ผมไม่รู้ว่าที่ดินผืนเปล่าข้างบ้านเป็นของใคร แต่เด็กทุกคนแถวนั้นเรียกมันว่า กองดิน 

มันเป็นสนามโล่ง ๆ ที่ถูกถมด้วยดินแดง ไม่มีรั้วกั้น เด็กผู้ชายในซอยใช้สอยเป็นที่เตะฟุตบอล นัดคุยเรื่อง ดราก้อนบอล ตอนโปรด สังคมเด็กผู้ชายวนเวียนอยู่ในกองดินเล็ก ๆ แห่งนั้น

เมืองใหญ่หลายประเทศมีสนามกีฬากลางเมือง หลายครั้งที่ที่เหล่านี้เป็นมากกว่าที่เล่นกีฬา แต่เป็นพื้นที่สาธารณะโดยธรรมชาติ เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของผู้คน เหมือนกองดินข้างบ้านผมสมัยเด็ก 

แต่ละเมืองมีสนามกีฬาที่ต่างไป ตามความสนใจของคน บ้านเราอาจเป็นสนามฟุตซอลหรือตะกร้อ ที่สหรัฐฯ คือสนามบาสเกตบอล 

ประเทศที่เราจะเล่าให้ฟังวันนี้อย่างเบลเยียม ที่เหล่านั้นคือ ‘สนามจักรยานในร่ม’ หรือ ‘เวโลโดรม (Wielerdroom)’

เบลเยียมเป็นประเทศที่อยู่ศูนย์กลางของยุโรป ติดกับประเทศชั้นนำอย่างฝรั่งเศส 

ภาพ : Tom Van Acker ©dbv architecten

เมื่ออยู่ติดกัน อะไรที่ฮิตในฝรั่งเศสก็จะข้ามมาฮิตที่เบลเยียมด้วย เมื่อจักรยานบูมในฝรั่งเศส คนเบลเยียมจึงได้ปั่นนวัตกรรมใหม่นี้ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 

ยุคนั้นคนนิยมนำจักรยานมาปั่นแข่งกัน ในเบลเยียมก็เช่นกัน สถานที่สำคัญในสังคมของประเทศนี้คือโบสถ์ บาทหลวงมักจัดกิจกรรมที่ดึงดูดผู้คนให้เข้าโบสถ์มากขึ้น เลือกเส้นทางเล็ก ๆ รอบโบสถ์มาจัดแข่งจักรยาน และไม่ได้จัดแค่โบสถ์เดียว แต่กระจายตัวไปทั่วประเทศ

จากการแข่งเล็ก ๆ ที่จัดละแวกโบสถ์ กลายเป็นมหกรรมกีฬาที่เป็นรากฐานในสังคมของเบลเยียม หลายงานยังจัดแข่งต่อเนื่องจนถึงวันนี้ มีส่วนสร้างนักกีฬาจักรยานชื่อดังมากมาย หนึ่งในคนที่ดังมากคือ Eddy Merckx นักปั่นจักรยานที่ชนะการแข่งเยอะที่สุดในโลกในปัจจุบัน 

ภาพ : Kevin Faingnaert

วัฒนธรรมจักรยานของเบลเยียมเริ่มต้นตรงนี้ ซึ่งต่างจากภาพ ‘เมืองจักรยาน’ อย่างในเนเธอร์แลนด์หรือเดนมาร์ก 2 ประเทศนั้นเน้นการสร้างเมืองให้เป็นมิตรกับผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน แต่เบลเยียมเด่นเรื่องจักรยานในแง่กีฬา ฝังรากลึกในวัฒนธรรมมาร่วมร้อยปี 

สนามกีฬาในเมืองของเบลเยียมที่ฮิตมากยุคหนึ่งคือ Wielerdroom แต่สนามแบบนี้ค่อนข้างใหญ่ ใช้งานได้แบบเดียว เมื่อคนรุ่นใหม่หันไปสนใจกีฬาประเภทอื่น Wielerdroom หลายเมืองจึงถูกทิ้งร้างอย่างน่าเสียดาย

Wielerdroom คือโครงการสนามจักรยานที่สะท้อนความต้องการพื้นที่สาธารณะของคนเบลเยียมยุคนี้ได้ดีที่สุด

บริษัทสถาปนิกเจ้าของงานนี้คือ B-architecten และ dbv architecten ปรับปรุงสนามจักรยานเดิมในเมือง Heusden-Zolder สนามมีความยาว 250 เมตร ปั่นวนเป็นวงกลม สนามจุได้ 1,000 ที่นั่ง (เพิ่มที่นั่งชั่วคราวได้อีก 1,000 ที่) 

ภาพ : Tom Van Acker ©dbv architecten

ความดีงามของ Wielerdroom มีอยู่ 2 ข้อ ข้อแรก ข้างในออกแบบดีและสวยมาก เปลี่ยนภาพจำของสนามจักรยานที่ใช้แข่งอย่างเดียว ไม่เน้นเนี้ยบ ให้กลายเป็นอาคารที่สวย น่าใช้ และน่าอยู่

ทีมงานของ B-architecten และ dbv architecten รู้ว่าสนามกีฬาเป็นมากกว่าสถานที่แข่งขัน แต่เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนเล่นกีฬามาใช้เวลาร่วมกัน พบเพื่อน เข้าสังคม อัปเดตข่าวสาร บางคนอยู่ที่สนามกีฬาทั้งวัน สถาปนิกจึงปรับปรุงพื้นที่โดยคิดถึงเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพื่อให้เป็นสถานที่ที่น่าใช้เวลาอยู่ด้วยนาน ๆ 

ภาพ : Kevin Faingnaert

ถ้ามองในแง่กีฬา Wielerdroom เป็นสนามแข่งมาตรฐานสูง ใช้ในการแข่งขันของสหพันธ์จักรยานนานาชาติหรือ UCI ได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็เปิดกว้างสำหรับคนเมืองที่อยากมาปั่นจักรยานเล่นหลังเลิกงาน หรือแม้แต่เด็กที่โดดเด่นเรื่องกีฬาก็มาใช้ฝึกซ้อมเพื่อทำตามความฝันของตัวเองได้

ภาพ : Kevin Faingnaert

ความดีงามข้อ 2 คือ Wielerdroom เป็นสนามที่เล่นกีฬาได้หลากหลาย เรียกว่าเป็น Sport Complex เต็มรูปแบบ

 Wielerdroom รูปแบบปกติมักจะเว้นที่ตรงกลางไว้เป็นลานอเนกประสงค์ สำหรับนักกีฬาจักรยานได้เตรียมตัวก่อนแข่ง แต่ที่ Wielerdroom ปรับพื้นที่ตรงกลางให้เป็นคอร์ตหรือลานกีฬาในร่ม ใช้งานได้หลากหลายมาก ตั้งแต่ลานยิมนาสติก วอลเลย์บอล ฟุตซอล สารพัดกีฬาในร่มที่ปรับเปลี่ยนมาใช้พื้นที่นี้ได้ 

เมือง Heusden-Zolder มีประชากรราว 33,000 คน การมีสนามจักรยานที่ใช้แข่งจักรยานได้อย่างเดียวคงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป การปรับเปลี่ยนให้เล่นกีฬาชนิดอื่นได้ ทำให้พื้นที่นี้เปิดกว้างกับคนเมืองที่อยากจะเล่นกีฬาประเภทอื่น ได้มีพื้นที่ใช้เวลานอกบ้านที่ดีมากขึ้น

ภาพ : Kevin Faingnaert
ภาพ : Tom Van Acker ©dbv architecten

Wielerdroom สร้างเสร็จต้นปี 2023 และกลายเป็นสนามจักรยานในร่มที่ออกสื่อด้านสถาปัตยกรรมสวย ๆ เยอะมาก 

บางคนอาจคิดว่ามันเป็นโครงการที่เน้นความสวยงาม โชว์ความสามารถของสถาปนิก 

แต่หัวใจของโครงการนี้ เกิดจากการปรับพื้นที่โดยคิดถึงความต้องการในย่านที่สมเหตุสมผล มีการออกแบบที่ดี ตอบโจทย์ทุกข้อของคนเมืองในยุคนี้อย่างยิ่ง 

โครงการนี้อยู่ที่เบลเยียม แต่นักพัฒนาประเทศอื่นก็เรียนรู้สิ่งนี้ได้ว่า พื้นที่สาธารณะที่ดี คือสร้างโดยคิดถึงใจคนใช้ มากกว่าใจคนทำ

ภาพ : Kevin Faingnaert

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก