แม้ว่าทุกวันนี้แม่น้ำลำคลองบ้านเราจะถูกลดบทบาทลงไป วิถีชีวิตของผู้คนไม่ได้คลุกคลีกับน้ำเท่าเดิม คมนาคมก็ย้ายไปพึ่งพิงถนนเป็นหลัก แต่เราก็ยังมีพื้นที่ริมน้ำมากมาย หากได้รับการออกแบบที่ดี จะเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงระบบนิเวศของเมืองและเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้เมืองได้อีกเยอะ

ออกแบบโลกครั้งนี้ Kim Jungyoon หนึ่งในผู้ก่อตั้ง PARKKIM ออฟฟิศภูมิสถาปนิกระดับโลก จะมาเล่าถึงการออกแบบพื้นที่ริมน้ำอย่าง ‘Yanghwa Riverfront’ ให้เป็น ‘ตลิ่งธรรมชาติ’ บรรยากาศดี วิว 10 ล้าน ตอบโจทย์ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตของผู้คนหลากเจเนอเรชันไปพร้อมกัน

เราพบว่าประเทศไทยเรียนรู้จากความสำเร็จของ Yanghwa Riverfront ได้หลายอย่าง ทั้งเรื่องดีไซน์ที่คิดมารอบด้านและระบบที่เปิดให้หลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมของเกาหลี

เพราะพื้นที่ริมน้ำที่ดีไม่ได้มีแค่คลองชองกเยชอนเท่านั้น

Yanghwa Riverfront พื้นที่ธรรมชาติริมน้ำที่โซลไม่เคยมี และวิธีที่ชองกเยชอนไม่ได้ทำ

คิมเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับประเทศของเธอว่าอาชีพภูมิสถาปนิกถือกำเนิดเป็นครั้งแรกหลังสงครามเกาหลี ภูเขามากมายถูกเผาจนหัวโล้น ไม่มีต้นไม้ และภารกิจแรกของการทำแลนด์สเคปในประเทศนี้ ก็คือทำให้ภูเขากลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้ง

จากนั้นภูมิสถาปนิกก็รับบทบาทเรื่องต้นไม้มาตลอด ส่วนโปรเจกต์การพัฒนาเมืองในด้านต่าง ๆ รวมถึงการดูแลเรื่อง Climate Change นั้นนำโดยวิศวกรและนักวางผัง 

“PARKKIM มุ่งเน้นเรื่อง Space Making และนำเสนอบทสนทนาใหม่ ๆ ด้านแลนด์สเคปให้กับสังคม ไม่ง่ายเลยที่เราจะลงมือทำงานและสื่อสารวิสัยทัศน์ของตัวเองได้” คิมเอ่ย

Yanghwa Riverfront พื้นที่ธรรมชาติริมน้ำที่โซลไม่เคยมี และวิธีที่ชองกเยชอนไม่ได้ทำ

สำหรับเรื่องการออกแบบพื้นที่ริมแม่น้ำเองก็เช่นกัน

เมื่อ 15 – 20 ปีที่แล้ว พื้นที่ริมแม่น้ำในเกาหลีล้วนหน้าตาเป็นตลิ่งคอนกรีต มีขั้นบันได 3 สเตป เหมือน ๆ กัน ทั้งหมดนั้นออกแบบโดยวิศวกรโยธา และมีเป้าหมายหลักคือป้องกันน้ำท่วม 

พื้นที่ริมแม่น้ำ Yanghwa เองก็เป็นคอนกรีต และมักมีปัญหาเกี่ยวกับการที่แม่น้ำถูกบล็อกหน้า-หลัง แบบแซนด์วิช จากที่มีทราย มีตะกอนแร่ธาตุไหลมาตามน้ำ ก็เหลือแต่ ‘โคลน’ ซึ่งเมื่อน้ำขึ้นและลดลงไป โคลนก็ยังกองอยู่เต็มตลิ่งคอนกรีต ต้องใช้แรงงานคนและใช้งบประมาณมากมายเพื่อกำจัดโคลนออกไปก่อนจะแข็งตัวภายใน 24 ชั่วโมง

จนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว PARKKIM ชนะประกวดแบบ ได้ทำโปรเจกต์ Yanghwa Riverfront และเลือกออกแบบให้กลายเป็นตลิ่งธรรมชาติยาว 2 กิโลเมตรแทน

จากทางเดินคอนกรีตที่มี 3 สเตป เปลี่ยนเป็นสโลปดินที่เมื่อน้ำลด โคลนส่วนใหญ่ก็ถูกพาลงไปด้วย บางส่วนที่ตกอยู่ในพื้นที่ก็กลายเป็นดินให้พืชได้เติบโต ซึ่งวิธีนี้ยังทำให้เป็น Universal Design มากขึ้น เพราะคนพิการลงไปใกล้น้ำได้ จากเดิมที่ไม่มีสิทธิ์เลย 

PARKKIM ออกแบบทั้งหมดและไปตรวจสอบกับ Hydro Engineer ตอนจบงานอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าดีไซน์นี้เวิร์กจริง และ Yanghwa Riverfront ได้เปิดใช้งานจริงในปี 2011 หลังจากนี้รัฐก็จะได้เรียนรู้ว่ามีทางเลือกอื่น ๆ ที่ทำให้ทั้งคนและแม่น้ำอยู่ด้วยกันได้

Yanghwa Riverfront พื้นที่ธรรมชาติริมน้ำที่โซลไม่เคยมี และวิธีที่ชองกเยชอนไม่ได้ทำ

“คนเกาหลีรุ่นเก่า ๆ ที่เกิดก่อนการขยายเขตเมือง (Urbanization) คุ้นเคยกับการออกมานอกบ้าน ใช้ชีวิตริมน้ำ แต่ไม่ใช่กับคนรุ่นใหม่” คิมเล่าถึงประสบการณ์ที่ต่างกันของผู้คน

“พอ Yanghwa Riverfront เปิด เราได้เห็นการใช้งานที่ต่างกันไปของคนแต่ละเจเนอเรชัน คนรุ่นใหม่ชอบมานั่งปิกนิก มาถ่ายรูปกัน และที่นี่กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Pop Culture ที่น่าสนใจมากเลย”

ถ้าใครได้ดูซีรีส์เกาหลี คงมีสักโมเมนต์บ้างที่รู้สึกว่าบ้านเมืองเขาสวยจนอยากไปเยือนสักครั้ง นั่นไม่เพียงมีผลต่อความรู้สึกของต่างชาติอย่างเราเท่านั้น แต่คงทำให้ฮันกุกซารัม (คนเกาหลี) รุ่นใหม่ออกไปใช้พื้นที่สาธารณะกันไม่น้อย

Yanghwa Riverfront เองก็เคยปรากฏอยู่ในซีรีส์ฮิตเมื่อปีก่อน อย่าง Squid Game ในฉากที่ตัวละครนั่งมองน้ำอยู่ริมตลิ่งธรรมชาติ

Yanghwa Riverfront พื้นที่ธรรมชาติริมน้ำที่โซลไม่เคยมี และวิธีที่ชองกเยชอนไม่ได้ทำ
Yanghwa Riverfront พื้นที่ธรรมชาติริมน้ำที่โซลไม่เคยมี และวิธีที่ชองกเยชอนไม่ได้ทำ

หากยังจำกันได้ ไทยเราเองก็เคยมีโครงการทางเลียบแม่น้ำ และพยายามสร้าง Public Space ขึ้นมาเหมือนกัน แต่วิธีการของเราคือการสร้างคอนกรีตลงไปตลอดแนวแม่น้ำ ซึ่งเป็น Engineering Solution ที่ง่ายต่อการจัดการ การก่อสร้าง มองแค่การป้องกันน้ำท่วม การระบายน้ำ แต่ไม่ได้มองปัจจัยอื่น ๆ อย่างการฟื้นฟูนิเวศหรือกิจกรรมของผู้คน

ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่มีแนวคิดเรื่องการออกแบบเหมือนคนเกาหลี แต่เราอาจจะต้องทำกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อทำความเข้าใจผู้คนและวิถีธรรมชาติมากกว่าที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เหมาะสม

Yanghwa Riverfront พื้นที่ธรรมชาติริมน้ำที่โซลไม่เคยมี และวิธีที่ชองกเยชอนไม่ได้ทำ

การออกแบบพื้นที่ริมน้ำไม่ได้มีแค่เรื่องแม่น้ำ แต่เป็นการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เป็นโอกาสดีในการฟื้นฟูนิเวศ ทั้งยังเป็นโอกาสในการพัฒนาชุมชน พัฒนาพื้นที่สาธารณะ พัฒนาธุรกิจโดยรอบ และบรรเทาปัญหา Climate Change ได้

ในส่วนของพื้นที่ริมคลอง หากทำดี ๆ เราจะทำเรื่องย่าน เรื่องโครงข่าย ทำทางเดินลัดไม่ให้ชุมชนเป็นพื้นที่อับได้ด้วย

ริมแม่น้ำ-ริมคลอง มากมายในกรุงเทพฯ ล้วนเป็นพื้นที่ Multifunction ที่มีศักยภาพ อยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจว่าจะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาจัดการอย่างจริงจัง หรือจะนั่งทับอยู่บนปัญหาและสูญเสียโอกาสเรื่อยไป

Yanghwa Riverfront พื้นที่ธรรมชาติริมน้ำที่โซลไม่เคยมี และวิธีที่ชองกเยชอนไม่ได้ทำ

ความสำเร็จของ Yanghwa Riverfront เกิดขึ้นเพราะรัฐเปิดใจให้กับวิธีการใหม่ ๆ กระบวนการมีส่วนร่วมอันแสนเข้มข้นที่โซล และกฎหมายของเกาหลีที่กำหนดว่า หากโปรเจกต์ใด ๆ ใช้งบประมาณเยอะถึงที่กำหนดไว้ จะต้องผ่านการประกวดแบบ

“ชองกเยชอนออกแบบก่อน Yanghwa Riverfront และมันค่อนข้าง Artificial ทีเดียว” คิมพูดถึงโปรเจกต์โด่งดัง “ดีมากนะที่จะมีสเปซแบบนั้นในเมือง แต่ถ้าทำตอนนี้ก็ควรจะทำได้ดีกว่านั้นมาก โดยเฉพาะการคิดเรื่องนิเวศ เรื่อง Climate Change”

แต่จะชอบหรือไม่ชอบวิธีการนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง อย่างน้อยก็มีกระบวนการที่นำมาสู่วิธีการ และเกิด Learning Curve ขึ้น เพื่อพัฒนาในครั้งต่อ ๆ ไป

Yanghwa Riverfront พื้นที่ธรรมชาติริมน้ำที่โซลไม่เคยมี และวิธีที่ชองกเยชอนไม่ได้ทำ

พูดถึงชองกเยชอน เวลาคนไทยถกกันเรื่องพื้นที่ริมน้ำ ชื่อของคลองนี้มักจะถูกกล่าวถึงและใช้เป็นเป้าหมายในการออกแบบเสมอ

จริงอยู่ที่โปรเจกต์ชองกเยชอนเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อิมแพกต์ เสพง่ายในแง่ความสวยความงาม ทั้งยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ใครก็อยากไป แต่วิธีในการพัฒนาของพื้นที่ริมน้ำในบ้านเราควรคิดขึ้นมาจากบริบทเดิมที่มี ไม่ใช่การหยิบจับความสำเร็จจากประเทศอื่นมาใช้โดยไม่ปรับให้เข้ากับบริบทบ้านเรา

ไม่ผิดเลยที่ผู้คนจะอยากได้ทางเดินริมน้ำบรรยากาศดีแบบนั้น หน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญคือเก็บสิ่งที่ทุกคนต้องการมา ‘เขย่า’ อธิบายกับสังคมว่าสิ่งนั้นทำได้แค่ไหน หรือมีทางเลือกไหนที่น่าสนใจบ้าง

สำคัญที่สุดคือการสื่อสาร 2 ทาง รัฐต้องเรียนรู้ความต้องการของสังคมและให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่สังคม ส่วนสังคมก็ต้องเรียนรู้จากรัฐ และให้ฟีดแบ็กกลับไป เพื่อที่เราจะเป็นเมืองที่พูดคุยกันได้ มี Learning Curve ของตัวเอง

ซึ่งระบบนี้จะเกิดขึ้นได้ หากรัฐทำให้ประชาชนรู้สึกได้ว่าเรามีสิทธิ์ออกความเห็นและรัฐจะรับฟังจริง ๆ

นอกจาก Yanghwa Riverfront ที่เล่าไป ตอนนี้ PARKKIM กำลังสนใจเรื่อง City Void

เนื่องจากโซลเป็นเมืองที่มีลักษณะภูมิประเทศ มีน้ำ มีภูเขา จึงต้องออกแบบให้เป็น Compact City ที่มีความหนาแน่นพอสมควร และการหาพื้นที่โล่งในเมืองก็เป็นความท้าทายไม่น้อย ต่อจากนี้เราคงได้เห็นโปรเจกต์สนุก ๆ ในการหยิบพื้นที่ทิ้งร้างมาทำเป็นพื้นที่สาธารณะโล่ง ๆ อีกมากมาย 

เกาหลีเป็นประเทศที่มีการจัดการอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ตกแต่งให้สวยงามเป็นบางจุด หลายครั้งมันคือการ Transformation ครั้งใหญ่ อย่างการนำทางด่วนเก่ามาทำเป็นพื้นที่สาธารณะ ก็ต้องจัดการระบบจราจรเสียใหม่ ทำให้เมืองเปลี่ยนไปในเวลาไม่กี่ปี

ด้วยระบบที่เปิดให้ผู้คนหลากหลายวิชาชีพมีส่วนร่วมแบบนี้ เชื่อว่าอีก 10 ปี เกาหลีคงมีอะไรให้เราทึ่งอีกเยอะ

ภาพ : PARKKIM

Writers

ยศพล บุญสม

ยศพล บุญสม

ภูมิสถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทฉมาและกลุ่ม we!park นักเคลื่อนไหวผู้เห็นโอกาสในพื้นที่รกร้างและสนใจการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วมด้วยการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ทุกภาคส่วนในสังคม WIN ไปด้วยกัน

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน