ณ ย่านเสาชิงช้า มีร้านหนังสือแห่งหนึ่งชื่อ ‘World at The Corner’
ตรงตัวตามชื่อ แม้จะเป็นร้านเล็ก ๆ แต่ที่นี่ขายหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวทั่วโลก กวาดตาดูไปตามชั้นก็จะเห็นป้ายกำกับไว้ว่าแถวไหนเป็นหนังสือจากประเทศอะไร
ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หากรู้สึกสนใจแล้วเอ่ยปากชวนพี่ก้อย เจ้าของร้านผู้เป็นนักท่องโลกคุยสักเล็กน้อย คุณก็เหมือนได้แบกเป้ตามเธอไปเที่ยวอย่างสนุกสนาน รู้ตัวอีกทีพระอาทิตย์ด้านนอกก็อำลาไปนอนซะแล้ว
พี่ก้อยเยือนดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าไปยากมากแล้วมากมาย แค่นั้นยังไม่พอ ด้วยความเป็นคนรักหนังสือ ไปกี่ที่เธอก็แบกหนังสือจากดินแดนเหล่านั้นกลับมาด้วย
รวม ๆ แล้วเธอสะสมหนังสือเป็นหมื่นเล่ม
“หนังสือในร้านเป็นหนังสือที่เราชอบและเลือกด้วยตัวเองเองทั้งหมด ถ้าซื้อมาแล้วขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราถือว่าเป็นสมบัติในห้องสมุดของเรา เราสะสมหนังสืออยู่แล้ว”
นี่คือประโยคที่พี่ก้อยพูดกับเราเมื่อเจอกันครั้งแรก และเป็นประโยคที่ทำให้เราตัดสินใจว่า ไม่ว่ายังไงก็จะหาโอกาสมานั่งคุยเกี่ยวกับหนังสือที่เธอสะสมให้ได้
อาชีพหลักของ ก้อย-สิวิกา ประกอบสันติสุข คือการเป็นผู้จัดการส่วนตัวให้กับน้องชาย ณัฐ ประกอบสันติสุข ช่างภาพมืออาชีพที่หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ ส่วนร้านหนังสือเป็นแผนระยะยาวของทั้งคู่ สองพี่น้องโตมาด้วยกัน เรียนคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ เหมือนกัน ชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน เที่ยวก็เที่ยวด้วยกัน จึงตั้งใจว่าจะสร้าง World at The Cornor ให้เป็นพื้นที่สบายใจของตัวเอง หากอนาคตจะมีงานถ่ายภาพลดลงตามวัย
“พี่ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก พ่อชอบซื้อ The Adventures of Tintin ให้” พี่ก้อยว่า “Tintin ชอบเดินทางไปทั่วโลก นี่ก็เป็นอีกอย่างที่ทำให้เราอยากเดินทางเหมือนกัน”
ทุกวันนี้เธอได้ออกเดินทางจริงจังสมความตั้งใจ ชนิดที่ว่า หากเธอในวัยเด็กได้รู้เข้าก็คงดีใจจนเนื้อเต้น เมื่อไม่ได้ไปไหนก็มีชีวิตอยู่ในร้านหนังสือที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวทั่วโลก ซึ่งทีเด็ดกว่านั้น คือเธอกับน้องชายมีห้องสมุดส่วนตัวไว้เก็บหนังสือที่ได้มาจากการออกผจญภัย อยู่บนชั้น 2 เหนือร้านหนังสือ
และทีเด็ดที่สุด คือวันนี้พี่ก้อยเตรียมเล่มโปรดไว้เล่าให้เราฟังเพียบเลย
“สมัยก่อนไม่ได้เดินทางง่าย ๆ เหมือนทุกวันนี้นะ ตั๋วมันแพง กว่าจะได้ไปก็ต้องเตรียมตัวหลายอย่าง” นักเดินทางเล่าถึงเหตุผลที่เธอไม่ได้ออกเดินทางตั้งแต่เด็ก
กว่าเธอจะได้ออกนอกประเทศครั้งแรกก็เข้าสู่วัยมหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่งนั่นคือทริปยุโรปที่คณะอักษรฯ จัดขึ้น เธอดีใจมากที่พ่ออนุญาตให้ไปอย่างง่ายดายโดยไม่ต้องพูดเหตุผลร้อยแปดที่เตรียมมา
หลังจากนั้นเธอก็ได้เดินทางบ้างตามโอกาส แต่เป็นช่วงสั้น ๆ 1 อาทิตย์บ้าง 2 อาทิตย์บ้าง ปี 2002 ถึงได้ฤกษ์งามยามดีได้เริ่มเที่ยวจริงจัง เดือนธันวาคมของทุกปีเธอจะไปต่างประเทศแบบอยู่ยาว 1 เดือน โดยแก๊งผู้ร่วมทริปจะประกอบด้วย พี่ก้อย พี่ณัฐ และ พี่เป้ แฟนพี่ณัฐ เป็น 3 คนนี้เสมอ
ทุก ๆ ปี ทั้งสามจะประชุมกันว่าปีนี้อยากไปใช้ชีวิตที่ประเทศไหน ซึ่งคติในการเลือกประเทศของพวกเขา คือเลือกประเทศยาก ๆ ไว้ก่อน ส่วนประเทศง่าย ๆ อย่างแถบยุโรป ไว้ไปตอนแก่ก็ยังไม่สาย
(พี่ก้อยบอกว่าโชคดีที่มีน้องชายและแฟนน้องชายเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ เพราะถ้าเป็นผู้หญิงคนเดียว ไปเที่ยวแบบนี้ไม่ได้แน่นอน)
เมื่อถามว่า ทำไมถึงชอบซื้อหนังสือเวลาไปเที่ยว พี่ก้อยก็เล่าย้อนไปถึงสมัยเรียนมหาวิทยาลัย
ตอนนั้นมีร้านหนังสือภาษาอังกฤษอยู่ร้านเดียว คือร้าน DK ที่สยามสแควร์ ขายหนังสือสำนักพิมพ์ DK ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่มหาวิทยาลัยใช้เรียน เธอมักจะหมกตัวอยู่ในร้านนั้น เลื่อนบานตู้ไปมาเป็นกิจวัตร
“เราอยากได้แต่ไม่มีเงินซื้อ มันก็เลยฝังใจ” เจ้าของร้านหนังสือเล่า
พี่ก้อยได้ไปซื้อหนังสือที่ต่างประเทศครั้งแรกเมื่อไปสิงคโปร์กับพ่อตอนเรียนจบ เธอบอกว่าตอนนั้นสิงคโปร์เจริญกว่าเราเยอะมาก และมีร้านหนังสือเยอะมากด้วย หากอยากได้หนังสือดี ๆ แต่ไปถึงยุโรปไม่ไหว ก็ต้องไปสิงคโปร์
ถึงเวลาได้ท่องเที่ยวเอง ปี 2002 เป็นต้นมา เธอก็ยังคงซื้อหนังสือกลับบ้าน ด้วยสมัยก่อนการสั่งหนังสือออนไลน์ไม่ง่ายเหมือนทุกวันนี้ และ “หนังสือบางเล่มเราก็ชอบมาก มันสวยมากจนต้องหอบมาด้วย ถ้าไม่ซื้อตรงนั้นอาจจะหาไม่ได้อีกแล้ว”
จากที่ไปสัมผัสมา พี่ก้อยว่าหนังสือแต่ละประเทศมีคาแรกเตอร์ต่างกันยังไงบ้าง – เรายกมือถาม
“หนังสือของประเทศต่าง ๆ ต้องสะท้อนวัฒนธรรม สะท้อนศิลปะของเขาอยู่แล้วล่ะ” พี่ก้อยตอบ “ถ้าจะพูด พูดถึงในแง่การพิมพ์ดีกว่า
“อย่างอินเดียเนี่ย เขามีการพิมพ์ที่ดีมาก เพราะฉะนั้นหนังสือเขาจะเยอะมาก ขายในราคาไม่แพง แต่ที่พี่ไปมา กัวเตมาลาหนังสือจะแพง และแพงกว่ากัวเตมาลาคืออิสราเอล สมมติว่าเมืองไทยขาย 500 เขาจะขายประมาณพันหนึ่ง ซึ่งเราซื้อไม่ลง (หัวเราะ)”
นั่งคุยกันในห้องสมุดสักพัก พี่ก้อยก็หันหลังไปค้นกลุกกลัก แล้วหยิบหนังสือมาให้เราดู 2 เล่ม ซึ่งจะเรียกว่าเก่าที่สุดในห้องนี้ก็ว่าได้
“The Flying Fox กับ My Life in Sarawak พวกนี้มาจากสิงคโปร์” (หลังจากทริปที่คณะอักษรฯ จัด เรียนจบแล้วพี่ก้อยก็ได้ไปอินเดีย จาการ์ตา ยอร์ก บาหลี ช่วงนั้นจึงอินกับเอเชียเป็นพิเศษ The Flying Fox เป็นนิยายที่เกี่ยวกับมาลายา ส่วน My Life in Sarawak ไม่ใช่นิยาย แต่เป็นเรื่องจริงของผู้เขียน)
“ตอนนั้นพี่เพิ่งเรียนจบได้ไม่นาน จะเดินไปไหนพ่อก็ให้ไปด้วย ไม่ยอมปล่อยให้เราไปคนเดียว
“เขาไปซื้อพวกเครื่องกีฬาที่นำเข้าจากอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา เราก็ต้องไปนั่งรอ นี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า ไม่เอาแล้ว ต่อไปฉันจะไปเที่ยวเอง” เธอหัวเราะดัง แม้แต่นักผจญภัยแสนอิสระอย่างพี่ก้อยก็มีอดีตแบบนี้เหมือนกันหรือนี่
พูดจบเธอก็หยิบหนังสืออีกเล่มอย่าง From Heaven Lake: travels in Sinkiang and Tibet ซึ่งมาจากการเที่ยวสิงคโปร์รอบหลังจากนั้นเข้ามาร่วมแก๊ง
“นักเขียนคนนี้ชื่อ Vikram Seth เป็นคนอินเดีย เขาเป็นคนเขียนหนังสือลื่นไหลมาก ดีมากกก (ลากเสียง) เป็นนักเขียนที่รัก!” เธอเล่าด้วยความตื่นเต้น
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ไปเที่ยวที่ไหนก็ไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือเกี่ยวกับที่นั่น (ก็ได้)
ถัดมาคือเหล่าหนังสือภาพของ Wilfred Thesiger พี่ก้อยซื้อมาในช่วงปี 2000 ที่ได้ไปอังกฤษบ่อย ๆ นายทหาร นักสำรวจ นักเขียน และช่างภาพคนนี้ปลอมตัวเข้าไปถ่ายรูปชีวิตในทะเลทราย เขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่ก้อยอยากไปเยเมนมาก (แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบในภาพเท่าไหร่แล้ว)
อังกฤษเป็นแหล่งซื้อหนังสือสำคัญ ที่นั่นมีร้านหนังสือชื่อว่า Stanford ขายหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งยังมีแผนที่ทั่วโลกและสมุดบันทึกขายด้วย พี่ก้อยเรียกว่าเป็น ‘สวรรค์ของคนชอบเดินทาง’
“เขาเป็นต้นแบบของร้านเรานั่นแหละ”
ต่อไปคือหนังสือจากทริปอิหร่าน ปี 2014 ซึ่งทั้งหมดเป็นหนังสือที่ทำในประเทศ
“อันนี้เป็นบทกวีของ Hafez เขาเป็นกวีที่ดังมากของอิหร่าน เขียนเรื่องเกี่ยวกับชีวิตและความรัก พอเขาตาย ศพเขาก็ฝังอยู่ที่ Shiraz ทุก ๆ วันก็จะมีคนไปที่หลุมเขาแล้วยืนอ่านบทกวีกัน
“เล่มนี้พี่ก็ซื้อมาจากตอนที่ไปเยี่ยมหลุมศพเขา”
อีกเล่มพี่ก้อยก็ได้มาจาก Shiraz เช่นกัน เกี่ยวกับเมืองโบราณ Persepolis ที่แคว้น Shiraz เมื่อก่อนเมืองนี้ร่ำรวยตระการตามาก จนกระทั่ง อเล็กซานเดอร์ เข้ามาตีและเผาทิ้งจนเหลือแค่ซาก ว่ากันว่าอเล็กซานเดอร์นำเกวียนมาเป็นพันเพื่อขนสมบัติออกไปจากที่นี่
ที่น่าสนใจคือประวัติศาสนาโซโรอัสเตอร์หรือศาสนาบูชาไฟ ด้วยอิหร่านเป็นต้นกำเนิดของศาสนานี้ (มีที่อินเดียด้วย) พวกเขาเชื่อว่าร่างกายของมนุษย์ควรจะถูกส่งคืนธรรมชาติ ฉะนั้นพวกเขาจึงไม่เผาหรือฝังศพ แต่นำไปทิ้งบนลานให้กามาจิกแทน
ถัดจากอิหร่าน ก็มาสู่หนังสือจากทริปเอธิโอเปีย ปี 2008
เอธิโอเปียก็เป็นอีกที่ที่มีหนังสือของตัวเองขายเยอะ อาจเป็นเพราะเป็นเมืองที่มีนักเดินทางโบราณไปเยือนมากมาย
พี่ก้อยเล่าเรื่อง Arthur Rimbaud ให้เราฟัง เขาเป็นกวีนอกคอกอายุน้อยที่ไปอยู่ที่เมืองฮาลาล เอธิโอเปีย เมืองมุสลิมแห่งเดียวในประเทศ ที่นี่จึงมีนิทรรศการของ Rimbaud รวมถึงมีหนังสือที่คนเขียนถึงเขาอยู่ที่นั่นด้วย
“เอธิโอเปียเป็นคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ และเรียกตัวเองว่าเป็น Second Jerusalem” เธอแทรกเกร็ดความรู้ “มีประวัติว่า Queen Sheba ของเอธิโอเปียเดินทางไปเยรูซาเลม เพื่อไปเจอกับ King Solomon แล้วก็เกิดรักกัน มีลูก พอลูกโตขึ้น ลูกก็ไปขโมยแผ่นจารึกของโมเสสกลับมา แล้วไปซ่อนไว้ที่เอธิโอเปีย
“แต่ที่เอธิโอเปียเองก็ไม่มีใครเคยเห็นแผ่นนี้ เขาไม่อนุญาตให้ใครเข้าไปดู ให้แต่พระที่มีหน้าที่ดูแลเท่านั้น แล้วไฟก็ไหม้โบสถ์นี้ 2 รอบแล้ว ไม่รู้ว่ายังอยู่รึเปล่า”
นอกจากเรียนคณะอักษรฯ จุฬาฯ ระดับปริญญาตรีแล้ว พี่ก้อยยังไปต่อคณะโบราณคดี ศิลปากร ระดับปริญญาโทด้วย ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเธอถึงเที่ยวรอบโลกได้สนุกขนาดนี้
เธอหันหลังไปพักใหญ่ แล้วแบกหนังสือมากองตรงหน้าเรา 1 กอง
ป้าบ!
และนี่ก็คือหนังสือจากประเทศอียิปต์ที่สุดแสนละลานตา พี่ก้อยไปอียิปต์ครั้งแรกในปี 2002 และกลับไปอีกครั้งเมื่อปี 2012 – 10 ปีพอดี
“มิวเซียมอียิปต์เป็นมิวเซียมที่ดีที่สุด ของน่าสนใจมาก แล้วเขาก็ทำไกด์บุ๊กของเขาเองด้วย เราก็ลงทุนซื้อไกด์บุ๊กมาเดินทางตามเลย”
ในบรรดาหนังสือจากหลายประเทศที่พี่ก้อยหยิบมาให้ดู สำหรับเราหนังสืออียิปต์มีหัวข้อที่สนุกมาก เช่น The Murder of Tutankhamen ประวัติศาสตร์ที่ห่างไกลจากคำว่าน่าเบื่อ หรือ Women Travelers on The Nile เรื่องราวของเหล่านักผจญภัยหญิงที่มาเยือนอียิปต์ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 จนยุค 2000 เป็นเล่มที่เหมาะกับพี่ก้อยมาก
และพีกที่สุดก็คือ The Royal Mummies: Immortality in Ancient Egypt ซึ่งสวยมากกกก (ก ไก่ล้านตัว) มัมมี่เองก็น่าทึ่งมากอยู่แล้ว ยิ่งมารวมกับการพิมพ์งาม ๆ ของอียิปต์ด้วย หนังสือเล่มเบ้อเริ่มนี้จึงควรค่าที่สุดในการแบกกลับมาบ้าน
“เขาเชื่อว่าวิญญาณจะกลับเข้าร่างมาเกิด แต่ในขณะเดียวกันหลุมศพเขาก็ทั้งหนา ทั้งหนัก ทั้งหลายชั้น พี่เคยคิดนะว่ากลับเข้าร่างแล้วจะออกมายังไงวะ” พี่ก้อยเล่าไปหัวเราะไป
ที่อียิปต์มีร้านหนังสืออยู่ที่ American University in Cairo แต่เธอไปครั้งแรกในยุคที่ยังไม่ได้ใช้ Google Maps เดินหาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ ทริปที่ 2 ที่เจอร้านแล้ว จึงเป็นคราวแห่งการขนหนังสือกลับบ้านอย่างแท้จริง
จากอียิปต์ก็เดินทางมาสู่เปรู ประเทศที่ชาวโบราณคดีอย่างพี่ก้อยถูกใจเป็นพิเศษ
พี่ก้อยไปเที่ยวเปรูมาเมื่อปี 2005 ซื้อหนังสือมาเยอะมากจนแบกไม่ไหว ต้องส่งไปรษณีย์มาให้ตัวเองที่บ้าน
เปรูโดดเด่นเรื่องเครื่องปั้นดินเผา เขาทำเครื่องปั้นดินเผาเยอะและหลากหลายรูปแบบมาก ๆ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องปั้นดินเผาที่เกี่ยวกับเซ็กซ์ ซึ่งมีเยอะจนแยกเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะเจาะจงได้อีก 1 ที่เลย ในกองหนังสือเปรูก็มีหนังสือเครื่องปั้นดินเผาที่เกี่ยวกับเซ็กซ์เหมือนกัน
“ชอบที่เขาทำเรื่องเกี่ยวกับคนธรรมดา พี่คิดว่าเรื่องเซ็กซ์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเขา ที่นี่เขาทำเครื่องปั้นดินเผาเล่าเรื่องวิถีชีวิตเยอะมาก” ที่น่าสนใจ คือในหมวดเซ็กซ์ไม่ได้มีแค่ระหว่างคนกับคนเท่านั้น แต่มีสัตว์อื่น เต่ากับเต่า กบกับกบด้วย ยิ่งพลิกหนังสือดูยิ่งเพลิน
“พี่ชอบหนังสือพิพิธภัณฑ์ของเปรู เขารวบรวมของที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ไว้ ทำให้เราจำได้ว่าเราเคยไปเห็นมา”
แม้จะไม่เด่นเท่ากับกัวเตมาลา แต่ที่เปรูก็มีงาน Textile สวย ๆ มากมาย นอกจากไปดูสถานที่โบราณอย่างมาชูปิกชู ดูเครื่องปั้นดินเผา หากได้ไปดูผ้าด้วย รับรองไม่ผิดหวัง
แล้วก็มาถึงคราวของอินเดีย ปกติแล้วพี่ก้อยจะไปเที่ยวประเทศละครั้งสองครั้ง มีแต่อินเดียและศรีลังกานี่แหละที่ไปมานับครั้งไม่ถ้วนเพราะติดใจ
ท่ามกลางหนังสือจากอินเดียมากมาย เล่มโดดเด่นของอินเดียคือหนังสือรวมภาพถ่ายของช่างภาพคนหนึ่งที่จับสามัญชนมาแต่งชุดมหาราชาและถ่ายรูปกับฉาก (ถ้าเป็นที่ไทยไม่น่าจะเกิดขึ้นได้)
มีพิพิธภัณฑ์ผ้าแห่งหนึ่งที่อาห์เมดาบัด ชื่อ Calico Museum of Textiles เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เข้ายากมาก และต้องจองก่อนเข้าไป ซึ่งพี่ก้อยมีหนังสือรวมคอลเลกชันผ้าของพิพิธภัณฑ์ในครอบครองด้วย แม้แต่หน้าปกก็ยังเป็นผ้า
“อันนี้เม็กซิโก” พี่ก้อยไปเม็กซิโกมาเมื่อปี 2003
ในขณะที่เปรูเด่นเรื่องเครื่องปั้นดินเผา กัวเตมาลาเด่นเรื่องผ้า ฝั่งเม็กซิโกก็จะเป็นเครื่องไม้ อย่างที่เราเห็นว่ามีหนังสือเกี่ยวกับการแกะไม้อยู่
“ที่เม็กซิโกเขามี The Day of The Dead เหมือนที่เราเห็นในหนังเรื่อง Coco เขาก็จะมีหนังสือเกี่ยวกับตุ๊กตาไม้ ตุ๊กตาดินเผาเยอะเลย พวกนี้ก็จะเป็นเรื่องราวของ Folk ของคนธรรมดาเหมือนกัน แต่คาแรกเตอร์ต่างกันกับของเปรู”
นักสะสมหนังสือหยิบเล่มโปรดมาให้เราดูจนนับไม่หวาดไม่ไหว ทั้งหนังสือ ไบเบิล จากนิวยอร์ก หนังสือจากซีเรีย หนังสือจากเยเมน และหนังสือจากกัวเตมาลา ทริปสุดท้ายก่อนโควิดจะมา
มีหนังสือเด็กบ้างไหมคะ – เราเอ่ยถาม เพราะเห็นว่าร้านหนังสือข้างล่างมีโซนหนังสือเด็กแยกไว้ต่างหาก
“มีนะ มีเล่มที่อยากให้ดู” พี่ก้อยตอบ ว่าแล้วหยิบหนังสือภาพสำหรับเด็กเล่มบาง ๆ ออกมาหลายเล่ม มีทั้งเรื่องราวที่เวียนนา บาหลี เมืองต่าง ๆ ในฝรั่งเศส ซึ่งของเมืองดีฌงเป็นหนังสือพาเที่ยวสำหรับให้เด็ก ๆ อ่านแล้วตามรอย พี่ก้อยชอบเก็บหนังสือแบบนี้
“อันนี้ของเอธิโอเปีย ซึ่งประหลาดมาก ประเทศที่มีภาษาของตัวเองไม่ค่อยมีหนังสือเด็กที่เป็นภาษาอังกฤษ แต่เอธิโอเปียมีและสวยด้วย”
เล่มที่โหดหน่อยแบบที่ไม่แน่ใจว่าให้เด็กอ่านจริงไหม คือหนังสือการ์ตูนช่องของเปรู ชื่อ Juanita: The Girl that got off the Skies เล่าถึงอารยธรรมอินคาในอดีตที่มีการเลือกเด็กผู้หญิงมาจากบ้าน แล้วเลี้ยงไว้ให้เป็นธิดาแห่งพระอาทิตย์ เมื่อภัยพิบัติมาเยือนก็จะให้เด็กผู้หญิงดื่มเหล้าที่ทำจากข้าวโพด พอเด็กเมาจึงพาขึ้นเขาไปทำพิธี ‘ทุบ’ ให้เสียชีวิตในท่านั่ง ในยุคปัจจุบันก็มีคนเจอศพเด็กผู้หญิงบนเขาที่โดนแช่แข็งมาตั้งแต่ยุคนั้น
พี่ก้อยอินเรื่องเด็กเพราะเคยทำงานกับเด็กมาก่อน เธอเคยอยู่ในองค์กรช่วยเหลือผู้อพยพเขมรของญี่ปุ่นนาน 14 ปี ตั้งแต่เป็นผู้ช่วยจนเป็นผู้อำนวยการ ตอนหลังที่ชาวเขมรโดนให้กลับประเทศ พี่ก้อยก็ขอเงินทุนทำต่อกับเด็กไทยในชายแดน ใช้ชื่อว่า กลุ่มเพื่อการพัฒนาและการศึกษาเด็ก
หนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับพี่ก้อยอย่างมาก คือนิตยสารท่องเที่ยวของอังกฤษชื่อ Condé Nast Traveller เล่มแรกพี่ณัฐซื้อกลับมาฝากตอนที่ไปเรียนเมืองนอก จากนั้นพี่ก้อยก็ตามซื้อเรื่อย ๆ
นอกจากฉบับอังกฤษยังมีฉบับประเทศอื่น ๆ ที่เนื้อหาต่างกันด้วย ทั้งสหรัฐอเมริกา อินเดีย ออสเตรเลีย จีน บางทีพี่ก้อยก็มีโอกาสซื้อเองถึงที่ บางทีก็มีเพื่อน ๆ ซื้อมาฝาก
จริง ๆ แล้วพี่ก้อยก็เป็น ‘คนเขียนหนังสือ’ เหมือนกัน แต่เธอไม่เคยเรียกตัวเองว่ามีอาชีพนักเขียน เวลากลับมาจากทริปยาว 1 เดือน เธอมักจะถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้ประสบมาลงในนิตยสารหัวต่าง ๆ ELLE บ้าง Harper’s BAZAAR บ้าง – นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่เธอใช้ปลอบใจตัวเองเมื่อเริ่มซื้อหนังสือหนักขึ้น ๆ เธอต้องใช้อ้างอิงในบทความ!
“พี่โชคดีที่เดินทางแล้วเจอคนดีเยอะมาก มีแต่คนช่วยเหลือเราโดยที่ไม่หวังอะไร ประเทศไหนที่เขาว่าร้าย ๆ เราก็ไม่เจอแบบนั้น คนที่กลายเป็นเพื่อนกันก็มี” มากี่ครั้งพี่ก้อยก็มักจะเล่าเรื่องราวดี ๆ ของผู้คนที่เจอในการเดินทางให้ฟัง บางครั้งเล่าไปก็น้ำตาคลอไป
เธอบอกว่าการท่องเที่ยวเป็นความสุขส่วนตัวของเธอ เธอได้ประสบการณ์ ได้รู้จักคน ได้เห็นอะไรที่อยากเห็น และได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก สิ่งที่พี่ก้อยและพี่ณัฐมักจะบอกทุกคนที่อยากออกเดินทางเสมอ คือเราต้องเคารพวัฒนธรรมที่เราเข้าไป คิดเสมอว่าตัวเองเป็นคนนอกที่เข้าไปเรียนรู้ และอย่าใช้ความเคยชินของตัวเองตัดสิน
ร้าน World at the Corner นี้เป็นสถานที่ที่รวมเอาความชอบและประสบการณ์ที่สองพี่น้องสั่งสมมาทั้งชีวิตไว้ด้วยกัน พี่ก้อยบอกว่า “อยากส่งต่อให้คนอื่นได้รู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก”
แม้ตอนนี้ชั้น 2 จะเป็นห้องสมุดส่วนตัวของคู่พี่น้อง พี่ก้อยแอบฝันไว้ว่าวันหนึ่งจะเปิดให้ผู้คนได้เข้ามานั่งอ่านหาแรงบันดาลใจจากหนังสือที่มีคุณค่าเหล่านี้ ซึ่งหลายเล่มก็หาซื้อที่ไหนไม่ได้แล้ว
สุดท้ายแล้ว การมาเยือนห้องสมุดแห่งนี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่าความทรงจำเป็นสิ่งพิเศษสำหรับเจ้าของความทรงจำนั้น และจะพิเศษกว่าเดิมหากเจ้าตัวไม่หวงมัน แล้วแบ่งให้คนอื่นได้สัมผัสประกายความสุขนั้นด้วย