฟาตัวยาวน่าเอนกาย อุดมไปด้วยหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเทศไทยและทวีปเอเชีย
สายตาเรามองไปตามนิ้วเรียวยาวของเธอ นิ้วชี้ของสาวเจ้าหยุดตรงตู้หนังสือหลังใหญ่ สีหน้าเธอแสดงออกว่าภูมิใจ เพราะเธอนำตู้หนังสือมาวางได้ขนาดพอดิบพอดีกับพื้นที่ แม้จะต้องตัดน็อตออกถึง 2 นิ้วก็ยอม

ขยับตัวเข้าไปด้านหลังอีกนิด เดินชิดเข้าไปอีกหน่อย เป็นห้องทานอาหารส่วนตัว ล้อมรอบด้วยผนังเก่า เธออยากให้หลังบ้านมีแสงอาทิตย์ส่องถึง จึงคิดทำช่องสูง ด้านบนเป็นกระจกใสบานใหญ่ เปิด-ปิดด้วยเฟือง ช่างแสนเก๋
03
ล่องสำเภาบนตึกเก่า
เจ้าบ้านพาเราก้าวเท้าขึ้นบันไดความกว้าง 1 คนเดินไปยังชั้น 2 ตามทางเราเห็นผนังก่ออิฐถือปูนดั้งเดิมที่เธอตั้งใจยั้งช่างไม่ให้ฉาบปูนทับลงไป เอาล่ะ! ด้านขวาเป็นห้องที่ 1 ด้านซ้ายเป็นห้องที่ 2 ส่วนด้านล่างเป็นห้องที่ 3
ห้องพักจำนวน 3 ห้อง จำลองการเดินทางของชาวจีนตั้งแต่ล่องสำเภาลำใหญ่ออกจากแผ่นดิน ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมาตั้งรกรากอยู่เมืองไทย เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติของร้านน้ำชาเก่า
สับปะรดแนนเดินนำ เราเดินตาม Let’s go!

เริ่มจากห้องแรกด้านขวา ห้องนี้เธออาสาเป็นไต้ก๋ง ส่วนเราเป็นลูกเรือ เพราะเธอนำแนวคิดสถาปัตยกรรมแบบ Sino-Siamese มาไว้ในห้องด้วยการยกใต้ท้องเรือมาวางบนตึกเก่า เพื่อเล่าเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของคนจีนโดยเรือสำเภา
มิน่า กระจกบานใหญ่ที่ควรเป็นหน้าต่างห้องจึงคล้ายหน้าต่างเรือมากกว่า ด้านบนตู้เสื้อผ้าไม้สีเข้มก็ประดับด้วยกระเป๋าเดินทางแบบสานสำหรับเก็บผ้าผ่อนอำลาบ้านเกิด ห้องนอนยังเป็นคนเรือขนาดนี้ ห้องน้ำแทบไม่ต้องพูดถึง

เรือล่องบนสายน้ำได้ไม่นานก็เทียบท่าหน้าห้องหมายเลข 2 ไต้ก๋งสับปะรดแนนทอดสมอจอดเรือและพาเราเข้าสู่
Colonial Room เธอผสมความเป็นโคโลเนียลตามช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับความเป็นตะวันตกมาพัฒนาประเทศ เพื่อให้สยามดำรงอยู่ได้ในยุคล่าอาณานิคม เพียงเดินเข้ามาในห้องก็คลับคล้ายว่าเราได้ใส่เสื้อหมูแฮม สวมโจงกระเบน และสัมผัสตะวันตกผ่านเฟอร์นิเจอร์ที่เธอบรรจงวาง บอกแล้วว่าเธอเก็บทุกรายละเอียด!
ดื่มด่ำอารยธรรมตะวันตกจนหนำใจ เราเดินตามเธอลงมาชั้นล่าง ลัดเลาะเพียง 2 – 3 ก้าวก็ถึงห้องสุดท้าย Tea Room ขนาดเล็กกว่า 2 ห้องด้านบน แต่น่ารักสุดๆ สำหรับเรา เพราะ 2 คนหนุ่มสาวนำเสนอร้านน้ำชาจีนได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ถ้าเปรียบเป็นเรือก็คงเทียบท่าถึงจุดหมายอย่างถูกต้องและปลอดภัย เธอเล่าเรื่องห้องพักผ่านพ่อค้าชาวจีนที่เดินทางมาตั้งหลักปักฐานในเมืองไทย บนตู้เสื้อผ้าประดับด้วยถังตักน้ำอย่างจีน แถมแทรกรายละเอียดเล็กน้อยทำเราประทับใจจนอยากแปลงกายเป็นพ่อค้าจำเป็นที่ตื่นนอนแต่เช้าตรู่ลุกมาขายน้ำชาทันที
ความพิถีพิถันของเธอยังไม่หมด หากสังเกตห้องสวย 3 ห้องจะมีกาน้ำชาจิ๋วและถ้วยชาวางพร้อมดื่ม ถ้าแขกต้องการจิบชาฝรั่งก็มีให้ ไม่พอ! เธอแอบใส่ความเป็นไทยลงไปด้วยการวางพวงมาลัยดอกมะลิไว้บนโต๊ะหัวเตียงด้วย


04
ชีวิตละไมไปกับชุมชน
ไม่ต้องบอกก็เดาได้ว่าแขกส่วนใหญ่ของ 1905 Heritage Corner เป็นคนชอบประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตของชุมชน หลายครั้งเจ้าบ้านสาวอาสาเป็นไกด์พาแขกเดินชมตลาดปากหม้อ ตลาดเก่าแถวแพร่งภูธร เธอยืนยันว่ามีขายทุกอย่าง แอบกระซิบว่าตลาดปากหม้อเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับอาหารยามเช้า พูดถึงอาหาร อาหารก็มา
อาหารเช้าชุดใหญ่เบิ้มพร้อมวางบนโต๊ะ อาหารไทยก็มี อาหารฝรั่งก็มี แต่อาหารไทยจะหมุนเวียนกันไป


มื้อนี้สับปะรดแนนเสิร์ฟยำปลาดุกฟูและขนมใส่ไส้ห่อใบตองจากตลาดสดใกล้ชุมชน ส่วนอาหารฝรั่งเธอตั้งใจเสิร์ฟทุกวันเพราะอยากให้แขกมี Comfort Food ไว้เป็นความสบายใจยามเช้า เผื่อแขกทานอาหารบ้านเราไม่คล่อง
ถ้าอิ่มอร่อยจนหนังตาตึง เราขอชวนเดินทอดน่องไม่ไกลจากหัวมุม เลี้ยวซ้าย เดินตรง เลี้ยวขวาอีกหน่อย ก็ถึง Heritage Craft & Cafe คาเฟ่กาแฟรสเข้มที่สนับสนุนงานคราฟต์ท้องถิ่นกว่า 50 ชุมชน บอกเลยช้อปเพลิน แถมราคาดี!
อ้อ หนุ่มสาวเจ้าบ้านยังช่วยกันเลือกของจากผู้ผลิตคนเก่งมาใช้ใน 1905 Heritage Corner ด้วยนะ อย่างสบู่เหลวอาบน้ำกลิ่นหอมชื่นใจ (แขกเลือกกลิ่นเองได้) ภาชนะอาหารจากช่างปั้นเซรามิก จังหวัดเชียงใหม่ ช้อน ส้อม และมีดสแตนเลสอย่างดี ด้วยการผลิตแบบดั้งเดิมของกลุ่มอรัญญิก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

05
Wake Up with the Community
ทุกเช้า วัยเก๋าและวัยรุ่นในชุมชนจะออกมารอพระบิณฑบาตหน้าบ้าน ส่วนข้างสุขุมาลอนามัย มีอาม่าอากงรวมตัวกันยืดเส้นยืดสายนับจังหวะ 1 2 3 พร้อมกัน พอพระอาทิตย์ตกดินเป็นสัญญาณให้แก๊งตะกร้อขาประจำออกมาเตะตะกร้อบอกเวลาให้แขกเข้านอน วิถีชุมชนย่านแพร่งภูธรเป็นแบบนี้ น่ารักไม่หยอก
“เราอยากให้แขกตื่นขึ้นมาพร้อมกับชุมชน มันเหมือน Sense of Place คุณนอนอยู่ที่ไหน คุณตื่นอยู่ที่ไหน เราพยายามกั้นเสียงและแสงไม่ให้มากไป ให้แขกได้รับรู้ความเป็นไปของบรรยากาศด้านนอก แต่ยังคงความเป็นส่วนตัว”
เราไม่เคยพักที่นี่ แต่เราสัมผัสได้ถึงความใส่ใจของเธอ เราเรียกสับปะรดแนนว่าดีเจสาวไม่ถนัดนัก เพราะเธอดูแลเกสต์เฮาส์ขนาดย่อมและแขกดีมาก จนบางคนถามว่าเรียนจบการโรงแรมมาหรือ
“เปล่าเลย เราเรียนยูทูบ” เธอจบบทสนทาด้วยเสียงหัวเราะร่วน

1905 Heritage Corner
66, 68 ถนนแพร่งภูธร ศาลเจ้าพ่อเสือ พระนคร กรุงเทพฯ
Facebook : 1905 Heritage Corner
เบอร์ติดต่อ : 020410102, 0909893107