27 กุมภาพันธ์ 2024
1 K

โลกยุคหลังโควิด ชีวิตกับงานไม่อาจแยกจากกันได้อีกต่อไป 

Work-life Balance แบบเดิมที่เราคุ้นเคย ทำงาน 8 ชั่วโมง หลังเลิกงานเป็นชีวิตส่วนตัว แทบเป็นไปไม่ได้ การดูแลพนักงานให้อยู่ดีมีสุขจึงเป็นความท้าทายของงาน HR ทุกบริษัทอย่างยิ่ง

แนวคิด ‘Work-life Integration’ จึงกลายมาเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนองค์กร ที่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ศูนย์การค้าชั้นนำอย่างสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และไอคอนสยาม มีผู้ใช้บริการล้นหลามทุกวัน จะดูแลพนักงานที่ทุ่มเททำงานให้มีความสุขได้อย่างไร

งานของ ณัฐวุฒิ เกียรติไชยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานทรัพยากรบุคคล ท้าทายอย่างยิ่ง 

สิ่งแรกที่เขาทำ คือการหาว่าจุดสมดุลของชีวิตที่แท้อยู่ตรงจุดไหน

เราใช้ชีวิตที่ทำงานนานกว่าอยู่ที่บ้าน ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตที่ดีในที่ทำงาน

บรรทัดข้างบนคือคำถามง่าย ๆ ที่ทำให้ HR ของบริษัทสยามพิวรรธน์ริเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อพนักงาน 

“สมดุลชีวิตกับงานของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แต่ละคนต้องมีความสามารถเอาทั้ง 2 อย่างมาเชื่อมกัน และหาจุดสมดุลที่เหมาะสมของตัวเองให้ได้” นั่นคือความหมาย Work-life Integration ของณัฐวุฒิ

ทุกวันนี้พนักงานใช้เวลาอยู่ที่ทำงานมากกว่าอยู่บ้าน คุณณัฐวุฒิอยากให้พนักงานทำงานในออฟฟิศและใช้ชีวิตไปพร้อม ๆ กันได้ สถานที่ทำงานต้องไม่เป็นแค่สถานที่ทำงาน แต่เป็นสถานที่ที่มีชีวิตชีวาและแสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้อย่างอิสระได้

สยามพิวรรธน์ปรับออฟฟิศให้มีบรรยากาศสบายขึ้น เปิดโล่งเหมือนนั่งทำงานที่ Co-working Space ผนังห้องประชุมเป็นกระจกใส ใช้เก้าอี้ Ergonomic Chair ซึ่งออกแบบมาให้รองรับสรีระของคนนั่งเพื่อช่วยลดอาการออฟฟิศซินโดรม 

อาคารชั้น 6 เป็น Auditorium Hall ปรับให้พนักงานมารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด หรือจัดกิจกรรมสนุก ๆ ได้ มีกิจกรรมมุมผ่อนคลายให้พนักงานตาบอดมาบริการนวดให้กับเพื่อนพนักงาน รวมถึงจัดพื้นที่โซนฟิตเนสให้พนักงานออกกำลังกายระหว่างเวลาทำงานได้ และฮาลโลวีนที่ผ่านมาปิดโรงหนัง IMAX ให้พนักงานได้ดูหนัง ธี่หยด ร่วมกัน

แน่นอนว่าพนักงานในสยามพิวรรธน์ไม่ได้มีแค่คนทำงานในออฟฟิศ มวลรวมประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายที่มา บางคนต้องทำงานกลางแจ้งหรือลุยงานวันหยุด เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากหากทำงานในศูนย์การค้าที่ต้องเปิดให้บริการทุกวัน

หัวใจของงาน HR ศูนย์การค้า คือความยืดหยุ่น หลายครั้ง HR และผู้บริหารต้องหาจุดตรงกลางที่พอดี เช่น ยกเลิกการตอกบัตรในหลายตำแหน่ง หันมาทำงานแบบ Flexi Hours ให้พนักงานเลือกช่วงเวลาทำงานที่เหมาะสมกับตัวเองโดยการคุยกับหัวหน้างาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการหาจุดสมดุลชีวิตภายใต้ความเหมาะสมของธุรกิจของสยามพิวรรธน์ที่พนักงาน Frontline ส่วนใหญ่ต้องพบกับลูกค้าในที่ทำงาน และบริษัทก็อยากให้พนักงาน Back Office ทุกคนได้เห็นประสบการณ์ลูกค้าที่มาเยือนศูนย์การค้าในทุกวัน เพื่อหาโอกาสปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

ณัฐวุฒิเล่าว่าเขาพยายามให้พนักงานใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับความเป็นตัวเองได้ในที่ทำงานมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

สยามพิวรรธน์มีวัฒนธรรมการทำงานอย่างหนึ่งเรียกว่า ‘Work as One’ คือเน้นสร้างผลงานที่เป็นเลิศร่วมกัน ร่วมมือร่วมใจเพื่อเป้าหมายเดียวกัน  

ที่นี่จะปลูกฝัง Mindset หรือกรอบความคิดและวิธีการทำงานร่วมกันตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน ผ่านกิจกรรม ‘Be Connected Together’ ให้พนักงานได้รู้จักกันเอง รู้จักองค์กร และ CEO ลงมาพูดคุยกับพนักงานใหม่ในกิจกรรม ‘Heart to Heart with CEO’ และเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองที่เรียกว่า Long Service Year Award ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีให้กับที่พนักงานทำงานครบ 8, 10, 15, 20, 25, 30 และ 35 ปี อันเป็นการลดช่องว่างจากระดับผู้บริหารสู่พนักงานทุกรุ่น 

ทั้งหมดนี้คือการดูแลพนักงานในเบื้องต้น ทั้งหมดล้วนเป็นผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย เป็นโจทย์ยากระดับ 10 ของฝ่าย HR ทั้งสิ้น 

Scrum Team 

บริษัทใหญ่มักมีปัญหาทำงานไม่คล่องตัว หลายแห่งใช้วิธีแบ่งคนเป็นทีมย่อย เพื่อให้ทำงานแก้ปัญหาไวขึ้น

สยามพิวรรธน์ก็เช่นเดียวกัน บริษัทฯ เชื่อว่าทุกคนมีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน และหลายครั้งก็ไม่ได้อยู่แผนกเดียวกัน จึงมีการทำงานข้ามสายแบบ Scrum Team 

ทีมนี้เน้นการทำงานเป็นโครงการหรือโปรเจกต์ ในแต่ละปีมีไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ ความสำเร็จที่เห็นได้ชัดของการทำงานแบบ Scrum Team คือทีม Change Warrior ของศูนย์การค้าหลัก 4 แห่ง คือสยามพารากอน สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และไอคอนสยาม

ทีมใน 4 ศูนย์การค้านี้ไม่ได้ช่วยเหลือสนับสนุนผู้เช่าเดิมและตกแต่งปรับปรุงศูนย์การค้าใหม่เท่านั้น แต่ยังสร้างแคมเปญและกิจกรรมให้กลุ่มลูกค้าใหม่ที่เป็นคนไทย มีส่วนพลิกฟื้นสถานการณ์โควิด-19 ที่นักท่องเที่ยวหายไป 100% ให้กลับมาสร้างยอดขายเทียบเท่ากับช่วงปี 2019 ก่อนที่เกิดโรคระบาดได้ภายในไม่ถึงปี สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการภาวะวิกฤตและการฟื้นฟูธุรกิจให้เข้าสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว

การทำ Scrum Team ไม่ได้เป็นการรวมทีมแบบช่วย ๆ กันโดยไม่ได้วัดผล ความรับผิดชอบใน Scrum Team ก็ถูกนับเป็นผลงานของคนคนนั้นเช่นกัน เป็นการขับเคลื่อนธุรกิจที่ทุกคนมีส่วนร่วมอันเป็นพื้นฐานของ Work as One ทำให้พนักงานทุกคนภูมิใจได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการต้อนรับลูกค้าและนักท่องเที่ยว รวมถึงช่วยเศรษฐกิจของประเทศในภาคธุรกิจบริการของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

รับมือวิกฤตแบบสยามพิวรรธน์

ธรรมชาติของธุรกิจค้าปลีกที่เปิด 7 วันต่อสัปดาห์ตลอด 365 วัน ตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม เป็นงานที่หนักสำหรับคนทำงาน 

กับที่นี่ ความท้าทายคือเป็นศูนย์การค้าใจกลางเมืองซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้มากกว่าโลเคชันอื่น ๆ 

งานรักษาความปลอดภัยจึงเป็นงานที่สำคัญมาก สิ่งที่สยามพิวรรธน์ทำได้เหนือกว่า คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายนี้ไม่ได้รักษาความปลอดภัยและรับมือเหตุวิกฤตอย่างมืออาชีพเท่านั้น แต่เอาใจใส่เรื่องการให้บริการไปด้วยในเวลาเดียวกัน เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายได้รวดเร็วขึ้น

ยิ่งกว่านั้น การดูแลใส่ใจพนักงานเป็นสิ่งที่สยามพิวรรธน์ให้ความสำคัญมากมาโดยตลอด

การสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้พนักงานรับรู้ถึงการเอาใจใส่ที่องค์กรและทุกคนมีให้กัน ณัฐวุฒิเล่าว่า

เราสื่อสารเยอะมาก ให้กำลังใจพนักงาน ดูแลทั้งสุขภาพกายและใจพนักงาน นอกเหนือจากประกันสุขภาพแล้ว พนักงานยังรับคำปรึกษาทางด้านจิตใจกับจิตแพทย์ได้ เพราะสุขภาพใจสำคัญไม่น้อยกว่าสุขภาพกาย นอกจากนี้ หากมีพนักงานร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลศูนย์การค้าให้ผ่านพ้นเหตุการณ์วิกฤตต่าง ๆ บริษัทก็ได้แสดงความชื่นชมในพลังของพนักงานอย่างเต็มที่ เช่น การจัดงาน Appreciation Day ในธีม ‘We Care We Dare’ เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานกว่าพันคนลุกขึ้นปรบมือและกล่าวชื่นชมให้กับพนักงานและเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ดูแลลูกค้าและเพื่อนพนักงานด้วยกันอย่างดีที่สุด ด้วยเห็นว่าทุกชีวิตในศูนย์การค้าของเรามีความสำคัญสูงสุด ด้วยความพร้อมที่จะเสียสละตัวเองในการดูแลชีวิตลูกค้าอย่างเต็มที่”

นอกจากนี้สยามพิวรรธน์ยังจัด Town Hall ทุกปี เพื่อสื่อสารทิศทางในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้พนักงานทุกคนทราบเพื่อให้ทำงานมุ่งสู่ทิศทางเดียวกัน ด้วยความเข้าใจพร้อมแรงบันดาลใจที่จะร่วมสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ให้กับศูนย์การค้าและประสบการณ์เหนือความคาดหมายให้กับลูกค้าอยู่เสมอ นอกเหนือจากการสื่อสารทางไลน์และอีเมล สยามพิวรรธน์ยังใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้พนักงานได้รับบริการจากฝ่าย HR ผ่านแอปพลิเคชัน HR Prompt และมี Chatbot ชื่ออัญชันคอยช่วยสื่อสาร เพื่อให้พนักงานทุกคนได้รับประสบการณ์ด้านดิจิทัลและความสะดวกจากการบริการทางด้าน HR มากยิ่งขึ้น 

แคมเปญ We Care We Dare ยังเปิดโอกาสให้พนักงานเสนอนโยบายใหม่ ๆ ให้องค์กร เช่น การรณรงค์ขอความร่วมมือไม่มีประชุมในบ่ายวันศุกร์ ทำให้วันศุกร์เป็นวันที่ทุกคนได้เคลียร์งานที่คั่งค้างในแต่ละสัปดาห์ มีเวลาทำกิจกรรมกับเพื่อนร่วมงานในแผนก รวมถึงมีเวลาเรียนรู้พัฒนาตนเองผ่านโปรแกรมออนไลน์ของ LinkedIn Learning ที่พนักงานเลือกเรียนรู้หลักสูตรต่าง ๆ ได้กว่า 21,000 หลักสูตรตามความสนใจและความสะดวกได้ทุกที่ทุกเวลา 

ความใส่ใจและเปิดกว้างรับฟังพนักงานแบบนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่สยามพิวรรธน์จะได้รางวัลชนะเลิศระดับโกลด์ในสาขา Excellence in HR Communication Strategy จาก HR Excellence Awards 2023 ที่ผ่านมา และล่าสุดปีนี้ได้รับรางวัล Top 50 Companies in Thailand 2024 จากผลสำรวจ WorkVenture โดยอยู่ในอันดับที่ 24 สุดยอดบริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุด 

“สยามพิวรรธน์ไม่ได้มีศูนย์การค้าเยอะที่สุด แต่เราอยากเป็นศูนย์การค้าที่ลูกค้านึกถึงมากที่สุดหรือ Top of Mind” สำหรับงาน HR ก็เช่นเดียวกัน 

“เราอยากให้ HR ดูแลประสบการณ์ของพนักงานที่ร่วมงานกับเรา เพื่อให้เราเป็นที่ 1 ในใจของพนักงาน อยากให้พวกเขาเห็นว่า HR เป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษา เราไม่ได้อยากดูแลความสามารถและการเติบโตไปพร้อมกับองค์กร แค่สุขภาพพนักงาน แต่เราดูแลความเป็นอยู่ที่ดีในภาพรวม ซึ่งครอบคลุมถึงจิตใจของพนักงานด้วย ให้เขาได้มีส่วนร่วมทางใจ ได้แชร์คุณค่าส่วนตัวร่วมกับคุณค่าขององค์กร ทำให้พนักงานทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประวัติศาสตร์ของภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศไทย ผ่านเป้าหมายการเป็น Global Destination หรือจุดหมายปลายทางระดับโลก” ณัฐวุฒิทิ้งท้าย

Writer

เพชร ทิพย์สุวรรณ

เพชร ทิพย์สุวรรณ

อดีต Corporate HR ที่ชอบอ่านหนังสือ ดื่มกาแฟกับเค้กอร่อยๆ พอๆ กับเล่า Tips and Techniques การทำงานผ่านงานเขียน ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)