“เหมือนกับเราเดินเข้ามาในภาพวาด เป็นเหมือนมิติที่เซอร์เรียลนิด ๆ รู้สึกไหม”
หยุม-สิริรัตน์ ถวิลเวชกุล เจ้าของบ้านหลังสีขาวแดงกลางซอยสามเสน 4 ย่านเทเวศร์ กึ่งบอกความรู้สึกของตัวเอง กึ่งถามความรู้สึกของคนมา เมื่อเธอกำลังหาคำนิยามสักอย่างให้สถานที่แห่งนี้
ตลอดต้นซอยถึงท้ายซอย ซอยข้าง ๆ และรอบ ๆ อาณาบริเวณย่านสามเสน มีที่พักเกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่ทำให้ Yoom Up ไม่เหมือนใคร คือเป็นบ้านที่มองเข้ามาเจอแต่บันได บันได และบันได จากความชอบส่วนตัวของเจ้าของบ้าน แต่เป็นการจัดวางบันไดวกวนที่ไม่ชวนอึดอัดหรืองุนงงเลยแม้แต่นิดเดียว
คำว่า นักท่องเที่ยว คือคำที่แนะนำตัวตนของเจ้าของบ้านได้ดีและชัดเจนมากพอ จนเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจทำ Airbnb แห่งนี้ขึ้นมา เธอพาตัวเองออกเดินทางมาแล้วหลายประเทศ เที่ยวไปเที่ยวมาจนมาเจอย่านนี้ “พี่ชอบแถวนี้มาก ถึงขนาดตั้งใจเลยว่า วันหนึ่งอยากมีบ้านแถวนี้สักหลัง”
และวันนั้นก็เกิดขึ้นแล้ว เมื่อหยุมบังเอิญเจอตึกห้องนี้ประกาศขายพอดี ที่นี่จึงเหมือนเป็นทั้งภาพวาดอย่างที่หยุมว่า และเป็นภาพฝันในคราวเดียวกัน แต่งแต้มภาพนี้ด้วยความเป็นตัวตนของเจ้าของบ้าน รวมกับความรู้สึกของคนมาพัก ให้แต่ละคนหาคำตอบสุดท้ายเองว่า ‘มาพักที่นี่เหมือนเดินเข้ามาในภาพวาด เป็นเหมือนมิติที่เซอร์เรียลนิด ๆ’ นั้นจริงไหม

ก๊อก ๆๆ เปิดประตู
“หยุมคือชื่อพี่ และพี่ชอบบันได คิดไปคิดมา งั้นก็ Yoom Up แล้วกัน” ก่อนจะแนะนำให้รู้จัก หยุมก็ขอเฉลยชื่อบ้านหลังนี้ก่อน ไม่ต้องคาดเดาไปไกลหรือใหญ่โต เพราะทุกอย่างเป็นความเรียบง่าย สบาย ๆ เหมือนที่มาของชื่อและบรรยากาศของที่นี่
ห้องพักทรงบ้านไทย มีกลิ่นอายความจีนนิด ๆ โมเดิร์นหน่อย ๆ แต่ไม่แปลกแยกออกจากชายคาอื่นในละแวกใกล้เคียง มาจากความชอบที่หยุมส่งโจทย์ให้ ก็อป-ชัยเศรษฐ เศรษฐีสกุลชัย สถาปนิกผู้ออกแบบว่า “อยากให้มีบรรยากาศอบอุ่น มีความเป็นบ้าน ให้คนมาพักแล้วรู้สึกสบาย ๆ แต่ก็แอบดึงความสนใจด้วยสเปซที่เซอร์ไพรส์”
คำว่าเซอไพรส์ใช้ได้อย่างไม่เกินจริง หลังจากเปิดประตูสู่ตัวบ้าน ใครจะคิดว่าภายในตึก 1 คูหาเล็ก ๆ กลางซอยสามเสน 4 จะแบ่งเป็นห้องพร้อมใต้ถุน 3 หลังอยู่ในนั้นได้ ก็คงจะต้องใช้จินตนาการหน่อย ๆ ว่าพื้นที่จะแคบหรือไม่ ห้องจะกว้างได้แค่ไหนกันเชียว
ข้อดีของตึกนี้คือเพดานสูง จึงใช้โครงเดิมของบ้านได้เลย และเหมาะกับแบบบ้านที่ออกแบบไว้ หยุมเล่าว่าตอนแรกสถาปนิกอยากซอยให้ได้ยูนิตเยอะ แต่นั่นจะแลกมากับที่ว่างที่น้อยลง อาจจะเบียดกันและบางห้องจะไม่เจอข้างนอกเลย ไม่ได้เห็นแสงหรือท้องฟ้า เขาเลยลดจำนวนลง เพื่อเปิดพื้นที่โล่งให้แสงให้ธรรมชาติส่องเข้ามา ทำให้บรรยากาศโปร่งโล่ง ไม่อึดอัด
ส่วนสีแดงขาวมาจากสีบ้านเก่าของหยุม และเป็นโทนแม่สีที่หยุมใช่บ่อยในผลงานของเธอ สีแดงจึงปรากฏขึ้นหลังปาดแปรงทาสี กลายเป็นหนึ่งภาพจำที่โดดเด่นของ Yoom Up
“พี่มองว่าอันนี้คือบ้านพี่ พี่คาดหวังให้แขกมองเห็นสถานที่นี้แล้วชอบ รู้สึกมีสเปซที่น่าสนใจ เลยอยากเช่า อยากมาพัก ให้เขาชอบจากใจ จะได้ดูแลบ้านด้วยกัน”


เข้าบ้านหยุม
ทำเลของตึกแถวกลางซอยแน่นอนว่าอยู่ติดถนน เสียงและบริบทของความเป็นชุมชนจึงอยู่รอบ ๆ ซึ่งหยุมต้องการรักษามวลนี้เอาไว้ ไม่ให้บ้านของเธอตัดขาดจากบรรยากาศชุมชน จึงตัดสินใจไม่ทำกำแพงทึบ แต่แทนที่ด้วยระแนงไม้ เพื่อเชื่อมภายในกับภายนอกถึงกันโดยไม่มีกำแพง
ชั้นแรกของบ้านแบ่งเป็นใต้ถุนห้องที่ 1 และใต้ถุนห้องที่ 2 (ใต้ถุนห้องที่ 3 อยู่บนชั้นลอยด้านหลัง) และมีโซนส่วนกลางที่มีขนม กล่องพยาบาล ของใช้ต่าง ๆ ไว้สำหรับแขกต้องการหรือขาดเหลืออะไร


ต้องบอกก่อนว่าใต้ถุนในแบบ Yoom Up คือใต้ถุนที่ให้บรรยากาศเสมือนจริงอย่างมาก ไม่ใช่เป็นแค่พื้นที่ว่างข้างล่างบ้าน แต่มีบรรยากาศโปร่งโล่ง ลมเย็นจากนอกบ้านพัดผ่านเข้ามาเป็นระยะ เครื่องปรับอากาศจึงไม่จำเป็น
แสงแดดอุ่น ๆ และเม็ดฝนปรอย ๆ แวะมาทักทายต้นไม้ใหญ่กลางบ้านอยู่เป็นประจำ เสียงรถเสียงคนแว่วเข้ามาบาง ๆ ให้บรรยากาศของชุมชนจริง ๆ (ตั้งแต่เรานั่งอยู่ตรงนั้น ได้ยินทั้งเสียงรถไอศกรีมเอย ตุ๊กตุ๊กเอย บะหมี่ป๊อก ๆ หรือข้าวเหนียวหมูบ้าง) เสียงรถส่วนใหญ่เอนน้ำหนักไปทางของกิน เชื่อว่าถ้ามานั่งตรงนี้นานกว่านี้อีกนิด อาจจะมีหวั่นไหวกับอาหารสักหนึ่งถึงหลายเจ้า
ห้องพักแต่ละห้องมีบันไดส่วนตัวพาขึ้นไปยังห้องนอนขนาดกะทัดรัด ดีไซน์ภายในคงสไตล์บ้านแบบไทย ๆ ผสมผสานกับความสมัยใหม่เอาไว้ โดยเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เน้นฟังก์ชัน และสวยโดยพื้นผิวเดิมแบบไม่ปรับเปลี่ยน เช่น เตียงไม้ โต๊ะหินขัด ห้องนอนมีห้องน้ำในตัว ออกแบบจัดวางมาแล้วว่าไม่รบกวนพื้นที่ ทำให้รู้สึกว่าอยู่ในห้องกว้างแม้มีพื้นที่จำกัด ทุกห้องมีหน้าต่างบานใหญ่ให้แสงสาดความสว่างตกกระทบ


เดินเล่นรอบย่าน
‘แถวนี้เป็นเหมือนข้าวสารแต่ไม่ตื๊ด’ นี่คือคำที่หยุมนิยามให้ย่านนี้ เข้าใจง่ายในประโยคเดียว
ถ้าจะอธิบายเพิ่มอีกนิด เทเวศร์เป็นหนึ่งในย่านที่รักษาชุมชนเก่า ๆ สถาปัตยกรรม วิถีชีวิตของคนในชุมชนเอาไว้อยู่ เป็นที่ที่ทั้งสงบและไม่เหงาในเวลาเดียวกัน อยู่ไม่ไกลจากความเป็นเมือง แต่ก็ไกลพอให้มีมุมสโลว์ไลฟ์สบาย ๆ ของผู้คน มีบรรยากาศริมแม่น้ำให้รู้สึกปลอดโปร่ง ใกล้ย่านเมืองเก่า ใกล้วัด ใกล้สนามหลวง เป็นพื้นที่ที่เชื่อมไปไหนก็ได้ด้วยการสัญจรหลากหลายวิธี และเป็นย่านที่มีเสน่ห์ในตัวเอง
“มันแปลกดี คือเดินเลี้ยวไปทางไหนก็มีที่เที่ยว หรือเดินไปอีกหน่อยก็ข้ามสะพานพระราม 8 ได้ เดินตรงนี้ไปท่าพระอาทิตย์ได้ ตรงนี้ไปข้าวสารได้ ตรงนี้ไปวัดบวรฯ หรือจะนั่งเรือแม่น้ำเจ้าพระยาก็ใกล้ ๆ เลย” นี่คือเสน่ห์เล็ก ๆ ที่ทำให้หยุมตกหลุมรักที่นี่ จนมีความฝันต้องมีบ้านหลังนี้ให้ได้ เพื่อให้คนที่มาพักได้สัมผัสบรรยากาศในแบบที่เธอเห็น
“ในประเทศไทยนี่นะ กินมั่วก็อร่อยแล้ว” หยุมยกตัวอย่างสิ่งที่เรียกว่ากินมั่วว่า แค่เดินออกไปรอบ ๆ ที่พัก เจออะไรน่ากินก็ซื้อ ร้านท้องถิ่นหรือสตรีทฟู้ดมีอยู่เป็นระยะตามท้องถนน ห่างไกลคำว่าหิวหลายสิบหลายร้อยกิโล

ก่อนกลับบ้าน
ของตกแต่งดินปั้นที่วางบ้างแขวนบ้าง การันตีเลยว่ามีชิ้นเดียวในโลก เพราะปั้นเองจากสองมือของเจ้าของบ้าน รูปวาดตามกำแพงก็เหมือนกัน บางรูปวาดไว้อยู่ก่อนแล้ว หลายรูปวาดขึ้นทีหลังโดยได้แรงบันดาลใจจากบ้านใหม่แห่งนี้
“อย่างรูปนี้วาดทีหลัง ได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านหลังนี้แหละ ก็วาดแมวดำเล่น ๆ แล้วแถวนี้ดันมีแมวดำตัวหนึ่ง เป็นแมวใครก็ไม่รู้ มีปลอกคอด้วย เหมือนภาพที่เราวาดเลย แล้วมันชอบเข้ามาในนี้ แต่ว่าตอนหลังไม่ให้เข้า เพราะมันชอบที่นี่มากเกินไปไง มันชอบเข้ามาขูดเบาะ แต่แปลกมากเลย รู้สึกอันนี้เหมือนเป็นเดจาวู” หยุมเล่าเรื่องราวของภาพหนึ่งให้ฟัง เป็นภาพที่บ่งบอกตัวตนของเธอมาก ๆ ภาพนั้นเต็มไปด้วยขั้นบันได มีมิติ ความซับซ้อน และโดดเด่นด้วยแม่สีสด ถ้าใครสนใจผลงานก็ตามไปดูที่อินสตาแกรม yoominsta ได้เลย

นอกจาก Yoom Up จะเป็นที่พักแล้ว ยังเป็นที่แสดงผลงานขนาดย่อมของเจ้าของบ้าน ไม่ใช่แค่ภาพวาดหรืองานแฮนด์เมดที่ทำขึ้น แต่ทุกรายละเอียดที่สร้างที่นี่หลอมรวมให้บ้านหลังนี้เป็นเหมือนแกลเลอรี่ของหยุม
จากระยะเวลาหน่วยเดือนนิด ๆ ที่ Yoom Up เปิดบ้าน ก็มีแขกแวะเวียนมาพักบ้าง พร้อมทิ้งทวนความประทับใจไว้ให้เจ้าของบ้านได้ยิ้มแก้มแทบปริ
“คนแรกที่มาพักเป็นอินทีเรีย เขาบอกว่าชอบเพราะที่นี่สเปซดี ชอบต้นไม้กลางบ้าน คนที่สองบอกว่าชอบภาพวาด อยากซื้อรูป และคนที่สามมาตอนฝนตก พี่ก็กังวลใจนะว่านักท่องเที่ยวจะรู้สึกแย่หรือเปล่า เพราะว่าบ้านนี้มีฝนตกลงมาปรอย ๆ นิดหน่อยตรงคอร์ตกลางบ้าน แต่เขาบอกว่ามันเป็นความรู้สึกที่ดี เหมือนเชื่อมภายในกับภายนอกถึงกัน ไม่เป็นปัญหาเลย เย็นดี ฉันนอนหลับสบายมาก พี่ก็ดีใจและแอบมีความสุขนะที่เขาชอบ”
คุยกันมาสักพัก ก่อนกลับ เจ้าของบ้านชวนให้กินน้ำกินขนมที่เธอจัดเตรียมไว้สำหรับแขกทุกคน ทุกสิ่งในบ้านเน้นความเรียบง่าย ไม่เยอะ ไม่มากไป ให้ความรู้สึกเหมือนมานอนบ้านเพื่อน แต่เป็นเพื่อนใหม่ที่น่ารู้จัก ทั้งคน บ้าน และย่าน
“เราไม่ได้มีอะไรให้มาก ให้เขาได้ออกไปเดินเล่น ไปค้นหาสิ่งที่สนใจ ไปทำความรู้จักรอบ ๆ ย่านแถวนี้ด้วยตัวเอง”

Yoom Up
ที่ตั้ง : 360/9 ซอยสามเสน 4 แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
Facebook : Yoom Up
Instagram : yoom_up